บทที่ 3
การศึกษาเอกสาร วรรณกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ในการศึกษาเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กับปัญหาการวิจัยอย่างมาก ในบทนี้จะกล่าวถึงสิ่งต่างที่มีความสำคัญในการศึกษาเอกสาร วรรณกรรม และงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อ ดังนี้

1. แหล่งที่มาของปัญหาการวิจัย ซึ่งนักวิจัยสามารถรวบรวมได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ดังนี้

1.1 จากการอ่านตำรา บทความต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างอิงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ตนเองสนใจทำวิจัย เพราะทฤษฎีจะช่วยชี้นำว่ามีสิ่งใดที่ควรทำวิจัย หรือบางครั้งทฤษฎีทำให้ผู้ทำวิจัยจะต้องทำการพิจารณา และวิเคราะห์ก่อนนำไปใช้ด้วย
1.2 จากการวิจัยที่มีผู้อื่นได้ทำไว้แล้ว เช่น วารสารวิจัย หรือปริญญานิพนธ์
1.3 จากบทคัดย่อปริญญานิพนธ์ ซึ่งบทย่อนี้สามารถสร้างแนวความคิดที่จะเลือกหัวข้อปัญหาของงานวิจัยได้ และยังทราบได้ว่ามีผู้เคยทำวิจัยแล้วหรือไม่ ขาด และจะต้องเพิ่มเติมอย่างไร และเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในงานวิจัยอีกด้วย
1.4 จากประสบการณ์ และข้อคิดของผู้อื่น ๆ ที่เคยคลุกคลีกับงานวิจัย
1.5 จากการจัดสัมมนา และมีการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ถ้าผู้วิจัยสนใจ
1.6 จากข้อโต้แย้ง หรือข้อวิพากวิจารณ์ของบุคคลที่อยู่ในวงการวิชาชีพนั้น ๆ ซึ่งตรงกับเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจ
1.7 จากสถาบัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะทำให้ได้แนวคิดในหัวข้อของการวิจัย

2. หลักในการเลือกหัวข้อปัญหา นอกจากทราบแหล่งข้อมูลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวิจัยแล้ว ผู้วิจัย ควรทราบหลักเกณฑ์ในการเลือกหัวข้อ ปัญหาวิจัยที่เหมาะสม จึงสามารถให้หลักได้ดังนี้

2.1 เลือกปัญหาโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะความสนใจจะเป็นแรงจูงใจให้ทำงานสำเร็จ
2.2 เลือกปัญหาที่ผู้ทำวิจัยมีความสามารถ และศักยภาพที่จะทำงานวิจัยนั้น ๆ ได้
2.3 เลือกปัญหาที่มีคุณค่า และสิ่งแปลกใหม่ ที่มิเคยมีผู้ใดเคยทำ เพื่อผลของการวิจัยที่ได้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ อันจะเป็นตัวสร้างเสริมทฤษฎี และนำไปใช้ประโยชน์ในทางปฎิบัติ
2.4 เลือกปัญหาให้เหมาะสมกับเวลา งบประมาณ และกำลัง
2.5 เลือกปัญหาโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัย เช่น ในเรื่องของการค้นคว้า ด้านข้อมูล ว่ามีข้อมูลมากน้อยเพียงใด มีอุปกรณ์ และเครื่องมือในการเก็บข้อมูลหรือไม่ และงานนั้น ๆ จะมีความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน

3. ลักษณะปัญหาที่ดี นอกจากจะต้องทราบแหล่งของปัญหาในการวิจัย และเกณฑ์ในการเลือกปัญหาแล้ว ผู้วิจัยจะต้องทราบถึงลักษณะของปัญหาที่ดี เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกตัวปัญหามาทำวิจัย ลักษณะของปัญหาที่ดีนั้นมีดังนี้

3.1 เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มีประโยชน์ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ หรือใช้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้
3.2 เป็นเรื่องที่สามารถหาคำตอบได้ด้วยวิธีการวิจัย
3.3 เป็นปัญหาที่สามารถหาข้อมูลมาตรวจสอบสมมุติฐาน เพื่อหาข้อสรุป
3.4 เป็นปัญหาที่สามารถให้ค่านิยามปัญหาได้
3.5 เป็นปัญหาที่สามารถวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนไว้ล่วงหน้าได้
3.6 เป็นปัญหาที่สามารถใช้วิชาการ และขั้นตอน หรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลได้

4. การตั้งชื่อหัวข้อปัญหา
เมื่อได้หัวข้อปัญหาเพื่อทำงานวิจัยแล้ว ชื่อของปัญหาเหล่านั้นจะต้องกะทัดรัด มีความชัดเจนในความหมายในตัวของมันเอง สามารถสื่อสารให้ผู้สนใจทราบว่าประเด็นสำคัญคืออะไร มีการศึกษาเรื่องอะไร โดยที่ชื่อของปัญหาจะต้องแสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรเหล่านั้นอย่างชัดเจน มีการใช้ภาษาที่ชัดเจน อ่านแล้วเข้าใจง่าย และต้องเป็นศัพท์ที่ยอมรับในสาขานั้น ๆ นอกจากนั้นยังต้องไม่ซ้ำกับงานวิจัยอื่น ๆ

5. ประโยชน์ของการศึกษาเอกสาร และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การอ่านวรรณกรรมจะทำให้เกิดประโยชน์ ดังนี้

5.1 ได้แนวคิดที่น่าสนใจ ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับผู้อื่น
5.2 ช่วยทำให้มองปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5.3 ทำให้ได้แนวคิดพื้นฐาน ตลอดจนทฤษฎีต่าง ๆ
5.4 ทำนิยามปัญหา กำหนดขอบเขต และตัวแปร
5.5 ทำให้ตั้งสมมุติฐาน ได้อย่างสมเหตุผล 5.6 ทำให้สามารถเลือกเทคนิคการดำเนินการวิจัยได้อย่างเหมาะสม
5.7 ช่วยในการแปลผล และการอภิปรายผล
5.8 ช่วยในการสรุป และเขียนรายงานวิจัย

6. แหล่งของการศึกษาเอกสาร และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
แหล่งใหญ่ของการศึกษาทางเอกสาร คือ ห้องสมุด เนื่องจากเป็นที่รวบรวม ต่าง ๆ และเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ในห้องสมุดนั้น ผู้วิจัยสามารถสืบค้นความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของการวิจัยจากแหล่งย่อย ๆ ต่อไปนี้ได้

- เอกสาร หนังสือ ตำรา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
- ปทานุกรม หรือสารานุกรม รวบรวมงานวิจัย และเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
- วารสาร จุลสาร และเอกสารเผยแพร่ต่าง ๆ
- หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่สามารถอ้างอิงได้
- ปริญญานิพนธ์ หรือวิทยานิพนธ์ ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูง
- บทคัดย่อของวิทยานิพนธ์

หรือในปัจจุบันนักวิจัยสามารถสืบค้นข้อมูลด้วระบบอิเลคทรอนิค และสาระสนเทศได้

7. เกณฑ์การคัดเลือกเอกสาร และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้วิจัยไม่สามารถศึกษาเอกสารได้ครบถ้วน ทำเท่าที่สามารถจะทำได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงพยายามเลือกเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ดังนั้นผู้วิจัยจึงควรใช้หลักเกณฑ์ดังนี้ เพื่อให้การใช้วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด และ หรือเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้

7.1 พิจารณาความทันสมัยของเอกสารว่าเหมาะที่จะใช้อ้างอิงหรือไม่
7.2 พิจารณาว่าเอกสารเหล่านั้น สามารถชี้นำในการศึกษาข้อมูลของวิจัยได้หรือไม่
7.3 พิจารณาว่าเอกสารเหล่านั้นมีหนังสืออ้างอิง พอที่จะทำแนวทางในการศึกษาข้อมูลของปัญหาของผู้วิจัยหรือไม่
7.4 พิจารณาว่าเอกสารเหล่านั้นได้เสนอแนวคิดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัย หรือไม่ โดยดูจากชื่อเรียง ตัวแปร และวิธีการดำเนินการวิจัย

8. การจดบันทึกย่อเพื่อการวิจัย
การจดบันทึกสิ่งที่ได้ศึกษาจากเอกสาร และวรรณกรรม เป็นเรื่องสำคัญมาก ควรจดบันทึกให้ชัดเจน มีหัวข้อที่จำเป็นครบถ้วน มีการจดบันทึกอย่างเป็นระเบียบ เพื่อความสะดวกประหยัดเวลาในการค้นคว้า โดยปกติจะมีการบันทึกโดยใช้บัตรขนาด 5" x 6" ก็ได้ ได้บันทึกดังนี้

- แหล่งของข้อความได้แก่ ชื่อหนังสือ วารสาร ชื่อผู้แต่ง ผู้เขียน สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์ จำนวนหน้า เลขหน้าข้อความ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องนำไปอ้างในบรรณานุกรมด้วย นอกจากนั้น ยังสามารถใช้รหัสของห้องสมุดไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของบัตร เพื่อการค้นคว้าในภายหลัง
- ชื่อเรื่องที่บันทึก ควรบันทึกไว้มุมขวาของบัตร เพื่อประโยชน์ในการจัดหมวดหมู่
- มีการบันทึกข้อความที่ได้จากการศึกษา โดยการย่อความ คัดลอก หรือถอดข้อความเป็นสำนวนของผู้วิจัยเอง แต่ปัจจุบันการสืบ ค้นด้วยคอมพิวเตอร์นั้น สามารถพิมพ์ข้อความออกมาได้ ซึ่งมีรายละเอียดทั้งหมดคิดออกมาด้วย ทำให้ผู้วิจัยสามารถประหยัดเวลา ในการบันทึกข้อความต่าง ๆ ตลอดจนแหล่งข้อมูลได้

สำหรับในส่วนที่เป็นเอกสารงานวิจัยนั้น มีการบันทึกหัวข้อต่อไปนี้

- ชื่อหัวข้อปัญหา
- วัตถุประสงค์ของการวิจัย
- วิธีการดำเนินการวิจัย
- สรุปผล อภิปราย และเสนอแนะ