บทที่ 4

 

การกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์ สมมติฐานและตัวแปรในการวิจัย

ผศ.ดรเอมอร  จังศิริพรปกรณ์

 

ตอนที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสร้างแนวคิดในการวิจัย

-          ความสำคัญของการสร้างแนวคิดในการวิจัย

                -     การสร้างแนวคิดเพื่อเชื่อมโยงระหว่างปัญหา วัตถุประสงค์และสมมติฐาน

ตอนที่ 2 การกำหนดปัญหาการวิจัย

-          ความหมายและความสำคัญของปัญหาวิจัย

-     แหล่งที่มาของปัญหาการวิจัย

-          หลักเกณฑ์ในการกำหนดปัญหาวิจัย

-          ปัญหาในการกำหนดปัญหาวิจัย

ตอนที่ 3 วัตถุประสงค์ของการวิจัย

-          การกำหนดวัตถุประสงค์

-          คำสำคัญที่ใช้เขียนวัตถุประสงค์

                -     วิธีการเขียนและตัวอย่างในการเขียนวัตถุประสงค์

ตอนที่ 4 สมมติฐานการวิจัย

-          ความหมายและความสำคัญของสมมติฐาน

               -     ประเภทของสมมติฐาน

               -     แหล่งที่มาของสมมติฐาน

-          เกณฑ์การตั้งสมมติฐานในการวิจัย

                -     หลักการเขียนสมมติฐานการวิจัย

ตอนที่ 5 ตัวแปร ในการวิจัย

-          ความหมายของตัวแปร

-          ประเภทของตัวแปร

-          ระดับการวัดของตัวแปร

 

 

 

ตอนที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างแนวคิดในการวิจัย

ความสำคัญของการสร้างแนวคิดในการวิจัย

            การสร้างแนวคิดในการวิจัย เป็นกระบวนการวิเคราะห์ความหมายของแนวคิดหรือความสัมพันธ์ของแนวคิดจากระดับที่เป็นนามธรรม (abstract) ลงมาสู่ระดับที่เป็น รูปธรรม (concrete) ในลักษณะที่สัมพันธ์ สอดคล้องซึ่งกันและกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นกระบวนการวิเคราะห์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิด (concept) ที่เป็นนามธรรมกับระดับปฏิบัติ (operation) ที่เป็นรูปธรรม

            การวิจัยเป็นกระบวนการอย่างมีระบบ(systematic process) ซึ่งประกอบด้วย ขั้นตอนสำคัญ 10 ขั้นตอน ได้แก่1. การกำหนดประเด็นปัญหาวิจัย 2. การทบทวนทฤษฎี แนวคิดและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 3. การกำหนดวัตถุประสงค์ 4. การตั้งสมมติฐานและกำหนดตัวแปรที่เกี่ยวข้อง 5. การออกแบบการวิจัย 6.การสร้างเครื่องมือและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ 7. การรวบรวมข้อมูล 8. การวิเคราะห์ข้อมูล          9. การแปลความหมายข้อมูล  10. การรายงานผลวิจัย (สุวิมล ติรกานนท์, 2543)

กระบวนการวิจัยทั้ง 10 ขั้นตอนดังกล่าว อาจจำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ

            ส่วนที่ 1 เป็นขั้นตอนวางแผนการวิจัย เริ่มตั้งแต่การกำหนดประเด็นปัญหาวิจัย การทบทวนทฤษฎี แนวคิดและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การกำหนดวัตถุประสงค์ การตั้งสมมติฐานและกำหนดตัวแปรที่เกี่ยวข้อง และการออกแบบการวิจัย (ขั้นตอนที่ 1-5) ในขั้นตอนนี้  จำต้องอาศัยแนวคิด ทฤษฎี ความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างมาก จึงนิยมเรียกส่วนนี้ว่าเป็น “กระบวนการสร้างแนวคิด” (conceptualization)

            ส่วนที่ 2 เป็นขั้นตอนสืบเนื่องจากส่วนที่ 1 เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามแล้วนำมาวิเคราะห์ โดยอาศัยวิธีการทางสถิติเพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ (ขั้นตอนที่ 6-10) ในขั้นนี้ ส่วนใหญ่เป็นงานปฏิบัติ จึงนิยมเรียกว่า ขั้น “ปฏิบัติการ” (operation)

            กระบวนการวิจัยแต่ละขั้นตอนนั้นมีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ นักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ จะต้องสามารถวางแผนและดำเนินการวิจัยได้สมบูรณ์ครบถ้วนทุกขั้นตอนแบบครบวงจร         การสร้างแนวคิดนั้นมีความสำคัญมากสำหรับการวิจัย ก่อนที่จะลงมือไปรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยที่ข้ามขั้นตอนไปเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเลย โดยไม่ได้มีการสร้างแนวคิด ทฤษฎีก่อนนั้น จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือสร้างความก้าวหน้าแก่องค์ความรู้ในสาขาวิชานั้นแต่ประการใด (บุญเลิศ ศุภดิลก ใน www.stou.ac.th/Thai/schools/sca/information)

 

 

 

การสร้างแนวคิดเพื่อเชื่อมโยงระหว่างปัญหา วัตถุประสงค์ และสมมติฐาน

            ในการวิจัยนั้น การกำหนดปัญหาการวิจัยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากกับการกำหนดวัตถุประสงค์และสมมติฐาน โดยอาศัยวิธีการทบทวนทฤษฎี แนวคิดและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกระบวนการดังกล่าวเป็นการสร้างแนวคิดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง โดยอาจจำแนกได้เป็นลำดับขั้นตอนดังนี้

1. ปัญหา

            นักวิจัยจะเผชิญกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ แล้วเกิดความอยากรู้อยากเห็นว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ในขั้นเริ่มต้นนักวิจัยมักจะประสบกับอุปสรรค ในการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งนักวิจัยอาจจะสังเกตได้หรือไม่สามารถสังเกตได้ บางครั้งอาจเข้าใจลางเลือน หรือคลาดเคลื่อน ดังนั้น ขั้นตอนสำคัญ ก็คือ นักวิจัยจะพยายามสร้าง “ความคิด” (idea) ให้เกิดขึ้นว่า ปัญหาเกี่ยวข้องคืออะไร ในขั้นนี้ ปัญหาที่ได้คงเป็นแค่ภาพลางเลือน และกว้าง จึงเป็นการยากมากที่จะได้ปัญหาที่ชัดเจน นักวิจัยจะต้องใช้ความเพียร พยายาม คิดทบทวนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ช่วย นักวิจัยอาจอาศัยการค้นคว้าจากเอกสารและรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้วย หลังจากนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุดนักวิจัยจะสามารถกำหนดข้อความ ปัญหาที่ชัดเจนได้

 2. การกำหนดวัตถุประสงค์และสมมติฐานการวิจัย

            ภายหลังจากสามารถกำหนดปัญหาการวิจัยได้โดยผ่านการคิดวิเคราะห์แล้ว นักวิจัยมักจะคิดทบทวนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยอาศัยความรู้ ทฤษฎี และประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหรือปรากฏการณ์ใกล้เคียงเปรียบเทียบด้วยเพื่อให้เกิดความแน่ใจ ในที่สุด นักวิจัยจะสามารถเปลี่ยนจากประเด็นปัญหาไปเป็น”วัตถุประสงค์”ได้ โดยที่การกำหนดวัตถุประสงค์เป็นการบอกเจตจำนงของผู้วิจัยว่าต้องการดำเนินการอย่างไร ต่อจากนั้นจึงกำหนด “สมมติฐาน” ซึ่งก็คือ ข้อความเชิงคาดคะเน ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์หรือตัวแปรตั้งแต่สองตัวขึ้นไป

3. การสังเกตการณ์-การทดสอบ-การทดลอง

            ขั้นตอนการสังเกตการณ์-การทดสอบ-การทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หากนักวิจัยได้กำหนดปัญหาการวิจัยชัดเจน วัตถุประสงค์และกำหนดสมมติฐานถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว ขั้นตอนของการสังเกตการณ์-การทดสอบ-การทดลองนี้ก็จะเกิดขึ้นตามมา

            โดยสรุป ขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่กระบวนการสร้างแนวคิด เพื่อเชื่อมโยงการกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์และสมมติฐาน ตลอดจนการกำหนด ตัวแปรนั้นเป็นกระบวนการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่จะต้องอาศัยการสร้างความคิด ความรู้ และทฤษฎีของนักวิจัย ซึ่งสามารถสรุปเป็นแผนภาพ ดังแสดงในภาพที่ 1 ส่วนรายละเอียดในแต่ละเรื่องจะนำเสนอในหัวข้อต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


แผนภาพที่1  ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา วัตถุประสงค์ สมมติฐานและตัวแปร

 

ตอนที่ 2 การกำหนดปัญหาการวิจัย

ความหมายและความสำคัญของปัญหาวิจัย

ปัญหาการวิจัย   คือ ประเด็นที่นักวิจัยสงสัยและต้องการดำเนินการเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง ทำให้มีลักษณะข้อสงสัยของผู้วิจัยต่อสถานการณ์ทั้งที่เป็นความแตกต่างและไม่แตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่คาดหวัง และที่สำคัญปัญหานั้นไม่สามารถหาคำตอบด้วยสามัญสำนึก  

จากความหมายของปัญหาการวิจัยดังกล่าวมีความแตกต่างจากปัญหาทั่วไป คือปัญหาทั่วไป หมายถึง สภาพที่เป็นความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่คาดหวัง แต่ปัญหาการวิจัยอาจเป็นเรื่องที่ใช่ความแตกต่างหรือไม่แตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่คาดหวังก็ได้ และต้องไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยสามัญสำนึก ถ้าปัญหาใดที่สามารถแก้ไขได้ด้วยสามัญสำนึกก็ไม่จำเป็นต้องทำการวิจัย

ดังนั้น การกำหนดปัญหาการวิจัย   จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับนักวิจัยที่จะกำหนดปัญหาการวิจัยที่ง่าย ชัดเจน และครบถ้วนสมบูรณ์ นักวิจัยส่วนมากอาจมีแนวความคิดที่สลับซับซ้อน บางคนอาจใช้ระยะเวลายาวนานในการสร้างแนวคิด และวิเคราะห์ ก่อนที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่า ปัญหาการวิจัยที่เขาต้องการจะหาคำตอบที่แท้จริงคืออะไร 

เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างปัญหาการวิจัยและปัญหาทั่วไปยกตัวอย่างปัญหาที่น่าสนใจ

1. ผู้เรียนที่ไม่ตอบข้อสอบอัตนัยมีพฤติกรรมอย่างไร

2. นักวิจัยที่มีจรรยาบรรณวัดจากตัวบ่งชี้ใดได้บ้าง

3. เพราะเหตุใดที่ทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครติดขัด

จากปัญหาเบื้องต้นท่านคิดว่าปัญหาข้อใดเป็นปัญหาการวิจัย การที่จะตอบคำถามได้ต้องมีความเข้าใจความแตกต่างของปัญหาการวิจัยกับปัญหาทั่วไปก่อน ดังที่กล่าวไป

ปัญหาข้อ1 ผู้เรียนที่ไม่ตอบข้อสอบอัตนัยทุกข้อเลยเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมอย่างไร เป็นข้อสงสัยของผู้วิจัยต่อสถานการณ์ที่เป็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่คาดหวัง และไม่สามารถคิดคำตอบโดยใช้สามัญสำนึก (สิ่งที่คาดหวัง คือผู้เรียนทุกคนควรตอบข้อสอบอัตนัยเพื่อให้สามารถวัดความคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนได้) จึงเป็นปัญหาการวิจัย

ปัญหาข้อ 2 นักวิจัยทีมีจรรยาบรรณวัดจากตัวบ่งชี้ใดได้บ้าง เป็นข้อสงสัยของผู้วิจัยต่อสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่คาดหวัง แต่ไม่สามารถคิดคำตอบโดยใช้สามัญสำนึก จึงเป็นปัญหาการวิจัย

ปัญหาข้อ 3 เพราะเหตุใดที่ทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครติดขัด เป็นปัญหาที่มีต่อสถานการณ์ที่เป็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่คาดหวัง และสามารถหาคำตอบด้วยสามัญสำนึก  จึงไม่เป็นปัญหาการวิจัย 

ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงลักษณะปัญหาที่ดี เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกตัวปัญหามาทำวิจัย ลักษณะของปัญหาที่ดีนั้นมีดังนี้

1.      เป็นปัญหาที่สำคัญ มีประโยชน์  ทำให้เกิดความรู้ใหม่หรือใช้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

2. เป็นปัญหาที่สามารถหาคำตอบได้ด้วยวิธีการวิจัย
3. เป็นปัญหาที่สามารถหาข้อมูลมาตรวจสอบสมมุติฐาน เพื่อหาข้อสรุป
4. เป็นปัญหาที่สามารถให้ค่านิยามปัญหาได้
5. เป็นปัญหาที่สามารถวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนไว้ล่วงหน้าได้
6. เป็นปัญหาที่สามารถใช้วิชาการ และขั้นตอน หรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลได้

ดังนั้น    จะเห็นว่าการกำหนดปัญหาการวิจัยมีความสำคัญอย่างมาก นอกจากจะช่วยให้เรื่องที่จะทำการวิจัยแคบลง มีเป้าหมายแน่นอนแล้ว ยังช่วยชี้แนะแนวทางในการกำหนดวัตถุประสงค์และสมมติฐาน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปผลวิจัยอีกด้วย  อีกนัยหนึ่ง ปัญหาการวิจัยเป็นเครื่องบ่งชี้แนวทางการวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์  หากกำหนดปัญหาการวิจัยถูกต้องชัดเจน การวิจัยย่อมจะประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหา แต่หากปัญหาการวิจัยผิดพลาด การวิจัยยอมจะล้มเหลวตามไปด้วย

แหล่งที่มาของปัญหาการวิจัย

ปัญหาการวิจัย ได้จากการค้นพบหรือค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ดังนี้

1.  จากการอ่านตำรา บทความต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างอิงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ตนเองสนใจทำวิจัย เพราะทฤษฎีจะช่วยชี้นำว่ามีสิ่งใดที่ควรทำวิจัย หรือบางครั้งทฤษฎีทำให้ผู้ทำวิจัยจะต้องทำการพิจารณาและวิเคราะห์ก่อนนำไปใช้ด้วย
2. จากการวิจัยที่มีผู้อื่นได้ทำไว้แล้ว เช่นวารสารวิจัย หรือปริญญานิพนธ์  ซึ่งทำให้ได้แนวความคิดที่จะเลือกหัวข้อปัญหาของงานวิจัยได้ และยังทราบได้ว่ามีผู้เคยทำวิจัยแล้วหรือไม่ ขาด และจะต้องเพิ่มเติมอย่างไร และเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในงานวิจัยอีกด้วย
3. จากประสบการณ์ และข้อคิดของผู้อื่น ๆ ที่เคยคลุกคลีกับงานวิจัย
4. จากการจัดสัมมนา และมีการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ถ้าผู้วิจัยสนใจ
5. จากข้อโต้แย้ง หรือข้อวิพากวิจารณ์ของบุคคลที่อยู่ในวงการวิชาชีพนั้น ๆซึ่งตรงกับเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจ
6. จากสถาบัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะทำให้ได้แนวคิดในหัวข้อของการวิจัย

หลักเกณฑ์ของการกำหนดปัญหาวิจัย

ปัญหาการวิจัยที่ดีควรจะเป็นอย่างไร  แม้ว่าการเขียนปัญหาการวิจัยจะไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวที่แน่นอน แต่การตั้งปัญหาการวิจัยควรมีหลักเกณฑ์ที่นำพิจารณา 3 ประการ คือ

            1. ปัญหาควรปรากฏในรูปของ “ความสัมพันธ์” ระหว่างตัวแปรสองตัว หรือเกินกว่าสองตัว เช่น  A เกี่ยวข้องกับ  B ไหม  A และ B  เกี่ยวข้องกับ C อย่างไร A เกี่ยวข้อง  B  โดยมีเงื่อนไข C และ D  หรือไม่

            2. ปัญหาต้องกำหนดให้ชัดเจน  ไม่กำกวม โดยกำหนดในรูป “คำถาม” การตั้งคำถามมีข้อดีทำให้สามารถสื่อให้เห็นปัญหาได้โดยตรง

            3. การกำหนดปัญหาควรเขียนในรูปที่สามารถทดสอบเชิงประจักษ์ หรือ จากสภาพความเป็นจริงได้ ปัญหาการวิจัยนอกจากแสดง “ความสัมพันธ์” แล้ว ตัวแปรที่สัมพันธ์กันต้องสามารถนำไป “วัดได้”  (measured)

ปัญหาในการกำหนดปัญหาวิจัย

            การกำหนดปัญหาการวิจัยเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสำหรับนักวิจัยที่เพิ่งเริ่มต้น ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ

            1. ปัญหานักวิจัยทำการรวบรวมข้อมูลมาก่อน  แล้วมาตั้งปัญหาภายหลัง  ผลคือข้อมูลที่ได้มานั้นไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอที่จะตอบปัญหาที่ตั้งไว้ได้ วิธีแก้ก็คือควรกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัยให้แน่นอน เสร็จแล้วจึงลงมือเก็บข้อมูล ควรจำไว้ว่า ปัญหาการวิจัย เป็นตัวชี้แนะในการเก็บข้อมูล ไม่ใช้ข้อมูลเป็นตัวชี้นำการตั้งปัญหา

            2. การตั้งปัญหากำกวม  ไม่เอื้ออำนวยให้เก็บข้อมูลได้ ปัญหาที่ดีจะต้องอยู่ในรูปของคำถามซึ่งประกอบไปด้วยตัวแปรอย่างน้อยสองตัว โดยที่ตัวแปรเหล่านั้นแสดงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย

ตัวอย่างเช่น       )  X มีความสัมพันธ์กับ  Y ใช่หรือไม่?

                        )  X  และ  Y  มีความสัมพันธ์กับ  Z  อย่างไร?

                        )  X  สัมพันธ์กับ  Y  ภายใต้เงื่อน  A  และ B  อย่างไร?

            3.  ปัญหากว้าง  ความยากลำบากอย่างหนึ่งที่นักวิจัยเผชิญคือปัญหามีลักษณะกว้างเกินไป  ถ้าปัญหามีลักษณะกว้างมักจะครุมเครือ ไม่อาจทดสอบได้ จึงไม่มีประโยชน์ถึงแม้จะน่าสนใจก็ตาม ปัญหาที่กว้างและครุมเครือเกินไป จะพบเห็นได้ในสังคมศาสตร์ เช่น  “การศึกษาประชาธิปไตยส่งเสริมการเรียนรู้ทางสังคมและการเป็นพลเมืองดี”  “ลัทธิการใช้อำนาจในห้องเรียนขัดขวางความคิดเชิงสร้างสรรค์ของเด็ก”  ปัญหาเหล่านี้น่าสนใจแต่กว้างเกินไปจนไม่อาจนำไปทดสอบได้

            4.ปัญหาที่ไม่ได้มาจากผลการวิจัย การตั้งปัญหาไม่ได้อาศัยพื้นฐานจากผลการวิจัย แบบจำลองและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องแต่ประการใด  วิธีแก้ก็คือ จะต้องสร้างปัญหาโดยอาศัยพื้นฐาน แนวคิดจากผลการวิจัย แบบจำลองและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเสมอ         

ตอนที่ 3 วัตถุประสงค์ของการวิจัย

การกำหนดวัตถุประสงค์

            วัตถุประสงค์ในการวิจัย เป็นสิ่งที่ชี้นำให้รู้ว่า ที่ทำการวิจัยในเรื่องนี้เพื่อต้องการรู้อะไร เป็นขั้นตอนที่ต่อจากการกำหนดปัญหาในการวิจัย การเขียนวัตถุประสงค์ที่ดีจึงเป็นประตูเพื่อให้สามารถค้นหาความจริงที่ต้องการได้ เป็นทิศทางที่สามารถทำให้หาคำตอบได้ คือทำให้เกิดสมมติฐาน  การเขียนวัตถุประสงค์การวิจัยมีหลักเกณฑ์การเขียน ดังนี้

1.      ต้องมีความสอดคล้องกับหัวข้อการวิจัยและปัญหาการวิจัย
2.      มีความเป็นไปได้ที่จะทดสอบเพื่อให้ได้คำตอบจากการวิจัยนี้
3.      ใช้ประโยคบอกเล่า
4.    ใช้ภาษาที่ชัดเจน เข้าใจง่าย

คำสำคัญที่ใช้เขียนวัตถุประสงค์

            เพื่อศึกษา /  เพื่อสำรวจ / เพื่อบรรยาย / เพื่ออธิบาย / เพื่อเปรียบเทียบ / เพื่อวิเคราะห์

เพื่อสังเคราะห์ / เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ / เพื่อประเมิน / เพื่อพัฒนา

วิธีการเขียนและตัวอย่างในการเขียนวัตถุประสงค์

1.      เขียนเป็นหัวข้อใหญ่ๆ       เช่น

1. เพื่อศึกษาสภาพสังคมของผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีอายุอยู่ระหว่าง18-24ปี

2. เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับความรุนแรงของการติดเชื้อเอดส์ตามระดับการศึกษา

           เพศและอาชีพ

2. เขียนเป็นหัวข้อใหญ่และระบุรายละเอียดในหัวข้อย่อย  เช่น

      1. เพื่อกำหนดองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ และแนวทางดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบของระบบการพัฒนาให้องค์กรเกิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลัง และระบบการประเมินการเรียนรู้ตามแนวคิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลัง

1.1 เพื่อศึกษาองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ และแนวทางดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบของระบบการพัฒนาให้องค์กรเกิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลัง

1.2 เพื่อศึกษาองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ และแนวทางดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบของระบบการประเมินการเรียนรู้ตามแนวคิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลัง

2. เพื่อทดลองใช้ระบบการพัฒนาให้องค์กรเกิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลัง และระบบการประเมินการเรียนรู้ตามแนวคิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลัง  โดย

2.1 เพื่อนำระบบการพัฒนาให้องค์กรเกิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลังที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้ในภาควิชาต่างๆ

2.2  เพื่อนำระบบการประเมินการเรียนรู้ตามแนวคิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลังที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้ในภาควิชาต่างๆทั้งรายวิชาภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

2.3 เพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการนำระบบในข้อ 2.1 และ 2.2 ไปใช้ได้แก่ ผลที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน ผลที่เกิดจากผู้สอน และผลที่เกิดจากผู้เรียน

 

3. เขียนแยกเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไปกับวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น

วัตถุประสงค์ทั่วไปของการวิจัย

         1.ศึกษาคุณภาพของแบบสอบที่ใช้ในการคัดเลือก และ ความเหมาะสมของรูปแบบในการสอบคัดเลือก

วัตถุประสงค์เฉพาะของการวิจัย

1.1 ศึกษาคุณภาพของแบบสอบที่ใช้ในการสอบคัดเลือก โดยพิจารณาความเที่ยงและความ

ตรงของแบบสอบ

           1.2 ความเหมาะสมของรูปแบบในการสอบคัดเลือก โดยพิจารณาจากความคิดเห็นของผู้มีส่วน

ได้ส่วนเสียของการสอบคัดเลือก

 

ตอนที่ 4 สมมติฐานการวิจัย

ความหมายและความสำคัญของสมมุติฐาน

            มีผู้ให้คำนิยามสมมุติฐาน มากมายแตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างคำนิยามที่ใช้กันแพร่หลาย คือ

            เคอร์ลินเจอร์ (Kerlinger) (1973, p.18) ให้ความหมายของสมมุติฐานว่าเป็น “คำกล่าวในเชิงคาดคะเนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวหรือเกินกว่าสองตัว”

            สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ให้ความหมายของการวิจัยว่า เป็นความคาดหวังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ได้จากการสรุปทั่วไป ที่หวังว่าตัวแปร 2ตัวหรือหลายตัวจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง

ดังนั้น จึงสามารถสรุปความหมายของสมมติฐานในการวิจัย คือ ข้อความที่คาดคะเนคำตอบของงานวิจัยไว้ล่วงหน้า  เป็นการคาดเดาว่าผลการวิจัยของปัญหานั้นๆจะออกมาในลักษณะใด  อาจเป็นการคาดคะเนข้อสรุปที่ยังไม่คงที่แต่อาจมีความจริง หรือคาดคะเนสถานการณ์บางอย่างที่มีความสัมพันธ์กัน การที่จะคาดเดาคำตอบได้ดีนั้นจะต้องมีเหตุผล และใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบ เพื่อจะเป็นแนวทางในการดำเนินการตามกระบวนการวิจัยขั้นต่อไป

            หลักเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณาว่าสมมุติฐานใดเป็นสมมุติฐานที่ดีหรือไม่ ประกอบด้วยปัจจัยสามประการ คือ

1)      สมมุติฐานเป็นคำกล่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่สองตัวขึ้นไป

2)      สมมติฐานสร้างขึ้นจาก ความรู้ ทฤษฎี และผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

            3)   สมมุติฐานสามารถทดสอบได้

            อย่างไรก็ตามมีการวิจัยในเรื่องต่างๆอีกมากมายที่ไม่สามารถทำการกำหนดสมมุติฐานไว้ก่อนล่วงหน้าได้ ทำได้แค่เพียง รวบรวมข้อมูลกว้าง ๆ เพื่อเป็นแนวคิดสำหรับในเรื่องนั้นต่อไป ทั้งนี้เพราะยังขาดประสบการณ์ ความรู้ ทฤษฎี และผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง การวิจัยที่มีวัตถุประสงค์กว้าง ๆ ไม่ได้กำหนดปัญหาไว้แน่นอนล่วงหน้าเช่น การวิจัยเชิงสำรวจ (Exploratory Research)

            สมมุติฐานมีความสำคัญอย่างมากต่อการวิจัย  ดังนี้

            1)   ช่วยชี้แนะแนวทางในการศึกษาค้นคว้าโดยจะชี้ให้ทราบว่าจะค้นคว้าข้อมูลอะไร

            2)  ช่วยในการวางแผนรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้การวิจัยมีจุดมุ่งหมายแน่นอนโดยเน้นในจุดใดจุดหนึ่งแทนที่จะรวบรวมข้อมูลโดยปราศจากจุดมุ่งหมาย

            3) เป็นเครื่องเชื่อมโยงกับทฤษฎี สมมุติฐานบางประเภทได้มาจากทฤษฎีโดยการอนุมานสมมุติฐานที่ทดสอบว่าถูกต้องแล้วจะกลายเป็นทฤษฎีต่อไป

            4) เป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ หน้าที่ของสมมุติฐานคือขยายขอบเขตของความรู้ที่พิสูจน์แล้วให้กว้างขวางออกไป

ประเภทของสมมุติฐาน

สมมติฐานสามารถแบ่งตามลักษณะที่มาได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.      สมมติฐานที่กล่าวว่า ความจริงในเรื่องนั้น คืออะไร เป็นการพรรณาถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เช่น

·       ประชาชนในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีความสนใจในประเพณีสงกรานต์มากขึ้น

·       ผู้ปกครองของนักเรียนในประเทศไทยมักไม่นิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ

2.      สมมติฐานที่กล่าวว่ามีปรากฏการณ์เหตุการณ์หรือพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นแบบแผนพฤติกรรมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น

·       คนที่อยู่ในเมืองมักมีครอบครัวที่เล็กกว่าคนที่อยู่ในชนบท

·       นักเรียนที่เรียนต่างจังหวัดมักสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้

3.      สมมติฐานที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหรือองค์ประกอบ หรือความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปร  เช่น

·       การเลี้ยงดูของมารดาน่าจะมีความสัมพันธ์กับความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก

·       การหลบหนีเข้าเมืองของคนในประเทศเพื่อนบ้านน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาอาชญากรรมในเมือง

แหล่งที่มาของสมมุติฐาน

            สมมุติฐานมีแหล่งที่มาต่างกัน ดังนี้

            1. สมมุติฐานได้มาจากวัฒนธรรมที่ศาสตร์นั้นพัฒนาขึ้นมา   วัฒนธรรมไทยก็เป็นแหล่งที่มาของสมมุติฐานในการศึกษาสังคมไทย เช่น การเน้นในวงศาคณาญาติ พวกพ้องและการเน้นในกำเนิดมากกว่าความสำเร็จ ใช้เป็นสมมุติฐานในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล พฤติกรรมในการบริหารงานขององค์การเอกชนและรัฐบาลและพฤติกรรมทางการเมือง เป็นต้น

            2. สมมุติฐานได้มาจากศาสตร์ต่าง ๆ ประกอบด้วยทฤษฎีซึ่งจะให้แนวทางในการวิจัย ข้อเสนอต่าง ๆ ในทฤษฎี เราสามารถอนุมานสร้างเป็นสมมุติฐานได้ นอกจากนั้นความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ จะให้แนวทางในการตั้งสมมุติฐานได้เช่นกัน เช่น นักวิจัยอาจอนุมานโดยตั้งเป็นสมมุติฐานว่า “เด็กที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ ทำให้เป็นเด็กเกเร” และนำไปทดสอบจากความเป็นจริงได้

            3. สมมุติฐานได้จากการเปรียบเทียบ (analogy) จากศาสตร์อื่น ๆ ซึ่งให้สมมุติฐานที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น วิชาศึกษาศาสตร์ได้สมมุติฐานจากวิชาจิตวิทยาสังคมซึ่งพบว่า “การแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างบุคคลทำให้บุคคลนั้นมีความเห็นสอดคล้องกัน” การวิจัยทางศึกษาศาสตร์ใช้สมมุติฐานนี้ค้นคว้าเกี่ยวกับกิจกรรมกลุ่มของผู้เรียนในการพัฒนาความคิด

            4. สมมุติฐานได้มาจากประสบการณ์ส่วนบุคคล นอกจากวัฒนธรรม ศาสตร์และการเปรียบเทียบ จะให้สมมุติฐานแล้ว ประสบการณ์ของบุคคลก็ทำให้ได้สมมุติฐานที่เป็นประโยชน์ได้ ประสบการณ์อาจได้จากอาชีพการงาน ชีวิตประจำวัน และการศึกษาค้นคว้าของแต่ละบุคคล

            5. สมมุติฐานได้มาจากผลของการวิจัยที่ผู้อื่นได้ค้นพบไว้ เรานำสมมุติฐานนั้น ๆ มาทดสอบกับการวิจัยของเราได้ ถ้าสมมุติฐานที่ทดสอบได้รับการยืนยัน ก็เท่ากับได้เพิ่มน้ำหนักสมมุติฐานนั้น ๆ ให้มากขึ้น

            6. สมมุติฐานอาจได้มาจากข้อสงสัยของนักวิจัยเอง ข้อสงสัยนี้เมื่อตั้งเป็นสมมุติฐานอาจมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างศาสตร์ได้ สมมุติฐานที่ได้จากข้อสงสัยเมื่อนำไปทดสอบในการศึกษาหนึ่งยังมีข้อจำกัด 2 ประการคือ

            1) ไม่มีหลักประกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปรที่พบในการศึกษาดังกล่าว จะพบในการศึกษาอื่น ๆ ด้วย

            2) สมมุติฐานที่ได้รับจากข้อสงสัยมักจะไม่เกี่ยวข้องกับความรู้อื่น ๆ หรือทฤษฎี ดังนั้น ผลจากการค้นพบที่ได้จากสมมุติฐานชนิดนี้จึงเกี่ยวข้องกับความรู้ทางสังคมศาสตร์ไม่ชัดเจนนัก

เกณฑ์การตั้งสมมติฐานในการวิจัย

            ในการตั้งสมมติฐานการวิจัยอาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับผู้ที่เริ่มทำวิจัย เพราะไม่รู้ว่าสมมติฐานที่ตั้งเหมาะสมกับปัญหาการวิจัย และมีความชัดเจนหรือไม่ จึงมีข้อเสนอที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการตั้งสมมติฐานการวิจัย ดังนี้

1.      การทดสอบ     สมมติฐานที่ตั้งขึ้นต้องสามารถทดสอบได้ภายในเวลาที่เหมาะสม

2.      ความเกี่ยวข้องกับปัญหา    สมมติฐานที่ตั้งขึ้นจะต้องมีความเกี่ยวข้องและมีความเป็นไปได้กับปัญหาและวัตถุประสงค์ที่ทำวิจัย

3.      ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหรือการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม   ในการศึกษาตัวแปรหลายๆตัว สมมติฐานที่ตั้งขึ้นควรแสดงความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปร หรือมีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม จะทำให้ได้ผลการวิจัยที่ให้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

4.      ทฤษฎีและงานวิจัยสนับสนุน   สมมติฐานที่ตั้งขึ้นควรมีเหตุผลเพียงพอและเป็นไปตามหลักเหตุผล ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

หลักการเขียนสมมติฐานการวิจัย

1.      ควรเขียนสมมติฐานหลังจากที่ได้อ่านตำรา เอกสารที่เกี่ยวข้องสมบูรณ์แล้ว เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการตั้งสมมติฐาน และเป็นแนวทางสำหรับการตั้งสมมติฐานการวิจัย

2.      ควรเขียนในรูปของประโยคบอกเล่าดีกว่าประโยคคำถาม

3.      ควรมีคำที่แสดงความคาดหวังในประโยคบอกเล่า เช่น น่าจะ เพราะสมมติฐานยังไม่เป็นความจริง ยังต้องรอการพิสูจน์จากงานวิจัยเสียก่อน

4.      สมมติฐานที่เขียนขึ้นอาจมีทิศทางหรือไม่มีทิศทางก็ได้ขึ้นอยู่กับการทบทวนเอกสาร เช่น

ตัวอย่างสมมติฐานแบบมีทิศทาง

- ความนิยมในการเรียนกวดวิชาของนักเรียนชายมีมากกว่านักเรียนหญิง

                   - นักเรียนที่มีบิดามารดามีความคาดหวังในตัวบุตรสูงน่าจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง

                       กว่านักเรียนที่มีบิดามารดามีความคาดหวังในตัวบุตรสูง

ตัวอย่างสมมติฐานแบบไม่มีทิศทาง

- ความนิยมในการเรียนกวดวิชาของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงน่าจะมีความแตกต่างกัน

                    - ความคาดหวังของบิดามารดามีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของบุตร

5.      ควรเขียนสมมติฐานไว้หลายๆสมมติฐาน โดยพิจารณากลุ่มย่อยตามรายละเอียดของตัวแปร เพราะจะทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น

ตอนที่ 5  ตัวแปร ประเภทและระดับการวัดของตัวแปร

            การกำหนดหรือคัดเลือกตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการวิจัย เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการตั้งสมมติฐาน การตั้งสมมติฐานที่ดี ทำให้ทราบตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนั้น ซึ่งต้องอาศัยการทบทวนทฤษฎี แนวคิดที่เกี่ยวข้อง โดยความหมาย ประเภทและระดับการวัดของตัวแปร ดังนี้

ความหมายของตัวแปร 

            เคอร์ลินเจอร์ ได้ให้ความหมายของตัวแปรอย่างง่าย ๆ ว่า “ตัวแปรคืออะไรก็ได้ที่มีค่าเปลี่ยน” (A variable is something that varies.) ประเด็นสำคัญอยู่ที่ “ค่าที่เปลี่ยนแปลง” ตัวแปร จะต้องมีค่าที่เปลี่ยนแปลงเสมอ ในทางตรงข้าม อะไรก็ตาม หากมีค่าคงที่ เรียกว่า “ตัวคงที่” (constant) ตัวแปรจึงตรงข้ามกับตัวคงที่

ตัวแปร คือ คุณลักษณะหรือสภาวะการณ์ต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็นพวกหรือเป็นระดับหรือมีค่าได้หลายค่า(บุญชม ศรีสะอาด.2535: 28)
            ตัวแปร คือ สิ่งที่โดยสภาพทั่วไปแล้วสามารถแปรค่าได้ค่าที่แปรออกมาของตัวแปรย่อมมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป (สมหวัง พิธิยานุวัฒน์.2541 : 63)
            ดังนั้น    ตัวแปร(Variable) หมายถึง คุณลักษณะ หรือเงื่อนไขที่แปรเปลี่ยนค่าไปตามบุคคลหรือเวลา ที่ผู้วิจัยจัดกระทำ(Manipulate)ควบคุม(Control )หรือสังเกต(Observe ) ซึ่งแปรเปลี่ยนค่าได้ตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป เช่น เพศ มี 2 ลักษณะ คือ ชาย และหญิง   ฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว อาจแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ฐานะร่ำรวย ฐานะปานกลางและฐานะยากจน คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เป็นค่าของตัวเลขชุดหนึ่งที่มีหลายๆค่า เป็นต้น

            ตัวแปร แนวคิด หรือสิ่งที่สร้างที่อธิบายไปแล้วในตอนต้น จะไม่มีความหมายอย่างไรเลยในทางวิจัยหากไม่มีการให้ความหมายหรือคำนิยาม (definition) ไว้ด้วย

            ในทางวิจัย ตัวแปร หรือแนวคิดแต่ละตัวจะประกอบด้วยนิยามสองประเภท ซึ่งมีความหมายและหน้าที่แตกต่างกัน คือ

            1) นิยามเชิงทฤษฎี ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า theoretical, conceptual, or constitutive definition และ         2) นิยามเชิงปฏิบัติ ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า operational definition

            นิยามเชิงทฤษฎี เป็นการอธิบาย “ความหมาย” (meaning) ของตัวแปรหรือแนวคิดโดยบรรยายเป็นข้อความ ซึ่งประกอบด้วยคำหรือแนวคิดอื่น หากจะเปรียบคล้ายกับการให้นิยามแบบพจนานุกรมคือเป็นการให้ความหมายของแนวคิดด้วยแนวคิดอื่น

            ส่วนนิยามเชิงปฏิบัติการนั้น เป็นการกำหนดกิจกรรม หรือแนวทางปฏิบัติการที่จำเป็นเพื่อใช้ “วัด” ตัวแปรหรือแนวคิดนั้น ๆ

            การวิเคราะห์นิยาม (Explication of concept) ก็คือกระบวนการวิเคราะห์เชื่อมโยงนิยามของตัวแปรในระดับทฤษฎี และระดับปฏิบัติให้สอดคล้อง ถูกต้อง ชัดเจน และทดสอบได้ ซึ่งสามารถแสดงเป็นแผนภาพได้ดังนี้

                                                           

                                                         นิยามเชิงทฤษฎี                             ระดับนามธรรม

                                                            (Theoretical                             (abstract level)

                                                            definition)

 

 


                                                     ความเชื่อมโยง

X                                       สัมพันธ์ระหว่าง

ตัวแปร แนวคิด                                นิยามทั้งสอง                                     กระบวนการวิเคราะห์

หรือสิ่งที่สร้าง                                                                                         นิยามของแนวคิด

(Variable                                                                                              (Explication of

concept or                                                                                           concept)

construct)

 

                                                            นิยามเชิงปฏิบัติการ                     ระดับรูปธรรม

                                                            (Operational definition)                        (Discrete level)

ประเภทของตัวแปร

เกณฑ์ในการจำแนกประเภทของตัวแปรมี4 ลักษณะคือ (ล้วน สายยศและอังคณา สายยศ, 2538 :55 ,สมหวัง พิธิยานุวัฒน์.2541 : 59)
1. พิจารณาคุณสมบัติของค่าที่แปรออกมาแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
            1.1 ตัวแปรเชิงปริมาณ(Quantitative Variables) เป็นตัวแปรที่แตกต่างกันในระหว่างพวกเดียวกันหรือค่าที่แปรออกมาแตกต่างกันออกไปตามความถี่จำนวนปริมาณมากน้อยหรือลำดับที่ เช่น
ค่าใช้จ่ายของนักศึกษาต่อคน ต่อวัน (10,15,20,...(บาท)) บุตรคนที่ (1, 2, 3,...)
คะแนนของนักเรียน (17, 18, 19,....) จำนวนบุตรในครอบครัว (0, 1, 2,....)
            1.2 ตัวแปรเชิงคุณภาพ(Qualitative Variables) เป็นตัวแปร ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันในแง่ของชนิดหรือประเภทโดยใช้ชื่อเป็นภาษาที่แสดงถึงคุณลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ในพวกนั้น เช่น อาชีพ (ข้าราชการ ค้าขาย เกษตรกร รับจ้าง) เพศ (ชาย หญิง) ภูมิลำเนา (ในเมือง ชนบท)
2. พิจารณาความต่อเนื่องตามธรรมชาติของตัวแปรแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
            2.1 ตัวแปรค่าต่อเนื่อง (Continuous Variables) เป็นตัวแปรที่มีค่าต่อเนื่องกันตลอด เช่น ส่วนสูงน้ำหนัก คะแนนสอบ เป็นต้น ค่าของตัวแปรเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเลขเต็มหน่วยพอดีอาจเป็นทศนิยมหรือเป็นเศษส่วนได้
            2.2 ตัวแปรค่าไม่ต่อเนื่อง(Discrete Variables) ตัวแปรประเภทนี้มีค่าเฉพาะตัวของมัน แยกออกจากกันเด็ดขาดวัดค่าเป็นจำนวนเต็ม เช่น จำนวนหนังสือ เพศ (ชายแทนด้วย 0, หญิงแทนด้วย 1)เป็นต้น
3. พิจารณาความเป็นไปได้ของผู้วิจัยที่จะจัดกระทำกับตัวแปรแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
            3.1 ตัวแปรที่กำหนดได้(Active Variables) เป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยสามารถกำหนดให้กับผู้รับการทดลองได้เช่น วิธีสอน การจัดสอนซ่อมเสริม การจัดสภาพห้องเรียนและอื่น ๆ เป็นต้น
            3.2 ตัวแปรที่จัดกระทำขึ้นไม่ได้(Attribute of Organismic Variables) เป็นตัวแปรที่ยากจะกำหนดให้ผู้รับการทดลองได้ตัวแปรเหล่านี้เป็นลักษณะของผู้รับการทดลอง เช่น เพศ สภาพเศรษฐกิจ ความถนัดเป็นต้น
4. พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในเชิงเหตุผลเป็นการแบ่งตามลักษณะการใช้เป็นวิธีแบ่งตัวแปรที่นิยมกันมากที่สุด แบ่งเป็น
            4.1 ตัวแปรต้น (Independent Variable) หมายถึงคุณลักษณะที่เกิดก่อน หรือเป็นสาเหตุของ

ตัวแปรตาม หรืออาจจะเรียกว่า ตัวแปรอิสระ สามารถจำแนกได้เป็น 2 แบบ คือ ตัวแปรอิสระที่สามารถจัดกระทำได้ (Active Variable) และตัวแปรอิสระที่ไม่สามารถจัดกระทำได้(Attribute Variable) โดย ตัวแปรอิสระทั้ง 2 ชนิดเป็น ตัวแปรสาเหตุเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกัน คือตัวแปรอิสระที่ไม่สามารถจัดกระทำได้ ผู้วิจัยเป็นเพียงผู้เลือกว่ากลุ่มใดมีลักษณะอย่างไร แต่ไม่สามารถสร้างลักษณะนั้นขึ้นมา ในขณะที่ตัวแปรอิสระที่สามารถจัดกระทำได้ ผู้วิจัยสามารถสร้างลักษณะนั้นขึ้นมาได้  ตัวอย่างเช่น การวิจัยที่ศึกษาอายุของผู้สอนและสภาพของห้องเรียนว่ามีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่ อายุของผู้สอนที่แบ่งเป็นช่วงๆ และสภาพของห้องเรียนที่แบ่งเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ กับไม่มีเครื่องปรับอากาศ  ต่างก็เป็นตัวแปรอิสระ แต่อายุเป็นตัวแปรอิสระที่ไม่สามารถสร้างลักษณะนั้นขึ้นมาได้ เรียกว่า Attribute Variable ในขณะที่สภาพของห้องเรียนเป็นตัวแปรอิสระที่สามารถสร้างลักษณะนั้นขึ้นมาได้ เรียกว่า Active Variable

4.2 ตัวแปรตาม (Dependent Variable) หมายถึง คุณลักษณะที่คาดว่าจะได้รับ หรือเป็นผล

ที่ได้รับจากตัวแปรอิสระ ตัวอย่างเช่น การวิจัยที่ศึกษาอายุของผู้สอนและสภาพของห้องเรียนว่ามีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตัวแปรตามได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

4.3 ตัวแปรที่มีผลกระทบต่อข้อสรุปของการวิจัย (Confounding Variable) หมายถึง ตัวแปร

ที่มีผลกระทบต่อการสรุปความเป็นสาเหตุของตัวแปรต้นที่มีต่อตัวแปรตาม จำแนกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1) ตัวแปรแทรกซ้อน (Extraneous Variable) เป็นตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตาม

เช่นเดียวกับตัวแปรอิสระ แต่เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยไม่ได้สนใจที่จะศึกษา ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุม ไม่เช่นนั้นตัวแปรแทรกซ้อนอาจทำให้ผลที่ศึกษาไม่ได้ข้อสรุปอย่างที่สรุปไว้ก็ได้ ทำให้ผลที่ได้คาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

2) ตัวแปรสอดแทรก (Intervening Variable) เป็นตัวแปรที่สอดแทรกอยู่ระหว่าง

ตัวแปรต้นและตัวแปรตาม มองได้ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นแบบที่เป็นตัวแปรที่ได้รับผลมาจากตัวแปรต้นแล้วจึงส่งผลต่อไปที่ตัวแปรตาม เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพเศรษฐกิจสังคมของครอบครัวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่ามีความสัมพันธ์กันสูง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสภาพเศรษฐกิจสังคมของครอบครัวสูงมีผลให้ความคาดหวังของครอบครัวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูง แล้วการมีความคาดหวังของครอบครัวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูง ทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูง ดังนั้น ความคาดหวังของครอบครัวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน จึงเป็นตัวแปรสอดแทรก(Intervening Variable) ส่วนลักษณะที่สอง เป็นตัวแปรสอดแทรกที่ทำให้ผลที่ตัวแปรต้นมีต่อตัวแปรตามต่างไปจากสภาพจริงที่ควรจะเป็น แต่เป็นตัวแปรที่ไม่สามารถมองเห็นหรือจัดกระทำได้ เป็นนามธรรม เช่น ความวิตกกังวล ความเมื่อยล้า หรือความตื่นเต้นของผู้สอบที่มีต่อคะแนนสอบนี้

ในบางครั้งผู้วิจัยไม่สามารถแยกหรือตัดสินใจได้ว่า ตัวแปรใดเป็นตัวแปรเหตุตัวแปรใดเป็นตัวแปรผล เช่น ระดับการศึกษากับรายได้ กล่าวคือ ระดับการศึกษาสูงทำให้มีรายได้สูง หรือเพราะมีรายได้สูงจึงทำให้มีระดับการศึกษาสูง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องค่านิยมของสังคม กับวัตถุนิยม กล่าวคือ ค่านิยมของสังคมเป็นตัวกำหนดวัตถุนิยม หรือเพราะมีวัตถุนิยมแล้ว จึงเกิดค่านิยมของสังคมในเรื่องนั้น ตามมา

            โดยทั่วไปแล้ว การแยกตัวแปรอิสระออกจากตัวแปรตาม มีหลักง่าย ๆ ดังนี้

            1. ถ้าตัวแปรใดเกิดก่อน ให้ถือว่าตัวแปรนั้นเป็นตัวแปรอิสระ ส่วนตัวแปรที่เกิดภายหลังเรียกตัวแปรตาม เช่น เพศ กับ ระดับการศึกษาจะต้องถือว่า เพศ เป็นตัวแปรอิสระ (เพราะเกิดก่อน) ระดับการศึกษาเป็นตัวแปรตาม

            2. ถ้าตัวแปรใดเป็นสาเหตุของอีกตัวแปรหนึ่ง ตัวแปรนั้นถือว่าเป็นตัวแปรอิสระ ส่วนตัวแปรที่เป็นผลนั้นถือว่าเป็นตัวแปรตาม

            การทราบตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการวิจัยโดยตรงแล้วระดับการวัดของตัวแปรก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะมีผลต่อการออกแบบการวิจัยและการวิเคราะห์อีกด้วย

ตัวอย่าง
1) สถานการณ์: ครูคนหนึ่งมีความสนใจจะเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นม.1 ที่เรียนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปและแบบธรรมดามีผลแตกต่างกันหรือไม่
ตัวแปรต้น คือ วิธีสอน
ตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย
ตัวแปรแทรกซ้อน ที่น่าจะต้องควบคุม คือการเรียนพิเศษการศึกษาเพิ่มเติมพื้นฐานของนักเรียน
2) จุดมุ่งหมายการวิจัย: เพื่อเปรียบเทียบความถนัดด้านเครื่องจักรกลระหว่างนักเรียนชาย
และนักเรียนหญิง
ตัวแปรต้น คือ เพศของนักเรียน
ตัวแปรตาม คือ ความถนัดด้านเครื่องจักรกล
ตัวแปรแทรกซ้อน ความตั้งใจเรียน พื้นฐานนักเรียน
3) สมมุติฐานการวิจัย: นักเรียนที่มีผู้ปกครองรับราชการ และนักเรียนที่มีผู้ปกครองประกอบ อาชีพเกษตรกรรมมีพฤติกรรมความเป็นผู้นำแตกต่างกัน
ตัวแปรต้น คือ อาชีพของผู้ปกครอง
ตัวแปรตาม คือ พฤติกรรมความเป็นผู้นำ

ระดับการวัดของตัวแปร        

ระดับการวัดของตัวแปรแบ่งเป็น                   

1. มาตรการวัดแบบนามบัญญัติ(Nominal data ) เป็นการจำแนกลักษณะของข้อมูลที่ได้ ออกเป็นประเภทต่างๆหรือเป็นพวกๆ โดยจัดลักษณะที่เหมือนกันไว้ด้วยกัน เช่น ตัวแปร เพศ เชื้อชาติ สถานภาพสมรส  เป็นต้น การจำแนกลักษณะของข้อมูลเช่น เพศ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ชาย และ หญิง ซึ่งอาจจะกำหนดค่าให้กับลักษณะของตัวแปรเป็น 1 และ 2 การกำหนดค่าให้กับตัวแปรมีคุณสมบัติเพียงจำแนกความแตกต่างและสะดวกต่อการบันทึกลงในคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่มีความหมายในเชิงปริมาณ ที่จะนำมา บวก ลบ คูณ หารกันได้

2. มาตรการวัดแบบอันดับ(Ordinal data ) เป็นการกำหนดลักษณะของข้อมูลที่ได้ ออกเป็นอันดับที่บอกความมากน้อยระหว่างกันได้ เช่นลำดับที่ของนักเรียนมารยาทดี  ค่าลำดับที่ 1 , 2 , 3 สามารถบอกได้ว่าใครมารยาทดีกว่าใคร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่ได้มารยาทดีลำดับที่ 1 ดีกว่าลำดับที่ 2 อยู่เท่าไร  และไม่สามารถบอกได้ว่าความแตกต่างระหว่างคนที่ได้มารยาทดีลำดับที่ 1และ 2 จะเท่ากับความแตกต่างระหว่างคนที่ได้มารยาทดีลำดับที่ 2 และ 3 หรือช่วงความห่างของค่าตัวแปรแต่ละค่าไม่เท่ากัน

3. มาตรการวัดแบบอันตรภาค(Interval data ) เป็นการกำหนดตัวเลขให้กับลักษณะของข้อมูลตามความมากน้อย โดยตัวเลขที่กำหนดสามารถบอกความมากน้อยระหว่างกันแล้วยังมีช่วงห่างระหว่างค่าที่เท่ากันด้วย แต่ค่าศูนย์ที่กำหนดตามมาตรการวัดนี้ไม่ใช่ศูนย์แท้ ตัวอย่าง เช่น คะแนน อุณหภูมิ  เป็นต้น ค่าของอุณหภูมิ 80°C สูงกว่าอุณหภูมิ 50 °C อยู่ 30°C แต่อุณหภูมิ 0 °C มิได้แปลว่าไม่มีความร้อน ความจริงมีความร้อนระดับหนึ่งแต่ถูกสมมุติให้เป็น 0 °C

4. มาตรการวัดแบบอัตราส่วน(Ratio data) เป็นการกำหนดตัวเลขให้กับลักษณะของข้อมูลเช่นเดียวกับมาตรการวัดแบบอันตรภาค แต่มาตรการวัดระดับนี้จะมีค่า 0 ที่แท้จริงด้วย เช่น อายุ รายได้ น้ำหนัก ส่วนสูง  เป็นต้น    ส่วนสูง 0 เซนติเมตรก็แปลว่าไม่มีความสูงเลย

การกำหนดขอบข่ายข้อมูล

            การวิจัยเชิงคุณภาพมีความแตกต่างจากการวิจัยเชิงปริมาณหลายๆเรื่อง โดยมีจุดแข็งที่ช่วยให้ผู้วิจัยมองเห็นแนวทางที่จะหาคำตอบ หรือค้นหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ที่มีระบบความหมายที่หลากหลาย มีความเปลี่ยนแปลงและไม่อยู่นิ่ง ช่วยก่อรูปความรู้ให้เป็นรูปร่างขึ้นมาจากความคลุมเครือ (สุภางค์ จันทวานิช,2546)

            ข้อมูลของการวิจัยเชิงคุณภาพ ให้ความสำคัญกับความรู้สึก นึกคิด ค่านิยม ดังนั้นจึงมีความแตกต่างจากการวิจัยเชิงปริมาณที่ไม่สามารถกำหนดตัวแปรหรือนิยามตัวแปรที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ดังนั้นการกำหนดขอบข่ายข้อมูลจึงให้ความสำคัญแก่องค์ประกอบส่วนที่เป็นนามธรรมของมนุษย์  อันได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด ประวัติ  พฤติกรรม ความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้กับสภาพแวดล้อม   

              Lofland อ้างถึงในสุภางค์  จันทวานิช (2546) ได้เสนอกรอบในการจำแนกเหตุการณ์ไว้ 6 ชนิด ได้แก่ พฤติกรรม แบบแผนพฤติกรรม  ความหมาย  การมีส่วนร่วม  ความสัมพันธ์ และฉากที่สามารถนำมาใช้ในการเขียนขอบข่ายข้อมูล โดยเฉพาะสำหรับนักวิจัยใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะใช้อะไรมาจำแนกข้อมูลเพราะกรอบที่สร้างขึ้นจำแนกประเภทของข้อมูลออกเป็นส่วนต่างๆของโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม

ตัวอย่างการเขียนขอบข่ายข้อมูล

ทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบทบาทครู

การปรับตัวของผู้สอน: วิธีการ ปัญหา และผลที่เกิดขึ้นทั้งผลดีและผลเสีย

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในด้านความร่วมมือ การแข่งขัน

พฤติกรรมการเรียนความสนใจ ความตั้งใจ ความคิดริเริ่ม

 

 

สรุป

            ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่อาศัยกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแนวคิดในการวิจัย เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา วัตถุประสงค์และสมมติฐานตลอดจนตัวแปรต่างๆในการวิจัย ซึ่งแต่ละหัวข้อก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน และมีหลักเกณฑ์ในกำหนดและการสร้างที่ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อให้งานวิจัยที่ทำมีคุณภาพ สร้างองค์ความรู้ในศาสตร์ที่ศึกษาตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เกิดการเรียนรู้โดยใช้ความรู้เป็นฐานในการพัฒนางาน พัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ทวีวัฒน์ ปิตยานนท์. (2541).การตั้งปัญหาในการวิจัย.ในรวมบทความทางวิธีวิทยาการวิจัย  

        เล่ม 2. โดยมี สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ.พิมพ์ครั้งที่1 กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ 

        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บุญชม ศรีสะอาด.(2535).การวิจัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :  สุวีริยาสาส์น.

บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์. 2540.ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่7. กรุงเทพฯ :โรง 

        พิมพ์และปกเจริญผล.

บุญเลิศ ศุภลิดก. กระบวนการสร้างแนวคิด. (On line) Available from:www.stou.ac.th  

        /Thai/schools/sca/information(2004,March3).

ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ. 2538. เทคนิคการวิจัยทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ :

        สุวีริยาสาส์น.

ศิริชัย  กาญจนวาสี.(2541).ตัวแปรสำหรับการวิจัย: การคัดเลือกการวัดและการควบคุม.ในรวม  

        บทความทางวิธีวิทยาการวิจัยเล่ม 2. โดยมี สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ.พิมพ์ครั้งที่1 

        กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิมล ติรกานันท์. 2543.ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์: แนวทางสู่การปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่2.

        กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมหวัง พิธิยานุวัฒน์. (2541). การกำหนดตัวแปรในการวิจัย.ในรวมบทความทางวิธีวิทยาการวิจัย  

        เล่ม 2. โดยมี สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ.พิมพ์ครั้งที่1 กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ 

        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Cohen ,L.,and Manion,L. (1989). Research Method in Education.3rd.Ed.London:Routledge.

Kerlinger,F.N. (1973).Foundations of Behavioral Research. New York : Holt, Rinehart and

         Winston.

ใบงาน 1  เรื่อง การกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์ สมมติฐาน

แบ่งกลุ่มระดมความคิดในเรื่องที่สนใจทำวิจัย  แล้ว ขอให้ท่านระบุปัญหา วัตถุประสงค์ สมมติฐานของการวิจัยที่สอดคล้องกัน

1.ปัญหา / คำถามวิจัย

……………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

 

2.วัตถุประสงค์ของการวิจัย

……………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

3.สมมติฐานของการวิจัย

……………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

ใบงาน 2 เรื่อง ตัวแปร ประเภทและระดับการวัดของตัวแปร

1.      จงระบุตัวแปรอิสระและตัวแปรตามจากหัวข้อ หรือวัตถุประสงค์ของการวิจัยต่อไปนี้

1.1  การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิมกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา

ตัวแปร…………………………………………………………………………………….

1.2  การเปรียบเทียบความความคิดเห็นของประชาชนในเมืองและชนบทที่มีต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ตัวแปร…………………………………………………………………………………….

1.3  การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำกิจกรรมของนักศึกษา

ตัวแปร…………………………………………………………………………………….

1.4  เพื่อศึกษาอิทธิพลของปัจจัยภูมิหลังของพนักงานที่มีต่อความผูกพันองค์การ

ตัวแปร…………………………………………………………………………………….

1.5 เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของผู้เรียนและผู้สอนที่มีต่อการปฏิรูปการศึกษา

ตัวแปร…………………………………………………………………………………….

2. จงบอกระดับการวัดของตัวแปรต่อไปนี้

2.1      สีของกระเป๋ามี 3 สี คือ แดง  เทา  น้ำเงิน

…………………………………………

2.2    ความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาล มี 5 ระดับ   คือ ชอบมากที่สุด- ชอบน้อยที่สุด

         …………………………………………

2.2      อายุ นับเป็นปี

         …………………………………………

2.3      เงินเดือน ที่ได้รับใน 1 ปี

…………………………………………

2.4      จัดลำดับประเทศตามประชากร

…………………………………………

2.5      คะแนนสอบวัดไอคิว

…………………………………………

2.7     สีผิวของคน

…………………………………………

2.8      เบอร์รองเท้า      

………………………………………….

3.  จงระบุตัวแปร ประเภท และระดับการวัดของตัวแปร จากงานวิจัยในกลุ่มของท่าน

 

งานวิจัยเรื่อง………………………………………………………………………………………….

 

ตัวแปร

ประเภทของตัวแปร

ระดับการวัด