พระนางจามเทวี | |
พระนางจามเทวี เชื่อกันว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย
ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิราช แห่งกรุงละโว้(ลพบุรี) ปีประสูติ ระยะเวลาครองราชย์ และปีสวรรคตของพระนางจามเทวี มีผู้บันทึกหรือวิเคราะห์ไว้ต่างกัน เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๕ ครองราชย์อยู่ ๗ ปี นายมานิต วัลลิโภดม สอบค้นว่าประสูติ เมื่อพ.ศ. ๑๑๖๖ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๕ ครองราชย์อยู่ ๑๗ ปี สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๑๒๕๘ พระชันษาได้ ๙๒ ปี ตำนานฉบับที่นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ แปลและเรียบเรียง คือ ประสูติ พ.ศ. ๑๑๗๖ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๒ สละราชสมบัติ พ.ศ. ๑๒๓๑ และสวรรคต พ.ศ. ๑๒๗๔ เป็นต้น พระนางจามเทวีเป็นผู้มีพระรูปโฉมงดงาม เป็นเบญจกัลยานี มีศีล และมีความสามารถ ทรงอยู่ในฐานะหม้าย เนื่องจากพระสวามี ซึ่งอยู่ในพงศาวดารเมืองหริภุญชัย ว่าเป็นเจ้าประเทศราชในเมืองรามัญ ตรงกับตำนานมูลศาสนาว่า คือเมืองรา หรือ เมืองราม ได้มีศรัทธาบรรพชาเป็นเพศบรรพชิต พระเจ้าจักรพรรดิราชพระราชบิดา ทรงมีราชานุญาตให้พระนางจามเทวีซึ่งมีครรภ์ได้ ๓ เดือน เดินทางไปครองเมืองหริภุญชัย ตามคำเชิญของสุกกทันตฤาษี และวาสุเทพฤาษี ผู้ส่งนายคะวะยะเป็นทูตมาเชิญ พระนางจามเทวีได้นำพระสงฆ์ สมณะชีพราหมณ์ พ่อค้าวาณิช ช่างต่างๆ อย่างละ ๕๐๐ ประมาณกว่า ๗,๐๐๐ คน เดินทาง โดยทางน้ำปิง (พิงค์) อย่างช้าๆ ตั้งเมืองเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดเส้นทาง ใช้เวลาเดินทาง ๗ เดือน จึงเดินทางมาถึงเมืองหริภุญชัย เมื่อเสด็จมาถึงได้ ๗ วัน ก็ประสูติพระโอรสฝาแฝดชื่อ มหันตยศ และ อนันตยศ ต่อมาทรงได้เศวตไอยราเป็น คู่บารมีสีกายเผือกดั่งเงินยวงเรียกว่า ผู้ก่ำงาเขียว (ช้างเผือกงาเนียมหรือช้างเผือกงาดำ) จากเชิงดอยอ่างสลง (อ่างสรง) ในเขาลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อพระโอรสมี พระชนม์ ๗ พรรษา พระนางจามเทวีได้สละราชสมบัติอภิเษกให้มหันตยศ ครองเมืองหริภุญชัย ส่วนอนันตยศ พระนางจามเทวีได้ให้นำ ผู้คนพลเมืองไปตั้งเมืองเขลางค์นครหรือลำปางในปัจจุบัน นับเป็นการขยายอาณาจักร และพุทธจักร ให้กว้างไกลออกไป ส่วนพระนาง ได้นุ่งขาวห่มขาว สมาทานเบญจศีล จนถึงวันสิ้นพระชนม์ ดังตำนานมูลศาสนาได้กล่าวว่าพระนางทรงสมาทานเบญจศีลอยู่เสมอทุกวันมิได้ขาด ในอุดมการณ์ทางด้านศาสนา ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี ในการปฏิบัติธรรมให้เสนาอำมาตย์ราชมนตรี และประชาชนถือปฏิบัติเป็นอย่างดี ที่สำคัญยิ่งทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองวัฒนาสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ทรงสร้างจตุรพุทธปราการเป็นพระอาราม ประจำจตุรทิศแห่งพระนคร เพื่อเป็นพุทธปราการปกป้องคุ้มครองพระนครให้พัฒนาสถาพรปราศจากภัยภิบัติต่างๆ ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดสี่มุมเมือง ดังนี้ อาพัทธาราม ปัจจุบันคือ วัดพระคง เป็นพุทธปราการอารักขาประจำทางฝ่ายทิศเหนือ อรัญญิกรัมมการาม ปัจจุบันเป็น วัดร้างดอนแก้ว ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านเวียงยองเป็นพุทธปราการอารักขาประจำทางฝ่ายทิศตะวันออก มหาสัตตาราม ปัจจุบันคือ วัดสังฆาราม (ประตูลี้) เป็นพุทธปราการอารักขาประจำทางฝ่ายทิศใต้ มหาวนาราม ปัจจุบันคือ วัดมหาวัน เป็นพุทธปราการอารักขาประจำทางฝ่ายทิศตะวันตก พระนางจามเทวีได้ทรงใช้กุศโลบายที่หลากหลายรูปแบบในการต่อสู้และชักจูงพวกละว้าให้หันมานับถือศาสนาพุทธโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับ หัวหน้าเผ่าละว้า ขุนหลวงวิลังคะ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของช้างผู้ก่ำงาเขียว ได้ขับไล่ข้าศึกละว้าหนีกระจัดกระจายไปอยู่ตามป่าเขา นอกจากนี้ทรงใช้กุศโลบาย ในการผสมกลมกลืนชาติพันธุ์กับท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม โดยการให้พระราชโอรสทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกับธิดาสองคนของพญามิลักขะ และได้สู่ขอธิดาสองคนของนายคะวะยะ ให้กับพระราชโอรสด้วย ถือได้ว่าทำให้ชนชาวละโว้และชนพื้นเมืองอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสามารถเผยแพร่อุดมการณ์ทางศาสนาเข้าสู่ชนพื่นเมืองได้อย่างรวดเร็ว และได้ใช้กุศโลบายทางสันติธรรมและเมตตาธรรมเข้าต่อสู้จนชนะที่สุด โดยมีบางส่วนได้เข้ามา สวามิภักดิ์หันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาทำให้มีการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์ สังคมเกิดความสงบสุขและ พุทธศาสนาเจริญอย่างมั่นคงในอาณาจักรหริภุญชัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา |