ทำอย่างไรจึงจะเรียนอย่างมีความสุข

                             ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาในเรื่องการเรียนแต่อย่างใด  แต่จะขออนุญาตเสนอความเห็นในเรื่องนี้  ถ้าหากคิดว่ามีประโยชน์จะลองนำไปใช้ดู  ผมจะยินดีมากครับ

ผมคิดว่าหลักสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า  "ทำให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องหวังผล"  เพราะตามหลักศาสนาพุทธ  การคาดหวังก็คือการยึดติด ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์อย่างหนึ่ง เพราะถ้าสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เราก็มีความทุกข์

ถ้าพูดถึงเรื่องผลของการเรียน ทุกคนก็คงนึกถึงเกรด  ในคณะแพทยศาสตร์ที่ผมทำงานอยู่นี้ จะใช้ระบบการตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม ซึ่งก็คือ การพิจารณาจัดคะแนนของนักเรียนทั้งหมดออกเป็น A ถึง D โดยอาศัยค่าเฉลี่ยของคะแนนของนักเรียนทั้งหมดมาคำนวณ  ฉะนั้นสรุปง่ายๆ ก็คือ เกรดที่นักเรียนคนหนึ่งจะได้จะขึ้นอยู่กับคะแนนของเพื่อนทั้งชั้นปี ถ้าเขาทำคะแนนได้ดี แต่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มออกมาสูงมาก เขาก็อาจจะได้เกรดไม่สูง แต่หากค่าเฉลี่ยออกมากลางๆ เขาก็อาจได้เกรดที่สูงขึ้น

ดังนั้นผมจึงตั้งคำถามว่า เราควรแล้วหรือที่จะไปคาดหวังกับเกรดที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยตัวเราแต่เพียงฝ่ายเดียว มันจะดีหรือที่เราจะไปยึดติดกับสิ่งที่เกิดจากอิทธิพลของสิ่งอื่นๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ เราคงไม่สามารถไปควบคุมคะแนนสอบของคนอื่นๆ ได้แน่นอน  ฉะนั้นผมจึงเสนอว่าเราควรจะละจากการคาดหวังกับเกรด มาเป็นการวัดตัวเราเองอย่างแท้จริง แต่อะไรล่ะที่จะรู้จักตัวเราได้ดีไปกว่าตัวของเราเองนี่แหละ

ด้วยเหตุนี้จึงอยากแนะนำว่าเราควรวัดผลตัวเราตรงที่ว่าเราได้ทำดีเพียงพอในการเรียนหนังสือ การเตรียมสอบแล้วหรือยัง  ถ้าเราทำได้ดีของเราแล้ว ถ้าเกรดออกมาดี ก็ขอให้ภูมิใจว่าเป็นผลกรรมดีตอบแทน  แต่ถ้าเกรดออกมาไม่ดี ก็ให้ระลึกไว้เสมอว่า สิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากตัวเราเพียงฝ่ายเดียว หากแต่เกิดจากผลการสอบของคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของเรา  แล้วเราจะมัวไปผิดหวังโทษตัวเองทำไม?       แต่ทั้งนี้เราก็ต้องกลับมาพิจารณาตนเองด้วย ถ้าหากว่าขี้เกียจอ่านหนังสือ ไม่เข้าห้องเรียนบ่อยๆ  ไม่เคยทบทวนตำราเลย  ไม่เข้าใจอะไรก็ปล่อยๆ มันไป อย่างนี้แล้วคะแนนออกมาไม่ดี ก็ต้องปรับปรุงในสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ปล่อยเลยไปเพราะคิดว่าเกรดไม่ดี ก็คงเพราะคนอื่นๆ เขาเก่ง      

ข้อแนะนำของผมนี้จึงใช้กับกรณีที่พยายามเต็มความสามารถแล้วแต่กลับไม่ได้ผลตามที่คาด   หวัง เราก็ยังมีความสุขได้  แต่ถ้ายังไม่ได้พยายาม ก็ต้องแก้โดยการพยายามมากขึ้น

แต่ก็อาจมีบางคนถามว่าแล้วพยายามแค่ไหนที่เรียกว่าเต็มความสามารถ แค่ไหนที่เรียกว่าทำดีที่สุดแล้ว  อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลและสถานการณ์ คงไม่สามารถบอกเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ แต่ผมคิดว่าน่าจะใช้วิธี ทางสายกลาง เป็นแนวทางได้ ตัวอย่างเช่น  อ่านหนังสือโดยยังต้องแบ่งเวลาทำอย่างอื่นได้ด้วย เช่น พักผ่อน ทานอาหาร ออกกำลังกาย ไม่ใช่คร่ำเคร่งจนร่างกายอ่อนแอเจ็บป่วย โดยเวลาที่แบ่งมาทบทวนเนื้อหานี้ บางคนอาจจะมีน้อยกว่าคนอื่น เช่น บ้านอยู่ไกลรถติด หรือต้องทำงานช่วยครอบครัว แต่ถ้าใช้เวลาอย่างคุ้มค่าก็ถือว่าทำเต็มที่แล้ว  หรือบางครั้งบางคนอาจเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมา ทำให้มีเวลาอ่านลดลง ก็ต้องถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ถ้าเราทำเต็มที่ในสถานการณ์หนึ่งๆ แล้วก็จงพอใจว่าดีพอแล้ว

สรุปว่า ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในสถานการณ์หนึ่งๆ ถ้าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ถึงผลการเรียนหรือเกรดจะออกมาไม่ดีอย่างที่คิด ก็จงอย่าไปทุกข์ผิดหวังกับมัน เพราะเราไม่สามารถไปควบคุมเหตุปัจจัยทั้งหมดได้  แต่จงมีความสุขว่าเราได้ทำดีเพียงพอแล้ว คนเราคงไม่สามารถทำดีกว่าดีที่สุดได้