เสบียงทาง
โดย บุษกร เมธางกูร, มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

ในการเดินทางไกลของชีวิต ที่มีการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าหากเราไม่เตรียมพร้อมในการเดินทางไว้ เราก็จะเป็นผู้ขาดแคลนขัดสนและอดอยาก ที่ว่าขาดแคลน ขัดสน และอดอยาก ในที่นี้หมายถึงเรื่องปัญญาโดยตรง เพราะปัญญาเท่านั้นเอง  ที่จะเป็นเพื่อนคู่คิดเป็นมิตรคู่ใจที่ดีที่สุด สำหรับสัตว์โลกทั้งหลาย ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านทรงเผยแผ่ธรรมะให้เวไนยสัตว์รู้ตามและสิ้นสุดไปจากความทุกข์ ดังนั้นการที่เรามีโอกาสมาฟังธรรม มาฟังข้อคิด ซึ่งจะทำให้ชีวิตเราคลายออกจากโมหะ อวิชชา และหลุดพ้น จากวิปลาสธรรมทั้ง ๔ ประการได้ ก็ต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้า

วิปลาสธรรม ๔ ประการ อันได้แก่ 

  • สุภวิปลาส
  • สุขวิปลาส
  • นิจจวิปลาส และ
  • อัตตวิปลาส

สุภวิปลาส

คือ ความเห็นผิดอันคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เห็นว่าชีวิตนั้นเป็นของดีแท้ ที่จริงมิได้เป็นของดี เป็นอสุภะ ไม่ใช่เป็นสุภะ เพราะร่างกายเต็มไปด้วยของปฏิกูล ที่ควรนำเอามาปลง เช่น เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) เป็นต้น สิ่งปฏิกูลต่างๆ เหล่านี้ไหลออกมาจากทวารทั้ง ๙ ทำให้ต้องชำระสะสางกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนทางจิตใจนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะสะอาดบริสุทธิ์ เพราะว่าจิตใจของเราจมปลักอยู่ในอาสวะกิเลส ซึ่งก็คือ กิเลสที่นอนเนืองอยู่ในขันธสันดานและแสดงออกมาทางกาย วาจา ซึ่งเรียกว่า กิเลสอย่างหยาบ แม้ว่าจะไม่แสดงออกมาทางกาย วาจา กิเลสนี้ก็ควบคุมจิตอยู่ ทำให้เกิดนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ

  1. กามฉันทะ

  2. พยาปาทะ

  3. ถีนมิทธะ

  4. อุทธัจจกุกกุจจะ

  5. วิจิกิจฉา

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขึ้นชื่อว่า “ชีวิต” มิใช่สิ่งที่น่าชื่นชม แต่เรามีชีวิตมาแล้วเราจะทำอย่างไรกับชีวิตจึงจะดี และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องศึกษากันต่อไป

สุขวิปลาส

ด้วยเพราะเราหลงว่าชีวิตนี้มีความสุข แท้ที่จริงชีวิตไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ทั้งสิ้น เราจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียด คู้ ก้ม เงย เราจะต้องแก้ไขตลอดเวลา เมื่อหิวก็ต้องเติมอาหาร เพราะชีวิตนั้นมีความพร่องอยู่เป็นนิตย์ ฉะนั้นจึงไม่มีความสุขเลยในชีวิตของเรา แต่ที่เราว่าเป็นสุขเพราะทุกข์น้อยลง เช่น ยืนนาน ๆ เกิดความเมื่อยจึงมานั่ง ความทุกข์ที่เกิดจากการยืนนานแล้วมานั่ง ทุกข์นั้นก็เบาบางลงน้อยลง แล้วเราก็อุปโลกหลงไปว่าชีวิตนั้นเป็นความสุข

นิจจวิปลาส

เราหลงคิดว่าชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยง แท้ที่จริงชีวิตนั้นไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทางด้านร่างกายก็รุกคืบหน้าไปสู่ความเสื่อม ในที่สุดก็ต้องแก่และก็ต้องตายไป จัดอยู่ทางด้านรูปธรรม ส่วนทางด้านจิตใจก็เป็นอนิจจังเช่นกัน มีแต่ความไม่เที่ยง ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องรู้รส สลับกันไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รสต่าง ๆ เหล่านี้ก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุปัจจัย สิ่งเหล่านั้นก็ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ต้องดับไปเป็นของธรรมดา

อัตตวิปลาส

เรามีความเข้าใจผิดเห็นผิดว่าชีวิตนี้เป็นเรา เป็นของๆ เรา เป็นตัวตน คน สัตว์ แท้ที่จริงประกอบด้วยรูปนามขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งประชุมกันเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เหมือนกับว่าเมื่อเราจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ เราก็จะต้องขอวีซ่า บางครั้งเขาก็ให้ ๖ เดือน ๑ ปี ๒ ปี ๑๐ ปีบ้าง แล้วแต่ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงไร แล้วแต่การพิจารณาของสถานฑูต ก็เปรียบเสมือนกับที่เรา ได้วีซ่าเข้าประเทศคือ มนุษย์ภูมิ หรือมนุษย์สมบัติ และถ้ามีกุศลมาก เราก็อยู่ได้นาน แต่ถ้าทำอุปัจเฉทกรรมไว้ก็มีกรรมาตัดรอน ซึ่งก็เหมือนได้วีซ่ามาน้อย ฉะนั้น เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องศึกษา

การได้ฟังพระธรรมและการบอกธรรม นับว่าเป็นธรรมทาน ทานหลายๆ ชนิด  มีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทาน เพราะการให้ธรรมะเป็นทาน นับว่าเป็นการให้ทานชนิดสูงสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสยกย่องว่า เป็นทานที่เหนือกว่าทานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นการให้แสงสว่างของชีวิต หรือเรียกว่าการให้ปัญญาคือ อาวุธ ที่จะคอยฟันฝ่าอุปสรรคอันได้แก่ วิบากขันธ์ที่เกิดขึ้นมาที่มีรูปร่างกายจิตใจ ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

เรามาลองคิดดูว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร ท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "ชีวิต คือ การต่อสู้" ท่านทราบหรือยังว่า ที่ว่าต่อสู้นั้น ต่อสู้กับอะไร สู้กับใคร ท่านกำลังสู้อยู่กับศัตรูที่ไม่มีทางชนะ ก็คือ ความทุกข์นั่นเอง เพราะไม่มีใครสักคนที่เอาชนะความทุกข์ได้ ต่างก็พ่ายแพ้แก่ความทุกข์ทั้งสิ้น ในที่สุดก็ถึงแก่ความตาย

ความทุกข์ คือ สิ่งที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หนีไปไม่พ้นไม่ว่าจะเป็นทุกข์กายหรือทุกข์ใจ พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่องทุกข์ มีทั้งสิ้น ๑๑ ประการ เป็นทุกข์ประจำ ๓ ประการ คือ เกิด แก่ ตาย เหลืออีก ๘ ประการ เป็นปกิณณกะทุกข์ คือ ทุกข์จรเบ็ดเตล็ด เช่น มีความทุกข์กาย มีความทุกข์ใจ มีความบ่นเพ้อรำพันตัดอาลัยไม่ขาด มีความพลัดพรากจากสิ่งที่ตนเองรักใคร่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่าความทุกข์ทั้งสิ้น การที่เราเข้าไปยึดไปถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนว่ามีความเที่ยง เป็นอัตตา เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายกาจ เพราะธรรมชาติทั้งหลายพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ - ธรรมทั้งหลายไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ การที่เรามีโอกาสฟังธรรม และแนะนำเพื่อนร่วมเกิดเจ็บตายให้มาศึกษาธรรม หรือทำความอุปถัมภ์ด้วยการดูแลบิดามารดา โดยพาท่านไปฟังธรรมชี้นำให้ท่านเห็นแสงสว่างของชีวิต นับว่าเป็นความกตัญญูและกตเวทิตาธรรมที่สูงสุด

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาว่า บิดามารดาเป็นเสมือนพระพรหมของลูก เป็นผู้ให้ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อลูกๆทุกคน ฉะนั้นลูกทุกคนต้องทดแทนพระคุณท่าน บุญคุณของพ่อแม่นั้นมากหนักหนา ยากจะทดแทนได้หมด

ถ้ามีใครคิดจะทดแทนบุญคุณบิดามารดา โดยยกเอามารดาไว้บนไหล่ขวา บิดาไว้บนไหล่ซ้าย แล้วให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนตัวของเรา   ป้อนข้าวป้อนน้ำอยู่ถึงร้อยปี แบกภาระแบกขันธ์ของท่านไว้อย่างนั้น จนกระทั่งท่านเสียชีวิตลงไป  ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของท่านได้หมด เพราะพระคุณของพ่อแม่นั้นสุดที่จะประมาณได้ แต่การแนะนำให้ท่านหันจิตมากำหนดชีวิตและทิศทางให้กับชีวิตในการเดินทางตามหลักพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นการตอบแทนพระคุณที่มีค่าและสมบูรณ์ที่สุด

ไม่จำเพาะเราท่านทั้งหลายเท่านั้น แม้แต่พระสารีบุตรเถระ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านก็ได้นำธรรมะไปโปรดมารดาของท่าน เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการให้ธรรมะ หรือการโปรดมารดาให้รู้ธรรมและถึงธรรมได้นั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐสูงสุด

ฉะนั้น เมื่อเราศึกษาพระอภิธรรม เราก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่เราแสนรัก ที่เราหลงยึด แท้ที่จริงเป็นอะไรกันแน่ รูปนี้ เรานึกว่าเป็นเราคนเดียวแท้ที่จริงไม่ใช่ มันเกิดขึ้นจากดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รสโอชา มาประชุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เรียกว่า ฆนสัญญา แล้วทำให้เราหลงว่าเป็นเรา เป็นเราคนเดียวนั่ง เป็นเราคนเดียวนอน แท้ที่จริงเป็นการประชุมของรูปต่างๆ ที่เรายื่นมือไปได้ ทักทายใครได้ โบกมือกวักมือเรียกใครได้ ก็เพราะว่ามีรูปควรแก่การงาน คือ วิการรูป ๓ รูปเบา รูปอ่อน รูปควรแก่การงาน ถ้าขาดรูปเหล่านี้ก็จะเป็นอัมพาต คือ มีความพิการในรูปใดรูปหนึ่ง และความละเอียดอ่อนของพระอภิธรรมจะทำให้เราซาบซึ้ง จะทำให้ทิฏฐิของเราวิสุทธิขึ้น คือความเห็นของเราวิสุทธิขึ้น เมื่อเราปฏิบัติจนกระทั่งมีความเห็นถูกมากขึ้นในหลักธรรม โดยเดินตามวินัยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้

เราก็จะสามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ เหลือชีวิตอีกเพียง ๗ ชาติ ในการเวียนว่ายตายเกิด มีที่หมายมีกำหนดกฏเกณฑ์ และเมื่อเป็นพระอรหันต์เมื่อไร ก็เป็นชาติสุดท้ายเพราะไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว อย่างเราๆ ท่านๆ นี้ยังเต็มไปด้วยสิ่งที่ห่อหุ้มจิตใจไม่ให้บริสุทธิ์ สิ่งนั้นก็คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง จัดเป็นโลภะ ๘ ดวง โทสะ ๒ ดวง โมหะ ๒ ดวง ถ้าเราได้เรียนแล้วเราจะเห็นความร้ายกาจความน่ากลัวของอกุศล ๑๒ นี้อย่างมาก

ในขณะนี้เรามีชีวิตอยู่ แต่ในอนาคตวันใดวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องเป็นศพ เราเคยไปเผาศพแต่อีกไม่นานเราก็ต้องถูกเผาเหมือนกัน อีกหน่อยเราก็ไม่มีโอกาสเห็น เพราะเราจะต้องอยู่ตรงนั้นแทน นี่คือเรื่อง “วัฏฏะ” วัฏฏะ คือ วงกลม และเป็นวัฏฏภัยด้วย ชีวิตตกอยู่ในวัฏฏภัย ซึ่งเป็นวงกลม ๓ เปลาะ มี กิเลส กรรม วิบาก ที่เราเกิดมาได้มีร่างกาย เรียก วิบากขันธ์

รูปนามขันธ์ ๕ ของเราเป็นวิบาก เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วก็มีการกระทำ มีพฤติกรรม มีเจตนา แล้วเราก็ทำทั้งกรรมดีกรรมชั่ว ในจิตใจของเรา การเห็นที่เราพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง การเห็นของเรานั้นก็ประกอบไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง สลับเข้าออกอย่างนั้น แล้วโทสะ ก็จัดว่าเป็นกิเลส เป็นโรคร้ายทางใจ ฉะนั้น เราหนีไม่พ้นเลยจากกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ วงกลม ๓ เปลาะนี้ ได้จัดชีวิตของเรา ควบคุมชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น อิสรภาพอันสมบูรณ์ของเราจึงไม่มี คือการได้สุข ได้พ้นไปจากความทุกข์นั้น ไม่มีจึงต้องศึกษาและเดินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ มีมรรค ๘ หรือสงเคราะห์ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ การเจริญภาวนา เรียกว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” ซึ่งต่างจากสมถกรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การเจริญชีวิต ที่ประกอบไปด้วยปัญญารู้ตามความจริง บนความเป็นจริง รู้ความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรานั่ง ไม่ใช่เราเดิน ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ขณะนั่งอาการนั่งปรากฏเป็น “รูปนั่ง” ความรู้สึกทั้งหลายไม่มีคนไปรู้สึก คนเป็นเรื่องสมมติ เป็นภาษาสมมติเท่านั้นเอง แต่ความรู้สึกเป็นหน้าที่ของจิตใจ จิตนี้มีในเราทุกคน จิตเป็น “นาม” ก็ต้องเป็น “นามรู้สึก” นี้เป็นขั้นพื้นฐาน เป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งต้องศึกษาก่อน แล้วจึงนำเอาไปปฏิบัติ เอาไปกำหนด เอาไปพิจารณา ก็จะเป็นการละคลายความเห็นผิด คือ ละคลายสักกายทิฏฐิ ที่เห็นผิดว่าเป็นตัวตน คน สัตว์

เมื่อบารมีเกิดขึ้น ปัญญาญาณเกิดขึ้น เป็นลำดับ ตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ปัจจัยปริคญาณ สัมมสนญาณ จนกระทั่งถึงญาณอันแก่กล้าแล้ว คือ อุทยัพพยญาณ ใจของเราจะโน้มไปเอนไปด้วยปัญญาบารมี แล้วตัวปัญญาบารมีก็จะเป็นตัวตัดวัฏฏะ ซึ่งเรียกว่า “วิวัฏฏะ” แปลว่า การตัดวงกลมคือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ ของเรา แล้วในที่สุดเมื่อเรามีบารมีพรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วย สติมา สัมปชาโน อาตาปี เราก็จะบรรลุธรรมอันเป็นคุณลักษณะพิเศษ คือ ความสิ้นสุดจากกิเลสขันธสันดาน เมื่อไม่มีกิเลสเสียอย่างหนึ่ง เราก็ไม่เป็นทาสกิเลส เราก็พ้นทุกข์ได้

เหตุที่เกิดทุกข์ คือ ตัณหาทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่อยู่ด้วยตัณหา คือ อย่าอยู่อย่างอยาก คือ จะกินก็กินเพื่อแก้ทุกข์ เราต้องมีการกำหนด ซึ่งในภาษาธรรมะเรียก “โยนิโสมนสิการ” เมื่อเรามีโยนิโสมนสิการ คือ มีการวางใจกำหนดว่าก่อนทำ เราทำเพื่ออะไร เช่น เราจะทานอาหาร เราก็ต้องรู้ก่อนว่า เราจะทานเพื่ออะไร รู้ว่าขณะนี้หิวแล้ว จำเป็นต้องทานเพื่อแก้ไขทุกข์ เราก็รับประทานด้วยความจำเป็น ไม่ได้รับประทานด้วยความอยาก ฉะนั้น ตัณหาก็จะเกิดกับการกำหนดของโยคาวรผู้นั้นไม่ได้ เท่ากับเราปลีกทางออกจากการสร้างเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (เมื่อถึงตรงนี้กจะเห็นว่าไม่ยาก แต่ที่ยากก็เพราะว่าเมื่อพูดถึงเรื่องทุกข์ไม่มีใครชอบ แต่เราต้องชอบให้ได้ คือ เราต้องพยายามสร้างศรัทธานั่นเอง)

เพราะเราไม่ต้องการทุกข์ แล้วเราไม่รู้จักทุกข์ เราจะไปพ้นทุกข์ได้อย่างไร ความรู้ถูกจริงตามคำสอนของพระศาสดาเท่านั้น จะเป็นเสบียงทางคอยช่วยท่าน ในการเดินทางอันไกลได้ และเป็นความจริงที่สุดว่า ไม่มีใครช่วยเราได้หากเราไม่ช่วยตัวเอง

Go back to the Main Page
Last updated: 07/10/03