กรน .... เสียงรบกวนยามค่ำคืน

 

คุณสมชาย อายุ35ปี แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ปัจจุบันเป็นผู้จัดการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ปกติเป็นคนร่าเริง ขยันทำงาน ไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ แต่จะกินเบียร์นานๆ ครั้งเฉพาะเวลามีงานเลี้ยง ในช่วง 5 ปีนี้ ภรรยาบ่นว่าเดี๋ยวนี้คุณสมชายกรนเสียงดังมาก แต่เจ้าตัวไม่ทราบ ปกติคุณสมชายจะเข้านอนประมาณสี่ทุ่ม ตื่นนอนประมาณตีห้า ช่วงปีที่ผ่านมานี้ มักตื่นนอนสายเพราะง่วงนอน ไม่ค่อยสดชื่น ทั้งที่ไม่ได้นอนดึก ตอนดึกๆ ภรรยาสังเกตว่าบางครั้งมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย คุณสมชายมักบ่นให้ภรรยาฟังว่า รู้สึกสมองตื้อๆ คิดอะไรไม่ฉับไวเหมือนเมื่อก่อน ขี้ลืม บางครั้งหลับในที่ประชุม ต้องกินกาแฟทุกบ่าย เพื่อไม่ให้ง่วงนอน ภรรยาบังเอิญอ่านนิตยสารพบว่านอนกรนมีอันตราย ทำให้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนและรักษาหายได้ เลยชวนคุณสมชายมาปรึกษาหมอ

 

หลังจากที่หมอได้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ภรรยาก็ถามคุณหมอว่า

ภรรยา:

คุณสมชายเป็นอะไรคะ คุณหมอ

หมอ:

คุณหมอกำลังสงสัยว่าสามีคุณ อาจจะเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตราย หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับ

ภรรยา:

โรคนอนกรนชนิดอันตราย หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ เป็นอย่างไรคะ คุณหมอช่วยอธิบายให้ดิฉันฟังหน่อย

หมอ:

โรคที่ว่านี้ เป็น โรคที่เกิดในคนที่มีช่องคอแคบกว่าปกติ ลองนึกดูว่าเวลาเรานอนหงายและหลับสนิท (เป็นเวลาที่กล้ามเนื้อต่างๆ มีการคลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอด้วย) ลิ้นและลิ้นไก่จะตกไปทางด้านหลัง ในคนปกติ เหตุการณ์นี้ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไร เพราะทางเดินหายใจกว้างอยู่แล้ว แคบลงไปเล็กน้อย ก็ยังหายใจได้ดี แต่ในคนที่เป็นโรคนี้ ซี่งมีช่องคอแคบ ทางเดินหายใจส่วนนี้จะตีบแคบและอุดตันได้

ภรรยา:

อาการนอนกรนนี่ คนปกติก็สามารถเป็นได้ ไม่ใช่เหรอคะ

หมอ:

นอนกรนถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติครับ คนทั่วไปเข้าใจว่าคนมีอายุหน่อย อาจนอนกรนบ้างเวลาหลับสนิท เป็นเรื่องธรรมดา อันนี้ไม่ถูกต้องครับ แท้ที่จริงแล้ว นอนกรนเป็นอาการที่ชี้บ่งว่าทางเดินหายใจของคนๆ นั้นแคบ เวลาลมหายใจผ่านบริเวณช่องคอตรงที่แคบนั้น จะเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดเป็นเสียงกรน

ภรรยา:

แล้วที่หมอว่าโรคนอนกรนชนิดอันตราย หมายความว่านอนกรนมีหลายชนิด ใช่มั๊ยคะ

หมอ:

ถูกต้องครับ โรคนอนกรน แบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นชนิดไม่อันตราย ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพียงแต่ก่อความรำคาญให้คนใกล้ชิดเท่านั้น อีกชนิดเป็นนอนกรนชนิดอันตราย จะมีการอุดตันของทางเดินหายใจเวลานอนหลับ มีการหยุดหายใจ ส่งผลให้อ๊อกซิเจนไม่สามารถเข้าไปในปอดได้ ทำให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจ และสมอง แทนที่เวลานอนหลับคนนั้นจะได้พักผ่อน กลับเป็นว่าหัวใจและสมองต้องทำงาน ไม่ได้พัก โดยเฉพาะหัวใจ ต้องทำงานหนักขึ้นในขณะที่ได้รับอ๊อกซิเจนน้อย เหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ส่วนสมองที่ไม่ได้พักผ่อน ก็จะทำให้คนๆ นั้น มีอาการง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน ส่งผลเสียต่อการทำงานได้

ภรรยา:

คุณหมอพอจะมีคำแนะนำอะไรที่ เราสามารถจะสังเกตได้ว่า เราเป็นโรคนอนกรนชนิดไหน รึเปล่าคะ

หมอ:

จริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องยาก ที่จะบอกว่าเป็นชนิดไหน จากอาการ เพราะอาจผิดพลาดได้มาก ถ้าจะให้แน่นอน ต้องอาศัยการตรวจการนอนหลับ แต่หมอพอจะแนะนำได้ว่า ถ้าสังเกตว่ามีอาการนอนกรนเสียงดัง บางครั้งมีอาการคล้ายสำลักน้ำลายหรือหายใจไม่สะดวก และง่วงนอนมากผิดปกติ ก็น่าจะเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตราย ถ้านอนกรนไม่ดังนักและสม่ำเสมอดีตลอด ไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอน หมอคิดว่าก็อาจจะเป็นชนิดไม่อันตราย

ภรรยา:

สำหรับกรณีคุณสมชายนี่ คุณหมอจะต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมอีกมั๊ยคะ ก่อนเริ่มรักษา

หมอ:

คุณหมอจะส่งไปถ่าย X-ray ภาพทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ตรวจทางเดินหายใจโดยละเอียดด้วยกล้องส่องตรวจ และแนะนำให้ตรวจการนอนหลับ เพื่อให้ทราบว่า บริเวณไหนของทางเดินหายใจที่ตีบแคบผิดปกติ เป็นนอนกรนชนิดอันตรายจริงหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเท่าใด การหยุดหายใจมีผลกระทบต่อสมองและหัวใจแค่ไหน และสุดท้ายต้องการทดสอบว่าการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่กับคุณสมชาย

คุณสมชาย:

ถ้าคุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตรายแน่นอนแล้ว จะมีขั้นตอนในการรักษาอย่างไรครับ

หมอ:

การรักษาโรคนอนกรน คล้ายคลึงกับการรักษาสายตาสั้นในปัจจุบัน คือผู้ป่วยอาจลองใช้การรักษาโดยใช้เครื่อง CPAP ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับติดที่จมูกสำหรับใส่ตอนนอน เพื่อเป่าลมเข้าไปถ่างไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง CPAP จะรู้สึกไม่สะดวกสบายในช่วงแรก เพราะไม่เคยชิน แต่เมื่อผ่านไปสักไม่กี่วัน จะรู้สึกว่า นอนหลับสนิทขึ้น ตื่นเช้ามารู้สึกสดชื่นแจ่มใส แล้วอาการง่วงเหงาหาวนอนก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้ง เหมือนใส่แว่นสายตาแล้วเห็นชัด ส่วนคนไหนรู้สึกว่าไม่สะดวกที่จะใช้เครื่อง CPAP ไปตลอดชีวิต หรือมีปัญหาในการใช้เครื่อง อาจเลือกการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบัน ผลการรักษาได้ผลดีมาก คล้ายกับการผ่าตัดรักษาสายตาสั้น LASIK

ภรรยา:

แล้วถ้ายังไม่อยากรักษาตอนนี้ มันจะรอไปได้นานแค่ไหนคะ

หมอ:

ถ้าผลการตรวจการนอนหลับ พบว่ามีการหยุดหายใจน้อย และไม่มีโรคประจำตัว อย่างเช่นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ก็ยังพอรอได้ แต่ต้องติดตามการรักษา ระหว่างนั้นควรควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย พยายามหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย และห้ามกินเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมทั้งยาที่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ถ้าต่อมาพบว่าผลการตรวจการนอนหลับ มีการหยุดหายใจบ่อย หรือเกิดปัญหาโรคด้านหัวใจ ความดัน สมอง หรือง่วงนอนมาก หลับในขณะขับรถ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ก็ควรจะรักษาได้แล้ว เพราะสุขภาพที่เสียไปทุกวันทุกคืน ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ถ้าอนาคตมีเงินทองร่ำรวย ก็ไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีคืนกลับมาได้ หรือวันร้ายคืนร้าย เกิดหัวใจทำงานผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในขณะนอนหลับอยู่ (หลับไหลตาย) ก็เหมือนกับวัวหายแล้วล้อมคอก

ภรรยา:

ผ่าตัดนี่อันตรายมั๊ยคะ เพราะคุณสมชายแกเป็นคนกลัวผ่าตัด นอกจากนี้ลูกเราก็ยังเล็ก คุณสมชายก็มีงานที่ต้องรับผิดชอบมาก

หมอ:

การผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีความปลอดภัย ได้ผลดี ไม่ทำให้เสียงพูดเปลี่ยนไป แต่ต้องรับประทานอาหารอ่อนในช่วงแรกหลังผ่าตัด ไม่ได้น่ากลัวอะไร

ภรรยา:

ดิฉันกับคุณสมชาย รู้สึกเข้าใจเรื่องโรคนอนกรนขึ้นมากเลย ขอบคุณค่ะ

 

 

หลังจากได้รับการตรวจเพิ่มเติม และรับการรักษาแล้ว คุณสมชายรู้สึกดีขึ้นมาก กลับมาเป็นคนร่าเริง อารมณ์ดี นอนหลับได้สนิทตลอดคืน ตื่นเช้าด้วยความรู้สึกสดชื่น แจ่มใส ไม่ง่วงนอน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สมองตื้อ ไม่ต้องพึ่งกาแฟยามบ่ายอีกเลย ภรรยาก็มีความสุขที่เห็นคุณสมชายมีสุขภาพดีขึ้น และนอนหลับอย่างมีความสุข เพราะโรงสีที่บ้านได้ปิดแล้วอย่างถาวร