NATIONAL ANTHEM

เพลงชาติ
วงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร

•• อันว่า เพลงชาติไทย เวอร์ชั่นที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ถือเป็น เพลงชาติไทยลำดับที่ 7 ประกาศใช้ในยุค จอมพลป. พิบูลสงคราม โดย รัฐนิยมฉบับที่ 6 เมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม 2482 ประพันธ์ทำนองดั้งเดิมโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) หรือชื่อเดิม ปีเตอร์ ไฟท์ (Peter Feit) ตั้งแต่ ปี 2475 ประพันธ์เนื้อร้องแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมโดย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในนามของ กองทัพบก ชนะการประกวดของ กรมโฆษณาการ ได้รับรางวัลมา 1,000 บาท สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม มาเป็น ไทย ในปีเดียวกันนั้น

•• ขอกล่าวถึง พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ในฐานะ ผู้ประพันธ์ทำนองดั้งเดิม ท่านเป็น ขุนนาง ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน ดนตรีสากล ไม่ใช่ทั้งสมาชิก คณะราษฎร ไม่เคยรับรู้และไม่ได้เข้าใจ อุดมการณ์ของคณะราษฎร เพียงแต่ได้รับการขอร้องจาก เพื่อนทหารเรือ คือ นาวาตรีหลวงวินิจเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) แต่เพียงย่อ ๆ ว่า “...ขอให้แต่งเพลงบทหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศส.” ท่านยังตอบกลับไปในชั้นต้นเลยว่า ไม่จำเป็นต้องมี เพราะเพลงในลักษณะนั้น มีอยู่แล้ว คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อนนายทหารเรือจึงอรรถาธิบายกลับมาว่าอยากให้มี เพลงปลุกใจ เพิ่มขึ้นโดยแยกออกมาจาก เพลงของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้เป็น เพลงของประชาชน จากนั้นหลัง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อนนายทหารเรือก็มา รบเร้า บอกว่า เป็นความประสงค์ของคณะผู้ก่อการ ท่านจึงจำใจ รับปาก โดย ขอเวลา 7 วัน จนกระทั่งเกือบจะ นาทีสุดท้าย ก็ยัง นึกไม่ออก มานึกออกขณะ นั่งรถรางสายบางขุนพรมไปทำงาน แต่เพลงนี้ก็ดูยัง ไม่ลงตัว เพราะบางส่วนของคณะผู้ก่อการเห็นว่า สั้นไป จึงผ่านกระบวนการ เพิ่มเนื้อ, ลดเนื้อ อีกพักใหญ่

เพลงชาติ (บรรเลง)
วงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร

เพลงสรรเสริญ (ร้อง)
วงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร

•• ส่วนทางด้าน พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ผู้ชนะการประกวด ประพันธ์เนื้อร้อง เมื่อ ปี 2482 ท่านเป็น นักประพันธ์ ควบคู่ไปกับการรับราชการใน กรมเสมียนตรา กระทรวง กลาโหม ทีแรกไม่ได้ ตั้งใจเข้าประกวด เพราะ ไม่มีเวลา และ ไม่ถนัดดนตรีสากล แต่ได้รับการขอร้องจาก พันเอกมังกร พรหมโยธี ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้เข้าประกวดในนาม กองทัพบก โดยท่านสนับสนุน เครื่องมือ คือ อนุญาตให้ทดลองร้องเข้ากับแตรวงของร.พัน. 3 และให้ นายทหารที่รู้เรื่องดนตรีสากล มา ช่วย ท่านจึงตัดสินใจ ทำเพื่อหมู่คณะ และใช้เวลาคิดอยู่ 3 วัน นี่คื่อที่มา

•• ก่อนหน้านั้นมี เพลงชาติไทย ใช้มาแล้ว 6 เพลง เริ่มต้นระหว่าง ปี 2395 – 2414 ใช้ทำนองเพลง God Save the Queen เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์โดยเรียกว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ แต่ต่อมาเมื่อ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่แล้วเรียกชื่อว่า เพลงจอมราชจงเจริญ นั่นแหละจึงถือเป็น เพลงชาติลำดับที่ 1 ในยุค รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

เพลงสรรเสริญ (บรรเลง)
วงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร

เพลงสดุดีมหาราชา
วงบิ๊กแบนด์(วงเฉลิมราชย์)

•• ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงดำริว่าควรจะใช้ ทำนองเพลงไทย คณะครูดนตรีไทยจึงเลือก เพลงทรงพระสุบัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เพลงบุหลันลอยเลื่อน พระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ 2 นำมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสากลขึ้นโดย เฮวุดเซน ถือเป็น เพลงชาติลำดับที่ 2 ใช้บรรเลงระหว่าง ปี 2414 – 2431 ไม่นานนัก

•• ส่วน เพลงชาติลำดับที่ 3 นั้นเกิดขึ้นในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ประพันธ์ทำนองโดยนักประพันธ์ชาวรัสเซีย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) คำร้องเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติในระหว่าง ปี 2431 – 2475 ใช้มายาวนานเพราะมี ท่วงทำนองไพเราะ, เนื้อหาสมบูรณ์ และทุกวันนี้ก็ใช้อยู่ในนามของ เพลงสรรเสริญพระบารมี นั่นเอง

เพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา
วงบิ๊กแบนด์(วงเฉลิมราชย์)

เพลงมหาฤกษ์
วงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร

•• มาถึง เพลงชาติลำดับที่ 4 หลังการปฏิวัติของ คณะราษฎร เมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แม้จะมีการเตรียมการโดยสังเขปที่จะสร้าง เพลงชาติ ขึ้นมา ใหม่ โดยสมาชิกของคณะผู้ก่อการท่านหนึ่งมอบหมายให้ พระเจนดุริยางค์ เป็น ผู้ประพันธ์ แต่ยัง ไม่เสร็จ เลยต้องใช้ทำนองเพลงไทยเดิม เพลงมหาชัย ไปพลางก่อน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ ประพันธ์เนื้อร้อง ใช้ในช่วงสั้น ๆ ไม่ถึง 1 เดือน ก็เปลี่ยนแปลงไป

•• ต่อมาก็เป็น เพลงชาติลำดับที่ 5 ประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เมื่อ วันที่ 4 กรกฎาคม 2475 ประพันธ์เนื้อร้องโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) บรรเลงครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนัตสมาคมเมื่อ วันที่ 7 กรกฎาคม 2475 แต่ก็ใช้อยู่เพียงระหว่าง ปี 2475 – 2477 ก็มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะ เนื้อร้อง โดยประพันธ์เพิ่มเติมจากของเดิมที่เห็นกันว่า สั้นไป ให้ ยาวขึ้น โดย ฉันท์ ขำวิไล จึงถือเป็น เพลงชาติลำดับที่ 6 ใช้ระหว่าง ปี 2477 – 2482 และถือเป็น เพลงชาติอย่างเป็นทางการเพลงแรก ก่อนจะมาเปลี่ยนแปลงเป็น เพลงชาติลำดับที่ 7 ที่ใช้มาจนถึง ปัจจุบัน อันเนื่องมาจาก การเปลี่ยนชื่อประเทศ ดังที่กล่าวไว้แล้วเมื่อ 4 – 5 ย่อหน้าก่อนนี้

เพลงมหาชัย
วงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร

 

เพลง:กรมประชาสัมพันธ์ www.prd.go.th / บทความ:ผู้จัดการ www.manager.co.th