ระเบียงผังเมือง: เว็บไซต์เพื่อการเรียนการสอนของ รศ. ดร. วรรณศิลป์ พีรพันธุ์

 วิทยานิพนธ์

 

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เป็นต้นมา ภาควิชาฯ ได้กำหนดแนวทางการจัดทำวิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิต  รวมทั้งการสอบและประเมินผลวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นิสิตมีแนวทางในการทำวิทยานิพนธ์ที่ชัดเจน ซึ่งจะมีการชี้แจงให้นิสิตทราบเป็นระยะ ๆ ไป หรือนิสิตอาจติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ภาควิชาฯ ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้น มีการพูดคุยกันในวิชา "สัมมนาวิทยานิพนธ์" อยู่แล้ว น่าจะช่วยให้การทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตง่ายขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ บัณฑิตวิทยาลัย ได้ออกระเบียบใช้บังคับกับนิสิตวิทยานิพนธ์ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เป็นต้นไป ต้องได้รับการประเมินทุกเทอม โดยจะมีแบบฟอร์มประเมินของภาควิชาให้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ประเมิน S/U โดยดูว่านิสิตทำงานได้ตามที่เขียนไว้ในแผนการทำงานที่เสนอไว้ในโครงร่างวิทยานิพนธ์หรือไม่ มีการนัดหมายและมาพบอาจารย์ที่ปรึกษาสม่ำเสมอหรือไม่ ผลงานโดยรวมเป็นอย่างไร ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะประเมินมั่ว ๆ ไม่ได้ เพราะต้องชี้แจงได้ หากการทำงานของนิสิตไม่เป็นไปตามแผนงาน ก็ไม่สามารถให้ S ได้  หากใครได้สัญลักษณ์ U ติดกัน 2 เทอม ก็จะพ้นสภาพการเป็นนิสิตโดยอัตโนมัติ ทุกคนจึงต้องเร่งทำวิทยานิพนธ์กันโดยเร็ว จะเฉื่อยแฉะเหมือนรุ่นก่อน ๆ ไม่ได้แล้ว

การคิดหาหัวข้อวิทยานิพนธ์  ควรพิจารณาอย่างเป็นรอบคอบ ควรมั่นใจได้ว่าเรามีความสนใจในเรื่องหรือประเด็นที่จะทำวิทยานิพนธ์จริง ๆ ควรคิดหาเรื่องที่อยู่ใน "ร่ม" ที่อาจารย์แต่ละท่านที่กำหนดไว้ และควรเลือกพื้นที่ศึกษา (ถ้ามี) ที่น่าสนใจ เหมาะสมที่จะทำการวิจัยในประเด็นที่กำหนด  อย่าเลือกเพียงเพราะคิดว่าหาข้อมูลได้ง่ายเพียงอย่างเดียว  ในการคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ เราควรคิดถึงคำถามเบื้องต้น 3 คำถาม คำถามแรกคือเรื่องหรือประเด็นที่จะทำวิทยานิพนธ์นั้นมีความสำคัญหรือน่าสนใจเพียงใด ในแง่ของศาสตร์ด้านการวางแผนภาคและเมือง คำถามที่สองคือ พื้นที่ศึกษาที่เลือก (ถ้ามี) มีความสำคัญหรือน่าสนใจเหมาะสมกับเรื่องที่จะทำอย่างไร คำถามที่สาม ซึ่งสำคัญที่สุดก็คือ "คำถามการวิจัย" (RESEARCH QUESTION) ต้องระบุให้ชัดเจนว่าคำถามการวิจัยของเราคืออะไร คำถามการวิจัยที่ดีควรอิงกับหลักการหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนภาคและเมือง และเป็นคำถามที่ต้องการ "การวิจัย" ในเชิงลึกที่เหมาะสมกับระดับปริญญาที่ต้องการได้รับ นอกจากนี้เราอาจมี "สมมุติฐานการวิจัย" ซึ่งอิงกับหลักการหรือทฤษฎีดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้รู้ถึงหลักการหรือทฤษฎีที่จะนำมาใช้ เราจึงต้องอ่าน ค้นคว้า และทบทวนวรรณกรรมมากพอสมควรก่อนที่จะตั้งคำถามการวิจัยที่ดีได้

การเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำวิทยานิพนธ์ นอกจากพิจารณาจากประสบการณ์และ "ร่ม" ของอาจารย์แต่ละคนแล้ว ควรพิจารณาเลือกอาจารย์ที่ "พูดภาษาเดียวกัน" สามารถสื่อสารกันได้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ และมีความรู้ ความสามารถที่จะให้คำปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์ของเราจริง อย่าลืมว่าอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ต้องเป็นอาจารย์ภายในภาควิชาเท่านั้น อย่าไปหวังพึ่งที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมที่มาจากภายนอกให้มากนัก เพราะบุคคลภายนอกแม้จะมีความรู้ลึกในประเด็นที่เราสนใจทำวิทยานิพนธ์ แต่ก็ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ด้าน "การวางแผนภาคและเมือง" รวมทั้งอาจไม่เข้าใจถึงมาตรฐานงานวิทยานิพนธ์ในระดับต่าง ๆ ของภาควิชาฯ จึงอาจให้คำปรึกษาได้จำกัด การเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาไม่เหมาะสมจึงอาจมีผลต่อการจบหรือไม่จบการศึกษาของเรา โดยเฉพาะในระดับปริญญาเอก นอกจากนี้เราต้องเข้าใจว่าอาจารย์แต่ละท่านมีนิสิตวิทยานิพนธ์ในความดูแลอยู่แล้ว มากน้อยต่างกัน อาจารย์บางท่านอาจนิสิตวิทยานิพนธ์เพิ่มได้จำกัด ดังนั้นเราจึงควรมองหาอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เสียแต่เนิ่น ๆ หากรอช้าอาจไม่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่เราอยากได้เพราะมีนิสิตเลือกเต็มโควต้าไปแล้ว ในการเข้าไปคุยกับอาจารย์ที่เราอยากเลือกเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เราควรทำ "การบ้าน" มาก่อน มีการทบทวนวรรณกรรมเบื้องต้นและข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพื้นที่ศึกษา เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับคำถามหลัก 3 คำถามดังกล่าวข้างต้น อย่าไปปรึกษาอาจารย์แบบมือเปล่า เพราะจะเสียเวลา และสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดีในสายตาอาจารย์ 

                                 ตัวอย่างงานวิทยานิพนธ์

งานวิทยานิพนธ์ที่เป็นตัวอย่างได้นั้น ควรเป็นงานวิทยานิพนธ์ที่สอบผ่านในระดับดีมาก นิสิตอาจสอบถามจากรุ่นพี่ที่เพิ่งจบไป หรือค้นหาจากห้องสมุด   ตัวอย่างงานวิทยานิพนธ์ที่ผมควบคุมดูแล ได้แก่

หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองดุษฎีบัณฑิต

  • วิลาวัณย์ ภมรสุวรรณ.  การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของชุมชนริมน้ำดั้งเดิมในพื้นที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. 2549.

หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต

  • พงศกร กัลยานุกูล.  พัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของชุมชนตลาดคลองสวนริมคลองประเวศน์บุรีรมย์ จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัด ฉะเชิงเทรา. 2549.

  • ญาดา นาคะสิทธิ์. การอนุรักษ์ชุมชนชาวไตยวนบ้านยางหลวง จังหวัดเชียงใหม่. 2549.

  • เพียรกานต์ วงศ์วาณิชย์ศิลป์. แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนคลองบางน้อย จังหวัดสมุทรสงคราม. 2551.

              หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาการออกแบบชุมชนเมือง

  • สิทธา กองสาสนะ. แนวทางการฟื้นฟูศูนย์การค้าสยามสแควร์. 2546.

  •  อรรถพงษ์ ศิริสุวรรณ. การปรับปรุงย่านพาณิชยกรรมเก่าเทศบาลเมืองหนองคาย. 2547.

             

ารทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก

                 การทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกจะแตกต่างกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในด้าน "การสร้างองค์ความรู้" และความ"ลึก"ของเนื้อหา ตั้งแต่การตั้งคำถามการวิจัย การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย การทบทวนวรรณกรรม กรอบการวิจัยและวิธีการวิจัย ไปจนถึงเนื้อหาของงานซึ่งต้องมีความชัดเจน ลึกซึ้ง มีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ  หลายคนอยากได้ "สูตรสำเร็จ" สำหรับการเขียนวิทยานิพนธ์ ซึ่งไม่มีอยู่ในโลกนี้ จะมีอยู่ ก็แค่"คำแนะนำ" และ"ตัวอย่างวิทยานิพนธ์" ในแนวเดียวกับที่เราสนใจ ซึ่งจะช่วยให้เห็นแนวทางหรือโครงสร้างของวิทยานิพนธ์ที่จะทำ แต่อย่าไปยึดติดกับวิทยานิพนธ์เล่มใดเล่มหนึ่งมากเกินไป ทางที่ดี ควรค้นคว้าให้มากเข้าไว้ อ่านให้มาก คิดให้มาก...  มีเว็บไซต์ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ รวมทั้งตัวอย่างงานวิทยานิพนธ์ที่พอจะช่วยให้พอมองเห็นโครงสร้างของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกได้บ้าง ใครสนใจก็คลิกดูจากหน้า "เว็บไซต์แนะนำ" หัวข้อ "วิทยานิพนธ์/สัมมนาวิทยานิพนธ์"