บทบาทและหน้าที่ของครูแพทย์

โดย นายแพทย์ศรีสกุล จารุจินดา


จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามคำ "บทบาท" ไว้ว่า "ทำท่าตามบท รำตามบท" และจากเรื่องบทบาทของครู โดยนายแพทย์เมืองทอง แขมมณี ได้กล่าวสรุปว่าบทบาทหมายถึง กลุ่มของพฤติกรรมที่อยู่ในขอบเขตอันเป็นที่ยอมรับกันว่า เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ

สิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยให้การเรียนรู้มีบรรยากาศที่น่าเรียน น่าศึกษามากที่สุด ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ

1. ความศรัทธาอย่างแรงกล้า (ENTHUSIASM) ที่จะทำการศึกษาหาความรู้

2. ความยอมรับนับถือร่วมกัน (MUTUAL RESPECT) ระหว่างอาจารย์และศิษย์

3. การเรียนรู้จะต้องตั้งบนพื้นฐานแห่งกระบวนการสืบสวน สอบสวน (INQUIRY) และกระบวนการค้นคว้า (DISCOVERY) และครูอาจารย์ยังจะต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างสรรค์บรรยากาศ ให้เกิดความรักและความยอมรับนับถือ ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ได้ดีอีกด้วย

ลักษณะของครูที่ดี 7 ประการ ได้แก่

1. การทำตัวให้เป็นที่รักแก่ศิษย์

2. การเป็นบุคคลที่มีความหนักแน่น

3. การเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความประพฤติดีงาม

4. การมีความมานะในการตักเตือนสั่งสอน โดยไม่เกรงกลัวว่าจะถูกเกลียด โกรธ มีความเฉลียวฉลาดในการใช้คำพูด

5. การเป็นผู้มีความอดทนต่อถ้อยคำ โดยมีเจตนาดีเป็นที่ตั้ง

6. การรู้จักสอนจากง่ายไปหายาก

7. การรู้จักแนะนำศิษย์ในทางที่ถูกที่ควร

หน้าที่ของครูแพทย์

1. สอน

2. วิจัย

3. บริการ

4. บำรุงศิลปวัฒนธรรม

- การผลิตบัณฑิตด้านศิลปะ รวมทั้งการอบรม สัมมนา

- การวิจัย เช่น สถาบันไทยศึกษา ศูนย์ภาษาและวรรณคดี อาศรมความคิด ชมรม ฯลฯ

- การเผยแพร่ รวมทั้งการแสดง การจัดนิทรรศการ การอบรม การจัดพิพิธภัณฑ์เช่น ธรรมสถาน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรม ชมรมดนตรีไทย ชมรมวรรณศิลป์ C.U. Band, C.U. Orchestra ฯลฯ

ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างสรรให้มีบทบาทและหน้าที่ของครูแพทย์ที่ดี

เริ่มจากการมีศรัทธาที่จะเป็นครูที่ดี ความศรัทธา ความรัก ความตั้งใจที่จะให้ศิษย์ได้รับความรู้เพิ่มขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้เสาะแสวงหาความรู้

1. ความรู้ทางด้านวิชาการแพทย์ เพื่อทำให้ตัวครูเองรู้ดีในสาขาวิชาที่จะสอน

2. ความรู้ทางด้านวิชาครู ปัจจุบันมีความสำคัญมาก ซึ่งในทุกๆ คณะแพทยศาสตร์ จะมีหน่วยแพทยศาสตรศึกษา (MEDICAL EDUCATION) ทำหน้าที่อบรมความรู้ด้านแพทยศาสตรศึกษาแก่ครูแพทย์ในด้านวิชาครูต่างๆ เช่นเรื่องหลักสูตร การเขียนวัตถุประสงค์ การจัดการเรียนการสอน การใช้อุปกรณ์ประกาอบการสอนต่างๆ ตลอดจนการประเมินผล

กลวิธีการสอน 8 วิธี โดย พ.ท.ประสาร ทองภักดี

1. ต้องรู้จักบุคคลที่จะสอนเสียก่อน

2. เลือกเรื่องหรือสิ่งที่จะสอนให้เหมาะกับบุคคล

3. สอนจากรูปธรรมไปหานามธรรม

4. สอนจากสิ่งง่ายๆ ไปหาสิ่งยากๆ

5. สอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้

6. สอนด้วยอุปมา อุปมัย เปรียบเทียบ

7. สอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน

8. สอนโดยการสาธิต การประพฤติตนเป็นตัวอย่าง

ศิลปวิธีสอน 4 อย่าง โดย พ.ท.ประสาร ทองภักดี

1. สอนให้เข้าใจแจ่มชัดเจน เหมือนกับตาเห็น

2. สอนให้ซึ้งใจ ชวนให้อยากนำมาปฏิบัติหรือให้อยากจะเอาอย่าง

3. สอนให้เร่งเร้า กระตือรือร้น ไม่เบื่อหน่าย

4. ให้รู้สึกสดชื่น รื่นเริง ตลอดเวลา

เมื่อได้สอนศิษย์ไปแล้ว ก็ต้องประเมินดูว่าที่สอนผ่านๆ ไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ยอมรับการประเมินผลจากท่านผู้อื่น นับแต่ผู้บังคับบัญชา เพื่อนๆ ลงไปจนถึงนิสิตนักศึกษาเอง และสิ่งที่จะทำได้ง่ายและควรทำอย่างยิ่งก็คือ การประเมินตนเอง โดยการสังเกตพิจารณาว่า การสอนที่ได้ปฏิบัติไปนั้น ได้ผลตรงตามแผนการสอนหรือไม่ สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนระหว่างการเรียนการสอน และสำรวจตนเองด้วยความยุติธรรม เมื่อได้รับคำติชมมาแล้ว ครูจะต้องยอมรับและนำไปพิจารณา ถ้าดีก็เพิ่มศรัทธามากขึ้น ถ้ายังไม่ดีก็ยิ่งต้องเพิ่มศรัทธาให้มากๆ ยิ่งขึ้น และเสาะแสวงหาความรู้ต่อไป เพื่อมาเสริมให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

สรุป

ครูแพทย์ย่อมมีบทบาทสำคัญในการสร้างศิษย์ ให้เป็นแพทย์ที่ดี ฉะนั้น สิ่งที่ครูแพทย์ทุกคนควรจะได้ทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก็คือ ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของการเป็นครู สามารถปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างของครูแพทย์ที่ดีอยู่ตลอดเวลา ครูแพทย์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเชิงวิชาครู และมีความเป็นเลิศในเชิงวิชาการทางแพทย์ สามารถประยุกต์ใช้หลักวิชาครูในการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญก็คือจะต้องปลูกฝังศรัทธาแห่งความเป็นครูให้บังเกิด เพิ่มพูนขึ้นในตนเองตลอดไป


เอกสารอ้างอิง

1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493

2. เมืองทอง แขมมณี. บทบาทครู. สารศิริราช 2517 มิถุนายน; 26 : 1212

3. มังกร ทองสุขดี. บทบาทของอาจารย์ในขั้นอุดมศึกษา. คุรุปริทัศน์ 2520 พฤศจิกายน; 2(4) : 36-37

4. ส. ศิวรักษ์. ช่วงแห่งความคิด. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2515. 17

5. เอกสารงานต้อนรับน้องใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ชมรมคณาจารย์, 9 กรกฎาคม 2523

6. พ.ท. ประสาร ทองภักดี. ระบบการศึกษาของพระพุทธเจ้า. กรุงเทพ: ดำรงการพิมพ์, 2520. 20-22