การละเล่นของเด็กไทย

การละเล่นเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นกิจกรรมที่แฝงไว้ ด้วยสัญลักษณ์ หากศึกษาการเล่นของเด็กในสังคม เท่ากับได้ศึกษาวัฒนธรรมของสังคมนั้นด้วย การละเล่นของเด็กไทย มีความหลากหลาย เช่น หมากเก็บ ว่าว โพงพาง รีรีข้าวสาร เป็นต้น


โพงพาง
เด็กนั่งจับมือเป็นวงกลม ผู้เป็นโพงพางจะถูกปิดตาอยู่ตรงกลาง เด็กจะท่องกลอน "โพงพางเอย ปลาเข้าลอด ปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง" และถามว่า "ปลาเป็นหรือปลาตาย" ถ้าตอบว่า "ปลาเป็น" เพื่อนก็เคลื่อนที่ได้ ถ้าตอบว่า "ปลาตาย" เพื่อนต้องนั่งอยู่กับที่ โพงพางก็จับเพื่อนเพื่อทายชื่อ ถ้าทายชื่อผิด ก็ต้องเป็นโพงพางต่อ

หมากเก็บ
เด็กนั่งเล่นเป็นกลุ่มประมาณ 4-5 คน โดยโยนก้อนหินไปบนอากาศ แล้วต้องรีบเก็บก้อนหินที่พื้นขึ้นมา พร้อมกับรับก้อนที่โยนขึ้นไปให้ได้



ลูกข่าง
ผู้เล่นขีดวงกลม แล้วให้สัญญาณขว้างลูกข่างออกไปพร้อมกัน เมื่อลูกข่างหมุนอยู่ที่พื้น ให้เอาเชือกคล้องที่ขาลูกข่าง และกระตุกขึ้นเอามือรับไว้ เรียกว่า "โจ๊ะ" ถ้าใครทำช้าจะถูกเพื่อนทำโทษ



อีตัก
เด็กนั่งเล่นเป็นกลุ่ม ใช้เมล็ดพืชคนละ 10-15 เมล็ด มารวมกันแล้วทอดลงไปบนพื้น ใช้กระดาษหรือใบไม้ พับเป็นกรวยสำหรับตักทีละเมล็ด โดยไม่ให้หลุดหรือไปถูกเมล็ดอื่น ซึ่งถือว่าแพ้



รีรีข้าวสาร
เด็กสองคนหันหน้าเข้าหากัน ชูมือประสานระดับศีรษะ เพื่อให้เด็กที่จับเอวกันเดินลอด พร้อมกับท่องกลอน "รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คอยพานคนข้างหลังไว้"



ขี่ม้าก้านกล้วย
นำก้านกล้วยมาตัดส่วนที่เป็นใบออก แล้วตัดแต่งหัว-ท้าย ให้เป็นเสมือนม้า ผูกเชือกระหว่างหัวกับหางม้า เพื่อใช้คล้องคอผู้เล่น ผู้เล่นจะควบม้า ( ก้านกล้วย ) ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับร้อง "ฮี้ ๆ ๆ ๆ "



จากสถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี ๒๕๓๙
GO BACK HOME