ผมออกเดินทางจากบ้านของ Dr. Roger Koment ที่ Springfield, Virginia รุ่งเช้าศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2546 เวลา 04.45 น. เพื่อไปขึ้นเครื่องบิน United Airline เวลา 07.00 น. จุดหมายคือ Los Angeles รถ Taxi Yellow Cab มารับตามเวลานัด พาไปสนามบิน Dulles กรุงวอชิงตัน ดีซี สายภายในประเทศ หลังจากผ่านการตรวจเป้ ตรวจร่างกาย รองเท้า ผมก็ไปนั่งรออยู่หน้าประตูทางออก ได้เวลาก็บินไปลงสนามบินที่ลอสแองเจลิส เวลา 09.00 น. เดินไปรับกระเป๋าที่ Terminal 6 ตอนนั้นสงสัยอยู่ว่า ผมจะได้พบกับเพื่อนสมาชิก กลุ่มเมล์ไทย ได้อย่างไร ต้องขอบคุณคุณทรงศักดิ์ที่ให้รหัสบัตรโทรศัพท์ เลยโทร.ไปหาคุณสันติ ลูกสาวและภรรยาบอกว่า ออกมารับเพื่อนตั้งแต่ 6 โมงเช้า และจะโทร.บอก ว่าผมรออยู่ที่ Terminal 6 ผมรออยู่ 15 นาที ก็มีหนุ่มใหญ่ใส่เสื้อสีแดงสด เดินเข้ามาทักทาย คุณสันตินั่นเอง เราทั้งสองจึงได้เดินทางออกจากสนามบิน คุณสันติบอกว่าจะพาไป Huntington Museum ระหว่างทางคุณสันติพยายามติดต่อคุณนิด คุณสันติขับรถขึ้นทางด่วนเพื่อจะไปพิพิธภัณฑ์ Huntington ราว 10.00 น. คุณฉลวยโทร.เข้ามา บอกว่าอยากให้แวะไปหาที่ Pasadena คุณสันติขับรถหาอยู่สักครู่ ก็เห็นคุณฉลวยเดินอยู่ริมถนนรออยู่ เลยขับรถเข้าไปจอดใต้อาคาร แล้วคุณฉลวยก็พาไปที่ทำงาน ผมได้ส่งข่าวจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณฉลวย เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ทราบว่า ผมมาถึงลอสแองเจลิสโดยสวัสดิภาพ
คุณฉลวยพาชมที่ทำงาน มีส่วนที่เป็นห้องควบคุมเสียงเพื่อออกอากาศกิจกรรมทางศาสนา ห้อง Studio ห้องบันทึกเสียง ห้องจัดทำเป็นแผ่นซีดี ฯลฯ คุยกันอยู่เกือบเที่ยงคุณฉลวยก็พาชมห้องพักหลายขนาด แล้วพาไปเลี้ยงข้าวเที่ยง ที่ร้านศาลาแดงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงาน
ผมต้องขอบคุณคุณสันติเป็นอย่างมาก ที่สละเวลาทั้งวันมาพาผมเที่ยวชมเมืองลอสแองเจลิส ที่ร้านอาหารไทยศาลาแดง ชาวต่างประเทศมีอยู่กว่าครึ่ง พวกเราเลือกได้โต๊ะก็สั่งอาหาร ทานกันไปคุยกันไปหลายเรื่อง หลังทานอาหารผมและคุณสันติจะไปพิพิธภัณฑ์ Huntington ส่วนคุณฉลวยแยกกลับไปบ้าน และนัดพบกันตอนเย็นที่ร้านสนามหลวง ซึ่งจะมีคุณหมอธนิตและคุณนิดมาสมทบด้วย
ออกจากร้านศาลาแดงส่งคุณฉลวยที่ทำงาน คุณสันติก็ขับรถพาผมไปพิพิธภัณฑ์ Huntington เสียค่าเข้าชมคนละ 12 US$ คุณสันติเล่าว่า Mr. Huntington เป็นมหาเศรษฐี แต่ถูกเรียกเก็บภาษีบ้านและที่ดินไม่ไหว เลยยกให้หลวง ทางรัฐบาลเลยเอามาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ทางเข้ามีประตูเหล็กขนาดใหญ่ วิ่งผ่านสนามหญ้าที่กว้างขวางมาก จนมาถึงตัวบ้าน มีคนเข้าชมมากพอสมควร ภายในบ้านแบ่งเป็นห้องๆ ขนาดใหญ่มากกว่า 10 ห้อง แต่ละห้องจะมีเตาผิง ตู้ใส่จานชาม โต๊ะทำงาน โต๊ะเขียนหนังสือ โต๊ะรับแขก ปูพรมทุกห้อง ที่ข้างฝาก็ประดับรูปวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่หลายสิบรูป ทางเดินระหว่างห้องก็จะมีรูปปั้นหินอ่อน ในห้องหนังสือชั้นล่างและชั้นบน ก็เด็มไปด้วยหนังสือเก่ามากมายเป็นพันๆ เล่ม มีเจ้าหน้าที่หลายสิบคนคอยยืนดูแลทั่วทั้งตึก เดินดูทุกห้องทั้งชั้นล่างและชั้นบน บอกได้ว่าเจ้าของบ้านเป็นนักสะสมของเก่าตัวยงทีเดียว จากนั้นก็ออกมาเดินรอบบ้าน
ตัวบ้าน (จริงๆ น่าจะเรียกว่า "คฤหาสน์" มากกว่า) ทาสีขาว มีขนาดใหญ่มาก ตั้งเด่น เป็นสง่า อยู่บนเนินสูง มองไปรอบๆ เป็นสนามหญ้าเขียวขนาดใหญ่ จากแผ่นพับบอกว่า ที่ดินรอบๆ บ้านแบ่งเป็นโซนๆ เช่น โซนสวนญี่ปุ่น โซนสวนดอกกุหลาบ โซนต้นไม้เมืองร้อน โซนต้นไม้ทะเลทราย โซนต้นไม้สมุนไพร ฯลฯ ผมและคุณสันติออกเดินไปที่โซนดอกกุหลาบ ไม่ค่อยงามเท่าไหร่ คงเพราะอากาศร้อน ดอกจึงค่อนข้างเหี่ยวเฉา ไม่สวยงามเท่าสวนกุหลาบดอยที่เชียงใหม่ เดินผ่านสวนสมุนไพร ได้เห็นใบโหระพา ใบกะเพราะ ตะไคร้ ที่คุ้นตา เดินผ่านศาลากลางสวน ตอนนี้เขาติดแอร์ ทำเป็นร้านขายกาแฟ ชา และขนมเค้ก พวกเราเดินเลยไปเพราะยังอิ่มกับอาหารกลางวัน มุ่งหน้าไปยังโซนสวนญี่ปุ่น
ทางเข้าโซนสวนญี่ปุ่น เป็นประตูไม้แบบบ้านญี่ปุ่นโบราณ มีป้ายไม้บอกว่าจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นได้เคยเสด็จมาที่นี่ ภายในร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ มีสระบัว สนญี่ปุ่น น้ำตกเล็กๆ และบ้านไม้แบบญี่ปุ่นโบราณ ภายในบ้านตกแต่งเหมือนกับมีคนอยู่อาศัย พวกเราเดินดูรอบๆ เพราะเขามีเชือกกั้น ไม่ให้เข้าไปภายในบ้าน มีสวนแสดงบอนไซขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่น่าสนใจคือเขาใช้ต้นไม้ชนิดอื่นๆ มาทำเป็นบอนไซด้วย จากโซนสวนญี่ปุ่น ก็มาถึงโซนไม้เมืองร้อน มีป่าไผ่ขนาดใหญ่ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มากมาย เหมือนเดินอยู่ในบ่ามากกว่าจะเป็นสวน ที่ชอบมากคือต้นไม้แต่ละต้นขนาดใหญ่มาก ทั้งสูง ทั้งใหญ่ ถ้าอยู่เมืองไทย ที่นี่ต้องจัดเป็นวนอุทยานแห่งชาติแน่ๆ สวนแต่ละโซนใหญ่เท่าๆ กับวนอุทยานแห่งชาติที่เมืองไทย พวกเราเดิน เดิน และเดิน ต่อไป มุ่งหน้าไปยังโซนสวนต้นไม้ทะเลทราย
ที่สวนต้นไม้ทะเลทราย มีต้นกระบองเพชรหลายชนิดปลูกเป็นบริเวณกว้าง แต่ละต้นขนาดใหญ่ๆ ทั้งนั้น อย่างในรูปที่บ้านผมปลูกอยู่ในกระถาง เป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ แต่ที่เห็นในภาพขนาดใหญ่มาก ไม่รู้ว่าเขาปลูกอย่างไรและอายุสักกี่ปี ผมสะดุดตากับดอกไม้ทะเลทรายชนิดหนึ่ง สีออกน้ำตาลเข้มเกือบดำเป็นมัน ไม่เคยเห็นมาก่อน เดินดูทั่วโซนพบว่า ดอกไม้ชนิดนี้มี 3 สี คือสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ สีเขียวเข้ม และสีเขียวอ่อน ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นอกจากนี้เขายังมีเรือนเพาะชำต้นกระบองเพชร มีกระถางเป็นร้อยๆ กระถาง เข้าไปดูแล้วนึกถึงสวนหลวง ร.9 ที่กรุงเทพฯ มีป้ายบอกว่าเรือนเพาะชำแห่งนี้จะปิดเวลา 16.30 น. ตอนที่ไปถึงก็เกือบจะหมดเวลาแล้ว
ผมและคุณสันติเดินดูต้นหมากรากไม้ในคฤหาสน์ Huntington ถึงบ่าย 5 โมง รู้สึกเมื่อยและร้อน เลยตัดสินใจออกจากพิพิธภัณฑ์ คุณสันติจะพาไปเที่ยว Thai Town ต่อ ออกมาเสียเวลาเกือบ 20 นาที หารถที่จอดไว้ไม่พบ ขนาดว่าตอนเข้าช่วยกันจำแล้วว่า รถจอดอยู่ตรงไหน พอออกมาอีกทียังต้องเสียเวลาหาอยู่ตั้งนาน ออกจาก Huntington คุณสันติขับรถขึ้นทาง Highway มุ่งตรงไป Hollywood ผ่าน Universal Studio ผมเห็นป้ายโฆษณารถยนต์โตโยต้าเลยถ่ายมาฝากพี่สาวซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถโตโยต้าประจำจังหวัดเพชรบุรี จนรถผ่านป้ายบอกทางว่า Thai Town อยู่อีกไม่ไกล คุณสันติบอกว่ากว่าจะได้ป้ายบอกทางแบบนี้ คนไทยที่นี่ก็ต้องร่วมแรงร่วมใจทำเรื่องขอไปยังทางราชการ ใช้เวลาเป็นปี กว่าจะได้
พอรถเข้าเขตไทยทาวน์ ก็เห็นป้ายร้านรวงต่างๆ เป็นภาษาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ คุณสันติพาแวะมาจอดที่ Thailand Plaza มีร้านดอกหญ้าขายหนังสือต่างๆ เหมือนกรุงเทพฯ คนขายก็คนไทย พูดไทยกันทั้งร้าน มีหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ ร้านติดกันเป็น Mini Mart ขนาดใหญ่ มีสินค้าอาหารไทยขายมากมาย ทั้งกะปิ น้ำปลา กระเทียม หอม ผักชี ปลาทูเข่ง เหล้าแม่โขง เชียงชุน แสงโสม ขนมก็มีทั้งข้าวเหนียวสังขยา กาละแม ข้าวแตน ฯลฯ คนขายก็คนไทยทั้งร้าน เดินดูทั่วร้านแสดงว่าต้องมีลูกค้ามาก เพราะร้านมีขนาดใหญ่ เดินดูจนทั่วก็ออกมาเดินริมถนน มีร้านอาหารไทยหลายร้าน คุณสันติบอกว่าเวลานักร้อง หรือดาราจากประเทศไทยมา ก็จะมาร้องเพลงอยู่แถวๆ นี้ พวกเราเดินทางต่อไปยังวัดไทยลอสแองเจลิส เป็นวัดที่กว้างใหญ่พอสมควร อุโบสถสวยงาม บริเวณกว้างขวาง มีชั้นใต้ดินด้วย
ที่วัดมีจุดเด่นที่เห็นยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์มายืนอยู่ เข้าใจว่าจำลองแบบมาจากวัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ ในบริเวณวัดยังมีอนุสาวรีย์พระปิยมหาราชขนาดเล็ก เรือสุพรรณหงส์ขนาดเล็ก เรือนไทย และห้องเรียนหลายห้อง มีรูปครูที่มาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2545 ซึ่งจะมาสอนเกี่ยวกับดนตรีไทย นาฏศิลป์ เป็นต้น มีมุมหนังสือพิมพ์ไทย หลายฉบับ ให้หยิบไปดูได้ฟรี พอใกล้เวลานัดหมาย 19.00 น. คุณสันติก็ขับรถพาไปร้านอาหารสนามหลวง ที่ถนน Sherman Way ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดไทยแอลเอ พอเข้าไปในร้าน ก็พบว่าคุณหมอธนิตมาถึงเป็นคนแรก ท่านขับรถมาจาก Fresno ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง คนอยู่ไกลมาถึงก่อนเสมอเลย
ผม คุณหมอธนิต และคุณสันติ เลยนั่งคุยกัน รอคุณนิดและคุณฉลวย ร้านอาหารไทย "สนามหลวง" เจ้าของและเด็กเสิร์ฟเป็นคนไทย สั่งอาหารส่งเสียงดังแบบที่กรุงเทพฯ เลย เด็กเสิร์ฟเข้ามาถามเราว่าจะสั่งอาหารอะไรหลายรอบ พวกเราบอกว่ารอเพื่อนก่อน รายการอาหารทำเป็นรูปติดข้างฝาด้านพนักงานเก็บเงิน ข้างฝาอีก 2 ด้านเป็นรูปศิลปะประยุกต์ เห็นมีการนำแผงวงจรคอมพิวเตอร์ไปติดไว้ในภาพด้วย ลูกค้ามีทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ พอคุณนิดมาถึงก็สั่งอาหารกัน มีไข่เจียวหมูสับ หอยลายผัดน้ำพริกเผา ต้มยำรวมมิตร ทอดมันกุ้ง รสชาติเหมือนที่ทานกันในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างจากร้านศาลาแดงซึ่งเน้นรสชาติสำหรับชาวต่างประเทศ คุณฉลวยตามมาสมทบเป็นคนสุดท้าย ทานข้าวกันไป คุยกัน ส่วนใหญ่คุยเรื่องร้านอาหารไทย เพิ่งทราบว่าคุณสันติก็มีธุรกิจร้านอาหารชื่อ Thai Basil ส่วนคุณนิดก็เป็นผู้จัดการร้านอาหาร คุยกันจนถึง 3 ทุ่ม คุณหมอธนิตต้องเดินทางกลับอีกไกล พวกเราเลยแยกย้ายกัน คุณสันติฝากขนมกระหรี่ปั๊บที่ภรรยาทำ ให้คุณฉลวย คุณหมอธนิต และคุณนิด คนละ 2 กล่อง แล้วขับรถพาผมมาที่สนามบิน Los Angeles สายนอกประเทศ
ผมเช็คตั๋ว ส่งกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ ใส่เครื่อง เหลือแต่เป้ 1 ใบ ออกมานั่งคุยฆ่าเวลากับคุณสันติ ที่นี่มีร้าน Duty Free อยู่ 4-5 ร้าน พวกเราเข้าไปเดินเล่น ผมมองหาน้ำหอม Red Door ของ Alizabeth Aden ขนาดใหญ่ กับลิปสติกที่เพื่อนที่ทำงานเขาฝากให้หา แต่ไม่ได้อะไรสักอย่าง ไม่มีขนาดและเบอร์ตามที่ต้องการ คุณสันตินั่งเป็นเพื่อนคุยอยู่จนถึงเวลา 23.00 น. ผมเกรงใจอย่างมาก เพราะคุณสันติมารับผมตั้งแต่ 6 โมงเช้า พาเที่ยวทั้งวัน เลยขอลาคุณสันติเข้าไปภายในสนามบิน ผ่านการตรวจร่างกายและรองเท้า แล้วก็ไปนั่งรออยู่ทางขึ้นเครื่อง ซึ่งเครื่องบินเป็น EVA Air ออกเวลา 01.30 น. ไปถึงไต้หวันเวลา 07.00 น. แล้วรอเปลี่ยนเครื่องออกเดินทางจากสนามบินเจียงไคเช็ค เวลา 09.00 น. มาถึงสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลา 11.00 น. ระหว่างรอเลยเดินถ่ายรูป หอบังคับการบินของสนามบินเจียงไคเช็ค กับบริเวณทางเดินภายใน เนื่องจากเป็นเวลาเช้ามาก เลยไม่ค่อยมีคน ผมเดินทางถึงสนามบินดอนเมือง ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2546 รับกระเป๋าแล้วเรียกแท๊กซี่กลับบ้าน ถึงบ้านเวลา 11.30 น. โดยสวัสดิภาพ การเดินทางไปสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ มีความประทับในสถานที่ที่ได้ไปเห็น ประทับใจในความมีน้ำใจทั้งจากเพื่อนชาวต่างประเทศ และเพื่อนคนไทย โดยเฉพาะเพื่อนๆ ชาวกลุ่มเมล์ไทย จึงเป็นที่มาของการบันทึกเรื่องราว "ย่ำแดนลุงแซม" ตอนที่ 1-4