เพชรในไพร หนึ่งในโลก
- ปูแม่ฟ้าหลวง
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Dromothelphusa sangwan Naiyanetr, 1997 พบครั้งแรกบริเวณบ้านก้อแสนใจ กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ปูแม่ฟ้าหลวงเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก มีขอบตา ขอบปาก และก้านสีแดง นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า ปูแม่ฟ้าหลวง เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่าที่ทรงโปรดสีแดง
- ปูราชินี
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Thaipusa sirikit (Naiyanetr, 1992) พบเฉพาะในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นปูน้ำจืดที่สวยที่สุด กระดองสีม่วงเปลือกมังคุด ก้ามสีขาว ขาสีแดง มองเผิน ๆ คล้ายสีธงชาติ
- นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudochelidon sirintarae Thonglongya, 1968 พบเฉพาะบริเวณบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นนกชนิดที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ของโลก ลำตัวสีดำเหลือบเขียวแกมฟ้า มีวงสีขาวรอบดวงตา เมื่อโตเต็มวัยจะมีแกนขนหางคู่กลางเส้นเล็ก ๆ ยื่นยาวออกมา 2 เส้น
- กบอกหนาม
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Rana fasciculispina Inger, 1970 พบเฉพาะบริเวณลำธารเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาคิชกูฎ จังหวัดจันทบุรี เป็นกบที่มีผิวหนังขรุขระเป็นสันและเป็นปุ่มตามลำตัว คล้ายคางคก ฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะมีกลุ่มหนามแหลมสีดำ กระจายบริเวณ
แผ่นอก และใต้คาง
- ปลาเอินฝ้าย
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Probarbus labeaminor Roberts, 1992 พบในแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม ลักษณะคล้ายปลายี่สกทอง แต่ลำตัวสีออกเทาเงิน และมีเกล็ดลำตัวใหญ่กว่า ลายขีดตามยาวลำตัวไม่ชัดเจน มักอยู่ปะปนในฝูงปลายี่สกทอง
- หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Niviventer hinpoon (Marshall, 1976) พบอาศัยอยู่เฉพาะบนหน้าผาเขาหินปูน ในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นหนูขนาดเล็ก หลังสีออกเหลือง ใต้ท้องสีเทาอ่อน หางยาวไล่เลี่ยกับลำตัว ขนบนหลังบางส่วนแข็งคล้ายเสี้ยนไม้
- นกกินแมลงเด็กแนน
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Stachyris rodolphei Deignan, 1939 พบเฉพาะดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนกขนาดเล็ก ลำตัวยาวเพียง 11 เซนติเมตร หลังสีน้ำตาลแดงแกมเขียว ใต้คางและอกตอนบนสีเทาอ่อน อาศัยหากินแมลงตามป่าไผ่ในระดับความสูง 1,000-1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปัจจุบันจัดอยู่ในขั้นวิกฤตใกล้สูญพันธุ์
- ค้างคาวคุณกิตติ
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Craseonycteris thonglongyai Hill , 1974 พบเฉพาะบริเวณอำเภอไทรโยค และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก หนักเพียง 2 กรัม จมูกยื่นคล้ายจมูกหมู หูใหญ่แต่ตาเล็ก ปัจจุบันถูกจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย และเป็นสัตว์ 12 ชนิดของโลก ที่อยู่ในสภาวะใกล้จะสูญพันธุ์ที่สุด
- นกแต้วแล้วท้องดำ
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Pitta gurneyi Hume, 1875 เคยพบในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ปัจจุบันพบเฉพาะบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประบางคราม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นนกตัวอ้วนป้อม ลำตัวมีสีสดใสตัดกันสวยงามมาก ตัวผู้มีใต้ท้องสีดำสนิท ชอบกระโดดหากินอยู่ตามพื้นดินในป่าดงดิบต่ำ ปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ที่หายากมากชนิดหนึ่งใน 12 ชนิดของโลก
- ตะพาบม่านลาย
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Chitra chitra Nutphand, 1990 พบเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตะพาบทีมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หนัก 150-200 กิโลกรัม ตามรายงานล่าสุด มีเหลือในที่เลี้ยงเพียง 11 ตัวเท่านั้นในโลก และในจำนวนที่เหลือนั้น โตถึงวัยเจริญพันธุ์เพียง 3 ตัว
- ตุ๊กแกป่าไทย
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Gecko Siamensis Grossman and Ulber, 1990 พบบริเวณภูเขาหินปูนในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเพชรบูรณ์ ลำตัวมีลายขวางเรียงเป็นระเบียบกว่าตุ๊กแกบ้าน หัวค่อนข้างยาวกว่าและตาสีเขียวคล้ำ อาศัยหากินแมลงและสัตว์เล็ก ๆ บนกองหินบนภูเขาหินปูน
- นกกระทาดงจันทบูรณ์
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Arborophila cambodiana Delacour and Jabouille, 1928 พบเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาสระบาป จังหวัดจันทบุรี เป็นนกขนาดกลาง ลำตัวยาว 26 เซนติเมตร ตัวสีน้ำตาลแดง ใต้ท้องมีจุดรูปตัววี สีขาวกระจายอยู่ทั่วไปทั้งสีข้างและอกตอนล่าง อาศัยในป่าดิบชื้น หากินแมลงและเมล็ดพืชตามพื้นป่า
จากปฎิทินของธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ประจำปี ๒๕๔๑
GO BACK HOME