บทที่ 5

แบบแผนการวิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

เอมอร   จังศิริพรปกรณ์*

 

ในการเขียนโครงการวิจัย เมื่อได้ปัญหา วัตถุประสงค์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตามมา คือ แบบแผนการวิจัย ซึ่งเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่บอกให้ทราบว่านักวิจัยจะต้องทำอะไร เพื่อให้ได้แผนการดำเนินการวิจัยที่เหมาะสมกับปัญหา โดยเฉพาะในการวิจัยเชิงปริมาณที่มีการหลักการวางแผนที่เป็นระบบ มีขั้นตอนที่ชัดเจน ในขณะที่การวิจัยเชิงคุณภาพมีการวางแผนที่ยืดหยุ่นกว่าและสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตลอดเวลาที่เก็บข้อมูลเมื่อเห็นว่าสิ่งที่วางแผนไม่เหมาะสม ดังนั้นเนื้อหาในตอนนี้จะนำเสนอหลักการต่างๆในการวางแผนของการวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลักแบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ คือ ความหมายของแบบแผนการวิจัย  จุดมุ่งหมายของแบบแผนการวิจัย ขั้นตอนของแบบแผนการวิจัย และเกณฑ์ที่ใช้สำหรับแบบแผนการวิจัย สำหรับขั้นตอนของแบบแผนการวิจัยประกอบด้วยการกำหนดรูปแบบการวิจัย  ขอบเขตการวิจัย และแนวทางการวิจัย  โดยผู้เขียนได้ให้รายละเอียดของประชากรและกลุ่มตัวอย่างอยู่ในหัวข้อแนวทางการวิจัย ดังมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนโครงการวิจัย ดังนี้

ความหมายของแบบแผนการวิจัย

แบบแผนการวิจัย หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า research design เป็นการวางแผนการดำเนินการวิจัย ที่ผสมผสานทฤษฎี แนวคิด ข้อมูล และแนวทางดำเนินงานวิจัย เพื่อให้ได้คำตอบมาตอบประเด็นปัญหา และวัตถุประสงค์การวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นแบบแผนการวิจัยจึงแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างปัญหาการวิจัยและการวางแผนตรวจสอบโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อเชื่อมโยงสู่ปัญหาการวิจัย (Kerlinger,2000)

Kerlinger (1986:276  อ้างถึงใน Kumar, 1996) ให้ความหมายของแบบแผนการวิจัย ว่าเป็นแผนงาน โครงสร้าง และกลวิธี ของการตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การตอบคำถามหรือปัญหาการวิจัย การวางแผนที่ต้องครอบคลุมโครงการวิจัย ทำให้เห็นเค้าโครงว่าต้องทำอะไร จากการเขียนสมมติฐานและการนิยามปฏิบัติการไปสู่ การวิเคราะห์ผล

 

Thyer (1993:94 อ้างถึงใน Kumar, 1996) ให้ความหมายว่า พิมพ์เขียว (blueprint)   หรือรายละเอียดของแผนเพื่อให้เห็นว่าต้องทำวิจัยอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ ตั้งแต่การนิยามการวัดตัวแปร การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การเก็บข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐานและการวิเคราะห์ผล

โดยสรุป แบบแผนการวิจัย หมายถึง กระบวนการวางแผนที่ทำให้ผู้วิจัยสามารถตอบคำถามการวิจัยได้ด้วยความตรง (validity) มีความเป็นปรนัย (objectively) ถูกต้อง (accurately) และประหยัด (economically)

 


                อาจารย์ประจำภาควิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จากความหมายของแบบแผนการวิจัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแบบแผนการวิจัยเป็นเรื่องของการวางแผนวิธีการทำวิจัย โดยเป็นการวางแผนเกี่ยวกับ

1.      การกำหนดตัวแปรและการสร้างเครื่องมือ (ตัวแปรที่ต้องการเก็บข้อมูล, เครื่องมือ การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ)

2.      วางแผนการเก็บรวบรวมข้อมูล (เก็บข้อมูลจากใครบ้าง จำนวนเท่าไร เก็บอย่างไร)

3.      วางแผนการวิเคราะห์ข้อมูลหลังจากที่เก็บข้อมูลได้แล้ว (วิเคราะห์อย่างไรให้ตรงวัตถุประสงค์และสมมติฐานการวิจัย ใช้สถิติอะไร แปลความหมายอย่างไร นำเสนอผลการวิเคราะห์อย่างไร)

จุดมุ่งหมายของแบบแผนการวิจัย

            1)   เพื่อให้ได้แนวทางในการตอบปัญหาการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีความตรงทั้งความตรงภายในและความตรงภายนอก ที่ประหยัดทรัพยากร

             2)  เพื่อควบคุมความแปรปรวนที่เกิดขึ้นในการวิจัย (variance control)ได้แก่ (นงลักษณ์ วิรัชชัย,2543)

                  2.1)   ทำให้ความแปรปรวนของตัวแปรที่ศึกษาหรือความแปรปรวนมีระบบ (systematic variance) มีค่าสูงสุด (to maximize the variance of the variable) ทำให้ตัวแปรที่เลือกมาศึกษาแสดงความแปรปรวนในกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรที่ต้องการศึกษาให้มากที่สุด การเพิ่มความแปรปรวนของตัวแปรที่ศึกษาให้มีค่าสูงสุด ทำได้โดย การเลือกกลุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนที่ดีของกลุ่มประชากร และการกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัยโดยรวมตัวแปรต้นทั้งหมดมาศึกษา

                  2.2)   ลดความแปรปรวนจากความคลาดเคลื่อนหรือความแปรปรวนแบบสุ่มที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนในการวัดตัวแปรให้มีค่าต่ำสุด (to minimize the error) เป็นความพยายามลดความคลาดเคลื่อนในการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยความคลาดเคลื่อนนี้อาจเกิดขึ้นจากเครื่องมือที่ใช้ หรือผู้เก็บข้อมูลเอง หรือกลุ่มตัวอย่างเป้าหมายก็เป็นได้ การลดความแปรปรวนจากความคลาดเคลื่อนให้เหลือน้อยที่สุด ทำได้โดยการเพิ่มความแปรปรวนมีระบบโดยการเพิ่มตัวแปรต้นในการวิจัยก็จะทำให้ความแปรปรวนที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนลดลง และการลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากกระบวนการวิจัยที่นักวิจัยกำหนดแผนไว้ เช่น ความคลาดเคลื่อนจากการเลือกกลุ่มตัวอย่าง (sampling error) ความคลาดเคลื่อนในการวัด (sampling error) ความลำเอียงในการทดลอง การขาดหายไปของข้อมูล  ความผิดพลาดในการลงรหัสข้อมูล การคำนวณหรือวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น

2.3)      ควบคุมความแปรปรวนที่เกิดจากตัวแปรแทรกซ้อน (to control the variance of

extraneous or “unwanted” variables) เป็นกลวิธีที่สำคัญในการกำหนดแบบแผนในการวิจัย ทำได้ทั้งหมด 4 วิธี ดังนี้ (นงลักษณ์ วิรัชชัย,2543)

                                 1)      การใช้กระบวนการสุ่ม (Randomization) เป็นการสุ่มตัวอย่างเพื่อควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ การเลือกหน่วยตัวอย่างแบบสุ่ม

( random  selection) และการจัดหน่วยตัวอย่างเข้ากลุ่มแบบสุ่ม (random assignment) และการเลือกกลุ่มทดลองกลุ่มควบคุมแบบสุ่ม (random treatment) เป็นการทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความเท่าเทียมกันเมื่อเริ่มต้นทำการวิจัย จะพบได้ในการวิจัยเชิงทดลอง ตัวอย่าง เช่น ในการทดลองที่ต้องการให้มีหน่วยตัวอย่างในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 50 คน เริ่มจากการเลือกหน่วยตัวอย่างแบบสุ่ม ( random  selection) โดยใช้วิธีการสุ่มที่ทราบความน่าจะเป็นแบบใดก็ได้ เพื่อให้ได้หน่วยตัวอย่าง 100 คน  จากนั้นสุ่มหน่วยตัวอย่างจาก 100 คน เป็น 2 กลุ่มๆละ 50 คน โดยยังไม่ทราบว่ากลุ่มใดเป็นกลุ่มทดลอง กลุ่มใดเป็นกลุ่มควบคุมเรียกว่าการจัดหน่วยตัวอย่างเข้ากลุ่มแบบสุ่ม (random assignment) ต่อจากนั้นจึงสุ่มเลือกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เลือกมากลุ่มใดเป็นกลุ่มทดลอง กลุ่มใดเป็นกลุ่มควบคุม เรียกว่าการเลือกกลุ่มทดลองกลุ่มควบคุมแบบสุ่ม (random treatment) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีความเท่าเทียมกัน

                                 2)      การจับคู่  (Matching) หรือการจัดบล็อค (Blocking) นักวิจัยต้องมีการกำหนดตัวแปรแทรกซ้อนที่ต้องการควบคุม แล้วนำตัวแปรนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการควบคุม การจับคู่และการจัดบล็อคมีความแตกต่างกัน คือ การจับคู่เป็นการจับตัวอย่างที่มีลักษณะคล้ายกันตามตัวแปรแทรกซ้อนทีละคู่ เพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด ในขณะที่ การจัดบล็อค เป็นการแยกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกันออกเป็นกลุ่มย่อย โดยแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อดูผลการวิจัยที่เกิดในแต่ละกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันนั้น ตัวอย่าง เช่น การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกวดวิชาของนักเรียนชั้นม.6  พบว่า เกรดเฉลี่ย ชั้นม.5 เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อตัวแปรตามที่ผู้วิจัยไม่ได้สนใจศึกษา เรียกว่าตัวแปรแทรกซ้อน ดังนั้นต้องทราบเกรดเฉลี่ย ชั้นม.5 ของนักเรียนที่เป็นประชากรก่อน เช่น ถ้ามีเกรดเฉลี่ย ม.5 ที่ระดับ 4.00  20 คน สัดส่วนประชากรต่อหน่วยตัวอย่างเป็น 5:1  แสดงว่าต้องสุ่มหน่วยตัวอย่างมา 4 คน เพื่อแยกเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 2 คนเท่ากัน เรียกว่าการจับคู่  ส่วนการจัดบล็อคไม่จำเป็นต้องจัดให้หน่วยตัวอย่างในกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมมีเกรดเฉลี่ย ชั้นม.5 เท่ากันเป็นคู่ๆ  ใช้วิธีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นกลุ่มๆ เช่นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เกรดเฉลี่ย ชั้นม.5 สูง ปานกลาง ต่ำ เป็น 3 บล็อค แล้วแต่ละบล็อคเลือกหน่วยตัวอย่างที่ต้องการอีกครั้ง วิธีนี้จะทำให้มั่นใจว่าแต่ละกลุ่มจะได้อิทธิพลจากตัวแปรแทรกซ้อนไม่แตกต่างกัน แต่มีข้อจำกัดว่าไม่สามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนหลายๆตัวพร้อมกัน จึงต้องหาวิธีควบคุมวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ควบคุมด้วยวิธีการทางสถิติ

                                  3)     การควบคุมด้วยวิธีการทางสถิติ  เป็นการรวมตัวแปรแทรกซ้อนเข้ามาศึกษาแล้วควบคุมด้วยวิธีการทางสถิติ เหมาะสำหรับการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ และการทดลอง เช่น สหสัมพันธ์บางส่วน (part and partial correlation) การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (ANCOVA) การวิเคราะห์ความแปรปรวนหลายทาง โดยใช้ตัวแปรแทรกซ้อนเป็นตัวจัดบล็อค

                                  4)  การกำจัดตัวแปรแทรกซ้อน (Elimination) เป็นการตัดตัวแปรแทรกซ้อนนั้นออกจากการวิจัย เช่นถ้าคิดว่าเกรดเฉลี่ยเป็นตัวแปรแทรกซ้อนก็เลือกศึกษาเฉพาะนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยสูงกลุ่มเดียวหรือต่ำกลุ่มเดียว โดยมิให้ตัวแปรเกรดเฉลี่ยเข้ามามีอิทธิพลในการวิจัย

ขั้นตอนของแบบแผนการวิจัย

            ขั้นตอนของแบบแผนการวิจัย ประกอบด้วยการกำหนดรูปแบบ ขอบเขต และแนวทางการวิจัย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1.  การกำหนดรูปแบบการวิจัย (model) สามารถกำหนดได้หลายรูปแบบตามมิติหรือเกณฑ์ที่ใช้แบ่งแตกต่างกัน อย่างเช่น Kumar (1996) ได้จัดรูปแบบการวิจัยแบ่งตามมิติ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การนำไปใช้ (application) 2) วัตถุประสงค์ (objectives) และ 3) ลักษณะของสารสนเทศ (Type of information) จากการศึกษาตำราทางกาวิจัยทางสังคมพฤติกรรมศาสตร์ พบว่า รูปแบบการวิจัยมีหลายประเภท ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันตาม มิติที่อ้างอิงในที่นี้จะขอนำเสนอรูปแบบการวิจัยตามมิติหรือเกณฑ์ 5 แบบ ดังนี้

 1) พิจารณาจากการนำไปใช้ประโยชน์ สามารถแบ่งรูปแบบการวิจัย เป็น 3 ประเภท

1.1    การวิจัยบริสุทธิ์ (Pure Research) หรือ การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เป็นการวิจัย

เพื่อหาทฤษฎี สูตร หรือสร้างกฎ เพื่อเป็นพื้นฐาน ในการศึกษา เรื่องอื่น ๆ ต่อไป
                        1.2 การวิจัยประยุกต์ (Applied Research)  เป็นการวิจัยเพื่อนำผลไปทดลอง ใช้แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ต่อไป เช่น การวิจัยทางแพทย์
                        1.3 การวิจัยเชิงปฎิบัติการ (Action Research) เป็นการวิจัยประยุกต์ในลักษณะ หนึ่งที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่อง ๆ ไป ผลของการวิจัยนี้ใช้ได้ใน ขอบเขตของปัญหานั้น ๆ เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ อื่น ๆ

2)  พิจารณาจากลักษณะของข้อมูล ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นการใช้ข้อมูลทางคณิตศาสตร์

และสถิติมาช่วยในการตอบคำถามการวิจัย
                        2.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นการใช้ข้อมูลเชิงคุณลักษณะ และไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์ หรือสถิติเข้ามาช่วย การเก็บข้อมูลทำได้โดย การใช้การสังเกต การสัมภาษณ์ การบันทึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และสรุปเป็นประเด็นเพื่อตอบปัญหาการวิจัย

            3) พิจารณาจากชนิดของข้อมูล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

3.1 การวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical Research) เป็นการวิจัยที่หาความจริงจากข้อมูล

ไม่ว่าจะเป็นแหล่งปฐมภูมิ หรือทุติยภูมิ       

                         3.2 การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เป็นการวิจัยที่หาความรู้ความจริงจากข้อมูลเอกสาร วรรณกรรม พงศาวดาร ศิลาจารึก

4)  พิจารณาจากลักษณะการศึกษาตัวแปร แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

4.1 การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เช่น การสำรวจทัศนคติ เพื่อหาข้อเท็จจริง
4.2 การวิจัยย้อนหลัง (Expost Facto Research) เป็นการศึกษาย้อนหลังในสิ่งที่เกิด

ขึ้นแล้ว เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ของตัวแปร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อน ส่วนใหญ่ใช้ในการศึกษาเช่นการศึกษาว่าเด็กสอบตกเกิดจากเหตุใดหรือมีบุคลิกภาพต่างกันอย่างไร
                         4.3 การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็นการศึกษาตัวแปร โดยการควบคุม มุ่งศึกษาอิทธิพลจากตัวแปรจัดกระทำ และสังเกตผลที่เกิดขึ้น

5) พิจารณาจากระเบียบวิธีการวิจัย ซึ่งแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ ในที่นี้จะกล่าวถึงบางรูปแบบที่สำคัญ คือ

            5.1  การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงที่เป็น

เรื่องราวในอดีตเพื่อใช้ความรู้มาอธิบายเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
                                     5.2 การวิจัยเชิงบรรยาย (Description Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในการวิจัยประเภทนี้มีตั้งแต่การสำรวจว่า มีตัวแปรอะไรบ้าง สัมพันธ์อย่างไร ไปจนถึงการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของตัวแปร

ชนิดของการวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ 1)  การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Studies)

2) การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ (Interrelationship Studies) และ 3) การวิจัยเชิงพัฒนา (Developmental Studies)
                        1) การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการศึกษาถึงลักษณะสภาพความเป็นอยู่ หรือปรากฎ การณ์หนึ่ง เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อการวางแผน และปรับปรุงให้ดีขึ้น แบ่งออกได้เป็นสำรวจชุมชน สำรวจสภาพการปกครอง สำรวจทางภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจพื้นฐาน สำรวจทางวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะ สำรวจประชากร สำรวจประชามติ และวิเคราะห์งาน (Job Analysis) วิเคราะห์เอกสาร (Documentary Anaiysis)
                        2). การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ ของตัวแปรของปรากฎการณ์ และพฤติกรรมต่าง ๆ แบ่งออกไปได้เป็น

          2.1) กรณีศึกษา (Case Study) เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด

โดยเฉพาะ เพื่อต้องการทราบรายละเอียดของทุกแง่มุมในเรื่องที่ต้องการศึกษานั้น ๆ เป็นการศึกษาเฉพาะกรณี  มิได้มุ่งในเรื่องปริมาณ   เป็นการศึกษาเพื่อทราบรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
                       2.2) ศึกษาเปรียบเทียบผลเพื่อสืบหาเหตุ (Casual Comparative Studies) เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรของปรากฎการณ์ต่าง ๆ โดยการสังเกตผลของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร แล้วย้อนกลับไปดูว่า ผลที่เกิดจะมีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่เป็นเหตุอะไรได้บ้าง การวิจัยลักษณะนี้ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่ไม่ต้องการศึกษาได้
                       2.3) ศึกษาเชิงสหสัมพันธ์ (Correlation Studies) เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป เพื่อดูว่าตัวแปรเหล่านั้นมีการผันแปรคล้อยตามกัน หรือผันแปรตรงกันข้ามกัน

                       2.4) ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรม (Cross Cultural Studies) เป็นการศึกษาเปรียบเทียบปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการนำสิ่งนั้น ๆ ไปใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในแต่ละวัฒนธรรม การวิจัยประเภทนี้ต้องการข้อมูลจากการศึกษาจากหลายลักษณะ โดยการสำรวจศึกษาทางกรณี การสังเกต แล้วจึงมาสรุปผลว่าสามารถสืบอ้างไปสู่กลุ่มที่มีวัฒนธรรมอื่น ๆ ได้หรือไม่ หรือใช้ได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

                      3) การวิจัยเชิงพัฒนาการ เป็นการวิจัยที่ดูความก้าวหน้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในช่วงของสภาพที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลา เช่น การศึกษาความเจริญงอกงามความก้าวหน้าต่าง ๆ หรือการศึกษากลุ่มเป็นระยะเวลายาว (Longitudinal Studies) และการศึกษาแนวโน้ม (Trend Studies) ซึ่งเป็นการศึกษาถึงรูปแบบ และทิศทางของความเปลี่ยนแปลง เพื่อการพยากรณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยการศึกษาจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ช่วงต่อเนื่องกัน แบบ Longitudinal Study มีการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน ทำให้ทราบอัตรา และทิศทางการเปลี่ยนแปลง แล้วจึงพยากรณ์สภาพ หรือเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

                         5.3 การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็นการศึกษาตัวแปร เพื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดผล         เป็นรูปแบบการวิจัยที่ผู้วิจัยเป็นผู้จัดกระทำ (manipulate) โดยการสร้างเงื่อนไขหรือสถานการณ์ขึ้นให้กลุ่มตัวอย่างได้รับ (treatment) แล้วศึกษาผลที่เกิดขึ้นตามมา เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างเงื่อนไขของการจัดกระทำกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่

                           1)   การวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (pre-experimental design)

                           2)   การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (quasi-experimental design)

                           3)   การวิจัยเชิงทดลองที่แท้จริง (true-experimental design)

          2.  การกำหนดขอบเขตการวิจัย (delimitation)

                  การกำหนดขอบเขตของการวิจัย เป็นการกำหนดขอบเขตของประชากร กรอบแนวคิดในการวิจัย จำนวนตัวแปรที่ศึกษา และช่วงระยะเวลาที่ศึกษา ซึ่งควรสอดคล้องกับกรอบแนวคิดในการวิจัย (     สุวิมล 

ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย, 2546)

                  ในการเขียนขอบเขตของการวิจัยในโครงการวิจัย ควรระบุเหตุผลที่คัดเลือกตัวแปรบางตัวที่นำเข้ามาศึกษาในกรอบแนวคิด ตลอดจนเหตุผลที่ตัดตัวแปรบางตัวออกจากกรอบแนวคิดของการวิจัย ไม่ควรระบุแต่ชื่อตัวแปรที่ศึกษาว่าคืออะไรเท่านั้น แต่ต้องขยายความให้เห็นแนวคิดเบื้องหลังเพื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยเข้าใจวิธีคิดหรือทฤษฎีที่ผู้วิจัยใช้เป็นฐานในการกำหนดกรอบแนวคิดได้ชัดเจน

                   สำหรับกรอบแนวคิดที่เกี่ยวกับประชากรก็เช่นเดียวกัน ผู้วิจัยต้องอธิบายกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องว่าจริงๆแล้วครอบคลุมคนกลุ่มใดและในการศึกษาครั้งนี้ทำไมจึงจำกัดเฉพาะคนกลุ่มนั้น เช่น ทำไมสนใจศึกษาเฉพาะคนในกรุงเทพมหานคร หรือทำไมจึงสนใจศึกษาเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน

               3.  การกำหนดแนวทางการวิจัย (procedures)

            การกำหนดแนวทางการวิจัยจะครอบคลุม 3  ส่วนหลัก   ได้แก่       การออกแบบการวัดตัวแปร (measurement design) การออกแบบการสุ่มตัวอย่าง (sampling design) และการออกแบบการวิเคราะห์

ข้อมูล (analysis design) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

                 3.1   การออกแบบการวัดตัวแปร (measurement design) มีกิจกรรมหลัก ๆ 2 กิจกรรม ดังนี้

                           1)   การวัดค่าตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม

                                 1.1)   การระบุโครงสร้างและการกำหนดนิยามตัวแปร ของนิยามเชิงทฤษฎี นิยามเชิงปฏิบัติการ

                                 1.2)   การกำหนดมาตรการวัดและการสร้างเครื่องมือ

                                 1.3)   การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ

                                 1.4)   การกำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

                           2)   การควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน

                                 2.1)   Randomization เป็นการสุ่มตัวอย่างเพื่อควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ random  selection  random assignment  และ random treatment  เป็นการทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความเท่าเทียมกันเมื่อเริ่มต้นทำการวิจัย จะพบได้ในการวิจัยเชิงทดลอง

                                 2.2)   Matching เป็นการจับคู่ตัวอย่างที่มีลักษณะคล้ายกันทีละคู่ เพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด

                                 2.3)   Blocking เป็นการแยกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกันออกเป็นกลุ่มย่อย โดยแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อดูผลการวิจัยที่เกิดในแต่ละกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันนั้น

                                 2.4)   การรวมตัวแปรแทรกซ้อนเข้ามาศึกษาแล้วควบคุมด้วยวิธีการทางสถิติ เช่น สหสัมพันธ์บางส่วน (part and partial correlation) การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (ANCOVA) การวิเคราะห์ความแปรปรวนหลายทาง โดยใช้ตัวแปรแทรกซ้อนเป็นตัวจัดบล็อค

                                 2.5)  การกำจัดตัวแปรแทรกซ้อน (Elimination) เป็นการตัดตัวแปรแทรกซ้อนนั้นออกจากการวิจัย  ดังมีรายละเอียดในตอนต้นแล้ว

                  3.2    การออกแบบการสุ่มตัวอย่าง (sampling design)

                           การออกแบบการสุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ได้แก่1) การกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง และ 2) การกำหนดวิธีการสุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย

                                 1.1)   การจัดทำกรอบการสุ่ม (sampling frame)

                                 1.2)   การกำหนดวิธีการสุ่ม ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

                                           - การสุ่มแบบทราบความน่าจะเป็น (probability sampling)

                                           - การสุ่มตัวอย่างแบบไม่ทราบความน่าจะเป็น(non-probability sampling)      

ในการบรรยายลักษณะของประชากร กลุ่มตัวอย่างนั้น ผู้วิจัยจะต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าคือใคร มี

หลักเกณฑ์อย่างไรในการเลือกกลุ่มประชากรนั้น ๆ มีประชากรเท่าไรในการศึกษาวิจัย แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย หรือไม่ และกระบวนการเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นอย่างไร ความเป็นตัวแทนที่เชื่อถือได้ของตัวอย่างที่เลือกมา ที่ไม่มีอคติ และไม่ยุติธรรม ในการวิจัยส่วนใหญ่นั้น ประชากรจะต้องเป็นตัวแทนของประชากรที่ต้องการศึกษา เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้กลุ่มประชากรทั้งหมดได้ ต่อจากนั้น จึงใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง เพื่อลดจำนวนประชากร ซึ่งการสุ่มนั้นมีหลายวิธี เช่น การสุ่มแบบง่าย การสุ่มแบบเป็นระบบ การสุ่มแบบแบ่งชั้น การสุ่มกลุ่ม ซึ่งเราเรียกว่าการสุ่มแบบทราบความน่าจะเป็น(probability sampling)  การกำหนดกลุ่มตัวอย่างมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บข้อมูลกับประชากรทุกหน่วยอาจทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่สูงมากและบางครั้งเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจภายในเวลาจำกัด  การเลือกศึกษาเฉพาะบางส่วนของประชากรจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น  เพื่อให้มีความเข้าใจในการเลือกตัวอย่าง จะขอนำเสนอความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง

            ประชากร (Population) หมายถึง สมาชิกทุกหน่วยของสิ่งที่สนใจศึกษา ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนเพียงอย่างเดียว ประชากรอาจจะเป็นสิ่งของ เวลา สถานที่   ฯลฯ เช่นถ้าสนใจว่าความคิดเห็นของคนไทยที่มีต่อการเลือกตั้ง ประชากร คือคนไทยทุกคน หรือถ้าสนใจอายุการใช้งานของเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อหนึ่ง ประชากรคือเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อนั้นทุกเครื่อง  แต่การเก็บข้อมูลกับประชากรทุกหน่วยอาจทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่สูงมากและบางครั้งเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจภายในเวลาจำกัด  การเลือกศึกษาเฉพาะบางส่วนของประชากรจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เรียกว่ากลุ่มตัวอย่าง

            กลุ่มตัวอย่าง (Sample) หมายถึง ส่วนหนึ่งของประชากรที่นำมาศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของประชากร การที่กลุ่มตัวอย่างจะเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรเพื่อการอ้างอิงไปยังประชากรอย่างน่าเชื่อถือได้นั้น จะต้องมีการเลือกตัวอย่างและขนาดตัวอย่างที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องอาศัยสถิติเข้ามาช่วยในการสุ่มตัวอย่างและการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง

            การสุ่มตัวอย่าง (Sampling) หมายถึง กระบวนการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีความเป็นตัวแทนที่ดีของประชากร

ประเภทของการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง

            วิธีการสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. การสุ่มตัวอย่างแบบทราบความน่าจะเป็น ( Probability sampling )

            เป็นการสุ่มตัวอย่างโดยสามารถกำหนดโอกาสที่หน่วยตัวอย่างแต่ละหน่วยถูกเลือก ทำให้ทราบความน่าจะเป็นที่แต่ละหน่วยในประชากรจะถูกเลือก การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบนี้สามารถนำผลที่ได้อ้างอิงไปยังประชากรได้  สามารถทำได้หลายแบบ ดังนี้

            2.1 การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย  (Simple random sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างโดยถือว่าทุกๆหน่วยหรือทุกๆสมาชิกในประชากรมีโอกาสจะถูกเลือกเท่าๆกัน การสุ่มวิธีนี้จะต้องมีรายชื่อประชากรทั้งหมดและมีการให้เลขกำกับ วิธีการอาจใช้วิธีการจับสลากโดยทำรายชื่อประชากรทั้งหมด หรือใช้ตารางเลขสุ่มโดยมีเลขกำกับหน่วยรายชื่อทั้งหมดของประชากร

            2.2 การสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบ ( Systematic sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างโดยมีรายชื่อของทุกหน่วยประชากรมาเรียงเป็นระบบตามบัญชีเรียกชื่อ การสุ่มจะแบ่งประชากรออกเป็นช่วงๆที่เท่ากันอาจใช้ช่วงจากสัดส่วนของขนาดกลุ่มตัวอย่างและประชากร แล้วสุ่มประชากรหน่วยแรก ส่วนหน่วยต่อๆไปนับจากช่วงสัดส่วนที่คำนวณไว้       

            2.3 การสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างโดยแยกประชากรออกเป็นกลุ่มประชากรย่อยๆ หรือแบ่งเป็นชั้นภูมิก่อน โดยหน่วยประชากรในแต่ละชั้นภูมิจะมีลักษณะเหมือนกัน (homogenious)    แล้วสุ่มอย่างง่ายเพื่อให้ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างตามสัดส่วนของขนาดกลุ่มตัวอย่างและกลุ่มประชากร        

             2.4 การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster sampling ) เป็นการสุ่มตัวอย่างโดยแบ่งประชากรออกเป็นพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องทำบัญชีรายชื่อของประชากร และสุ่มตัวอย่างประชากรจากพื้นที่ดังกล่าวตามจำนวนที่ต้องการ แล้วศึกษาทุกหน่วยประชากรในกลุ่มพื้นที่นั้นๆ หรือจะทำการสุ่มต่อเป็นลำดับขั้นมากกว่า 1 ระดับ โดยอาจแบ่งพื้นที่จากภาค เป็นจังหวัด จาก จังหวัดเป็นอำเภอ และเรื่อยไปจนถึงหมู่บ้าน

นอกจากนี้การสุ่มตัวอย่างยังสามารถเลือกสุ่มตัวอย่างผสมระหว่างแบบง่ายแบบชั้นภูมิและแบบกลุ่มด้วยก็ได้

2. การสุ่มตัวอย่างแบบไม่ทราบความน่าจะเป็น ( Nonprobability sampling )

เป็นการเลือกตัวอย่างโดยไม่คำนึงว่าตัวอย่างแต่ละหน่วยมีโอกาสถูกเลือกมากน้อยเท่าไร ทำให้ไม่ทราบความน่าจะเป็นที่แต่ละหน่วยในประชากรจะถูกเลือก การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบนี้ไม่สามารถนำผลที่ได้อ้างอิงไปยังประชากรได้ แต่มีความสะดวกและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่า  ซึ่งสามารถทำได้หลายแบบ ดังนี้

2.1 การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental sampling) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่าง  เพื่อให้ได้จำนวนตามต้องการโดยไม่มีหลักเกณฑ์ กลุ่มตัวอย่างจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถให้ข้อมูลได้

2.2 การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบโควต้า ( Quota  sampling ) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยคำนึงถึงสัดส่วนองค์ประกอบของประชากร เช่นเมื่อต้องการกลุ่มตัวอย่าง 100 คน ก็แบ่งเป็นเพศชาย 50 คน หญิง 50 คน แล้วก็เลือกแบบบังเอิญ คือเจอใครก็เลือกจนครบตามจำนวนที่ต้องการ

            2.3 การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ( Purposive  sampling ) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยพิจารณาจากการตัดสินใจของผู้วิจัยเอง ลักษณะของกลุ่มที่เลือกเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงต้องอาศัยความรอบรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆของผู้ทำวิจัย การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Judgment sampling

          ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง                     

            ขนาดของกลุ่มตัวอย่างมีความสำคัญอย่างมาในการวิจัยเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีความเหมาะสมข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างมีมากพอก็จะทำให้ผลงานวิจัยนั้นมีคุณค่า  ขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับการวิจัยขึ้นอยู่กับการวิจัยว่าจะยอมให้เกิดความคลาดเคลื่อนมากน้อยเพียงใด จึงจะยอมรับได้ การหาขนาดตัวอย่างสามารถคำนวณได้จากสูตรในกรณีที่ต้องการประมาณค่าเฉลี่ยของประชากร และในกรณีที่ประมาณค่าสัดส่วนของประชากร และการใช้ตารางการสุ่มตัวอย่างของ Yamane (1960 อ้างถึงในสุวิมล ติรกานันท์) ในที่นี้ขอนำเสนอการหาขนาดของกลุ่มตัวอย่าง 2 ลักษณะ คือ 1) การใช้ตารางหาขนาดตัวอย่างในรูปร้อยละ และ 2) การกำหนดขนาดตัวอย่างตามวัตถุประสงค์การวิจัย

1)        การใช้ตารางหาขนาดตัวอย่างในรูปร้อยละ ได้มาจากการคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างจากค่าสัดส่วนของประชากร  ระดับความเชื่อมั่น และความคลาดเคลื่อน แล้วนำมาสรุปเป็นช่วง ดังตารางที่1

 

ตารางที่ 1  ขนาดกลุ่มตัวอย่างคร่าวๆที่เป็นตัวแทนประชากร

 

ขนาดของประชากร(N)

ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง(n)

100-200

80%

300-400

60%

500-700

45%

1,000-1,500

30%

2,000-2,500

20%

3,000-4,000

15%

5,000-6,000

8%

7,000-10,000

6%

15,000-20,000

3%

30,000-50,000

2%

70,000ขึ้นไป

0.6%

ที่มา สุวิมล ติรกานนท์(2543)

 

2)        การกำหนดขนาดตัวอย่างตามวัตถุประสงค์การวิจัย แสดงในตารางที่2

ตารางที่2  ขนาดกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามวัตถุประสงค์การวิจัย

 

ขนาดกลุ่มตัวอย่าง

ขนาดกลุ่มตัวอย่าง

การวิจัยเชิงทดลอง

อย่างน้อยกลุ่มละ20 คน

การวิจัยเชิงสัมพันธ์

อย่างน้อย100 คน

การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple regresstion analysis)

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวแปรตามต้องใช้กลุ่มตัวอย่าง 10หน่วยต่อ1ตัวแปรในการวิจัย ขนาดกลุ่มตัวอย่างรวมอย่างน้อย 100คน

การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis)

ขนาดกลุ่มตัวอย่าง 5 หน่วยต่อ1ตัวแปร  ขนาดกลุ่มตัวอย่างรวมอย่างน้อย 100คน

การวิเคราะห์จำแนก (Discriminant analysis)

ขนาดกลุ่มตัวอย่าง 20 หน่วยต่อ1ตัวแปร ขนาดกลุ่มตัวอย่างรวมอย่างน้อย 100คน

ที่มา สุวิมล  ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย (2546)

 

                   3.3 การออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล (analysis design)

                           การออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการเลือกแบบการวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ เพื่อนำไปสู่การตอบคำถามตามวัตถุประสงค์และสมมติฐานการวิจัย แบบการวิเคราะห์ข้อมูลจึงแบ่งตามประเภทของข้อมูล คือ แบบการวิเคราะห์สำหรับข้อมูลเชิงคุณลักษณะ และแบบการวิเคราะห์สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ ดังต่อไปนี้

                           1)   การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative data analysis) เป็นการวิเคราะห์โดยใช้สถิติเข้าช่วย ประกอบไปด้วย

                                 1.1)   การเลือกใช้สถิติเชิงบรรยาย (descriptive statistics) ในการบรรยายลักษณะหรือความสัมพันธ์ของข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างหรือประชากร โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสเกลการวัดและวัตถุประสงค์การวิจัย

                                 1.2)   การเลือกใช้สถิติเชิงสรุปอ้างอิง (inferential statistics) เป็นการสรุปข้อมุลค่าสถิติจากกลุ่มตัวอย่างไปยังค่าพารามิเตอร์ของประชากร ซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย และข้อตกลงเบื้องต้นของสถิตินั้น ๆ

                            2)    การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative data analysis) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผล เทคนิคที่ใช้กันอยู่  ได้แก่ การเล่าเรื่อง (narrative) การบรรยายเปรียบเทียบ(comparative description) การวิเคราะห์เนื้อหา(content analysis) เป็นการจัดระเบียบข้อมูล การจัดกลุ่มข้อมูล การสังเคราะห์ข้อมูล การหารูปแบบจากข้อมูล การกำหนดคำสำคัญ (key word) ที่ใช้ในการจัดหมวดหมู่ข้อเท็จจริง การสรุปประเด็นสำคัญ และการแปลความหมายเพื่อตอบปัญหาการวิจัย

เกณฑ์ที่ใช้สำหรับแบบแผนการวิจัย

            จากจุดมุ่งหมายดังกล่าว ทำให้ได้เกณฑ์ (criteria) ที่ใช้สำหรับแบบแผนการวิจัยที่สำคัญ 3 ข้อด้วยกัน คือ

            1.   แบบแผนการวิจัยนั้น ทำให้ได้แนวทางการวิจัยที่จะได้คำตอบตรงกับประเด็นปัญหาที่ต้องการวิจัย

            2.   แบบแผนการวิจัยนั้นทำให้ได้ผลงานวิจัยที่มีความตรง ทั้งความตรงภายใน (internal validity) และความตรงภายนอก (external validity)

                  2.1    ความตรงภายใน (internal validity) หมายถึง การที่ผลของการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตาม (dependent variable) เป็นผลมาจากตัวแปรอิสระ (independent variable) ที่ใช้ในการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีผลมาจากตัวแปรอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดในการวิจัย งานวิจัยที่จะมีความตรงภายในสูง จะต้องมีความคลาดเคลื่อนของการวัดค่าตัวแปรต่ำ และจะต้องสามารถควบคุมตัวแปรเกิน และตัวแปรแทรกซ้อนที่จะมีอิทธิพลต่อตัวแปรตามได้เป็นอย่างดี (การออกแบบการวัดตัวแปรมีคุณภาพ) ตลอดจนมีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและแปลความหมายที่ถูกต้องและเหมาะสม (การออกแบบการวิเคราะห์มีคุณภาพ)

            ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตรงภายใน

                           1)   ภูมิหลังของกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรที่ทำการศึกษา (history) ความแตกต่างของตัวแปรที่มีตั้งแต่เริ่มแรกของการศึกษา ทำให้นักวิจัยไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าผลที่เกิดขึ้นในตัวแปรตามเป็นผลมาจากตัวแปรอิสระที่ศึกษา การแก้ไขทำได้โดยการเลือกตัวอย่างที่มีภูมิหลังใกล้เคียงกันมาศึกษา

                           2)   วุฒิภาวะ (maturation) การเจริญเติบโตของตัวอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในระหว่างการวิจัยเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผลการวิจัยแตกต่างไปจากที่ควรจะเป็น นักวิจัยจึงควรระมัดระวังการใช้ระยะเวลาการวิจัยที่ยาวนาน

                           3)   การทดสอบ (testing) เมื่อกลุ่มตัวอย่างรู้ตัวว่ากำลังถูกศึกษา การแสดงออกย่อมผิดไปจากปกติ ทำให้ผลการวิจัยผิดไปจากที่ควรจะเป็น

                           4)   เครื่องมือที่ใช้ในการวัดตัวแปร (instrument) ส่วนสำคัญของการใช้เครื่องมือ ประกอบด้วย ผู้ใช้เครื่องมือ ผู้ถูกเก็บข้อมูล ตัวอย่างในการศึกษา ความคลาดเคลื่อนจะเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้ใช้เครื่องมือขาดทักษะในการใช้ หรือเครื่องมือไม่ดี หรือผู้ตอบไม่ตั้งใจตอบ นักวิจัยควรพิจารณาทั้ง 3 ส่วนพร้อม ๆ กัน

                           5)   การคัดเลือกตัวอย่าง (selection) ความลำเอียงของผู้วิจัยในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นตัวแทนของประชากรที่ศึกษา และมีความแตกต่างกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น และส่งผลให้ไม่สามารถสรุปผลการวิจัยได้อย่างชัดเจน

                           6)   การขาดหายของตัวอย่าง (mortality) ในระหว่างการวิจัย นักวิจัยมักพบการขาดหายไปของตัวอย่าง เช่น ตาย ลาออก ทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด

                  2.2    ความตรงภายนอก (internal validity) หมายถึง การที่ผลการวิจัยสามารถสรุปผลอ้างอิงกลับไปยังเนื้อหา สถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันและประชากรได้อย่างถูกต้อง ในกรณีของการสรุปอ้างอิงกลับไปยังประชากร หมายความว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาจะต้องเป็นตัวแทนที่ดีของประชากร (การออกแบบการสุ่มตัวอย่างมีคุณภาพ) มีการเลือกใช้สถิติสรุปอ้างอิงที่เหมาะสม และแปลความหมายของการวิเคราะห์ทางสถิติได้อย่างถูกต้อง (การออกแบบการวิเคราะห์มีคุณภาพ

                           ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตรงภายนอก

                           1)   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการคัดเลือกตัวอย่างกับการใช้วิธีการทดลอง (interaction effect of selection and treatment) เกิดจากการที่กลุ่มตัวอย่างมีความแตกต่างในการรับวิธีทดลองที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้วิจัยไม่สามารถสรุปผลกลับไปยังประชากรได้อย่างสมบูรณ์

                           2)   ปฏิกิริยาร่วมระหว่างการทดสอบครั้งแรกกับวิธีทดลอง (interaction effect of testing and treatment) เกิดจากผลการสอบครั้งแรกที่มีต่อวิธีการทดลองและการสอบในครั้งหลัง

                           3)   ปฏิกิริยาจากการจัดสภาพการทดลอง (reaction from experiment situation) เป็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการจัดสภาพการทดลอง ทำให้ลักษณะบางอย่างไม่เกิดขึ้นในภาพทั่วไป

            การที่งานวิจัยมีความตรงภายนอกได้จะต้องเป็นผลมาจากความตรงภายในของงานวิจัยนั้นเสียก่อน จึงจะสามารถนำผลสรุปอ้างอิงต่อไปได้ และการสรุปอ้างอิงผลการวิจัยที่ดี ไม่ได้หมายความถึงการสรุปอ้างอิงไปยังกลุ่มประชากรเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจรวมถึงการสรุปอ้างอิงไปยังเนื้อหา และสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันในบางกรณีได้อีกด้วย

            3.   แบบแผนการวิจัยนั้น ต้องมุ่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสมและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนได้ประโยชน์เหมาะสมกับเหตุการณ์และเวลา

สิ่งที่ควรคำนึงถึงในแบบแผนการวิจัย

            แบบแผนการวิจัยจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

            1) วัตถุประสงค์การวิจัย  การวิจัยครั้งนี้ต้องการบรรยายสภาพ หรืออธิบายความสัมพันธ์ หรืออธิบายผลระหว่างตัวแปร หรือต้องการทำนาย หรือต้องการควบคุม ผู้วิจัยจะต้องออกแบบการวิจัยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว

            2)   สมมติฐานการวิจัยและตัวแปรที่เกี่ยวข้อง  การวิจัยทางสังคมศาสตร์มีการตั้งสมมติฐานการวิจัย ซึ่งเป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาวิจัยอย่างมีเหตุมีผล จากนั้นจึงทำการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์มาวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว สมมติฐานการวิจัยนี้ไม่ใช่สิ่งที่นักวิจัยคิดขึ้นมาเอง แต่จะต้องเป็นผลที่ได้หลังจากที่นักวิจัยได้ทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด จนเห็นแนวทางว่าผลการวิจัยน่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ทั้งวัตถุประสงค์การวิจัยและสมมติฐานจะทำหน้าที่เป็นโจทย์ในการวิจัย หากผู้วิจัยกำหนดโจทย์ไม่เหมาะสม ขึ้นตอนทีเหลือในแบบแผนการวิจัยก็จะผิดพลาดไปด้วย เช่นเดียวกับตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการวิจัยที่ผู้วิจัยจะต้องมีความละเอียด รอบคอบในการกำหนดตัวแปร ความผิดพลาดของการกำหนดตัวแปรจะส่งผลกระทบต่อไปยังการวัดตัวแปรและการเลือกใช้เครื่องมือได้ ซึ่งจะเป็นได้อย่างชัดเจนว่า การทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนที่ต้องการความพิถีพิถันในการวิเคราะห์เอกสาร หากผู้วิจัยต้องการโจทย์ที่ดีและถูกต้องในการทำวิจัย

            3)   ข้อจำกัดในการวิจัย ได้แก่

                    3.1) งบประมาณ ในกรณีที่มีงบประมาณจำกัด การวางแผนจึงต้องพิจารณาว่าจะลดหรือเพิ่มงบประมาณส่วนใด โดยให้กระเทือนต่อผลของการวิจัยน้อยที่สุด

                  3.2)   เวลาการทำงานวิจัย สถานการณ์ทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา งานวิจัยที่จะมีประโยชน์ต้องเป็นงานวิจัยที่ให้ผลในช่วงเวลาที่เหตุการณืกำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้เวลายังเข้ามามีบทบาทในงานวิจัยในกรณีที่การวิจัยนั้นต้องมีการติดตามผลเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร จึงจะเห็นผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของเวลาที่ใช้ในการวิจัยด้วย

                  3.3)   บุคลากร ความพร้อมของบุคลากรในงานวิจัย จะต้องพิจารณาทั้งความรู้และจำนวนบุคลากรที่ร่วมทำงานวิจัย เพราะส่วนนี้อาจเป็นส่วนที่ทำให้ต้องลดขอบเขตของการวิจัยลงไปได้

 

สรุป

            แบบแผนการวิจัย (research design) เป็นการกำหนดรูปแบบ ขอบเขต และแนวทางการวิจัย เพื่อให้ได้คำตอบหรือข้อความรู้ตามปัญหาการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ได้คำตอบที่มีความตรงภายใน (internal validity) ความตรงภายนอก (external validity) และประหยัดทรัพยากร องค์ประกอบสำคัญของแบบแผนการวิจัยมี 3 ส่วน ได้แก่ การออกแบบการวัดตัวแปร (measurement design) การออกแบบการสุ่มตัวอย่าง (sampling design) และการออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล (analysis design)  การกำหนดแบบแผนการวิจัยที่ดี จะทำให้ผู้วิจัยมีทิศทางและสามารถนำมาใช้เขียนระเบียบวิธีวิจัยในโครงการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

………………………………………………………………..

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

นงลักษณ์ วิรัชชัย.2543. พรมแดนความรู้ด้านการวิจัยและสถิติ. ชลบุรี:วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ

         มหาวิทยาลัยบูรพา.

บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์. 2540.ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่7. กรุงเทพมหานคร :โรง

        พิมพ์และปกเจริญผล.

สุวิมล  ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย.2546.แนวทางการให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์.กรุงเทพมหานคร :

        ศูนย์ตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย.

สุวิมล ติรกานันท์. 2543.ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์: แนวทางสู่การปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่2.

        กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Balnaves,M.,and Caputi,P. 2001.Introduction to Quantitative Research Methods. London: Sage 

          Publications.

Blaikie,N. 2000.Designing Social Research. Oxford: Blackwell Publishers Ltd.

Cohen ,L.,and Manion,L. 1989. Research Method in Education.3rdedition.London:Routledge.

Kerlinger,F.N.,and Lee,H.B. 2000. Foundations of Behavioral Research.4th edition.U.S.A.:Thomson 

          Learning,Inc.

Kumar,R. 1996. Research Methodology. London: Sage Publications.