การจัดการเรียนรู้และกระบวนการสอนในระดับชั้นอนุบาล

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม คณะครุศาสตร์

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการในด้านวิชาการของคณะครุศาสตร์

2. เพื่อเป็นสถานศึกษา วิจัย ทดลอง ค้นคว้าหาความรู้และแนวปฏิบัติที่จะปรับปรุง ให้วิชาครุศาสตร์ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

3. เพื่อเป็นแหล่งวิทยาการทางการจัดและการดำเนินการศึกษาตลอดจนการเรียนการสอน ในระดับปฐมวัย ให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ

แนวดำเนินการสอน

แนวดำเนินการสอนขั้นอนุบาลเด็กในช่วงวัย 3 - 6 ปี เป็นช่วงแห่งการเสริมสร้างบุคลิกภาพและทัศนคติที่สำคัญที่สุด เป็นช่วงที่สติปัญญาของเด็กเจริญเต็มที่ ดังนั้น ประสบการณ์ที่เหมาะสมสำหรับเด็กช่วงนี้ควรจะเป็นประสบการณ์ที่เป็นรากฐาน สำคัญแก่การดำรงชีวิตในอนาคตมากกว่าการมุ่งการสอนหนังสือ แนวดำเนินการสอนในระดับชั้นอนุบาลของโรงเรียนสาธิตจุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จึงมุ่งให้เด็กมีรากฐานที่มั่นคงทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ สังคม จริยธรรมและพื้นฐานทางเทคโนโลยี พร้อมทั้งเน้นการอบรมและปลูกฝังมโนธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกเด็กให้มีคุณสมบัติ หลายประการ เช่น

ช่างสังเกต

- ให้มีความสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว

- ศึกษารายละเอียดในสิ่งที่พบเห็น

- ซักถามข้อสงสัย

- มีหลักในการกำหนดจดจำ

ใช้สมอง

- คิดค้นหาเหตุผลประกอบเสมอ

- เปรียบเทียบสิ่งต่างๆ อย่างมีหลัก

- รู้จักเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสมดีงาม

เป็นตัวของตัวเอง

- ทำในสิ่งที่ตนเองคิดและไตร่ตรอง

- ไม่คล้อยตามผู้อื่นโดยง่าย

- มีความมั่นใจในตนเอง

- นับถือตนเองและเคารพในสิทธิของผู้อื่น

 
กลุ่มสาระการเรียนรู้

เวลาเรียนทั้งหมดสัปดาห์ละ 30 คาบ แบ่งตามวิชาเรียนหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้

ไทย / ทักษะ คณิตศาสตร์ / ทักษะ วิทยาศาสตร์ / ทักษะ
สังคมศึกษา / ทักษะ การเตรียมความพร้อม / ภาษาอังกฤษ / เทคโนโลยี ดนตรี , นาฎศิลป์ , กิจกรรมเคลื่อนไหวเข้าจังหวะ
พลศึกษา , สุขศึกษา ศิลปศึกษา / การงานอาชีพ การเล่นอิสระตามมุม / กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

 

 

กิจกรรมประจำวัน

กิจกรรมประจำวันของนักเรียน

8.00 - 8.30 น. เข้าแถว เคารพธงชาติ, สวดมนต์
8.30 - 10.00 น. เริ่มกิจกรรมตอนเช้า
10.00 - 11.00 น. กิจกรรมตอนสาย
11.00 - 11.45 น. พักรับประทานอาหาร
12.00 - 14.30 น. อาบน้ำ,เข้านอน
14.30 - 14.45 น. รับประทานอาหารว่าง
14.45 - 15.00 น. เตรียมตัวกลับบ้าน เลิกเรียน
 

กิจกรรมพิเศษ

- จัดทัศนศึกษานอกสถานที่ ภาคละ 1 ครั้ง

- จัดกีฬาสีประจำปี ทุกวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ยกเว้นตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันต่อมา

- จัดกิจกรรมปิดภาคเรียน ภาคละ 1 ครั้ง

- จัดกิจกรรมวันขึ้นปีใหม่ตามกำหนดของระดับชั้นประถมศึกษา

-จัดโครงการภาคฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายนตามกำหนดของระดับชั้นประถมศึกษา

 

 

 

 

 

โครงการสอนระยะยาว

ในระดับชั้นอนุบาลของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้จัดโครงการสอนระยะยาวหรือสาระการเรียนรู้รายปี/รายภาค โดยคณาจารย์ได้ช่วยกันจัดทำขึ้น เพื่อใช้ประกอบการสอนวิชาต่างๆ โดยจัดเนื้อหาออกเป็นรายหัวข้อย่อยๆ พอที่จะสอนในคาบหนึ่งๆ และพิจารณาให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของเด็ก และขอบเขตของหลักสูตรการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา ระดับชั้นอนุบาลโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

อนุบาลกลุ่มที่ 1 เด็กมีอายุระหว่าง 3 - 4 ปี

อนุบาลกลุ่มที่ 2 เด็กมีอายุระหว่าง 4 - 5 ปี

อนุบาลกลุ่มที่ 3 เด็กมีอายุระหว่าง 5 - 6 ปี

โครงการสอนระยะยาวหรือสาระการเรียนรู้รายปี/รายภาคที่คณาจารย์ระดับชั้นอนุบาลช่วยกันจัดทำขึ้น จะช่วยให้การปฏิบัติการสอนของผู้สอนเป็นไปด้วยดีและคล่องตัว เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้และกระบวนการสอนในแบบต่างๆ หรือการทดลองวิจัยทฤษฎีต่างๆ เช่น การเรียนการสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ , ฟอร์เบล , วอลดอร์ฟ , เรกจิโอ เอมีเรีย , แบบศูนย์การเรียน , การเรียนอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม , การสอนแบบโปรแกรม หรือรายบุคคล โครงการสอนระยะยาวหรือสาระการเรียนรู้รายปี/รายภาค ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก เป็นโครงการสอนระยะยาว หรือสาระการเรียนรู้รายปี บอกหัวเรื่องที่จะใช้สอน โดยกำหนดเวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นชั่วโมง / คาบ

ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่เรียกว่าเป็นคู่มือครูในการสอน หรือบันทึกการสอน หรือแผนการสอนหรือแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนที่ขยายรายละเอียดของโครงการสอนระยะยาว/ สาระการเรียนรู้รายปี