อกุศลวิบากกรรม
ถ่ายทอดโดย ปราณี ตรีเศรษฐ

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมเท่านั้นที่จำแนกสัตว์ ให้เลวและประณีตได้ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด ไม่เอ็นดูเกื้อกูลในหมู่สัตว์มีชีวิต เขาตายไปจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมที่ได้ทำไปแล้วนั้น หากตายไป แม้ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อมีอายุสั้นนี้ คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป” 

จากนั้น พระองค์ทรงยกตัวอย่าง สมัยที่ยังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ได้เกิดเป็นลูกของพราหมณ์มหาศาลมีสมบัติมากมาย ชื่อว่า ทีปายนะ ท่านมีเพื่อนรักคนหนึ่งชื่อ มัณฑัพยะ เมื่อโตขึ้นไม่เห็นสาระในการที่จะต้องอยู่ครองเรือน จึงชักชวนเพื่อนทำบุญให้ทานเป็นการใหญ่ ได้ขนสมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด มากองไว้หน้าบ้าน ประกาศให้มหาชนมาขนเอาไป โดยไม่เสียดายเลย เนื่องจากทั้งสองท่านเป็นที่เคารพรักของคนทั้งเมือง การตัดสินใจออกบวชของท่าน ทำให้มีผู้คนร้องห่มร้องไห้ไม่อยากให้ออกบวช เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เมื่อท่านตัดสินใจที่จะบำเพ็ญเนกขัมมบารมีแล้ว แม้จะมีใครมาหน่วงเหนี่ยวอ้อนวอนเอาไว้ ก็ไม่ใส่ใจ ไม่ห่วงใยอาลัย อาวรณ์ในสิ่งใดทั้งสิ้น 

ทั้งสองท่านได้ออกไปสร้างอาศรมบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ได้ ๕๐ ปี ก็ชักชวนกันออกจากป่า เพื่อเข้ามาเสพรสเค็มรสเปรี้ยวในเมือง จึงได้เที่ยวไปตามชนบทจนถึงเมืองพาราณสี อาศัยอธิมุตติกสุสานเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่หลายวัน ทีปายนดาบสเห็นว่าได้พำนักอยู่ที่ป่าช้าหลายวันแล้ว ก็ออกเดินทางไปหมู่บ้านอื่นเพื่อแนะนำมหาชนให้รู้จักสั่งสมบุญ เหลือเพียงมัณฑัพยดาบส เท่านั้นที่อยู่ในสุสานนั้นตามลำพัง 

อยู่มาวันหนึ่ง พวกโจรได้เข้าไปขโมยของภายในเมือง เมื่อเจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ตื่นขึ้น รู้ว่ามีขโมยแอบเข้ามาก็พากันตามจับโจรรีบวิ่งเข้าป่าช้าทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของพระดาบสส่วนหนึ่ง แล้วรีบหลบหนีไป พวกมนุษย์ที่ตามมาติดๆ เห็นห่อทรัพย์วางอยู่หน้าบรรณศาลาเข้า จึงตรงเข้าจับท่านดาบสซึ่งกำลังทำภาวนาอยู่ในห้อง ต่างรุมทุบตีท่านแล้วจับส่งพระราชา 

พระราชาเองยังไม่ทันทรงพิจารณาเสียก่อน รับสั่งให้ราชบุรุษเอาตัวท่าน ไปเสียบที่หลาว พวกราชบุรุษจึงนำตัวท่านไปเสียบหลาวไม้ตะเคียนในป่าช้า เนื่องจากว่าดาบสเป็นผู้มีฤทธิ์มีเดชมาก ไม่มีใครสามารถฆ่าท่านได้ หากท่านจะเหาะหนี ก็กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเหมารวมนักบวชทั้งหมดว่า เป็นผู้ไม่มีศีล ต่อไปจะอยู่อย่างไม่มีความสุข ท่านจึงยอมให้เขาทรมาน แต่หลาวไม้ตะเคียนที่เอามา เสียบร่างกายของท่านนั้น จะเสียบ จะแทง ยังไงก็ไม่เข้า จึงเปลี่ยนเอาหลาวไม้สะเดาก็ยังไม่เข้าอีก เอาหลาวเหล็กเสียบก็ไม่เข้า 

ท่านดาบสจึงใคร่ครวญดูบุพกรรมของตนเอง ระลึกชาติไปดูว่า กรรมอะไรหนอ ทำให้ต้องได้รับโทษทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดเลย ท่านก็รู้ในญาณว่า ในภพชาติก่อน ได้เกิดเป็นลูกชายของช่างไม้ ได้ไปถากไม้กับบิดา จับแมลงวันมาตัวหนึ่งแล้ว เอาหนาม ไม้ทองหลางมาเสียบ บาปกรรมนั้นจึงตามมาทัน แล้วท่านรู้ตัวว่า ไม่อาจพ้นบาปกรรมนี้ได้ จึงบอกพวกราชบุรุษว่า “ถ้าท่านต้องการจะเอาหลาวเสียบเรา จงใช้หลาวไม้ทองหลางเถิด” พวกราชบุรุษทำตาม แล้ววางคนซุ่มรักษาอยู่ เพื่อคอยดูผู้ที่จะแอบมาช่วยเหลือดาบส 

ในวันนั้นเอง ทีปายนดาบสนึกถึงเพื่อน ไม่ได้เจอกันมาหลายวัน จึงเดินทางกลับมาเยี่ยมท่านที่ป่าช้า ในระหว่างทางเมื่อท่านทราบข่าวนั้น จึงรีบเข้าไปในป่าช้า เห็นเพื่อนถูกทรมานแสนสาหัส เลือดท่วมตัว ก็บังเกิดความสงสัย ไต่ถามว่า “เพื่อนเอ๋ย ท่านได้ ทำผิดอะไรหรือ ทำไมถึงโดนทรมานถึงเพียงนี้” เมื่อรู้ว่าเพื่อนไม่ได้ทำผิด จึงถามต่อไปว่า “ท่านอาจจะรักษาใจของตนเองไม่ให้มีความขุ่นมัวได้หรือไม่” มัณฑัพยดาบสตอบว่า “เพื่อนเอ๋ย เราไม่ได้มีใจขุ่นมัวหรือขัดเคืองเลย” 

ทีปายนดาบสฟังแล้วชื่นใจ บอกเพื่อนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่านเป็นความสุขสำหรับเรา แล้วเข้าไปนั่งพิงหลาวอยู่เป็นเพื่อน หยาดโลหิตที่ออกจากร่างกายของมัณฑัพยดาบส ก็หยดลงถูกตัวของทีปายนดาบส สรีระที่ผ่องใสดุจทอง ก็เปรอะเปื้อนด้วยเลือด แต่ไม่รู้สึกรังเกียจ ท่านนั่งพิงหลาวตลอดคืนยันรุ่งโดยไม่ได้สะทกสะท้านว่า จะถูกจับไปฆ่าเหมือนเพื่อน วันรุ่งขึ้น พวกราชบุรุษได้ไปกราบทูลเหตุการณ์นั้นให้พระราชาทรงทราบ พระราชาจึงรีบเสด็จไปหาแล้วตรัสถามทีปายนดาบสว่า “ดูก่อนบรรพชิต เหตุไรท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่” ทีปายนดาบสตอบว่า “มหาบพิตร อาตมภาพนั่งรักษาดาบสนี้อยู่ ก็มหาบพิตรทรงทราบแล้วหรือว่าดาบสนี้ทำผิด หรือไม่ได้ทำผิด จึงได้ลงอาญาอย่างนี้” เมื่อทราบว่ายังไม่ได้ทันพิจารณา จึงกล่าวสอนว่า “ธรรมดาว่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ถ้าเป็นคนเกียจคร้านแล้วไม่ดี พระราชาควรจะพิจารณาก่อนแล้วจึงกระทำ จึงจะเป็นที่พึ่งของ มหาชนได้” 

เมื่อพระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยดาบสไม่มีความผิด จึงรับสั่งให้ถอนหลาวออก พวกราชบุรุษไม่สามารถจะถอนหลาวออกได้ ฝ่ายดาบสทูลพระราชาว่า “มหาบพิตร อาตมภาพถึง ความพินาศย่อยยับอย่างนี้ก็ด้วยอำนาจกรรมที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน ไม่มีใครถอนหลาวออกจากตัวอาตมภาพได้ ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานชีวิตแก่อาตมภาพ โปรดให้เอาเลื่อยมาตัดหลาวนี้ให้เสมอหนังเถิด” 

พระราชารับสั่งให้กระทำตามนั้น ภายในร่างกายของดาบสจึงมีหลาวติดอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่เอาหนามทองหลางเสียบก้นแมลงวันแต่ก็ยังไม่ตาย จะตายต่อเมื่อหมดอายุขัยของมัน เพราะฉะนั้นดาบสนี้จึงไม่ตาย แต่ปลายหลาวก็ฝังติดอยู่ในร่างกายของท่านเรื่อยมา พระราชาทรงนมัสการพระดาบสทั้งสองให้งดโทษ แล้วนิมนต์ให้อยู่ในพระราชอุทยาน ทำการรักษาแผล ให้ท่านบำเพ็ญสมณธรรมอย่างมีความสุขตลอดอายุขัย 

เราจะเห็นว่า บาปกรรมแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ล้วนส่งผลทั้งสิ้น ทุกอย่างที่เราทำเอาไว้ไม่ว่าดีหรือชั่ว ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในใจของเราเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอวันส่งผลเท่านั้นเองเหมือนระเบิดเวลาที่นับถอยหลัง เมื่อถึงกำหนดต้องระเบิดอย่างแน่นอน แล้วในอดีตที่ผ่านมานั้น เราไม่รู้ว่าได้ทำบาปอกุศลอะไรเอาไว้บ้าง ทำให้โศกนาฏกรรมบังเกิดขึ้นโดยไม่ทันรู้ตัว จึงอยากจะฝากข้อคิดว่า เราไม่ควรประมาทในชีวิต เพราะชีวิตในโลกนี้แสนสั้น แต่ชีวิตหลังความตายช่างยาวนานยิ่งนัก เราควรเร่งรีบสั่งสมบุญกัน ก่อนที่จะหมดโอกาส จะได้ไม่ต้องมาเสียดายภายหลัง ดังคำสุภาษิตที่ กล่าวว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งนํ้าตา แต่สำหรับนักสร้างบารมีแล้ว แม้เห็นโลงศพก็จะไม่หลั่งนํ้าตา ไม่กลัวต่อพญามัจจุราช ที่มาพรากชีวิตเราไป เพราะการตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ เปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่ชีวิตที่ละเอียดและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความตายดูเหมือนจะเป็นโศกนาฏกรรม ที่เลวร้ายและน่ากลัวที่สุด แต่โศกนาฏกรรมอย่างหนึ่ง ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ได้สั่งสมบุญเอาไว้ติดตัว มัวแต่แสวงหาทรัพย์สมบัติหรือสร้างแต่บาปอกุศลเอาไว้ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งนัก เพราะกว่าจะได้กลับมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสดีๆ เช่นนี้ ไม่รู้อีกกี่ภพกี่ชาติ 

ผู้ฉลาดจึงควรเร่งรีบสั่งสมบุญบารมีก่อนที่ชีวีจะหาไม่ ใจของเราดวงนี้ควรมีแต่ภาพของกุศลกรรม เก็บเกี่ยวเอาแต่สิ่งที่ดีงามไว้ให้มากๆ แม้ว่าเราจะมีกรรมเป็นตัวควบคุม ก็ให้มีแต่กุศลกรรมติดตัวไปล้วนๆ กันทุกคนดีกว่า

Go back to the Main Page

Last updated: 13/11/01