อุดมคติ ๑๐ ข้อ ของอาจารย์พระมหาแสวง โชติปาโล
- คนที่หยุดอยู่กับที่ ก็คือคนที่ถอยหลัง
เพราะเมื่อพวกเขาพากันเดิน แต่เรากลับหยุดเสีย ก็ชื่อว่าเป็นผู้ถอยหลัง เห็นชัดอยู่ ดังนั้นจึงไม่ควรหยุดทำความดี
- ปากเป็นเอก เลขเป็นโทโบราณว่า หนังสือเป็นตรี ชั่วดีท่านก็ว่าเป็นตำรา แม้ว่าเราจะพูดไม่เก่ง คิดเลขไม่ไว พออ่านออกเขียนได้ แต่เรื่องการทำดี เราถนัดเป็นมือขวา อย่างนี้ก็เป็นอันใช้ได้ เพราะคนที่ทำดี มีความซื่อ มือสะอาด โลกยังต้องการอยู่
- ดำกับขาว มืดกับสว่าง ข้างขึ้นกับข้างแรม ได้กับเสีย มีกับหมด กฎธรรมดาดังนี้ มีมาแต่ครั้งไหนไม่มีใครทราบ และจะเป็นข้าศึกกันไปอีกนานเท่าไร ก็ไม่มีใครทราบเช่นกันคนทำดีจะต้องยินดีต้อนรับสิ่งตรงกันข้ามกันนี้ ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม
เพราะถ้าไม่ได้อาศัยคนชั่วซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามเราก็ไม่อาจดีขึ้นมาได้
- ทุกคนกำลังพากันเดินวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ก็เพราะเราไปเชื่อผู้นำ คือ อวิชชา และตัณหา เมื่อไม่รู้ว่าโลกเป็นทุกข์ เราก็อยากอยู่ในโลก มองโลกเป็นแดนสุขาวดี แต่นักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ท่านกลับเห็นวังวน คือ วัฏฏะ โลกเหมือนคุกตารางใหญ่ ที่กักขังสัตว์ อย่างหมดอิสระภาพก็เพราะท่านมี วิชชา และวิมุติ เป็นผู้นำทาง เมื่อทราบอย่างนี้แล้วจึงสมควรเปลี่ยนผู้นำเสียใหม่เถิด
- ความสุขที่เกิดมาจากสิ่งเสพติด ย่อมมีพิษไม่ต่างกับ น้ำผึ้งที่เจือด้วยสารร้าย หากไปทดลองเข้าก็มีทางเดียวคือ ต้องตกเป็นทาสของสิ่งเสพติดนั้นตลอดไป ไม่มีโอกาสจะหันมาทำความดีได้
- จะทำอะไร ขอให้ถือว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ตัวระวังเป็นตัวสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผิดพลาด คนที่เสียท่า ก็เพราะขาดความระวัง เหตุนั้น พระจึงได้ตรัสว่า ตัวระวังนี้เป็นศูนย์รวมของความดีทุกอย่าง โดยที่สุด แม้พระนิพพาน ซึ่งเป็นสมบัตินอกโลก ท่านผู้ฉลาดมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ยังอาจเอื้อมเอามาเป็นสมบัติได้ ก็เพราะอาศัยตัวระวัง คือสตินี้เป็นรากฐานเช่นกัน
- คำสอนของศาสดาทุกศาสนา แม้จะเหมือนกันในข้อที่ว่า งดเว้นจากการก่อบาปทั้งปวง และการบำเพ็ญความดี ให้ถึงพร้อม
แต่คำสอนที่ศาสนาอื่นมีไม่ได้คือ การทำจิตของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง อันมีความโลภ ความโกรธ และความหลงเป็นรากเหง้า เพราะคำสอนเกี่ยวกับเรื่อง อธิศีล อธิจิต และอธิปัญญานั้น จัดเป็น แนวนโยบายของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ไม่มีในที่นอกพระพุทธศาสนา
- ชนะข้าศึกอะไร ก็สามารถเอาชนะได้ด้วยสรรพวิชาที่เรียนมา แต่จะเอาชนะตัวตัณหา คือความทยานอยาก ที่ข่มขี่ใจของตนเองนั้นเป็นเรื่องยากเย็นนักหนา พระจึงตรัสว่า
ถ้าเอาชนะตัวเองได้แล้ว นับเป็นการชนะ ที่ไม่กลับแพ้อีกต่อไป
- ไฟไม่รู้จักอิ่มในเชื้อ ตัณหาไม่รู้จักอิ่มในรสของกามารมณ์ หากเราไม่ยอมเดินตามทางที่สมเด็จพ่อ เคยดำเนินมาแล้ว เราจะรู้จักอิ่มละหรือ มิต้องเป็นทาสของตัณหาไปอีกนานเท่านานจนนับภพนับชาติไม่ถ้วนหรือ
- ความทุกข์อื่นใดก็ไม่มากมายท่ากับขันธ์เป็นทุกข์ การที่พระตรัสว่า สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ก็เพราะทรงเห็นว่าความทุกข์ที่นอกเหนือจากขันธ์ ย่อมไม่มี จึงมองไม่เห็นวิธีใด ที่จะรอดพ้นทุกข์ไปได้ นอกจากกำหนดรู้ทุกข์ เป็นวิธีเดียวที่สามารถบรรลุถึงความบริสุทธิ์หมดจดได้ ดังพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า
“สพฺเพ สงฺขารา ทุกขาติ ยทา ปญญาย ปสฺสติ อถ นิพพินฺทติ ทุกเข เอส มคฺโค วิสุทฺ ทิขา“
แปลว่า เมื่อใดผู้มีปัญญาเล็งเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ ข้อนี้เป็นหนทางแห่งความหมดจดดังนี้แล
การรักษาพระพุทธศาสนา
การรักษาพระพุทธศาสนาไว้นั้นพระองค์ตรัสไว้ว่า
- ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกาจะต้องรู้หลักธรรมเข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง พูดสั้นๆว่ารู้คำสอนและปฏิบัติได้ถูกต้อง
- ให้สามารถยิ่งกว่านั้นอีก คือ นอกจากรู้เข้าใจปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ยังนำไปบอกกล่าวชี้แจงสั่งสอนคนอื่นได้ด้วย คนที่จะไปบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนชี้แจงคนอื่นได้นั้น จะต้องมีความสามารถที่จะแนะนำสั่งสอน และต้องมีน้ำใจประกอบด้วยเมตตากรุณา บางคนถึงจะมีความสามารถแต่ไม่มีน้ำใจกรุณา ก็ไม่ใส่ใจที่จะสอนก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน จึงต้องมีทั้งน้ำใจ ต้องมีทั้งความสามารถ แล้วก็เอาธรรมไปแนะนำสั่งสอนแก่คนอื่นต่อไป
- ข้อสุดท้ายว่า ถ้ามีการจาบจ้วง คำว่าจาบจ้วงนี่เป็นภาษาโบราณ หมายความว่ามีการกล่าวร้ายต่อพระศาสนา หรือมีการสั่งสอนลัทธิที่ผิดจากธรรมผิดจากพระวินัยขึ้น ก็สามารถกล่าวแก้ ชี้แจงกำราบได้ เรียกว่ากำราบปรับวาทได้
เงื่อนไขคุณสมบัติของพุทธบริษัท ๓ ประการนี้เราจะต้องเอามาเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสำรวจตรวจสอบพุทธศาสนิกชนว่า จะสามารถรักษาพระศาสนาได้หรือไม่ เพราะว่าเมื่อตรัสหลักการ ๓ ประการนี้ก็เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ได้ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เราแล้ว ถ้าพุทธศาสนิกชนไม่มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้วก็จะรักษาศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็ต้องเสื่อมแน่นอน
|