วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสมาพูดเรื่องการปฏิบัติ เพื่อเป็นการแนะแนวทางการปฏิบัติ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่บางท่านอาจจะเคยปฏิบัติมาบ้างแล้ว หรือบางท่านที่ไม่เคยได้ปฏิบัติที่ไหนมาก่อนเลย ดิฉันขอถือว่า เป็นผู้มาปฏิบัติใหม่ด้วยกันทั้งนั้นนะคะ
ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนาสักเล็กน้อยนะคะว่า พระพุทธศาสนาที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านี่น่ะ เกิดขึ้นด้วยปัญญาของพระองค์ เพราะว่า คำสอนทุกบทตอนนั้นล้วนแต่สอนให้ละกิเลสทั้งสิ้นทีนี้เราที่นับถือพระพุทธศาสนากันอยู่นี่น่ะ จะช่วยกันทำนุบำรุงพุทธศาสนากันได้อย่างไร? อันนี้ดิฉันถือว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนนะคะ เราจะทำอย่างไร? คำตอบไม่ยากค่ะ
ถ้าเรารู้จักธุระในพระพุทธศาสนา
ธุระในพระพุทธศาสนา
ธุระในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ อย่าง คือ
คันถธุระ เล่าเรียนศึกษาและวิปัสสนาธุระ
ฝึกขัดเกลากิเลสให้จิตใจเข้าถึงความบริสุทธิ์ มีอยู่ ๒ อย่างนี้เท่านั้น
ถ้าหากว่ากิจทั้งสองอย่างนี้ยังบริบูรณ์และแพร่หลาย ก็หมายความว่า
พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่หรือ เจริญมากขึ้น เพราะมีคนเข้าใจมากขึ้น คนรู้มากขึ้น ธุระทั้ง ๒ อย่างนี้จะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ การศึกษาเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว
ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าถึงคำสอนของท่านโดยแท้จริงได้ การปฏิบัติเพียงอย่างเดียว ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนก็อาจจะทำไม่ถูก เมื่อทำไม่ถูก
ก็ไม่สามารถจะไปถึงคำสอนของพระบรมศาสดา
โดยเหตุผลที่แท้จริงได้
ความเสื่อมแห่งพระศาสนา
เวลานี้ธุระในพุทธศาสนาทั้ง ๒ นี้เสื่อมไป เสื่อมไปมากทีเดียว คันถธุระมีอยู่จริง การเล่าเรียนศึกษามีมากจริง แต่ว่าการเล่าเรียนส่วนมากไม่ได้ตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสแต่เพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
วัตถุประสงค์ของพระบรมศาสดานั้น เมื่อได้เล่าเรียนจนเข้าใจแล้วจะได้ทำงาน เช่นเดียวกับวิชาการทางโลก เมื่อเล่าเรียนจบการศึกษาแล้วก็จะต้องทำงาน ถ้าไม่ทำงานเลย การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่เกิดประโยชน์ วิชชานั้นจะเกิดประโยชน์อยู่ที่ จรณะ คือ การงาน ทำการงานแล้วผลของงานจึงจะเป็นประโยชน์
การแตกธรรมสามัคคีระหว่างคนปฏิบัติ และผู้ที่ใฝ่ใจในการเรียนก็เป็นเหตุแห่งความเสื่อม ต่างฝ่ายต่างติ พวกปริยัติก็ติคนปฏิบัติว่าไม่เข้าใจ นั่งหลับหูหลับตาอยู่ในป่าในดงไม่รู้เรื่องรู้ราว คนปฏิบัติก็ติว่าพวกปริยัติไม่เคยปฏิบัติอะไรเลย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ไม่เคยเห็นไม่เคยพบ ดีแต่ตำรา
เมื่อแตกสามัคคีก็ต้องมีแต่ความวิบัติอย่างไม่ต้องสงสัย
เวลานี้เสื่อมมากทีเดียว การเล่าเรียนก็ไม่เข้าใจ อย่าคิดว่าเรียนแล้วจะเข้าใจ การปฏิบัติก็มีน้อย แบบอย่างต่างๆ วิธีต่างๆ ตำราต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาว่าด้วยการปฏิบัติก็มีมากมาย จนกระทั่งคนปฏิบัติไม่รู้ว่า อะไรถูกอะไรผิด นี่ก็แสดงว่า เสื่อมแล้ว
อุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ที่จะปฏิบัติ
สำหรับผู้ที่อยากจะมาปฏิบัติ อยากจะรู้ธรรม หรืออยากจะหมดกิเลสก็หาได้จาก ตามความรู้สึกแล้ว ฆราวาสมากกว่าพระ
คนที่จะมาเข้ากรรมฐานนี้สังเกตดูได้ทุกแห่งฆราวาสมีตั้ง ๑๐ ตั้ง ๒๐ บางทีพระมี ๒ องค์ ๓ องค์ ดูทีนี่เป็นตัวอย่างมีเท่าไร ฆราวาสนั้นไหนเขาจะห่วงบ้าน ห่วงลูก ห่วงเมีย ห่วงการทำมาหากิน ทุกอย่างเป็นภาระมากของฆราวาสเหลือเกิน
แต่ก็อุตส่าห์ปลีกมาได้
คนที่จะมาได้เขาก็สามารถที่จะมาได้ ไม่มีอุปสรรค เอาละจะมา ๗ วัน ๑๕ วัน หรือเดือนหนึ่งก็ไม่ว่า ไม่ใช่ของง่ายเลยสำหรับการที่จะออกมาได้ บางคนนึกว่าจะออกมานึกไว้ตั้ง ๓ ปีแต่ก็ไม่ได้ออก อย่างนี้ก็มี แต่ก็ยังดีที่นึกว่าจะออกมาปฏิบัติสัก ๑๐ วัน ๑๕ วันก็แล้วแต่โอกาสที่กิเลสเขาจะอนุญาตให้ แปลว่า ต้องลากิเลสมาจึงจะมาเข้ากรรมฐานได้ ถ้ากิเลสไม่อนุญาตแล้วมาไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นทาสของกิเลสอยู่ กิเลสเป็นตัวขัดขวางไว้ต่าง ๆ ท่านที่มาได้นี้ก็แสดงว่ากิเลสเขาให้มา ก็แล้วแต่กิเลสเขาจะให้มากี่วัน บางคนกิเลสเขาให้ลาสัก ๑๕ วัน อยู่ไม่ถึง ๑๐ วัน ได้ ๗ วัน อยู่ไม่ได้เสียแล้วต้องไปแล้ว อย่างนี้ก็มี
ขั้นตอนแรกต้องชนะกิเลสด้วยอำนาจสัทธา
เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่า ชนะกิเลสได้มาขึ้นหนึ่งแล้ว
ทุกคนที่มานี่แปลว่าชนะกิเลสมาแล้วขั้นหนึ่งทั้งนั้น ขั้นนี้แหละเป็นแก่นสำคัญ ถ้าเขาไม่อนุญาตแล้วมาไม่ได้จริง ๆ นี่ด้วยอำนาจ สัทธา และดิฉันก็ถือว่ามีบารมีเก่ามาแล้วด้วย ถ้าคนที่ไม่มีบารมีมาแล้วไม่ได้เลย อาชีพและความยากจนไม่เกี่ยว บางคนร่ำรวยล้นเหลือมีเงินเป็นร้อยล้าน นั่งกินนอนกินจนตายก็ไม่หมด แต่ก็มาไม่ได้ ยังหากินยังไม่พอลูกเต้าก็ไม่มี แต่ไม่ทราบว่า เรื่องอะไรกิเลสมันไม่อนุญาต ทั้ง ๆที่เลื่อมใสสัทธา พระอภิธรรมก็ไปเรียน แต่ก็มาไม่ได้ นี่ไม่มีบารมีมาเลย คนที่มาได้แสดงว่ามีบารมีมาเหนืออำนาจกิเลส ชนะมาได้ชั่วคราว ความยากจนไม่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่าคนจนแล้วจะไม่ได้สำเร็จ คนจนเป็นพระอรหันต์ก็ได้คนรวยไม่เป็นก็ได้ มันอยู่ที่บารมี ไม่ได้อยู่ที่เงินทอง นี่ก็มีบารมีมาแล้วถึงได้ชนะ ต้องมีสัทธากันมาเต็มที่แล้ว
ขั้นที่ ๒ ต้องทำงานด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์
เมื่อได้สัทธามาแล้ว ขั้นที่สองก็ลงมือทำงาน ทีนี้ก็ อาศัยวิริยะ ความเพียร
ความเพียรต้องไม่ท้อถอย พยายามเอาชนะ เพราะระหว่างที่เราปฏิบัติอยู่นี้ก็ต้องมีอุปสรรคอีก ขณะนี้เรายังไม่มี แต่พอเวลาทำงานเข้า จิตใจมันถูกบังคับ
คือว่าเวลานี้กิเลสมันหล่อเลี้ยงเราอยู่ พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ก็แล้วแต่สารพัดกิเลสที่ห่อหุ้ม จิตใจก็ถูกกิเลสลากไปทางโน้นลากไปทางนี้ก็เฟ้อเฟ้อไป
ทีนี้เวลาที่เรามาเข้ากรรมฐานเราจะเป็นไปตามนั้นไม่ได้แล้ว
กิเลสนี่มันเหมือนกับพ่อแม่ที่ประจำติดกับเรา ถ้าเอากิเลสออก บางคนบอกว่าไม่ไหว จะตายเอา ทีนี้เราก็จะต้องอาศัยความเพียร อาศัย สติ อาศัย ปัญญา อาศัย ขันติ ความอดทน ปัญญาเป็นสิ่งที่ต้องการอบรม เวลานี้ปัญญาเราน้อยก็ต้องมาอบรมให้มีกำลัง
เวลาทำจริง ก็ต้องคอยสำรวมจิตใจให้อยู่ในวงจำกัดของอารมณ์นามรูป ถ้าลงมือทำก็จะเห็นว่า ความเพียรอย่างนี้เป็นความเพียรที่ไม่ใช่ง่าย การขนอิฐขนดินหรือกรรมกรต่าง ๆก็ต้องมีความเพียรเหมือนกัน มิฉะนั้นก็ไม่สำเร็จ
แต่ความเพียรเหล่านั้นกิเลสมันเข้าไปช่วยอุดหนุนอยู่ ให้มีกำลังมาก ทำได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ความเพียรที่เรานำมาใช้นี้ เป็นความเพียรที่ทำลายกิเลสไม่ให้กิเลสเข้ามาอาศัย ความเพียรนี้ไม่ต้องอาศัยกิเลสจึงลำบากมาก คล้าย ๆ กับไม่มีเครื่องล่อจึงต้องลำบาก แต่ความเพียรเหล่านั้นมีเครื่องล่อ เราทำงานเพื่อจะได้เงินเดือน เราศึกษาเล่าเรียน เพื่อสอบไล่ได้ แล้วเราก็จะมีผลมีประโยชน์ต่าง ๆ เราก็พยายามทำได้ แต่ความเพียรในที่นี้ไม่มีเครื่องล่อ เพราะว่าเพียรทำลายกิเลส จึงหากำลังได้ยาก กำลังอะไรจะมากเท่ากิเลสนั้นไม่มี วิตามินอะไรก็สู้ไม่ได้ ขอให้กิเลสเกิดเถอะ คนแก่คนเฒ่าก็มีกำลังวังชา ตุ่มทั้งใบก็ยกได้ กลัวไฟไหม้ แต่พอเสร็จแล้วไม่มีกำลังจะยกกลับ พอโกรธ ขึ้นมา รัก ขึ้นมา ลำบากลำบนอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่ความเพียรเจริญวิปัสสนานี้ไม่มีกิเลส เครื่องอุดหนุน มีแต่ สัทธากับปัญญา ๒ อันเท่านั้นที่จะอุดหนุนความเพียรได้ สัทธา ที่หวังประโยชน์จาการปฏิบัตินี้อย่างหนึ่ง กับ ปัญญา ที่ต้องคอยปลอบใจตัวเองอยู่อีกอย่างหนึ่ง เช่น บางทีนึกกลุ้มใจอยากกลับบ้าน ก็จะต้องคอยถามว่าจะไปทำไม? จะไปหาอะไร? เพื่อประโยชน์อะไร? นี่แหละทีแรกเราต้องมีปัญญาคอยสั่งสอนอบรม มิฉะนั้นจะอยู่ไม่ได้ ต้องมี ปัญญา ด้วย สติ ด้วย ทีแรกเรามี สัทธา มาแล้ว ที่สองก็ ความเพียร แล้วก็มี สติ แล้วก็มี สมาธิ แล้วก็มี ปัญญา
วิปัสสนา คืออะไร
ทีนี้เราก็มาเพียรในการเข้าทำวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนาคืออะไร วิปัสสนา เป็นชื่อ ของปัญญา มีปัญญา ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า วิปัสสนา ปัญญามีชื่อเรียกมากทีเดียว มีชื่อต่าง ๆกัน แต่ว่า ปัญญา ที่ชื่อวิปัสสนา ปัญญานี้รู้อะไร? ปัญญาวิปัสสนารู้ว่า นามรูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน รู้อย่างนี้แหละเรียกว่า วิปัสสนา ท่านจะต้องเข้าใจหลักความรู้ของวิปัสสนาเสียก่อน ถ้าปัญญาวิปัสสนาเกิดแล้วก็แปลว่าต้องรู้ว่า รูปนาม ไม่เที่ยง หรือรูปนามเป็นทุกข์ หรือรูปนามไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสารอะไร อย่างนี้อันใดอันหนึ่งก็ได้ ที่รู้อย่างนี้นี่แหละ เรียกว่า วิปัสสนา
ต้องมีนามรูปรองรับ
แต่ต้องมีนามรูปนะ ต้องนามรูปไม่เที่ยง ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าอะไรไม่เที่ยง เราจะเข้าไปทำวิปัสสนาเพื่อจะรู้ว่านามรูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตน นี่แหละหลักที่จะเข้ามาทำวิปัสสนาเพื่อจะรู้อย่างนี้ แล้วเราจะดูอะไรเล่า ถึงจะเห็นนามรูปไม่เที่ยง เราก็ต้องดูนามรูป เราจึงจะเห็นนามรูปไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นผู้ทำวิปัสสนานี้ จะต้องมี นามรูปรับรองความรู้อยู่เรื่อย ถ้าคราวไหนไม่มีนาม ไม่มีรูปรับรองแล้ว ก็แปลว่า รู้แล้วก็รู้นิ่งไป ถึงแม้นิ่งไปไม่ฟุ้งก็ตาม แต่ว่าใช้ไม่ได้ ความรู้สึกอันนั้นใช้ไม่ได้ จะต้องมี นาม มี รูป อยู่เสมอเหมือนกับคนไปเรียนหนังสือ เด็กไปเรียนหนังสือเข้าโรงเรียนใหม่ ๆ ต้องมี ก. ไก่ ข. ไข่ ต้องมีตัวหนังสืออยู่เรื่อย ต้องอ่านหนังสือ ต้องมีตัวหนังสือรับรองอยู่เรื่อย
ไม่งั้นก็อ่านหนังสือไม่ออก ไปโรงเรียนแต่ไม่ดูหนังสือ เป็นอ่านหนังสือไม่ออก
นามรูปเฉพาะผู้ปฏิบัติใหม่
ก่อนที่จะดูนามรูป ก็จะต้องรู้จักนามรูปเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วดูนามก็ไม่รู้ว่าดูอะไร เพราะจะต้องให้ท่านที่มาปฏิบัติวิปัสสนานี้ดู ไปพิจารณานามรูป ทีนี้ก็จะต้องรู้เสียก่อนว่า ดูนามน่ะ ดูอะไร ดูรูปน่ะ ดูอะไร จะต้องเรียนนามรูปเสียก่อน
รูปนามมีมากมายเหลือเกิน แต่เราก็จะเอาให้ง่ายที่สุดสำหรับปัญญาของเรา เพราะว่ารุ่นเรานี่ปัญญาน้อยแล้ว เพราะอะไร เราถึงได้ล่าช้ามาอยู่จนป่านนี้ ต้องมาทรมานทนทุกข์ ประเดี๋ยวเจ็บ ประเดี๋ยวไข้ ประเดี๋ยวร้องไห้เสียใจ พบกับสิ่งที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สิ่งที่พอใจพลัดพรากไปบ้าง นี่เราจะต้องพบอยู่เรื่อย ความทุกข์นี่มีอยู่รอบตัวเราเลย เราจะต้องพบ นี่อันนี้ถึงได้บอกว่า เวลาที่เรามาอบรม มาพิจารณานามรูปเวลานี้น่ะ เรายังไม่รู้ว่า นามรูปมันดีหรือไม่ดี ยังไม่รู้ต้องดูเสียก่อน ไปพิจารณาแล้วจึงจะรู้ความจริงของนามรูป
ทีนี้นามรูปที่เราจะต้องเรียน สำหรับคนปัญญาน้อยนี่เราก็เรียนแต่พอที่จะเอามาใช้งาน ที่ยังไม่ใช้งานเวลานี้ ยังไม่ต้องเรียน ยังไม่ต้องรู้ นำเอานามรูปไปพิจารณา จนกระทั่งได้ความจริงด้วยการพิจารณา คือด้วยความรู้สึกไม่ใช่ด้วยการคิดนึก ด้วยการตรอง ด้วยการวิจารณ์ ไม่ได้ทั้งนั้น
นามรูปมีอะไรบ้าง ที่จริงถ้าเราจะสอนที่ถูกแล้วก็ควรจะสอนอารมณ์ทั้ง ๖ แต่เกรงว่าเวลาของเราจะมีกันคนละไม่เท่าไร เพราะฉะนั้น เวลาที่จะอบรมให้เข้าใจอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ ที่เราใช้งานอยู่ ก็กลัวเวลาจะไม่พอ แต่ที่ถูกแล้วควรจะบอก บอกแล้วเวลาทำงานก็ทำเฉพาะอิริยาบถ ๔ ก่อน คือแรกๆลงมือกำหนดก็ไม่ต้องคอยดูมาก ให้ดูแต่น้อย ๆหน่อย จนกระทั่งคล้ายๆกับจิตที่อบรมเชื่องแล้วดูได้สะดวกแล้ว แล้วก็อารมณ์ทั้ง ๖ นั้นมันก็จะรู้ขึ้นมาเองเหมือนกัน แต่ว่ายังไงก็จะต้องมีนามรูปเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเวลาเห็น เวลาได้ยิน เช่น
เวลาเห็น |
ที่เห็น เป็นนาม |
|
สิ่งที่ถูกเห็น เป็นรูป |
เวลาได้ยิน |
ที่ได้ยิน เป็นนาม |
|
เสียงที่พูด เป็นรูป |
เวลาได้กลิ่น |
ที่รู้กลิ่น เป็นนาม |
|
กลิ่นหอม, เหม็น เป็นรูป |
เวลาลิ้มรส |
ที่รู้รส เป็นนาม
รสที่ถูกรู้ว่าเปรี้ยว หวาน เป็นรูป |
เวลาถูกต้อง |
ที่รู้สึกถูกต้อง เป็นนาม
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นรูป |
เวลานั่ง นอน ยืน เดิน |
ที่รู้ว่า นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นนาม
อิริยาบท นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นรูป |
นามรูปทั้งหลาย จึงมีอยู่ที่ตัวเราในขณะรับอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖
ดูนามรูปให้รู้จากตัวเรา
ถ้าไม่ได้เรียนอารมณ์ของวิปัสสนาแล้ว เราจะไม่รู้ตัวเรา เห็นอะไรก็ไม่รู้ ได้ยินอะไรก็ไม่รู้ แล้วโดยมากการศึกษาเล่าเรียนในชีวิตของเรา ที่เราเป็นอยู่นี่เราไม่ได้รู้เรื่องของเราเลย รู้แต่เรื่องคนอื่นทั้งนั้น เรื่องคนโน้น เรื่องคนนี้ เรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ แทนที่จะรู้อยู่ที่ตัว เรากลับรู้ไปจนถึงโลกพระจันทร์ เดี๋ยวนี้เขาจะไปรู้โลกพระอังคารอีกแล้ว มันรู้ยาวออกไปอย่างนี้ กิเลสมันก็ยืดยาวออกไปด้วย นามรูปที่ตัวเองนี่ไม่รู้หรอก
แต่ว่าวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ไม่ต้องไปรู้คนอื่น รู้ตัวของตัวเสียก่อน แล้วก็คนอื่นกับตัวเราน่ะมันเหมือนกัน มันไม่ผิดกันหรอก มันอย่างเดียวกันนั่นแหละ แต่รู้คนอื่นน่ะไม่แน่ เช่นอย่างเวลานี้จิตใจเขาเป็นอย่างไร จะรู้เขาได้อย่างไม่รู้ แต่เวลานี้จิตใจเราเป็นอย่างไร จะรู้เขาได้อย่างไรไม่รู้ แต่เวลานี้จิตใจเราเห็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไรเรารู้ได้ ประกอบด้วยความไม่พอใจ หรือประกอบด้วยความพอใจ เวทนาเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เวลานี้ นี่เรารู้เรารู้ของเราก่อน เพราะว่าร่างกายเรานี้ก็เป็นโลกโลกหนึ่ง โลกนี้ไม่ใช่ว่าหมายถึง ฟ้า ดิน อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น นี่พอเรารู้ของเราอย่างนี้แล้วคนอื่นก็เหมือนกัน เช่น อย่างพอเรารู้ของเราอย่างนี้แล้วคนอื่นก็เหมือนกัน เช่น อย่างพอความโกรธเกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา มีลักษณะอย่างไร ความโกรธของคนอื่นก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปรู้ของใคร เพราะฉะนั้น การแสดงออกมาภายนอก ทางกายก็ดี วาจาก็ดี กิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เราเห็น เราก็รู้แล้วว่า ออกมาจากจิตใจ กิริยาอย่างนี้ออกมาจากจิตอะไร พอใจหรือไม่พอใจ มันจะบอกทีเดียว เพราะฉะนั้น มันก็เป็นโลกชนิดหนึ่ง
กำหนดดูรูป
การพิจารณารูปนามเฉพาะอิริยาบถ ๔ นั่ง นอน ยืน เดิน ที่รู้ว่านั่ง รู้ว่านอน รู้ว่ายืน รู้ว่าเดิน เป็นนาม แต่ไม่ต้องไปกำหนดนามสำหรับในระยะใหม่ ๆนี้ กำหนดรูปก่อน ดูรูปเสียก่อน เพราะตัวนามนั้นน่ะ มันเป็นตัวดูรูปอยู่แล้ว มันเป็นตัวรู้รูปอยู่แล้ว ไม่ต้องไปกำหนดนามที่รู้ เช่น อย่างเวลาที่นั่งมันมี รูปนั่ง อันหนึ่ง และมี รู้ว่านั่ง อีกอันหนึ่งเรา รู้ว่ารูปนั่ง เท่านั้นก็พอแล้ว
ทำงานด้วยใจ
ในการที่เรามาเรียนเพื่อจะทำงานนั้น ไม่ใช่ทำด้วยกาย แต่ทำด้วยใจ ไม่ใช่เอากายไปเที่ยวแบกหาม ไม่ใช่อย่างนั้น ใจทำงานตอนไหน? ตอนที่ทำความรู้สึกลงไปในอารมณ์นั่นแหละ เป็นการงานของใจ ไม่ต้องไปแบกหามอะไรทั้งหมด
เวลาดูต้องรู้ว่า ดูอะไรที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
ไม่ใช่สร้างขึ้นมา
ข้อสำคัญ เวลาที่เราดูจะต้องรู้ว่า ดูอะไร เวลานี้เราทำอะไรอยู่ เวลานี้เราดูอะไรอยู่ แล้วเราจึงจะได้ความจริงจากที่พิจารณา คือว่า ไม่ใช่เราไปสอน หรือเราไปสร้างอะไรขึ้นมา ความจริงของเขาเป็นอยู่อย่างไรก็รู้ตามนั้น เช่น อย่างเพื่อนฝูงคบกันใหม่ ๆ รู้จักกันใหม่ ๆ ไม่รู้ว่านิสัยใจคอเขาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ ต้องคบกันไปนาน ๆ หน่อย ทีแรกเราก็คิดว่าเป็นคนดี พอคบกันไปนานๆ จึงรู้ว่านิสัยคบไม่ได้ เป็นคนรู้มาก เป็นคนเห็นแก่ตัวอะไรอย่างนี้ เราจะต้องตามดูเราจึงจะรู้ความจริงอันนั้น ไม่ใช่ว่าเราไปสร้างขึ้นมา เขามีอยู่แล้ว ไม่มีหน้าที่จะไปแก้ไขอะไร มีหน้าที่ดูเท่านั้น แต่ว่า ถ้าดูไม่ถูก ก็ไม่เห็นเหมือนกัน
ดูรูปนั่ง นอน ยืน เดิน
เราเรียนรูป ๔ อย่าง นั่ง นอน ยืน เดิน เราก็ไปดูรูปนั่ง รูปนอน รูปเดิน
ดู หรือ พิจารณา หรือ เรียกว่า
กำหนด ก็ได้ ดูด้วยใจไม่ได้ดูด้วยตา นั่งนี่ไม่ได้เห็นด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจ เวลาที่เราดูนั้นเราต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้เราดูอะไร คือ ต้องทำความรู้สึกตัวว่า เราดูอะไร เวลาเรามองออกไปนั้น มันต้องมีวัตถุอันหนึ่งว่า เราจะดูอะไร นั่นดูเหมือนคนเดินมา อยากจะรู้ว่า คนเดินมา นั่นเป็นใคร คือว่าเรามีวัตถุที่เราจะดู แต่ถ้าดูโดยไม่ตั้งใจว่า จะรู้เห็นเหมือนกันนั่นแหละ นัยน์ตาเราเหม่อไปเราก็เห็นแต่เห็นอะไรไม่รู้ เพราะเราไม่ตั้งใจจะดู เมื่อไม่รู้ว่าดูอะไรเราไม่ได้พิจารณา ก็เลยไม่ได้ความจริง ที่เราเห็นนั้นมันอะไรก็ไม่รู้ ความจริงก็เห็นหลายอย่าง แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ว่าจะรู้อะไร อันนี้แหละเวลานั่ง ท่านก็พิจารณารูปนั่ง คือว่า ดูรูปนั่ง แต่ต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้ ดูรูปนั่ง
อารมณ์ปัจจุบัน
ต้องให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน คือ ต้องจับอารมณ์ "รูปนั่ง" ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า โดยที่อารมณ์นั้นเกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาของผู้ปฏิบัติ
อย่าบังคับจิต ให้ติดอยู่ในอารมณ์ด้วยความปรารถนาจะเป็นไปตามอำนาจของตัณหา ซึ่งเป็นตัวกิเลส เพียงแต่สำรวม ไว้ อย่างให้จิตนี้ออกไปจากอารมณ์ คือ ท่าที่นั่ง ถ้าจิตออกไปแล้ว ดูไปมันก็ไม่เห็น เหมือนกับเราอ่านหนังสือมันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวจิตก็ส่ายไปทางโน้น วิ่งไปทางนี้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่องรำคาญ มันต้องที่เงียบสงัด แล้วเราก็จะต้องสำรวมในร่างกายของเรา ในจิตของเรา ด้วยว่าสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้วอย่าปล่อยให้จิตของเราตกไป อย่างให้มันไป เราต้องคอยคุมไม่ให้มันไป ถ้ามันไปมันก็เที่ยวได้เพริดไป ดูมันก็ไม่เห็น และปัญญาก็เกิดไม่ได้ ต้องจำกัดอารมณ์ ต้องมีปัจจุบันดูรูปนั่ง เวลานั่งดูรูปนั่ง
หลับตา หรือ ลืมตา
จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้แล้วแต่ถนัด บางคนไม่ชอบหลับตา เพราะหลับตาแล้วง่วง หลับตาแล้วก็ฟุ้งไป จิตใจก็ฟุ้งไป ตาก็หลับ บางคนก็ลืมตาไม่ได้ ลืมตาแล้วไม่ถนัด ลืมตาแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ มันไม่ได้อยู่ที่รูปนั่ง อันนี้ก็แล้วแต่อัธยาศัย และก็แล้วแต่ความสังเกตของเรา คนอื่นก็รู้ไม่ได้ว่าอัธยาศัยของท่านชอบหลับหรือลืม เวลาหลับเป็นอย่างไร เวลาลืมตาเป็นอย่างไร อันนี้อยู่ในความสังเกตของเรา ใช้ได้ทั้งนั้น จะหลับหรือลืมก็ได้
ดูนั่ง นอน ยืน เดิน ทำไม
นั่ง นอน ยืน
เดินนี้น่ะ ทุกคนต้องมี แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็มี ทุกคนก็มี เข้ากรรมฐานหรือไม่เข้ากรรมฐานก็มี ทำไมจึงต้องให้ดูนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่เห็นมันน่าจะมีกิเลสอะไร นั่งมันมีโกรธหรือเปล่า? เปล่า! มีโลภไหม? ไม่มี! ร่างกายนี้ไม่มีโลก รัก โกรธ หลง อยู่กับใจอยู่กับนาม ไม่มีแล้วจะไปดูมันทำไม ?
ทำวิปัสสนาเพื่อจะละกิเลส กิเลสอันนั้นที่อาศัยการนั่ง การนอน การยืน การเดิน เวลานั่งตามธรรมดาเรานั่งนี้ก็ต้องมีความรู้สึกว่า เรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน อย่างนี้ตัว นั่ง น่ะ มันไม่มี แต่ว่าใจอาศัย รูปนั่ง ทำให้เกิดเข้าใจผิดว่า
"เรานั่ง" อาศัยรูปนั่งทำให้เกิดเข้าใจผิดคิดว่า เรานั่ง
เราก็เข้าใจผิดอยู่อย่างนี้ตั้งแต่เกิดมา
จนอายุเท่าไรก็ตาม ก็รู้ว่าเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน อยู่อย่างนี้เรื่อยไป
ทีนี้หลักของวิปัสสนาให้เข้าไปรู้ความจริงว่า นั่ง นี่เป็น รูป และ นาม ที่มัน รู้ว่านั่ง ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีผู้หญิง ผู้ชาย มีแต่สภาวะของรูปเท่านั้น เราไม่เคยเข้าใจอย่างนี้เลย เขาจึงให้เข้าไปดู เข้าไปดูตรงที่เราเข้าใจผิด
ที่จริงเราเข้าใจผิดอยู่มากมายเหลือเกิน
แต่ให้เข้าไปดูอันนี้ก่อน เรียกว่า
"เจริญปัญญา" ปัญญานี้รู้อะไร
รู้เหตุ รู้ผล เรียกว่า ปัญญา ถ้ารู้ไม่ตรงกับเหตุผลแล้วไม่เรียกว่าปัญญา เรียกว่า
"มิจฉาทิฏฐิ"ิ แปลว่าเห็นผิด เห็นผิดจากใคร เห็นผิดจากพระพุทธเจ้าหรือ หรือว่า เห็นผิดจากอาจารย์ ไม่ใช่ทั้งนั้น
เห็นผิดจากเหตุผล เราไปเห็นผิดจากที่เขาเป็นอยู่ ถ้าเห็นถูกสัมมาทิฏฐิก็เป็นปัญญา เวลานั่งรู้สึกว่า เรานั่ง อย่างนั้นไม่จริง ที่จริงไม่มี เรา มีแต่รูปกับนาม เราที่ไหนมีความรู้สึกว่า เรานั่ง นี่มัน ผิด มันไม่ตรงกับความจริงความจริงมันไม่มี ผู้หญิงนั่ง ผู้ชายนั่งก็ไม่มี ท่าที่นั่งจะเป็นผู้หญิง ผู้ชายได้ยังไง เห็น ก็เหมือนกัน นี่ เราเห็น ผู้หญิงเห็น เห็น ไม่เป็นทั้งผู้หญิง ผู้ชาย สภาวะของมันทำหน้าที่ เมื่อได้ปัจจัยก็ทำหน้าที่ เห็น ทำหน้าที่ได้ ยิน แต่ไม่ใช่ผู้หญิง
ไม่มีผู้ชาย
นั่ง นอน ยืน เดิน ดูที่ไหน
การดูรูปนั่งต้องรู้สึกตัวว่า ดูรูปนั่ง ไม่ใช่ไปนึกถึงว่า ประเดี๋ยวพอ เวลาไปนั่งแล้ว เขาให้ดูรูปนั่งก็เลยนึกถึง รูปนั่ง รูปนั่ง อย่างนี้ไม่ได้ คือว่า บางคนดูรูปนั่ง พอ เอาเข้าจริงๆ ดูที่ไหนรูปนั่ง รูปนั่งมันอยู่ที่ไหน ถ้าหากว่าไม่เข้ากรรมฐานท่านก็รู้ ลุกขึ้นยืนก็ยืนได้ นั่งลงก็นั่งได้ แต่พอเข้ากรรมฐาน บอกให้ไปดูนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่รู้ว่าดูที่ไหน นั่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ที่จริงตัวก็รู้ ถ้าไม่รู้ก็นั่งไม่ถูก นอนไม่ถูก
เขาก็ไม่ได้ให้ดูอะไรแปลกๆ วิปัสสนานี่ไม่ได้ให้ดูอะไรที่ไม่มีอยู่ในตัว สิ่งที่มีอยู่ในตัวเป็นของจริงสิ่งที่ไม่มีอยู่ในตัวเป็นของไม่จริง เขาไม่ได้ดู ให้ดูเฉพาะที่มีอยู่ในตัวเท่านั้น เพราะอันนี้เป็นของจริง
รูปนั่ง นี่น่ะ ดูที่ไหน ดูที่ท่า เช่นอย่างเวลานี้ถ้าถามทุกคนว่า นั่งหรือนอน ก็ต้องตอบว่า นั่ง ทำไมท่านถึงรู้ว่านั่ง ท่านอาศัยที่ท่านี้ตั้งกายไว้ในท่านี้ เขาเรียกว่า นั่ง ยืนก็อยู่ในท่ายืน เวลายืนก็ดูรูปยืน คือรู้อยู่ในท่าที่ยืน
เวลาเดินก็ดู รูปเดิน รูปเดินอยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ที่เท้า อยู่ที่อาการที่ก้าว เวลานี้ท่านก็มีเท้า แต่ยังไม่มีเดิน เวลานี้ไม่มีรูปเดิน ดูรูปเดินไม่ได้ ยืนก็ไม่ใช่เดิน แต่เมื่อมีอาการของเท้าที่ก้าวไป คำว่าเดินจึงจะมีขึ้น ความหมายว่า เดินถึงจะเกิดขึ้น ทีนี้เราดู เราก็ต้องดูให้ถูก รูปนี้อยู่ที่ไหน เดินก็ต้องดูขณะที่ก้าวเท้า อย่าเอาสติไปตั้งไว้ที่เท้า หรือที่ขา หรืออะไรมันไม่ถูก เดินแท้ๆ ต้องอยู่ที่การก้าว ถ้าไม่มีการก้าวคำว่าเดินก็ไม่มี อันนี้ก็เข้าใจกันแล้ว คนที่เคยเข้าวิปัสสนาก็เข้าใจกันแล้วว่า เดินอยู่ที่ไหน
เวลานอน ก็อยู่ที่ท่าอีกนั่นแหละ นอนก็มีหลายท่า เหยียดขาก็ได้ นอนตะแคงก็ได้ นอนหงายก็ได้ทั้งหมดรวมอยู่ในอิริยาบทใหญ่ เรียกว่านอน นั่งก็นั่งได้หลายท่า แต่ก็เรียกว่า นั่ง ทั้งหมดก็เรียกว่า นั่ง
รู้สึก กับ นึก
ทีนี้เวลาเราดูนั่ง เราก็ดู เราก็รู้สึกอยู่ในท่าที่เรานั่ง เวลานอน, ยืน, เดิน ก็รู้สึกอยู่ในท่าที่นอน, ยืน, เดิน ๔ อันเท่านี้แหละ แล้วก็ต้อง รู้สึก ตัวด้วยว่าเวลานี้ดูอะไร เดี๋ยวเวลานั่งแล้วจะไป นึก ว่า รูปนั่ง นั่งอันนี้ไม่ได้ เพราะว่าใจ นึก เอา มันไม่ได้ออกมารู้อยู่ในอาการที่นั่ง ที่นอน ท่านบอกว่า ตั้งกายอยู่ด้วยอาการอย่างไร ก็ให้รู้อาการเป็นไปของกายที่ตั้งอยู่ในอาการนั้น ๆ ว่าอย่างนี้ในสติปัฏฐาน ทีนี้เราก็คอยดู รู้สึก ว่าดูรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เพราะตามธรรมดาถ้าเราไม่ได้ศึกษาและไม่ได้เคยเข้าวิปัสสนาเลยจะไม่รู้ว่าใครเดิน ไม่รู้เลยว่า
เดินน่ะ อะไรมันเดิน
ก็ต้องเราน่ะซิเดิน ใครนั่งก็ เรานั่ง แต่ความเป็นจริงไม่มีเรามันมี รูป กับ นาม ๒ อย่างเท่านั้นแหละ อาการนั่งจึงปรากฏขึ้น
มีแต่รูปน่ะ ผีตาย นามดับแล้วมีไหม อิริยาบท? ไม่มี! นั่งก็นั่งไม่ได้ เพราะว่าวิญญาณไม่มีแล้วก็นั่งไม่ได้ ทีนี้มีแต่นาม รูปไม่มี นั่งมีไหม ? ไม่มี!
เพราะฉะนั้น อาการนั่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีรูปนามพร้อมแล้ว ทีนี้เมื่อเราดูก็ต้องดูด้วยความรู้สึก รู้สึกอยู่ในท่าทีนั่ง รู้สึกอยู่ในท่า แล้วก็รู้สึกว่าดูรูปนั่งเช่นอย่างเวลานี้ คุณรู้ไหมว่า เวลานี้คุณพูดกับใครรู้สึกไหม รู้ เวลานี้คุณฟังใครพูดอยู่ รู้ว่า ฟังอาจารย์ นี่ต้องรู้อย่างนี้ รู้ว่า ฟัง ฟังอะไร พูดเรื่องอะไร สอนอะไร เราจึงจะเข้าใจ ถ้าเราได้ยินเหมือนกันได้ยินแต่ว่าไม่ได้ฟัง ฟังแล้วไม่เข้าใจ ทั้ง ๆที่เรานั่งฟังกันอยู่อย่างนี้แหละ แต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ
รูปนามสำคัญที่สุด
ความรู้สึกนี่ ก็ต้องเอารูปนามที่เรียนมาแล้วนี่แหละ อาจารย์สอนรูป สอนนาม ให้เข้าใจกันแล้วทุกคน เข้าใจแล้วว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อาจารย์ก็ต้องสอบที่สอนไปแล้วว่า ยังจำได้ดีอยู่หรือเปล่า เวลานั้นอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม แล้วเวลานั้นจะกำหนดอะไร จะรู้อะไร เริ่มต้นใหม่ ๆ ก็อาจจะลืม บางทีก็ได้ไปแต่ ๒-๓ อย่าง
ที่อาจารย์สอนรูปนามนี่น่ะสอนทำไม ? สำคัญที่สุดเลย การทำวิปัสสนานี่ต้องรู้จัก รูปนาม เพราะรูปนามเป็นตัวกรรมฐาน เป็นตัวให้ความจริง วิปัสสนาเป็นชื่อของปัญญา ที่ต้องรู้รูปนามไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น รูปนามจึงสำคัญในการที่จะให้เห็น ไม่เที่ยงถ้าไม่ดูที่รูป ที่นาม แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า รูปนามไม่เที่ยงสำคัญที่สุดเลย ส่วนที่เขานั่งวิปัสสนากันแล้วก็เห็นพระอินทร์บ้าง
เห็นเทวดาบ้างเห็นอะไรต่ออะไรบ้างมากมาย เขาก็บอกว่า วิปัสสนาธรรมเกิดแล้วถึงแล้วถึงแล้วอย่างนี้ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่พระอินทร์ พระพรหมอะไร ต้องเห็นนามรูปที่ตัวเรานี่แหละไม่เที่ยง แล้วก็ไม่เป็นไปเพื่อความสุขแต่เป็นทุกข์ เวลานี้ท่านก็ยังไม่ได้เห็นว่า เป็นทุกข์อะไร ต้องไปดูแล้วถึงจะรู้ เพราะนามรูป นี่มันมีลักษณะ ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ ไปต่างๆ
แล้วแต่ว่าลักษณะไหนมันจะปรากฎชัดเรากำหนดอันไหนมาก เราก็จะเห็นอันนั้นมาก
ทีนี้อาจารย์ก็สอนรูปนาม เพราะรูปนามมีความสำคัญที่จะต้องเอาไปใช้งาน เราจะทำกับข้าว เช่น จะแกงไก่ก็ต้องมีไก่
ไม่งั้นก็ไม่เป็นแกงไก่ จะตำข้าวเราก็ต้องมีข้าวละ ถ้าไม่มีข้าวเราจะตำยังไง เหมือนกับ รูปนามนี้เราต้องมีไปด้วย ไม่ใช่อาจารย์สอนเพียงแต่จะให้รู้ไว้เฉยๆ สอนไว้ เพื่อจะได้เอาไปใช้ เอาไปดู เวลาดู ท่านก็จะต้องดูรูป ดูนาม แต่ว่าขั้นต้นนี้ให้ดูรูปก่อน 4 อย่างเท่านั้นง่าย ๆ ถ้ามากนักประเดี๋ยวจะจำไม่ได้ เอาไปใช้ด้วย เอาไปใช้เวลาไหน ใช้เวลาที่ไปดู ใช้เวลาทำงาน เอารูปนามไปทำงานด้วย ไปทำอย่างไร ? ใครเป็นคนทำงาน ? ใจ คือ นามที่เป็นตัวทำงาน จะกำหนดรูปนั่ง รูปนอน นี่เป็นการงานของใจที่จะต้องไปรู้รูปนั่ง รูปนอน หรือไปพิจารณารูปนั่ง รูปนอนแล้วก็เอารูปนามที่สอนไว้ให้นี่เอาไปทำงาน ไม่ใช่ว่าพออาจารย์สอนแล้ว จำได้แล้วก็อยู่ที่นี่ ถึงเวลาไปทำงานไม่เอาไปด้วย อันนี้สำคัญมาก
ความสังเกตในขณะทำงาน
ในเวลาที่กำหนด ท่านต้องมีความสังเกตว่า ถูกต้องตรงกับที่อาจารย์สอนไหมว่า เวลานั่ง
ให้ทำ อย่างไร ? เวลานั่ง ให้ดู รูปนั่ง หรือให้พิจารณารูปนั่ง ดูรูปนั่งนี่ดูในท่าของกายที่ตั้งอยู่ในท่านั้นเรียกว่า นั่ง ยืนก็อีกท่าเดินก็อีกท่าหนึ่ง นอนก็อีกท่าหนึ่ง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วก็ไปดูอาการที่นั่ง นอน ยืน เดิน ดูแล้วก็ต้องเอารูปนามที่อาจารย์สอนแล้วนี้ไปใช้ด้วย
เวลาดูนี่น่ะ ต้องรู้สึกด้วยว่า ดูรูปนั่ง คือ ต้องมีรูปติดเข้าไปด้วย ถ้านั่งเฉย ๆ ไม่ได้ หรือดูว่า นั่งนี่ เวลานี้ นั่งเราก็รู้อยู่ว่านั่งเท่านั้นไม่ได้ ต้องมี รูป ด้วย ต้องมีรูปติดเข้าไปด้วย รูปเฉยๆ ก็ไม่ได้ รู้ว่ารูปนั่งนี้เป็นรูป เราก็ดูรูปอย่างนี้ แต่ไม่มี นั่ง ก็ไม่ได้ เพราะว่า
รูปนั่งกับรูปนอนนี้น่ะมันคนละรูป มันคนละอัน เช่น ตัวหนังสือนี้ เราเห็นเราก็บอกหนังสือ รู้แล้วว่า มันเป็นหนังสือ แต่ว่า ตัวอะไรเล่า ก. หรือ ข. เล่า มันไม่เหมือนกันนี่ ถ้าเราไม่รู้ว่า ก. ไก่ มีลักษณะอย่างไร ข.ไข่ มีลักษณะอย่างไร เราจะอ่านหนังสือไม่ออก เพราะว่ามันคนละตัวกัน เพราะฉะนั้น มีความสำคัญมากทีเดียว นี่ก็เหมือนกับอาจารย์ให้หนังสือไปดู ให้หนังสือไปอ่าน ไม่ใช้ให้ไปแล้วก็เอาไว้ที่อาจารย์ อาจารย์ สอนเสร็จแล้วรูปนามก็คงอยู่ที่สอนนั่นแหละได้ ต้องเอาไปใช้
เพราะฉะนั้น ต้องคอยสังเกต สังเกตนี่เป็นตัวศึกษา พอกำหนดรูปนั่งลงไป ต้องสังเกตว่า ถูกตรงกับที่อาจารย์บอกไหมว่า ให้ทำความรู้สึกตัวว่า ดูรูปนั่ง ดูรูปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะว่า รูปนี่มีหลายอย่าง ดูรูปเฉยๆ นั่งก็เป็นรูป นอนก็เป็นรูป ประเดี๋ยวก็รูปมันจะเป็นอันเดียวกันอย่างนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ได้แน่ สำคัญมากทีเดียว สำหรับตอนใหม่ๆ นี้ก็ไม่มีอะไรสำคัญ สำคัญแต่เพียงว่า ทำความรู้สึกตัวว่า ดูรูปนั่ง เท่านั้นเอง
ฟุ้ง
ตามธรรมดาจิตเราไม่เคยอบรม มันก็เที่ยวกวัดแกว่งไป พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อะไรจะเร็วเท่ากับจิตใจไม่มี ไวที่สุดเลย เพราะฉะนั้น เป็นของอบรมยากและก็อยู่อยากด้วย ทีนี้เวลาที่เรากำหนดในรูปนั่งนี่ประเดี๋ยวมันก็ไปแล้ว ที่แรกก็รู้อยู่ว่าดูรูปนั่ง
ประเดี๋ยวก็เผลอแพล็บไป ออกไปแล้ว ขณะนี้จิตใจมันก็เที่ยวอยู่ทั้งวันทั้งคืนเหมือนกัน แต่ว่า เราไม่ดูมันก็เหมือนกับว่า มันไม่ไปไหน แต่พอเราไปเข้ากรรมฐาน พอเราจะไปจับมันเท่านั้นแหละ
ไปแพล็บ
ไปแพล็บ นี่เพราะว่าเราดูเข้า เราจึงเห็นว่า มันไป ฟุ้งนี่เป็นอาการของจิตใจ เป็นนามธรรม เรียกว่า "นามฟุ้ง" ธรรมชาติของจิตย่อมคิดฟุ้งไปต่าง ๆ
เมื่อไปแล้วก็แล้วกัน ไม่ต้องไปสนใจ แล้วใจก็อย่าไปนึกว่า จะต้องอยู่ที่นี่ไม่ให้มันฟุ้ง ไม่ให้มันไป ไม่ให้มันฟุ้งไปที่อื่น จะให้มันอยู่ที่นี่ไม่ได้ ทำความรู้สึกอย่างนี้ไม่ได้ ทำความรู้สึกอย่างนี้มันเป็นที่อาศัยของกิเลสเหมือนกัน พอมันไปแล้วก็ให้ทำความรู้สึกอย่างเดียวว่า นี่หลุดไปแล้ว หลุดไปแล้วจากนั่ง ให้ดูก็ไม่ดูเมื่อไม่ดูก็กลับมาให้มันดูใหม่ ไปอีกก็ช่างก็กลับมาใหม่อย่าไปไม่พอใจมัน มันจะชักเกิดความไม่พอใจ พอเกิดความไม่พอใจแล้วยิ่งจะฟุ้งใหญ่ ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่มีหน้าที่จะไปแก้ไขอะไรทั้งหมด เมื่อมันไม่อยู่ไม่ดูเราก็รู้สึกว่า อ้อ หลุดไปแล้ว กลับมาดูใหม่อีก เหมือนกับคนหัดถีบรถจักรยาน พอล้มแล้วท่านจะทำอย่างไร โกรธว่ามันล้มหรือมันไม่ควรจะล้มอย่างนั้นหรือ ๆมันไม่ถูกใช่ไหม โกรธแล้วมันจะไม่ล้มอย่างนั้นหรือ? เปล่า! มันก็ล้ม แล้วล้มบ่อยด้วยใช่ไหม แล้วล้มบ่อยจะทำอย่างไรล่ะ จึงจะไม่ให้ล้ม มีวิธีไหนที่จะไม่ให้ล้ม ไม่มีต้องขึ้นอีกอย่างเดียวเท่านั้น ล้มแล้วขึ้นอีก ล้มแล้วขึ้นอีกจนกระทั่งชำนาญแล้ว ทีนี้เข้าใจดีแล้ว ถูกอบรมดีแล้ว เข้าใจแล้ว ทีนี้ไปชั่วโมงสองชั่วโมงก็ไม่ล้ม อันนี้ก็อย่างเดียวกัน สิ่งที่ควรจะเข้าใจก็คือ พอมันไปแล้ว ถ้าเราไม่รู้มันจะไปนานเหลือเกิน ไปถึงตรงนั้น ไปโน่นต่อไปอีก ไปถึงบ้านต่อจากบ้านออกไปบ้านอื่นไปไหน ๆ บางทีตั้งครึ่งชั่วโมง ถ้าเราสติไว พอมันไปเราก็รู้ พอรู้แล้วเราก็กลับมา เท่านั้นเอง ไม่มีหน้าที่อย่างอื่นเลย ไม่มีหน้าที่จะไปแก้ไข จะให้มันหยุด จะให้มันไปไม่ได้เลย นอกจากว่า ล้มแล้ว เราก็มากำหนดใหม่ ล้มแล้วก็มากำหนดใหม่ จนกว่าจะชำนาญรู้ท่าทาง อ้อ ถ้าอย่างนี้มันไม่ล้ม ถ้าอย่างนี้มันจะล้มอะไรอย่างนี้ แล้วทีนี้ก็จะสะดวก ขั้นแรกก็มีเพียงเท่านี้
ต้องรู้เหตุที่จะเปลี่ยนอิริยาบถ
ถ้าเกิดปวดเมื่อยขึ้นมา เช่นอย่างเวลานั่ง พอมันปวดมันเมื่อยรู้สึกขึ้นมา เราก็ต้องเปลี่ยน อย่าไปทน ทนก็ใช้ไม่ได้ แล้วจะเปลี่ยนโดยยังไม่ทันรู้เหตุผลที่จะสมควรเปลี่ยน ไม่มีเหตุผลที่จะมาเสนอปัญญา ทำไปโดยยังไม่ได้เหตุก็ไม่ได้คือ เวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ เราจะต้องรู้เสียก่อน ต้องรู้เหตุที่จะทำให้เปลี่ยนอิริยาบถเสียก่อน ไม่ใช่เปลี่ยนไปด้วยอำนาจกิเลส ถ้าเราต้องการ ความอยากก็เกิดขึ้น เราจะละกิเลสไม่ได้ เพราะเราทำไปด้วยความต้องการกิเลสก็เข้าอาศัยได้ มันก็ละกิเลสไม่ได้ อิริยาบถนี่สำคัญ พอนั่งแล้วรู้สึกว่ามันปวดมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนเสีย แต่ว่าให้รู้เสียก่อนว่า เปลี่ยนเพราะเหตุอะไร คือ เราไม่ได้เปลี่ยนเพราะกิเลส เราเปลี่ยนเพราะอำนาจความปวด ความเมื่อย พระอรหันต์ ท่านยังต้องเปลี่ยน ท่านก็ยังต้องมีอิริยาบถที่ต้องเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนไม่ได้มันก็ต้องตายละคนเรา ทีนี้เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ แต่ให้รู้ว่า
เปลี่ยนเพราะว่ามันเป็นทุกข์ ทุกข์มันเกิดขึ้นแล้วเราจะต้อง
เปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์
ต้องให้ทำความรู้สึกอย่างนี้ เพื่อแก้ทุกข์หรือถูกทุกข์บังคับให้เปลี่ยน ถ้าเราเปลี่ยนแล้ว เราทำความรู้สึกว่าเปลี่ยนไปเพื่อจะสบาย
อิริยาบทใหม่นี่มันจะสบาย เรานั่งเมื่อยเราก็ต้องอยากนอน ที่เราอยากนอนเพราะเรารู้สึกว่า รูปนอนมันสบาย สบายเป็นสุขวิปลาสเข้าแล้ว ความสุขนี่ในพุทธศาสนาถือว่า
วิปลาส คือผิดพลาดจากความเป็นจริง ฉะนั้น
ทุกขวิปลาส จึงไม่มีในพระพุทธศาสนา
มีแต่ สุขวิปลาส เพราะทุกข์นี้เป็นของจริง เป็นตัวอริยสัจ ทุกคนก็ทราบแล้วว่าทุกข์เป็นตัวอริยสัจ เป็นของจริงเป็นสัจธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ใดเข้าไปเห็นทุกข์ ชื่อว่า ผู้นั้นเข้าไปเห็นของจริง การเข้าไปเห็นของจริง เป็น สัจจะ เขาไม่เรียกว่า วิปลาส ส่วนความสุขไม่มีจริง จึงไม่มี คำว่า สุขสัจ เพราะสุขไม่ใช่ของจริง ความจริงมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นแหละในโลกนี้ แต่ว่า เราไม่ได้ดู ที่ไม่ได้ดูเพราะว่า กิเลสตัณหามันย้อมใจอยู่ มันก็มุ่งไปหาความสุข หาความสบายอยู่เรื่อย ตัณหานี่ไม่ชอบทุกข์ ชอบแต่ความสุข เห็นอะไรที่มันสบาย เห็นรูปแล้วสบายใจ
ฟังเสียีงแล้วสบายใจ นี่แหละตัณหามันชอบอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะเปลี่ยนอิริยาบถนี่
เพื่อจะกันตัณหาที่เข้าอาศัยอิริยาบทใหม่ เราจึงต้องมนสิการให้ถูกต้องว่า ความจริงเราต้องเปลี่ยนใช่ไหม หรือว่าเราอยากเปลี่ยน ความจริงเราต้องเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนมันไม่ได้ ไม่เปลี่ยนได้ไหม ถ้าเราไม่อยากเปลี่ยนไม่ได้! นี่รับรองแล้วการที่ตัวเข้าใจว่า
ตัวอยากเปลี่ยนนั้นน่ะ ที่จริงมันผิดแล้ว ความทุกข์มันเกิดขึ้นเราต้องแก้ เพื่อแก้ทุกข์ถูกไหม นี่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่า เมื่อเราไม่ได้พิจารณา แม้แต่เพียงแค่นี้ก็ไม่เข้าถึงความจริง
วิปลาสมันคอยอยากเปลี่ยน แท้ที่จริงไม่ได้มีความอยากเปลี่ยนอะไรหรอก ถ้าอยากเปลี่ยนกิเลสตัณหาก็เข้าอาศัยอิริยาบถใหม่ทันที ทำลายวิปลาสไม่ได้ เราทำความรู้สึกไม่ถูก เราโยนิโสไม่ถูก ก็ทำลายไม่ได้เลย
อย่าคิดว่า
นั่งกรรมฐาน เดินกรรมฐาน
เพราะเหตุนี้ จึงห้ามไม่ให้รู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน อย่าไปรู้สึกว่า เราจะต้องนั่งท่านี้ถึงจะแก้ทุกข์ได้ อันนี้ห้าม ห้ามไม่ให้รู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน เวลาจะลุกขึ้นเดิน ไม่ให้รู้สึกว่า เดินกรรมฐาน อันนี้เป็นความสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งเป็นของน่าแปลก ใครๆ
เขามาทำกรรมฐานแล้ว ไม่ให้นั่งกรรมฐาน ไม่ให้ทำกรรมฐาน สำหรับวิปัสสนานี่ ห้ามรู้สึกว่านั่งกรรมฐาน อันนี้เรานั่ง เพื่อจะเอากรรมฐาน นั่งเพื่อจะได้กรรมฐาน จะได้เห็นธรรมอะไรมันจะโผล่ขึ้นมา มันกลายเป็นอย่างนี้ไป ไม่ใช่นั่งกรรมฐาน แต่
นั่งเพื่อแก้ทุกข์
์นอนเพื่อแก้ทุกข์
เดินเพื่อแก้ทุกข์ ถ้ายังไม่ทุกข์ไม่ต้องเปลี่ยน ถ้าทุกข์จะเปลี่ยนเมื่อไรก็ได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ตามใจ แต่ให้มีเหตุผลที่จะพิจารณาได้ ทีนี้ถ้าเราไปนั่งกรรมฐานเดินกรรมฐาน ก็กลายเป็นว่า เราอยากนั่ง อยากเดิน เพื่ออยากจะเห็นธรรม เขาว่าเดินมากๆ แล้วจะเห็นรูปเดินก็เลยเดิน เพราะอยากเห็นรูปเดิน กิเลสก็ปิดบังอิริยาบถเดิน ไม่รู้ว่าใครเดิน ในที่สุด ก็จะคิดเหมาเอาว่าเรา เดิน ก็ไม่ได้ความจริง เพราะฉะนั้น ต้องทำไปตามความจริง
ที่จริงน่ะ ขอให้ไปพิจารณาดูเถอะ ถ้าทำจริง ๆ แล้ว ๗ วันนี่
ท่านจะพบสิ่งที่ท่านไม่เคยพบเลยในชีวิต
"ธรรม"ต้องพบแน่ แต่ขอให้ได้อารมณ์ปัจจุบันมาก ๆ ที่ว่ามาก ๆ ก็หมายถึงว่า มันไม่ฟุ้งไปอื่น แต่มันต้องฟุ้งห้ามไม่ได้ ฟุ้งก็ฟุ้งไป แล้วเราก็รู้ว่า มันฟุ้ง ก็กลับมาดูใหม่เท่านั้นแหละ ขอให้ทำใจเพียงแค่นี้ อย่าไปทำความไม่พอใจ ก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น
ขอให้ดูแต่ว่า เราจะต้องแก้ทุกข์นะ
เราแก้ทุกข์ เรารู้ตัวเราไหมว่า ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมานี่ เราแก้ทุกข์อะไรบ้าง ทุกข์อะไรก็ตาม ถ้าแก้ไม่ได้ ก็อยู่ไม่ได้ต้องตาย ที่เราอยู่มาได้ทุกวันนี้เพราะเราแก้ได้เอง การที่เราแก้เองได้เลยกลายเป็นคนดี ถ้าคราวไหนเราแก้เองไม่ได้ต้องเอาหมอมาช่วยแก้ นั่นแหละถึงจะรู้ว่า เจ็บ นี่มันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถได้ เราก็นอนได้ เราก็เดินได้ เขาก็ว่าเราเป็นคนดีอย่างนี้ ถ้าเผื่ออยากจะนอนก็นอนไม่ลง นอนไม่ได้แล้ว ไปเอาหมอมาช่วย ตอนนี้ก็ว่าเจ็บแล้ว แต่ที่จริงเจ็บอยู่เรื่อย ต้องแก้ทุกข์อยู่ตลอดเวลา ขอให้ไปดูเถอะ ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งหลับไป หลับก็แก้ทุกข์ ถ้าไม่หลับได้ไหม ไม่ได้ มันไม่สบาย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยไป เราก็ต้องทำอยู่เรื่อยไป แก้ทุกข์ทั้งนั้น แต่เราไม่รู้ เวลานอนต้องแก้ทุกข์กี่ครั้ง เปลี่ยนอิริยาบถพลิกไปพลิกมากี่หน พอลงนอนท่าไหนก็ตามแล้วก็หลับเลย ไม่มีมันต้องแก้ทุกข์ท่านั้นท่านี้
ยิ่งคนแก่ๆ ด้วยละก็มีมาก ถ้าเด็กๆอาจมีน้อย
เพราะไม่ค่อยจะเมื่อยจะขบ
แต่คนแก่นี่กว่าจะหลับได้
ก็ต้องหลายทอด
ครั้นพอลืมตาขึ้นก็แก้เรื่อยมา
ต้องล้างหน้า ต้องสีฟัน
ถ้าไม่ทำมันไม่สบาย
ถ่ายอุจจาระ
ถ้าไม่ถ่ายก็ตาย
ไม่ถ่ายปัสสาวะได้ไหม
ตาย ไม่กินข้าวได้ไหม ตาย
ไม่นอนหลับได้ไหม ตาย
ท่านบอกว่าทุกข์นี้มันข่มขี่
มันบีบคั้น
มันทำให้เร่าร้อน
มันต้องปรุงแต่งเนืองๆ
นี่ลักษณะของทุกข์มันเป็นอย่างนี้
ขอให้ไปดูเถอะ
กินข้าวนี่เข้าใจว่า
อยากกินเท่านั้นหรือ?
ไม่อยากกินก็ต้องกิน
คนเจ็บนี่ไม่อยากจะกินเลย
ยิ่งไปโรงพยาบาลแล้ว
เขาเอาสายยางใส่เข้าไป
เพราะคนเจ็บไม่ยอมกิน
กินไม่ได้แล้ว หายใจนี่ท่านก็แก้ทุกข์อยู่ทุกลมหายใจ
รู้หรือเปล่าหายใจเข้าไปได้ก็ยังอยู่
ถ้าหายใจไม่เข้าก็เจ็บแล้ว
หายใจออกได้ก็ยังอยู่
ชีวิตของคนเรานี่
ตั้งอยู่เพียงหายใจเข้า
หายใจออกเท่านั้น
ท่านถึงบอกว่า นักปราชญ์
ย่อมเห็นชีวิตไม่เป็นสาระ
ชีวิตเป็นไปเพื่อความทุกข์
ท่านถึงได้ไม่เสียดมเสียหายอะไร
ไม่ใช่ว่า
จะต้องคอยบำรุงบำเรอชีวิตเอาไว้
แต่ว่า ทำบาปสร้างอกุศล
ขึ้นมาเพื่อความเป็นอยู่ของชีวิต
นักปราชญ์ไม่ทำอย่างนั้นเลย
ขอให้ท่านพิจารณาเถิด ก็จะประสบความจริง จะเข้าถึงอริยสัจได้ อะไรเป็นอริยสัจ ทุกข์ เป็นอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรอีก แม้คนจะเอาขนจามรีที่ละเอียดที่สุด มาผ่าให้ได้ ๗ ส่วน การเห็นทุกข์นั้นยากยิ่งกว่า
ขอให้ไปดู ดูจริง ๆ ๗ วันเท่านั้นแหละ ท่านจะต้องพบในสิ่งที่เราไม่เคยพบเลย ความรู้สึกอันนั้นไม่ใช่ว่า ได้มาจากการคิดเอานึกเอา ได้มาจากความจริงทีเดียว สภาวะเขาเป็นอยู่อย่างนั้น หากแต่ว่า เราไม่ได้ดูเท่านั้นเอง
ถ้าเราดูอยู่แล้ว ๗ วันเท่านั้นแหละ ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องทำอะไรอื่น ดูเฉพาะเท่านี้แหละ
ดูรูปนามตามอิริยาบท แล้วเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ขอให้รู้ว่า
อิริยาบถเก่ามันเกิดทุกข์แล้ว อย่าไปเปลี่ยนโดยยังไม่ทันมีเหตุผล ยังไม่ทันรู้เหตุผลจากความจริงเสียก่อน กิเลส คือ อวิชชา จะเข้าปิดบังเลยไม่เห็นความจริง
ทีนี้คนที่ดูแล้วไม่ค่อยจะได้ผลน่ะ เพราะอะไร? เพราะเห็นว่า เหตุผลเหล่านี้ไม่สำคัญ
วิปัสสนาต้องรู้กฎธรรมดาตามความจริง ส่วนกิเลสนั้นก็ไม่ใช่ว่าเราไปสร้างกิเลสขึ้นมา หรือเราไปสร้างอารมณ์ให้กิเลสมัน กิเลสมันก็อยู่กับรูปนามตามอิริยาบถเหล่านี้นั่นแหละ ไม่ต้องไปสร้างมาให้มัน เช่น เวลาเดิน ไม่ต้องบริกรรมว่า ยกหนอ-ย่างหนอ ไม่ต้องทำอย่างนี้นะ เพราะไม่รู้ว่าอะไรยก อะไรย่าง
ไม่มีนามมีรูปเป็นตัวอารมณ์ที่ใช้กำหนด
นามรูปปริจเฉทญาณ ก็เกิดขึ้นไม่ได้
วิปัสสนา ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราก้าวไปเรารู้ตั้งแต่ก้าวไป ไปจนถึงเหยียบลงมานี่ รู้รูปเดิน อันเดียวเท่านั้นพอแล้ว ยกขึ้นมาแล้วก็ก้าวไปเท่านั้นพอแล้ว เรามีสติรู้ครั้งเดียวพอ ตั้งแต่ยกถึงก้าวไม่ต้องรู้ยกแล้วก็ทำให้ผิดปกติไป อันนั้นตัณหามันก็เข้าแล้ว มันอยากจะได้มากๆ อะไรอย่างนี้ เราจะทำให้มันผิดปกติไม่ได้ เพราะเราจะละกิเลส กิเลสมันไม่ได้ปิดตอนที่ทำอย่างนั้น กิเลสมันปิดตอนที่ทำช้า ๆ ค่อย ๆ น้อยๆ อย่างนั้นหรือ จึงจะได้ไปละกิเลสตรงนั้น ที่จริงแล้ว
กิเลสมันมีอยู่ ตามอาการปกติธรรมดา นี่เอง
เพราะฉะนั้น เวลาเดินก็ไม่ต้อง คอยย่องย่าง แล้วก็อย่าให้เร็วเกินไปเหมือนกับเดินไปธุระ
ต้องเดินเหมือนอย่างกับเดินแก้เมื่อย เดินแก้เมื่อยกับเดินไปธุระมันผิดกัน เดินแก้เมื่อยเราก็เดินไปตามธรรมดา เราไม่มีธุระอะไรรีบร้อน เดินตามธรรมดา หรือช้ากว่าธรรมดาหน่อยหนึ่งก็ได้
ความจริงนี่มันก็ไม่ยาก แต่มันยากตรงที่เรา ไม่เข้าใจ เท่านั้นเอง ของอย่างนี้มันก็มีให้ดูตลอด ๒๔ ชั่วโมง จนกระทั่งเราดูไม่ไหว
แต่ทีนี้เรานี่น่ะคิดว่าไม่เห็นจะเป็นธัมมะ
ธัมโมอะไรเลย ดูอิริยาบถนี่ไม่เห็นจะเป็นประโยชน์
หรือเป็นธัมมะธัมโมอะไรเลย ถ้าเราจะบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ-พุทโธ ก็ยังจะดีเสียกว่า เพราะเป็นการเรียกชื่อของพระพุทธเจ้า นี่ก็ของธรรมดา ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไรที่คิดว่า จะต้องมีอะไรที่เป็นพิเศษขึ้นมา เป็นเครื่องล่อ เป็นเครื่องติดอะไรอย่างนั้น ก็นี่เราจะทำเพื่อละความคิดเห็นผิด ๆ คือ กิเลส กิเลสอยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ โน่นไปดูอยู่ตรงคนอื่นโน่น ไปเพ่งโทษของคนอื่น และคิดจะไปละกิเลสของคนอื่น กิเลสของตนมองไม่เห็น จึงคิดว่า กิเลส ที่ตัวนี่ไม่มี
ฉะนั้น ในการปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อจะละกิเลสนี่ต้องดูนามรูปที่ตัวเราเอง ไปดูนอกตัวเราไม่ได้
ทีนี้ดูที่ตัวเรานี่ ดูที่ไหน? เราก็จะต้องเข้าใจในมหาสติปัฏฐาน บอกไว้แล้วว่า
ดูที่ กาย, เวทนา, จิต และ ธรรม
คือ ให้ทำความรู้สึกตัวดูนามรูปที่กำลังปรากฏอยู่ตามทวารทั้ง ๖ ที่ตัวเรานี่แหละ ซึ่งดิฉันสันนิษฐานไว้ก่อนว่า
พวกเรานี่น่ะ ส่วนมากแล้วเป็นพวกกิเลสหนา ปัญญาน้อย คือ เป็นพวก
มัณฑบุคคล ที่มี ตัณหาจริต
เพราะอะไร? เพราะว่า ทุกวันนี้รอบ ๆตัวนี่น่ะ เต็มไปด้วยอารมณ์ของกิเลสมากมายก่ายกองจนไม่มีเงินจะซื้อ อยากดูหนัง ดูละคร ก็หาไปแสดงที่บ้านเรา บางทีบ้านเดียวมีตั้งหลายโรง โทรทัศน์ไงล่ะคะ ทั้งสีดำ สีขาวหรือสีต่าง ๆ ล้วนเป็นอารมณ์ให้แก่กิเลสได้เป็นอย่างดี จึงว่า พวกเราส่วนมากนี้กิเลสหนา
ส่วนปัญญาน้อย นี่ก็เห็นได้ง่ายค่ะ เราจะหาคนที่เข้าใจในเหตุผล ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่หาได้ยากเหลือเกิน เห็นบ้างไหมคะว่า ที่ไหนเขามี สะเดาะเคราะห์ กัน บางทีก็เรียกว่า "เสริมมงคลชีวิต" หรือ "ตัดกรรม" หรือเขาบอกว่า จะทำพิธีรื้อสัตว์ ขนสัตว์ พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากัน แหม !
ผู้คนแห่กันไปล้นหลามแน่นขนัดทีเดียว เขาไปด้วยความมีเหตุผลหรือเปล่า ?
ส่วนคนที่ไปหาเหตุผล พิสูจน์สัจธรรม คำสอน ของพระพุทธเจ้า
ด้วยการเจริญสติปัฎฐานมีสักกี่คน ขอฝากให้พิจารณาดูก็แล้วกันว่า คนสมัยนี้มีปัญญามากหรือ ปัญญาน้อย
ด้วยเหตุนี้ จึงได้เสนอให้พิจารณาอิริยาบถเพราะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏชัด และมีอยู่เป็นประจำนะคะ เอาละค่ะ ที่พูดมานี้มีใครสงสัยอะไรก็ถามได้ค่ะ
ทบทวน และ
ตอบปัญหาผู้ปฏิบัติ
อ. - อิริยาบถนี่ มีใครยังไม่เข้าใจบ้างคะว่า อิริยาบถคือ อะไร?
น. - อิริยาบถ ก็คือ อาการนั่ง นอน ยืน เดิน
อ. - อาการนั่ง นอน ยืน เดิน ของใครคะ?
น. - คนไหนนั่ง นอน ยืน เดิน ก็เป็นของคนนั้น เคยได้ยินอาจารย์สอนมาว่า สุนัขใน สุนัขบ้าน มันรู้นั่ง นอน ยืน เดินได้
อ. - อาการนั่ง นอน ยืน เดิน นี่ไม่ใช่อาการของสัตว์ของบุคคล หรือของใคร ๆนะคะ ไม่ใช่ของใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของ อิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน นี่เป็นอาการของรูป ที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานค่ะ คือ ต้องมีจิตและมีเจตนาที่จะนั่ง นอน ยืน เดิน คนตาย หรือ คนนอนหลับนี้ไม่มีอิริยาบถนะคะ
น. - ดูอิริยาบถทั้งหมดของร่างกาย?
อ. - ดูที่อาการ ตั้งตัวอยู่ด้วยอาการอย่างไร ให้รู้ในอาการนั้นๆ
ดูรูปนั่งต้องรู้สึกนะอย่า"นึก"ว่ารูปนั่งนะ นี่ต้องสังเกต อาศัยความสังเกต นี่สำคัญที่สุดแล้ว ใช้มากที่สุดด้วย สังเกตว่า เรานึกหรือเปล่า หรือเรารู้สึก รู้สึก กับ นึก ไม่เหมือนกัน ต้องไปสังเกตดู ประเดี๋ยวพอเวลาไปนั่ง เราจะไปนึกใจใจว่า รูปนั่ง รูปนอน อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรู้สึก รู้สึกในท่าที่นั่ง
ดูรูปนั่งน่ะ หมายถึงว่า รู้สึกอยู่ในท่าที่นั่ง ไม่ใช่นึกอยู่แต่ในใจ ต้องใช้ความสังเกตมาก มิฉะนั้น ก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเรากำหนดผิดไป หรือกำหนดถูกแล้ว ถ้าไม่มีความสังเกต แล้วไม่รู้
น. - เมื่อฟุ้งเกิดขึ้น แล้วเราจะปฏิบัติอย่างไร ?
อ. - ตามธรรมดาโคหนุ่ม หรือสัตว์ที่เราจะจับมาฝึกหัดให้ทำงาน ก็ต้องมีหลัก มีเชือกผูกกับหลัก แล้วก็ต้องมีปฏัก ปฏักนี่ก็เหมือน
ปัญญา ที่จะคุกคามอะไรต่ออะไร
โคนั้นเหมือน กิเลส กลัวการลงโทษ
เพราะกิเลสน่ะ มันกลัวแต่ปัญญาอย่างเดียว อย่างอื่นอะไรต่ออะไร กิเลสไม่มีกลัวเลย ส่วนหลักก็เหมือน
สติิ
แล้วเชือกที่ผูกก็เหมือน วิริยะ เราจะหัด จะให้มันทำอะไร ถ้ามันไม่ทำต้องลงปฏัก พอลงปฏักมันก็กลัว มันก็ต้องทำตาม อย่างนี้จึงจะหัดได้ ถ้าจับมันมาเฉยๆ จะหัดมัน พอถูกตีมันก็วิ่งเตลิดไป เราก็ไล่จับมันไม่ได้ ต้องมีวิธีเดียวอย่างนี้เท่านั้น จิตใจเราก็เหมือนกันถ้าหากว่า หลักเราดี หลักเรามั่นคง เชือกก็ผูกไว้กับหลักจิตก็วิ่งไปไหนไม่ได้ เพราะว่าหลักมั่นคงแล้ว เชือกก็เหนียวปัญญาก็มีพร้อมแล้วด้วย ก็มีโอกาสที่จะอบรมดูได้นาน ว่าง่ายจะสอนให้ดูอะไรให้เป็นไปอย่างไรก็เป็นไปตามใจได้
ที่นี้ถ้าหลักของเราไม่แน่น ปักไม่แน่น คือ สติไม่มีกำลัง พอจิตมันดิ้นหรือโคมันดิ้น ถอนหลัก มันก็พาหลักวิ่งเตลิดไปด้วย เอาละ คราวนี้ถ้าหลักก็แน่นมีสติก็ดี แต่เชือกที่ผูกมันเปื่อย หลักก็ไม่ถอนแต่เชือกขาด มันก็ไปไม่ได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่า จะมีปัญญาก็ตาม ใครจะวิ่งตามไปสั่งสอนมันได้ มันต้องอยู่กับ เชือก อยู่กับ หลัก ถึงจะสอนมันได้ นี่ท่านอุปมาถึงจิตใจเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มันฟุ้งไปมันไม่อยู่กับหลัก พอมันอยู่เราก็ดู พอเวลามันไปเราถึงจะรู้ จะรู้ก่อนไป จะระวังไว้ก่อนจะไม่ให้มันฟุ้ง ไม่ได้ มันยังไม่ฟุ้ง เราจะไประวังอะไรได้ วัตถุสิ่งนั้นยังไม่มีอยู่ เราจะไปรู้ก่อนล่วงหน้าเขาไม่ได้ คือ จะรู้ก็ต่อเมื่อมันฟุ้งไปแล้ว ฟุ้งนั้นมีแล้วเราถึงจะรู้ ถ้าเรารู้ว่าฟุ้ง ก็เพียงแต่รู้ว่า อ้อ นี่มันหลุดไปจากอารมณ์ หรือหลุดไปจากหนทาง หลุดไปจากมัชฌิมาปฏิปทาแล้วเท่านั้น แล้วเราก็กลับมารู้รูปนั่งใหม่ รูปนั่ง หรือ รูปยืน รูปเดินก็ตาม ไม่ใช่จะฟุ้งแต่รูปนั่ง กำลังเดินก็ฟุ้งได้ มันไวเหลือเกิน ระหว่างที่พอก้าวไป สติรู้ก้าวนี้ยังไม่ได้ ก็อีกก้าวเดียวเท่านั้นแหละไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็ต้องคอยสังเกต ความสังเกตนี่ก็เป็นอุปการะอันหนึ่ง ที่จะให้เราทำถูกจุดหมาย ถ้าเราไม่สังเกต เราก็ไม่รู้ ฟุ้งไปตั้งแต่เมื่อไร ไม่รู้และไม่รู้ว่า มันฟุ้ง เพราะฟุ้งไปเสียตั้งนาน บางทีไปตั้ง ๑๐ นาที ๕ นาทีถึงจะรู้ กลับมามันก็เสียเวลาไปเปล่า โอกาสที่จะดูรูปนั่งก็น้อยมาก ก็จะไม่เห็นความจริงของรูปนั่ง
ถ้าจะถามว่า ทำไมดูฟุ้งไม่ได้หรือ เพราะฟุ้งก็เป็นนามเหมือนกัน แต่เวลา ฟุ้ง
นั้นตัวฟุ้งนั้นเป็นนาม แต่
เรื่องที่ไปฟุ้งนั้นเป็นบัญญัติ
เท่านั้น เป็นเรื่องเป็นราวอะไรต่ออะไร อดีตบ้าง อนาคตบ้าง มันก็เป็นบัญญัติอารมณ์นั้นไม่ใช่สภาวะ ก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญาได้ ทีนี้ถ้าเราคอยสังเกตอย่างนี้ก็ไม่ไปนานไม่เสียเวลา พอรู้ว่า ฟุ้งแล้วก็กลับมา กลับมาดู รูปนั่ง ใหม่ ถ้าเดินอยู่ก็กลับมาดู รูปเดิน ใหม่ ถ้านอนก็กลับมาดู รูปนอน ใหม่ ยืนก็เหมือนกัน แล้วแต่ว่า ฟุ้งไปจากรูปไหนก็กลับมาดูใหม่จนกว่าจะได้ความจริง แล้วก็ไม่ต้องไปว่ามันฟุ้งนัก รำคาญจริง จะดูอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่พอใจฟุ้ง พอไม่พอใจฟุ้ง บางคนก็ไปกำหนดฟุ้ง กำหนดทำไม กำหนดเพื่อจะให้มันหายๆไป ถ้าทำความเข้าใจอย่างนี้ ทำความรู้สึกอย่างนี้ละก็ผิด เพราะว่าเวลาที่ฟุ้งเกิดขึ้นนั้น เราก็ไม่พอใจ ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกับฟุ้งก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ซึ่งจะบังไม่ให้ปัญญาเกิดได้
จิตดวงไหนกิเลสเกิดอยู่ ปัญญาก็ไม่เกิด ทีนี้พอฟุ้งหายไปแล้ว กิเลสอะไรจะเข้า ก็ความพอใจ ก็เป็นกิเลสอีก กิเลสทั้งสองอย่างเลย ถ้าไม่หายโทมนัสเข้า ถ้าหายแล้วโสมนัสเข้า อภิชฌาเข้า
โทมนัส ก็คือ ไม่พอใจ
อภิชฌา ก็คือ พอใจ
ทีนี้ตามธรรมดาการปฏิบัติที่ถูกของสติปัฎฐาน ต้องทำลายความพอใจและไม่พอใจ แต่เราไม่เข้าใจ การปฏิบัติของเรา ก็เลยไปเป็นปัจจัยแก่ความพอใจ และไม่พอใจ เลยเป็นที่อาศัยของโลภะ โทสะกิเลสไป นี่อันนี้ก็เป็นความสำคัญอันหนึ่งที่เราจะต้องสังเกต
เพราะฉะนั้น เรื่องของวิปัสสนานี้ เป็นเรื่องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความเพียรที่เพียรแต่จะไปเอาอะไร ถ้าเพียรไม่ถูกก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่า วิปัสสนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมาธิที่สงบมากๆ ถ้าสงบมากๆ ก็นิ่งไปเท่านั้นเอง ไม่มีเหตุผลอะไร ไม่มีการพิจารณาเหตุผล ก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญา ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจแล้ว จะเพียรมากหรือเพียรน้อย ก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่ปัญญาเท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจจะเพียรเท่าไรๆก็ไม่เข้าใจ ตัวอย่าง เช่น ฟุ้ง คือ อุทธัจจะนี้เป็นต้น ถ้าเราไม่เข้าใจ อุทธัจจะก็เกิดขึ้นเป็นปัจจัยทั้งความพอใจ และไม่พอใจ ที่จริงเราก็ไม่ได้อยากให้มันเกิด ไม่อยากให้มันเกิดเลย แต่มันก็เกิดตามอำนาจของเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เราจะพอใจหรือไม่พอใจก็เกิด ถ้าเขามีเหตุ มีปัจจัยพอที่จะต้องเกิดขึ้นก็เกิดเหมือนกัน ถ้าเขามีเหตุมีปัจจัยไม่พอที่จะให้เกิดขึ้น ก็ไม่เกิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราก็ใช้ความสังเกต คือ เราเข้าใจแล้วว่า เวลานั่งนี่ให้ดูรูปนั่ง ทีนี้เวลามันหลุดไป ถ้าเรามีความสังเกตว่องไวดี เราก็รู้ว่า อ้อ ฟุ้งไป เพียงรู้ว่า ฟุ้งไปเท่านั้น กลับมาดูรูปนั่งใหม่
ทีนี้ความพอใจและไม่พอใจที่จะอาศัยความฟุ้งเกิดขึ้นก็ไม่มี เมื่อความพอใจ ไม่พอใจไม่เกิดแล้วจิตที่เรามากำหนดพิจารณารูปนั่งนี่ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิด ปัญญา เข้าไปรู้ความจริง จิตที่มันไม่เกิดปัญญา ก็เพราะเหตุว่า กิเลส มันคอยแทรกเข้าไปอยู่ พอกิเลสเข้าไปก็ปิดบังปัญญาเหมือนกับคนสายตาไม่ดี สายตาไม่ดีมองอะไรมันก็ไม่เห็น ถ้าคนสายตาดี ๆมองอะไรก็เห็น แต่ว่ามันเป็นธรรมชาติเรามองไม่เห็นก็ต้องเอาแว่นมาช่วย เหมือนกับปัญญาเหมือนกัน ปัญญาจักขุ
จักษุ คือ ปัญญา ที่จะทำให้และเห็นอะไรต่ออะไร เอาแว่น คือ ปัญญามาส่องก็เห็นชัด ถึงแม้จะตัวเล็ก คือ ความสุขุมก็เห็นได้ ถ้าตาเปล่า คือ ไม่มีปัญญาแล้วไม่อาจจะเห็นได้
ทุกอย่างในโลกล้วนเป็นประโยชน์ต่อปัญญาทั้งสิ้น
ทุกอย่างย่อมเป็นประโยชน์แก่ปัญญาทั้งนั้นในโลกนี้ ถ้าคนมีปัญญา แม้แต่เห็นผีที่ตายแล้วเน่าน้ำเหลืองไหล ย่อมเป็นประโยชน์แก่ปัญญา ปัญญาย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง แต่ว่า
เราจะเข้าใจโยนิโส
ทำความรู้สึกให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญา หรือ ทำความรู้สึกให้เป็นปัจจัยแก่กิเลส
มันมี ๒ อย่าง ความรู้สึกที่เป็นปัจจัยแก่กิเลส เช่น เราไปเห็นผีตายเน่า หมาเน่าลอยมา หรือ ศพลอยมาในน้ำ ถ้าเราทำความรู้สึกไปในทางเป็นปัจจัยของกิเลส กิเลสมันก็เกิดขึ้น
เราก็ไม่พอใจที่จะเห็นอย่างนั้น เราก็เกลียด เราก็ไม่พอใจ ทีนี้ถ้าคนมีปัญญา พอเข้าไปเห็นเข้าแล้วแทนที่เขาจะเกิดกิเลส คือ ความไม่พอใจ หรือสะอิดสะเอียนอะไรอย่างนี้ ไม่เป็นเพราะเขามีโยนิโสดี เขาก็ทำความเข้าใจให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญาเขาก็รู้สึกว่า อ๋อ นี่สังขารทั้งหลาย มันไม่เที่ยงอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้
มันไม่ใช่เป็นของสวยงามเลยอย่างนี้ มันไม่เป็นอารมณ์ที่น่ายินดีเลย ไม่น่ารักเลย แต่ว่า เพราะความไม่รู้ ความไม่เข้าใจก็หลงกันไป ทีนี้เขาเห็นแล้วเขาก็น้อมถึงจิตใจร่างกายของเขา ก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ทีนี้ความพอใจ ความรักในร่างกายที่เข้าใจว่าดี เข้าใจว่าสวยว่างามด้วยอำนาจของกิเลสก็หมดไป ปัญญาที่เข้าไปรู้ความจริงนั้นก็เกิดขึ้น อ้อ นี่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่าง ทุกอย่างในร่างกายจะหาสาระอะไรที่เป็นที่พึ่ง ที่เป็นสรณะไม่มีเลย เขาก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้น เพราะฉะนั้น กิเลสหรือความที่หลงไหลเข้าใจผิดอยู่ในร่างกาย ในรูป ในนาม ก็หมดไป กลับเกิดปัญญาขึ้นในอารมณ์อันเดียวกัน ในที่เดียว ถ้าหากไม่มีโยนิโสก็จะเกิดปัญญาไม่ได้
เพราะฉะนั้น ในเวลาที่เราปฏิบัติ จะมีอารมณ์อะไรก็ตาม ก็ต้องคอยสังเกตดู
บางทีเรามี็เหมือนกัน โยนิโสเราเข้าใจ แต่ขาดความสังเกตว่า
อารมณ์นั้นเป็นอย่างไร
ผิดไปด้วยเรื่องอะไรเกิดขึ้น อารมณ์นี้เป็นปัจจัยแก่กิเลส มันไม่ใช่เป็นปัจจัยของปัญญา แต่ว่า ก่อนที่จะได้เอาโยนิโสมาใช้นี้ก็จะต้องได้จากการฟังด้วย ฟังอธิบายแล้วก็เข้าใจเหตุผล เก็บความเข้าใจเหตุผลเอาไว้ในใจก่อน เวลาไปปฏิบัติก็อาศัยความสังเกตว่า เวลานั้นเราทำความรู้สึกอย่างไร ตรงกันไหมที่อาจารย์บอกว่า
เวลานั้นต้องทำความรู้สึกอย่างนั้นๆ อย่าทำความรู้สึกอย่างนั้นๆ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในเวลาที่อธิบายให้ฟัง ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ว่าผิด แล้วจะเอาจิตมาตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ถูกก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า ที่ถูกนั้นจะต้องทำความรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ทำไม่ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น
โยนิโส เป็นสิ่งสำคัญมาก การฝึกการสังเกตก็สำคัญ ขั้นแรก จึงต้องมีความเข้าใจในเวลาที่อธิบายให้ฟังว่า เขาห้ามอะไร จำได้ไหม ถ้าเราเข้าใจถึงเหตุผลเราก็จำได้ เพราะว่า ความเข้าใจจะเป็นสิ่งที่ช่วยความจำของเรา เช่น เขาห้ามไม่ให้ทำกรรมฐาน เวลานั่งอย่ารู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน เวลาเดินก็อย่ารู้สึกว่า เดินเพื่อทำกรรมฐาน ทุกท่านเคยจับได้ไหมว่านั่งกรรมฐาน เวลามานั่งแล้วก็จะรู้สึกว่า นั่งกรรมฐานทุกที เพราะเราไม่ได้สังเกต ทีนี้ถ้าเราจำได้และเข้าใจแล้วว่า เขาสั่งไม่ให้ทำความรู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน พอรู้สึกว่า นั่งกรรมฐานเกิดขึ้น ก็รู้ทันทีว่า ผิดแล้ว อันนี้ผิดแล้ว เพราะเขาห้ามไม่ให้ทำความรู้สึกอย่างนั้น
การที่จะผิดหรือถูกนั้นอยู่ที่ตรงความรู้สึก เพราะว่าปัญญาก็อยู่ที่ใจ
อวิชชา ความโง่ก็อยู่ที่ใจ
สติ ก็อยู่ที่ใจ
วิริยะ ก็อยู่ที่ใจด้วย เพราะฉะนั้น ใจ มีความรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอารมณ์ของใคร เป็นอารมณ์ของ ปัญญา หรือ อวิชชา เช่น ที่เขาห้ามไม่ให้รู้สึกว่า นั่งกรรมฐานนั้น เพราะอะไร เพราะว่า ถ้ารู้สึกว่า นั่งกรรมฐานแล้ว ในเวลาที่นั่งอยู่นั้นกิเลสจะต้องเข้าอาศัย คือว่า นั่งเพื่อจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง นั่งเพื่อธรรมะจะได้เกิดขึ้น เวลาเดินก็เดินกรรมฐาน เดินกรรมฐานก็เพื่อจะได้เห็นธรรม ถ้ารู้ว่าทำกรรมฐานแล้วจะต้องรู้สึกอย่างนี้ติดตามมา ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกิเลส มันเป็นความต้องการที่จะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง ความต้องการก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง มีชื่อมากมาย
กิเลสตัวนี้ คือ เป็น
"โลภะ" ก็เรียก หรือเป็น
"ตัณหา" ก็เรียก เมื่อกิเลสความต้องการเข้าไปอยู่ในจิตใจเสียแล้ว จิตดวงนั้นก็มีกิเลส แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร จิตที่เป็นอกุศลอยู่ ปัญญาจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงห้ามไม่ให้นั่งกรรมฐาน ไม่ให้เดินกรรมฐาน
เมื่อห้ามไม่ให้นั่งกรรมฐาน ไม่ให้เดินกรรมฐานแล้วให้นั่งทำไม? ให้เดินทำไม? เช่น เดินอยู่แล้วเวลาจะนั่งห้ามไม่ให้รู้สึกว่า จะนั่งกรรมฐาน แล้วจะให้รู้สึกว่าอย่างไร? ต้องรู้สึกอย่างนี้ ว่า พอปวดเมื่อยขึ้น ปวดขึ้นมา เมื่อยขึ้นมา แล้วความรู้สึกก็ว่า จะต้องเปลี่ยนไป เพราะทุกข์ปรากฏขึ้นมาแล้ว ทุกข์นี้เป็นตัวอริยสัจเป็นของจริง ทุกข์ปรากฏขึ้นมาก่อนเราก็จะต้องเปลี่ยนละ
ทีนี้พอจะต้องเปลี่ยนเราจะมนสิการว่าอย่างไร จำได้ไหม ? ให้มนสิการว่าอย่างไร ? ให้ทำความรู้สึก ทำความเข้าใจว่าอย่างไร ? ในการที่จะต้องเปลี่ยน ทุกข์นั้นรู้แล้วว่า มันเมื่อย แต่ถ้าเป็นคนไม่สังเกตก็จะรู้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะจิตมัวไปอื่น พอเมื่อยขึ้นมาก็พลิกไปเลย ความเมื่อยนี่ เราไม่ได้ต้องการเลย มีกิเลสของใครจะต้องการเมื่อยบ้าง ? ไม่มีเลย เขาเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัยของเขา ไม่ใช่ว่าคนมีกิเลสเท่านั้นจึงจะเมื่อย
คนไม่มีกิเลสก็่เมื่อย
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ท่านก็เมื่อย ท่านก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเหมือนกัน
ทุกข์นี่น่ะไม่ใช่กิเลส แต่เป็น
วิบากของเบญจขันธ์์ ที่จะต้องถูกบีบคั้นให้เกิดเปลี่ยนแปลง ให้กระสับกระส่ายอยู่เรื่อย เพราะท่านเห็นอย่างนี้ ท่านถึงได้เห็นว่า ตัวเบญจขันธ์นี้เป็นทุกข์เหลือเกิน เป็นภาระอันหนัก
สังขิตเตน
ปัญจุปาทา
นักขันธา ทุกขา ทุกข์ทั้งหมด ตั้งแต่ชาติความเกิดขึ้นมาจนกระทั่งชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ
ทุกขะ โทมนัส ตามที่เราทำวัตร
นี่เพราะสังขิตเตน
ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขาทุกข์ทั้งหมดที่เรามีอยู่นี่มาจากเบญจขันธ์ ถ้าเบญจขันธ์นี้ไม่มีแล้ว ทุกข์ทั้งหมดนี่ไม่มี เป็นอันว่า ไปถึงธรรมที่สิ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านจึงใช้คำว่า
สิ้นทุกข์ พ้นจากทุกข์ทั้งปวงหรือ
ที่สุดแห่งทุกข์ ทีนี้บางคนไม่เข้าใจก็ไปเข้าใจว่า คำว่า พ้นจากทุกข์หมายความว่า ต้องมี ความสุข ทุกข์ไม่มีแล้วต้องมีความสุข เพราะฉะนั้น
ขออย่าเข้าใจว่า พระนิพพานเป็นสุข บางทีก็เกิดความเข้าใจผิดในเวลาที่ปฏิบัติ พอจิตได้สมาธิเข้าพอสงบเข้าก็รู้สึกว่า เป็นสุขเยือกเย็นจริง นี่แหละจะต้องเป็นพระนิพพาน เพราะเราพ้นจากทุกข์แล้ว อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ก็เป็นเพียง
สุขเวทนา เท่านั้น แล้วก็ไม่เที่ยงด้วย
สิ่งใดที่ ไม่เที่ยง นั่นแหละสิ่งนั้นเป็น ทุกข์ และสิ่งที่ ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ นั่นแหละสิ่งนั้นเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้น ที่เราไปเห็นว่า มีความสุขจริง สบายจิตใจสงบเยือกเย็น นี่แหละคงจะ เป็นพระนิพพาน อันนี้เข้าใจผิดแล้ว เพราะอันที่จริง ความสุขนั้นเที่ยงไหม ? สุขอยู่อย่างนั้นตลอดไปหรือเปล่า เปล่า ไม่ตลอดเวลา หากแต่จิตมันไม่เพ่นพ่านไป คล้ายๆ กับว่ามันหลับ
จิตน่ะมันหลับไป มันก็เลยไม่ฟุ้งซ่านไปที่ไหน ถ้ามันฟุ้งซ่านไปมากๆ เราก็รำคาญ
พอกิเลสมันเกิดขึ้นแล้วก็เร่าร้อน จิตใจเศร้าหมองเร่าร้อน ถึงแม้ว่า จะไม่ได้ไปฆ่าใคร ด่าใคร ตีใครก็ตาม พอกิเลสเกิดขึ้นแล้วใจนี่ไม่มีความเยือกเย็นเลย ถ้าเกิดมาก ก็ร้อนมาก เกิดน้อย ก็ร้อนน้อย แล้วความสุขที่เราเห็นว่า เป็นของดีมากนั้น จะเที่ยงอยู่ได้ไหม ไม่เที่ยง พักเดียว ประเดี๋ยวเดียวก็หายแล้ว ทีนี้ หากว่า คนที่ยังไม่เข้าถึงความไม่เที่ยงก็อาจเห็นไปได้ว่า อันนี้แหละ ต้องเป็นพระนิพพาน อันนี้แหละ คือ
เป็นความสุขที่ได้มา
อาจจะเข้าใจอย่างนี้ แต่ความจริง ถ้าคนที่เขาเห็นแล้วว่า
สัพเพ สังขารา ทุกขา
ความสุขอันนั้นก็เป็นสังขารเกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ต้องอาศัยเราทำสมาธิ เราปฏิบัติ ความสุขอันนั้นจึงเกิดขึ้น สัพเพ สังขารา ทุกขา
สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วจากเหตุ จากปัจจัย สิ่งนั้นต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเรารู้แน่ รู้ตลอดไปหมดอย่างนี้ว่า
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับ
ถ้าเข้าไปรู้จนถึงอย่างนี้แน่แล้ว
เหตุไรเขาจะมานิยมชมชื่นในสิ่งที่ไม่เที่ยง ในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เขารู้อยู่แล้วเขาจะไปนิยมอะไรว่า สิ่งนี้ดีจริง รูปร่างมันสวย แต่ว่าใช้ไม่ทน ประเดี๋ยวก็แตก เราจะชอบไหม? เราก็ไม่ชอบแล้ว การที่เราชอบก็เพราะว่า เราเห็นว่า เป็นของดี เป็นของถาวร แม้ว่า จะแพงสักหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะใช้ทนดี
เหมือนดังท่านปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าให้ดูรูปก็เห็นว่า รูปไม่เที่ยง ท่านให้ดูเวทนาก็เห็นว่าเวทนาไม่เที่ยง ให้ดูสัญญาก็เห็นว่า สัญญาไม่เที่ยงท่านก็ชี้ให้ดู ท่านเข้าใจภาษากัน ท่านกู้รู้ว่า ดูรูป นั้นดูอะไร ดู เวทนา นั้นดูอะไร ดู สัญญา นั้นดูอะไร เมื่อให้ดู
สังขารขันธ์ ท่านก็ดู ท่านกู้รู้ว่า สังขารขันธ์นั้นลักษณะอย่างไร มีอาการปรากฏขึ้นในจิตใจอย่างไรท่านก็รู้ท่านก็ดู ท่านก็เห็นว่า ไม่เที่ยงให้ดูวิญญาณ วิญญาณขันธ์ท่านก็รู้ว่า ให้ดูอะไรท่านก็ดูในอดีต ท่านมีปัญญาบารมีมา ท่านมีตัวกิเลสที่จะมาบังน้อยแล้วไม่ใช่หนาเหมือนปุถุชน คำว่า ปุถุชน แปลว่า กิเลสหนามากเหมือนแผ่นดิน เพราะว่า กิเลสหนาเหมือนแผ่นดิน จึงเรียกว่า ปุถุชน ถ้าคนกิเลสมากแล้วไปบวชอยู่อย่างนั้นไม่ได้
ทีนี้พอท่านพระปัญจวัคคีย์ พยายามดูครบหมดแล้วทั้ง ๕ ขันธ์ หมดแล้วในโลกนี้ก็มีแต่ขันธ์ ๕ เท่านั้น ท่านก็ประกาศขึ้นมาว่า
"ยังกิญจิ
สมุทยธัมมัง สัพพันตัง
นิโรธธัมมัง" แปลความว่า
สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นต้องมีการดับไปเป็นธรรมดาทีเดียว เห็นอย่างนี้ ก็ย่อมจะเกิดความหน่ายไม่ยินดีในอัตภาพ แม้ว่า ความรักตัวจะมากที่สุดก็ตาม ใครจะรักมากเท่ารักตัวเราเป็นไม่มี เพราะว่าเรารักตัวเรา แล้วเราก็รักไปถึงคนอื่น ที่มาเป็นประโยชน์แก่ตัวเรา เป็นอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ให้ตัวเรามีความสุข เมื่อเรารักใคร เราก็จะบำรุงคนนั้นให้มีความสุข ไม่อยากให้เขาเดือดร้อน ทีนี้ตัวของเรานี่เรารักมากที่สุด ทุกอย่างที่เอามาบำรุงบำเรอ เพื่อจะให้ร่างกายนี่มีความสุข อารมณ์อะไรที่จะมาเป็นประโยชน์ให้เรามีความสุข เราก็รักอารมณ์นั้นด้วย ทีนี้เมื่อแลเห็นแล้วว่า ตัวนี่ไม่มีของดี
ชิวิตเป็นไป หรือเบญจขันธ์เป็นไปเพื่อความทุกข์ ต้องมีการปรุงแต่งแก้ไขธรรมดาเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ต้องดับ ต้องฉิบหายไปเป็นธรรมดา เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว จะไปยินดีอะไร ความที่รักมั่นอยู่เป็นอุปาทานยึดมั่นอยู่ว่า เป็นตัวเรา เป็นของเราก็คลายออกอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ถึงจะคลายออกได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสมาธิแล้วไม่สามารถจะเห็นว่า มันไม่เที่ยงได้ ทำไมจึงไม่เห็นเพราะว่า ตามธรรมดา ถ้าจิตจ่ายไปในอารมณ์ที่หยาบ ๆมันเปลี่ยนไปช้า ๆก็อาจจะเห็นได้ ท่านกล่าวว่า
ถ้าสันตตินี้สืบเนื่องอยู่อย่างไม่ขาด สัตว์ทั้งหลายก็ยังไม่สามารถเห็นอนิจจังได้ ทีนี้ก็เวลาที่จิตอยู่ในสมาธิ อยู่ในอารมณ์เดียว เกิดดับเร็วที่สุดอยู่ในอารมณ์นั้น จนไม่สามารถจะเห็นว่า อารมณ์นั้นมันไม่เที่ยงเหมือนพัดลมนี้ ถ้าหมุนเร็วๆก็จะไม่เห็น ไม่รู้ว่าใบพัดลมมีกี่อัน และรูปร่างเป็นอย่างไรก็ไม่เห็นเลย ถ้าหมุนช้าก็เห็นได้ว่า มี ๓ อัน เพราะว่า จังหวะที่ขาดว่างของมัน จะมาตัดให้เห็นได้ว่า เป็นคนละอัน หรือลูกข่างที่หมุนนอนวัน เวลาหมุนนอนวันแล้ว มันหมุนเร็วเหลือเกิน เราก็ไม่เห็นมันได้ เพราะมันนิ่งอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นสมาธิจึงรู้ยากมาก คือ จะไปเห็นจิตที่เป็นสมาธิว่ามันเกิดแล้วมันดับ ไปนี่ ไม่มีหวังเลย
ต้องเป็นคนที่มีปัญญาเฉียบแหลมสามารถได
"้ฌาน" และสามารถจะทำ"วสี"ในฌาน ให้คล่องแคล่วก็อาจจะยกองค์ฌานขึ้นเพ่ง เขาก็ไม่ได้เอาจิตขึ้นเพ่ง เขาเององค์ฌานขึ้นมาเพ่ง อย่างนี้ก็อาจสามารถที่จะเห็นได้
อย่างของเรานี่
เพียงแต่ทำสมาธิให้จิตเข้าถึงฌานก็ยังทำไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้น
เวลามีสมาธิเข้าก็ไม่รู้ว่าอะไรก็ดูจิตไปเฉย
จิตจะเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็ไม่มีรู้หรอก
เพราะฉะนั้น
จึงห้ามว่า
ถ้าสมาธิเข้ามากแล้ว
ก็จะปิดความจริงอันเป็นอารมณ์ของปัญญา
จะต้องให้
สมาธิเป็นไปร่วมกับอารมณ์ของปัญญา
ที่ได้ปัจจุบัน
ในที่นั้น มีศีล มีสมาธิ
และปัญญาก็มีในที่เดียวกันจึงจะเกิดได้
ถ้าไปทำสมาธิเสียก่อน
ก็จะนิ่งไปใช้ไม่ได้
ทีนี้พอจะยกขึ้นสู่ปัญญา
นั่งประเดี๋ยวเดียวความนิ่งก็เข้า
พอลุกขึ้นเดิน
เดินไปหน่อยสมาธิก็เข้า
เดินเรื่อยไม่เหน็ด
ไม่เหนื่อย
เวลาเดินใจก็นิ่ง
ไม่ออกมาดูให้รู้ว่ารูปอะไร
เวลานั้นก็ไม่รู้สึก
ไม่มีรูป ไม่มีนาม
นิ่งก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญา
เพราะฉะนั้น
จะต้องใช้ความสังเกตมากที่สุดเลย
ใช้ความสังเกตมากแล้วก็ ระวังความรู้สึก
อย่าให้มันตกไปในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยแก่กิเลส
ถ้าเราตกไปในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยแก่กิเลสแล้ว
ปัญญาก็เกิดไม่ได้
เป็นโอกาสของกิเลส
เกิดขึ้น คือ
เป็นโอกาสของกิเลสเกิดขึ้น
คือ เป็นโอกาสของอกุศลเกิด
แต่กุศลไม่มีโอกาสที่จะเ้กิดขึ้น
เพราะอย่างนี้
จึงได้บอกว่า ต้องระวัง
ขอให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน
แล้ว ความรู้สึกว่า
เป็นรูป กับเป็นนาม
ต้องมีอยู่เสมอ
ถ้าจะรู้ไปนิ่งๆ
อย่างนั้น
แต่ว่าตัวดูอะไรเวลานั้นรู้ไหมว่า
ดูรูปอะไร
หรือดูนามอะไรไม่รู้
รู้แต่นิ่ง มันนิ่งไปเฉยๆ
อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้
เพราะอารมณ์นี้เป็นสมาธิ
ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของปัญญา
แล้วก็ไม่มี นาม ไม่มี รูป
นิ่งเฉยๆ
ไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป
ขอให้สังเกตต้องคอยดูว่า
อ้อ...อันนี้ไม่ใช่
ความรู้สึกอย่างนี้ไม่ใช่
ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน
ถ้าใช่แล้วจะต้องมีความรู้สึกอย่างนั้นทีเดียว
จะต้องรู้สึกว่า
เวลานี้ตัวกำลังทำอะไรอยู่
ตัวดูอะไรอยู่
ต้องรู้สึกอย่างนั้น
ถ้าไม่รู้สึก ดูเฉยๆ
สติสัมปชัญญะไม่มีกำลัง
พออารมณ์อะไรผ่านมานิดเดียว
แพล็บเดียวจะตกใจ คล้ายๆ
กับใจหายวาบไปเลย
พอใจหายไปแล้วก็กลัว
กลัวสิ่งที่หายไปนั่นแหละ
กลัวเสียแล้ว
พอว่าได้ยินเสียงอะไรแก๊กก็ยังไม่ทันรู้ว่า
อะไรยังไม่รู้หรอก
แต่พอเสียงมาปุ๊ป
จิตมันก็ทิ้งอารมณ์นี้ไปแล้ว
รู้สึกตกใจหายวาบไป
แต่ก็ไม่รู้อะไร
ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร
แล้วที่นี้ใจกลับเข้ามา
พอความรู้สึกกลับเข้ามาใจก็เต้น
ใจเต้นเพราะความกลัว
แต่ยังไม่รู้ว่ากลัวอะไร
อันนี้ใช้ไม่ได้ คือว่า
ถ้าไม่รู้ว่า
อะไรเป็นอะไรละก็ใช้ไม่ได้
เหมือนกับผู้ที่เป็นนักสืบ
ปัญญาน่ะเหมือนนักสืบ
เพื่อทำจารกรรม
เข้าไปในที่ไหนก็เพื่อจะไปสืบเหตุผลว่า
นี่เขาทำอะไรกัน
ไปเป็นสมาคมอะไร
ส่งเข้าไปเป็นจารบุรุษ
ต้องไม่ให้เขารู้เลยว่า
เราเป็นจารบุรุษ
มิฉะนั้นสืบไม่ได้เรื่อง
ต้องรู้จัก ต้องแยบคาย
ต้องมีอุบายต่างๆ แต่ว่า
อุบายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านได้เทศนาไว้
สั่งสอนไว้แล้ว
ก็จดจารึกไว้ในพระไตรปิฏก
เพราะฉะนั้น บางทีมันยาก
จนกระทั่งถึงว่าไม่เข้าใจ
สอนไว้แล้ว จดแล้ว
บันทึกไว้แล้วอยู่ในสมุด
เราเอาสมุดนั้นมาอ่านก็ยังไม่รู้ว่าท่านสอนอะไร
อย่างนี้ก็มี
เราไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร
อ่านแล้วก็ไม่รู้
เมื่อไม่รู้แล้วไปทำตามก็ไม่ถูก
ยากมากไม่ใช่ของง่ายๆ
ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นของสาธารณะไม่ใช่เป็นสาธารณะที่ทุกคนจะทำได้
มันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้า
ตรัสรู้ขึ้นมา
ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้ว
ปัญญาบารมีไม่ถึงขนาดที่จะเป็นสัมมาสัมพุทโธ
แล้วจะรู้เองไม่ได้เลย
ยากถึงขนาดนั้น
ยากมากทีเดียว
เราจะต้องมีความสังเกต ถ้าหากว่ามันเบา รู้สึกว่า ตัวเบา และความรู้สึกก็ไม่ค่อยจะชัด คือ เลือน ๆไปอะไรอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ดีนะ ตามหลัก ถ้าสมาธิเข้ามาแล้วความรู้สึกตัวจะไม่ชัดเลือน ๆ เพราะฉะนั้น อันนี้ต้องอาศัยความสังเกต ถ้าขาดความสังเกตแล้ว ผิดก็ไม่รู้ ต้องสังเกตนับตั้งแต่ทีแรกที่ลงมือกำหนด ท่านเคยสังเกตไหมเมื่อแรกที่ลงมือกำหนด นั่งก็ดี เดินก็ดี นอน หรือยืนก็ตาม
เวลาที่กำหนดครั้งแรกลงไปจะชัดเจน เพราะว่า ยังไม่มีสมาธิหรืออะไร ๆ เข้ามา ท่านจะต้อง สังเกตความรู้สึกที่ชัดเจน อันนี้เอาไว้เป็นหลัก เอาไว้เป็นครู จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม ความรู้สึกที่กำหนดลงไปครั้งแรกจะชัด ถ้าพูดถึงว่า กำหนดถูก ท่านก็จะต้องจำไว้ จำท่าทาง จำลักษณะไว้ พอกำหนดไปสักประเดี๋ยวความรู้สึกจะเปลี่ยน คือว่า ความรู้สึกจะอ่อนลงไปหรือว่า เมื่อสมาธิเข้ามา ความรู้สึกจะอ่อนไป นี่พูดถึงว่า ไม่ฟุ้ง ถ้าฟุ้งก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง ความรู้สึกจะอ่อนลงไป
เวลานั่งน่ะ ท่านกำหนดอะไร ?
น. เวลานั่ง อาตมากำหนดนั่งพับเพียบ
อ. นั่งอะไรก็ได้ร้อยแปด ท่านนั่งก็อยู่ในหลายท่าเหมือนกัน เวลานั่ง ท่านกำหนดอะไร ?
น. กำหนดรูปนั่ง กำหนดรูปที่เรานั่งนั้นทำอย่างไร ? ลักษณะอย่างไร
อ. คือว่า สำคัญที่ความรู้สึก เวลานั่งนั้นท่านมีความรู้สึกอย่างไร ท่านทำความรู้สึกอย่างไร ?
น. รู้สึกว่า ศีรษะนี่ที่ตั้งอยู่บนบ่า นี่แขน นี่ขา เป็นท่านั่งพับเพียบ
อ. ท่านไม่ต้องไปรู้สึกอย่างนั้น ถ้าไปรู้สึกอย่างนั้นแล้วตกลงว่า รูปนั่งอยู่ตรงไหน ท่านก็ยังไม่เจอะรูปนั่ง ขอให้นึกถึงว่า เมื่อท่านยังไม่ได้เข้ากรรมฐาน เวลานั่ง ท่านก็ทราบ เดินก็ทราบ โดยปกติธรรมดานี่เอง เวลานั่ง ท่านก็ไม่ต้องไปรู้ตรงบ่า ตรงแขน ตรงขาอะไรก็ไม่มี เช่น อย่างเวลานี้ท่านก็ทราบนั่งหรือนอน นั่งท่านก็ทราบตามปกตินี่เอง ทำไมท่านถึงทราบว่า นั่ง เพราะว่า ตั้งกายอยู่ในท่านี้ เรียกว่า นั่ง ทั้งตัวเลย เรารู้ที่ตรงท่าทางเท่านั้นแหละ
อย่าได้นึกว่า เวลาเข้ากรรมฐานแล้วก็ต้องรู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นปกติธรรมดานี่แหละ ไม่ใช่ว่า จะต้องไปรู้ที่ตรงนั้น ตรงนี้ ตรงโน้น แล้วจึงจะเป็นท่านั่ง นั่งธรรมดานี่แหละ แล้วก็รู้อยู่ในท่าที่นั่งในสติปัฏฐานท่านบอกว่า
ตั้งกายอยู่ด้วยอาการอย่างใด ๆ ก็ให้รู้อยู่ในอาการนั้นๆ ไม่ต้องไปรู้ตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงหัวไหล่ถึงขา ถ้าเช่นนั้นแล้วก็เลยตกลงไม่รู้ว่า รูปนั่งนั่นอยู่ที่ไหนเวลาที่ท่านดูที่ตรงนี้มันก็ไม่ใช่นั่ง มันรวม ๆ กันทั้งหมด นั่งอยู่ในท่าไหนก็รู้อยู่ในท่านั้น ไม่ต้องไปรู้ตรงนั้น ตรงนี้ถ้าไปรู้ตรงนั้น ตรงนี้ก็จะไม่ถูกรูปนั่ง ทีนี้เวลากำหนดรูปนั่ง ท่านจะกำหนดที่ไหน ?
น. ดูที่กิริยาท่าทาง
อ.
ท่านั่งน่ะ ไม่ต้องไปกำหนด ตรงแขน ตรงขา เวลายืนก็มีขานี่ นอนก็มีขา เดินก็มีขา กำหนดรูปนั่ง ท่านกำหนดที่ไหน ? ขอถามอีกที
น. รู้สึกว่า นั่งตั้งกายไว้บนเก้าอี้
อ. ไม่ต้องมีเก้าอี้ รู้รูปนั่งรู้ที่ไหน ? คือ รู้ในท่าที่นั่ง นี่เวลานี้ท่านก็นั่งแล้ว ไม่ต้องไปมีเก้าอี้ ถ้ามีเก้าอี้ก็จะไม่ได้ปัจจุบันอารมณ์ ที่ต้องการแน่ ๆ จะไม่รู้ว่า นั่งอยู่ที่ไหน ต้องรู้อยู่ที่ท่าเวลานี้ท่านนั่ง ก็อยู่ที่ท่านั่งนั่นเอง คือ ท่านตั้งกายอยู่ในท่าไหน ท่านก็รู้อยู่ในท่านั้น รู้อยู่ในท่าที่นั่งไม่ใช่ไปรู้ตรงแขน ตรงขา รู้อย่างนั้นไม่ถูก เวลานั่งทำความรู้สึกดูรูปนั่ง คือ
รู้สึกอยู่ในท่านั่ง
ท่านยืนก็รู้สึกอยู่ในท่ายืน นอนก็รู้สึกอยู่ในท่านอน
เวลาเดินก็ู้รู้สึกอยู่ในรูปเดิน เวลาที่เท้าก้าวไป ๆรูปเดินก็ไม่ใช่อยู่ที่เท้า เพราะเวลานี้ ท่านก็มีเท้า แต่เดินมีไหม เท้ามี แต่เดินไม่มี ยืนก็มีเท้า แต่เดินไม่มี เพราะยังไม่ได้ก้าวไป เพราะฉะนั้นรูปเดินเราก็ดูในขณะที่ยกเท้าก้าวไป ข้างไหนก้าวไปก็รู้ข้างนั้น รู้รูปก้าวข้างนั้นๆ ไม่ต้องมีซ้ายไม่ต้องมีขวา
เพราะซ้ายขวานี้เป็นบัญญัติ อาการที่แท้จริงก็คือ อาการที่ก้าวไปเท่านั้นแหละ ข้างไหนก้าวไปก็รู้ข้างนั้น
ในการดูก็ดูด้วยความรู้สึก ไม่ใช่นึก
นึกกับรู้สึกต่างกันอย่างไร ? เวลาดูรูปนั่งก็นึกว่า รูป นั่ง รูปนั่ง รูปนั่ง ท่านต้องสังเกตว่า นึกหรือรู้สึก ต้องใช้ความรู้สึกถ้านึกเอาแล้วมันไม่ได้อารมณ์ปัจจุบัน
ถ้ารู้สึกถึงจะได้ อารมณ์ปัจจุบัน เวลานี้ท่านกำลังทำอะไรอยู่
น. เวลานี้กำลังนั่ง
อ. ไม่ใช่ค่ะ นั่งไม่ใช่เป็นอธิบดีแล้ว เวลานี้ท่านนั่งเพื่ออะไร ? กำลังฟังอยู่ใช่ไหม ? นั่งฟังโยมแล้วต้องนึกหรือเปล่าว่า ฟังโยม ฟังโยม ฟังโยม ท่านก็ไม่ต้องนึก ท่านกำลังฟังโยมอยู่ ก็ต้องฟังว่า โยมจะพูดว่าอย่างไร ถ้ามันไปมัวนึกเสีย ท่านก็ฟังไม่รู้เรื่อง หรืออีกนัยหนึ่ง เวลาเอามือจับของร้อน ท่านก็รู้สึกว่า ร้อน ท่านก็ไม่ต้องนึกอะไร ความรู้สึกนั้น
จะต้องมีอารมณ์ปรากฎเป็นปัจจุบัน
ปัจจุบันนี้สำคัญมากในการทำวิปัสสนา
ท่านรู้สึกว่า ร้อนก็ไม่ต้องนึกอะไร ร้อนเอง ทีนี้เอามือออกแล้วก็นึกถึงร้อน ท่านจะร้อนไหม ท่านก็ไม่ร้อน อันนี้ท่านจะต้องใช้ความสังเกตให้มากสักหน่อย เพราะว่าเรายังไม่คล่อง
เพราะฉะนั้น เวลานั่งใจก็รู้สึกตัวอยู่ว่า ดู รูปนั่ง แล้วก็คอยสังเกตพอเวลาดูไป ดูไป ดูไป ถ้าไม่ฟุ้งประเดี๋ยวก็สมาธิเข้ามาแล้ว รูปก็จะหลุดไป เหลือแต่ นั่ง รูปมันจะหลุดไปก่อน อย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่ารู้แต่ นั่ง อย่างเดียว ใครนั่ง ถึงแม้ว่า จะไม่รู้ว่า เรานั่ง แต่ว่า เรานั่ง ที่มันเคยฝังสันดาน
ทีนี้ เมื่อรูปมันหลุด ความรู้สึกว่า เรานั่งมันไม่ออก เพราะความรู้สึกใหม่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นแต่เพียงว่า เราพิจารณาอยู่ แต่ว่า ความรู้สึกว่า เป็นรูปแท้ ๆ ยังไม่เกิดขึ้น ต้องเกิดขึ้นแล้ว เราจึงจะหลุดออกไปได้ ต้องเป็น รูป อย่างชัดเจน แต่ว่า เวลานี้เรากำลังพยายามกำหนดรูปอยู่ ทำไมจึงต้องกำหนดรูปด้วย เวลานี้ท่านก็รู้ว่า นั่งมันเป็น รูป แต่เวลานั่งจริงๆไม่รู้ว่า มันเป็นรูป มันก็จะเป็น
"เรานั่ง" ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ท่านต้องพยายามกำหนด จนกระทั่งรู้สึกว่าเป็น
"รูปนั่ง"จริง ๆ อย่างนี้แหละ เรานั่ง มันจึงจะเข้ามาไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าเป็น
"รูป"แล้ว เมื่อเรารู้แน่ชัดแล้วว่า คนนี้ไม่ใช่คน แต่เป็นรูป พอมาเห็นเข้าอีกทีจะไปรู้สึกว่าเป็นคนอีกไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราจะทิ้งไม่ได้เลย รูป กับ นาม เพราะว่า มันเป็นตัวกรรมฐาน เป็นตัวถูกพิจารณาให้รู้แน่ว่ามันมีรูปกับนามจริง ๆ เพราะฉะนั้น เวลาดูนั้น ดูรูป หรือนาม ดูเฉย ๆไม่ได้ เวลาดูนั้นดูรูปนั่งหรือรูปนอนดูรูปเฉย ๆไม่ได้ เพราะเป็นรูปคนละรูปไม่เหมือนกัน คือ รูปนั่งหรือรูปนอน เพราะถ้ากำหนดเป็นรูปอย่างเดียวกัน ประเดี๋ยวนั่งก็รูปนั้น นอนก็รูปนั้น ยืนก็รูปนั้น เดินก็รูปนั้น รูปจะเกิดเป็นอันเดียวกันขึ้น ทีนี้รูปก็เลย เที่ยง อีก เพราะว่ารูปนั่งก็เปลี่ยนมาเป็นรูปเดินเท่านั้นเอง ตกลงนั่ง กับ เดินก็เป็นอันเดียวกัน รูปก็เลยเที่ยงขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะ รู้สึกรูปเฉย ๆ ไม่ได้ จะต้องดู รูปนั่ง หรือ รูปนอน ไม่ใช่ ดูรูปเฉย ๆ นั่งเฉย ๆ ก็ไม่ได้ เดี๋ยวเราก็เข้ามากลายเป็น เรานั่ง เราจึงทิ้งไม่ได้เลยว่า ดูรูปอะไร ท่านจะต้องมีอยู่ในความรู้สึกเสมอ จนกระทั่งจำท่า จำทาง จำอะไรต่ออะไรได้ จำหน้า จำตาได้ดีแล้ว พอกำหนดปุ๊บลงไปเกือบไม่ต้องกำหนดก็รู้ พอดูปั๊บมันก็รู้ขึ้นมา เราก็จะต้องหัดดูจนให้ชำนาญ ทีหลังเมื่อวิปัสสนาเกิดแล้ว
มันมีความรู้สึกคนละอย่างท่านก็จะทราบเองว่า ท่านจะเห็นแล้วหรือยัง ? ทั้ง ๆที่ท่านกำหนดรูปน่ะ ท่านเห็นรูปแล้วหรือยัง ต่อเมื่อท่านเห็นรูปท่านก็จะรู้สึกเองว่า ท่านเห็น พอรู้แล้ว บอกเองรู้เอง ไม่ต้องมีใครบอกให้ทราบ
เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญ คือว่า ดูรูปอะไรหรือว่าดูนามอะไร ? รูปเฉย ๆ นามเฉย ๆไม่ได้ นั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ ก็ไม่ได้ จะต้องดูรูปกับนั่งดูรูปนั่ง เหมือนกับอย่างนี้เวลานี้ดูอะไร ดูกาน้ำ ถึงจะไม่นึกว่า กาน้ำ แต่ว่าความรู้สึกว่า เป็นกาน้ำ มันก็อยู่ในใจอยู่แล้วว่า ดูอะไร แต่ว่า ใหม่ ๆ อาจจะต้องนึกเพราะว่า จำไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาดูจึงสำคัญมาก แล้วก็ต้องได้ปัจจุบัน ขาดปัจจุบันแล้ว วิปัสสนาไม่มีโอกาสเกิด เหมือนกับอย่างนี้ ดิฉันเอามือแตะถ้วยน้ำร้อน ร้อนนี่เป็นรูป
รูปร้อนเราก็รู้ ไม่ใช่ เราร้อนนะ เมื่อเรารู้สึกว่า รูปร้อน ความรู้สึกว่า เราร้อน
ก็ไม่มี เกิดไม่ได้
ทีนี้ร้อนก็ไม่เที่ยง สมมุติว่าอย่างนั้น ร้อนไม่เที่ยงท่านก็จะเห็นว่า รูปทุกอย่างก็ต้องไม่เที่ยง นี่มีร้อนเป็นอารมณ์ และอารมณ์นี้ไม่เที่ยง ต้องไม่เที่ยงเวลาร้อน ความจริงที่ไม่เที่ยงนั้นมันไม่เที่ยงเวลาร้อน
ร้อนนี่น่ะ ไม่เที่ยง แต่ว่าเราไม่เห็น แต่พอเราออกไปแล้ว เราก็ไปนึกอีกทีว่า มันไม่เที่ยง คือ มันหายร้อนแล้ว อันนี้ก็ขั้นหนึ่ง แต่ถ้าพูดถึงวิปัสสนาจริง ๆแล้วไม่ได้
เห็นอะไรไม่เที่ยง ต้องไม่เที่ยงกำลังมีอยู่
ไม่ใช่ว่า รูปทั้งหมดไปแล้วจึงจะรู้ว่าไม่เที่ยง ถ้าปัจจุบันแท้ ๆ จะเห็นว่า รูปไหนไม่เที่ยง ต้องรูปนั้นกำลังยังอยู่ กำลังบอกให้รู้ถึงอาการไม่เที่ยง อันนี้ ก็ต้องเป็นขั้นที่สติเราดีแล้ว พอเห็นเข้าก็จะทราบเองนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น ขณะดูรูปนั่ง บางคนก็ดูเรื่อยไป ตั้งแต่ตรงนั้น ๆ เรื่อยไปก็ไม่รู้ว่า รูปนั่งอยู่ที่ไหน ปัจจุบันก็ไม่มีจะไปเอาตรงไหนที่เป็นรูปนั่ง เราจะเห็นว่าไม่เที่ยง ก็ต้องไม่เที่ยงทั้งหมด จะเห็นตรงนั้นตรงนี้ไม่เที่ยงได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาดูท่านก็จะต้องสังเกตแล้วก็จำ เมื่อเวลาไปทำงานว่าตรงกันไหมกับที่ได้ยินมา เช่น เวลาพอกำหนดลงไป ต้องสังเกตทีเดียวว่า ตรงไหม ดูรู้ว่า นั่ง นั่งเฉย ๆ รูปไม่มี นี่ท่านก็ต้องรู้ ถ้าสังเกตก็รู้ว่า ขาด รูป ไป ก็เติม รูป ลงไปต้องคอยสังเกตเสมอ เราต้องคอยสังเกตของเราเองคนอื่นจะไปช่วยดูให้ก็ไม่ได้ แต่ว่าก่อนอื่นที่เรียนให้ทราบนี้ ท่านก็ต้องเข้าใจก่อน เข้าใจแล้วว่า เวลานั้น เขาให้เรารู้อย่างนั้น ทำความรู้สึกอย่างนั้น ทีนี้เมื่อเวลาไปทำงาน ก็ต้องคอยสังเกตว่า ตรงกันไหม ถ้าขาดความสังเกตไม่ได้เลย เพราะคนที่ไม่ชำนาญ ถ้าไม่สังเกตจะทำไม่ถูก ต้องคอยสังเกต ถ้าสังเกตแล้วผิดก็รู้ ถูกก็รู้ พอผิดเราก็ทำความรู้สึกให้ถูก เพราะว่า เราเคยได้ฟังอธิบายมาแล้ว เพราะว่า เราไม่ชำนาญ บางทีมันก็หลุดไปบ้าง อะไรไปบ้าง บางทีดูรูปเดิน ประเดี๋ยว รูป มันก็หมดไปแล้ว เหลือแต่เดิน เดิน เดิน อย่างนี้เราก็ต้องคอยสังเกต มิฉะนั้น เสียเวลา
เพราะว่า วิปัสสนาเป็นงานของใจ เวลากำหนดลงไป รู้อารมณ์เมื่อไร นั่นแหละ เป็นงานของใจ
ทีนี้รู้อารมณ์ถูกไหม ไม่ถูกไม่ได้ เหมือนกับเราตัดไม้สักท่อนหนึ่ง จะเอาไปใส่ที่ตรงไหน เราก็จะต้องกะไว้แล้วว่า จะต้องตัดยาวเท่านั้น จะตัดตรงหรือตัดเฉียง เมื่อเราจะตัดไม้ เราก็ต้องตัดตามที่เราเข้าใจกว้างแค่ไหน ยาวแค่ไหน ก็ใส่ได้พอดี แต่ถ้าวัดมาแล้ว เวลาตัดเราไม่ได้ดูอีกทีหนึ่ง บางทีก็ใช้ไม่ได้เลย การทำวิปัสสนาก็เหมือนกัน วิปัสสนานี่ ท่านเรียกว่า
ปัญญาสิกขา สิกขา แปลว่า ศึกษา ศึกษาการงานของปัญญา ศึกษานี้อยู่ที่ไหน ศึกษาอยู่ที่การสังเกต นี่แหละเราเรียกว่า ศึกษา คือ การสังเกต คอยดูว่า ผิดหรือถูกอะไรต่ออะไร ถ้าขาดความสังเกตไม่มีการศึกษา จะสังเกตได้ต้องเข้าใจก่อน เข้าใจว่า ที่ถูกนั้นเป็นอย่างนั้น ๆ ทีนี้เวลาทำงานก็สังเกตว่า ตรงกันไหมกับที่เราเข้าใจ บางทีก็เดิน เดิน เดินไปมีแต่เดิน รูปไม่มี อย่างนี้ไม่ได้ พอรู้ว่า รูป ไม่มีก็กลับทำความรู้สึกเสียใหม่ บางที เดินไม่กี่ก้าว รูป ก็หลุดไปแล้วเหลือแต่ เดิน บางที เดิน ก็ไม่มีเหลือแต่อาการที่ก้าวไปๆ รู้ในอาการนั้นเท่านั้น เท้าก้าวไปๆ ก็รู้ แต่ไม่มี รูป ไม่มีอะไรทั้งนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ท่าน ก็ต้องตั้งต้นใหม่ อย่าทำต่อไป เลิก หยุด แล้วก็ตั้งต้นกำหนดใหม่
เพราะฉะนั้น จึงได้เรียนว่าให้สังเกตเวลาที่กำหนดเดิน หรือกำหนดนั่ง แรก ๆ เมื่อเข้าใจดีก็กำหนดไม่ผิด ให้สังเกตว่า มีความรู้สึกอย่างไร ทีนี้ทำไป ๆ มันเคลื่อนไป พอเคลื่อนไปก็กลับมาตั้งต้นใหม่ พอชำนาญแล้วก็ทำถูกมาก ไม่ค่อยผิด ก่อนที่จะชำนาญก็ต้องทำบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ก็จริง แต่ถ้าไม่เข้าใจมาก่อนก็ทำไม่ถูกอยู่ดี จะต้องเข้าใจก่อนแล้ว ก็ไปหัดทำจนชำนาญ
ระหว่างทำงานก็ต้องคอยสังเกต ว่า อะไรมันขัดข้องอะไรเป็นยังไง สังเกตว่า เวลานั่งทำไมรู้สึกอย่างนั้น ทำไมมีอาการอย่างนี้ เวลาเดินทำไมมีอาการอย่างนี้ ต้องสังเกตนะ แล้วก็มาบอกจะได้รู้ว่า อะไรมันขาด อะไรมันเกิน ดูถูกหรือไม่ถูกผิดตรงไหน ผู้ทำงานอาจจะยังไม่รู้ก็ได้
ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้เสียก่อนก็อาจจะยาก เสียเวลาเหมือนกับเราเดินผิดทาง ถ้าเรารู้เสียก่อนมันก็กลับมาได้เลี้ยวทางนี้ ตรงนี้แยกไปนิดหนึ่ง หรือสังเกตว่า เอ! อันนี้ไม่ใช่ เราก็กลับมาได้ ทีนี้ถ้าไม่รู้ก็เดินเรื่อยไกลออกไปทุกที กลับมาก็ไม่ถูก เพราะไม่ได้จำว่า ที่ถูกเป็นอย่างไร บางทีเดินไปไกลแล้วก็ไม่อยากกลับมาเลย เรียกกลับก็ไม่กลับ มันจะไปท่าเดียว มันจะไปแต่อารมณ์นั้น มันจะให้รู้สึกอย่างนั้นอย่างเดียว อันนี้ต้องสังเกต เพราะมันเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของเหตุผลทั้งนั้นเลย
สังเกตตามเหตุผลของธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องการเห็นรูปนามนี่ บางคนพอนั่งปุ๊บลงไปก็จะให้เห็นรูปนามทันที บางทีรูปก็ไม่ได้กำหนด คือ ไม่ได้กำหนดรูปนั่ง เมื่อนั่งลงไปก็มุ่งไปเพื่อจะเห็นรูป ใจมันมุ่งไปจะดูรูป แต่ไม่ได้กำหนดรูปนั่ง ขอให้ระวังให้จงหนักทีเดียวอันนี้ เดินก็เหมือนกัน พอลุกขึ้นเดินใจมันก็มุ่งไปจะเห็นรูปนาม แต่ไม่ได้ดูเลย รูปเดิน มันหลุดไปแล้ว เพราะใจมันมุ่งไปเสียปัจจุบันไปแล้ว ยังไม่ได้เห็นรูปเดิน แต่ใจมันเอื้อมไปแล้ว ก็ทำให้ทิ้ง"ปัจจุบัน" และก็ไม่มีวันที่จะเห็นด้วย อันนี้ก็จะต้องระวังเอื้อมไปไม่ได้เลย แม้ว่า จะเคยเห็นแล้วยังไม่เห็นอีก พอนั่งก็อยากจะเห็นสิ่งที่เคยเห็นแล้วอีก ก็ไม่มีวันได้เห็นอีก เพราะเวลาเห็นสิ่งที่เคยเห็นแล้วอีก ก็ไม่มีวันได้เห็นอีก เพราะเวลาเห็นนั้นเราไม่ได้นึกว่าจะเห็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ เวลานั้นจิตได้ปัจจุบันดีก็เห็นขึ้นมาเอง ทีนี้เมื่อเห็นแล้วก็นึกอยู่ว่า อยากจะเห็นอีก เมื่อตั้งใจจะเห็นอีกจิตก็มุ่งถึงอารมณ์ที่แล้วมาที่เคยเห็น ตรงนี้ก็เลยเสีย ก็ไม่มีวันที่จะเห็นอีก ยิ่งหาก็ยิ่งส่ายไปใหญ่ เพราะว่า มันจะต้องเห็นที่ปัจจุบัน
ถ้ายิ่งหา มันก็ยิ่งห่างกับปัจจุบัน ทุกที่ ๆ ธรรมแสดงอยู่ที่ ปัจจุบัน อันนี้ก็ต้องระวัง โดยมากจะได้ปัจจุบันกันน้อยที่สุด
คำว่า "ปัจจุบัน" ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกัน สมมุติว่าเวลานั่งดูรูปนั่ง รู้สึกด้วยปัจจุบันนั้นจะรู้ที่ไหน ? รู้สึกที่ไหนท่านทราบหรือยัง ? ถ้ารู้สึกเป็นปัจจุบันแล้ว รู้สึกที่ไหน ? ถ้า
"รู้สึก" แล้วจะต้องออกมารู้
ที่ท่านั่ง ถ้านึกจะไม่รู้ที่นี่ นึก อยู่ในใจ ใจไปนึกถึงรูปนั่งมันก็ไม่ได้มารู้อยู่ที่ท่านั่ง อันนี้ท่านก็ต้องสังเกตว่า จิตจะต้องออกมารู้ที่ท่านั่งถึงจะเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ว่านึกถึง นึกถึงรูปนั่งแล้วก็รูปนั่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อันนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นรูปนั่ง มันละเอียด มันเป็นงานของใจ แล้วมันนิด ๆหน่อย ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็มีเหตุมีผล ถ้าเราจะนึกว่า ไม่จำเป็นไม่ได้ บางทีนิด ๆ นั่นแหละสำคัญ ถ้านิด ๆ นั่นไม่ได้ มันก็จะเลยไปเลย-ก็ผิดไป
ท่านไม่ต้องไปสนใจว่า วิปัสสนาจะได้หรือยัง จะเห็นหรือยัง ? จะเอื้อมไปในอนาคตอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงห้ามว่า เวลานั่งอย่าเอื้อมไป จิตอย่าเอื้อมไปว่า จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นเกิดดับ อันนี้ไม่ใช่ "ปัจจุบัน" แต่เป็น อนาคต จะเห็นอย่างไรได้ ถ้าเห็นก็จะต้องเห็นรูปที่กำลังดูอยู่นั่นแหละ ทีนี้เมื่อจิตเอื้อมไปก็แสดงว่าไม่ได้ดู เพราะเอื้อมไปข้างหน้าเสียแล้ว เหมือนนัยน์ตาเรานี่เหลือบไปนิดหนึ่งตรงหน้านี้ก็ไม่เห็นเสียแล้ว อันนี้ต้องระวัง ต้องให้ได้ปัจจุบัน เพราะเช่นนี้ จึงเรียนให้ทราบทุกท่านว่า ที่เข้ากรรมฐาน นั่งกรรมฐานหรือเปล่า นี่ท่านนั่งกรรมฐานกันหรือเปล่า ?
น.ไม่ได้นั่งกรรมฐาน
อ. แล้วนั่งหรือเปล่าล่ะคะ ?
น. นั่ง
อ. นั่งทำไม ?
น. นั่งเพื่อให้รู้อิริยาบถนั่ง
อ. นี่ไม่ผิด ยังไม่ผิด แล้วเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ เขาบอกหรือเปล่าว่า เวลาเปลี่ยนอิริยาบถให้ทำความรู้สึกอย่างไร ?
น. นั่งเมื่อยก็ต้องเปลี่ยน
อ. นั่นแหละค่ะ ก็เหมือนเขาบอกว่า นั่งต้องแก้ทุกข์ เดินก็เหมือนกัน อย่ารู้สึกว่า เดินกรรมฐาน
ถ้ารู้สึกว่าเดินกรรมฐานก็ไม่ได้ปัจจุบันแล้ว เดินกรรมฐานจะต้องเดินเอาอะไรสักอย่างหนึ่ง เดินเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่ง พอเดินเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่ง เดินจะเอาก็เดินเพื่อกิเลส ความรู้สึกอย่างนี้ก็เป็นที่อาศัยของกิเลสแล้ว กิเลสจะต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องการจากรูปเดิน ทีนี้ตัวเองก็รู้สึกว่า เดินนี้เป็นสาระ จะนำประโยชน์มาให้ จะให้เราเห็นอะไรต่ออะไร
ถ้าเห็นธรรม ก็เห็นรูปเดินนั่นแหละ ไม่มีสาระ รูปเดินนั่นแหละไม่ใช่ตัว รูปเดินนั่นแหละไม่เที่ยง รูปเดินนั่นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าเดินเพื่อจะเห็นไม่เที่ยงอย่างนี้ไม่ได้ ก็ดูที่รูปเดินนั่นแหละ ถ้าจะเห็นมันก็เห็นขึ้นมา ถ้าเราดูถูก มีโอกาสได้พิจารณาถูกต้องได้มากก็จะเห็นขึ้นมา
ขออย่าเดินกรรมฐาน อันนี้ห้ามยากจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงได้บอกว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้ใช้อิริยาบถ ไม่ให้เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าใช้อิริยาบถโดยไม่จำเป็นแล้ว ต้องเป็นที่อาศัยของกิเลส เมื่อกิเลสเข้าไปอาศัยในความรู้สึกอันนั้นแล้ว ปัญญาจะเข้าไปทำงานหรือถือสิทธิ์เข้าไปในที่นั้นไม่ได้ เพราะกิเลสเข้าไปปกครองก่อนแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีวิธีกันไม่ให้กิเลสเข้า ทำอย่างไรเล่า ? จิตเราต้อง
รู้สึกอยู่ในปัจจุบัน ไม่เอื้อมไป อนาคตกับอดีตกิเลสก็เข้าไม่ได้ อารมณ์ปัจจุบันมันก็กั้นไม่ให้กิเลสเข้า ถ้าเอื้อมไปอดีตกับอนาคตก็จะเป็นที่อาศัยของกิเลสแน่
เวลาไม่จำเป็นไม่ให้เปลี่ยนอิริยาบถ
เวลาจะเปลี่ยนก็ต้องรู้เหตุเสียก่อนว่าเปลี่ยนเพราะเหตุใด คนเราไม่เปลี่ยนอิริยาบถก็ไม่ได้เพราะว่าเมื่อยเป็นทุกข์ แต่เราไม่ได้พิจารณาว่า ความจริงนั้นเราจะต้องเปลี่ยน ถ้าไม่พิจารณาให้ถูกต้องเข้าถึงความจริงแล้ว ต้องอยากเปลี่ยน นั่งเมื่อยแล้วก็อยากนอน เมื่ออยากนอนแล้วปัญญาจะเข้าไปสอนธรรมเราในที่นั้นก็ไม่ได้ เพราะว่ากิเลสมันเข้าไปสอนแทนเสียแล้วอยากนอนนี้ ผิดหรือถูก ?
น. ไม่ถูก
อ. ถ้าถูกจะเป็นอย่างไร ?
น. ดูทุกข์มันเสียก่อน
อ. ตอนนั้นมันยังไม่ได้เปลี่ยน พูดถึงว่า ตอนที่เราจะเปลี่ยนถ้าเราจะทำความรู้สึกให้ถูก เวลาจะเปลี่ยน เราจะทำอย่างไร ?
น. เมื่อมีทุกข์เราก็เปลี่ยน
อ. นั่นซิ แล้วจะทำอย่างไร เวลาจะเปลี่ยนจะทำอย่างไร ? จะเปลี่ยนทำไม ? เมื่อมีทุกข์แล้วจะเปลี่ยนทำไม ?
น. เปลี่ยนเพราะเราเห็นว่า รูปนั้นมันเป็นทุกข์ จึงเปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์
อ. นั่นซิ ทีนี้ตรงนี้แหละที่เราจะต้องเปลี่ยน นั่งแล้วเมื่อยก็จะต้องนอน นอนทำไม นอนให้สบาย ทำความรู้สึกอย่างนี้ไม่ได้ ถ้านอนให้สบาย สุขวิปลาสก็เข้าทันที เข้าในความรู้สึกนั้นทันที ความรู้สึกนั้นเป็นสุขวิปลาสแล้ว อันนี้ไม่ได้ มันต้องละเอียดลออหน่อย อย่าไปนึกว่า ทำวัน ๒ วัน ๓ วันก็ได้ ๓ วันนี่เข้าใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทำถูกหรือยังก็ยังไม่รู้ ๓ วัน ๗ วันนี่ บางทียังไม่รู้ว่าทำถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ต้องสอบทุกวัน ๆ ค่อยยังชั่วหน่อย แต่ก็เสียเวลาหน่อย แต่ว่ามันก็ทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียเวลาในการฟังก็จริง แต่ไม่เสียเวลาในเวลาทำ
เราก็ต้องทำความรู้สึกว่า ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ว่า
อยากเปลี่ยน ถ้าเราไม่อยากเปลี่ยนแล้วไม่เปลี่ยนจะได้ไหม ? เพราะฉะนั้น ที่เราทำความรู้สึกว่า อยากนั่ง อยากนอน อยากยืน
อยากเดินนี่น่ะ ผิด ความรู้สึกนี้ผิดเสียแล้ว ความจริงไม่อยากนั่งก็ต้องนั่งใช่ไหม ? ไม่อยากนั่งล่ะ ฉันจะนอนอยู่อย่างนี้แหละตลอดไปได้ไหมไม่ได้ เราไม่ได้พิจารณาให้ถึงเหตุผล ก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญาที่จะเข้าไปรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เราจำเป็นต้องนั่ง แต่ไม่ได้พิจารณาให้ถูกต้องกับเหตุผล กิเลสก็เข้าอาศัยเลยเข้าใจว่า อยากนั่ง อยากนอน อยากกิน อยากหมดทุกอย่าง ไม่พิจารณาแล้ว มันก็อยากหมดทุกอย่าง กิเลสมันก็เข้าไปเรื่อง ๆ แล้วปัญญาจะมีโอกาสเข้าไปทำงานอย่างไรได้ กิเลสมันเข้าไปเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยากนอนนะ ความจริงต้องนอน ถ้าไม่นอนไม่ได้ หลับก็เหมือนกัน ไม่หลับก็ไม่ได้
น. ต้องนอนนี่กิเลสเข้ามาไหม ?
อ. ไม่เข้า, ต้องนอนนี่ เขาต้องถูกบังคับ ถ้าไม่บังคับจะเปลี่ยนทำไมกันเล่า ใครบังคับให้เปลี่ยน ? เปลี่ยนเพราะเหตุอะไร ? ทำไมต้องเปลี่ยน ?
น. เปลี่ยนเพราะมีทุกข์เข้ามา
อ. เห็นไหมล่ะ ? เพราะทุกข์นั่นแหละมันบังคับ ทุกข์นั่นแหละมันบีบคั้น เราทนไม่ได้ เราถึงต้องเปลี่ยน แต่เราไม่ได้พิจารณาให้ถึงเหตุผล กิเลสก็เลยหลอกเราว่า อยากเปลี่ยน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงเลย ทีนี้เมื่อเราเอาของที่เป็นเท็จ ที่ไม่มีเหตุผลตรงกับความจริงมาเสนอปัญญาแล้วปัญญาจะได้ความจริงอะไร ก็ได้แต่ของไม่จริงเรื่อยไป เราจะต้องเอาความจริงที่ถูกต้องตามเหตุผลเสนอปัญญา ปัญญาจึงจะมีโอกาสพิจารณาเหตุผลถูกต้องได้มากปัญญาจึงจะเห็นถูกขึ้นมาได้ถึงจะตัดสินว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราถึงจะได้ความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา คือ ความรู้สึกที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาก็รู้ถูกแล้วว่า รูปอะไรที่เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดแล้วในรูปอะไร ทุกข์เฉย ๆ ก็ไม่ได้ รูปอะไรที่เป็นทุกข์ก็ต้องรู้ ถ้าไม่อย่างนั้น ประเดี๋ยว
เราเป็นทุกข์อีก
เรา ก็ไปอยู่กับ รูป
แล้ว แต่พอเกิดทุกข์เราไปอยู่กับ ทุกข์ อีก ฉะนั้นต้องรู้ว่า รูปอะไรเป็นทุกข์
น. เช่นอย่างกับรูปนั่งเวลานี้ นั่งมานานแล้วรู้สึกเมื่อย แล้วทำอย่างไร ?
อ. รูปนั่งเป็นทุกข์นี่ เรารู้แล้วใช่ไหม เพราะเราดูรูปนั่งอยู่ เมื่อรูปนั่งเกิดทุกข์ เราก็ต้องรู้ว่า รูปนั่งเกิดทุกข์แล้วจะต้องเปลี่ยน
น. ตอนนี้ปัญญาเกิดแล้วหรือยัง ?
อ. ยังไม่เกิด แต่ว่าเราให้เหตุผล เราหาเหตุผลให้ตรงกับความเป็นจริง ให้ปัญญาพิจารณา ถ้าเราเอาความไม่จริงมาเสนอแล้ว ปัญญาจะพิจารณาได้ความจริงได้อย่างไร ? เป็นการนำเหตุผลที่ถูกให้ปัญญาพิจารณาว่า ต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยน นี่เขาบังคับ ใช่ไหม ท่านชอบไหม เขาบังคับให้นั่ง ชอบไหม ?
น. ไม่ชอบ
อ. เมื่อไม่ชอบ กิเลสจะเข้าอาศัยรูปนั่งได้อย่างไร, กิเลสก็ไม่เข้า
รูปเก่าน่ะ กิเลสไม่ชอบละ แต่อยากได้รูปใหม่ใช่ไหม ? ถ้าอยากได้รูปใหม่ กิเลสก็เข้าอาศัยทันที โลภะเข้าอาศัย แต่ถ้าถูกบังคับให้นั่งจะไม่พอใจเลย รูปนั่งนี่เหมือนกับนักเรียนที่ถูกลงโทษให้ยืน ๕ นาที แหมไม่ชอบเลย ไม่อยากยืนเลย แต่ว่า ต้องยืนเพราะครูบังคับ รูปนั่งนี่ก็เช่นกัน ทุกข์ บังคับยิ่งกว่าครูเสียอีก ความทุกข์นี่ บังคับข่มขี่เราอยู่เรื่อยทุกอิริยาบถเลย
น. โปรดอธิบาย ตอนที่จะให้ปัญญามันเข้าหน่อยเถอะ
อ. ก็นี่แหละปัญญาละ ! ความจริงนี่แหละเป็นความจริงไหมเล่า ?
น. มันก็รู้อยู่แล้วละ ถ้าอย่างนั้นความรู้อันนี้ก็เป็นปัญญาแล้ว
ที่เรารู้สึกอย่างนี้น่ะ
อ. ยังซิ ยังพิจารณาอยู่ พิจารณาเพื่อให้รู้ความจริง แต่ทีนี้เราจะต้องเอาความจริงนี้ขึ้นมาเสนอให้เขารู้อยู่เสมอ ให้พิจารณาอยู่เสมอ
น. ก็รู้อยู่แล้วว่า เป็นทุกข์
อ. อ้าว ก็รู้แล้วว่า เป็นทุกข์ ก็ที่รู้นี่เรายังไม่เกิดปัญญานี่ยังไม่เกิด ต่อเมื่อเกิดปัญญาแล้วนั่นแหละท่านก็จะรู้เองว่า ปัญญาเขาเกิดขึ้นทำงาน
เขาตัดสินแล้วน่ะ คนละอย่างกัน ไม่เหมือนกัน
น. ทีนี้เมื่อรูปนั่งเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนไปเป็นนอนแล้วปัญญาก็ไม่เกิด
อ. ก็ดูรูปนั่งใช่ไหม ดูรูปนั่งอยู่ เมื่อเปลี่ยนเป็นนอนเปลี่ยนทำไม ?
น. นั่งจนเมื่อยปวดทนไม่ไหวแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นนอนบ้าง
อ. เปลี่ยนเป็นนอน จะเปลี่ยนทำไม ?
น. เปลี่ยนให้มันพ้นทุกข์ไป
อ. อ้าว
ก็อย่างงั้นซิ ต้องรู้สึกว่า แก้ทุกข์ไม่ใช่เปลี่ยนให้สบาย
น. ตรงนี้ปัญญาเกิดหรือยังตอนนี้ ?
อ. เดี๋ยว ยัง เป็นแต่เสนอปัญญาว่า นี่ฉันจะเปลี่ยนเพราะเป็นทุกข์ ฉันจะเปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์
บอกปัญญาให้รับรู้ไว้ว่ายังงี้ ทีนี้ปัญญาก็รับไว้พิจารณาเหตุผล ถึงจะนำเข้าถึงสัจจะความจริง
ทุกข์นี้ เป็น ตัวสัจจะ
เป็นตัวอริยสัจ แต่เราไม่เห็นเพราะเราไม่ได้พิจารณาให้มันแน่นอน การที่เราจะถึงสัจจะนั้นต้องแน่นอนทีเดียว แต่การแน่นอนก็ต้องอาศัยที่พิจารณาบ่อย ๆ พิสูจน์แล้วแน่นอน ต้องเป็นอย่างนี้ นี่ยังอยู่ในระหว่างให้ปัญญาพิสูจน์ เสนอว่านี่ความจริง คือ ฉันต้องเปลี่ยนอย่างนี้เสนอให้ปัญญาพิจารณาคล้าย ๆ กับศาลรวบรวมคดีมาเสนอให้ผู้พิพากษา
น. ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา
อ. ถูกแล้ว ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา ผู้พิพากษาก็ต้องพิจารณาเหตุผล จนกระทั่งรอบคอบแล้วถึงจะตัดสินลงไปได้ นี่เรายังอยู่ในระหว่างพิจารณา แต่ว่า ต้องมีคดีเสนอนะ ถ้าเอาคดีเหลว ๆ ไหล ๆ ไม่ตรงกับความจริงมาเสนอ ผู้พิพากษาก็ตัดสินผิดเหมือนกัน จะถูกได้อย่างไร เพราะไม่เอาของจริง ๆ มาบอกนี่ ปัญญาเราก็เหมือนกัน เราจะทำความรู้สึกอะไรให้ตรงกับความจริง
อิริยาบถเก่าน่ะ ใคร ๆก็รู้ว่าเป็นทุกข์
ทีนี้อิริยาบถใหม่นี่น่ะซี ท่านถึงได้บอกว่า เพราะไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ
อิริยาบถนี่จึงปิดบังทุกข์เสียไม่ให้เห็นคือ
อิริยาบถใหม่ เพราะไม่ได้พิจารณา พออิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถใหม่ก็เป็นสุข เรารู้สึกอย่างนี้อยู่เรื่อย อ้าว นอนเป็นทุกข์แล้ว อ้าวนั่ง เรารู้สึกว่า นั่งเป็นสุข เราถึงได้นั่งอย่างนี้ แต่ทีนี้เวลาปฏิบัติรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ ต้องนั่ง ไม่ใช่ อยากนั่ง แล้วต้องนั่งนี่ก็ตรงกับความจริงด้วย ส่วนอยากนั่งนั้น เข้าใจผิด เพราะถ้าไม่อยากนั่งก็อย่านั่งซิ ไม่ได้ ต้องนั่ง จึงต้องพิจารณาให้ถูกว่า ต้องนั่งเพื่อแก้ทุกข์ ถ้านั่งเพื่อสบาย ผิดแล้ว ทีนี้ทำเพื่อแก้ทุกข์ นี่กิเลสไม่เข้าแล้ว การแก้มันก็เป็นตัวทุกข์ด้วยเหมือนกัน เหมือนกับการกินยา กินยาเพื่ออะไร เพื่อแก้โรค แล้วมีไหมที่ตัณหาอยากกินยา
น.ไม่มี
อ. ไม่มี กิเลสก็เข้าไม่ได้ ความรู้สึกอย่างนี้ กิเลสตัณหาเข้าไม่ได้ ถ้าไม่รู้สึกก็รู้สึกว่า กินยาเพื่อสบาย แต่เรารู้ว่ากินยานี่ ไม่มีใครเลยที่จะอยากกิน ทีนี้ถ้าเรานั่งเพื่อสบาย ความรู้สึกว่า รูปใหม่นี่สบาย เมื่อสบาย กิเลสก็เข้าอาศัยทันที เพราะฉะนั้น เราจึงกันความรู้สึกใหม่ โดย โยนิโสว่าต้องเปลี่ยน ไม่ใช่อยากเปลี่ยน ไม่ใช่สบาย แต่เพื่อแก้ทุกข์ โยนิโสมนสิการนี่สำคัญมาก เป็นอาหารของปัญญา
น. ถ้าแก้ทุกข์ก็เป็นปัญญาใช่ไหม
อ. ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิดก็แล้วแต่ แต่ว่า ตรงกับความจริง
น. เกิดไหมเล่า ?
อ. ก็แล้วแต่ เสนอเขาบ่อย ๆ เข้า เขาก็ต้องเกิดละ เขาก็ต้องตัดสินแน่ละ ปัญญาก็ตัดสินแน่ลงไปเลย
แล้วเราจะรู้เอาเวลาที่เขาตัดสินแล้วน่ะ พอเราได้อารมณ์ของปัญญาที่แน่นอน ได้ความรู้สึกจากปัญญาแน่นอนแล้ว ท่านจะรู้เอง อันนี้ไม่ลำบาก
น. อาจารย์บอกไม่ได้ ใช่ไหม ?
อ. บอกได้ แต่ไม่จำเป็น เดี๋ยวท่านก็ไปอยากได้ปัญญาเสียพอบอกเข้าแล้ว ท่านก็ไปอยากได้ทีเดียว อยากจะรู้อย่างนั้นบ้าง อย่างที่ดิฉันบอกใช่ไหม
น. ก็ต้องมีเป็นแนวไว้บ้าง
อ. ไม่ต้อง ไม่ต้องบอกเลย ท่านอยากได้รสเปรี้ยวใช่ไหม ดิฉันบอกให้ไปกินมะนาวก็แล้วกัน ไม่ต้องไปบอกว่ารสมันเป็นอย่างไร พอท่านไปกินมันก็ปรากฏขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปบอกก่อนว่าเปรี้ยว
เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุด
กิเลสน่ะ
มันเข้าตรงความรู้สึก ปัญญาก็เกิดขึ้นตรงที่ความรู้สึกเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีโยนิโสมนสิการให้ถูกต้อง แล้วก็จะต้องเป็นปัจจัยของกิเลส ถ้ามีโยนิโสมนสิการก็ต้องเป็นปัจจัยแก่ปัญญาสองอย่างเท่านั้นแหละ ทีนี้เมื่อมีความรู้สึกเป็นปัจจัยแก่กิเลส กิเลสมันก็เอาไป ปัญญาก็ไม่ได้กิน ทีนี้เรามาเข้ากรรมฐาน เราก็ต้องหาความรู้สึกที่จะเป็นปัจจัยแก่ปัญญา อย่าให้กิเลสมันเข้า กิเลสมันเข้ามันก็ปิดบังเสีย ทีนี้ถ้ากิเลสไม่เข้า เราก็มีโอกาสที่จะดูได้นาน ๆ
สมมุติว่าเรานั่งรถผ่านแพล็บเดียว เราอ่านหนังสือไม่ทัน เพราะเราไม่ไว แต่คนที่เขาชำนาญรถผ่านไปนี่เขาอ่านได้ แต่เราต้องดูนาน ๆจึงจะทัน คนรุ่นเรานี้ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก่อนท่านฟังเทศน์ก็รู้เรื่อง เรานี่เอาเถอะ ทำให้รู้ก็ยังดีแต่เพียงว่า เข้าใจทำงานเท่านั้นก็ยังลำบาก บางทีก็ไม่แน่เข้าใจไม่แน่นอนก็อาจจะลืมเสียบ้าง อะไรอย่างนี้ พอถึงเวลา เขาให้ทำอย่างนั้นก็ลืมไปแล้ว บางคนก็ลืม ลุกขึ้นยืน ไปแล้วยังไม่ทันรู้เลยว่าแก้ทุกข์ ก็กลับลงนั่งใหม่ นั่งใหม่แล้วตัวก็ทำความรู้สึกว่า แก้ทุกข์ จะลุกขึ้นยืนอย่างนี้ไม่ตรงกับความจริง อย่างนี้ใช้ไม่ได้แล้วก็แล้วไปเลย อาการอื่นยังมีอีกเยอะ ไม่ใช่จะมีแต่หนเดียว เราก็ยังต้องนั่ง ต้องยืนอีกเยอะ แต่ก็ต้องรู้ว่าเมื่อกี้ลืมไป คือ ให้รู้ตัวว่า เผลอไป ทีหลังจะได้จำได้ไม่ลืม อันนี้แหละสำคัญมากทีเดียว
เพราะฉะนั้น เรื่องผลจึงไม่ต้องไปหวังจะได้เห็นอะไรหรือยัง เกิดดับไตรลักษณ์นั่นมันเป็นผลของงานหน้าที่ของเรา คือ ทำงานให้ถูกต้องเท่านั้นแหละ เงินดาวเงินเดือนไม่ต้องไปนึกถึง ถ้าท่านทำผิดแล้วอยากได้เงินเดือนเท่าไร เขาก็ไม่ให้ หน้าที่เราต้องทำให้ดี ทำให้ถูก นี่ก็เหมือนกัน เวลามาเข้าวิปัสสนานี่ ปัญญาวิปัสสนาก็ดี เห็นหรือไม่เห็นนามรูป ไตรลักษณ์เกิดดับก็ดี ไม่ต้องนึกถึง ทำงานให้ถูกว่า เวลานั้นเขาให้กำหนดอย่างไร เวลานั้นเขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร เช่น อย่างเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ นี่เขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร เช่น อย่างเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ นี่เขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร อ้อ...เขาต้องให้รู้เสียก่อนว่า ทุกข์มันเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ว่า ทุกข์เราก็ไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนเพราะอะไร ก็จะกลายเป็นเราอยากเปลี่ยนทุกที เราต้องรู้เหตุว่า ทุกข์มันเกิดขึ้นเสียก่อน ถ้าทุกข์เกิดขึ้นแล้วจะเปลี่ยนทำไม ต้องโยนิโสมนสิการไว้ นี่กันกิเลสที่จะขึ้นข้างหน้าว่า จะเปลี่ยนทำไม ถ้าเปลี่ยนเพื่อสบายก็กันไม่ได้ แล้วจะเปลี่ยนทำไม เพื่อแก้ทุกข์
การแก้ทุกข์นี่ มันก็ไม่ใช่เป็นความสุขเหมือนกันถ้าเราพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะว่า
อิริยาบถใหญ่ ก็เหมือนกับ คนเจ็บ
อิริยาบถย่อย
ก็เหมือนกับ คนพยาบาล อยากจะลุกขึ้น แต่อิริยาบถย่อยมือจะท้าวหรือจะเกาะไม่ได้ก็ลุกขึ้นไม่ได้ อยากจะพลิกตัวก็ไม่ได้ อิริยาบถย่อยก็เหมือนกับคนพยาบาล ต้องคอยพยาบาลคนเจ็บกันเรื่อยไปก็เป็นทุกข์เหมือนกัน
แต่ว่ามันไม่ได้เป็นทุกข์เจ็บป่ว่ยเหมือนคนเจ็บ อิริยาบถเก่า น่ะ เป็นตัวเจ็บ ตัวปวด ตัวเมื่อย แต่ อิริยาบถใหม่ ก็ช่วยแก้ แก้เหมือนกับคนพยาบาล
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นทุกข์จากอิริยาบถเก่าก่อน อิริยาบถใหม่ยังไม่เห็นทุกข์ เพราะว่า มันสูงกว่าไม่ใช่
ทุกขเวทนา แต่เป็น
สังขารทุกข์ นั่นเองต้องแก้ไข ต้องช่วยเหลือ ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องอะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้นต้องเห็นทุกขเวทนาก่อนพอมีปัญญาดีขึ้นก็จะเห็นสังขารทุกข์อันนี้ ทีนี้ก็จะมีแต่ทุกข์เท่านั้นเข้าถึง สัจจะ แล้ว
ไม่มีสุขสัจจะ สุขอริยสัจมีไหม ?
มีแต่ทุกขอริยสัจใช่ไหม พอเข้าถึงอริยสัจแล้วละก็ ไม่มีหรอกสุข ทีนี้ปัญญาเข้าถึงสัจจะความจริงแล้ว อย่ากลัวเลยทีนี้เขาก็พาไป จะไปไหนยากจะได้อะไร นิพพานก็ได้ เขาก็พาไปให้ได้เห็น
ขณะนี้หน้าที่ก็มีการฟังแล้ว ก็เข้าใจแล้ว เวลาทำก็คอยสังเกตว่า ตรงกันไหม ถ้าไม่ตรงก็ทำความรู้สึกเสียใหม่ มีหน้าที่อยู่แค่นี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องสอบการปฏิบัติกัน สอบเพื่ออะไร ไม่ใช่จะสอบให้เกิดปัญญาวิปัสสนาอะไร สอบดูว่า เข้าใจหรือไม่ที่บอกไปทำถูกแล้วหรือยัง เวลานั้น ทำความรู้สึกอย่างไร เพราะว่า บางทีลืมไปก็จะได้บอกให้ใหม่ ถ้าไม่บอกก็ลืมไปเลย กลับมาไม่ถูก ทำไม่ถูกก็เสียเวลาไป ยิ่งคนอายุมาก ๆ แล้วจะจำอะไรได้ บางทีสาว ๆ หนุ่ม ๆ ก็จำไม่ค่อยจะได้ การที่สอบก็เพื่อจะให้รู้ว่า ทำถูกหรือยัง
หน้าที่ของอาจารย์ก็สอนให้ทำให้ถูกเท่านั้น
ส่วนการที่ท่านจะรู้หรือไม่รู้ จะรู้ช้าหรือเร็วนี่เป็นเรื่องของ
บารมีหรือปัจจัย มีมาอย่างไร ไม่มีใครช่วยกันได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ ท่านก็เป็นผู้สอนเหมือนกัน เพียงว่าให้ได้รูปได้นามเถอะ เห็นรูปเห็นนาม
เท่านี้ก็พอแล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว ทีนี้เกือบไม่ต้องสอบแล้ว พ้นหน้าที่ของครูบุคคลแล้ว
ต่อไป นามรูปก็ จะเป็นครู ธรรมะทั้งหมดอยู่ที่ นามรูป ทั้งนั้น จะเป็นไตรลักษณ์ จะไม่เที่ยง จะเป็นทุกข์ จะไม่ใช่ตัวตน จะเป็นอริยสัจ หรืออะไรก็อยู่ที่นามรูปทั้งนั้นเลย เมื่อท่านได้นามรูปเป็นครูแล้ว ท่านก็ตามดูนามรูปไปเถอะ ทีนี้เขาก็สอนให้ ดูมากก็รู้มาก ทุกอย่างเลย แม้กระทั่งนิพพาน นามรูปก็สอนให้ บุคคลสอนไม่ได้ สอนได้แต่เพียงว่าให้ ทำให้ถูก เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ที่เราเสียเวลาทำแล้ว ก็ยังไม่ได้อะไร บางทีเราทำไม่ถูกเลย ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ และอีกประการหนึ่ง ท่านมาปฏิบัติที่นี่แล้ว ท่านจะต้องรู้ว่า ที่เขาให้ปฏิบัติอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไรหรือเปล่า ออกไปแล้วบางทีก็ไม่รู้ว่า ทำไมเขาให้ทำอย่างนี้มีคนเขาถามว่า คุณไปทำวิปัสสนาเขาให้ทำอย่างไร เขาก็สอนให้รู้นั่ง นอน ยืน เดิน ให้ดูรูป นั่งอะไรก็ว่าไปตามที่จำได้ ถ้าซักว่า ทำไมเขาต้องให้ทำอย่างนั้นด้วยเล่า ทำไมเราจะดูใจอย่างเดียวให้สงบ ให้เป็นสมาธิอย่างเดียวแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ดีกว่าหรือ เขาให้กำหนดรูปนามเพื่ออะไร
ทำไมจะให้รู้รูป รู้นาม เพื่ออะไร ?
น.ให้รู้รูปนามก็เพื่อทำลายตัวตน
อ. นั่นน่ะซี ถ้าไม่รู้รูปนามละก็ทำลายไม่ได้ แล้วรู้ที่ไหน
ตัวตนน่ะ มันเกิดที่ไหน ?
น. ตัวตนมันก็อยู่ในรูปนามนั่นแหละ !
อ. เกิดที่ไหนล่ะ
น. เกิดที่ไหนก็ไม่ทราบ
อ. ถ้าไม่รู้ ก็รู้เสียซิ
เวลาเขาให้ปฏิบัตินี่น่ะ เขาให้ทำลายที่ไหนล่ะ เขาให้ดูรูปนั่ง เขาให้ดูที่ไหน ?
น. ให้ดูกิริยาอาการของรูปที่ปรากฏ
อ. ให้ดูนั่ง ต้องเอาให้แน่ลงไปเลย
น. เอาที่นั่ง
อ. ทำไมถึงเอาที่นั่ง ?
ก็เพราะว่าเราน่ะมันอยู่ที่นั่ง เรานั่งใช่ไหม ถ้าไม่มีนั่ง เรานั่งมันก็ไม่มี ถ้ายังไม่นอน เรานอนมันก็ไม่มี พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่ เดิน เกิดขึ้นเราเดินถึงจะมี เพราะฉะนั้น เขาจึงให้รู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เพื่อกันที่ จะรู้สึกว่า เรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน
แต่ที่จะกันได้ก็ต้องรู้สึกแน่นอนว่า เป็นรูปจริง ๆ ปัญญาต้องตัดสินชัดเจนแล้วว่า มันเป็นรูปจริง ๆ มันไม่มีเราจริง ๆ ไม่มีผู้หญิง ผู้ชายมานั่ง มีแต่รูป คือ ร่างกายนี่แหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี่แหละ เมื่อปัญญาตัดสินอย่างนี้แล้วถึงจะได้ จะขอยกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง เช่น ที่เขาเจริญภาวนากันว่า พุทโธ
พุทโธอรหัง อรหัง อย่างนี้ทำไมเล่า เราอยู่ที่อรหังหรือ ? เราอรหังนี่ไม่เคยมีใครนึกเลย ไม่มีเราเลยตรงนั้น แล้วจะไปทำลายเราได้อย่างไร เมื่อไม่มีเรา และเรานี่ต้องวิปัสสนาต้องปัญญาเกิดแล้ว เมื่อไม่มีเราในที่นั้นแล้ว ปัญญาจะเอาอะไรไปทำงาน, จะประหารกิเลสได้อย่างไร ? ในเมื่อไม่มีกิเลสให้ประหารตรงนั้น แต่มันก็เป็น สมาธิ ได้ แต่ว่าเป็นปัญญาไม่ได้ เพราะไม่ใช่เหตุปัจจัยที่จะเป็นอารมณ์ของปัญญา ปัญญาก็ไม่ทำงาน เมื่อปัญญาไม่ทำงานแล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นสมาธิ ใจก็สงบเงียบเท่านั้น แต่ที่จะ ไปรู้รูป รู้นาม ไม่มี เมื่อไม่รู้รูป รู้นามแล้วเราก็ทำลายไม่ได้ นั่งนิ่งไป เป็นเราหรือไม่ เป็นเราก็ไม่รู้ เวลานั้นมันไม่มีเรา เวลานั่ง สมาธิสงบแล้ว เวลานั้นไม่มีเราจะไปนึกอะไรว่า เป็นเราก็ไม่มี แต่เรามันไม่ได้ถูกทำลาย เพราะความรู้สึกมันไม่เคยเปลี่ยน พอออกมามันก็เป็นเราอีก เมื่อปัญญาไม่ทำงานแล้ว ก็เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีโรคแล้วกินยา ยาจะวิเศษอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ ก็มันไม่มีโรคแล้วยาจะแสดงสรรพคุณอะไร มันก็เฉย ๆไป เพราะฉะนั้น การที่เขาให้กำหนดนี่ก็ต้องมีเหตุว่า อ้อ...ตัวตนมันเกิดขึ้นเวลานั้น ๆ นั่งนั้นใครจะไม่รู้ว่า
"นั่ง" เราอยู่บ้าน เราก็รู้ว่านั่ง
เพราะฉะนั้น กิริยาที่นั่งไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนิดหนึ่งว่า รูปนั่งเท่านั้น
จะนั่งท่าไหน จะนอนท่าไหน จะเดินก็ได้ เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนิดเดียวว่า เป็นรูปนั่ง สำหรับอิริยาบถจะอย่างไรก็ได้
เปลี่ยนเฉพาะความรู้สึกนิดเดียว จากเรานั่งเป็นรูปนั่งเท่านั้นเอง
อานิสงส์ของการปฏิบัติ
ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น
ศีล ก็มีอยู่แล้วในโลกนี้
ทาน ก็มีอยู่ สมาบัติ เหาะเหินเดินอากาศก็มีอยู่ก่อนแล้ว มีผู้ที่เขาทำกันอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ายังมาสร้างบารมีอยู่กับเขา สิ่งที่ยังไม่มีในเวลานั้น
ก็คือ สติปัฏฐาน มรรค ๘ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็คือ ธรรมะอย่างเดียวกันนั่นเอง วิสุทธิ ๗ ไม่มี สติปัฏฐานไม่มี มรรค ๘ ไม่มี วิปัสสนาไม่มี (ถ้าทำถูกต้องแล้วธรรมเหล่านี้เข้าหมดเลย) ธรรมเหล่านี้ยังไม่มี จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว คนทั้งหลายในสมัยนั้นไม่มีโอกาสเลย สัตว์โลกทั้งหลายไม่มีโอกาสที่จะได้สร้างกุศลอย่างนี้เลย
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงได้ประกาศกุศลอย่างนี้ ทางไปนิพพานจึงได้ปรากฏขึ้นในโลก
(พุทธศาสนาสิ้นแล้ว
หนทางนี้ก็สิ้นด้วย) ท่านจึงได้กล่าวว่า
ผู้ใดมาเกิดพบพระพุทธศาสนาแล้วเป็นลาภอันประเสริฐ มีอานิสงส์มากเหลือเกิน
เป็นลาภอย่างไร เป็นลาภก็เพราะว่า
จะได้สร้างกุศลอย่างนี้ เพื่อเป็นปัจจัยที่จะพ้นจากสังสารทุกข์ กุศลอย่างอื่นไม่มีพ้นได้เลย จึงได้กล่าวว่า เป็นลาภอันประเสริฐ เราทั้งหลายก็ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แต่ว่าเราไม่เคยรู้จักเลย กุศลอย่างนี้ไม่เคยได้สร้างเลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว การพบพระพุทธศาสนาก็เป็นหมันหาประโยชน์ไม่ได้ เราก็มัวแต่จะมาสร้างทาน สร้างศีลอะไรต่ออะไร ซึ่งนอกพระพุทธศาสนาก็ได้ เพราะว่า เขาก็มีมาก่อนแล้วประจำโลก อันนี้น่ะซีไม่มี ที่กล่าวว่าเป็นลาภอันประเสริฅฐนั้นก็คือ ได้มีโอกาสสร้างกุศล อย่างนี้ถือว่า เป็นอานิสงส์มากนัก
เพราะฉะนั้น เราควรสร้าง เราจะได้หรือไม่ได้ก็ช่าง แต่กุศลวิปัสสนานี้เราต้องสร้าง เพราะว่าเรามีโอกาสแล้วที่จะสร้างได้ เราก็ต้องสร้างเพื่อให้เป็นปัจจัยต่อไป เพราะว่าถ้าตายแล้วสูญ เราก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด แต่นี่เราเชื่อแล้วว่า ตายแล้วไม่สูญสังสารวัฎมีอยู่ เพราะฉะนั้น เราก็สร้างไว้ให้เป็นปัจจัย
อันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้เคยเทศนาแก่พระอานนท์ว่า
"ตถาคตคงยังอยู่ก็ตาม หรือจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม จะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี คนใดคนหนึ่งก็ตาม ถ้าตั้งอยู่ในธรรมอันนี้แล้ว ตถาคตก็ยกย่องว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ประเสริฐ"
อะไรตั้งอยู่ จิตตั้งอยู่ในธรรมอันนี้ คือ พิจารณากาย เวทนาเป็นต้น ได้แก่ สติปัฏฐาน พระองค์ก็ทรงยกย่องว่า ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐและยังได้ทรงตรัสว่า
"อานนท์ จงมีตนเป็นที่พึ่งของตน อย่าเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงเอาตนเป็นที่พึ่ง และเอาธรรมเป็นที่พึ่งด้วย" เอาตนเป็นที่พึ่งนั้นอย่างไร ? ผู้ที่ชื่อว่า มีตนเป็นที่พึ่งของตน คือ ผู้ที่พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม สติปัฏฐานอันใดอันหนึ่ง
ผู้ที่นำจิตของตนไปตั้งอยู่ในสติปัฏฐาน ได้ชื่อว่า
ผู้นั้นมีตนเป็นที่พึ่ง
และมีธรรมเป็นที่พึ่งด้วย และผู้ที่จะนำจิตมาตั้งอยู่ในสติปัฏฐานได้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับกิเลสจริง ๆแล้ว คือผู้ที่ไม่มีตนเป็นที่พึ่งแล้วมาไม่ได้ มาไม่ได้จริง ๆ มีอุปสรรคต่าง ๆไปทั้งนั้น มาไม่ได้หรือก็มีอุปสรรคอย่างโน้นอย่างนี้
คนที่จะเอาจิตมาตั้งอยู่ในสติปัฏฐานได้ จะต้องเป็นคนที่ชนะกิเลสได้
ชนะกิเลสมาแล้ว ก็มีปัจจัยของกุศลที่จะให้โอกาสให้จิตมาตั้งอยู่ได้ จึงจะมาได้ จะต้องชนะกิเลสมาชั้นหนึ่งแล้ว มิฉะนั้น มันไม่ยอม กิลสมันจะลากไปทีเดียว นรกน่ะ ไม่มีกุศลลากไปเลย มีแต่กิเลสลากไปทั้งนั้น ถ้าไปสวรรค์ก็ต้องกุศลนั่นแหละเป็นผู้ลาก ถ้าคนที่เอาชนะกิเลสไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ในธรรมอันนี้ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ตั้งอยู่ได้ชื่อว่า มีตนเป็นที่พึ่ง มีอำนาจสามารถจะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ สามารถจะได้ธรรมเป็นที่พึ่ง
อีกประการหนึ่ง ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานแล้ว ขณะนั้นเทวดาทั้งหลายก็รู้ว่า พระพุทธเจ้าประชวรมากวันนี้ บอกว่าเวลาเท่านั้นทีเดียวจะเข้าสู่ปรินิพพาน แล้วก็พากันบอกกล่าวว่า เราจงพากันไปบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสียในวันนี้เถอะ ต่อไปจะไม่ได้บูชาอีกแล้ว ดังนั้น ต่างก็พากันโปรยดอกมณฑารพ อันเป็นดอกไม้ทิพย์เพื่อเป็นพุทธบูชา ในป่านั้นเต็มไปด้วยดอกไม้ทิพย์ ที่เหล่าเทวดาพากันบูชาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก่พระอานนท์ว่า "อานนท์เทวดาเหล่านั้นบูชาตถาคตด้วยดอกไม้ อันเป็นทิพย์มากมายเหลือเกิน เต็มไปหมดทั้งป่า แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังไม่เชื่อว่า ตถาคตรับบูชาของพวกเทวดาเหล่านั้น ถ้าเราเอาของไปให้ใคร แล้วเขาไม่รับจะชื่อว่า ให้เขาไหม ? ก็ไม่ชื่อว่าให้ถูกไหม ? การที่เราบูชาก็เหมือนกัน ถ้าพระองค์ไม่รับก็ไม่ชื่อว่า บูชา ต่อเมื่อใด ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตามมาเห็นภัยในวัฏฏะ
แล้วก็ทำความเพียรเพื่อออกจากสังสารวัฏ
นั่นแหละการกระทำของบุคคลเช่นนั้นชื่อว่า ตถาคตรับบูชา" เห็นไหม ที่เรามาปฏิบัตินี้เป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดมาพิจารณาเพื่อตัวจะได้พ้นจากทุกข์ คือ สังสารทุกข์ นี่แหละชื่อว่า ตถาคตรับบูชา เราน่ะ เป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งนั้น ทำไมเราจะบูชาพระตถาคตสักเจ็ดวันสิบห้าวันไม่ได้หรือ การบูชาของเรานี่แหละเชื่อว่า ตถาคตรับบูชา
พระองค์ต้องการปฏิบัติบูชา
ทำไมไม่ถวายทาน
เพราะฉะนั้น ขอให้รู้เถิดว่า การที่เรามาเข้าปฏิบัตินี้สมแล้วกับที่เราเคารพเลื่อมใสพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจึงมาบูชาเพื่อพระองค์ และทุกครั้งที่เรามีสติรู้
รูปก้าว ก็เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุทุกครั้ง สำรวมตาเห็นก็สักแต่ว่าเห็น รู้อยู่ที่เห็น
แต่ว่าไม่ออกไปข้างนอก
เวลาเห็น
เรามีสติรู้อยู่ที่นามเห็น
นามได้ยิน ก็เหมือนกัน จกฺขุนา ส?วโร สาธุ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ โสเตน ส?วโร สาธุ พระองค์ทรงสาธุ เมื่อมีสติรู้ที่ได้ยิน กิเลสเข้าไม่ได้เพราะอารมณ์ปัจจุบันนี่ กิเลสเข้าไม่ได้ ทำลายอภิชฌาโทมนัส
คิดดูซิว่า กุศลเท่าไรในการที่เรามาทำอยู่นี้ เว้นแต่ว่า ผู้ที่มีบาปหนา หรือมีกิเลสก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะกิเลส มาตั้งอยู่ในธรรมอันนี้ได้ นอกจากนั้นยังได้กุศลทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินทุกก้าวไปก็ได้กุศล จะเห็น จะได้ยิน กินข้าวก็ได้กุศล กินข้าวเพื่อสร้างสังสารวัฏก็ได้ กินเพื่อพ้นจากสังสารวัฏก็ได้ กินแล้วก็พิจารณาว่า กินเพื่ออะไร กินเพื่อแก้ทุกข์ เบญจขันธ์นี้ต้องอาศัยอาหาร การมีเบญจขันธ์นี้ก็เป็นทุกข์เพราะต้องอาศัยอาหาร เพื่อยังอัตภาพให้อยู่ได้ แล้วก็พิจารณาต่อไปว่า อยู่เพื่ออะไร อยู่เพื่อ มรรค ผล นิพพาน ธรรมที่ควรที่จะรู้ยังไม่รู้ ธรรมที่ควรจะแจ้ง ยังไม่แจ้ง ทุกข์ที่ควรจะพ้นยังไม่พ้น เพื่อจะเอาอัตภาพนี้ไว้เพื่ออย่างนี้เท่านั้น
ทีนี้เราก็กินข้าวได้ถูกต้อง ไม่ได้กินเพื่ออร่อย ถ้าอร่อยก็โลภะ ถ้าไม่อร่อยก็โทสะ อย่างนี้เรื่อยไปก็สร้างสังสารวัฏ กิเลสเป็นตัวสังสารวัฏก็สร้างสังสารวัฏเรื่อยไป กินข้าวหนหนึ่งก็ไม่รู้ว่า สังสารวัฏยาวเท่าไร จนไม่รู้เบื้องต้นและที่สุด นี่แหละพิจารณาอย่างนี้ จะอาบน้ำก็อาบน้ำด้วยปัญญาเพื่อออกจากทุกข์ กินข้าวก็เพื่อออกจากทุกข์ การเห็น การได้ยิน การนั่ง นอน ยืน เดิน ก็เพื่อออกจากสังสารวัฏทั้งนั้น เดินก็ได้กุศล นั่งก็ได้กุศล นอนก็ได้กุศล ยืนก็ได้กุศล กินข้าวก็ได้กุศล อาบน้ำก็ได้กุศล ถ่ายอุจจาระก็ได้กุศล ถ่ายปัสสาวะก็ได้กุศล วันหนึ่งกุศลก็นับไม่ถ้วน ไม่รู้กี่ร้อยครั้งกี่พันครั้ง
เราจะไปสร้างกุศลอะไรที่ได้มากอย่างนี้ นาน ๆ ทำบุญครั้งหนึ่ง นาน ๆเลี้ยงพระครั้งหนึ่ง นาน ๆ จะทอดกฐินสักที แล้วอย่านึกว่า ไปทอดกฐินเลี้ยงพระนั้น อกุศลจะเข้าไม่ได้ ไม่ได้โดยบริสุทธิ์เต็มที่แน่นอน เพราะระหว่างที่ทำนั้นไม่ได้ดังใจ ก็จะเอะอะไม่ชอบใจแล้ว บางคนไปทอดผ้าป่า ทอดกฐินทะเลาะกัน กลับมาเป็นความกันก็มี มันไม่ได้บริสุทธิ์อย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น อย่ามีความประมาทผลัดเวลาว่า เอาไว้ก่อนเถอะ วันหลังถึงจะมา อย่างนี้ก็เป็นความประมาทแล้ว เราเกิดมาทีหลังกุศลอย่างนี้ อาจจะไม่รู้ว่าเขาสร้างกันอย่างไรก็ได้ แม้ขณะนี้ยังสับสนอลหม่านเต็มทีแล้ว วิปัสสนาสติปัฏฐานเวลานี้ก็มีนับไม่ถ้วนหลายอย่างเหลือเกิน
เพราะฉะนั้น ก็น่าปลื้มใจกันทุกคน ขอให้ตั้งใจให้ดี เพราะเป็นของนำมายากที่สุด เป็นธรรมอันประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์จะให้เราได้รับกุศลอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ มัวไปทำทานถือศีลเสีย ซึ่งกุศลเหล่านี้จะทำเมื่อไรก็ได้ มีอยู่เสมอในโลก แต่นี้ถ้าหมดศาสนาแล้วจะไม่มีโอกาสทำเลย อีกประการหนึ่งเราจะเชื่อละหรือว่า เกิดมาอีกแล้วจะได้พบพระพุทธศาสนาอีกหรือเปล่า ถึงหากจะพบก็ไม่แน่ว่าจะเข้ามา เพราะว่า ผู้ที่พบอีกตั้งเยอะแยะก็ไม่ได้เข้ามา
ดังนั้น เราจะได้หรือไม่ได้ก็ตาม ก็ยังได้สร้างบารมีเข้าไว้ ต่อไปเมื่อเกิดขึ้นมาอีก ก็ยังมีปัจจัยให้ได้มีโอกาสสร้างบารมีต่อไปอีก ทุกท่านที่เข้ามานี่ดิฉันเชื่อแน่ว่า ต้องมีบารมีมาแล้ว อยู่ถึงไหน ๆ ถึงเชียงรายก็ยังมา ถ้าไม่มีบารมีแล้วมาไม่ได้เลย แม้อยู่อ้อมน้อยนี่
ยังไม่เคยมีพวกใกล้ๆอ้อมน้อยมาเข้ากรรมฐานเลย เพราะฉะนั้น โอกาสที่เราเข้ามานี่เป็นโอกาสสร้างมหากุศลอย่างยิ่งทีเดียว โอกาสที่เราจะทำบาปนั้นหาง่ายเหลือเกิน และอันนี้หายากเหลือเกิน เมื่อเราได้โอกาสที่ประเสริฐแล้ว เราก็ต้องรู้ตัวว่า นี่เป็นของมีคุณค่าเหลือเกิน และเชื่อว่า เราบำรุงพระพุทธศาสนาด้วย เพราะว่า
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแก่เรา
ก็ได้ชื่อว่า บำรุงและรักษาพระพุทธศาสนาให้ยืนยงอยู่ด้วย ตราบใดที่ยังคงมีคนเข้าใจแพร่หลายรับไว้ได้ จะต้องมีผู้รับไว้ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่มีอยู่ในตำรา อยู่ในตำราก็ไม่มีประโยชน์ ต้องมีอยู่ที่เรา เข้าใจแล้วก็เผยแพร่ไปถ่ายทอดไปให้คนอื่น พระพุทธศาสนาจะได้เจริญแพร่หลาย ถ้าคนที่รู้ตายไปไม่มีคนรับไว้ก็เป็นอันว่า หมดไป
ถ้าธุระทั้งสองยังมีอยู่ก็แสดงว่า พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ พระพุทธศาสนาจะยังมีอยู่ได้ ก็เพราะธุระการงานทั้งสองยังมีอยู่ ถ้าการงานอย่างนี้ไม่มีเสียแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดไป เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามานี้ ดิฉันถือว่า มีบุญมาแล้ว แต่ว่าอุปฆาตกรรมอะไรที่จะมาตัดรอนนั้นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่มีเรื่องอื่นหรอก
มันจะไม่ให้เรามาก็เพราะกิเลส มันจะให้เราออกไปก็เพราะกิเลส ถ้าไม่ชนะกิเลสแล้ว เราก็มาไม่ได้ เราต่างก็อยู่ใต้อำนาจของพญามารทั้งนั้น เหนือขึ้นไปสวรรค์ชั้นที่ ๖ ก็อยู่ใต้อำนาจเขาทั้งหมด พวกเดียวเท่านั้น ที่จะไม่อยู่ใต้อำนาจ คือพวกพระอรหันต์ พญามารจะบังคับ จะทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เหนืออำนาจของพญามาร คือ กิเลส คนมีกิเลสแล้วต้องอยู่ใต้อำนาจพญามารทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น มันจึงได้มาอ้อนวอนพระพุทธเจ้า บอกให้นิพพานเถอะ นิพพานเสียเถอะ ถ้าขืนอยู่นานประเดี๋ยวก็จะสอนคนให้เป็นอิสระเสียหมด เพราะฉะนั้นคนที่จะชนะกิเลสมาร จะต้องมีบุญเหลือเกิน การที่ดิฉันเพียรพยายามแนะนำนี่ ก็เพื่ออยากได้กุศลเหมือนกัน ถ้าท่านเกิดกุศลขึ้นมาหรือได้สติปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ดิฉันก็พลอยได้กุศลด้วย เพราะฉะนั้น ดิฉันก็เคยพูดเสมอๆว่า ถ้าอยากจะตอบแทนบุญคุณอาจารย์ละก็ไม่ต้องการอะไรทั้งหมด ขอให้ทำวิปัสสนาให้เกิดปัญญาอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นขอให้ทุกท่านตั้งจิตใจอยู่ในกุศลนี้ ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ
ก็ขอให้อย่าได้ออกไป
ขอให้เอาชนะกิเลสให้ได้ ถ้าชนะคราวนี้ได้ก็มีหวังที่จะชนะต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ขอให้กุศลเจตนาที่ท่านได้ตั้งใจมาบำเพ็ญกุศล เพื่อพระพุทธศาสนา และตั้งอยู่ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
ขออำนาจกุศลอันนี้ จงเป็นพลวปัจจัยให้ท่านมีกำลังกาย กำลังใจ สมบูรณ์ด้วยกำลังสติ กำลังปัญญาและสติปัญญานั้น จงเป็นปัจจัยให้ได้เข้าไปรู้ศีลธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่ต้องการมา และขออย่าได้มีอุปสรรคอันตรายอะไรมากีดขวางกั้นหนทางที่จะดำเนินไปสู่ มรรค ผลนิพพานเลย |