สารทรัพย์สิน

ฉบับที่ 123 (12 กรกฎาคม 2545)

วันอาสาฬบูชา วันเข้าพรรษา คำถาม-คำตอบ การเชื่อมท่อระบายน้ำฯ โครงการพัฒนาฯ คำชี้แจงฯ

กรกฎาคม เดือนแห่งวันสำคัญทางพุทธศาสนา

วันอาสาฬหบูชา

          วันอาสาฬหบูชา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีนี้ตรงกับวันที่ 24 กรกฎาคม 2545 เป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางแสดง”ธรรมจักร กัปปวัฒนสูตร” เป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ และพระ อัญญา โกณฑัญญะ ได้บรรลุเป็นพระอริยะเจ้าเป็นองค์แรก จึงนับได้ว่าวันนี้เป็นวันประกาศพระพุทธศาสนา

วันเข้าพรรษา

          วันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ปีนี้ตรงกับวันที่ 25 กรกฎาคม 2545 เป็นวันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์ จะต้องอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน สำหรับการจำพรรษานั้น พระภิกษุจะต้องกล่าวปวารณาตัวอยู่พรรษาต่อเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสจะแจ้งขอบเขตวัดโดยรอบให้พระภิกษุใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติ พระภิกษุรูปใดไปธุระนอกวัด ต้องกลับเข้าเขตวัดที่กำหนดก่อนฟ้าสาง โดยกำหนดว่าสามารถมองลายมือเห็น สำหรับภิกษุที่ประสงค์บวชไม่ครบพรรษา เช่นบวช 7 วัน 15 วัน หรือเพียง 1 เดือน ก็ไม่ต้องเข้าพิธีปวารณาตัวอยู่พรรษา
     การอยู่ในพรรษานั้นเริ่มปฏิบัติตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพราะในช่วงเดือน 8 เป็นต้นไป เป็นช่วงฤดูฝน การจาริกไปในที่ต่างๆของพระสงฆ์ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเหยียบพืชและสัตว์ต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นการปาณาติบาต ประการหนึ่ง และการเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก อาจรบกวนชาวบ้านที่เป็นทางผ่าน ดังนั้นพระพุทธองค์จึงกำหนดให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาตลอด 3 เดือน เพื่อปฏิบัติธรรมอยู่กับที่ความนิยมของคนไทยที่จะดำเนินวิถีชีวิตอันเป็นมงคล ในช่วงเข้าพรรษาคือการถือศีล 8 และไปฟังเทศน์ทุกวันพระขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ หรืออย่างน้อยก็งดเสพของมึนเมา แต่จะให้ดีคืองดเว้นอบายมุขทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นอานิสงส์แก่ตัวผู้ปฏิบัติเองและผู้ใกล้ชิด

คำถาม -  คำตอบ

          พบกันอีกเช่นเคยในหน้าของถามมา – ตอบไป ต้องขออนุญาตท่านที่ถามมาทาง E-mail และทางโทรศัพท์ ที่ได้นำคำถามของท่านมาเผยแพร่ทาง”สารทรัพย์สิน” เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออีกหลายๆท่าน เพื่อความเข้าใจอันดีต่อไป

บริษัทฯจะทำการแจกแผ่นปลิวโฆษณากิจการในบริเวณสยามสแควร์ จะต้องขออนุญาตจากจุฬาฯหรือไม่

          เนื่องจากพื้นที่ธุรกิจบริเวณสยามสแควร์นั้น มีผู้นิยมไปใช้บริการมาก และทุกกลุ่มอายุ การแจกแผ่นปลิวโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการค้า จึงนิยมใช้บริเวณสยามสแควร์นี้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นหากบริษัทฯประสงค์ที่จะดำเนินการดังกล่าว โปรดติดต่อโดยตรงที่ฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เพื่อขออนุญาต หากบริษัทฯของท่านอยู่ในบริเวณสยามสแควร์ก็จะได้สิทธิ์ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมด้วย

          ดังนั้นจึงขอเรียนว่าไม่ว่าจะใช้พื้นที่ในบริเวณสยามสแควร์ ดำเนินการ แจกแผ่นปลิวโฆษณา ถ่ายทำวีดีโอ ถ่ายทำภาพยนตร์ ฯลฯ จะต้องไปขออนุญาตก่อนดำเนินการ

ขณะนี้ปรากฏมีพวกมิจฉาชีพในบริเวณสยามสแควร์ ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน อยากทราบว่าขณะนี้จุฬาฯมีมาตรการด้านความปลอดภัยแก่พื้นที่นี้อย่างไร

          มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันอย่างดียิ่งในการวาง มาตรการด้านความปลอดภัยแก่พื้นที่สยามสแควร์ ได้แก่การจัดให้มีสถานีตำรวจย่อยสยามสแควร์ที่มี เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำ เพื่อรับแจ้งเหตุและระงับเหตุต่างๆ กรณีสายตรวจนั้นมีทั้งในเครื่องแบบและนอก เครื่องแบบ ออกตรวจตราโดยตลอด ทั้งนี้มีจุดตรวจในบริเวณสยามสแควร์ถึง 6 แห่ง กระจายอยู่ทั่วสยาม สแควร์ นอกจากนั้นยังมีสายตรวจจากผู้รับจัดจราจรเพิ่มเติม 5 นายปฏิบัติหน้าที่ในช่วง 24.00 น. – 06.00 น. อย่างไรก็ตามการปรากฏเหตุชิงทรัพย์นอกอาคารประกอบการ หรือลักทรัพย์ในอาคารประกอบการก็ดี คนร้ายมักหลบหนีการจับกุมได้เพราะพื้นที่มีช่องทางเข้าออกได้หลายทางโดยรอบ ท่านผู้ประกอบการต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทั้งในขณะอยู่ในอาคารหรือนอกอาคารประกอบการ หากเกิดเหตุร้าย หรือพฤติกรรมต้องสงสัยโปรดแจ้ง ส.น.ย่อยสยามสแควร์ โทร. 0 – 2252 - 6938 ทันที

โครงการ”ชุมชนน่าอยู่” ที่จุฬาฯจัดทำ เห็นว่าเป็นประโยชน์ จะดำเนินการต่อหรือไม่

          โครงการชุมชนน่าอยู่ เป็นโครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตปทุมวัน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากท่านผู้เช่าอาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ตั้งวางสิ่งของบนทางเท้าและวางกั้นพื้นที่บนถนนหน้าอาคาร ทั้งนี้มหาวิทยาลัยกำหนดดำเนินการต่อเนื่องในช่วง 15 กรกฎาคม – 4 ตุลาคม 2545 โดยดำเนินการเป็นบริเวณไป บริเวณละ 2 ครั้ง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอความร่วมมือจากท่านผู้เช่าอาคาร ผู้ประกอบการในบริเวณเขตพาณิชย์ โปรดจัดเก็บสิ่งของที่ตั้งวางบนทางเท้านอกอาคาร และสิ่งกั้นพื้นที่บนผิวจราจรออก พร้อมจัดเก็บและรวบรวมวัสดุสิ่งของเหลือใช้ รอการเก็บขนจากมหาวิทยาลัย

การเชื่อมท่อระบายน้ำสยามสแควร์ซอย 7 กับอุโมงค์ระบายน้ำกทม.ด้านอังรีดูนังต์

         เป็นที่ทราบกันดีว่าบริเวณสยามสแควร์มีพื้นที่ต่ำกว่าบริเวณโดยรอบ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการแก้ไขด้วยการปรับปรุงท่อระบายน้ำ เชื่อมต่อท่อระบายน้ำระบายลงในท่อระบายน้ำของกทม.ในถนนพระราม 1 รวมทั้งทำบานประตูกั้นน้ำมิให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าในพื้นที่ ทำให้การระบายน้ำไหลลงสู่ถนนพระราม 1 และถนนพญาไท มีการระบายน้ำได้ดีขึ้น
          อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นมาตรการเร่งระบายน้ำ สำนักงานเขตปทุมวันให้คำแนะนำในการเชื่อมท่อระบายน้ำของสยามสแควร์ไปยังอุโมงค์ระบายน้ำของกทม.ด้านอังรีดูนังต์ เพื่อใช้เร่งระบายน้ำไปยังท่อระบายน้ำของกทม.ด้านถนนพระราม 4 ทั้งนี้โดยได้รับอนุญาตจากสำนักระบายน้ำกทม.แล้วในการดำเนินงาน ขณะนี้มหาวิทยาลัยสั่งจ้างบริษัท ทู โฟร์ คอนสตรั๊คชั่นจำกัด ดำเนินงานก่อสร้างงานเชื่อมต่อท่อระบายน้ำบริเวณสยามสแควร์ซอย 7 เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำของกทม.ในถนนอังรีดูนังต์ กำหนดงานแล้วเสร็จใน 30 วัน และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจราจร จะกำหนดให้ดำเนินการในช่วงเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ และได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันที่จะจัดเจ้าหน้าที่จราจรอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามอาจมีความไม่สะดวกเกิดขึ้น จึงขออภัยมา ณ ที่นี้

โครงการพัฒนาที่ดินชายฝั่งทะเลหัวหิน

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความประสงค์เชิญชวนผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาที่ดินของมหาวิทยาลัยบริเวณชายฝั่งทะเลหัวหิน ขนาดพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ บริเวณตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อก่อสร้างอาคารโรงแรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ(Boutique Hotel) พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ตามระดับโรงแรมมาตรฐานสากล และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์

          คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีประสบการณ์ในด้านการบริหารโครงการและลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือก่อสร้างโดยต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปี ผู้สนใจขอรับเอกสารข้อกำหนดและเงื่อนไขในการยื่นข้อเสนอการลงทุนพัฒนา โครงการพัฒนา ที่ดินชายฝั่งทะเลหัวหิน ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2545 และกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 30 กันยายน 2545 เวลา 9.00 น. – 15.00 น. ณ อาคารสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          โปรดติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกกิจการพิเศษ ฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทุกวัน เวลาราชการ ที่ โทร. 0 – 2218 – 3590 โทรสาร 0 – 2218 – 3589 หรือ E-mail :CU.Prop@chula.ac.th

คำชี้แจงมาตรการการใช้พื้นที่จอดรถอาคารวิทยกิตติ์

          ตามที่เกิดเหตุคดีประทุษร้ายต่อร่างกายบนลานจอดรถชั้นที่ 5 ของอาคารวิทยกิตติ์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 และปรากฏเป็นข่าวเมื่อ 27 มิถุนายน 2545 นั้น โดยคนร้ายใช้เข็มฉีดยาแทงที่หลังมือผู้ เสียหาย ขณะที่นั่งในรถและเปิดประตูหลัง 2 ข้าง ผู้เสียหายเจ็บมือและหมดแรง กลุ่มนักศึกษาเดินผ่านมาจึงช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาล แพทย์ตรวจพบว่ามีพิษงูเห่าในกระแสโลหิต ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการสอบสวนคดีนั้น

          มหาวิทยาลัยขอเรียนว่าอาคารวิทยกิตติ์ เป็นอาคารสูง 21 ชั้น บริหารงานโดยส่วนงานบริหารงานอาคารวิทยกิตติ์ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การใช้ประโยชน์ในอาคารเป็นพื้นที่สำนักงานส่วนหนึ่ง โดยในขณะนี้ใช้เป็นพื้นที่ทางการศึกษาหรือส่งเสริมการศึกษา และอีกส่วนหนึ่งของอาคารเป็นพื้นที่จอดรถตั้งแต่ชั้นที่ 4 – 11 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี เอ ซัพพลาย พระประแดง เป็นผู้เช่าพื้นที่สำหรับให้บริการจอดรถ เปิดบริการตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 22.00 น. โดยมหาวิทยาลัยกำหนดให้ห้างฯจัดให้มีเจ้าหน้าที่จัดจราจร ชั้นละ 2 นาย และมีเจ้าหน้าที่ประจำป้อมทางขึ้นลง 1 นาย ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว ห้างฯได้เพิ่มมาตรการเสริมคือ

  1. ให้เจ้าหน้าที่จัดจราจรชั้นละ 2 นายเดินตรวจตราความเรียบร้อยแต่ละชั้นโดยตลอด และมีเวรตรวจพิเศษนอกเวลาให้บริการจอดรถ รวมทั้งหัวหน้าผลัดๆ ละ 1 นาย
  2. จัดวิทยุสื่อสารที่ป้อมรับบัตรทางขึ้นลง ที่เจ้าหน้าที่จัดจราจรชั้น 4 และชั้นสูงสุดที่มีรถจอดจอด จุดละ 1 เครื่อง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการประสานงานและดำเนินการระงับเหตุ เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์ในลิฟท์ หน้าลิฟท์แต่ละชั้น ติดป้ายแจ้งเหตุร้ายพร้อมหมายเลขโทรศัพท์บริเวณเสาแต่ละชั้น
  3. เดิมห้างฯได้จัดให้จอดรถให้เต็มในชั้นบนก่อนเพื่อความสะดวกในการนำรถเข้าออก และขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนจัดจอดรถให้เต็มในชั้นล่างก่อน จึงจะอนุญาตให้จอดในชั้นถัดขึ้นไป เพื่อความสะดวกในการดูแลความปลอดภัยอย่างทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์ปิดกั้นการจอดในชั้นบนไว้ ในช่วงที่ไม่มีการเข้าจอด

  4. เพิ่มจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจที่บริเวณพื้นที่ส่วนกลางชั้นที่ 5 ของอาคาร จากที่จัดให้มีในบริเวณสยามสแควร์แล้ว 6 บริเวณ คือ สยามสแควร์ซอย 1 , ด้านข้างโรงภาพยนตร์ลิโด , บริเวณลานจอดรถ 2 , บริเวณเดอะเซ็นเตอร์พ็อยท์ , หลังโรงภาพยนตร์สยาม, และสยามสแควร์ซอย 10

          โดยที่สภาพอาคารนี้มีเส้นทางเข้าออกได้หลายทาง ทั้งภายในและภายนอกอาคาร จึงเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมพื้นที่ได้ทั้งบริเวณ มหาวิทยาลัยจึงขอความร่วมมือเพื่อป้องกันอีกทางหนึ่งโดย

  1. โปรดหลีกเลี่ยงการเดินไปในที่ลับตาตามลำพัง โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน

  2. โปรดปิดล็อกรถทุกด้านขณะที่อยู่ในรถ หากจำเป็นต้องรอคอยเป็นเวลานาน โปรดใช้สถานที่พักคอย ณ โถงชั้นล่างของอาคาร

  3. หากพบเหตุหรือพฤติกรรมต้องสงสัย โปรดแจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือ โทร.แจ้ง ศูนย์บริการสยามสแควร์ 0 - 2251-6933 สถานีตำรวจย่อยสยามสแควร์ 0 – 2252-6938