ย่ำแดนลุงแซม ตอน 1 Georgetown University
วันที่ 17-22 กรกฎาคม 2546

ผมได้รับทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ออกกันคนละครึ่ง) ให้ไปประชุมและเสนอผลงานทางวิชาการในการประชุม The Seventh Annual Meeting of International Association for Medical Science Educators ณ Georgetown University Conference Center กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 17-22 กรกฎาคม 2546 ผมออกเดินทางโดยสายการบิน EVA Air เพราะถูกกว่าการบินไทยเกือบ 3 หมื่นบาท ออกเดินทางวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2546 เวลา 17.30 น. เปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไต้หวัน แล้วข้ามมหาสมุทรแปซิฟิค โดยบินผ่านประเทศญี่ปุ่น ไปใกล้ขั้วโลกเหนือ ผ่านทะเลแบริ่งใกล้ประเทศรัสเซีย แล้วข้ามฟากมายังทวีปอเมริกาเหนือ ลงเปลี่ยนเครื่องเป็นสายในประเทศ United Airline ที่ซานฟรานซิสโก เลยออกมาถ่ายรูปด้านนอกอาคาร แล้วกลับเข้าไปให้ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ถอดรองเท้า ตรวจร่างกาย อย่างละเอียด และเป้ที่ติดตัว เนื่องจากทางการสหรัฐกลัวการก่อการร้าย (เพราะไปทำคนอื่นเขาไว้มาก) แล้วไปนั่งรอขึ้นเครื่องอีก 2 ชั่วโมง


ผมเดินทางถึงสนามบิน Dulles International Airport ซึ่งเป็นสนามบิน 1 ใน 3 ของกรุงวอชิงตัน ดีซี ระยะทางจากสนามบินเข้าเมืองประมาณ 45 นาที ไกลกว่าสนามบิน Reagan ซึ่งใช้เวลาเข้าเมืองประมาณ 30 นาที อีกสนามบินหนึ่งไกลที่สุด ถึงสนามบินเวลา 06.30 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 รวมเวลาเดินทางของผมประมาณ 28 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี และต้องปรับเวลานาฬิการวม 3 ครั้งเพราะที่ไต้หวันเวลาเร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง ที่ซานฟรานซิสโกเวลาช้ากว่าเมืองไทยหลายชั่วโมง และที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เวลาช้ากว่าเมืองไทยประมาณ 11 ชั่วโมง งงมากครับเรื่องเวลา พอได้กระเป๋าก็ถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ว่าจะไปสถานที่ประชุมได้อย่างไร เขาบอกว่าถ้าไปรถ TAXI เสียเงินประมาณ 50 US$ (~2,000 บาท) :( ... แต่ถ้าไปรถตู้ร่วมบริการแบบบ้านเรา (Super Shuttle) ก็เสียตามระยะทาง พอออกจากสนามบินก็เจอคิวรถตู้ร่วมบริการ เข้าไปถามเสีย 21 US$ มีนักศึกษามหาวิทยาลัย George Washington และชาวไต้หวัน อัดกันไปในรถตู้


รถจอดแวะส่งนักศึกษา ที่หน้าหอพักของมหาวิทยาลัย มีกี่คนลองนับดู แล้วไปส่งชาวไต้หวันอีก 3 คน ที่โรงแรมใกล้ๆ แถวนั้น เหลือผมเป็นคนสุดท้ายกับโชเฟอร์ เลยคุยกันไปตลอดทาง เขาพามาถนน Wisconsin Ave ซึ่งเป็นถนนสายหลักในย่าน Georgetown สถานฑูตไทยก็ตั้งอยู่ปลายถนนเส้นนี้


โชเฟอร์พารถเลี้ยวเข้าถนน Resovier แล้วเลี้ยวเข้าประตูทางเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย Georgetown สถานที่ประชุม Georgetown University Conference Center ตั้งอยู่ในบริเวณคณะแพทยศาสตร์ บริหารจัดการโดยโรงแรม Mariott ที่นี่ค่าที่พักคืนละ 145 US$ แต่ผมไม่ได้พักที่นี่หรอก


ภายในศูนย์ประชุม จะมีเจ้าหน้าที่ Front Desk คอยต้อนรับด้วยอัธยาศัยอันดี สาวสวยชาว Kenya (ดำเนียนเป็นมัน) เธอบอกว่าเจ้าหน้าที่หอพักนักศึกษา ที่ผมจะไปอยู่ยังไม่มา ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 09.00 น. ผมเลยถามหา Dr. Roger Koment, Executive Director ของ IAMSE ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่บอกว่ามาแล้ว กำลังประชุมกับกรรมการจัดงานอยู่ ผมเลยบอกเขาให้ช่วยไปบอก Roger ว่าผมมาถึงแล้ว (ผมพบกับ Roger เมื่อปี ค.ศ. 1995 ตอนไปประชุมและเสนอผลงานที่ประเทศเนเธอแลนด์ เสร็จการประชุม ผมก็บอก Mrs. Pualine Vluggen ซึ่งเป็นเลขานุการของประธานจัดงานว่า ผมอยากอยู่ที่ที่ประชุมอีก 1 วันเพื่อไปเที่ยวเมือง Arken ประเทศเยอรมัน Pualine ก็ช่วยจัดการยกบ้านพัก 3 ห้องนอน ให้ 1 หลัง ผมเลยชวนคนอเมริกัน 2 คน เป็น Roger 1 และใครอีกคนก็ไม่รู้ กับชาวบัลแกเรียอีก 2 คน ไปเที่ยวเยอรมันด้วยกัน จากวันนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกันเลย) เจ้าหน้าที่เข้าไปสักพัก Roger ก็ออกมาต้อนรับเป็นอย่างดี และเลี้ยงกาแฟ ขนมเค็ก ทานจนอิ่ม ผมบอกว่าจะรอถึง 4 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ระหว่างรอขอฝากกระเป๋าเดินทางและสัมภาระอื่นๆ ผมจะไปเดินเล่น และจะแวะไปสถานฑูตไทยด้วย


ผมใช้แผนที่ที่เจ้าหน้าที่ Front Desk มอบให้ ออกเดินจากถนน Resovier ไปจนถึงถนน Wisconsin Ave และเดินไปทิศที่จะไปถึงแม่น้ำ Potomac ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก็พบสถานฑูตไทยแต่เข้าไม่ได้ หาทางเข้าอยู่ 20 นาทีจึงพบ ได้มีโอกาสพบคุณติ๊ก First Secretary ซึ่งเป็นเพื่อนกับเพื่อนที่คณะฯ เอาของฝากมอบให้ นั่งคุยกันอยู่จนเที่ยง คุณติ๊กเชิญทานข้าวเที่ยง กำลังจะออกจากสถานฑูตก็พบกับท่านฑูต ทักทายกันแล้วก็ออกไปทานอาหารเวียตนามบนถนน Wisconsin Ave จนถึงบ่ายสองโมง ก็ลาคุณติ๊กเดินกลับมาที่ศูนย์ประชุม เจ้าหน้าที่หอพักรออยู่แล้ว และพาผมเดินไปหอพัก ผ่านสำนักงานอธิการบดีที่เคยเป็นวิหารเก่า สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1789 สัญลักษณ์ของอาคารนี้คือหอนาฬิกาซึ่งยังเดินเป็นปกติ เดินทะลุมาด้านหลัง จนมาถึง Village C, East Wing ซึ่งจัดให้เป็นที่พักผู้เข้าประชุมชั้นประหยัด


หอพัก East Wing เป็นหอพักแบบสห คืออยู่ได้ทั้งหญิงและชาย ช่วงนี้ยังปิดเทอม จึงมีนักศึกษาอยู่ไม่มากนัก ทางเข้าต้องใช้บัตรรูดเพื่อเปิดประตู เข้าไปแล้วจะพบเจ้าหน้าที่หอ ซึ่งเขาใช้นักศึกษาทำงาน นั่งประจำผลัดละ 8 ชั่วโมง ห้องของผมอยู่ชั้น 3 ประตูทางเข้านี้จะอยู่ชั้น 4 พอเข้าไปแล้วต้องเดินลงไปอีก 1 ชั้น ใหม่ๆ ก็งง หาห้องไม่พบ มีกุญแจไขเข้าห้อง 1 ดอก ห้องหนึ่งนอนได้ 2 คน มีเครื่องปรับอากาศ และห้องน้ำในตัว คืนละ 60 US$ (~2,500 บาท) ผมนอนคนเดียวในห้องนี้ อยากหาคนมาช่วยแบ่งค่าเช่าห้อง แต่ไม่มีเลย พอ 4 โมงเย็นก็เดินไปลงทะเบียน แล้วไปเดินเล่น กลับมาหอพักตอน 18.00 น. อาบน้ำแล้วก็นอนหลับทันที


เช้าวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2546 เวลา 8.30 น. ก็เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเขาจัดเป็น Pre Workshop ก่อนจะเริ่มการประชุมจริงๆ มีหลายเรื่อง ซึ่งเราต้องสมัครมาก่อนล่วงหน้า ห้องหนึ่งๆ จะมีคนเข้าสัมมนาประมาณ 30 คนต่อห้อง ผมเลือกเข้าสัมมนาเกี่ยวกับการสอบ National Board เพราะแพทยสภาของประเทศไทย มีโครงการจะจัดสอบแบบ National Board สำหรับผู้ที่เรียนจบหลักสูตรแพทย์ และประสงค์จะได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม วิทยากรเป็นคณะกรรมการ National Board for Medical Examiners ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาทั้ง President และ Vice President รวมทั้งทีมงานนักวิจัยของเขา การสัมมนาเสร็จเมื่อเวลา 17.00 น. พิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการเริ่มเวลา 18.00 น. มีขบวนทหารอเมริกันจากทุกเหล่าทัพ มาเดินนำธงเข้าห้องประชุม เป็นที่น่าสังเกตว่า ทหารเหล่านี้ตัวใหญ่สูงเกือบ 2 เมตรทุกคน ท่าทางทะมัดทะแมงมาก มีวงดนตรีประกอบ ภายในห้องประชุมด้านหน้า จะมีธงชาติของผู้เข้าร่วมประชุมตั้งไว้ งานนี้มี 26 ประเทศเข้าร่วมประชุม ผู้เข้าประชุมประมาณ 260 คน เป็นนักวิชาการจากประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด 180 คน


จบขบวนธง คณะกรรมการจัดการประชุมของ IAMSE (International Association for Medical Science Educators) ก็เดินขึ้นประจำที่ ธงชาติไทยของเราอยู่เป็นธงที่ 4 จากขวา Dr. Roger Koment เพื่อนของผม เป็นผู้ชายนั่งอยู่กลางภาพ เขาเป็นผู้จัดการประชุมครั้งนี้


หลังจากประธานฝ่าย IAMSE, ประธานฝ่าย Georgetown University และกรรมการคณะต่างๆ กล่าวต้อนรับ ก็มีการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติหลายท่าน ผู้เข้าประชุมทั้งหมดก็จะนั่งฟังอยู่ในประชุมใหญ่ มีการซักถามวิทยากรโดยไปยืนต่อคิวหน้าไมโครโฟนที่ผู้จัดเตรียมไว้รอบห้องประชุม ในช่วงพัก ผมก็ไปยืนให้คนช่วยถ่ายรูปคู่กับ Poster ผลงานที่นำไปเสนอ, Poster ของผมเวลาไปเสนอที่ไหนก็จะมีสัญลักษณ์ธงชาติไทยและตราพระเกี้ยวติดไปด้วยเสมอ


ในการประชุมครั้งนี้ ผมได้พบคุณหมอสมพล, คุณหมอสมเกียรติ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณหมอกฤษดา, คุณหมอบุญพร้อม จากโรงพยาบาลชลบุรี เลยถ่ายรูปร่วมกันกับ Dr. Roger Koment และ Ms. Julie, Secretary of IAMSE ระหว่างพักรับประทานกาแฟและของว่าง กาแฟและของว่างที่นี่ตั้งไว้ทั้งวัน สามารถทานได้ตลอดการประชุม และจะมีเจ้าหน้าที่มาเติมตลอดเวลา จากจุดที่ยืนทานกาแฟสามารถมองเห็นหอนาฬิกาได้อย่างชัดเจน


ผมได้พบกับ Professor Ronald Harden จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยดันดี, Scotland, United Kingdom ผู้สร้างวิธีการสอบ OSCE (Objective Structured Clinical Examination) เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันทั่วโลกรู้จักและใช้การสอบแบบ OSCE ในโรงเรียนแพทย์ ท่านเคยมาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สมัยที่ผมเพิ่งเข้าทำงาน เลยขอถ่ายรูปกับท่าน อีกคนหนึ่งคือ Dr. Geff Norman จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศคานาดา ผมพบ Dr. Norman ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2528 เมื่อคราวที่ท่านมาช่วยทำหลักสูตร Problem-Based Learning และอีกหลายครั้งเวลาไปประชุมต่างประเทศ เช่นที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเนเธอแลนด์ เลยขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกอีกคน


การประชุมประจำวันจะเลิกประมาณ 18.00 น. พวกเราคนไทยทั้ง 5 คน ก็จะชวนกันออกไปเดินเล่นโดยมีคุณหมอสมพล (ผู้มีวัยวุฒิมากที่สุด) เป็นหัวหน้าทีม คุณหมอสมพลท่านมีประสบการณ์มาก ศึกษาข้อมูล แผนที่ รถเมล์ รถไฟใต้ดิน ถนนหนทาง ฯลฯ ล่วงหน้า ท่านพาพวกเราเดินออกประตูหน้าหอนาฬิกาพบถนนหมายเลข 37 แล้วเดินลงไปหาแม่น้ำ Potomac เพียง 15 นาทีก็ถึง จากนั้นก็ไปเดินเล่นและถ่ายรูปที่สะพาน Key Bridge ถ้าถ่ายไปทางเมือง Georgetown ก็สามารถมองเห็นหอนาฬิกา ถ้าถ่ายไปอีกทางหนึ่งก็จะเป็นเขตของรัฐ Virginia พวกเราเดินไปทาง Virginia


ลงจากสะพาน Key Bridge มาทางฝั่งรัฐ Virginia ก็พบกับป้ายบอกว่าเป็น George Washington Memorial Parkway เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นก็เดินหาสถานีรถไฟใต้ดินซึ่งที่นี่เขาเรียกว่า METRO สถานีรถไฟใต้ดินแห่งนี้ชื่อว่า สถานี Rosslyn สามารถนั่งไปขึ้นที่สถาบันสมิธโซเนียนได้ ในที่สุดพวกเราก็หาจนพบ คุณหมอสมพลสอนวิธีซื้อตั๋ว โดยขั้นแรกต้องไปดูป้ายบอกราคาว่าจากสถานี Rosslyn ไปสถานี Smithsonian เป็นเงินเท่าไหร่ มี 2 ราคาคือราคาเวลา Rush Hour ซึ่งจะแพงกว่าเป็นเงิน 3.20 US$ แต่ถ้านั่งช่วงเวลาที่ไม่ใช่ Rush Hour ราคาจะอยู่ที่ 2.20 US$ ขั้นต่อไปคือการเตรียมธนบัตรและเศษสตางค์เพื่อไปหยอดตู้ขายตั๋ว ถ้าเงินไม่พอดีสามารถหยอดเงินให้จำนวนมากกว่า แล้วกดปุ่มว่าจะซื้อตั๋วราคาเท่าใด เงินที่เกิน เครื่องจะทอนกลับมาให้ ขั้นสุดท้ายคือกดปุ่มเพื่อให้ตั๋วออกมาพร้อมกับเงินทอน พวกเราได้ฝึกฝนทบทวนขั้นตอน เพื่อเตรียมตัวไว้ไปเที่ยวหลังจบการประชุม


ออกจากสถานีรถไฟใต้ดิน Rosslyn พวกเราก็เดินกลับที่พัก เนื่องจากเมือง Georgetown เป็นเมืองเก่าแก่และเป็นเมืองท่องเที่ยว เดือนกรกฎาคมเป็นฤดู Summer ของที่นี่ จึงมีนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนอเมริกันจากรัฐอื่นๆ มาเที่ยวกันมาก ตอนกลางคืนจะเห็นผู้คนเดินกันขวักไขว่โดยเฉพาะที่สะพาน Key Bridge มีคนเดินมาเที่ยวชมกันมาก ระหว่างทางกลับที่พัก พบรถเก๋งคันยาวมาก เลยถ่ายภาพเอาไว้ รถแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นรถให้เช่าพร้อมคนขับ คนนิยมสีขาวกับสีดำ ตอนอยู่ที่หอพักเคยเห็นรถเก๋งคันยาวแบบนี้ 5-6 คันมาจอดแถวหอพัก เนื่องจากมีคู่บ่าวสาวมาแต่งงานที่โบสถ์ด้านหลังหอนาฬิกา เป็นโบสถ์ขนาดเล็กแต่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมาก ผมมีโอกาสเข้าไปในโบสถ์เลยถ่ายรูปมาฝากครับ


เย็นวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2546 เวลา 18.00 น. หลังการประชุม ผู้จัดการประชุมได้จัดงานเลี้ยงอาหารเย็นบนเรือ Odyssy ซึ่งจะล่องไปตามแม่น้ำ Potomac จนถึงเวลา 21.00 น. เรือลำนี้มีขนาดใหญ่ ชั้นเดียว ติดเครื่องปรับอากาศทั้งลำ ผู้เข้าประชุม 200 กว่าคนอยู่ตอนหน้าของเรือ ตอนท้ายของเรือเขาให้ประชาชนทั่วไปมาทานอาหาร โต๊ะของพวกเราอยู่ตอนกลางของเรือ ใกล้กับบาร์ซึ่งมีเครื่องดื่มเสิร์ฟตลอด พี่ Penny (เพ็ญประภา) เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐมาหลายสิบปี ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัย West Virginia ประเทศสหรัฐอเมริกา มานั่งอยู่ในกลุ่มของพวกเรา ดื่มกันไป ทานอาหารกันไป พอชักครึ้มๆ ก็ออกไปเดินรอบเรือ รับอากาศบริสุทธิ์ ดูทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำ แม่น้ำ Potomac มีขนาดใหญ่พอๆ กับแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โชคดีกว่าที่ไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่สองฝั่งมากเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา สองฝั่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ และในแม่น้ำก็ไม่ค่อยมีเรือวิ่งมากนัก ยกเว้นเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ไม่กี่ลำ น้ำในแม่น้ำดูสะอาด ไม่มีผักตบชวา หรือขยะลอย พวกเราดื่มด่ำกับธรรมชาติ จนถึง 21.00 น. รถบัสก็มารับกลับที่ประชุม พรุ่งนี้การประชุมก็จะปิดฉากลงเวลา 12.30 น. คุณหมอสมพลกับคุณหมอสมเกียรติจะเดินทางไปพักที่โรงแรมใกล้สนามบิน Dulles เพราะต้องออกแต่เช้าเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ส่วนคุณหมอกฤษดาและคุณหมอบุญพร้อม บ่ายพรุ่งนี้จะไปเที่ยวสนามหลวง (The Mall) ของกรุงวอชิงตัน ดีซี แล้วกลับโรงแรม Holiday Inn Georgetown รุ่งขึ้นตีห้าต้องไปสนามบิน Reagan เพื่อบินกลับกรุงเทพฯ เหลือผมคนเดียวที่จะอยู่เที่ยวกรุงวอชิงตัน ดีซี เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ติดตาม "ย่ำแดนลุงแซม ตอน 2 The Mall"


โชคและเพื่อนช่วย ได้ไปย่ำแดนลุงแซม......บุญนาท ลายสนิทเสรีกุล
GO TO HOME PAGE