ประติมาอลังการ

ตราไปรษณียากรมิได้เป็นเพียงเครื่องแสดงการชำระค่าฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์และเป็นสิ่งสะสมเท่านั้น แต่ยังเป็นตำนานอีกหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ ที่จดจารึกเหตุการณ์ในอดีตมิให้ลบเลือนไปตามกาลเวลา ตราไปรษณียากรแต่ละดวงล้วนเกิดจากภูมิปัญญา ความสามารถรอบรู้ของผู้ออกแบบ ความประณีตในการจัดสร้าง

ณ อาคารที่ทำการไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง บางรัก ซึ่งเป็นอาคารที่มีรูปสถาปัตย์อันทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้ เปิดทำการเมื่อปี พ.ศ. 2486 ด้านนอกของอาคารที่มุมบนยอดตึก มีประติมากรรมรูปครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นผลงานที่สวยงาม ทรงคุณค่า และมีความหมายอย่างยิ่ง เนื่องจากครุฑเป็นแบบจำลองจากตราแผ่นดิน เท้าทั้งสองเหยียบบนแตรงอน ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ของการสื่อสาร นับเป็นการผสานงานประติมากรรมและรูปสัญลักษณ์ได้อย่างสง่างาม

ภายในห้องโถงอาคารที่ทำการไปรษณีย์กลาง มีประติมาอลังการชิ้นสำคัญที่ทรงคุณค่าความงามแห่งศิลปะประดับบนผนังตึก ประติมากรรมเหล่านี้นำภาพตราไปรษณียากรชุดสำคัญ มาจัดทำเป็นประติมากรรมนูนต่ำ ฝีมือจัดสร้างของนักเรียนโรงเรียนศิลปากรเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2481 โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (ชื่อเดิม นายคอร์ราโด เฟโรจี) ประติมากรชาวอิตาลี ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานงานประติมากรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย

แม้วันนี้ กว่ากึ่งศตวรรษแห่งกาลเวลาที่ล่วงเลยมา ความวิจิตรงดงามและความอลังการแห่งงานประติมากรรม ยังคงความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์งานศิลป์


ชุดโสฬศ ชนิดราคา 1 โสฬศ
งานประติมากรรมแบบนูนต่ำที่สร้างขึ้นตามภาพลักษณ์ตราไปรษณียากรดวงแรกของไทย เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้ายภายในกรอบรูปไข่

ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุด 3) ชนิดราคา 1 อัฐ
ตราไปรษณียากรชุดนี้มี 9 ชนิดราคา เป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย แรกจำหน่ายเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2442 ต่อมาได้มีการพิมพ์เพิ่มเติมแต่เปลี่ยนสีใหม่อีก 6 ชนิดราคา เพื่อใช้กับอัตราค่าฝากส่งใหม่ เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2446

ชุดวัดแจ้ง ชนิดราคา 2 อัฐ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของปวงชาวไทย โปรดเสด็จประพาสยังที่ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและเป็นการส่วนพระองค์ ภาพตราไปรษณียากรชุดนี้ซึ่งจัดพิมพ์เพื่อนำมาใช้กับอัตราค่าฝากส่งที่ปรับเปลี่ยนใหม่ จึงเป็นภาพรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และเด็กไว้จุกสองคน เชิญกรอบพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์คราวเสด็จประพาสวัดอรุณราชวราราม และมีเด็ก ๆ ขึ้นจากน้ำมาถวายบังคม แรกจำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2448

ชุดพระบรมรูปทรงม้า ชนิดราคา 1 บาท
งานประติมากรรมแบบนูนต่ำชิ้นนี้ มีที่มาจากตราไปรษณียากรชุด รัชมังคลาภิเษก พุทธศักราช 2451 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 40 ปี เป็นภาพพระบรมรูปทรงม้าอันเป็นพระบรมรูปหล่อ ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และอาณาประชาราษฎร์ ร่วมใจบริจาคทรัพย์จัดทำถวาย เพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก แรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451

ชุดเวียนนา ชนิดราคา 3 บาท
สืบสานเป็นงานศิลป์จากภาพลักษณ์ของตราไปรษณียากรชุดแรกที่นำออกใช้ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2455 เป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์กึ่งซ้าย ด้วยเหตุที่ตราไปรษณียากรชุดนี้ พิมพ์จากโรงพิมพ์อิมพีเรียล รอแยล คอร์ต แอนด์ สเตท ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จึงรู้จักกันในนาม "ชุดเวียนนา" นับเป็นตราไปรษณียากรชุดแรกที่พิมพ์มาตราเงินเป็นภาษาอังกฤษว่า "BAHT" แทนคำว่า "TICAL"

ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี ชนิดราคา 1 บาท
ตราไปรษณียากรชุดนี้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี เมื่อ พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แรกจำหน่ายวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ภาพตราไปรษณียากรที่นำมาสร้างสรรค์เป็นงานประติมากรรมนูนต่ำ เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1 ทรงเครื่องเต็มยศตามขัตติยะราชประเพณีประทับบนพระที่นั่ง จำลองแบบจากพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ประดิษฐาน ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฝั่งพระนคร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดสร้างขึ้นเป็น "พระปฐมบรมราชานุสรณ์" เฉพาะพระบรมราชานุสาวรีย์ควบคุมการจัดสร้างโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

จากปฏิทินของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2541
GO TO HOME PAGE