ห้องสมุดในอนาคต : ทำความรู้จักกับห้องสมุดเสมือน หรือ Virtual Library  (VL)

หน้าแรก | ความหมาย | องค์ประกอบ | ประเภท | เทคโนโลยี | แหล่งสารสนเทศ | บรรณานุกรม

        การค้นหาแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และตรงกับความต้องการมากที่สุด ห้องสมุดเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ และให้บริการสารสนเทศ เพื่อการศึกษาค้นคว้าแก่อาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และบุคลากรของสถาบัน ดังนั้นเมื่อมีการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และนำเอามาประยุกต์ใช้กับงานห้องสมุด ทำให้มีรูปแบบของห้องสมุดใหม่ ๆ เกิดขึ้น และมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Library) ห้องสมุดดิจิตอล (Digital Library) ห้องสมุดประสม (Hybrid Library) และห้องสมุดเสมือน (Virtual Library)  

ความหมาย  

ห้องสมุดเสมือน หรือ Virtual Library ได้มีผู้ศึกษาและนิยามความหมายของคำไว้ดังนี้

ใน Dictionary of Library and Information Science หมายถึง electronic stock of information which can be accessed via databases, but is not held in any one place

สมร ตาระพันธ์  (2543, 20-21) ได้ให้ความหมายว่า ห้องสมุดเสมือน หรือ Virtual Library หมายถึง  ห้องสมุดที่เกิดจากการรวมตัวของเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆเครื่องที่ติดต่อกันบนระบบเครือข่ายและใช้โปรแกรมที่มีประสิทธิภาพในการจัดการ โดยเน้นให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพียงนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับแหล่งสารสนเทศต่างๆ ไม่ว่าสารสนเทศนั้นจะอยู่ที่ใด โดยห้องสมุดจะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้ และทำหน้าที่กระจายสารสนเทศโดยเน้นการเข้าถึงมากกว่าการเป็นเจ้าของ หนังสือที่อยู่ในห้องสมุดเสมือนจะอยู่ในรูปของอิมเมจ (Image) ซึ่งอาจเกิดจากการสแกนหน้าหนังสือ วารสาร เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ 

Reid (วาสนา อภิญญาวงศ์ 2538, 26 อ้างจาก Reid 1995, 213) ให้ความหมายของคำ Virtual Library ไว้ว่าเป็นแหล่งจัดการทำสารสนเทศมาอยู่รวมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าสารนิเทศนั้นจะอยู่ในห้องสมุดแบบสมัยก่อน ๆ ที่เป็นเพียงสถานที่จัดเก็บหนังสือหรือเป็นห้องสมุดสมัยใหม่ที่มีการใช้ระบบการสื่อสารทางไกลและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เข้าถึงสารสนเทศได้อย่างรวดเร็วก็ตาม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ผู้ใช้สามารถค้นหาสารสนเทศเองได้ นอกจากนั้นยังมีการดึงสารสนเทศจากห้องสมุดที่ผู้ใช้กำลังศึกษาอยู่หรือจากแหล่งสารนิเทศภายนอกมาบรรจุให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงสารสนเทศได้ครบถ้วนและง่าย

Saunders (วาสนา อภิญญาวงศ์ 2538, 26 อ้างจาก Saunders 1995, 66) นิยามว่า Virtual Library นั้นเป็นแนวคิดหรือมโนภาพในการเข้าถึงสารนิเทศ การให้บริการของห้องสมุดต่าง ๆ หรือแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลสามารถดึงมาเชื่อมโยงกับแหล่งสารสนเทศที่ผู้ใช้กำลังเข้าใช้บริการ ซึ่งมีทั้งสารสนเทศที่อยู่ในรูปสิ่งพิมพ์หรือในรูปอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม ด้วยการใช้ข่ายงานอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวกำหนดในการเข้าถึง จุดสำคัญอยู่ที่ผู้ใช้ต้องประเมินได้ว่า ห้องสมุดมีส่วนเชื่อมโยงในการนำเอาทรัพยากรสารสนเทศจากห้องสมุดหลาย ๆ แห่งทั้งใกล้และไกลให้มาทำงานร่วมกัน และมีการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด

ดังนั้นห้องสมุดเสมือนจึงเป็นที่รวมแหล่งสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการจัดการอย่างมีระบบและให้บริการค้นคืนสารสนเทศแบบออนไลน์ในระบบเครือข่าย โดยที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงระยะไกลมายังห้องสมุดเพื่อสืบค้นและใช้สารสนเทศของห้องสมุดหรือเชื่อมโยงกับแหล่งสารสนเทศอื่นได้ทุกที่ในระบบเครือข่าย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

แนวคิดของห้องสมุดเสมือน พัฒนามาจากแนวคิดเดิมที่เรียกว่า ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งลักษณะของห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ตามแนวคิดของ Dowlin ในสมัยนั้น (1984 : 33) มีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

1.      การจัดการทรัพยากรสารสนเทศด้วยคอมพิวเตอร์

2.      ความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศโดยทางอิเล็กทรอนิกส์

3.      บรรณารักษ์หรือบุคลากรของห้องสมุดสามารถแทรกการติดต่อระหว่างผู้ใช้กับห้องสมุดได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ได้โดยทางอิเล็กทรอนิกส์

4.      ความสามารถในการจัดเก็บ รวบรวมและนำส่งสารสนเทศสู่ผู้ใช้โดยทางอิเล็กทรอนิกส์

 

องค์ประกอบสำคัญในการเป็น Virtual Library

        วาสนา อภิญญาวงศ์ (2538, 27) ได้แบ่งองค์ประกอบดังนี้

1.      ความเร็วและความถี่ในการทำงานของข่ายงานทางการสื่อสารทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นในการส่งแฟ้มข้อมูลต่าง ๆ ที่มีจำนวนมากและค่อนข้างสับสนที่สุดของเอกสารฉบับสมบูรณ์ (Full Text) และสามารถแปลงสารสนเทศกราฟฟิกและรูปภาพต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปลักษณะที่เป็นตัวเลข เพื่อป้อนให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานต่อไปได้

2.      มาตรฐานและรูปแบบของสารสนเทศที่ใช้ในากรสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบข่ายสื่อสาร (Protocol) สามารถเชื่อมโยงระหว่างคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลกับฐานข้อมูลด้วยกันได้ง่ายและสะดวกขึ้น

3.      อุปกรณ์ที่ใช้แปลงสารสนเทศให้เป็นรหัสตัวเลขเพื่อป้อนเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบอัตโนมัติ เช่น Scanner, Fax ต้องส่งเนื้อหาได้ทันที

4.      ห้องสมุดจะต้องมีความพร้อมในด้านระบบออนไลน์ ผู้ชำนาญระบบและความหลากหลายของประเภทและขนาดของข่ายงานต่าง ๆ

5.      ลิขสิทธิ์ ค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานและสนับสนุน Virtual Library

6.      ควรยกเลิกค่าธรรมเนียมในการเข้าใช้สารสนเทศในห้องสมุด

 

ประเภทของห้องสมุดเสมือน

            แววตา เตชาทวีวรรณ (2541, 51) ได้กล่าวถึงห้องสมุดเสมือนว่า อาจแบ่งประเภทตามลักษณะการดำเนินงานได้ 3 ระดับคือ

1.      ระดับที่ 1  ผู้ใช้เข้าถึงห้องสมุดโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลและบริการยืม-คืนหนังสือของห้องสมุดได้แบบออนไลน์

2.      ระดับที่ 2  ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีการนำส่งเอกสารที่เป็นสิ่งพิมพ์ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือทางอื่น ๆ

3.      ระดับที่ 3 ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์โดยทางอิเล็กทรอนิกส์

 

ห้องสมุดเสมือนยังคงเป็นแนวคิดหรืออุดมคติของทุกห้องสมุดที่จะจัดทำ หลายห้องสมุดพยายามจัดทำให้เป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากระดับที่ 1 และ 2 โดยจัดทำเป็นห้องสมุดอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงรายการบรรณานุกรมหรือรายการบัตร (card catalog) ของห้องสมุดโดยวิธีการออนไลน์ (OPAC) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทรัพยากรห้องสมุดโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ และขยายการเข้าถึงฐานข้อมูลภายนอกห้องสมุด สำหรับในระดับที่ 2 เมื่อผู้ใช้ต้องการหนังสือหรือเอกสารของห้องสมุด สามารถร้องขอและทางห้องสมุดจัดส่งสำเนาเอกสารนั้นให้ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ทางโทรสารหรือทางไปรษณีย์ ซึ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของห้องสมุดเสมือน สำหรับการดำเนินงานในระดับที่ 3 จะมีการผลิตและตีพิมพ์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้บริการบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันมีมากขึ้น เช่น วารสารอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น สารสนเทศของห้องสมุดเสมือนในระดับที่ 3 จะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้บริการในระบบเครือข่ายอย่างกว้างขวาง ที่ผู้ใช้สามารถเข้ามาใช้ได้อย่างแพร่หลาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นห้องสมุดที่ปราศจากกำแพง (Library without walls)

 

เทคโนโลยีของห้องสมุดเสมือน

            ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาให้เป็นห้องสมุดเสมือนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญ 3 ประการดังนี้

1.      การจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมและจัดเก็บสารสนเทศ และสะดวกในการบริการส่งสารสนเทศแก่ผู้ใช้ ทรัยพากรสารสนเทศของห้องสมุดเสมือนจำเป็นต้องอยู่ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสะดวกในการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูล ตลอดจนการส่งข้อมูลระยะไกล เป็นการเปลี่ยนรูปแบบสิ่งพิมพ์แบบเดิมให้อยู่ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ ทำได้โดยการจัดเก็บในรูปดิจิตัล ได้แก่ ซีดีรอม หรือจัดเก็บในฮาร์ดดิสต์

2.      ระบบเครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายของห้องสมุดกับผู้ใช้และแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ ทำให้ผู้ใช้สามารถติดต่อกับห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศ   อื่น ๆได้ทั่วโลก

3.      การส่งเอกสารสารสนเทศแก่ผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับสารสนเทศที่ต้องการโดยไม่ต้องมายังห้องสมุด มี 4 วิธีการคือ ทางไปรษณีย์, จดหมายอิเล็กทรอนิกส์, โทรสาร และทางอินเตอร์เน็ต

        ห้องสมุดในต่างประเทศได้เตรียมรับมือเพื่อเข้าสู่ยุคสารสนเทศไร้พรมแดนมา นานแล้ว เริ่มแรกหน่วยงาน OCLC, RLIN, WLN, และ UTLASได้ร่วมกับหอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดสมาชิกหลายแห่งสร้างฐานข้อมูลทางบรรณานุกรมเพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงเนื้อหาได้จากฐานข้อมูลเหล่านั้น จากผลการสร้างฐานข้อมูลขึ้นมา ปรากฏว่าสถิติการยืมระหว่างห้องสมุดเพิ่มมากกว่าเดิม แต่การเข้าถึงด้วยวิธีนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะว่าผู้ใช้ก็ยังต้องการเอกสารฉบับสมบูรณ์ (Full text) มากกว่าการอ่านจากบรรณานุกรมอย่างเดียวแน่นอน (วาสนา อภิญญาวงศ์ 2538, 27)

 

การเตรียมตัวของห้องสมุดในต่างประเทศ ที่พร้อมเข้าสู่การเป็นแหล่งสารสนเทศที่ไร้พรมแดนนั้นจะต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่อไปนี้

1.      บุคลากร ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในด้านวิชาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้จัดให้มีการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการเชิญผู้มีความรู้ความชำนาญจากหน่วยงานเดียวกันหรือจากหน่วยงานภายนอกออกมาเป็นวิทยากรฝึกอบรม หรือส่งบุคลากรไปฝึกอบรมภายนอกสถานที่

2.      เอกสาร จัดหาคู่มือ เช่น บทสรุปคำสั่งการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เอกสารประกอบขั้นตอนการปฏิบัติงาน หรือเอกสารแนวคำถาม-คำตอบ เป็นต้น และทางหน่วยงานอาจจัดทำจดหมายข่าวเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ

 

นอกจากนี้ Virtual Library จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และกระบวนการทางการสื่อสาร   ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีการแต่งตั้งให้ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเข้าร่วมเป็นกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษาระบบใหม่นี้ (Tennant, 1995) Virtual Library ต้องมีระบบการเข้าถึงโดยมีทางเลือกที่เข้าใจง่ายและหลากหลาย สมรรถนะในการค้นหาสารสนเทศต้องมีประสิทธิภาพ การออกแบบในส่วนต่าง ๆ ของระบบต้องทำให้ผู้ใช้ใช้ง่าย นอกจากนี้ควรคำนึงถึงซอฟท์แวร์ที่จะนำเข้ามาใช้ และการร่วมมือกันบรรจุสารสนเทศลงในข่ายงานต่าง ๆ ด้วย

 

แหล่งสารสนเทศ   

        ปัจจุบันได้มีหน่วยงานหลายแห่งได้พัฒนารูปแบบห้องสมุดของตนเองเป็นแบบห้องสมุดเสมือนและมีการแนะนำแหล่งสารสนเทศประเภทของห้องสมุดเสมือน ในที่นี้จะขอแนะนำ เว็บไซต์  http://www.vlib.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับการค้นหาข้อมูลห้องสมุดเสมือนผ่านทางอินเตอร์เน็ต ให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการค้นหาข้อมูลตามหมวดหมู่

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

ชนะ โศภารักษ์.  2540.  ศัพท์ไมโครคอมพิวเตอร์.  กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาฯ.

พรทิพย์ เอื้ออภัยกุล.  2540.  “บริการเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ล่าสุดจาก Virtual Library” วารสารห้องสมุด 41, 3 (กรกฎาคม – กันยายน) : 35-39.

วาสนา อภิญญาวงศ์.  2538.  “Virtual Library”   ข่าวสารห้องสมุดในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 11, 3-4 (พฤษภาคม – สิงหาคม) : 26-29.

แววตา เตชาทวีวรรณ. 2541.  “ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเสมือนกับเทคโนโลยีสารสนเทศ” วารสารโดมทัศน์ 19, 1 (มกราคม – มิถุนายน) : 48-56.

วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน. 2540. “Virtual University และ Virtual Library : มหาวิทยาลัยและห้องสมุดในอนาคต โดมทัศน์ 10, 2 (กรกฎาคม –              ธันวาคม) : 90-92.

“Virtual Library : แนวคิดและเครื่องมือ.”  ไมโครคอมพิวเตอร์ 140 (มีนาคม) : 180-181.

Virtual Libraries on the information superhighway [Online]. 1996. Available  URL htp://www.csu.edu.au/learning/modules/isnav/topic_2/virtlibs.htm