ป่าต้นน้ำเขื่อนภูมิพล
จากเทือกเขาอันสลับซับซ้อนของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  ก่อกำเนิดต้นน้ำลำธารสายเล็กสายน้อยไหลซอกแซกเซาะโขดหิน  มารวมกัน
เป็นลำน้ำปิง  ลำน้ำสำคัญเปรียบเสมือนเส้นโลหิตใหญ่ของภาคเหนือ  ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล  ยังประโยชน์ด้านเกษตรกรรมและ
ด้านอื่นๆ นานัปการ


เขื่อนภูมิพล
เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย  สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่อำเภอสามเงา  จังหวัดตาก  เขื่อนนี้อำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน
ให้แก่พื้นที่จังหวัดตากและกำแพงเพชร ได้ 1.5 ล้านไร่  และส่งน้ำเพื่อการชลประทานลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ร่วมกับเขื่อนสิริกิติ์ ได้อีก 2.5 ล้านไร่
ในฤดูแล้ง  ในแต่ละปีเขื่อนนี้ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ย 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง  การทำประมงในอ่างเก็บน้ำสามารถจับปลาได้
ถึง 680 ตันต่อปี  นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมเขื่อนอีกปีละกว่า 150,000 คน


ป่าต้นน้ำเขื่อนสิริกิติ์
ป่าดงดิบอันอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน  เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำน่าน  แม่น้ำสำคัญอีกสายหนึ่งของภาคเหนือ  ไม่แตกต่างจาก
ลำน้ำปิง  จากพื้นที่อันสูงชัน ค่อยๆ ลาดลงสู่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์  ยังประโยชน์อเนกประสงค์ไม่ต่างกัน


เขื่อนสิริกิติ์
สร้างปิดกั้นลำน้ำน่าน  ที่อำเภอท่าปลา  จังหวัดอุตรดิตถ์  เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ประเภทเขื่อนดิน  สามารถอำนวยประโยชน์นานัปการ
เช่น การบรรเทาอุทกภัยและการชลประทานในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยา  ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง  รวมพื้นที่กว่า
4.5 ล้านไร่  และยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 670 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง  ในด้านการประมงมีผลผลิตปีละ 570 ตัน  เป็นแหล่ง
ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ปีละกว่า 68,000 คน


ต้นน้ำเขื่อนศรีนครินทร์
น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น หรือชื่อเรียกเป็นทางการว่าน้ำตกศรีนครินทร์  เป็นน้ำตกซึ่งไหลลงมาจากแอ่งสูงบนยอดเขา  แล้วลดหลั่นกระทบโขดหิน
แบ่งซอยเป็นชั้นๆ งดงามน่าดูยิ่งนัก  บริเวณโดยรอบร่มรื่นเขียวชอุ่มด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด  จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงของ
จังหวัดกาญจนบุรี  ไม่แพ้น้ำตกเอราวัณเลย


เขื่อนศรีนครินทร์
เป็นเขื่อนที่สร้างปิดกั้นลำน้ำแควใหญ่  ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสวัสดิ์  จังหวัดกาญจนบุรี  เขื่อนนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบชลประทานโครงการ
แม่กลองใหญ่  สามารถทดน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรได้ถึง 4.1 ล้านไร่  สามารถทำการประมงได้ถึง 250 ตันต่อปี  และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ย
ปีละ 950 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 300,000 คน


ป่าต้นน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์
เช่นเดียวกับป่าต้นน้ำทั้งหลาย  ซึ่งร่มรื่นงดงามด้วยธรรมชาติ  บางตอนก็ไหลรินเซาะกรวดทรายมาช้าๆ  บางตอนก็ซอกซอนไปตามโขดหิน
ซึ่งเปียกชื้นด้วยหญ้ามอสและกอเฟิร์น  ร่มรื่นตายิ่งนัก  และสองฟากฝั่งบางตอนก็ปรากฎยอดไม้สูงโน้มจรดกั้นดังหลังคาธรรมชาติ


เขื่อนจุฬาภรณ์
ตั้งอยู่ที่ลำน้ำพรม บนเทือกเขาขุนพาย อำเภอดอนสาร จังหวัดชัยภูมิ  เขื่อนนี้ช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณทุ่งเกษตรสมบูรณ์  รวมทั้งยังเป็น
แหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สามารถให้ผลผลิตได้ถึงปีละ 33 ตัน  และเนื่องจากมีทิวทัศน์ที่งดงาม  รวมทั้งอากาศที่เย็นตลอดปี  จึงมีผู้มาเที่ยว
ชมความงามถึงปีละ 45,000 คน  นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ย 60 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปีอีกด้วย


ป่าต้นน้ำเขื่อนรัชชประภา
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติเขาสก  เป็นผืนป่าปนภูเขาหินปูน  ซึ่งสลับซับซ้อนทอดยาวต่อเนื่องกัน  มีน้ำตกและถ้ำหินงอกหินย้อย
มากมายหลายแห่ง  นอกจากนี้ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าหายากและพันธุ์ไม้มีค่านานาชนิดขึ้นอยู่หนาแน่น  ซึ่งหลังจากเขื่อนรัชชประภา
ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ  พื้นที่ราบบางส่วนได้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ  ทำให้ยอดเขาต่างๆ ได้กลายเป็นเกาะแก่งมองดูงดงามแปลกตา  ยากจะหา
ที่ใดเหมือน


เขื่อนรัชชประภา
สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ยังประโยชน์ด้านชลประทาน  เพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ 3 อำเภอ
ได้แก่ อำเภอบ้านตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพุนพิน เนื้อที่ประมาณ 100,000 ไร่  แก้ไขปัญหาน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำตาปี
เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ  มีผลผลิตปีละ 300 ตัน  เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 80,000 คน  และผลิตพลังงานไฟฟ้า
ปีละ 351 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง


ป่าต้นน้ำเขื่อนบางลาง
เป็นป่าดงดิบชื้น  ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส  นับเป็นป่า "พรหมจารี" ผืนสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งน้อยคน
จะได้เคยเข้าไปสัมผัส  ปัจจุบันป่าบาลา-ฮาลา เป็นป่าต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง  ซึ่งยังคงสภาพป่าเขาสูงสลับซับซ้อน  ที่ซ่อน
ความสวยสดงดงามและความเร้นลับของธรรมชาติไว้มากที่สุด


เขื่อนบางลาง
เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย  สร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานีที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา  สามารถอำนวยประโยชน์ใน
ด้านการชลประทานแก่จังหวัดยะลาและปัตตานีได้ถึง 380,000 ไร่  ในแต่ละปี สามารถจับปลาได้เฉลี่ย 70 ตัน และมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม
ถึง 24,000 คน  นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
 


จากปฏิทินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๔๔
GO BACK HOME