ผู้ที่เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่ากรรมดีนั้น ย่อมมีผลตอบสนองดี
คือความสุขความสวัสดีแก่ผู้กระทำ
กรรมชั่วมีผลตอบสนองในด้านที่ไม่ดีแก่ผู้กระทำ คือ ความทุกข์ความเดือดร้อน
ย่อมเป็นผู้รู้จักหลีกเลี่ยงการทำกรรมชั่ว ขวนขวายทำกรรมดี กรรมดี ก็คือบุญ
นั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธา
พร้อมทั้งมีความรู้ถูกต้องในเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ย่อมรู้จักทำสิ่งที่เป็นบุญ
บุญ เป็นธรรมชาติฝ่ายตรงข้ามกับบาป มิใช่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกรรม
ผู้ที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้สดับฟังเรื่องบุญ
ก็จะเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าบุญไขว้เขว คำว่า บุญ ก็เข้าใจไปอย่างหนึ่ง คำว่า กรรม
ก็เข้าใจไปอย่างหนึ่ง คำว่า กรรม ก็เข้าใจไปอย่างหนึ่ง คือ เข้าใจว่า
ถ้าเป็นการทำไม่ดีแล้วก็เรียกว่า กรรม ถ้าเป็นการทำดีจึงจะเรียกว่า บุญ
จึงมักพูดคู่กันไปว่า บุญกรรม หรือ แล้วแต่บุญแต่กรรม
อย่างนี้ เป็นต้น ทำให้คนฟันหรือคนอ่านได้ยินหรือไปเห็นข้อเห็นเช่นนี้
ก็มักเข้าใจผิดว่า บุญเป็นฝ่ายดี ส่วนกรรมเป็นฝ่ายชั่ว
เกิดความเข้าใจผิดแน่ชัดยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อมีการกล่าวแยกกันเป็นแต่ละอย่าง คือ เวลาพูดถึงกรรมอย่างเดียว
จะพูดถึงในด้านที่ไม่ดีแน่นอน เช่นว่า คนนั้นทำกรรมเอาไว้มาก
เวลานี้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน นั่นเป็นเพราะกรรมตามสนอง
แต่เวลาพูดถึงสิ่งที่ทำให้คนนั้นคนนี้มีความสุขความสวัสดี
จะพูดถึงแต่บุญเดียวว่า เขาเป็นคนมีบุญเสียจริงหนอ อย่างนี้ เป็นต้น
นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่า..... แม้แต่ชื่อ แม้แต่ศัพท์
ก็ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง บุญนั้นหาได้คู่กับกรรมไม่
บุญมาคู่กับบาปต่างหาก ส่วนกรรมคือการกระทำเป็นคำกลางๆ ดีก็ได้
ถ้าการกระทำนั้นดี เป็นกรรมดี ก็เรียกว่า กุศลกรรม
หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บุญ ให้ผลเป็นสุข ถ้าการกระทำนั้นไม่ดีหรือชั่ว
เป็นกรรมชั่ว ก็เรียกว่า อกุศลกรรม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บาป
ให้ผลเป็นทุกข์เพราะฉะนั้น บุญก็คือกรรมดีนั่นเอง ส่วนบาปคือกรรมชั่ว
เรื่องเกี่ยวกับบุญ ยังมีการเข้าใจผิดไปอีกประการหนึ่งว่า
ถ้าหากได้ให้แก่คนที่น่าเคารพน่าบูชา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์
หรือพระภิกษุสงฆ์ จึงจะเรียกว่า บุญ แต่ถ้าหากเป็นการให้แก่คนทั่วๆ
ไปที่ไม่ใช่เป็นคนที่น่าเคารพน่าบูชาหรือน่าสรรเสริญ เช่น ให้แก่คนขอทาน
เป็นต้น ก็จะเรียกว่า ทาน แสดงว่ามีความเข้าใจว่า บุญก็อย่างหนึ่ง
ทานก็อย่างหนึ่ง นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า คนไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนา
แม้ประสงค์จะทำบุญ... หลีกเลี่ยงบาป แต่ก็หาได้รู้จักบุญ-บาปเท่าที่ควรไม่
การที่พูดว่า อย่าคิดแต่ทำบุญอย่างเดียวเลย
โปรดคิดทำทานด้วยเถิดคนที่ยากไร้อนาถารอรับการช่วยเหลือยังมีอยู่มากมาย
อย่างนี้เป็นต้นนั้น แสดงว่าคนพูดเข้าใจว่า ทานเป็นคนละอย่างกับบุญแน่ ๆ
และทานเป็นของต่ำกว่าบุญ
ทานเป็นบุญอย่างหนึ่งแห่งบุญ 10 อย่าง
ในตำราทางพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า บุญมี 10 อย่าง
ทานก็เป็นอย่างหนึ่งในบรรดาบุญ 10 อย่าง เพราะฉะนั้น
ทานก็ไม่ได้แยกไปต่างหากจากบุญ เป็นเพียงประเภทหนึ่งของบุญเท่านั้น
บุญยังมีมากกว่าทานอีก กล่าวคือ ศีลก็เป็นบุญ ภาวนาก็เป็นบุญ
เพราะฉะนั้นจะพูดแยกได้อย่างไรว่า ถ้าหากให้แก่คนขอทานก็เรียกให้ทาน
ถ้าถวายพระก็เรียกว่าทำบุญ
นอกจากจะไม่ทราบความหมายของบุญของทานแล้ว
ก็ยังบอกให้ทราบถึงความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งว่า
บุญนั้นเป็นเรื่องของการให้เท่านั้น ถ้าไม่มีอะไรจะให้ใคร
โดยเฉพาะพระก็ไม่เรียกว่าเป็นการทำบุญ
ความเข้าใจผิดเช่นนี้ไม่ทราบว่าได้มาจากไหน
เห็นทีว่าคงจะได้มาจากพระภิกษุนั่นแหละ เพราะท่านมักสอนอย่างนี้ คือ
เวลาสอนให้ฆราวาสทำบุญ ก็มักจะแนะนำให้เขาสละ ให้บริจาค
ไม่ค่อยชี้แนะให้เขาบำเพ็ญบุญ ในด้านอื่นเลย เช่น ให้รักษาศีล อย่าฆ่าสัตว์
อย่าลักทรัพย์ เป็นต้น มีแต่เรียกร้องให้เขาสละและบริจาค
บอกว่าอย่างนี้แหละเป็นการทำบุญ เป็นอันว่าไม่ถูกต้อง
คนฟังก็พลอยได้ความรู้ที่ผิดๆ ไปด้วย
ถ้าหากถือเอาตามนั้น เชื่อตามนั้น ความจริงจะให้แก่พระภิกษุก็ตาม
ให้แก่คนขอทานก็ตาม ให้แก่ใครๆ ก็ตาม เมื่อเป็นการให้ก็ชื่อว่าทานทั้งนั้น
เป็นบุญอย่างหนึ่งในบรรดา 10 อย่าง คำว่า ทาน นี้
บางทีไม่ต้องอาศัยสิ่งของเลยก็เป็นทานได้
ในที่นี้จะกล่าวในส่วนที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ ที่ผู้รู้ทั่วๆ
ไปไม่ค่อยจะกล่าวถึง ไม่เฉพาะคนทั่วๆ ไปเท่านั้น
แม้แต่คนที่ศึกษาธรรมะเรียนพระอภิธรรม ก็ยังพูดอย่างนั้นว่า
ถ้าหากไม่มีอะไรจะให้ใคร ก็ทำได้แต่บุญข้ออื่น ยกเว้นข้อทาน
ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ความจริงไม่มีเงินสักบาทเดียว ไม่มีสิ่งของอะไรจะให้ใครเลย
เป็นคนยากจนเข็ญใจ ก็สามารถทำทานได้ บางทีอาจจะดีกว่าเศรษฐีทั้งหลายเสียอีก
ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปนะค่ะ
บุญ 10 อย่าง
เนื่องจากยังมีความเข้าใจเรื่องบุญสับสนอยู่มาก
จึงขอโอกาสอธิบายตามที่ได้ค้นมาจากตำราทางพระพุทธศาสนา ว่าบุญมี 10 อย่าง
ดังนี้ คือ
- ทาน การให้
รวมทั้งการแบ่งปัน
- ศีล
ความไม่ประพฤติละเมิด คือความสำรวมทางกาย ทางวาจา
- ภาวนา คือ
การอบรมจิตทางสมถะและทางวิปัสสนา ที่เรียกว่า สมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
- อปจายนะ แปลว่า
ความเป็นผู้นอบน้อม คือการนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม
- เวยยาวัจจะ ได้แก ่การขวนขวายในกิจที่ควรทำ
- ปัตติทาน
การให้บุญที่ตนถึงแล้วแก่คนอื่น
- ปัตตานุโมทนา คือ
อนุโมทนา ได้แก่ยินดีด้วย ในบุญที่คนอื่นเขาถึงแล้วคือทำแล้ว
- ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม
- ธัมมเทศนา การแสดงธรรม
- ทิฏฐุชุกรรม แปลว่า
การกระทำความเห็นให้ตรง เป็นเพียงโวหาร ความจริงก็คือ
สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ นั่นเอง ในที่บางแห่งจึงใช้คำว่า สัมมาทิฏฐิ
จะเห็นว่า บุญมีมากมาย
รวมทั้งทานนี้ด้วย ขึ้นชื่อว่า บุญ ย่อมสงเคราะห์ในบุญกิริยา 10 นี้
อย่างใดอย่างหนึ่ง บุญอื่นนอกไปจากบุญ 10 อย่างนี้ ไม่มีอีกแล้ว
ความหมายของคำว่า บุญ
คำว่า บุญ มาจากศัพท์ ปุญฺญ มาจาก ปุ ธาตุ ที่แปลว่า ชำระ
เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ทำความหมายของคำไว้ว่า อตฺตสนฺตานํ ปุนาติ โสเธตีติ
ปุญฺญํ แปลว่า ชื่อว่า บุญ เพราะมีความหมายว่า ชำระ ดังนี้ ชำระในที่นี้
ก็คือทำให้หมดจด คือทำสันดานของตนให้หมดจดจากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง
อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ มลทิน ก็คือ สนิม เครื่องเศร้าหมอง
หรือเครื่องแปดเปื้อนสันดานในที่นี้ คือ จิตสันดาน
ความสืบต่อของจิตของแต่ละคน
ผู้ใดเจริญบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ก็จะจะชำระสันดานของบุคคลนั้นให้หมดจด
ส่วนจะหมดจดจากอะไร ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของบุญ ไม่ใช่บุญอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็จะทำให้จิตสันดานหมดจดจากราคะ โทสะ โมหะ
อย่างใดอย่างหนึ่งได้ไปเสียทั้งหมด ไม่ใช่อย่างนั้น
บุญ มาจาก ปุร ธาตุ ที่มีอรรถว่า เต็ม ก็ได้ คือว่า ชื่อว่า บุญ
โดยความหมายว่า เป็นของที่ควรทำให้เต็ม ก็ได้ คือ
ถ้ายังไม่มีก็ทำให้มีขึ้นมา มีแล้วนิดหน่อยยังไม่เต็ม
ก็ต้องทำให้เต็มให้บริบูรณ์ เรียกว่า บุญ
ที่ว่ามานี้เป็นเครื่องวัดประการแรกว่า
การกระทำของเรานี้ควรจะเรียกว่าบุญได้หรือไม่ ความหมายทั้งสองนี้
ไม่ใช่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ถ้าเป็นบุญแล้วก็ย่อมได้ความหมายทั้งสองอย่าง
เป็นของที่ควรทำให้เต็มให้บริบูรณ์ด้วย
เป็นเครื่องชำระจิตสันดานให้หมดจดด้วยนะค่ะ
หลักพิจารณาว่าเป็นบุญหรือไม่
เราจะทำความดีอะไร จะเป็นทานก็ตาม เป็นศีลก็ตาม การกระทำนั้นมีลักษณะ
เป็นการชำระสันดานให้หมดจดหรือไม่ ถ้าใช่ก็ชื่อว่าเป็นบุญ
ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ว่าชื่อว่าบุญ ถ้าหากว่าประกอบด้วยความต้องการแล้วจึงให้ทาน
ประสงค์ผลเฉพาะหน้า ที่จะได้ในเวลานั้น เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ
คำสรรเสริญเป็นต้นก็ย่อมไม่เกิดการชำระจิตสันดานให้หมดจดได้
ความอยากได้เป็นราคะหรือโลภะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แม้ทำแก่พระสงฆ์
หรือบริจาคให้แก่วัด ถ้าทำด้วยความต้องการ ในสิ่งที่แลกเปลี่ยนแล้ว
ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นได้อย่างไร จิตใจเสียสละไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น
เพราะพอมีเครื่องล่อใจจึงได้ทำ เช่นว่าทางวัดจะเรี่ยไรเอาเงินไปทำอะไรก็ตาม
ต่อให้เป็นวัตถุปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนา แต่มีเครื่องล่อใจ เช่นว่า
ถ้าทำด้วยจำนวนเงินเท่านี้ก็จะได้เหรียญ ที่มีลักษณะอย่างนี้
มีเนื้อผสมอย่างนี้ แต่ถ้าหากทำบุญด้วยเงินมากกว่านั้นก็จะได้ของตอบแทน
หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น
พร้อมทั้งโฆษณาสรรพคุณในสิ่งที่จะให้ เป็นเครื่องตอบแทน ทำให้เกิดอยากได้
พออยากได้แล้วก็บริจาคเงิน นั่นเป็นบุญที่ตรงไหนกันค่ะ
บางคนบอกว่าทำเพื่อภพหน้าชาติหน้า เพราะเป็นคนเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม
อันนี้ต้องทราบว่าทำอะไรแล้วไปสู่ภพหน้าได้ สำคัญอยู่ที่ตรงนี้
แต่นี่โลภะออกหน้าเป็นสำคัญ อย่างไร ๆ ก็ไม่ใช่บุญ เพราะว่าถ้าไม่ได้
(สิ่งล่อ) แล้วก็จะไม่ทำถ้าได้จึงจะทำ
อย่าลืมว่า คำว่า บุญ คือ ธรรมชาติ ที่ชำระจิตสันดานให้หมดจด
เวลานี้เกิดความไม่หมดจดขึ้นมา .. คือเกิดความโลภขึ้นมาแล้ว
บางทีเกิดความไม่หมดจดขึ้นมา คือเกิดความโลภขึ้นมาแล้ว
บางทีก่อนหน้านั้นอาจจะหมดจดอยู่แล้วก็ได้
แต่พอได้ยินคำโฆษณาในคราวที่เขาเรี่ยไรต้องการเงิน
ทำให้เกิดโลภขึ้นมาแล้วจึงทำ ด้วยความอยากได้สิ่งตอบแทน
ก็กลายเป็นว่ามีมลทินขึ้นมา เห็นชัดๆว่า เกิดราคะ เกิดความต้องการ
เกิดความปรารถนาขึ้น ซึ่งก็ทราบกันอยู่ว่า เป็นลักษณะของอกุศลประเภทหนึ่ง
ที่ท่านเรียกว่า "ตัณหา"
เวลานั้นจิตใจไม่สะอาดหมดจดเลยแสดงว่าไม่มีบุญอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้นสำคัญเอาเองว่าเป็นบุญ
นี่เป็นเครื่องยืนยันว่า ไม่รู้จักบุญ บุญอยู่ที่ตรงไหนก็ไม่ทราบ
การให้เพราะต้องการบุญ เป็นบุญหรือไม่
ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการวัตถุเครื่องตอบแทนเลย ต้องการบุญเท่านั้น การกระทำ
(เกี่ยวกับการให้) จะนับว่าเป็นบุญหรือไม่ เช่น
ได้ยินได้ฟังพระท่านเทศน์สอนว่า บุญ เป็นของที่ควรจะได้
เป็นของที่ควรปรารถนา เป็นของดี อย่างนี้แล้วก็สละบริจาค
เพราะต้องการบุญที่ท่านสรรเสริญนั้น
การสละบริจาคแม้อย่างนี้ก็ไม่นับว่าเป็นบุญ เหตุใดจึงไม่นับว่าเป็นบุญทั้งๆ
ที่มีการให้จริงๆ
สมมุติว่าเป็นวัตถุสิ่งของ เช่น เหรียญรุ่นใดรุ่นหนึ่ง เป็นต้น
ผู้บริจาคอยากได้ก็บริจาคเงิน ก็เห็นชัดว่าต้องการตอบแทน
ผลอันนั้นก็พอจะมองเห็นได้ว่าไม่หมดจด มีมลทินคือความอยากได้นั้น
ถึงกระนั้นก็พึงทราบว่า แม้ทำเพราะต้องการบุญเท่านั้น
การกระทำนั้นก็ไม่ชื่อว่าบุญนั่นแหละ เพราะเกิดความอยากได้บุญนั่นเอง
คนส่วนมากเข้าใจผิดว่า บุญ เป็นของดี ของวิเศษที่ควรได้อีกอย่างหนึ่ง
การกระทำ (มีการให้เป็นต้น) นั้น ยังไม่ใช่ตัวบุญ
เพียงแต่เป็นเหตุที่จะได้มา ซึ่งของดีของวิเศษที่เรียกว่า บุญ
อีกทีหนึ่ง
ความจริง การให้นั้นนั่นแหละเป็นบุญอยู่แล้ว
ทางศาสนาท่านแยกประเภทไว้แล้วว่า บุญมี 10 อย่าง มีทานเป็นต้น ทานคือการให้
พอมีการให้เกิดขึ้นก็เป็นบุญแล้ว แต่ไปเข้าใจผิดว่า
การให้ก็ยังไม่ใช่บุญแต่เป็นเหตุให้ได้บุญ
จึงมองบุญว่าเป็นผลที่น่าได้ขึ้นมา การกระทำจึงเกิดมลทินไม่สะอาด
เดี๋ยวนี้มีแต่อย่างนี้ คนบริจาคก็โลภ อยากได้ผลตอบแทน ที่เรียกว่า บุญ
คนเรี่ยไรก็โลภ อยากเงินมาก ๆ เป็นอันว่าจิตสันดานทั้งสองฝ่ายนั้น
ไม่หมดจดบริสุทธิ์เลย การเรี่ยไรเกิดขึ้นแต่ละครั้ง
ก่อให้เกิดการกระทำที่เรียกว่า ไม่ใช่บุญ แต่ทว่าเป็นอกุศล คือมีโลภะเกิดขึ้น
เป็นเช่นนี้จริง ๆ
ในตำราท่านได้กล่าวถึงบุญประเภทที่มีกิเลสแวดล้อมไว้ก็จริงอยู่.. กล่าวคือ
ท่านแบ่งระยะเวลาเกี่ยวกับทาน ไว้เป็น 3 กาล คือ
- กาลก่อนให้
อันได้แก่เวลาที่ตระเตรียมข้าวของ เครื่องอุปโภคบริโภคไว้
เพื่อจะให้แก่ผู้รับในเวลาต่อมา
- กาลกำลังให้ คือ
เวลาที่มอบวัตถุทานแก่ผู้รับ มีพระภิกษุเป็นต้น
-
กาลภายหลังจากที่ได้ทำนั้น
ถ้าหากก่อนหน้าจะลงมือให้จริงๆ ขณะตระเตรียมวัตถุข้าวของต่าง ๆ
เพื่อถวายพระอยู่นั้น มีแต่ความอยากได้สิ่งตอบแทน คือ วัตถุมงคลต่าง ๆ
คำสรรเสริญ หรือการได้ไปสวรรค์ หรือแม้แต่บุญ หลังทำก็มีแต่ความปลาบปลื้มใจ
ในวัตถุมงคลที่ได้มา หรือว่าในอันจะได้ยินแต่คำสรรเสริญ จะได้ขึ้นสวรรค์
เป็นต้น
มีใจบริสุทธิ์ มุ่งจะสงเคราะห์ผู้รับอย่างเดียว ไม่แลเหลียวถึงผลตอบแทนเลย
ก็เฉพาะในกาลกำลังให้กำลังถวาย ในมือผู้รับเพียงกาลเดียวเท่านั้น:
ก็ชื่อว่าเป็นบุญนี้ มีเฉพาะในกาลที่กำลังให้ เพียงกาลเดียวเท่านั้น..
และบุญนี้ถูกแวดล้อมด้วยกิเลสที่เกิดขึ้น ในกาลก่อนหน้า..และภายหลังนั่นเอง
บุญอย่างนี้มีอานิสงส์น้อยไม่รุ่งเรือง
แต่เท่าที่ปรากฏให้เห็นเป็นส่วนมากนั้น
แม้ขณะกำลังให้ก็มีความอยากได้ออกหน้า
ใจสั่นยินดีในวัตถุมงคลที่เขาหยิบยื่นมาให้
หรือไม่ก็ปลาบปลื้มในคำสรรเสริญของผู้รับ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่า
หาความเป็นบุญมิได้เลยทั้ง 3 กาล
ความเข้าใจ บุญ ผิด เป็นอันตราย คนที่เข้าใจว่า การทำความดี มีทานเป็นต้น
จะเป็นเหตุให้ได้บุญ บุญเป็นอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากการกระทำของเขา
พวกนี้เชื่อได้เลยทีเดียวว่า ถ้าพระสอนว่า ฆ่าสัตว์ได้บุญ เขาก็จะฆ่า
ถ้าสอนกันมาแต่ไหน ๆ ว่าฆ่าสัตว์ก็ได้บุญ คือได้สิ่งตอบแทนที่น่าปรารถนา
เป็นของวิเศษ เป็นมงคลชีวิต เขาก็จะฆ่าสัตว์ เพราะเขาต้องการบุญ
แม้ในลัทธิศาสนาอื่นก็ยังมีการสอนว่า
การฆ่าสัตว์บุชายัญเป็นบุญหรือได้บุญ.
ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่มืดมนในเรื่องบุญ ไม่รู้ว่าความกรุณา
ความมีเมตตาเยื่อใยในชีวิตสัตว์ ไม่มีจิตคิดเบียดเบียนชีวิตสัตว์เกิดขึ้น
ความสวัสดี สุคติ โลกสวรรค์ เป็นผลของบุญ เพราะฉะนั้น
ความเข้าใจผิดว่าฆ่าสัตว์ได้บุญ เป็นมิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นผิด
มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน
ทาน การให้
ทาน (การให้) เป็นไปด้วยอำนาจของเหตุ 2 อย่างคือ
- จิตคิดบูชา
- ความกรุณา
การให้แด่ท่านที่มีคุณทั้งหลาย เช่น พ่อ แม่ ครูอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์
เป็นต้น ในโอกาสที่เหมาะสม ทานชนิดนี้สำเร็จเพราะจิตคิดบูชา คือบูชาคุณของบุคคล อีกอย่างหนึ่ง ให้ด้วยกรุณา คือเห็นทุกข์ของคนอื่น
ก็เกิดกรุณาสงสาร ใคร่จะช่วยเหลือบำบัดทุกข์
ด้วยการให้และการแบ่งปันเครื่องอุปโภคบริโภคทรัพย์สิน เงินทองของตนให้ไป
อย่างนี้เรียกว่า ทานสำเร็จด้วยกรุณา บางสูตรกล่าวไว้ว่า
แม้เมตตาก็เป็นเหตุให้คนขวนขวายในทานเหมือนกัน
คือพอเกิดจิตเยื่อใจใคร่ประโยชน์สุขต่อผู้อื่น แล้วก็ให้ทาน ในเวลาให้ทาน
ความเป็นบุญไม่ใช่อยู่ตรงที่เป็นสิ่งที่จะพึงได้ แต่ บุญ อยู่ตรงที่เหตุที่ให้ทำอย่างนั้น คือจิตใจที่คิดบูชาบ้าง
ความกรุณาสงสารบ้าง บุคคลจะรู้จักว่าเป็นบุญหรือไม่ก็ตาม
ถ้าหากว่าการให้นั้นเกิดขึ้นจากเหตุเหล่านี้ ก็ชื่อว่าบุญเกิดขึ้น ก็เป็นอันว่า เมื่อมีการมอบของให้ผู้มีคุณ หรือผู้มีทุกข์..
บุญอยู่ที่จิตคิดบูชาประการหนึ่ง อยู่ที่กรุณาประการหนึ่ง
ซึ่งเป็นไปร่วมกับเจตนาที่คิดสละ
จริงอยู่ ที่ท่านบอกว่า เจตนาที่คิดสละบริจาค เรียกว่า ทาน
แต่ทั้งนี้จะต้องไปเป็น
ไปร่วมกับความคิดบูชาหรือความกรุณาอย่างใดอย่างหนึ่ง เจตนานั้นถึงจะนับว่า
เป็นทานได้ เพราะถ้าสละด้วยความคิดอย่างอื่น เช่น
เพื่อเป็นที่โปรดปรานของผู้รับ เป็นต้น ก็ไม่ชื่อว่า ทาน
เมื่อไม่เป็นทานก็ไม่ชื่อว่า บุญ
ทานที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งของ
มีทานที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของ นั่นคือ
การให้ความรู้แก่คนอื่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เป็นประโยชน์
เป็นการให้ความรู้เป็นทาน สงเคราะห์เป็น ธรรมทาน อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่ามีผู้ประพฤติผิด ผู้อยู่ในฐานะที่จะลงโทษได้
จะเอาชีวิตเขาก็ได้ เกิดกรุณาสงสารว่า ครอบครัวผู้ทำผิดจะพลอดเดือดร้อน
ไปด้วยก็งดเว้นไม่เอาชีวิต เรียกว่า อภัยทาน แม้การให้อย่างอื่น เช่น
ให้แรงกายของตน ก็ชื่อว่าทาน
บุญไม่ขึ้นกับจำนวนเงินหรือปริมาณสิ่งของที่ให้ บุญที่เกี่ยวกับทานนี้
จะนับว่ามากน้อย ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินหรือปริมาณสิ่งของที่สละ
ให้แก่คนอื่นเลย ให้มากได้บุญน้อยก็มี ให้น้อยได้บุญมากก็มี
ดังเรื่องในธรรมบทว่า มีเศรษฐีผู้หนึ่ง มีทรัพย์หลายสิบโกฏิ ปรารถนาจะทำบุญ
ถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์แต่ทว่า ถ้าจะทำด้วยตนเอง ก็ต้องขวนขวายมาก
ต้องตื่นแต่เช้า มาจัดแจงสำรับข้าวปลาอาหารเป็นต้น จึงมอบให้บ่าว (คนรับใช้) ทำแทนทุกอย่าง รวมทั้งอาหารหวานคาว
สำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ ต่อมาทั้งสองคนได้ละโลกนี้ไปแล้ว
นายได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นต่ำ แต่บ่าวได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นสูง ทั้งๆ
ที่บ่าวไม่ต้องจ่ายเงินในการนี้เลย
นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า จิตใจในการให้นั้นสำคัญกว่าวัตถุ
เนื่องจากบ่าวกระตือรือร้นและมีความเลื่อมใสเต็มเปี่ยม
ส่วนนายนั้นแม้มีจิตทำบุญ แต่กลัวลำบาก ถ้าหากต้องลงมือทำเอง แสดงว่าศรัทธา
ความขวนขวายในการบุญมีกำลังน้อยนิดบุญของ 2 คนนี้
จึงส่งผลให้ไปสวรรค์ชั้นที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้น บุญจะได้มากหรือน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินทองเลย
บางคนไม่ได้ทำ ไม่มีโอกาสทำ หรือไม่มีเงินทองจะทำ แต่เห็นคนอื่นทำ
แล้วเกิดจิตอนุโมทนาเปี่ยมล้นว่า คนผู้นี้ได้ถวายอาหารหวานคาว
ใส่บาตรพระที่เป็นพระอรหันต์ นึกอนุโมทนาและยินดีด้วยกับคนที่มีโอกาส
ได้ใส่บาตรให้พระอรหันต์ กำลังของบุญ คือ อนุโมทนาของเขา
มีกำลังมากว่าของผู้ใส่บาตรก็ได้ ซึ่งเห็นว่าเป็นเพียงพระทั่วๆ
ไปที่ไม่ต่างจากรูปอื่น เป็นต้น
ท่านจะได้เข้าใจหลักของกรรมและการกระทำทานที่มีประโยชน์ได้อย่างชัดเจน |