กระบวนพยุหยาตราชลมารค

THE GOLDEN JUBILEE ROYAL BARGE PROCESSION


boat4
ประวัติพระราชพิธีการเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค
ในยุคแรกเริ่มของกระบวนเรือ การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า "พยุหยาตราสถลมารค" แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ "พยุหยาตราชลมารค" ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีของไทยเรา ปรากฎว่าพระร่วงทรงเลือกออกไปลอยกระทงหรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ครั้นต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำของชาวกรุงเก่าจึงต้องอาศัยเรือในการสัญจรไปมา รวมทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฎว่ามีการสร้างเรือรบมากมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในเวลาบ้านเมืองปราศจากศึกสงครามได้ใช้เรือรบฝึกซ้อมกระบวนยุทธ์กันเป็นนิจ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากอันเป็นเวลาที่ราษฎรว่างจากการทำนา จึงเรียกระดมพลมาฝึกซ้อมกระบวนทัพเรือ โดยอาศัยฤดูกาลประจวบกับการทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพระกฐิน โดยกระบวนเรือรบแห่แหนเพื่อให้ไพร่พลได้รื่นเริงในการกุศล จึงจัดเป็นประเพณีที่แห่เสด็จกฐิน โดยกระบวนเรือยาวสืบมาจนทุกวันนี้

ในขณะเดียวกัน ยามบ้านเมืองสุขสงบว่างเว้นจากการงาน ชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือกันเป็นที่สนุกสนาน โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อจะเสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ จะมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกเป็น ๔ สาย และริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก ๑ สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยลำ ระหว่างการเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคมจนเกิดเป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่งคือ "กาพย์เห่เรือ" ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ก็กลายเป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือมาจนเท่าทุกวันนี้


boat2
เรือพระราชพิธีและประเพณีการเห่เรือ
เรือพระราชพิธีและประเพณีเห่เรือ เป็น "มรดกทางวัฒนธรรม" ซึ่งบรรพบุรุษได้เนรมิตรสร้างสรรค์ไว้ให้แก่อนุชนรุ่นต่อมา ยากที่ชาติอื่นใดในโลกจะเสมอเหมือนได้ เรือพระราชพิธีเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่าสูง ฝีมือประณีต แสดงวิชาศิลปะการช่างอย่างเป็นเอก และได้สร้างสมจนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นความภาคภูมิใจในชาติได้อย่างยอดเยี่ยม "เรือพระราชพิธี" มิใช่เป็นเพียงสมบัติของชาติไทยเท่านั้น แต่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของโลกด้วย เรือพระราชพิธีประกอบด้วยศิลปะหลายประเภทคือ คิลปะนาวาสถาปัตยกรรมในการออกแบบรูปทรงลำเรือ อันบรรเจิดตระการตาและได้ประโยชน์ใช้สอยอย่างสมบูรณ์ ศิลปะจิตรกรรมในการออกแบบลวดลายและสีสันอันสวยสดงดงาม มีท่วงท่าประณีตอ่อนระทวยแต่สง่าภูมิฐาน ศิลปะประติมากรรม อันได้แก่ การแกะสลักให้เกิดการตื้นลึกมีแสงและเงา มีท่วงทำนอง เน้นการทอดจังหวะของลวดลายทำให้ท่อนไม้ซึ่งไม่มีชีวิต ดุจมีชีวิตเคลื่อนไหวได้ราวกับสิ่งมีชีวิตจริง เมื่อพายกระทบน้ำและกระทบแสงอาทิตย์เกิดประกายระยับจับตา ฝีพายท่านกบินพายพร้อมกันประหนึ่งหงส์เหิรโผผินบินเหนือท้องน้ำ ด้วยท่วงท่าอันสง่าประกอบด้วยเพลงเห่อันไพเราะประทับใจในภาพดุจดั่งสวรรค์ เคลื่อนคล้อยลอยเลื่อนมายังพื้นน้ำในแผ่นดิน เมื่อได้เห็นภาพย่อมตราตรึงติดใจอยู่อย่างมิรู้ลืม ฉะนั้นวัฒนธรรมกระบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารคจึงเป็นเอกในโลกนี้ ด้วยความภูมิใจในความอุตสาหะวิริยะ และชาญฉลาดของบรรพบุรุษที่ได้สร้างมรดกทางปัญญาอันสูงค่าชิ้นนี้ ซึ่งจะต้องอนุรักษ์ให้เจริญคงทนถาวรต่อไปชั่วนิรันดร

บทเพลงทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง อันไพเราะเพราะพริ้ง ให้กลมกลืนเข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันได้อย่างเหมาะเจาะ และลงตัวยิ่ง กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นการเห่เรือ กระบวนหลวงของเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน การพายเรือ เห่เรือของเจ้านายและขุนนาง ในโอกาสที่จะเดินทางไปทอดกฐินตามวัดต่าง ๆ ในเวลากลางวัน และนัดกันไปทอดผ้าป่าในเวลากลางคืน การเห่เรือจึงไม่เพียงแต่ให้เกิดจังหวะการพายที่พร้อมเพรียงกัน ยังเป็นการแสดงถึงความรื่นรมย์หรรษาอีกด้วย


narai1
ประวัติเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ
เรือนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ประเภทเรือรูปสัตว์ กล่าวคือเป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือ เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในเทพนิยาย เรือรูปสัตว์ปรากฎขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ทรงแก้เรือแซเป็นเรือไชยและเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ เพื่อจะให้ตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือได้ เรือรูปสัตว์มาจากตราประจำตำแหน่งของเสนาบดี เช่น ราชสีห์ คชสีห์ นาค ฯลฯ นอกจากนี้เรือพระที่นั่งก็มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ตามพระราชลัญจกร เช่น เรือครุฑอย่างพระราชลัญจกร "พระครุฑพ่าห์" หัวเรือแต่เดิมทำเป็นรูปครุฑเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์หมายถึงเรือพระที่นั่งแห่งพระมหากษัตริย์ผู้อยู่ในฐานะสมมติเทพนั่นเอง ความเป็นมาของเรือนารายณ์ทรงสุบรรณนั้นมีชื่อเดิมว่า "มงคลสุบรรณ" พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ ตามที่ปรากฎความในพระราชพงศาวดารว่า "ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน"

ลักษณะของเรือลำนี้มีความยาว ๑๗ วา ๓ ศอก กว้าง ๕ ศอก ๕ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๖ นิ้ว กำลัง ๖ ศอก ๖ นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกสีแดง กำลังฝีพาย ๖๕ คน โขนเรือแต่เดิมจำหลักไม้รูปพญาสุบรรณ หรือพญาครุฑยุตนาคเท่านั้น มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความสง่างามของลำเรือและเพื่อให้ต้องตามคติในเทพปกรณัมของศาสนาพราหมณ์ว่า พญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก องค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัยพระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) มี ๔ พระกร ทรงเทพศาสตราใน พระกรทั้ง ๔ คือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามลักษณะในเทพปกรณัมของพราหมณ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามเรือลำนี้ใหม่ว่า "นารายณ์ทรงสุบรรณ"

จากหลักฐานประเภทบันทึกการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานการนำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณหรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำนี้เข้าร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งในขณะนั้นเรือลำนี้ยังไม่มีการเสริมรูปพระนารายณ์ ทั้งยังคงมีชื่อมงคลสุบรรณ และอีกครั้งหนึ่งในการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

สันนิษฐานว่า ตัวเรือนารายณ์ทรงสุบรรณคงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จึงไม่พบหลักฐานการนำออกมาร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลต่อๆ มา คงเหลือแต่โขนเรือ ซึ่งตามประวัติทราบว่ากระทรวงทหารเรือ เก็บรักษาไว้จนถึงปี ๒๔๙๖ จึงมอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน

โขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นประณีตศิลป์ชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่งานแกะสลักและปิดทองประดับกระจกได้พัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุด มีการคิดวิธีการประดับกระจก และลวดลายในการประดับกระจกขึ้นอีกหลายแบบ นอกจากนั้น โขนเรือลำนี้ยังมีความสำคัญในด้านความหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุที่ลักษณะอันงดงามของโขนเรือลำนี้สะท้อนคติความเชื่อในการเทิดทูนสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชของชาวไทยโบราณว่า ทรงเป็นสมมติเทพ คือปางอวตารของพระผู้เป็นเจ้า ตามคติของพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อภูมิปัญญาและความเชื่อของคนไทยร่วมกับคติพุทธศาสนา พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างยิ่งมีสองพระองค์ คือ พระอิศวร และพระนารายณ์ สำหรับคติความเชื่อในเรื่องสมมติเทพของคนไทยตั้งแต่โบราณนั้น ถือว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นปางอวตารขององค์พระเป็นเจ้าทั้งสองรวมอยู่ในพระองค์เดียวกัน แต่ความเป็น "พระนารายณ์เป็นเจ้า" ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองพิทักษ์รักษาโลกนั้น ดูจะได้รับการนำมาเป็นสาระของสัญลักษณ์และขนบราชประเพณีมากเป็นพิเศษ ดังเช่นการสร้างรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นลายหน้าบันพระอุโบสถของอารามหลวง หรือพระมหาปราสาทราชมณเฑียร

การสร้างรูปสัตว์อันเป็นเทพพาหนะคือ ครุฑและสัตว์อันเทพบัลลังก์คืออนันตนาคราชเป็นโขนเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีหลายลำ ตลอดจนการสร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีเป็นเครื่องประกอบในพระแสงอัษฎาวุธ สำหรับพระองค์สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าก็ล้วนเป็นการเทิดทูนและยกย่องพระองค์ ให้มีพระราชสถานะและพระบรมเดชานุภาพดุจองค์พระนารายณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นการต่อเรือซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณนี้น้อมเกล้าฯ ถวายในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก จึงนับว่าเป็นการเหมาะสมเพราะเท่ากับเป็นการเทิดพระเกียรติและเสริมส่งพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคติธรรมเนียมที่บรรพชนไทยได้ยึดมั่นสืบต่อมาแต่โบราณ อนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามเรือพระที่นั่งที่ต่อใหม่นี้ว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙" ซึ่งจักปรากฎเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพและเป็นพระเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน สืบไปชั่วกาลนาน


boat7
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เรือเดิมมีนามว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หัวเรือเป็นรูปหงส์ลงรักปิดทองประดับกระจก

boat8
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แทนลำเดิม ซึ่งสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเรือปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพญานาค ๗ เศียร

boat9
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หัวเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็ก ๆ จำนวนมาก

จากกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี ๒๕๓๙
GO BACK HOME