ผมได้รับเชิญจากหน่วยแพทยศาสตรศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Peradeneya ให้ไปร่วมประชุมนานาชาติเรื่อง Towards Quality of Medical Education -partnerships for action- ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2541 ณ เมือง Kandy ประเทศศรีลังกา โดยเขาจัดที่พักที่โรงแรม Le Kanyan อยู่บนเขาดังรูป โรงแรมนี้เป็นโรงแรมห้าดาวเพิ่งเปิดได้ไม่ถึงปี เดิมเป็นวังเก่าของเจ้าเมืองฝ่ายใต้ของศรีลังกา
โรงแรมนี้อยู่บนเขาสูงจากพื้นราบ 5 กิโลเมตร ทางขึ้นลงค่อนข้างแคบ สองข้างทางมีดอกบัวตองเหลืองอร่าม ไปทั้งเขา จากที่ยืนบริเวณสระว่ายน้ำ จะสามารถมองเห็นหมอกคลุมไปทั้งหุบเขา ตัวเมือง Kandy (Down Town) อยู่เบื้องล่าง น่าแปลกมากอากาศบนโรงแรมตอนเช้า ประมาณ 26 องศาเซลเซียส ไม่หนาวอย่างที่คิด เหมือนอยู่ห้องแอร์ กำลังสบาย
มองลงมาจากบนโรงแรม ไปยังตัวเมือง Kandy ในยามเช้าประมาณ 7.00 น. จะมีเมฆ หมอก ปกคลุม ทุกวัน ตัวเมือง Kandy ถูกภูเขาล้อมรอบ ต้นไม้เขียวขจี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาก สังเกตจากตามโขดหินจะปกคลุมด้วย มอส เฟิร์น มากมาย เหมือนที่เห็นบนดอยอินทนนท์ แต่อากาศไม่หนาวเย็นเท่า กลับอุ่นสบาย อาจเนื่องจากประเทศศรีลังกาเป็นเกาะ
พอสายหน่อยประมาณ 8.30 น. นั่งรถบัสลงจากเขา เพื่อไปในตัวเมือง และจะแวะไปไหว้พระเขี้ยวแก้วที่ Dalada Malikawa (Tooth Palace) อากาศจะโปร่ง หมอกจางหมดแล้ว ใจกลางเมือง Kandy จะมีสระน้ำจืดขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารทำการของหน่วยงานราชการ และสถานที่ที่สำคัญคือ Dalada Malikawa ที่ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า
สถานที่ตั้งของ Dalada Malikawa แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นกำแพงล้อมรอบ ชั้นที่ 2 เป็นกุฏิของพระสงฆ์ พระเขี้ยวแก้วจะประดิษฐานอยู่ในชั้นที่ 3 มีหลังคาสีทองคลุมอยู่ เป็นอาคารสูง 2 ชั้น ชั้นล่างจะมีสัญลักษณ์แทนพระเขี้ยวแก้ว ให้ประชาชนกราบไหว้ ส่วนพระเขี้ยวแก้วของจริง จะอยู่ชั้นบน มีแต่พระสงฆ์ มรรคทายก และเจ้าหน้าที่บวงสรวงของวัด สามารถเข้าใกล้พระเขี้ยวแก้วได้ เจ้าหน้าที่บวงสรวงจะทำการบวงสรวงวันละ 3 เวลา ได้แก่ 9.00 น. 10.30 น. และ 15.00 น. อาคารที่เห็นอยู่ในสระน้ำเป็นสถานที่ทำการของหน่วยรักษาความปลอดภัยของเมือง Kandy
ผมและอาจารย์หมอจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปถึงหน้าวัดพระเขี้ยวแก้ว (แปลเอาเอง) ต้องผ่านด่านตรวจของทหารและตำรวจศรีลังกา ถึง 3 ด่าน กว่าจะได้มายืนถ่ายรูปกัน ช่วงที่ไปประเทศศรีลังกามีปัญหาสงครามกลางเมือง ระหว่างชาวศรีลังกากับชนเผ่าพยัคฆ์ทมิฬอีแรม พวกพยัคฆ์ทมิฬอีแรมเดิมเป็นทาสที่ชาวอังกฤษ นำมาเก็บใบชา คล้ายพวกนิโกรอาฟริกา ที่เป็นทาสเก็บฝ้ายในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่ออังกฤษปล่อยให้ศรีลังกาเป็นอิสระ พวกพยัคฆ์ทมิฬอีแรมก็ต้องการแยกตัวปกครองกันเอง จึงเกิดการต่อสู้กับรัฐบาลประเทศศรีลังกาตลอดมา วัดพระเขี้ยวแก้วเพิ่งถูกพวกพยัคฆ์ทมิฬอีแรมลอบวางระเบิดซีโฟร์ เมื่อ 6 เดือนก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 คน กำแพงชั้นที่ 1 และกุฎิพระชั้นที่ 2 เสียหายและไฟไหม้ แต่อาคารที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ไม่ได้รับความเสียหาย
ภาพนี้ได้มาจากโปสการ์ดในเมือง Kandy เป็นภาพวัดพระเขี้ยวแก้วที่สมบูรณ์ ยังไม่ได้รับความเสียหายจากการวางระเบิดของพวกพยัคฆ์ทมิฬอีแรม ทุกวัน จะมีประชาชนไปกราบไหว้เป็นประจำ เมือง Kandy เป็นเมืองพุทธ ประชาชนราว 95 % นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งต่างจากเมือง Colombo เมืองหลวง ที่ประชาชนราว 90 % นับถือศาสนาคริสต์
ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี จะมีเทศกาลเฉลิมฉลองพระเขี้ยวแก้วในเมือง Kandy พระเขี้ยวแก้วจะถูกอัญเชิญประดิษฐานบนหลังช้าง แล้วแห่แหนไปรอบเมือง Kandy เพื่อให้ประชาชนสักการะ นำขบวนด้วยธงทิว และขบวนระบำกลอง (น่าสังเกตว่า มีแต่ผู้ชาย) มีช้างร่วมขบวนหลายเชือก แต่ละเชือกก็ประดับประดาอย่างงดงาม การแห่แหนมีทั้งตอนกลางวันและกลางคืน
ผมและคณะเข้าไปในวัดพระเขี้ยวแก้วจนถึงชั้นที่ 3 ที่เป็นที่ประดิษฐาน ทางเข้ามีม่านสีแดง ปักลวดลายด้วยดิ้นทอง ดิ้นเงิน มีเชือกกั้น ผู้ที่มากราบไหว้ต้องยืนอยู่นอกเส้นกั้น พวกเราต้องการที่จะเข้าไปไหว้พระเขี้ยวแก้วอย่างใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงเดินไปหามรรคทายก (ผู้ชายชาวศรีลังกา แต่งชุดสีขาว ติดบัตร) บอกว่าพวกเราเป็นคนไทย ต้องการที่จะไหว้พระเขี้ยวแก้วอย่างใกล้ชิด มรรคทายกจึงนำพวกเราไปกราบเจ้าอาวาส ตอนนั้นเวลาประมาณ 10.15 น. เจ้าอาวาสบอกว่าต้องรอเวลา 10.30 น. จะมีการทำพิธีบวงสรวงครั้งที่ 2 พวกเราเลยขออาราธนาศีล 5 จากท่านเจ้าอาวาส และสนทนาธรรมอยู่สักครู่ ท่านเจ้าอาวาสและมรรคทายกก็พามาที่ประตูทางเข้า ให้พวกเรายืนคนละด้านดังรูป ทุกคนถือดอกบัว มีทั้งสีขาวและสีดอก เจ้าหน้าที่พิธีการ นำพนักงานกลอง 3 คนมาบรรเลง มรรคทายกพาพวกเราผ่านประตูขึ้นไปบนชั้น 2 ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว
เมื่อถึงเวลาทำพิธีบวงสรวงพระเขี้ยวแก้ว เจ้าหน้าที่พิธีการ พนักงานกลอง 3 คน จะมายืนอยู่ลานด้านหน้าทางขึ้นไปไหว้พระเขี้ยวแก้ว มีการตีกลอง และนำเครื่องบวงสรวง เป็นผัก 32 ชนิด ผ่านประตูทางขึ้น ขึ้นไปชั้นที่ 2 มีการกั้นเชือกรอบ ๆ ลาน สำหรับผู้มาไหว้ทุกคน ทั้งที่เป็นชาวศรีลังกา และชาวต่างประเทศ แต่สำหรับคนไทยได้รับสิทธิพิเศษ ที่จะสามารถร่วมในพิธีบวงสรวง และสามารถผ่านขึ้นไปชั้นบน เพื่อไหว้พระเขี้ยวแก้วอย่างใกล้ชิด สาเหตุที่คนไทยได้รับสิทธิพิเศษเนื่องจาก พระสงฆ์ในประเทศศรีลังกาปัจจุบัน เป็นพระสงฆ์ที่บวชโดยพระไทยในสมัยอดีตกาล เรียกว่า นิกายสยามวงศ์
พระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ภายในเจดีย์ทองคำ 16 ชั้น ประเทศญี่ปุ่นได้นำกระจกนิรภัยมาติดตั้งให้โดยไม่คิดมูลค่า เจ้าหน้าที่พิธีการจะบวงสรวงพระเขี้ยวแก้ว ด้วยผัก 32 ชนิด จากนั้นก็ถวายดอกไม้ (เป็นดอก ๆ ไม่ใช่เป็นช่อ สีขาว ไม่ค่อยมีกลิ่น) เจ้าอาวาสจะเป็นประธาน พวกเราเข้าไปไหว้โดยถวายดอกบัวที่พวกเราซื้อมาจากด้านหน้าวัด ก่อนเข้ามาในวัด เจ้าอาวาสได้ให้ดอกไม้สีขาวใส่มือพวกเรา แล้วให้พวกเราโปรยด้านหน้าของพระเขี้ยวแก้ว ถ้าใครต้องการถวายปัจจัย ก็ทำได้ตอนนี้ ข้าง ๆ ถาดดอกไม้ จะมีพานไว้ให้ใส่ปัจจัย สังเกตว่ามีเงินหลายสกุลทั้งเป็นธนบัตรและเหรียญ นอกจากนี้ยังมีสร้อย แหวน กำไล เพชร พลอย ฯลฯ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เจ้าหน้าที่พิธีการ พนักงานกลอง และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพระเขี้ยวแก้ว เป็นคนในตระกูลเดียวกัน และสืบทอดภารกิจนี้ต่อไปยังลูก หลาน รุ่นต่อ ๆ ไป
หลังจากไหว้พระเขี้ยวแก้วอย่างใกล้ชิดแล้ว มรรคทายกจะพาลงบันไดอีกทางหนึ่ง จะไม่มีการเดินย้อนกลับไปด้านทางขึ้น พวกเราเดินตามลงมาจนถึงห้องโถงขนาดใหญ่ ก่อนจะออกจากวัด ห้องโถงนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของประเทศต่าง ๆ ที่ส่งมาให้เมือง Kandy พระประธานเป็นพระพุทธชินราชจำลองขนาดใหญ่ ที่ทางประเทศไทยส่งมาให้ มีการกั้นแนวเขตสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชม คนไทยอย่างพวกเราได้รับสิทธิพิเศษ ให้เข้าไปในเขตหวงห้าม เพื่อกราบพระพุทธชินราชจำลองถึงแท่นบูชา ผู้คนในวันนั้นมีจำนวนมาก ทั้งชาวศรีลังกาและชาวต่างประเทศ ต่างมองพวกเรา คงสงสัยว่า เป็นบุคคลพิเศษ จึงได้เข้าไปในเขตหวงห้าม ทำให้รู้สึกภูมิใจในความเป็นคนไทยขึ้นอีกเยอะเลย
พวกเราออกจากห้องโถงที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง บันไดทางลง ข้าง ๆ มีลายจำหลัก คล้าย ๆ หินทรายที่ปราสาทหินในเมืองไทย มีการแกะสลักเป็นรูปช้าง และลวดลายอื่น ๆ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการบูรณะ เนื่องจากผลของการระเบิดที่พวกเผ่าพยัคฆ์ทมิฬอีแรมทำไว้เมื่อหลายเดือนก่อน ประตูทางออกนี้อยู่ด้านหลังของวัด เดินอ้อมออกมาจะมาถึงถนนข้าง ๆ สระน้ำ ใกล้กับอาคารที่ตั้งหน่วยรักษาการณ์ ถ้าสังเกตให้ดีตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าทุกคนที่เข้ามาที่วัดพระเขี้ยวแก้ว ต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า ผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุง คล้าย ๆ กับการไปวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ
ภาพสุดท้าย ถ่ายรูปสาวสวยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการประชุม เรียงตามลำดับความสวย จากคนผิวคล้ำรูปร่างท้วม จะสวยที่สุด แล้วเรียงลองลงไป เป็นที่น่าสังเกตว่า สาวสวยชาวศรีลังกาต้องผิวคล้ำและท้วม สาวแอร์โฮสเตสก็เช่นกัน จะมีลักษณะเด่นคือท้วม มีพุงเล็กน้อย ถ้ารูปร่างผอมบางเหมือนนางแบบในประเทศไทย ก็จะได้เป็นแค่พนักงานภาคพื้นดินครับ