ดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ ในระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 4 ชื่อละตินของดาวอังคาร (Mars) มาจากชื่อเทพเจ้าแห่งสงครามของโรมัน หรือตรงกับเทพเจ้า Ares ของกรีก เป็นเพราะดาวอังคารปรากฏเป็นสีแดงคล้ายสีโลหิต บางครั้งจึงเรียกว่า "ดาวแดง" หรือ "Red Planet" (ความจริงมีสีค่อนไปทางสีส้มอมชมพูมากกว่า) สัญลักษณ์แทนดาวอังคาร คือ ♂ เป็นโล่และหอกของเทพเจ้ามาร์ส ดาวอังคารมีดาวบริวารหรือดวงจันทร์ขนาดเล็ก 2 ดวง คือ โฟบอสและไดมอส โดยทั้งสองดวงมีรูปร่างบิดเบี้ยวไม่เป็นรูปกลม ซึ่งคาดกันว่าอาจเป็นดาวเคราะห์น้อย ที่หลงเข้ามาแล้วดาวอังคารคว้าดึงเอาไว้ให้อยู่ในเขตแรงดึงดูดของตน ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์หิน (terrestrial planet) มีชั้นบรรยากาศเบาบาง พื้นผิวมีลักษณะคล้ายคลึงทั้งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ และภูเขาไฟ หุบเขา ทะเลทราย และบริเวณน้ำแข็งขั้วโลก บนโลก ดาวอังคารมีภูเขา ที่สูงที่สุดในระบบสุริยะคือ ภูเขาไฟโอลิมปัส (Olympus Mons) และหุบเขาลึกที่มีชื่อว่า
มาริเนริส (Marineris) ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 มีบทความ 3 บทความตีพิมพ์ลงในนิตรสาร "Nature" เกี่ยวกับหลักฐานของหลุมอุกกาบาตที่ใหญ่มหึมา โดยมีความกว้าง 8,500 กิโลเมตร ยาว 10,600 กิโลเมตร[3][4] นอกจากนั้นสิ่งที่ดาวอังคารมีและคล้ายคลึงกับโลกก็คือคาบการหมุนรอบตัวเองและฤดูกาล ดาวอังคารสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าความส่องสว่างปรากฏอยู่ที่ 3.0 มีเพียงแค่ดาวศุกร์ ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ที่สว่างกว่า โดยภาพรวมนั้นดาวอังคารมีขนาดที่เล็กกว่าโลก คือมีความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับรัศมีของโลกและมีน้ำหนักเทียบได้กับ 11% ของโลก ปริมาตร 15% ของโลก พื้นที่ผิวทั้งหมดของดาวอังคารยังน้อยว่าพื้นที่ที่เป็นพื้นดินของโลกเสียอีก[5] ส่วนสีของดาวที่เห็นเป็นสีส้ม-แดงนั้น เกิดจาก ไอร์ออน(II) ออกไซด์ ซึ่งเป็นที่รู้กันคือ แร่เหล็ก หรือสนิมเหล็กนั่นเอง บริวารของดาวอังคาร มีอยู่ 2 ดวงเป็นดาวขนาดเล็ก นักวิทยาศาสตร์คิดว่าคงเป็นสะเก็ดดาวเคราะห์น้อย ที่ถูกสนามแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารจับไว้
ยานอวกาศ
|