โครงการจัดตั้ง "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
- ๑. ชื่อโครงการ
-
โครงการจัดตั้ง "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
- ๒. ผู้รับผิดชอบโครงการ
-
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๓. วันที่กำหนด
๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี
๔. หลักการและเหตุผล
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ จึงกล่าวได้ว่าภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ ซึ่งสมควรจะได้รับการทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการติดต่อสื่อสารซึ่งเน้นความสะดวกและความรวดเร็วเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อและผูกพันต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ของคนไทยก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ภาษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าวิตกอย่างยิ่ง สภาพการณ์เช่นนี้หากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ นับวันภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง เป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อภาษาไทยตลอดมา จึงได้พิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเสนอรัฐบาลไทยให้จัดตั้ง "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ขึ้น เช่นเดียวกับ วันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" และ "วันสื่อสารแห่งชาติ" เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ทั้งนี้ โดยเห็นควรกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
๕. เหตุผลที่กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หร้อมทั้งสอบถามความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการภาษาไทยหลายท่านแล้ว ในที่สุดได้เห็นพ้องต้องกันว่า ควรกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ทั้งนี้เพราะวันดังกล่าว มีความสำคัญต่อวงการภาษาไทยอย่างยิ่ง เนื่องด้วยตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถ และความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว และในโอกาสต่อๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส เช่น ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ภาษาไทยของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน ในวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพุทธศักราช ๒๕๓๔ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย และพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้คือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรี่องถึงรากศัพท์ของคำไทยคือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปล เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปล บทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้แก่วงการภาษาไทย
๖. วัตถุประสงค์
๖.๑ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
๖.๒ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
๖.๓ เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุง ส่งเสริม
และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
๖.๔ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุก
ระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
๖.๕ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทย
ในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติและในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
๗. การดำเนินงาน
๗.๑ คณะกรรมการเพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอโครงการ "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาดำเนินการ
นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามระเบียบและขั้นตอน ที่จะขออนุมัติจัดตั้ง "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
๗.๒ คณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศให้ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
๗.๓ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมและเชิญชวนให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมเนื่องใน "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
เป็นประจำทุกปี และดำเนินงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
๘. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๘.๑ การมี "วันภาษาไทยแห่งชาติ" จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวง
มหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ
"วันภาษาไทยแห่งชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ
๘.๒ บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทย เป็นไป
อย่างถูกต้อง เหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
๘.๓ ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็น
เอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
คัดลอกจากหนังสือบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระแสพระราชดำริ เรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย
หน้า ๔๒-๔๖