เกณฑ์การพิจารณาสื่อการสอนและการวิจัยการเรียนการสอน
เพื่อเป็นผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ

ด้วย อ.ก.ม. ในการประชุม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ได้พิจารณาเห็นชอบในเกณฑ์การพิจารณาสื่อการสอนและการวิจัยการเรียนการสอน เป็นผลงานทางวิชาการลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติมจากคำจำกัดความของ ก.ม. และคำอธิบายเพิ่มเติมของ อ.ก.ม. ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ โดยให้มีคณะกรรมการกลางพิจารณาให้ความเห็นในผลงานที่นำเสนอก่อนส่งเข้า อ.ก.ม.

ผู้ช่วยอธิการบดีด้านกิจการนโยบายเสนอต่อที่ประชุมว่า ในที่ประชุมต่าง ๆ ทั้ง อ.ก.ม. และคณะกรรมการอำนวยการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้มีการหยิบยกประเด็นการพิจารณาผลงานทางวิชาการที่ใช้ในการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ขณะนี้ส่วนของการพัฒนาวิชาการเชิงการเรียนการสอนยังไม่มีการเน้นอย่างชัดเจน สื่อการสอนและการวิจัยการเรียนการสอนศาสตร์ต่าง ๆ ควรแก่การยอมรับเป็นผลงานวิชาการลักษณะอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะการสอนที่ดีมีคุณภาพ มีประสิทธิผล ต้องใช้ความพยายามของผู้สอนอยู่มาก ดังนั้นสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ สมควรได้รับการยอมรับเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตผลงานที่มีคุณภาพได้

จึงขอสรุปประเด็นเพื่อให้สื่อการสอนและการวิจัยการเรียนการสอน เป็นผลงานทางวิชาการลักษณะอื่น ๆ ซึ่งมีคุณค่าเทียบได้กับผลงานวิจัย หรือตำรา เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้

1. สื่อการสอน
ผลงานที่เสนอประกอบด้วยสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ชุดวีดีทัศน์ ชุดสไลด์ โปรแกรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( CAI ) หรือสิ่งพิมพ์ แถบบันทึกเสียง CD-ROM multimedia พร้อมกับเอกสารที่บรรยายถึงเนื้อหาและประสิทธิภาพในการใช้สื่อนั้น ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เอกสารควรมีหัวข้อต่อไปนี้

1.1 เนื้อหา ซึ่งอาจเป็นรายวิชา หรือส่วนหนึ่งของรายวิชา 1.2 วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม 1.3 แนวคิดของการนำเสนอ และการวางแผนการผลิต เพื่อแสดงถึงที่มาของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนาการของขั้นตอนต่าง ๆ 1.4 Storyboard 1.5 ข้อเสนอแนะในการใช้ 1.6 ผลการทดสอบหาประสิทธิภาพของการใช้สื่อนั้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

2. การวิจัยการเรียนการสอนในศาสตร์ต่าง ๆ
2.1 รายงานการวิจัยผลการสอน
การวิจัยเชิงบรรยายที่ได้จากประสบการณ์การสอนรายวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งได้พัฒนากระบวนการเรียนการสอน จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และสามารถบันทึกเป็นรายงานที่แสดงกระบวนการทั้งหมด ประกอบด้วยการวิเคราะห์แนวความคิดของการพัฒนาแต่ละขั้นตอน รายงานประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้

1) ชื่อรายวิชา จำนวน และกลุ่มผู้เรียน 2) หัวข้อสังเขป 3) วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ 4) กระบวนการเรียนการสอนที่ใช้ 5) การพัฒนาวิธีการ การวิเคราะห์แนวคิดของการพัฒนา และผลที่เกิดจากการพัฒนากับตัวผู้เรียน ผู้สอน หรือวิธีการ 6) สื่อ ตำรา ที่ใช้ 7) วิธีการประเมินผลการเรียน 8) ผลการประเมินการสอน 9) สรุปความคิดสร้างสรรค์ที่ได้ริเริ่มขึ้น

2.2 รายงานการวิจัยการเรียนการสอน
การวิจัยการเรียนการสอนศาสตร์ต่าง ๆ ในระดับอุดมศึกษาอาจเป็นการวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตร วิธีการสอน หรือวิธีการประเมิน ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รายงานวิจัย ประกอบด้วย ความเป็นหรือหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ การวิเคราะห์ผลการวิจัย ข้อเสนอแนะที่จะนำไปใช้

ที่ประชุมได้อภิปรายว่า การยอมรับผลงานสื่อการสอนและการวิจัยการเรียนการสอนนี้ น่าจะเป็นการดีที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน สามารถก้าวหน้าในตำแหน่งวิชาการได้ และเป็นผู้ที่มีคุณค่า ซึ่งอาจจะถูกละเลยไป เท่าที่ผ่านการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ จะใช้ผลงานที่เป็นตำราหรือผลงานวิจัยในศาสตร์หลักที่ขอตำแหน่ง เคยมีตัวอย่างการใช้ผลงานด้านการเรียนการสอนแพทย์ เพื่อขอตำแหน่งวิชาการ แต่มีปัญหากว่าจะยอมรับให้เป็นตำแหน่งทางวิชาการสาขาแพทยศาสตร์ศึกษาได้ ถึงจุดนี้จึงมีข้อควรพิจารณาว่าศาสตร์ของการสร้างคนนั้น มิใช่มีเฉพาะศาสตร์ด้านการศึกษาเท่านั้น แต่การสร้างคนในศาสตร์ต่าง ๆ ก็เป็นศาสตร์เฉพาะที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการให้การศึกษาการเรียนรู้ในศาสตร์นั้น ที่นักการศึกษาไม่อาจทำได้ เช่นการวัดผลการเรียนวิชาแพทย์ในสาขาต่าง ๆ ก็ยังมีวิธีการวัดแตกต่างกันตามเป้าหมาย ที่ประชุมยอมรับว่าผลงานเหล่านี้มีคุณค่าที่จะใช้ในการประเมินเขาสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้ แต่มีความกังวลในการประเมินคุณภาพอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้ระดับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือรองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ เพราะการผลิตสื่อชนิดต่าง ๆ ก็มีความยากง่ายต่างกัน แต่เน้นว่าจะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ได้นำเนื้อหาสาระของศาสตร์นั้น มาจัดรูปและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้

โดยสรุปที่ประชุมเห็นชอบในเกณฑ์ แต่ขอให้มีคณะกรรมการกลางพิจารณาให้ความเห็นในผลงานที่นำเสนอมา ก่อนส่งเข้า อ.ก.ม. และขอให้การพิจารณาในระดับคณะ กระทำด้วยความพินิจพิเคราะห์ ระวังมิให้เกิดการใช้ช่องทางนี้ในทางไม่สมควร และให้มีการสร้างวิธีประเมินผลงานนี้ใช้ชัดเจนขึ้น


จากสารสภาคณาจารย์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2538 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย