คู่แผ่นดินไทย
งานศิลปกรรมและประณีตศิลป์ของบรรพชนไทย ที่ได้สร้างสรรค์ สืบสาน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ล้วนทรงคุณค่าทางภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจ และสะท้อนวิถีชีวิตในสังคม เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่รังสรรค์ขึ้นจากความมานะพยายาม ที่เพียบพร้อมด้วยสุนทรียะอันละเอียดอ่อน เปี่ยมด้วยศิลปะชั้นสูง ซึ่งมิใช่จะงดงามเพียงในวันนี้เท่านั้น หากแต่ผลงานอันทรงคุณค่าหลากหลาย จะยังคงดำรงอยู่ยั่งยืน เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพของผู้คนในแผ่นดินสืบไป
- เครื่องทอง (Gold Work)
- ด้วยคตินิยมและคุณค่าของทองคำ สมัยโบราณเป็นสิ่งที่มีค่าสูง ใช้ทำแต่เครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหากษัตริย์ ทำรูปเคารพในศาสนา และทำเครื่องประดับของชนชั้นสูง กรรมวิธีการทำเครื่องทองมีทั้งการหุ้มทอง การปิดทอง การบุ-ดุน การหล่อ การคร่ำ และกะไหล่ทอง ซึ่งยังคงเป็นแบบแผนให้แก่ช่างทองสมัยใหม่ ได้สืบสานต่อมา
- หุ่นกระบอก (Thai Puppets)
- หุ่นกระบอกเป็นการละเล่นที่มีเสน่ห์บันเทิงใจ แสดงเรื่องราวตามจินตนาการ ในวรรณคดีชิ้นเอก กล่าวได้ว่า พ.ศ. 2442 หม่อมราชวงศ์ เถาะ พยัคฆเสนา เป็นผู้ตั้ง "หุ่นกระบอกคณะเถาะ" เป็นคนแรกในภาคกลาง วรรณคดีเรื่องหนึ่งที่นิยมเล่นนอกจากเรื่องพระอภัยมณีคือเรื่องสังข์ทอง ตัวละครที่รู้จักกันดีคือ เจ้าเงาะกับนางรจนา
- หนังใหญ่ (The Large Shadow Play Puppets)
- งานฉลุแผ่นหนัง ให้เป็นรูปลักษณ์ของตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นศิลปะประเพณีชั้นครู ด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมทั้งหัตถศิลป์และนาฎศิลป์ นำออกเชิดให้คนได้ชื่นชม ทั้งในเวลากลางวันด้วยตัวหนังใหญ่เขียนสีอย่างสวยงาม และเวลากลางคืนด้วยตัวหนังสีดำ นับเป็นการละเล่นที่น่าประทับใจในภูมิปัญญาแห่งบรรพชนไทย
- ผ้าฝ้าย (Thai Cotton Textile)
- งานทอผ้าฝ้ายเป็นศิลปะที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรมของชนชาติ สีสัน ลวดลาย และเนื้อผ้า อันเป็นมรดกตกทอดมาแต่โบราณ สามารถบ่งบอกสภาพของภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ผ้าฝ้ายลายดอกพิกุลของภาคใต้ ผ้ายกดอกและผ้าจกของภาคเหนือ ผ้าขิดและผ้ามัดหมี่ของภาคอีสาน และผ้าหางกระรอกของภาคกลาง
- ผ้าไหม (Thai Silk Textile)
- ผ้าไหมไทย แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทย ด้วยลีลาการสอดประสานของเส้นไหม สร้างลวดลายอันวิจิตรสวยงาม ทั้งเคล็ดวิธีที่สร้างเสน่ห์ให้ผืนผ้า ความงดงามของผ้าไหมไทยโดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ ที่โดดเด่นจากเส้นไหม ที่เกิดจากการมัดย้อมด้วยภูมิปัญญาอันสูงยิ่งนั้น ปรากฎชื่อเสียงไปทั่วโลก
- เครื่องเขิน (Lacquerware)
- ชาวเชียงใหม่เป็นผู้สร้างตำนานการทำเครื่องเขิน งานฝีมือจากไม้ไผ่ สานขึ้นรูปเป็นเครื่องใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น หีบ พาน กล่อง ขันโอ และตลับ แล้วลงรักสีดำหรือทาชาดสีแดง ปิดทอง เขียนลวดลายตามที่ต้องการ นับเป็นงานศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่น ซึ่งยังคงได้รับความนิยม และสืบทอดภูมิปัญญานี้อย่างต่อเนื่อง
- เครื่องเงิน (Silverware)
- เชียงใหม่ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะการทำเครื่องเงิน ซึ่งมีรูปทรงและลวดลายที่ละเอียดอ่อน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น แต่โบราณมา นิยมทำเป็นเครื่องเชี่ยนหมาก เตียบ ตะลุ่ม ขัน และทัพพี แต่ในปัจจุบัน นิยมทำเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี
- ย่านลิเภาและเครื่องจักสานไม้ไผ่ (Yan Li-Phoa and Bamboo Wickerworks)
- งานประณีตศิลป์ที่งดงามและมีคุณค่า สืบทอดฝีมือตลอดมา เถาย่านลิเภา วัสดุพื้นถิ่นที่หาได้ง่ายแถบจังหวัดนราธิวาส ผสานศิลปะและความพิถีพิถันในการถักทอ เครื่องใช้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ กระเป๋าถือ สำหรับเครื่องจักสานไม้ไผ่ มรดกทางวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่นอีสาน เดิมงานจักสานพื้นบ้าน ทำเป็นเครื่องใช้ต่างๆ ภายในครัวเรือน ด้วยการจักสานที่ละเอียดซับซ้อน สร้างสรรค์ลวดลายพิเศษ เช่น ลายขิด ด้วยความอดทนสูง ฝีมือที่ประณีตพิถีพิถัน ควรแก่ความภาคภูมิใจ
- เครื่องมุก (Mother-of-Pearl Inlay)
- งานศิลปะชั้นสูงที่มีความงดงามมากประเภทหนึ่งคือ เครื่องมุก เป็นงานฝีมือที่บรรพบุรุษไทยสร้างสรรค์ขึ้น ด้วยการประดับเปลือกหอยมุกลงบนเนื้อไม้ด้วยลวดลายไทย แต่โบราณมานิยมใช้ประดับเครื่องใช้ในพระศาสนา เช่น ตู้พระไตรปิฎก บานประตูโบสถ์วิหาร ต่อมานำมาประดับเครื่องเรือน เครื่องดนตรี และเครื่องใช้ต่างๆ
- เครื่องถ้วยสังคโลก (Celadon Sangkalok Ware)
- เครื่องถ้วยสังคโลก หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ชนิดเนื้อแกร่ง น้ำเคลือบทำจากขี้เถ้า ไม้ และหินฟันม้า เผาในอุณหภูมิสูงถึง 1,250 องศาเซลเซียส จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เริ่มมีการผลิตเครื่องถ้วยสังคโลกตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีรูปทรงที่หลากหลาย ประดิษฐ์ลวดลายจากธรรมชาติ สีเขียวไข่กาเป็นสีเคลือบที่สวยที่สุด
- เครื่องเบญจรงค์ (Bencharong Ware)
- เครื่องปั้นเคลือบดินเผาที่เขียนลวดลายด้วยสี 5 สี ตามความหมายของคำว่า เบญจ ซึ่งแปลว่า ห้า และ รงค์ ซี่งแปลว่า สี นี้น เป็นงานที่สั่งทำจากจีน ตามรูปแบบและลายที่ไทยส่งไป ในสมัยอยุธยาใช้เฉพาะในราชสำนัก ได้แก่ ลายเทพนม ลายเทพนรสิงห์ ลายเทพนมครุฑ ลายกินนร กินนรี และลายดอกไม้ ต่อมาได้ผลิตขึ้นเอง เขียนลวดลายตามสุนทรียะของไทย ซึ่งมีความอ่อนช้อยงดงาม
- เครื่องถม (Nielloware)
- งานศิลปกรรมไทยชิ้นเอก เครื่องถม ที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยสุนทรียะและภูมิปัญญา ของช่างโบราณชาวนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยาถือเป็นศิลปวัตถุที่คู่ควรเฉพาะพระมหากษัตริย์ และสำหรับถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ ปัจจุบันช่างเมืองนคร ยังคงสืบสานงานฝีมือนี้ด้วยความภาคภูมิใจ
จากปฏิทินของธนาคารไทยพาณิชย์ ประจำปี ๒๕๔๕
GO BACK HOME