ศรัทธาแห่งแผ่นดิน

ด้วยพลังแห่งความรัก และศรัทธาต่อแผ่นดินไทย ประชาชนชาวไทยตั้งแต่ครั้งบรรพชนได้สร้างสัญลักษณ์แห่งความศรัทธา เพื่อเป็นสิ่งสักการะบูชา น้อมนำจิตใจในการทำความดี เป็นสิ่งแสดงออกถึงวัฒนธรรมอันสูงส่งของชนชาติไทย เปรียบเสมือนมรดกอันล้ำค่าที่บรรพชนได้ถ่ายทอดให้อยู่คู่ผืนแผ่นดิน เป็นชีวิตและจิตวิญญาณของความเป็นไทย อันบ่งบอกถึงความเป็นชาติมาแต่ครั้งโบราณกาล เป็นสิ่งที่ยังความภาคภูมิใจสู่อนุชนไทยรุ่นหลัง ให้ได้สักการะบูชาน้อมรำลึกถึงพลังแห่งความรักและความศรัทธาต่อแผ่นดินไทย


พระธาตุหริภุญชัย

พระธาตุหริภุญชัย ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดลำพูน เป็นศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของแคว้นหริภุญชัย และล้านนา แคว้นหริภุญชัยมีความเจริญมั่นคง มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งหมายถึงก่อนที่พญามังรายจะรวบรวมอาณาจักรล้านนาเป็นปึกแผ่นถึงกว่า 500 ปี วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ที่มีพระธาตุหริภุญชัยเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และพลังศรัทธาของชนชาวล้านนามาอย่างเนิ่นนาน


พระพุทธบาทสระบุรี

พระพุทธบาทสระบุรี ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า มีพระภิกษุไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปยังลังกาทวีป เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท พระสงฆ์ลังกากล่าวว่า ประเทศไทยก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่แล้วที่เขาสุวรรณบรรพต จึงได้นำความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ และได้สืบหาจนพบรอยพระพุทธบาท เพื่อเป็นที่สักการะบูชา เป็นศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ พระพุทธบาทสระบุรีเป็นพระอารามหลวง ที่พระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงและเสด็จไปนมัสการตลอดมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์


พระธาตุช่อแฮ

พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดแพร่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ประมาณปี พ.ศ. 1900 เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ ภายในพระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวแพร่ ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงมาช้านาน


พระธาตุดอยสุเทพ

พระธาตุดอยสุเทพ ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชนชาวล้านนามาอย่างช้านาน พระธาตุองค์เดิมสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา (กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย) เมื่อ พ.ศ. 1929 และสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเมืองเกตุเกล้าเมื่อ พ.ศ. 2081 มีการบูรณะเพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษใน พ.ศ. 2500 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา พระธาตุดอยสุเทพเป็นพลังแห่งศรัทธา ที่รวมจิตใจชาวล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียวตลอดมาอย่างมิเสื่อมคลาย


พระธาตุพนม

พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครพนม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยภาคอีสาน และชาวพุทธทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง มีตำนานกล่าวว่า สร้างในราว พ.ศ. 8 โดยพญาศรีโคตรบูรณ์และสหาย ร่วมกับพระอรหันต์ 500 รูป และได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ภายใน พระธาตุพนมได้รับการทำนุ บำรุง ก่อสร้างเพิ่มเติมมาโดยตลอด เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาอันยิ่งใหญ่สืบต่อมา


พระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครปฐม เป็นพระเจดีย์โบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแน่ชัด รูปทรงของเจดีย์องค์เดิมเป็นทรงบาตรคว่ำแบบเจดีย์สาญจีที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชในประเทศอินเดีย แต่จากโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบในบริเวณนี้ อยู่ในสมัยทวารวดี ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 จึงสันนิษฐานว่าอย่างน้อยที่สุด พระปฐมเจดีย์คงจะมีอายุอยู่ในช่วงนั้น พระเจดีย์องค์ปัจจุบันสร้างขึ้นครอบเจดีย์องค์เดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 และแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปฐมเจดีย์นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รวมพลังศรัทธาของชาวไทยทั่วทั้งประเทศตลอดมาอย่างมิเสื่อมคลาย และวัดพระปฐมเจดีย์นับเป็นพระอารามหลวง ที่มีความสำคัญยิ่งวัดหนึ่ง


พระปรางค์วัดอรุณ

พระปรางค์วัดอรุณ ประดิษฐานอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ประจำกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์ก่อด้วยอิฐถือปูนประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบ สีต่างๆ ประกอบเป็นลวดลายงดงามประณีต วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของคนไทยทั้งชาติ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งผืนแผ่นดินไทย


พระมหาธาตุเจดีย์

พระมหาธาตุเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามตำนานของเมืองนครกล่าวไว้ว่า พระนางเหมชาลาและพระทนทกุมาร แห่งเมืองทนทบุรีในอินเดีย ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ข้ามมหาสมุทรอินเดียมา และสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เมื่อพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้เผยแพร่เข้ามาในนครศรีธรรมราช จึงได้มีการบูรณะพระมหาธาตุเจดีย์ ให้เป็นแบบสถาปัตยกรรมลังกา ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน พระบรมธาตุเจดีย์แห่งวัดพระมหาธาตุนี้ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวเมืองนครศรีธรรมราช และพุทธศาสนิกชนทั้งมวลแล้ว ยังถือเป็นปูชนียสถานอันล้ำค่าของชาติอีกด้วย


พระเจดีย์พระบรมธาตุไชยา

พระเจดีย์พระบรมธาตุไชยา ประดิษฐานอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในภาคใต้ เป็นโบราณสถานแบบศรีวิชัยองค์เดียวที่เหลืออยู่ในสภาพดีที่สุด มีความงดงามและทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปกรรม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า แห่งแรงศรัทธาของชาวพุทธภาคใต้ และคนไทยทั้งประเทศ


พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)

พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ในบริเวณวัดสระเกศ สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่อุปราชอินเดียส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายมาบรรจุไว้ที่ฐานเจดีย์ด้วย พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เปรียบได้กับมงกุฎครอบกรุงเทพฯ เป็นสิ่งศรัทธาของคนไทย และเป็นมรดกแห่งวัฒนธรรมที่สำคัญของแผ่นดินไทย


มัสยิดกลางปัตตานี

มัสยิดกลางปัตตานี ตั้งอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เป็นมัสยิดที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมจิตใจ และความศรัทธา ในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้


พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ

พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล อันมีความหมายว่า พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจรดดิน จัดสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบเมื่อปี พ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ จัดสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกองทัพอากาศและประชาชนชาวไทยร่วมกันจัดสร้างถวาย ด้วยพลังแห่งความรักและแรงศรัทธา อันมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นยิ่งกว่าพ่อและแม่ของแผ่นดิน


จากปฏิทินของธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด ประจำปี 2546
GO TO HOME PAGE