บทที่ 10
การเขียนรายงานวิจัย

เมื่อได้ดำเนินการวิจัยจนเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ การเขียนรายงานวิจัย การเขียนรายงานหมายถึง การเสนอผลงานที่ได้ศึกษา ค้นคว้ามาแล้ว และได้พบความจริง หรือได้รับความรู้ใหม่ ๆ ประการใดบ้าง การรายงานเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้รู้ว่า ในการทำวิจัยนั้น มีปัญหาอะไร และมีประโยชน์อย่างไรแทนการที่จะต้องไปศึกษาใหม่ทั้งหมด
การเขียนรายงานนั้นแตกต่างจากการเขียนเรียงความ หรือบทความเพื่อแสดงความคิดเห็น แต่การเขียนรายงานการวิจัยนั้นจะต้องเป็นไปตามระเบียบปฎิบัติของการวิจัย เป็นการเตรียมการ และเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อให้ผู้สนใจอื่น ๆ ศึกษาหรือทำซ้ำได้ การเขียนวิจัยจะต้องเขียนตามรูปแบบ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง และรวบรวมอย่างมีระบบ ดังนั้นการเขียนรายงานวิจัยจึงควรเขียนบรรยายตามข้อเท็จจริง ตามที่ได้ศึกษามา โดยการใช้ภาษาง่าย ๆ และตรงไปตรงมา มีการลำดับเหตุการณ์ และกระบวนการอย่างชัดเจน ข้อความนั้น ๆ จะต้องสามารถทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
การเขียนรายงานวิจัยนั้น เป็นการเขียนอย่างมีแบบแผนที่เป็นสากลนิยม ซึ่งผู้เขียนจะต้องใช้เวลาศึกษาให้เข้าใจเป็นอย่างดี และทำได้ถูกต้อง มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นกฎเกณฑ์ของการทำวิจัย เช่น การกำหนดบท การย่อหน้า การเว้นขอบ การเขียนตาราง การอ้างอิง การเขียนเชิงอรรถ และการใช้การอ้างอิงอย่างมีเหตุผล และเป็นระบบมีการวิจารณ์ วิเคราะห์ และเสนอแนะ และนำเสนอผลการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยจะต้องพิจารณาว่าจะเขียนรายงาน และสำเสนอผลในรูปแบบใด ที่จะทำให้งานวิจัยนั้นน่าสนใจมากที่สุด และทำให้ผู้อื่น หรือผู้สนใจอ่านเข้าใจได้ง่าย ความจริงแล้ววิธีการเขียนรายงานวิจัยนั้น สามารถเขียนได้หลายวิธีสุดแล้วแต่ว่าผู้วิจัยจะกำหนดออกมาในลักษณะใด อย่างไรก็ตามถึงแม้นว่ารูปแบบ และโครงสร้าง ของการเขียนในแต่ละบุคคล และแต่ละสถาบันจะแตกต่างกันตามความนิยม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องมีมาตรฐานร่วมกันอยู่บ้าง ซึ่งผู้วิจัยจะต้องพิจารณาว่าจะเขียนรายงาน และนำเสนอผลในรูปแบบใด ที่จะทำให้งานวิจัยนั้นน่าสนใจมากที่สุด และทำให้ผู้อื่น หรือผู้สนใจอ่านเข้าใจได้ง่าย ความจริงแล้ววิธีการเขียนงานวิจัยนั้น สามารถเขียนได้หลายวิธีสุดแล้วแต่ว่า ผู้วิจัยจะกำหนดออกมาในลักษณะใด อย่างไรก็ตามถึงแม้นว่ารูปแบบ และโครงสร้างของการเขียนในแต่ละบุคคล และแต่ละสถาบัน

การเขียนรายงานให้มีประสิทธิภาพนั้น มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนแรก คือการเตรียมเนื้อหาของรายงาน ในการเขียนรายงานจะต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามเนื้อหาของการวิจัย ซึ่งจะต้องครอบคลุม

1. ปัญหาของงานวิจัยที่ศึกษา
2. กระบวนการวิจัย การออกแบบการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล
3. ผลที่ได้รับ
4. ความหมายของการวิจัย

ขั้นตอนที่สอง คือการกำหนดประเภทของผู้อ่าน ในขั้นตอนนี้จะช่วยให้ผู้เขียนรายงานกำหนดแนวทางของการใช้สื่อได้ และจะทราบว่าจะต้องใช้คำ และภาษาอย่างไร ซึ่งผู้วิจัยจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1. การเสนอผลการวิจัยควรมีข้อมูลต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อให้ผู้อ่านได้หาข้อสรุป และเลือกนำไปใช้ประโยชน์
2. ให้คำที่สามารถเข้าใจง่าย

ขั้นตอนที่สาม ได้แก่การวางเค้าโครงของรายงาน ซึ่งการวางโครงเรื่องนั้นจะช่วยให้

1. ตอบปัญหาของงานวิจัยได้ครบถ้วน
2. ไม่ออกนอกเรื่อง และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัย
3. ช่วยทำให้งานเป็นระบบ และสอดคล้อง และต่อเนื่อง
4. ช่วยทำให้การเขียนรายงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น
5. ทำให้สามารถกำหนดความยาวของงานได้

ในขั้นตอนของการเตรียมการนี้ผู้เขียนรายงานจะต้องระวังในเรื่อง

1. ความชัดเจนของงานวิจัย
2. การเชื่อมโยงเข้ากับสมมุติฐาน และทฤษฎี ว่าสนับสนุนกันอย่างไร

ผู้เขียนรายงานวิจัยควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ความกถูกต้อง ไม่มีอคติ บิดเบือนจากความ ผู้เขียนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนัน ๆ เป็นอย่างดี เพื่อที่จะทำให้รายงานถูกต้อง และน่าเชื่อถือ
2. ความรัดกุม ต้องเขียนให้ตรงประเด็น มีคุณค่า ไม่ใช้คำเปลือง และฟุ่มเฟือย
3. ความชัดเจน ใช้ประโยคง่าย ๆ ไวยกรณ์ และวรรคตอนถูกต้อง ระมัดระวังในเรื่องคำย่อ ไม่ใช้คำคลุมเครือไม่มีความหมาย ใช้หัวข้อย่อยเพื่อป้องกันสับสน และมีประโยคที่เหมาะสมเมื่อเริ่มย่อหน้าใหม่
4. ความกลมกลืน และความต่อเนื่อง ผู้อ่านจะต้องไม่รู้สึกสะดุด ในรายงานจะต้องมีความต่อเนื่อง ไม่สับสน และคิดว่าส่วนที่กำลังอ่านนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เป็นหน้าที่ของผู้วิจัยที่จะต้องตรวจทานสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นให้เกิดความต่อเนื่องเสมอ ๆ
5. เน้นความสำคัญในส่วนที่เป็นประเด็น หรือหัวใจของการวิจัยเป็นพิเศษ การเน้นคือการนำเสนอข้อมูลโดยละเอียด และมีการอภิปรายเพิ่มเติม
6. ใช้ภาษาที่ง่ายในการทำความเข้าใจแต่ไม่ใช่ภาษาพูด ควรจะเป็นภาษาที่ใช้ในทางวิชาการ หลีกเลี่ยงการใช้คำแสลง ไม่สุภาพ และคำที่ใช้ซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง

การนำเสนอข้อมูล
ในการนำเสนอข้อมูลนั้น ผู้วิจัยสามารถแบ่งข้อมูลออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ข้อมูลที่เป็นตัวเลข ซึ่งผู้วิจัยควรเสนอเป็นตาราง และมีการใช้ชื่อกำกับ และระบุที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน
2. ข้อมูลที่เป็นส่วนบรรยาย ผู้วิจัยจะต้องเลือกข้อมูลที่เป็นสาระ และตัดข้อมูลที่ไม่สำคัญทิ้งไปบ้าง หรือนำไปไว้ในภาคผนวก การตัดข้อมูลทิ้งเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพ หากผู้วิจัยใส่ทุกอย่างลงในรายงาน จะทำให้งานวิจัยไม่มีคุณภาพ และไม่มีเอกภาพ ผู้อ่านจะจับสาระสำคัญไม่ได้

องค์ประกอบของรายงานวิจัย

1. ภาคความนำ จะกล่าวถึงความสำคัญของเรื่องที่ศึกษา จุดประสงค์ ปัญหา หรือสมมุติฐาน ขอบเขตของการศึกษา นิยามศัพท์ที่ใช้เฉพาะที่ใช้ และอธิบายถึงวิธีการที่ใช้ในการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด และรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด
2. ภาคเนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่กล่าวถึงข้อเทจจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องโดยตรง เป็นการเสนอผลการศึกษาค้นคว้าทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ในภาคนี้อาจจะแบ่งออกเป็นตอน หรือบทเพื่อให้ผู้อ่านเห็นจุดสำคัญของเนื้อความตามลำดับ และต่อเนื่อง มีการแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ และข้อย่อย และข้อคิดสนับสนุน
3. ภาคสรุป เป็นการสรุปที่นักวิจัยได้วิเคราะห์ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการวิจัย ผู้วิจัยจะต้องเน้นให้เห็นถึงผลที่ได้จากการวิจัยทั้งหมด แต่ต้องทำให้รัดกุม เพื่อเป็นการทบทวนความจำของผู้อ่าน ในการสรุปนั้นควรจะประกอบไปด้วย

3.1 บทสรุปที่เป็นการย่อเนื้อความ
3.2 บทสรุปที่เป็นการวิเคราะห์ในลักษณะรวบยอด หรือเป็นประเด็นสำคัญ
3.3 อภิปรายความเห็นของผู้วิจัย
3.4 ข้อเสนอแนะ ซึ่งแบ่งออกเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของวิจัย และข้อเสนอแนะของผู้ที่สนใจในการดำเนินการคนต่อไป

4. บรรณานุกรม คือ รายชื่อหนังสือที่ใช้ในการอ้างอิงในงานวิจัยทั้งหมด
5. ภาคผนวก เป็นส่วนที่รวมลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง แบบสอบถาม วิธีการสัมภาษณ์ เป็นต้น

สำหรับหัวข้อในการเขียนรายงานการวิจัย ประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ที่มีรายละเอียดในแต่ละหัวข้อย่อย ดังนี้

1. ส่วนนำ
2. ส่วนเนื้อความ และ
3. ส่วนอ้างอิง
ในส่วนนำ (Introduction) นั้นประกอบไปด้วยเรื่องใหญ่ 6 เรื่อง
1. ตัวเรื่อง (Title Page)
2. หน้าอนุมัติ (Approved Page)
3. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement)
4. สารบัญ (Table Contents)
5. สารบัญตาราง (List of Table)
6. สารบัญรูป (List of Figures)

ส่วนเนื้อความ (Main Body) ในส่วนเนื้อความนี้นับว่าเป็นส่วนสำคัญของการวิจัย เนื่องจากเนื้อความใหญ่ ๆ ของงานวิจัยจะอยู่ในส่วนนี้ซึ่งประกอบไปด้วย

1. บทนำ (Introduction) ซึ่งประกอบไปด้วย

1.1 ความเป็นมาของปัญหา หรือประเด็นปัญหา (Statement of Problems) ได้แก่ปัญหาที่ผู้วิจัยจะต้องตอบ หรือสมมุติฐานที่จะต้องทดสอบ (Hypothesis to be Tested)
1.2 ความสำคัญของปัญหา (Significance of the Problems)
1.3 วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Purposes of the Study)
1.4 วิธีการการดำเนินงานวิจัย (Research Procedure)
1.5 ข้อตกลงเบื้องต้น และข้อจำกัด (Assumption and Limitation)
1.6 คำจำกัดความ หรือนิยามศัพท์ (Definition of Terms)

2. วรรณคดีที่เกี่ยวข้อ (Review of Related Literature)

3. วิธีดำเนินการวิจัย (Research Design) ซึ่งในการดำเนินการวิจัยนี้ จะต้องรวมให้เห็นถึงขั้นตอนในการดำเนินงานวิจัยทุกขั้นตอน ซึ่งประกอบไปด้วย

3.1 กระบวนการที่ใช้ (Procedures)
3.2 แหล่งข้อมูล หรือกลุ่มประชากร (Source of Data Population)
3.3 วิธีรวบรวมข้อมูล (Methods of Data Gathering)
3.4 การใช้เครื่องมือ (Data Gathering Instruments)

4. การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ในการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ ผู้วิจัยจะต้องใช้หลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในวิธีการดำเนินการวิจัย และดำเนินการตามนั้น ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องมีการจัดเรียงความสำคัญของเรื่อง (Text) การจัดรูปตาราง (Table) กาจัดรูปภาพ (Figures)

5. การย่อ และสรุปผล (Summary and Conclusion) ประกอบไปด้วย

- การกล่าวซ้ำปัญหาที่สำคัญ (Restatement of the Problems)
- กล่าวถึงกระบวนการที่นำมาใช้ (Description of Procedures Used)
- สิ่งที่ค้นพบ และข้อสรุป (Finding and Conclusion)
- ข้อเสนอแนะ (Recommendations)

ส่วนอ้างอิง (Reference) ในส่วนนี้จะเป็นส่วนสุดท้ายของงานวิจัย ซึ่งประกอบด้วย

1. บรรณานุกรม (Bibliography)
2. ภาคผนวก (Appendlx)

ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ นั้น อยู่ในดุลพินิจของผู้เกี่ยวข้อง แต่อย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักการของงานวิจัย เอกสารอ้างอิงนั้นจะอยู่ในบรรณานุกรม เป็นเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานค้นคว้าประกอบการเรียบเรียง และอ้างถึงอยู่ในงานวิจัยด้วย ในภาคผนวกนั้นประกอบไปด้วยส่วนที่เพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อให้เข้าใจในงานวิจัยมากขึ้น และอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น นอกเหนือจากตัวเรื่อง