การประกันคุณภาพกับหน่วยงานราชการ

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน

ประเทศไทยมีการบริหารงานราชการมานานและได้เริ่มพยายามปฏิรูประบบราชการ เช่น การลดจำนวนข้าราชการลง การปรับวิธีทำงานของข้าราชการให้เลิกเน้นการปฏิบัติตามระเบียบแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องการให้บริการแก่ประชาชน

การปฏิรูประบบราชการเป็นสิ่งที่เหมาะสมและสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการคนที่มีคุณภาพมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากข้าราชการจะรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนแล้ว การแข่งขันระดับประเทศยิ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าข้าราชการยังคงทำงานแบบเดิม ก็จะทำให้ประเทศไทยยิ่งถอยหลังไป และเกิดช่องว่างระหว่างวิธีทำงานของภาคเอกชนกับภาครัฐมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นการประกันคุณภาพงานของ หน่วยงานราชการจึงเป็นเรื่องที่หัวหน้าหน่วยงานราชการต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมุ่งคำถามที่ว่าหน่วยงานให้ผลงานเชิงคุณภาพมากน้อยเพียงใด สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการตั้งหน่วยงานดังกล่าวหรือไม่

การให้ความสำคัญ เรื่องการประกันคุณภาพของหน่วยงาน ที่ทำกันอยู่ในบางหน่วยงานเริ่มชัดเจนขึ้น แต่น่าจะผิดทิศทาง เช่น การใช้ระบบ ISO เข้ามาทำเรื่องประกันคุณภาพ แทนการคิดระบบประกันคุณภาพที่เป็นของตนเอง

ระบบ ISO เป็นระบบที่ดี แต่เป็นระบบของต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศมีภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การประหยัดเงินไว้ในประเทศ น่าจะเป็นทางเดียวที่ต้องทำ การที่หน่วยงานต่างๆ หลายกระทรวงจ่ายเงินเพื่อให้เกิดระบบการประกันคุณภาพ โดยการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศเข้ามาวางระบบประกันคุณภาพ ตลอดจนการเสียเงินเพื่อให้บริษัทมาประเมินแล้วได้ใบประกาศติดไว้ที่หน้าหน่วยงานว่าได้ ISO 9000 – 14000 นั้น แต่ละหน่วยงานราชการต้องใช้เงินจำนวนมาก และเป็นเงินจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น เป็นการใช้เงินในทางที่ไม่สอดคล้องกับภาวะของประเทศ

ประเทศไทยน่าจะคิดระบบประกันคุณภาพของตนเองได้ โดยสร้างระบบที่สอดคล้องกับคนไทย แต่มีความเป็นสากล พอที่จะนำไปสู่การขายระบบนี้สู่ต่างประเทศ เพื่อนำเงินตามจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยให้ได้

ในวงการอุดมศึกษา ได้มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบประกันคุณภาพของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้ระบบ SUPREME 2000 ซึ่งย่อมาจาก Srinakarinwiroth University Planning Registration Management Etc. คศ. 2000 หรือ

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มมจร) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ พัฒนาระบบชื่อ Input Process Output Impact มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขอนแก่นต่างก็พัฒนาระบบประกันคุณภาพของตนเองออกมา เป็นต้น ซึ่งต่างเป็นแนวโน้มที่ดีว่าประเทศไทย จะได้ยืนอยู่บนฐานคุณภาพที่ตนพัฒนาขึ้น และเป็นฐานที่สามารถแข่งกันกับประเทศอื่นๆ ได้ ตลอดจนประกาศให้โลกรู้ว่า คนไทยก็มีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น อันจะนำมาซึ่งความภูมิใจในชาติไทย

ผู้เขียนจึงเรียกร้องให้หน่วยงานราชการไทย เลิกคิดและซื้อระบบประกันคุณภาพจากต่างประเทศมาใช้กับคนไทย หากแต่หันมาพัฒนาระบบของเราเอง และนำไปขายต่างประเทศเพื่อเกียรติภูมิของประเทศไทยและช่วยกันกู้เศรษฐกิจด้วย