Surgical Treatment of Sleep-disordered Breathing
การผ่าตัดรักษานอนกรน


          โรคนอนกรน เป็น โรคที่เกิดในคนที่มีช่องคอแคบกว่าปกติ ลองนึกดูว่าเวลาเราสูดหายใจเข้าทางจมูก กว่าลมหายใจจะไปถึงปอด จะต้องผ่านช่องทางเดินหายใจส่วนต่างๆ ตั้งแต่ช่องจมูก บริเวณหลังโพรงจมูก แล้วผ่านลงไปด้านหลังลิ้นไก่ ต่อไปยังบริเวณหลังโคนลิ้น แล้วจึงเข้าสู่กล่องเสียงและหลอดลม จนไปสิ้นสุดที่ปอด

          เวลาคนเรานอนหงาย ลิ้นและลิ้นไก่จะตกไปทางด้านหลัง ตามแรงโน้มถ่วงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนอนหลับสนิท ซึ่งเป็นเวลาที่กล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกายมีการหย่อนคลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอด้วย ทางเดินหายใจบริเวณที่อยู่ด้านหลังต่อลิ้นและลิ้นไก่จะแคบลงอีก เหตุการณ์นี้ในคนปกติ ไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไร เพราะทางเดินหายใจเดิมกว้างอยู่แล้ว แคบลงไปเล็กน้อย ก็ยังหายใจได้ดี แต่ในคนที่เป็นโรคนี้ จะมีช่องคอแคบ ทางเดินหายใจส่วนนี้จะตีบแคบหรืออุดตันได้

          ผู้ป่วยโรคนอนกรน ถ้ารักษาโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP แล้ว ไม่ได้ผลเนื่องจากปัจจัยต่างๆ หรือไม่สะดวกในการใช้เครื่อง การผ่าตัดรักษานอนกรน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลการรักษาดีมาก

          การผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ แพทย์จะแก้ไขให้ตรงตำแหน่งที่มีการอุดตัน ซึ่งอาจมีอยู่หลายแห่ง แต่ที่สำคัญมีอยู่ 2 ตำแหน่งคือ บริเวณหลังเพดานอ่อน และบริเวณหลังโคนลิ้น โดยการผ่าตัดมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ทางเดินหายใจทุกแห่งที่แคบกว้างขึ้น ไม่เกิดการอุดตันขณะนอนหลับอีก ไม่ใช่เพียงแต่ลดเสียงกรนอันน่ารำคาญ เท่านั้น

          เสียงกรน เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยที่บอกว่า คนๆ นั้นมีปัญหาการหายใจขณะนอนหลับ การผ่าตัดเพียงเพื่อให้เสียงกรนเบาลง แต่ยังมีการหยุดหายใจอยู่ เช่น การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ ในกรณีที่เป็นโรคนอนกรนชนิดมีการหยุดหายใจร่วมด้วย กลับเป็นผลร้ายต่อผู้ป่วย เพราะเปรียบเสมือน การทำให้ผู้ป่วยยังคงตกอยู่ในภาวะที่เป็นโรค แต่ปราศจากสัญญาณเตือนภัย

          ดังนั้นก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจการนอนหลับ เพื่อแยกกรณีนอนกรนชนิดไม่อันตรายหรือไม่มีการหยุดหายใจ ออกจากนอนกรนชนิดอันตรายหรือมีการหยุดหายใจ เสียก่อน

          ภายหลังการผ่าตัด ประมาณ 3-6 เดือน ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจการนอนหลับซ้ำ เพื่อประเมินว่า ยังมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เหลืออยู่หรือไม่ เพียงใด