จังหวัดลำพูน : สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

เขตอำเภอเมือง
เขตอำเภอบ้านธ
เขตอำเภอเเม่ทา
เขตอำเภอป่าซาง
เขตอำเภอบ้านโฮ่ง
เขตอำเภอลี้

 

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอเมือง

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารได้เสด็จมาทรงเปิดเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญชัยผู้ทรงมีคุณธรรมและเป็นนักปราชญ์ผู้กล้า

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย
ตั้งอยู่เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชนกุลวิบูลย์ภักดีสมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อ พ.ศ. 2522 ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปะสมัยหริภุญชัย ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 17-19 และศิลปะล้านนา มีอายุในราวกลางพุทธศตรวรรษที่ 19-25 เปิดทำการเวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (053) 511-186

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร มีถนนล้อมรอบสี่ด้านคือ ถนนอัฏฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทางทิศตะวันออก และถนนอินทยงยศทางทิศตะวันตก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในรัชสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ต่อมาได้รับการบูรณะต่อเติมมาเป็นลำดับ ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ

ซุ้มประตู
ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด ต้องผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม

วิหารหลวง
เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้ว จะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า “วิหารหลวง” เป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไป เมื่อ พ.ศ. 2466 วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระปฏิมาใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์

พระบรมธาตุหริภุญชัย
(ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง) เป็นพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ ที่ลงตัวสวยงาม ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติบัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทองประดิษฐานบานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระธาตุทุกปี ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1440 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย ต่อมาในปี พ.ศ. 1986 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงกระทำการปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ การสร้างคราวนี้ได้สร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีความสัมพันธ์กับลังกาอยู่มาก

พระสุวรรณเจดีย์
สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังเมื่อสร้างพระธาตุฯ เสร็จแล้วได้ 4 ปี พระสุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นรูปแบบพระปรางค์ 4 เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือและแบบขอมหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม ซึ่งเป็นพระเครื่องชนิดหนึ่ง

อนุสาวรีย์สุเทวฤาษี
ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน สุเทวฤาษีเป็นผู้สร้างหริภุญชัย (ลำพูน) เนื่องจากตนเป็นผู้บำเพ็ญสมาบัติ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลก จึงไปเชิญพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระธิดาของพระยาจักวัติแห่งเมืองละโว้มาปกครองเมืองหริภุญชัยแทนตน และยังได้ช่วยเหลือพระนางจามเทวีประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนาลงในนครหริภุญชัยอย่างมั่นคง

วัดมหาวัน
อยู่ห่างจากกลางเมืองลำพูนราว 2 กม. เลียบไปตามคูเมืองเก่าด้านตะวันตก มีตำนานการสร้างวัดว่า วัดนี้สร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นมาครองหริภุญชัย สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธรูปนาคปรกที่เชื่อกันว่าคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากกรุงละโว้ ปัจจุบันชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อกรุหนึ่งคือ พระรอดมหาวัน

วัดจามเทวี
หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดเจดีย์กู่กุด ตั้งอยู่ริมถนนจามเทวี ตำบลในเมือง ห่างจากตัวศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตก 1.5 กม. ตามถนนสายลำพูน-สันป่าตอง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 เป็นฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์ภายในวัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย มีพระพุทธรูปปางประทานพรยืนเป็นชั้นๆ ชั้นละ 3 องค์ ด้านหนึ่งมี 5 ชั้น จึงมีพระพุทธรูปด้านละ 15 องค์ ทั้ง 4 ด้าน รวมเป็น 60 องค์ ภายในบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ตามตำนานเล่าว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระนางเมื่อปี พ.ศ. 1298 เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า “กู่กุด” หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ”

นอกจากนั้นยังมีรัตนเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตร สูงจรดยอด 11.50 เมตร ตัวเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์

วัดพระยืน
ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่บ้านพระยืน ตำบลเวียงทอง ข้ามลำน้ำกวง ไปทางสะพานท่าสิงห์ มีชื่อเดิมว่าวัดพุทธมหาสถาน ซึ่งพระเจ้าธรรมิกราฃ กษัตริย์หริภุญไชยเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1606-1611 พระเจดีย์วัดพระยืนในสภาพปัจจุบัน เป็นพระเจดีย์ทรงมณฑป คล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม และพระเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย

กู่ช้าง-กู่ม้า
เป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ตั้งอยู่บริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร กู่ช้างเป็นสุสานช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ชื่อ “ภูก่ำงาเขียว” ซึ่งหมายถึงช้างผิวสีคล้ำ งาสีเขียวที่ทรงอานุภาพและอิทธิฤทธิ์ในสงคราม ส่วนกู่ม้า เป็นสุสานม้าทรงของพระโอรสของพระนางจามเทวี

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
ตั้งอยู่เชิงดอยติ บริเวณวัดพระธาตุดอยติ ตำบลป่าสัก อ. เมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กม. บนถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง พระครูบาศรีวิชัยเป็นพระเถรเจ้า นักพัฒนาแห่งล้านนาไทย ผู้พัฒนาทั้งด้านจิตใจ และด้านถาวรวัตถุให้แก่ชาวล้านนาไทยไว้อย่างอเนกอนันต์ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2421-2481 ถิ่นฐานบ้านเดิมของท่านอยู่ที่ ต. แม่ตื่น อ. ลี้ จึงเป็นความภูมิใจอย่างใหญ่หลวงของชาวลำพูน ที่ได้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา

ศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอกเพ็ญศิริ
ตั้งอยู่ที่ถนนนลำพูน-ดอยติ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากตัวเมือง ตำบลเวียงยอง เป็นสถานที่จัดแสดงและอนุรักษ์งานฝีมือผ้าไหมยกดอก ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมท้องถิ่นอันทรงคุณค่า ภายในมีการสาธิตขั้นตอนการผลิตผ้าไหมยกดอก การสาวไหม การย้อมไหมและการทอ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้เป็นความรู้ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (053) 537512-3

สวนสานน้ำแร่
ตั้งอยู่ที่เลขที่ 9 บ้านหนองหล่ม ตำบลศรีบัวบาน ไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ลำปางประมาณ 7 กิโลเมตร ที่นี่นักท่องเที่ยวสามารถอาบน้ำแร่จากธรรมชาติ รับประทานอาหารพื้นเมืองรสอร่อย

ดอยขะม้อ
เป็นชื่อเขาเล็กๆ ลูกหนึ่ง มีรูปทรงสัณฐานคล้ายฝาชี สูงประมาณ 5 เส้น อยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 20 กม. ตั้งอยู่หลังนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นภูเขาไฟโบราณ บนยอดมีปล่องกว้าง 3 เมตร ลึกประมาณ 6 เมตร ตอนล่างเป็นบ่อมีน้ำตลอดปี ประชาชนนับถือกันมาแต่โบราณว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงตัก เวลาถึงเทศกาลสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยจะต้องตักน้ำจากบ่อนี้ไปปนกับน้ำพระราชทาน แล้วจึงนำขึ้นสรงองค์พระธาตุและเวลาพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จะต้องนำน้ำในบ่อนี้อัญเชิญไปร่วมเป็นน้ำพุทธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง

บ้านหนองช้างคืน
เป็นแหล่งผลิตลำไยที่ใหญ่ที่สุด อยู่ก่อนถึงเมืองลำพูน 8 กม. โดยจะผ่านบ้านป่าเหว มีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาเข้าบ้านหนองช้างคืน ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านหนองช้างคืน ตลอดสองฝั่งทางที่ลดเลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้านจะเนืองแน่นด้วยสวนลำไย ที่นี่จึงเป็นแหล่งผลิตลำไยที่สำคัญ เดือนสิงหาคมของทุกปี จะมีงานเทศกาลลำไยลำพูน จัดขึ้นในอำเภอเมือง ในงานนี้จะมีการประกวดรถประเภทสวยงามที่ประดับตกแต่งด้วยลำไย ผลิตผลลำไยและธิดาลำไย นับเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของภาคเหนือ

 
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านธิ
วัดศรีดอนชัย
ตั้งอยู่หมู่ 10 ตำบลบ้านธิ ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาหรือพระพุทธเฉลิมสิริราช (พระเจ้ายืน) สูง 59 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่สูงและใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ สร้างเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ.2536 โดยศรัทธาของประชาชนในประเทศ ประกอบกับเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเสด็จครองราชย์ปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

อ่างเก็บน้ำแม่ธิ
อยู่ที่หมู่ 9 บ้านดอยเวียง ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 5 ล้านลูกบาศก์เมตร กว้าง 470 เมตร ยาว 6 กิโลเมตร ใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

วัดพระธาตุดอยเวียง
ตั้งอยู่หมู่ 9 บ้านดอย เวียง ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณวัดมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1220 สมัยพระนางจามเทวี ตามจารึกใบลานภาษาพื้นเมืองเล่าว่า ขุนหลวงปาละวิจาได้มาตั้งเมืองที่นี่ สร้างพระวิหารและพระเจดีย์บนภูเขา วัดนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำหน้าตักกว้าง 39 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งฝนแล้ง ชาวบ้านเดือดร้อนเลยนำพระองค์นี้มาแห่ขอฝน ปรากฏว่าฝนตก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อพระองค์นี้ว่า “พระเจ้าสายฝน” นอกจากนี้ยังมีองค์พระเจ้าดำดิน ซึ่งสร้างสมัยพระนางจามเทวี ประดิษฐานไว้บนเขา 1 องค์และข้างล่าง 1 องค์ หน้าตักกว้าง 80 นิ้ว บริเวณวัดมีความร่มรื่น เงียบสงบ

พระธาตุดอยห้างบาตร
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านธิประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยไซใต้ จะเห็นพระธาตุดอยห้างบาตรอยู่ทางขวามือ เป็นเจดีย์รูปทรงจัตุรมุขสีขาว มีฉัตรทองอยู่ยอดเจดีย์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อไร ตามตำนานเล่าว่า สมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังดอยลูกนี้ และเตรียมเสด็จออกบิณฑบาต โปรดสัตว์ ซึ่งการเตรียมบาตรภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ห้างบาตร” ปัจจุบันมีร่องรอยที่ทรงห้างบาตรอยู่เป็นหลุมลึกลงไปในหินดินดานและมีมณฑปครอบไว้ พระธาตุแห่งนี้อยู่บนยอดดอยที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามเบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา

 
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอแม่ทา

อ่างเก็บน้ำแม่กึม
แยกจากทางหลวงสายท่าจัก-แม่ทาเข้าไป 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น มีชื่อเสียงในด้านการตกปลาธรรมชาติ

หมู่บ้านแกะสลักบ้านทา
ไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักรประมาณ 15 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตไม้แกะสลักเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ หรือแกะสลักเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่องประดับบ้าน

ถ้ำจำหม่าฟ้า
ไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักรประมาณ 20 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยที่คงสภาพตามธรรมชาติอย่างสวยงาม

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอห้างฉัตร อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 255 ตารางกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางรถไฟจากลำพูนไปยังสถานีขุนตาล ระยะทาง 22 กม. แล้วต่อด้วยการเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

สำหรับทางรถยนต์ที่ตัดเข้าสู่ดอยขุนตาลเริ่มต้นจากอำเภอแม่ทา โดยมีทางลูกรังแยกเลี้ยวขวาออกจากถนนพหลโยธิน ที่มุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำแม่เส้า
อยู่ที่บ้านหลายท่า หมู่ 9 ตำบลทาสบเส้า ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ทา ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตัวเขื่อนสูง 19 เมตร ยาว 271 เมตร ทางเดินขึ้นหน้าเขื่อนกว้าง 4 เมตร เก็บน้ำได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างโดยศูนย์ปฏิบัติการ รพช. ภาคเหนือ ภายในบริเวณมีทิวทัศน์สวยงาม พร้อมศาลาพักร้อนให้นั่งพักผ่อน และรับประทานอาหารจานเด็ด คือ ปลาเผาทรงเครื่อง กุ้งเต้นและไก่ทอดทาชมพู

 
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอป่าซาง
ตลาดสินค้าพื้นเมืองป่าซาง
ตั้งอยู่ริมถนนสายลำพูน-ป่าซาง ประมาณ 11 กิโลเมตร ตรงกันข้ามกับวัดป่าซางงาม เป็นที่จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าฝ้าย ผ้าทอมือซึ่งมีแหล่งผลิตจากบ้านหนองเงือก อำเภอป่าซาง อยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 4 กิโลเมตร

แหล่งทอผ้าบ้านหนองเงือก
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือและสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง ส่งไปจำหน่ายยังแหล่งขายของที่ระลึกอื่น ๆ ในเมืองเชียงใหม่

วัดหนองเงือก
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเงือก ต. แม่แรง ไปตามถนนสายลำพูน-ลี้ มีถนนลูกรังแยกจากถนนใหญ่ใต้สะพานบ้านมะกอกด้านตะวันตก เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีศิลปกรรมฝีมือช่างพื้นบ้าน สิ่งที่น่าสนใจประกอบด้วย ศิลปะปูนปั้นที่ซุ้มประตูของวัดและหอไตร ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบพม่า มีลักษณะเป็นตึกโบราณสองชั้น ชั้นล่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง

วัดป่าเหียง
ตั้งอยู่ที่บ้านกองงาม ต. แม่แรง ไปตามถนนสายสบทา-ท่าลี่ เลี้ยวขวาเข้าบ้านกองงามอยู่ใกล้กับโรงเรียนบ้านกองงาม ตามประวัติว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2420 มีหอไตรอายุกว่าร้อยปี เป็นโบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสวยงามมาก หอไตรนี้สร้างไว้กลางสระ (ปัจจุบันเป็นสระคอนกรีต) เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรแล้ว

แหล่งศิลาแลง
อยู่ในท้องที่บ้านพระบาท ต. มะกอก อ. ป่าซาง ศิลาแลงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องที่จังหวัดลำพูน ที่ผลิตออกจำหน่ายแห่งเดียวในประเทศไทย ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่งบริเวณบ้าน แข็งแรงทนทานและสวยงาม

พระพุทธบาทตากผ้า
อยู่ห่างจากป่าซาง ตามถนนป่าซาง-ลี้ ราว 6.7 กม. แล้วมีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กม. วัดนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน ตามตำนานการสร้างวัดเล่าว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมาประทับที่นี่ แล้วทรงนำจีวรออกตากกับหน้าผาหินแถวนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่จนทุกวันนี้ จากนั้นจึงทรงอธิษฐานเหยียบพระบาท ประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน นอกจากนี้บนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้มีการสร้างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ผสมผสานจากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาคเชื่อมระหว่างเจดีย์บนท่อนดอยกับวัดพระธาตุตากผ้าที่เชิงดอย เมื่อถึงวันเดือนแปดเหนือ แรม 8 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีการสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประเพณีทุกปีในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6

ถ้ำเอราวัณ
ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต. นครเจดีย์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 30 กม. ตามถนนสายป่าซาง-ลี้ ไปทางทิศใต้ราว 5 กม. แล้วแยกซ้ายมือที่บ้านแม่อาว ตามถนนสายแม่อาว-ห้วยไฟ 15 กม. ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามน่าชมเป็นจำนวนมาก

 

 

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอลี้
วัดบ้านปาง
เป็นวัดซึ่งครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรก ตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านปาง หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย ห่างจากตัวอำเภอลี้ 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายเถิน-ลี้-เชียงใหม่ กิโลเมตรที่ 89 ภายในบริเวณวัดนอกจากจะร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีโบสถ์วิหารสวยงาม และยังมีพิพิธภัณฑ์ครูบาศรีวิชัยซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน นับแต่ สบง จีวร หมอน และเครื่องใช้อื่นๆ เช่น กระโถน แจกัน ฯลฯ เป็นต้น

พระธาตุเจดีย์ห้าดวง (เวียงห้าหลัง)
เป็นเจดีย์หมู่ 5 องค์ อยู่ในบริเวณที่สันนิษฐานว่า จะเป็นเวียงเก่าลี้ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้เพียง 2 กิโลเมตร

วัดพระบาทห้วยต้ม
เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอไปทางใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณกิโลเมตรที่ 46-47 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด และมีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม บูรณะก่อสร้างจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังทางภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง
เดิมชื่อว่าอุทยานแห่งชาติแม่หาด-แม่ก้อ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,003 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยมีทางแยกจากทางหลวงมายเลข 106 (สายลำพูน-ลี้-ก้อ) ตรง กม. ที่ 47 เข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1087 เป็นทางลูกรังระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ

 
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง
วัดพระเจ้าตนเหลวง
อยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเหล่ายาว เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ

หมู่บ้านกะเหรี่ยงพัฒนาห้วยหละ
อยู่ตำบลป่าพลู ตามทางหลวงสายลำพูน-ลี้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศใต้ 12 กม. เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ยังคงประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมไว้ กิจกรรมที่น่าสนใจคือ การทอผ้าแบบดั้งเดิมโดยใช้เอวเป็นกี่ในการทอ

ถ้ำหลวง
อยู่ที่ ต. ป่าพลู ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กม. ตามถนนสายลำพูน-บ้านโฮ่ง ภายในมีช่องชั้นคูหางดงามมากมาย มีความยาวภายในถ้ำประมาณ 500 เมตร

น้ำตกวังหลวง
ตั้งอยู่ที่ ต. ป่าพลู ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่งไปทางทิศตะวันตก 18 กม. ตามทางหลวงสายบ้านโฮ่ง-ลี้ เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่กลางป่า มีน้ำตกไหลลดหลั่นกันอย่างสวยงาม 5 ชั้น