บทที่ 7
การเขียนโครงร่างการวิจัย

ในการเขียนบทนำนั้น เป็นการกำหนดพื้นฐาน หรือการวางแนวทางในผู้อ่านได้เข้าใจในขอบเขต ทิศทาง ที่มา และความสำคัญของงานวิจัย ซึ่งจะเขียนไว้เป็นตอน ๆ ดังนี้ คือ

1. ความเป็นมา และความสำคัญของปัญหา (Background and Significance of the Study)
2. ปัญหาของการวิจัย (Statement of the Problems)
3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Purposes of the Study)
4. สมมุติฐานของการวิจัย (Hypotheses of the Rescarch)
5. ขอบเขต และข้อจำกัดของการวิจัย (Delimitation and Limitation of the Study)
6. ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption)
7. วิธีการดำเนินการวิจัยโดยย่อ (Rescarch Procedure of the Study)
8. ประโยชน์ที่จะได้รับ (Practical Application)
9. นิยามศัพท์ (Definition of Terms)

ความเป็นมา และความสำคัญของปัญหา
การเขียนบทนำ เป็นการสร้างฐานให้ผู้อ่านวิจัยทราบ และเข้าใจเรื่องราวของงานวิจัยนั้นโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มค้นว่าผู้วิจัยนั้นจะรายงานเรื่องอะไร ปัญหาที่น่าสนใจมีอะไร มีเหตุผลของการวิจัย และการรายงานอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบสาระของการวิจัยมากที่สุด ในการวิจัยนั้น ผู้วิจัยจะต้องมีเหตุผลในการทำวิจัย มีความเข้าใจถึงตัวปัญหา ความสำคัญของปัญหา ขอบข่ายทฤษฎีที่ศึกษา ผลงานของการศึกษาอื่น ๆ วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การสืบค้น และมีหลักฐานยืนยันว่าเรื่องที่กำลังทำอยู่นั้นมีความสำคัญ และสัมพันธ์ ในการตอบคำถามที่ต้องการอย่างไร
ในเรื่องความเป็นมา และความสำคัญของปัญหาในที่นี้จะกล่าวถึง แนวทางการเรียนที่ควรจะปรากฎอยู่ในรายงานการวิจัยโดยทั่ว ๆ ไป ดังนี้

1. แนะปัญหาที่กำลังค้นคว้า เป็นการท้าวภูมิหลัง ความเป็นมา มีการจัดลำดับให้ชัดเจนของเรื่องราว แหล่งกำเนิด ผู้ค้นพบ การสืบทอดของปัญหา ที่มาของการวิจัย โดยใช้เหตุ และผลมาสนับสนุนความคิดต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อชี้แนะให้เห็นความจำเป็น และความสำคัญของการทำวิจัย เรื่องที่อ้างอิง และสนับสนุนควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเท่านั้น

2. กล่าวถึง จุดสนใจของการศึกษาค้นคว้า และมูลเหตุของการทำวิจัย ที่ผู้วิจัยจะทำการศึกษาค้นคว้า เช่น เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในขณะนั้น หรือเป็นเรื่องราวที่ยังมิได้รับคำตอบครบถ้วน หรือขาดรายละเอียด

3. มีการเขียนบรรยายถึงความจำเป็นในการศึกษา และการได้รับคำตอบจากงานวิจัย มีคุณประโยชน์ และมีคุณค่าอย่างไร

4. กล่าวถึงความต้องการ และยืนยัน หรือลบล้างความเปลี่ยนแปลงของสภาพ และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เคยได้มีการศึกษามาแล้ว ได้ใช้หลักการ และเหตุผลในการสนองตอบ และหักล้างแนวความคิด

5. ในการเขียนนำเรื่องความเป็นมา และความสำคัญของปัญหาอาจใช้วิธีต่อไปนี้

5.1 มีการเขียนจากหลักการ และนำเข้าสู่เรื่องเฉพาะ (Deductive Method)
5.2 เขียนจากเรื่องเฉพาะ แล้วดำเนินไปถึงเรื่องทั่ว ๆ ไป (Inductive Method)

อย่างไรก็ตามในการเขียนนำในเรื่องความเป็นมานั้น จะใช้แบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และการวางแผนงานของผู้วิจัย แต่อย่างไรก็ตามผู้วิจัยควรหาหลักฐานในการยืนยันมาสนับสนุนข้อมูลทุกขั้นตอน และพยายามทำให้ผู้อ่านงานวิจัยรู้เรื่อง และติดตามงานวิจัยตลอดทั้งเรื่อง

แนวการเขียนประเด็นปัญหาในการทำการวิจัย
ในการทำวิจัยทุกชนิด จะต้องมีปัญหาในการวิจัยทั้งสิ้น ปัญหาของงานวิจัยนั้นมีลักษณะคล้ายวัตถุประสงค์ของการวิจัย แต่กว้างกว่าข้อความที่เขียนมักเริ่มว่า

" การวิจัยนี้มีจุดสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับปัญหา .................."

ประเด็นปัญหาของการทำวิจัยคือ จุดมุ่งหมายของการวิจัย ซึ่งปกติจะเขียนเป็นประโยคบอกเล่า นอกจากมีรายละเอียดเป็นปัญหาย่อย ๆ จึงจะเขียนเป็นประโยคคำถามเป็นข้อ ๆ ต่อไป

แนวทางการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย
การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยนั้น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการวิจัย เพราะเป็นตัวกำหนดทิศทาง เงื่อนไข และเรื่องราวโดยเฉพาะ โดยเน้นถึงผลที่จะได้รับในเชิงปฎิบัติได้จริง ดังนั้นผู้วิจัยจะต้องกำหนดแนวทางที่ถือปฎิบัติได้จริง วัดได้ ตรวจสอบได้ โดยการกล่าวถึงตัวแปรข้อมูล ตัวอย่างประชากร ตัวอย่างงาน มิใช่กล่าวข้อเสนอแนะ หรือประโยชน์ การวัตถุประสงค์ เป็นการเจาะจงถึงหลักการเนื้อแท้ของเรื่องราวที่ผู้วิจัยดำเนินการต่อไป เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ความมุ่งหมายของการวิจัยจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้วิจัยจะทำอะไร อย่างไร คาดว่าจะได้อะไรจากการวิจัย เป็นการแสดงเจตจำนงที่จะหาคำตอบในขอบเขตจำเพาะ อย่าเขียนเลยเถิดออกไปจากแนวทาง ในการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ ไม่ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาของงานวิจัย

แนวการเขียนสมมุติฐานการวิจัย
สมมุติฐานของการวิจัยเป็นข้อมูลชั่วคราว (Tentative Assumption) ที่ได้มาจากความรู้ ทฤษฏี หรือความคิดในเรื่องที่ทำการค้นคว้าวิจัย สมมุติฐานยังเป็นข้อความที่ตั้งขึ้นมา เพื่อแสดงความคิดคาดหวังในเรื่องของการวิจัยว่าจะเป็นอย่างไร และใช้เป็นแนวทางอธิบายให้เห็นถึงข้อเท็จจริง เงื่อนไข ของสิ่งต่าง ๆ ที่สังเกตมาได้ และเป็นแนวทางในการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลได้ตรงเป้าหมาย ในการเขียนสมมุติฐานการวิจัยมีหลักการดังนี้

1. เขียนให้เฉพาะเจาะจง และสอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย และไม่กว้างจนเกินไป
2. เขียนสมมุติฐานในเรื่องที่สามารถทดสอบได้ โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์
3. ใช้คำที่ชัดเจน กะทัดรัด เข้าใจง่าย
4. เขียนให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวแปรในสิ่งที่ศึกษาวิจัย
5. ถ้าเป็นเรื่องซ้ำซ้อน ควรแยกออกเป็นสมมุติฐานย่อย ๆ ก็ได้

ในการสร้างสมมุติฐานมี 2 แบบ ดังนี้

1. แบบใช้เหตุผล หรือนิรภัย (Logical หรือ Deductive)
โดยการเขียนจากหลักการ หรือทฤษฎี ที่ได้ศึกษาก่อน และตั้งเป็นสมมุติฐาน ซึ่งผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบด้วยว่า สมมุติฐานที่สร้างขึ้นมานั้น สอดคล้องกับแนวความคิดทฤษฎีหรือไม่ ข้อสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ได้สนับสนุนสมมุติฐาน แสดงว่าสมมุติฐานนั้นใช้ไม่ได้
2. แบบอาศัยข้อเท็จจริง หรืออุปนัย (Emperical หรือ Inductive)
การสร้างสมมุติฐานแบบนี้ต้องอ้างอิงการวิจัยอื่น ๆ สังเกตข้อเท็จจริง พฤติกรรม แนวโน้ม ความสัมพันธ์ของสิ่งที่ปรากฏขึ้น แล้วจึงตั้งสมมุติฐาน

สมมุติฐานไม่ควรจะเป็นเรื่องที่คิดเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่เอง และไม่ควรเขียนขึ้นภายหลัง เมื่อรู้ลักษณะโดยตลอดของข้อมูลแล้ว สมมุติฐานควรจะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของนักวิจัย ในการสังเคราะห์ความคิดเกี่ยวกับปัญหา
แนวการเขียนขอบเขต และข้อจำกัดของงานวิจัย
ขอบเขตของการวิจัยนั้น เป็นการกำหนดข้อจำกัดที่แน่ชัดว่า ผู้วิจัยจะทำการวิจัยในขอบเขตที่กว้าง และลึกซึ้งเพียงใด มีอะไรบ้างถ้ามีความสัมพันธ์กัน ขอบเขต และข้อจำกัดของการวิจัยมีลักษณะแตกต่างกันดังนี้
ขอบเขตการวิจัย (Delimtation)
เป็นการกำหนดขอบเขต ที่จะทำงานวิจัยในปริมาณที่ต้องการ เป็นการจัดล้อมวงของงานวิจัยให้แคบลง โดยมุ่งจุดสนใจไปอยู่ที่ตัวปัญหาเฉพาะเรื่อง กลุ่มประชากรตัวอย่าง และระดับความเชื่อถือให้อยู่ในขอบเขตที่สามารถทำการวิจัยได้
ข้อจำกัดของการวิจัย (Limitation)
เป็นข้อคาดการณ์บางสิ่งที่อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่อาจควบคุมได้ในงานวิจัย เช่น ข้อมูล แหล่งข้อมูล วิธีการที่ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมได้ในการวิจัย ทำให้การศึกษานั้นไม่สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

แนวการเขียนข้อตกลงเบื้องต้น
การเขียนข้อตกลงเบื้องต้นนั้น ผู้วิจัยจะต้องถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญ และชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของงานวิจัยที่เป็นความจริง เป็นพื้นฐานความเชื่อเบื้องต้น และเป็นที่ยอมรับกัน และไม่ต้องการพิสูจน์ โดยอาศัยการใช้หลักฐาน และการยืนยันจากข้อมูลเบื้องต้น หรือทฤษฎี ข้อตกลงเบื้องต้นนั้น มักต้องอาศัยข้อเท็จจริง ความเชื่อ ทฤษฎี กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ข้อผิดพลาดที่บังเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หรือสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย เป็นต้นว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย มีความเหมือน ๆ กันด้านใดบ้าง หรือแตกต่างอย่างไรบ้าง แล้วตกลง หรือวางเงื่อนไขตามความเป็นจริงไว้เสียก่อน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรระลึกถึงคือ ไม่ควรตกลงเกินขอบเขตที่ควรจะตกลงได้ เช่น ตกลงไว้ก่อนว่า เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีความเชื่อถือได้โดยปกติ แล้วการเขียนข้อตกลงเบื้องต้นนั้น อาจใช้แนวทางการอ้างอิงไว้ในข้อตกลงเบื้องต้นด้วยคือ

1. ความมีเหตุผล
2. หลักฐานข้อเท็จจริง
3. แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

ในการเขียนข้อตกลงเบื้องต้นที่น่าเชื่อถือได้นั้น ก็ควรจะชี้แจงให้เหตุผลอยู่ในตัวของมันเอง อย่างน้อยหนึ่งใน 3 อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่เชื่อถือไม่ได้
แนวทางการดำเนินการวิจัย

วิธีการดำเนินการวิจัยในบทนำนี้จะต้องเขียนได้อย่างย่อ ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นแนววิชาการ ดำเนินงานวิจัยอย่างสรุปว่า จะทำอะไรบ้าง มีลำดับขึ้นตอนการดำเนินงานวิจัยอย่างไร กลุ่มตัวอย่างคือใคร มีลักษณะสำคัญอะไรบ้าง เปรียบเทียบตัวแปรหรือไม่ ใช้เวลาในการวิจัยนานเท่าไร เครื่องมือที่ใช้มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือเพียงใด จะต้องกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ กัน
วิธีการดำเนินการ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ตัวอย่าง เป็นต้น
แนวการเขียนประโยชน์ที่จะได้รับ
คือการเขียนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการนำผลการวิจัยไปใช้ และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง สถาบัน หน่วยงาน ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยคำนึงถึงว่ามีใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์ดังกล่าว มากน้อยเพียงใด มีข้อจำกัดหรือไม่ มีเงื่อนไขข้อกำหนดที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษอย่างไร
แนวการเขียนคำนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย
นิยามศัพท์ คือ คำศัพท์ที่ต้องการคำอธิบาย และสื่อความหมายระหว่างผู้ทำวิจัย และผู้อ่านให้มีความหมายตรงกัน โดยเฉพาะคำที่มีความหมายหลากหลาย ปรกติแล้วนิยามศัพท์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การใช้นิยามเชิงแนวความคิด (Conceptual Definition) และการให้นิยามเชิงหน้าหน้าที่เฉพาะ (Functional Definition)
การให้นิยามเชิงแนวความคิด เป็นการให้ความหมายของคำศัพท์เกี่ยวกับแนวความคิดเชิงวิชาการ
การให้นิยามศัพท์เชิงหน้าที่เฉพาะ เป็นการให้ความหมายของคำศัพท์ เกี่ยวกับวิธีการที่จะเสนอแนวความคิดไปใช้ในเรื่องราวเฉพาะในรายวิชา ซึ่งการให้ความหมายของคำศัพท์ในเชิงปฎิบัติการควรถือเกณฑ์ดังนี้

1. ให้บุคคลอื่น ๆ รู้ความหมายของค่าเท่ากับผู้วิจัย
2. คำที่ใช้ต้องมีความหมายแน่นอน และตรวจสอบได้
3. ต้องต่างจากคำอื่น ๆ อย่างเด่นชัด และไม่ซ้ำซ้อน
4. ต้องสอดคล้องกับเรื่องที่ทำการวิจัย
5. ต้องครอบคลุมสภาวะ และเงื่อนไขของวิชาการทำการวิจัย
6. คัดเลือกเพียงคำหลัก ๆ และเป็นสามัญโดยเฉพาะ สำหรับคำที่มีความหมายอ่างควรระบุให้ชัดเจน เพื่อความเข้าใจร่วมกัน
7. อย่าใช้ศัพท์ขาดที่ต้องแปลความอีก

ถาม-ตอบเกี่ยวกับ ข้อตกลงเบื้องต้น ข้อจำกัด ขอบเขต ของการวิจัย

คำ ถาม อยากให้ยกตัวอย่างการเขียนข้อตกลงเบื้องต้นที่ดี และอธิบายว่าอะไรบ้างที่ควรกำหนดเป็นข้อตกลงเบื้องต้น อะไรบ้างที่ไม่ควรกำหนดเป็นข้อตกลงเบื้องต้น

คำ ตอบ ข้อตกลงเบื้องต้น (basic assumption) ข้อจำกัด (limitation) ขอบเขต (scope) และกรอบความคิด (conceptual framework) มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การที่จะกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของขอบเขตการวิจัย กรอบความคิดการวิจัย และข้อจำกัดของการวิจัย

กรอบความคิดสำหรับการวิจัย หมายถึง โมเดลแสดงความสัมพันสธ์ตามทฤษฎีระหว่างตัวแปรที่นักวิจัยศึกษา นักวิจัยสร้างกรอบความคิดจากการทบทวนวรรณคดี ทฤษฎี และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นภาพจำลองหรือตัวแทนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะองค์ความรู้ในสา ขานั้น ยังมีไม่พอที่จะสร้างกรอบความคิดให้สมบูรณ์ หรือเพราะนักวิจัยกำหนดขอบเขตการวิจัยไว้ไม่กว้างเท่าที่ควรจะเป็นตามสภาพความเป็นจริง ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างกรอบความคิดกับสภาพที่เป็นจริงนั้นหากไม่สามารถทำได้ / ไม่สามารถแสดงได้ / ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความสอดคล้องกัน แต่มีความสำคัญต่อกรอบความคิด ส่วนนั้นคือสิ่งที่ต้องกำหนดเป็นข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างกรอบความคิดกับสภาพที่เป็นจริงนั้น หากสามารถทำได้ พิสูจน์ได้ แสดงว่ากรอบความคิดและสภาพที่เป็นจริงสอดคล้องกัน แต่นักวิจัยไม่ได้ทำ ( อาจเนื่องจากกำหนดขอบเขตการวิจัยไว้แคบ ) ส่วนนั้นคือสิ่งที่ต้องกำหนดเป็นข้อจำกัดของการวิจัย นอกจากนี้สิ่งที่กำหนดเป็นข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย ถ้าเป็นข้อความที่ขาดเหตุผลสนับสนุน อาจทำให้เกิดส่วนแตกต่างระหว่างกรอบความคิด และสภาพที่เป็นจริงที่ต้องกำหนดเป็นข้อจำกัดของการวิจัย นอกจากนี้สิ่งที่กำหนดเป็นข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย ถ้าเป็นข้อความที่ขาดเหตุผลสนับสนุน อาจทำให้เกิดส่วนแตกต่างระหว่างกรอบความคิด และสภาพที่เป็นจริงที่ต้องกำหนดเป็นข้อจำกัดของการวิจัยด้วย

ตัวอย่างเช่น นักวิจัยทำการวิจัยเรื่อง “ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ” เมื่อทบทวนวรรณคดีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กรอบความคิดสำหรับการวิจัยควรประกอบด้วยกลุ่มตัวแปรต้น 4 กลุ่มคือ ปัจจัยด้านนักเรียน ครอบครัว ครูและโรงเรียน หากนักวิจัยต้องการกำหนดขอบเขตการวิจัยให้แคบ สนใจศึกษาเฉพาะปัจจัยด้านนักเรียนและครอบครัว จะมีวิธีดำเนินการได้ 3 แนว

แนวทางแรก กำหนดขอบเขตว่าจะศึกษาเฉพาะปัจจัยด้านนักเรียนและครอบครัว กรอบความคิดมีตัวแปรต้น 2 กลุ่ม กรณีนี้ควรกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นว่าอิทธิพลจากปัจจัยด้านครูและโรงเรียนคงที่ แต่เนื่องจากไม่มีทฤษฎี หลักฐานรับรอง ข้อตกลงเบื้องต้นนำไปสู่ความจำกัดของการวิจัย ซึ่งต้องกำหนดว่าผลการวิจัยอาจจะไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากข้อตกลงเบื้องต้นค่อนข้างอ่อน ตามแนวทางนี้นักวิจัยอาจจะเลี่ยงไม่กำหนดขอบเขต แต่เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “ ปัจจัยด้านนักเรียนและครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ” ก็ได้

แนวที่สอง นักวิจัยนำกรอบความคิดตามทฤษฎีซึ่งมีตัวแปรต้น 4 กลุ่ม มาปรับเป็นกรอบความคิดสำหรับการวิจัยให้มีตัวแปรต้น 2 กลุ่ม และใช้วิธีวางแผนการวิจั ย ควบคุมอิทธิพลจากปัจจัยด้านครูและ โรง เรียนที่ไม่ต้องการศึกษา เช่น ใช้วิธีขจัดออก (elimination) โดยการกำหนดขอบเขตการวิจัย เลือกศึกษาเพียงโรงเรียนเดียว ห้องเรียนเดียว นักเรียนทุกคนในกลุ่มตัวอย่างจะเรียนจากครูคนเดียวกัน และเรียนโรงเรียนเดียวกัน แนวทางนี้นักวิจัยมีทางเลือกได้อีก 3 แบบ แบบแรก นักวิจัยกำหนดเป็นข้อจำกัดของการวิจัยว่าผลการวิจัยใช้ได้กับสภาพโรงเรียนที่ศึกษา มีข้อจำกัดที่จะใช้อ้างอิงไปสู่โรงเรียนอื่น แบบที่สอง นักวิจัยกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นว่าอิทธิพลจากปัจจัยด้านครูและโรงเรียนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีลักษณะเป็นแบบเดียวกันทุกโรงเรียน แบบนี้ถ้าไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน ควรต้องระบุข้อจำกัดของการวิจัยด้วยว่า จะใช้ได้บนพื้นฐานของข้อตกลงเบื้องต้นนี้เท่านั้น

แนวที่สาม นักวิจัยนำกรอบความคิดตามทฤษฎี ซึ่งมีตัวแปรต้น 4 กลุ่ม มาใช้ในการวิจัยและวางแผนควบคุมอิทธิพลจากปัจจัยด้านครูและโรงเรียนที่ไม่ต้องการศึกษา เช่น ใช้วิธีนำมาวิจัย (inclusion) โดยเลือกศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ครูวุฒิปริญญาบัณฑิตศึกษา ครูวุฒิปริญญาตรี ต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นต้น แล้วศึกษาอิทธิพลจากปัจจัยด้านนักเรียนและครอบครัวในแต่ละกลุ่มโรงเรียน และกลุ่มครูที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตามแนวทางนี้จะไม่ต้องกำหนดข้อจำกัดของการวิจัยว่าผลการวิจัยนี้สรุปได้เฉพาะอิทธิพล จากปัจจัยด้านนักเรียนและครอบครัวในแต่ละกลุ่มโรงเรียนและกลุ่มครู แต่มิได้ภาพรวมของอิทธิพลที่ต้องการศึกษาตามปัญหาวิจัย

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่าการกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นทำได้แตกต่างกันตามการกำหนดกรอบความคิดสำหรับการวิจัย ขอบเขตการวิจัย และข้อจำกัดของการวิจัย นักวิจัยที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน แต่ใช้แผนแบบการวิจัยต่างกัน ใช้กรอบความคิดสำหรับการวิจัยต่างกัน จะมีข้อตกลงเบื้องต้นไม่เหมือนกัน

สำหรับวิธีการเขียนข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย เมื่อได้กำหนดข้อตกลงเบื้องต้นนั้นแล้ว ควรจะต้องแสดงเหตุผล หลักฐานอ้างอิง สนับสนุนให้ผู้อ่านยอมรับว่าข้อตกลงเบื้องต้นนั้น ๆ เป็นความจริง รายละเอียดวิธีการเขียนขึ้นอยู่กับลีลา (style) การเขียนของนักวิจัยแต่ละคน ควรอ่านและศึกษาจากงานวิจัยในวารสารทางวิชาการที่มีคุณภาพ

ตัวอย่างที่ไม่ดีที่มักพบเสมอในการเขียนข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย ได้แก่ “ นิสิตตอบข้อสอบด้วยความตั้งใจ ” “ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นตัวแทนที่ดีของกลุ่มประชากร ” เป็นต้น ข้อความคิดดังกล่าวนี้ไม่ใช่ข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย แต่เป็นสิ่งที่นักวิจัยต้องดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือสุ่มตัวอย่าง และใช้มาตรการแสดงให้เห็น พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า “ นิสิตตอบข้อสอบด้วยความตั้งใจ ” จริง ๆ มีวิธีการสุ่มตัวอย่างที่เชื่อถือได้ว่า “ ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดี ” จริง ๆ

( จาก นงลักษณ์ วิรัชชัย , จากสาส์นการวิจัย ฝ่ายวิจัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 2 ฉบับที่ 5, 2537)