บทที่ 2
ประเภทของการวิจัย

งานวิจัย สามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทตามคุณลักษณะของงานวิจัย การจัดประเภทเป็นไปตามการจัดจำแนกตามเกณฑ์ต่าง ๆ
1. พิจารณาจากประโยชน์ หรือความต้องการที่จะได้รับจากการวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท

1.1 การวิจัยบริสุทธิ์ (Pure Research) หรือ การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เป็นการวิจัยเพื่อหาทฤษฎี สูตร หรือสร้างกฎ เพื่อเป็นพื้นฐาน ในการศึกษา เรื่องอื่น ๆ ต่อไป
1.2 การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) เป็นการวิจัยเพื่อนำผลไปทดลอง ใช้แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ต่อไป เช่น การวิจัยทางแพทย์
1.3 การวิจัยเชิงปฎิบัติ (Action Research) เป็นการวิจัยประยุกต์ในลักษณะ หนึ่งที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่อง ๆ ไป ผลของการวิจัยนี้ใช้ได้ใน ขอบเขตของปัญหานั้น ๆ เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ อื่น ๆ

2. พิจารณาจากลักษณะของข้อมูล ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 เชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นการใช้ข้อมูลทางคณิตศาสตร์ และสถิติ
2.2 เชิงคุณภาพ (Wualitative Research) เป็นการใช้ข้อมูลเชิงคุณลักษณะ และไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์ หรือสถิติเข้ามาช่วย การเก็บข้อมูลทำได้โดย การใช้การสังเกต การสัมภาษณ์ การบันทึก วิเคราะห์โดยการพรรณนา และสรุปเป็นความคิดเห็น มีการใชัค่าสถิติได้เล็กน้อยในเชิงร้อยละเป็น ต้น ส่วนใหญ่ในงานศิลปกรรมจะใช้การวิจัยลักษณะนี้

3. พิจารณาจากระดับของการศึกษาตัวแปร แบ่งออกได้เป็น

3.1 การวิจัยเพื่อการสำรวจ (Exploratory Study) เป็นการวิจัยเพื่อสำรวจตัวแปร และปรากฎการณ์ของตัวแปร เพื่อนำผลมาอธิบายการเกิดขึ้นของปรากฎการณ์นั้น ๆ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1) การวิจัยเพื่อตรวจสอบตัวแปร (Identified Variable)
2) การวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปร (Discovery of Reiationship Between Variables)

3.2 การวิจัยเพื่อตรวจสอบสมมุติฐาน (Hypothesis Testing Study) เป็นการศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎี เพื่อที่จะนำไปใช้ในการทำนาย การวิจัยชนิดนี้มีทางตั้งสมมุติฐาน และตรวจสอบดูว่าสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นว่าถูกต้องหรือไม่

4. พิจารณาจากชนิดของข้อมูล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

4.1 เชิงประจักษ์ (Empirical Research) เป็นการวิจัยที่หาความจริงจากข้อมูลปฐมภูมิ โดยมีการเก็บข้อมูล และใช้สถิติในการวิเคราะห์
4.2 เชิงไม่ประจักษ์ (Nonempirical Research) เป็นการวิจัยที่หาความรู้ความจริงจากข้อมูลเอกสาร และวรรณกรรม ไม่การใช้สถิติมาวิเคราะห์

5. พิจารณาจากลักษณะการศึกษาตัวแปร แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

5.1 เชิงสำรวจ (Survey Research) เช่น การสำรวจทัศนคติ เพื่อหาข้อเท็จจริง
5.2 การศึกษาย้อนหลังในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว (Expost Factor Research) เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ของตัวแปร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อน ส่วนใหญ่ใช้ในการศึกษา เช่น การศึกษาว่าเด็กสอบตกเกิดจากเหตุใด หรือมีบุคลิกภาพต่างกันอย่างไร
5.3 เชิงทดลอง (Experimantal Research) เป็นการศึกษาตัวแปร โดยการควบคุม โดยมุ่งวิจัย และสังเกตผลที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์

6. พิจารณาจากระเบียบการวิจัย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

6.1 วิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องราวในอดีต เพื่อใช้ความรู้มาอธิบายเหตุการณ์ในปัจจุบัน และอนาคต
6.2 วิจัยเชิงพรรณนา (Description Research) เป็นการศึกษาเพื่อบรรยายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
6.3 วิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็นการศึกษาตัวแปร เพื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดผล

การจำแนกประเภทการวิจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว 6 ลักษณะนั้น เป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ในประเภทที่ 6 นั้น เป็นระเบียบวิธีการที่มีการใช้อย่างแพร่หลายที่สุด ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ และการวิจัยเชิงพรรณนา ซึ่งใช้มากในงานศิลปกรรมฯ สำหรับการวิจัยเชิงทดลองนั้น ใช้มากในสาขาวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์
การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research)
การวิจัยประเภทนี้ประยุกต์มาจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจะนำไปสู่ผลสรุป และความเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อการพยากรณ์ในอนาคต
ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ มีดังนี้

1. เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีต ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมได้
2. เป็นการตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่
3. เป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งปฐมภูมิ
4. ใช้การวิเคราะห์ด้วยการวิจารณ์ข้อมูล ทั้งการวิจารณ์ภายใน และภายนอก

ข้อมูลของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1. ข้อมูลที่จำแนกตามแหล่ง ซึ่งประกอบไปด้วย

- ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) ได้แก่เรื่องราวที่ได้จากต้นตอจริง ๆ ได้แก่เอกสารที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์เขียนขึ้นตามความจริง หรือจากซากวัตถุโบราณ (Remains of Relies) หรือ จากการบอกเล่าเรื่องราวของผู้อยู่ในเหตุการณ์ (Oral History)
- ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Source) ได้แก่ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ถูกรวบรวมขึ้นโดยที่ผู้รวบรวมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง แต่ได้รับการบอกเล่าจากผู้สังเกตการณ์ในเหตุการณ์นั้น ๆ อีกทอดหนึ่ง หรือ รวบรวมจากแหล่งทุติยภูมิอื่น ๆ เช่น ตำรา บทความ เอกสาร รูปภาพ (History Test Bodies) หรือบรรณานุกรม

2. ลักษณะของข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

2.1 บันทึก (Records) หมายถึง เอกสารที่บันทึกด้วยการเขียนพิมพ์ วาด หรือ เทคนิคอย่างอื่น เช่น บันทึกทางราชการ (Official Record) บันทึกส่วนตัว (Personal Records) ประเพณีที่เล่าต่อ (Oral Traditions หรือ Wise Talk) รูปภาพ (Pictorial Records) สิ่งพิมพ์ (Published Materials) เครื่องบันทึก (Mechanical Records)
2.2 ซาก (Remains) เช่น วัตถุโบราณ ซากปรักหักพัง สิ่งของที่เป็นสิ่งพิมพ์ ประกาศ สัญญา หรือ วัสดุที่เขียนขึ้นด้วยมือ เช่น ลายแทง

ในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์นั้น มีวิธีการวิจัยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

1. การศึกษารายกรณี เป็นการศึกษาเพื่อค้นหาความจริงเฉพาะเรื่อง
2. การศึกษาพัฒนาการ เป็นการศึกษาเพื่อดูความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลง
3. การศึกษาความเปลี่ยนแปลง เป็นการศึกษาที่คล้ายกับแบบที่ 2 แต่ต้องเปรียบเทียบ 2 เหตุการณ์

ปัญหาในการทำวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

1. การกำหนดปัญหาในงานวิจัย บางครั้งไม่ชัดเจน และแน่นอน ทำให้เกิดปัญหาในการค้นคว้า
2. การใช้หลักเหตุผล ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง โดยอาศัยข้อมูลเป็นส่วนใหญ่ แล้วจึงมาย่อย และวิเคราะห์ ถ้าข้อมูลมาจากแหล่งทุติยภูมิเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คลาดเคลื่อนได้
3. การรวบรวมข้อมูล และการแปลความ อาจแปลความด้วยความเข้าใจของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงการค้นคว้าหาข้อมูลที่แท้จริง หรืออาจหาข้อมูลเพิ่มไม่ได้ทำให้ความสมบูรณ์ของงานวิจัยน้อยลง
4. ผู้วิจัยต้องมีความพยายามสูง เพราะต้องรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และจะต้องรู้เรื่องราวต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง บางครั้งผู้วิจัยหลีกเลี่ยงการหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพราะหมดความพยายาม และอดทน

การวิจัยเชิงพรรณา หรือเชิงบรรยาย (Descriptive Research)
การวิจัยเชิงบรรยาย เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในการวิจัยประเภทนี้มีตั้งแต่การสำรวจว่า มีตัวแปรอะไรบ้าง สัมพันธ์อย่างไร ไปจนถึงการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของตัวแปร
ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงบรรยาย
การวิจัยเชิงบรรยายเป็นการหาเงื่อนไข และความสำคัญที่เกิดขึ้นในการปฎิบัติความเชื่อ ความคิดเห็นทัศนคติ ผลที่มองเห็นตลอดจนแนวโน้ม เพื่อจุดประสงค์ที่จะบรรยาย และแปลความถึงลักษณะ ระดับของเงื่อนไข ความสัมพันธ์ การวิจัยชนิดนี้ต้องมีการสำรวจ สืบค้น เกี่ยวกับตัวแปร และมาหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล มิใช่เพียงแต่นำข้อมูลมารวบรวมนำเสนอเท่านั้น ต้องมีพรรณนา หรือบรรยายนี้ ผู้วิจัยจะต้องศึกษาสิ่งต่าง ๆ หรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ โดยมิได้แตะต้อง หรือควบคุมตัวแปร และสภาพแวดล้อมเลย โดยอาศัยการสังเกต บันทึก รวบรวม และวิเคราะห์ จากนั้นจึงสรุปให้เป็นผลการวิจัย ในศิลปกรรมศาสตร์นั้น ใช้วิธีการนี้ในงานวิจัยมาก ดังนั้น ความมุ่งหมายของการวิจัยเชิงบรรยายรายดังต่อไปนี้

1. เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร
2. เพื่อนำข้อมูลไปตีความอธิบาย ประเมินผล และเปรียบเทียบ
3. เพื่อหาแนวโน้มของเหตุการณ์ในปัจจุบัน
4. เพื่อสร้างเกณฑ์มาตรฐานของสิ่งที่ได้ศึกษา เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ และเป็นแนวทางในการแสวงหาความรู้ต่อไป
5. เพื่อทราบหลักเหตุผล และการปฎิบัติ ตลอดจนปัญหาในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุง

ข้อมูลของการวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

1. ข้อมูลปริมาณ (Quantitative Data) คือ ข้อมูลที่เป็นตัวเลข หรือใช้สถิติ
2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) คือ ข้อมูลที่ไม่ใช้ตัวเลข หรือสถิติเป็นข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการสัมภาษณ์ การค้นคว้าเอกสาร แต่ข้อมูลประเภทนี้มักขาดความเที่ยงตรง ดังนั้นผู้วิจัยจะต้องมีความละเอียด ในการอธิบายขั้นตอนของการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์อย่างมาก โดยใช้เหตุผล อีกทั้งยังจะต้องเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีที่เหมาะสม และจะต้องใช้กลุ่มตัวอย่าง ขนาดเหมาะสม เพื่อใช้เป็นตัวแทนได้ดีที่สุด เพื่อให้ผลวิจัยที่มีความเชื่อถือได้มากที่สุด

ชนิดของการวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

1. การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Studies)
2. การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ (Interrelationship Studies)
3. การวิจัยเชิงพัฒนา (Developmental Studies)
1. การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการศึกษาถึงลักษณะสภาพความเป็นอยู่ หรือปรากฎ การณ์หนึ่ง เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อการวางแผน และปรับปรุงให้ดีขึ้น แบ่งออกได้เป็นสำรวจชุมชน สำรวจสภาพการปกครอง สำรวจทางภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจพื้นฐาน สำรวจทางวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะ สำรวจประชากร สำรวจประชามติ และวิเคราะห์งาน (Job Analysis) วิเคราะห์เอกสาร (Documentary Anaiysis)
2. การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ ของตัวแปรของปรากฎการณ์ และพฤติกรรมต่าง ๆ แบ่งออกไปด้เป็น

2.1 กรณีศึกษา (Case Study) เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ เพื่อต้องการทราบรายละเอียดของทุกแง่มุมในเรื่องที่ต้องการศึกษานั้น ๆ เป็นการศึกษาเฉพาะกรณี มิได้มุ่งในเรื่องปริมาณ เป็นการศึกษาเพื่อทราบรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
2.2 ศึกษาเปรียบเทียบผลเพื่อสืบหาเหตุ (Cusual Comparative Studies) เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรของปรากฎการณ์ต่าง ๆ โดยการสังเกตุผลของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร แล้วย้อนกลับไปดูว่า ผลที่เกิดจะมีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่เป็นเหตุอะไรได้บ้าง การวิจัยลักษณะนี้ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่ไม่ต้องการศึกษาได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Expost Facto Research
2.3 ศึกษาเชิงสหสัมพันธ์ (Correlation Studies) เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป เพื่อดูว่าตัวแปรเหล่านั้นมีการผันแปรคล้อยตามกัน หรือผันแปรตรงกันข้ามกัน คือ ศึกษาสหสัมพันธ์นั้นเอง ส่วนใหญ่จะใช้สถิติเข้ามาช่วยในการวิจัยประเภทนี้
2.4 ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรม (Cross Cultural Studies) เป็นการศึกษาเปรียบเทียบปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการนำสิ่งนั้น ๆ ไปใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในแต่ละวัฒนธรรม การวิจัยประเภทนี้ต้องการข้อมูลจากการศึกษาจากหลายลักษณะ โดยการสำรวจศึกษาทางกรณี การสังเกต แล้วจึงมาสรุปผลว่าสามารถสืบอ้างไปสู่กลุ่มที่มีวัฒนธรรมอื่น ๆ ได้หรือไม่ หรือใช้ได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

3. การวิจัยเชิงพัฒนาการ เป็นการวิจัยที่ดูความก้าวหน้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในช่วงของสภาพที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลา เช่น การศึกษาความเจริญงอกงามความก้าวหน้าต่าง ๆ หรือการศึกษากลุ่มเป็นระยะเวลายาว (Longitudinal Studies) และการศึกษาแนวโน้ม (Trend Studies) ซึ่งเป็นการศึกษาถึงรูปแบบ และทิศทางของความเปลี่ยนแปลง เพื่อการพยากรณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยการศึกษาจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ช่วงต่อเนื่องกัน แบบ Longitudinal Study มีการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน ทำให้ทราบอัตรา และทิศทางการเปลี่ยนแปลง แล้วจึงพยากรณ์สภาพ หรือเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต