หัตถกรรมช่างไทย สืบสานสายใยแห่งวัฒนธรรม

คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างอบอุ่น ภายใต้ครอบครัวที่มีความเคารพนับถือ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการรวมกันเป็นหมู่บ้านหรือแหล่งชุมชน ภายในชุมชนนั้น ๆ จะมีประเพณีและกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ การรวมกันประกอบอาชีพที่มีความเหมาะสมในแต่ละชุมชน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัตถุดิบที่สามารถหาง่ายตามท้องถิ่น ประกอบกับความสามารถในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมที่มีการถ่ายทอดมาจากรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงชนรุ่นปัจจุบัน

ปัจจุบันงานหัตถกรรมของไทยตามหมู่บ้านหรือชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล นับวันจะเลือนหายไป เพราะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลง ด้วยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ให้ผลผลิตจำนวนมาก ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วและราคาถูกกว่า กอปรกับผู้มีความต้องการผลงานด้านฝีมือมีจำนวนน้อย ทำให้ผู้สร้างงานหัตถกรรมไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพ เพื่อหาเลี้ยงตนและคนในครอบครัวได้ จึงเปลี่ยนอาชีพหรือหันเหไปทำงานตามโรงงาน ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ทั้งในและนอกเมือง

งานหัตถกรรมไทยเป็นผลงานที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่า อีกทั้งยังช่วยรักษาสภาพ แวดล้อมทางธรรมชาติ เนื่องจากผลงานถูกผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย เมื่อหมด อายุการใช้งาน


บ้านเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี
ชาวมอญอพยพเข้าสู่แผ่นดินสยามหลายคราว ดังเช่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวมอญจากเมาะตะมะ เมาะลำเลิง ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ หมู่บ้านกวานอาม่าน ปากเกร็ด และที่สามโคก คำว่ากวานอาม่านนั้นหมายถึงหมู่บ้านช่างปั้น ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ด ยังคงประณีตฝีมือเฉกเช่นบรรพบุรุษ

บ้านบาตร ซอยบ้านบาตร กรุงเทพมหานคร
บาตร หนึ่งในอัฐบริขารของภิกษุ เป็นงานหัตถกรรมศิลป์ที่ผลิตจาก ชุมชนบ้านบาตร ซึ่งตั้งอยู่ละแวกเสาชิงช้า แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ช่างบ้านบาตรเป็น ชาวไทยที่รวมกลุ่มตั้งชุมชน รังสรรค์ผลงานมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทุกวันนี้อนุชน ช่างบ้านบาตรยังคงสืบสานอาชีพศิลป์อยู่ ณ แหล่งเดิม

บ้านช่างทอง ตรอกสุเหร่า บางลำพู กรุงเทพมหานคร
จากบริเวณฝั่งขวาของถนนพระสุเมรุ เรื่อยไปจนจรดแยกบางลำพูละแวก สุเหร่าจักรพงษ์นั้น เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านตรอกสุเหร่า หรือชุมชนบ้านช่างทอง ผู้สรรค์สร้างเครื่องถนิม พิมพาภรณ์จากทองคำด้วยฝีมืออันประณีตวิจิตร แบบและลวดลายโบราณอันตระการตา ณ วันนี้ได้รับการ ถ่ายทอดฝีมือช่างจากบรรพชนชาวไทยมุสลิมจากภาคใต้ ซึ่งอพยพครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 1-3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บ้านบุ คลองบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ชาวเวียงจันทน์ซึ่งอพยพครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในสมัยปลาย รัชกาลที่ 3 ส่วนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในชุมชนบ้านบุ ริมคลองบางกอกน้อย บริเวณใต้วัดสุวรรณาราม พวกเขาเชี่ยวชาญงาน "บุ" หรือเรียกอีกนัยหนึ่งคือการตีโลหะให้แผ่แบนออก หรือตีขึ้นรูปต่าง ๆ งานหัตถกรรมจากฝีมือช่างบุของชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ ขันลงหิน ทองลงหิน เป็นต้น

บ้านเนิน บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ช่างฝีมือทางการบุโลหะเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ที่เข้ามาคราวเดียวกับช่างบ้านบุ เข้ามาตั้งนิวาสสถาน ณ ชุมชนบ้านเนิน ซึ่งอยู่ถัดออกไปทางทิศตะวันตกของบ้านบุ งานหัตถกรรมอันเลื่องลือคือ เครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องตี อาทิ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมศิลป์ แล้วยังคุณค่าทางดุริยะสังคีตอีกด้วย ฆ้องวงฝีมือช่างบ้านเนินได้รับการยกย่องว่าเป็นเอกแห่งฆ้องวงในปัจจุบัน

บ้านช่างหล่อ แขวงบ้านช่างหล่อ กรุงเทพมหานคร
พุทธศักราช 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ช่างกรุงศรีอยุธยากลุ่มหนึ่งได้รวบรวมหมู่สกุลช่างฝีมือสายเดียวกัน มาตั้งชุมชน ณ บ้านช่างหล่อ ละแวกกรมอู่ทหารเรือ ริมคลองคู่เมืองเดิม สืบสานและถ่ายทอดฝีมือช่างศิลป์ครั้งกรุงเก่าสร้างสรรค์งานโลหะสำริด และทองเหลืองที่ขึ้นรูปด้วยการหล่อ เช่น พระพุทธรูป ระฆัง จนเป็นที่ยอมรับปรากฎเป็นชื่อบ้านนามเมืองสืบมา

บ้านครัว เลียบคลองเจริญผล กรุงเทพมหานคร
สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดสงครามด้วยหัวเมืองเขมรและญวนหลายคราว เมื่อการศึกเสร็จสิ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อพยพครอบครัวชาวจามมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินโดยอิสระเสรี ณ บริเวณตรงข้ามปากคลองตลาดเจริญผล ติดเขตวัดพญายังและวัดบรมนิวาส ด้วยเหตุนี้ชุมชมบ้านครัวจึงถือเกิดกำเนิดขึ้น ฝีมือทอผ้าไหม แพรพรรณของชุมชนบ้านครัว งามวิจิตรอาบกลิ่นอายวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น มาจวบจนปัจจุบัน

บ้านตีทอง ถนนตีทอง กรุงเทพมหานคร
ถนนตีทอง สร้างขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เพื่อเชื่อมต่อถนนเจริญกรุงและถนนบำรุงเมือง บรรพบุรุษของชาวชุมชนแห่งนี้เป็นชาวเวียงจันทน์และชาวหลวงพระบาง ซึ่งอพยพครอบครัวมาในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ถนนสายนี้เองที่แต่ก่อนเดินผ่านจะได้ยินเสียงโป๊กเป็ก...โป๊กเป๊ก อยู่ไม่ขาดสายจากการตีแผ่เม็ดทองคำ ออกเป็นทองคำเปลวแผ่นบางเบา จนเป็นที่มาของชื่อถนน ซึ่งปัจจุบันช่างชาวชุมชนเดิมบางส่วน ได้ย้ายถิ่นฐานออกไปตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพศิลป์ ณ แหล่งอื่น

บ้านงิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
"จักสาน" เป็นคำง่าย ๆ แต่ความหมายชัดเจน "จัก คือการทำให้เป็นแฉกหรือเป็นหยักด้วยของมีคม เช่น การใช้มีดจักไม้ไผ่หรือหวายออกเป็น "ตอก" เส้นบาง ๆ จากนั้นก็นำตอกมา "สาน" ขวัดไขว้ให้เกิดลวดลายและรูปทรงตามแต่จะคิดประดิษฐ์ทำ ชุมชนบ้านงิ้ว จังหวัดปทุมธานี เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานฝีมือดี ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องใช้ไม้สอยอยู่ในครัวเรือน และอีกส่วนหนึ่งจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของครอบครัว แต่ในปัจจุบันเมื่อภาชนะจากวัสดุสังเคราะห์เข้ามาแทนที่และสังคมเปลี่ยนไป เครื่องจักสานจากบ้านงิ้วจึงเหลือไว้เพียงความทรงจำในอดีต

บ้านลาว ชุมชนบ้านลาว ถนนอิสระภาพ กรุงเทพมหานคร
"ระบำนิ้วพลิ้วเพลงหวานผ่านเลาไม้ เป็นเพลงไผ่จากใจพลอดอ้อนออดเสียง" ในหมู่ผู้หลงใหลในเสนาะสำเนียงเสียงดนตรีไทย ขลุ่ยบ้านลาว ย่อมเป็นที่จับอกจับใจนัก เพราะนอกจากจะมีเสียงไพเราะจับใจแล้ว ยังมีความงามจับตา ขลุ่ยบ้านลาวจึงไม่เพียงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอก หากคือศิลปกรรมทางดนตรีชิ้นหนึ่งในปัจจุบันสมัย ช่างฝีมือทำขลุ่ยบ้านลาวในปัจจุบันสืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษ ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ในอดีต มาตั้งรกรากอยู่ชุมชนบางไส้ไก่ ถนนอิสระภาพ หลังสถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บ้านสามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากนั้นได้อพยพเข้ามาอีกหลายคราว ชาวมอญบ้านสามโคกมีฝีมือทางการทำอิฐมอญและงานเครื่องปั้นดินเผา "ตุ่มสามโคก" เป็นหนึ่งในหัตถกรรมศิลป์อันลือเลื่องด้วยฝีมือ ความคงทน และเอกลักษณ์แห่งรูปลักษณ์เฉพาะตัวคือ ปากตุ่มและก้นตุ่มมีขนาดเท่ากัน ป่องกลาง และเป็นตุ่มขนาดใหญ่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ตุ่มน้ำจากสามโคกได้ถูกกลืนหายไปกับยุคสมัยเสียแล้ว

บ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ย้อนกาลเวลาสู่อดีตกาลสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มช่างฝีมือสองสาขา คือ ช่างทำเครื่องเงิน และช่างทำเครื่องถมทอง ได้รวมกลุ่มตั้งภูมิลำเนาอยู่ร่วมกันมา ณ ถนนพระสุเมรุ บริเวณหลังวัดปรินายก เกิดเป็นชุมชนชื่อว่า บ้านพานถม เครื่องเงินและเครื่องถมจากย่านนี้ฝีมือประณีตสลักเสลา ลวดลายวิจิตรบรรจงเป็นที่เลื่องลือ จึงทำให้พระยานครศรีธรรมราช ขอตัวช่างถมไปถ่ายทอดเชิงชั้นศิลปกรรม ณ เมืองนคร

จากปฏิทินขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2541
GO TO HOME PAGE