ชมไก่ฟ้า

ไก่ฟ้าเป็นไก่ป่าชนิดหนึ่ง ชอบอยู่ตามป่าไผ่ ป่ารวก ป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ โดยหากินอยู่ตามพื้นป่าในเวลากลางวัน แต่ในตอนเช้าตรู่และตอนเย็นใกล้ค่ำ จะออกหากินเมล็ดพืชตามที่โล่งแจ้ง บริเวณชายป่า เมื่อมีอันตรายใกล้ตัวมักเดินหรือวิ่งซ่อนเข้าไปในป่ารก แต่ถ้าจวนตัวก็จะบินหนีขึ้นไปเกาะบนกิ่งไม้สูง

ไก่ป่าอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงละประมาณ 9-10 ตัว โดยมีตัวผู้เป็นจ่าฝูง ในฝูง มีตัวเมียหลายตัว ในเวลาพลบค่ำ จ่าฝูงจะพาฝูงบินขึ้นไปเกาะคอน นอนบนต้นไม้สูง โดยมากมักเป็นต้นไผ่ที่มีลำยาว ทอดเอน

ไก่ฟ้าเป็นสายพันธุ์ของไก่อีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันแต่คนละสกุล ไก่ฟ้าทั่วโลกมีราว 13 สกุล สำหรับไก่ฟ้าของไทยมีเพียง 2 สกุล คือ สกุล Lophura ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าหลังเทา และไก่ฟ้าหน้าเขียว ส่วนสกุล Syrmatious มีชนิดเดียว คือไก่ฟ้าหางลายขวาง


ไก่ฟ้าพญาลอ
ตัวผู้มีขนด้านหลังสีเทา อกและหางสีดำเหลือบเขียวแก่ ท้องสีดำ ตัวผู้มีหงอน บนหัวยาวกว่าตัวเมีย ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบรกทึบ กินแมลงและเมล็ดพืชตามพื้นดินเป็นอาหาร พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

นกยูง
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะไม่เหมือนกัน ตัวผู้บนหัวและคอด้านบนมีเขียวสด เหลือบน้ำเงิน คอด้านล่าง อกส่วนบน และอกส่วนหลังมีสีทองบรอนซ์ มีหลังสีเขียวสด ขนคลุมโคนหางเหมือนบนหลัง ปลายปีกมีสีน้ำตาลแก่ ขนคลุมโคนหางยาวมาก และมีแววสีน้ำเงินอมม่วงปนเขียว ส่วนตัวเมียคล้ายตัวผู้ แต่ขนคลุมโคนหางไม่ยาวเหมือนตัวผู้ ทั้งตัวผู้และตัวเมียโดยทั่ว ๆ ไปมีสีเขียว บนหัวมีหงอนตั้งตรงขึ้นไป พบ ทั่วไปทุกภาค

ไก่ฟ้าหลังขาว
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะไม่เหมือนกัน ตัวผู้มีขนหงอนสีดำอมเขียวปนน้ำตาล ส่วนตัวเมียมีขนหงอนสีดำเหลือบเขียวอมน้ำเงิน ขนบนตัวส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลปนสีทอง พบทางภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคตะวันออก

ไก่ฟ้าหน้าเขียว
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะไม่เหมือนกัน ตัวผู้มีขนหงอนบนหัว ตอนบนมีขน เหลือบเขียวอมน้ำเงิน ส่วนล่างของหลังมีสีแดงแกมน้ำตาล ขนหางคู่กลาง 2 คู่ มีสีขาว ขนที่คอและหน้าอกมีสี เหลือบเขียวอมน้ำเงิน ส่วนตัวเมียมีขนส่วนใหญ่สีน้ำตาลแกมแดง ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบต่ำ อยู่รวมกันเป็นฝูง โดยมีจ่าฝูง พบเฉพาะทางภาคใต้

ไก่ฟ้าหลังเทา
ตัวผู้มีลักษณะต่างจากตัวเมีย ตัวผู้ของไก่ฟ้าหลังขาว ขนที่หางมีสีเข้มกว่า หงอนบนหัวแคบและยาวกว่า สีน้ำเงินดำ หน้ามีสีแดง ตัวเมียมีลายเป็นรูปตัววีสีครีม อยู่บริเวณรอบคอและทาง ด้านล่างของตัวอยู่ทั่วไป ขนหางด้านบนของตัวมีสีน้ำตาล ทางด้านล่างของตัวสีอ่อนกว่า พบทางภาคตะวันตก

ไก่ฟ้าหางลายขวาง
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะต่างกัน ตัวผู้ขนที่คอ ท้อง และหลังมีสีแดง หน้า สีแดง หางมีสีขาว และมีขนสีน้ำตาลคาดเป็นปล้อง ๆ ปีกมีขนสีขาวและสีเขียวแซมอยู่ ตัวผู้มีหางยาวกว่าตัวเมียมาก ไม่มีหงอนทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตัวเมียมีขนส่วนใหญ่สีน้ำตาลแกมแดง พบทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

จากปฏิทินของบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2541
GO TO HOME PAGE