อาจารย์คุณหมอส่าหรีตั้งชื่อคำบรรยายวันนี้ว่า อริยทรัพย์ จากคำแปลในพจนานุกรม อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจอันประเสริฐ ปกติเมื่อพูดถึงทรัพย์ เราจะหมายถึง วัตถุข้าวของเงินทองที่จับต้องได้ เมื่อทรัพย์กลายมาเป็นคุณธรรมประจำใจของเรา ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ได้ว่าอันไหนประเสริฐ เป็นอริยทรัพย์
ท่านจำแนกอริยทรัพย์ออกเป็น 7 ประการ คุณธรรมเหล่านี้ หากใครมีงอกงามแล้ว จะเป็นหลักคุ้มกันภัยให้กับใจตัวเอง ปรารถนาจะไปเกิดในภพภูมิเทวดาหรือพรหม ก็ได้สมปรารถนา แต่ที่ดียิ่งไปกว่านั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ถ้าผู้ใดทำอริยทรัพย์ทั้ง 7 ประการนี้ ให้บริบูรณ์แล้ว ความบริบูรณ์นี้จะเป็นกำลังให้ไปถึงสภาวะโสดาบัน คือเข้าสู่กระแสความเป็นอริยบุคคล สิ่งที่ท่านจำแนกว่าเป็นอริยทรัพย์ 7 ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และปัญญา คุณธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งประเสริฐ หล่อเลี้ยงใจของเราให้มีความรอดปลอดภัย มีกำลังคุ้มกันตัว
1. ศรัทธา(Faith)
เรามาพิจารณาถึงคุณธรรมตัวแรกคือ ศรัทธา ว่า ศรัทธาแค่ไหนอย่างไร จึงจัดเป็นอริยทรัพย์ เพราะศรัทธาก็แปลว่าความเชื่อ การที่เรามีความเชื่อในสิ่งทั่วไป ไม่ได้หมายความว่า ความเชื่อเหล่านั้น จะหยั่งรกรากฝังโคน จนงอกงามเป็นหนึ่งในอริยทรัพย์ได้ ศรัทธาที่มีกำลังเพียงพอจะส่งเราให้มีคุณธรรมคุ้มครองตัวได้นั้น จะต้องเป็นศรัทธาที่พาให้เราเชื่อในปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธองค์เชื่อโดยไม่คลางแคลงสงสัยว่า เจ้าชายสิทธัตถะก็เป็นคนเหมือนเรา ท่านเพียรพยายาม อบรมบ่มแก้ใจของท่าน ให้หมดสิ้นจากกิเลส ท่านจึงตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราศรัทธาในพระปัญญานี้ เมื่อย้อนนึกไปความเชื่อนี้ คือรากแก้วของความเชื่อที่หล่อเลี้ยงใจให้มีพลัง ผลักดันเราให้ประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งเราสามารถทำใจของเราเอง กลับคืนสู่ความเป็นพุทธะได้ ถ้าเราศึกษาเรื่องพุทธศาสนา จะเห็นความแตกต่างจากศาสนาอื่น ตรงที่เจ้าชายสิทธัตถะเป็นมนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ไม่มีอะไรเลยที่ท่านเป็นแล้ว เราไม่ได้เป็น ไม่มีอะไรเลย ที่เจ้าชายสิทธัตถะเป็นจะเป็นสิ่งแปลกพิเศษ ที่เราทั้งหลายในสมัยปัจจุบันไม่สามารถจะเป็นได้
อันนี้คือศักยภาพ ที่ทำให้ศรัทธาในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธองค์หยั่งรากแก้ว ฝังลึกแน่นลงไป จนกลายเป็นความเชื่อในปัญญาของตัวเราเองว่าเราแต่ละคน แต่ละคน สิ่งมีชีวิตที่มีรูปกายเป็นมนุษย์นั้น มีพุทธะอยู่ในใจ แต่เป็นพุทธะที่เรายังไม่ได้ทำให้สะอาดบริสุทธิ์ เราจึงพร้อมแล้ว ที่จะทำตามอย่างท่าน คือพากเพียรขัดเกลาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สะอาดปราศจากกิเลส ถ้าเมื่อไร ศรัทธาในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธองค์หยั่งฝังรากแก้วลงไปจนถึงขั้นอริยทรัพย์ได้ แรงอันนี้ ศรัทธาอันนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อน ให้ตัวเราประพฤติปฏิบัติจริงจัง เสมอต้นเสมอปลาย
พุทธศาสนาไม่ได้อยู่แต่ในคัมภีร์ ในพระไตรปิฎก หรือเป็นเพียงปรัชญา ที่จะเอามาถกเถียงกัน การทำเช่นนั้นย่อมไม่เกิดผล พระพุทธองค์ทรงประทานพุทธธรรมไว้ให้เรา สำหรับเป็นเครื่องประคับประคองใจ ให้เพียรแผ้วถางทางไปสู่ความพ้นทุกข์ ถ้าเราต้องการทำศรัทธาของเราให้เป็นอริยทรัพย์ เราต้องขูดเกลากิเลส ทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีกกับใจของเรา จนเกิดเป็นพลังให้ใจเชื่อมั่น แกล้วกล้าที่จะพากเพียรไม่ละไม่ถอย เพราะเชื่อในธัมมะ เชื่อในการตรัสรู้ขึ้นมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากจะเป็นตัวอย่างให้เราประทับใจถือเป็นแบบฉบับ และเป็นปูชนียบุคคลแล้ว ยังเป็นพลัง ให้เรามั่นใจแน่วแน่อีกว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นความบังเอิญ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นกับเฉพาะบุคคล แต่เป็นสาธารณะ เป็นสัจธรรม ที่ใครก็ตามที่เป็นคนจริง ลงมือทำจริง แล้วขวนขวายค้นหาประกอบเหตุ อย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงประกอบมาแล้ว ผู้นั้นก็จะไปถึงที่ที่ท่านไปได้ เป็นสิ่งสาธารณะ
ธรรมเป็นสิ่งไม่จำกัดบุคคล หรือกาลสมัย ผู้ใดพากเพียรปฏิบัติ ย่อมสามารถรู้เห็นเป็นขึ้นได้ในใจ คือเป็นปัจจัตตัง ถ้ารู้เห็นเป็นขึ้นในใจผู้ใด ผู้นั้นก็จะรู้ชัดเฉพาะตัวของตัว จะใช้เป็นเครื่องประกันความมั่นใจว่า บัดนี้ เราเป็นชาวพุทธที่แท้แล้ว มีศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นเป็นหัวหอก บุกเลิกไปบนมรรค
2. ศีล (Morality)
ต่อไปก็ ศีล ศีลอย่างไหนที่จะให้นับเนื่องเป็นอริยทรัพย์ได้ แรก ๆ เราก็มีเพียงสมาทานศีล กล่าวคือ เมื่อมีพระมาให้ศีล เราก็สมาทานศีลมารักษาไว้ เพียงชั่ววันนี้ ที่เราจะงดเว้น รักษากาย รักษาวาจาของเรา ให้บริสุทธิ์ ให้ครบศีล ตามที่พระท่านให้ ถ้าอย่างนี้ยังไม่เป็นอริยทรัพย์ เพราะศีลของเรายังขึ้นอยู่กับกาลเทศะ ขึ้นอยู่กับวันเวลาเหมือนประเดี๋ยวเราก็ใส่เสื้อ ประเดี๋ยวก็ไม่ใส่เสื้อ ยังไม่เรียบร้อยจริง เมื่อเราปฏิบัติไป ปฏิบัติไป ใจของเราเริ่มเห็นเหตุผลชัดแจ้งว่า จริงๆ แล้ว ศีลไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปคอยรับเอาจากพระ มาเป็นมื้อเป็นคราวเท่านั้น หากเป็นสิ่งที่เหมือนกับเสื้อผ้า
กายของเราไม่ได้ใส่เสื้อผ้าเพียงเพราะเราหนาว แต่ใส่เพราะเป็นความเรียบร้อย เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับนับถือว่า คนปกติจะไปไหนมาไหนต้องแต่งตัวให้เหมาะสม การสวมใส่เสื้อผ้าสำหรับกายของเราเป็นทำนองนี้ ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าบางวันเราก็มีศีล บางวันก็ป่าเถื่อน ชนซ้ายป้ายขวาดะไปหมด ใจอย่างนั้นก็แย่ อยู่กันในสังคม ผู้คนก็ไม่รู้ว่า เจอเราแล้วจะต้องตัวลีบ กลั้นใจ หรือหายใจได้โล่งสบาย ๆ เพราะกำหนดไม่ถูกว่า เราจะเอาอย่างไรกัน ถ้าเราพยายามให้ใจมีศีลเป็นกรอบ รักษาเอาไว้ให้เป็นปกติ ให้เรียบร้อย เหมือนกับกายที่มีเสื้อผ้าประดับตลอดเวลา เป็นนิจศีล ใครเห็นใครไม่เห็นไม่สำคัญ เรารู้ ถ้ารู้เมื่อไหร่ แปลว่าเราจะระวังรักษาเรา ไม่ให้ละเมิดศีล
การจะไม่ละเมิดศีล มีหลักอย่างไร ?
หลายคนประท้วงว่า ศีลเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก จะเอาแค่ไหนดี เอาแค่ศีล 5 ศีล 9 ศีล 10 หรือศีล 227 พระพุทธองค์ทรงประทานหลักเอาไว้อย่างนี้ สมัยพุทธกาล มีพระภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งบวชอยู่ได้ไม่นานเกิดร้อนรุ่มกลุ้มใจ วันหนึ่งวิ่งหนีจะออกประตูวัดไป หมู่เพื่อนสงสัยว่าเป็นอะไร ก็ยื้อยุดตัวไว้ซักถาม ว่าท่านจะวิ่งไปไหน พระหนุ่มนี้ก็ตอบว่า ท่านอึดอัดไปหมด เพราะศีล 227 ข้อของพระพุทธองค์ เหมือนอย่างกับที่คุมขัง แล้วตัวท่านเองก็เป็นนักโทษ ไม่ว่าจะหยิบจับทำอะไร หวาดเสียไปหมด กลัวว่าจะผิดศีล หมู่พวกก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปถึงก็เล่าถวายว่ามีปัญหาอย่างนี้
อย่างนี้
พระพุทธองค์ทรงแนะว่า ไม่ต้องวิตกกังวลไปหรอก เพราะจริงๆ แล้ว ศีลก็คือสิ่งที่จะช่วยรักษาใจของเราให้เป็นปกติ อะไรก็ตามถ้าเราทำลงไปแล้ว ใจเราสบายเป็นปกติไม่สะดุ้งกลัว ไม่รู้สึกว่า เราไปล่วงล้ำสิทธิคนอื่น แล้วเกิดสำนึกผิด ไม่สบายกายไม่สบายใจขึ้นมา ก็แปลว่าศีลของเราบริบูรณ์ ไม่ด่างไม่พร้อย เพราะศีลคือความเป็นปกติของใจ ที่เราสั่งสอนกันว่า ศีล 5 ห้ามทำอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น นั่นเป็นแต่เพียงหัวข้อ เนื้อแท้ของศีลนั้นคือตัวเจตนา คือการที่ใจของเราไม่ไปล่วงละเมิดสิ่งอื่น ผู้อื่น อะไรที่เราไม่ชอบ เราไม่ทำกับคนอื่น เราไม่ไปทำร้ายคนอื่น ไม่รู้มากเอาเปรียบ เราทำแต่สิ่งที่ตัวเราเองปรารถนาให้ผู้อื่นทำกับเรา นั่นคือ หัวใจของศีล
เมื่อไหร่ที่เรารักษาใจของเราเอาไว้ให้เป็นปกติ ไม่ว่าสิ่งใด ๆ ที่ได้กระทำลงไป หากมีคนมาทักท้วง หรือวิพากษ์วิจารณ์ เราก็ไม่เกิดความสะดุ้งละอาย หรือรู้สึกว่า เราจะต้องเปลี่ยนไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าใจของเราปลอดโปร่งเป็นอิสระแปลว่า ใจมีนิจศีลแล้ว ที่เรามีข้อบัญญัติไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในคู่ครองของคนอื่น ไม่พูดปด ไม่เสพเครื่องดองของเมา อันนี้เป็นแต่หลักปฏิบัติ ทำนองเดียวกับที่กฎหมายแบ่งออกเป็นกฎหมายส่วนบุคคล กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา อะไรอย่างนี้ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ เท่านั้นเองจริงๆ แล้ว ความสำคัญไม่ได้อยู่ตรงหลักเกณฑ์เท่านั้น หากอยู่ที่ใจซึ่งเชื่อมั่นว่า ใครเห็น ใครไม่เห็น ไม่สำคัญ เราเองเราก็เห็น เรารู้อยู่ตลอดเวลา เราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ใจจึงเป็นปกติ อยู่เสมอต้นเสมอปลาย ไม่วูบขึ้นวาบลงให้เป็นความผิดปกติ เพราะเมื่อผิดปกติแล้วจะภาวนาเพื่อดูใจตัวเองไม่ได้
ศีลที่จัดเป็นอริยทรัพย์ เมื่อใครรักษาแล้ว อริยบุคคลก็ชื่นชม เป็นฐานให้บังเกิดเป็นสมาธิของจิตใจ ศีลจะทำให้ใจของเราเป็นปกติอยู่ ไม่ว่าจะขณะกำลังรักษา ได้รักษาเสร็จสิ้นไปแล้ว หรือนึกไปถึงในกาลข้างหน้า ก็ทำให้ใจสงบเป็นปกติได้ ใจที่สงบเป็นปกติจะเป็นฐานที่เกิดของสมาธิ จดจ่อแน่วนิ่งเป็นอารมณ์เดียว มีความผาสุก สงบอิ่มเต็ม ไม่ฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย ลังเลสงสัย หวั่นระแวงวิตกไป นิวรณ์จะไม่มี เมื่อไหร่ที่ศีลของเรามีคุณภาพอย่างนี้ ก็แปลว่า เรามีอริยทรัพย์ประการที่ 2 เป็นสมบัติของใจ เมื่อเราได้ 2 ข้อแล้ว ใจจะผ่องใสขึ้นมาเยอะมาก
3 - 4. หิริ(Moral shame) และ
โอตตัปปะ(Moral fear)
คราวนี้ก็ถึง หิริ และ โอตตัปปะ หิริ คือ ความละอายใจต่อการทำความชั่ว โอตตัปปะ คือ ความสะดุ้งกลัวต่อความบาปความชั่ว โดยมากเรามักจะพูดรวมไปด้วยกันว่า ให้มี หิริโอตตัปปะเป็นเครื่องรักษาใจ ถ้าในหัวใจของสัตว์โลกทุก ๆ หัวใจรักษาหิริโอตตัปปะไว้เป็นสมบัติของตัวเองได้แล้ว โลกนี้จะร่มเย็นเป็นสุข เพราะหิริโอตตัปปะเป็นโลกบาลธรรม เป็นธรรมที่คุ้มครองโลก ถ้าคนไม่มีความสะดุ้งกลัว และละอายต่อความชั่วความผิด เห็นความชั่วความผิด เห็นความชั่วความผิดที่ไหน เป็นเข้าเกลือกกลั้วอย่างมีความสุข คิดดูว่า โลกนี้จะเดือดร้อน และเลอะเทอะเปรอะเปื้อนสักแค่ไหน เพราะทุกคนเอาแต่ความชั่วไปใส่ในหัวใจคนอื่น ให้ทุกข์ปวดแสนปวดร้อนกันไปหมด จนกระทั่งในที่สุด โลกคงเป็นเหมือนไฟบรรลัยกัลป์ หิริโอตตัปปะเป็นสิ่งที่เราฝึกให้มีได้ไม่ยากไม่เย็นนัก แต่ผลของมันมากมายเกินคาด
สมัยพุทธกาล วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเล็งพระญาณดูเหล่าสาวกหนุ่ม ว่ากำลังภาวนาทำความเพียรรักษาจิตใจดีอยู่หรือเปล่า ก็พบว่า บรรดาสาวกหนุ่มเณรน้อยทั้งหลาย มัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงแต่กาม จิตใจที่ยังตัดโลกไม่ขาด ภาวนายังไม่ข้ามพ้นโลก ใจย่อมหวนนึกถึงแต่สิ่งที่เป็นเครื่องร้อยรัดใจ ให้ข้องติดอยู่ในกามภพ ท่านเลยให้ท่านอานนท์เรียกประชุมสงฆ์ด่วน เมื่อสงฆ์มาประชุมกันพร้อมแล้ว ท่านตรัสเล่าเรื่องของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นม่ายมีลูกสาวเพียงคนเดียว ห่วงใยลูกว่าจะตกแต่งให้กับใครดี ในที่สุดอาจารย์ก็เรียกประชุมลูกศิษย์ทั้งหลายว่า เราจะจัดพิธีแต่งงานให้ลูก ก็อยากจะให้พวกเจ้าทั้งหลาย ไปจัดหาเครื่องประดับมาให้เจ้าสาว ข้อแม้มีว่า ในการจัดหาสิ่งของเพื่อมาให้เจ้าสาวนั้น ใครจะรู้เห็นไม่ได้ต้องเป็นความลับ ถ้าผิดกติกาอันนี้ คือมีใครรู้เห็น ไม่เป็นความลับ เป็นอันใช้ไม่ได้
ลูกศิษย์ทั้งหลายศึกษาเข้าใจวิธีแล้วว่า แต่ละคนมีหน้าที่ไปจัดหาของอะไรมา ก็รับคำแล้วลากลับไปบ้านเรือนของตน เพื่อไปจัดหาสิ่งของมาให้อาจารย์ ได้มาแล้ว อาจารย์ก็ทำบัญชีเอาไว้ จดรายชื่อศิษย์ พร้อมทั้งสิ่งของ ถึงลูกศิษย์คนสุดท้าย ปรากฏไม่มีอะไรมาเลย อาจารย์ก็ถาม เจ้าไม่รักลูกเรา ไม่อยากให้ลูกเรามีของเครื่องประดับที่สวยงามหรอกหรือ ลูกศิษย์ก็ตอบว่า กระผมไตร่ตรองดูแล้ว ความลับไม่มีในโลกนี้ ไม่มีที่ตรงไหนเลย ที่จะเป็นความลับได้ เพราะถึงจะไม่มีผู้ไม่มีคน แต่ก็มีตัวกระผมรู้เห็นอยู่ เป็นพยานว่า มันไม่ลับแล้ว
อาจารย์ก็ชื่นใจ เพราะความจริงอาจารย์ออกอุบาย ให้ลูกศิษย์ทั้งหลายไปทำอย่างนี้เพื่อทดสอบลูกศิษย์ อาจารย์เลยอธิบายกับลูกศิษย์ว่า นี่นะ ที่เราให้ศิษย์ทั้งหลายไปจัดหาข้าวของมานี่ เพราะเราเองเชื่อว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ถ้าคนที่ลูกเราแต่งงานด้วย มีหิริโอตัปปะ มีใจงาม อะไรเกิดขึ้น ถ้าเป็นความชั่วความผิดบาป เขาย่อมไม่ทำ ลูกของเราก็จะปลอดภัย เราจึงคิดวิธีนี้ขึ้นมา เพื่อหยั่งใจศิษย์ และเราก็ดีใจ ที่ศิษย์คนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นคนมีหิริโอตัปปะ เพราะฉะนั้น เราขอยกลูกสาวเราให้เจ้า ลูกศิษย์คนนั้นเลยโชคดี ได้ลูกสาวอาจารย์ไปเป็นคู่ครอง
พระพุทธองค์ตรัสเล่ามาถึงตรงนี้ ภิกษุทั้งหลายก็เกิดความสะดุ้งละอายว่า พระพุทธองค์ทรงเล็งรู้ในใจของพวกตน ตั้งสติจดจ่ออยู่กับใจ ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ พระพุทธองค์ทรงย้ำว่า ถ้าคนเราไม่มีความสะดุ้งละอายต่อความชั่ว ไม่ระมัดระวังความคิดของตัว ไม่คิดทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แล้ว ใจที่ด้านต่อความคิดชั่วความ คิดอกุศลไม่รับผิดชอบกับภาระหน้าที่เหล่านี้ จะค่อย ๆ หยาบออกมา เป็นวาจา เป็นการกระทำ ในที่สุดเราก็เป็นคนชั่วคนเสียไปโดยสิ้นเชิง
พระภิกษุเหล่านั้นฟังแล้ว ก็ตั้งอกตั้งใจจดจ่อสติรักษาใจไว้ ใจก็สงบสงัดเป็นสมาธิ รู้เห็นเป็นธรรม จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ย้ำให้เห็นว่า แม้พระพุทธองค์ยังทรงยกหิริโอตตัปปะว่า เป็นคุณธรรมที่ทุกๆ คนควรขวนขวายหาไว้ ไม่ใช่แต่พระสงฆ์หรือนักบวช ที่รักษาใจให้มีหิริโอตัปปะ แม้กระทั่งอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จะหาคู่ครองให้ลูกสาว ยังเฟ้นว่า คนๆ นั้นจะยากจนหรือมั่งมีไม่สำคัญ ขอให้มีคุณธรรมข้อนี้ประจำใจเป็นใช้ได้ แสดงว่าคุณธรรมข้อนี้มีคุณค่ามหาศาล สมกับที่ท่านว่าเป็นอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐเมื่อมีอยู่ในใจของเราแล้ว ย่อมรักษาเราให้ไม่ตกต่ำไปเป็นอันขาด สิ่งที่เรายังไม่มีก็จะงอกเลยขึ้นมา
เมื่อเห็นความสำคัญอย่างนี้ เราจะได้คอยเอาสติมองใจตัวเองเอาไว้ว่า ที่กำลังจะทำขณะนี้ถูกต้องเหมาะควรหรือเปล่า ถ้ารู้สึกตะขิดตะขวง รู้สึกไม่แน่ใจ มีความสะดุ้งกลัว มีความละอาย เดี๋ยวใครเห็นใครรู้เข้า เขาจะตำหนิ ถ้ารู้สึกอย่างนี้ อย่าฝืนทำ เพราะหิริโอตตัปปะในใจของเรา เตือนเราแล้ว เราต้องเชื่อฟัง แล้วหยุด เมื่อหยุดได้ อีกหน่อยห้ามล้อของเราก็จะเข้มแข็ง พอหิริโอตตัปปะเตือนขึ้นมา ใจจะไม่กระดุกกระดิก หรือคิดจะโกง คิดจะเหลวไหล แล้วเผลอทำตามไป ผลที่สุดใจของเราจะเป็นใจที่เที่ยงธรรม ไม่คดโกง ไม่ไปทำอะไรที่เรารู้ว่า เป็นบาปเป็นพิษภัย
5. พาหุสัจจะ(Great learning)
อริยทรัพย์ตัวถัดไป คือ พาหุสัจจะ หรือ สุตะพาหุสัจจะ คือ เป็นคนมีความรู้รอบ รู้ลึกซึ้ง รู้กว้างขวาง สุตะ คือ การได้รู้ การเล่าเรียนสดับฟัง ศึกษาหาความรู้ เมื่อได้รู้ได้ฟังได้ศึกษาเล่าเรียนมาก ก็เป็นพหูสูต อะไรบ้างที่พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้ว่าสมควรที่เราจะขวนขวายไปฟังไปรู้เอาไว้ เพื่อจะได้เป็นกำลัง เป็นอริยทรัพย์ ท่านตรัสว่า ธรรมอะไรก็ตามที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและงามในที่สุด ถือเป็นหลักของการครองชีวิตที่ประเสริฐ ครองชีวิตพรหมจรรย์
ถ้ายังเป็นฆราวาสอยู่ ก็เป็นหลักช่วยให้เราประพฤติปฏิบัติชีวิตไปบนมรรค เป็นหนทางก้าวไปสู่การรักษาพรหมจรรย์ในที่สุด หลักเหล่านี้คือสิ่งที่เราขวนขวาย แสวงหาฟังเพื่อน้อมมาสอนใจ ครั้งแรก ฟังเอาไว้ ก็ยังเป็นสัญญาก่อนฟังไปๆ เราไม่ได้ฟังเฉยๆ ฟังแล้วก็ทำตัวเราให้เป็นเพื่อนที่ดี เอาไปพูดให้คนอื่นๆ ฟังต่อ เราก็คล่องปาก ถึงไม่พูดให้ใครฟัง เราก็ทบทวนความจำของเราให้เกิดความเจนใจ ไม่ต้องคอยนึกว่า เอ
อันนี้ ทำอย่างไรถึงจะถูก
เมื่อมีเหตุการณ์อะไรมากระทบ สิ่งที่เรารู้มาแล้ว เคยพูดสอนคนอื่นบอกคนอื่น นึกทบทวนสอนตัวเองอยู่เรื่อยๆ จะกลับมาเป็นหลักสอนใจเราโดยอัตโนมัติ จนในที่สุดเราก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น สิ่งที่เราฟัง ฟังเอาไว้ ครั้งแรกก็เป็นสัญญา วันหนึ่งสัญญาเกิดความคล่องตัวจนกลายเป็นปัญญา เนื่องจากการฝึกฝน เหมือนเวลาเราข้ามสะพานลอย พื้นเหล็กที่เป็นทางเดินเป็นเหล็กแผ่นที่มีรอยเป็นตาราง เพื่อช่วยให้คนเดินไม่ลื่น ครั้นคนเดินผ่านไปเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนคนเข้า ตารางก็สึกไป ๆ จนพื้นแผ่นเหล็กบุ๋ม ทำท่าว่าจะทะลุลงไป
ความจำของคนเราก็เหมือนกัน เมื่อเราจดจำ แล้วเอามาฝึกฝนประพฤติปฏิบัติอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความชำนิชำนาญ วันหนึ่งเกิดมีความเข้าใจทะลุปรุโปร่ง กลายเป็นปัญญาของเรา เหมือนอย่างเราท่องเลขในใจสมัยเด็กๆ หรือเรียนคณิตศาสตร์ เมื่อเรียนทฤษฎีแล้ว ครูก็ให้แบบฝึกหัดมาทำ ครั้งแรกเราก็ต้องเปิดทฤษฎีดูเทียบว่า จะต้องเขียนอย่างนี้ๆ ต่อไปไม่ต้องแล้ว เห็นโจทย์ข้อไหนๆ ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นปัญญาของเราแล้ว เราเข้าใจทฤษฎีนี้ทะลุปรุโปร่ง จนเจนใจพอเห็นโจทย์ ไม่ว่าจะพลิกแพลงเป็นอย่างไหน ๆ เราก็ทำได้ สุตะที่จะเป็นกำลังให้เราเกิดความเป็นพหูสูตเป็นพาหุสัจจะ ก็ทำนองนี้ คือเมื่อได้ฟัง เรารู้ว่า อันนี้เป็นหลักที่ดีงาม เหมาะที่จะเอามาดำเนินชีวิตของเรา เราก็ทำอยู่เสมอ ๆ ให้คล่องจนกลายเป็นปัญญาไป เมื่อทำอย่างนี้แล้ว สิ่งที่ได้รู้ได้ฟังมา ก็จะเป็นอริยทรัพย์ของเรา เมื่อฟังเอาไว้ครั้งแรก ได้ยิน ได้ฟัง สุตะ แล้วน้อมมาฝึกตัวเองให้เกิดโยนิโสมนสิการ คือ เกิดเป็นปัญญา เป็นแยบคายอุบายให้เรารู้เราเข้าใจ
ด้วยอวิชชาเราจึงยังไม่ฉลาดรอบรู้ จริงอยู่ธาตุเดิมของใจเรานี้คือพุทธะ เราแต่ประมาทขาดสติปล่อยให้เศร้าหมองไปด้วยกิเลส ด้วยความยึดผิดเห็นผิด จนกระทั่งหมดกำลังรู้ เราจึงต้องไปแสวงหาจากผู้รู้ที่เป็นสัตบุรุษ หรือครูบาอาจารย์หรือหาอ่านจากหนังสือ ให้ได้หลักเกณฑ์ฟื้นความจำขึ้นมา เมื่อฟื้นความจำขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็ยึดเอาไว้เป็นแบบฉบับ ครั้งแรกก็มีคนข้างนอก ที่เรียกว่า กัลยาณมิตร ก่อน เป็นผู้ชี้แนะทางให้ ต่อมา ๆ เราก็ใช้หลักที่ไห่ได้จากข้างนอก มาเป็นวิธีฝึกเรา ถ้าเราไปตกอยู่ในที่คับขัน ไม่สามารถไปปรึกษาหารือใคร หรือไปหาตำรับตำราได้ ทำอย่างไรเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เราก็ทบทวนระลึกถึงหลักที่เคยรู้มา แล้วใช้ปัญญาของเราบ้าง สัญญาของเราบ้าง อะไรๆ ที่เคยรู้เคยจำมา คิดขึ้นมาเป็นสังขารจิตสอนใจ ต่อไปๆ วิธีคิดของเรา ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นกิเลสเป็นส่วนใหญ่ จะเริ่มเป็นกุศล เป็นธรรมขึ้นมา พอปัญหาอะไรมากระทบใจ ใจที่ได้ฝึกดีแล้ว จะเกิดโยนิโสมนสิการ หรือ แยบคายอุบายเสมือนกัลยาณมิตรในเป็นเกราะคุ้มกัน ไปที่ไปไหนเราก็ไม่ทุกข์ร้อนว่า นี่เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เราจะคุ้มครองตัวเองได้อย่างไร
เราจะเกิดความมั่นใจในตัวเอง มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะว่าบัดนี้เราแน่ใจแล้วว่า ไม่ว่าจะตกไปอยู่ถิ่นที่ใด หรือว่าปัญหาจะยากเย็นแค้นเข็ญใจแค่ไหน กำลังที่เราได้ฝึกปรือตัวเราเอาไว้ กำลังจากการฟัง การร่ำเรียนจะสามารถทำให้เราตั้งสติ ตั้งสมาธิให้เกิดโยนิโสมนสิการขึ้นมาได้ ช่วยให้ตัวเองแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าไปแต่ละครั้งๆ ได้ เมื่อรู้อย่างนี้กำลังของสุตะ หรือพหูสูต หรือพาหุสัจจะ จะเพิ่มความแกร่งขึ้นจนกระทั่งเป็นอริยทรัพย์ ที่คุ้มครองเราให้ตลอดปลอดภัยได้
6. จาคะ (Charity)
ต่อไปถึงตัวที่ 6 คือ จาคะ หมายถึง การเสียสละ หรือการมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทางโลกจาคะก็คือ กำลังที่เราสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เพราะใจคนเราโดยไม่รู้ตัวและไม่มีเจตนามักจะนึกถึงกันด้วยแง่ร้าย เป็นต้นว่า ลูกกลับบ้านผิดเวลา หรือคู่ครองเราถึงเวลาควรกลับแล้วไม่กลับ และไม่บอกอะไรไว้ก่อน พอโทรศัพท์
กริ๊ง
มา แทนที่จะนึก เออ
คงโทรศัพท์มาบอกว่า เขาไปเจอเพื่อนหรือมีเรื่องอะไรที่ทำให้ช้า กลับไปคิดว่า นี่
น่ากลัวโรงพักโทรมา หรือตึกอุบัติเหตุของโรงพยาบาลโทรมา คือเราจะคิดไปในทางไม่ดีเข้าไว้ เพราะใจของคนเราถูกนิวรณ์ ถูกกิเลสครอบงำเอาไว้ ทำให้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ไม่มีสาเหตุ ตัวเองก็คิดให้เป็นทุกข์ขึ้นมา ก่อกวนตัวเองไว้ แสดงว่าจาคะของเราย่อหย่อนมาก เราก็เริ่มฝึกหัดวิธีคิดเอาไว้ เวลาที่ความคิดอะไรแวบเข้ามา เอาสติจดจ้อง ถ้าจะคิดให้เป็นเหตุของความทุกข์ คิดให้ใจเรามัวหมองเพราะเป็นนิวรณ์ เราหยุดมัน เปลี่ยนมัน เอากำลังของสุตะที่ฝึก จนกระทั่งเกิดแยบคายอุบาย มาน้อมให้ใจคิดเป็นกุศลทุกครั้ง ให้คิดแล้วมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น คิดแล้วใจชุ่มเย็น ใจปีติอิ่มเอิบ ได้กำลัง เกิดเมตตา
การจะแผ่เมตตาให้คนอื่นนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราเมตตาตนเองเสียก่อน ทำไมท่านจึงให้เราเมตตาตนเองก่อน เพราะใจมีลักษณะเหมือนน้ำ เราจะพูดว่า คุณปันน้ำใจให้เขาสักหน่อย คุณมีน้ำใจกับเขาบ้างสิ จะพูดกันว่า น้ำใจ
น้ำใจ แต่ไม่เคยฉุกคิดว่า เมื่อเป็นน้ำและเป็นใจ ที่เราจะหยาดไปให้เขานี่ แล้วในคลังของเราเองมีเหลือเฟือแล้วหรือยัง หรือว่าแห้งผากเลย พอไปตักขึ้นมาหน่อย ก็ได้แต่กรวดทรายเต็มไปหมด เมื่อเอาไปให้เขา แทนที่จะเป็นน้ำใสใจเมตตาให้ชุ่มชื้น เขาก็เลยถลอกปอกเปิกไปหมด ด้วยกรวดด้วยทรายจากใจของเรา
เมื่อทำภาวนาดิฉันจะแผ่เมตตา ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ทองว่าดิฉัน เมตตาของศิษย์นี่มันไม่ใช่ฟองน้ำนะ มันสก็อตไบรท์ คือ สามารถซุกซอกไปตรงไหนก็ได้ แต่เมื่อซุกลงไปแล้ว มันไม่เหมือนฟองน้ำ เพราะฟองน้ำไม่ไปข่วนผิวใครถลอก แต่เมตตาของดิฉัน ท่านอาจารย์ว่าเป็นสก็อตไบรท์ข่วนเขาเลือดตกยางออก ดิฉันก็มานั่งนึก ทำไมท่านอาจารย์ว่าอย่างนี้ เราก็แผ่เมตตานะ แต่จริง ๆ ไม่ใช่หรอก ดิฉันแผ่เมตตาว่าอย่างนี้ ใครทำกรรมอย่างไหนไว้ ย่อมได้รับกรรมอย่างนั้น เราเข้าใจว่า เราเชื่อในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เตือนตัวเองให้เชื่อกฎแห่งกรรม แต่ไม่ใช่ มันแค้นใจ ใครทำกรรมอย่างไหนไว้ก็รับกรรมอย่างนั้นไป อีกไม่นานเกินรอ เราคงเห็นว่า กฎแห่งกรรมของพระพุทธองค์จริงแท้แน่นอน แช่งเขาเข้าไปแล้ว ท่านอาจารย์เลยว่า สก็อตไบรท์ แต่ตอนนั้นไม่เห็นจริง ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีเหตุการณ์ให้คนที่ทำให้ดิฉันขัดข้องหมองใจเกิดทุกข์โศก วิ่งมาหาท่านอาจารย์ วัดมีตั้งเยอะแยะไม่ไป จะมาวัดนี้ มากราบท่านอาจารย์ เพื่อเล่าถึงความทุกข์ให้ฟัง ดิฉันจึงได้เห็นใจตัวเองว่า อ๋อ
เมตตาของดิฉันเป็นสก็อตไบรท์อย่างนี้เอง เพราะว่าวูบแรกที่รู้เข้า ก็นึก
นั่นยังไง ทำอย่างไหนไว้ก็รับผลของตัวไปสิ
แล้วก็ตกใจตัวเองว่า ตายแล้ว ไปแช่งเขา เลยถึงบางอ้อว่า เมตตาของเราเป็นสก็อตไบรท์อย่างนี้เอง ไม่ได้รู้ตัวเลย
ทุก ๆ ขั้นตอนที่เราพูดกันมานี้ อย่าไปว่าเขาว่าเรา หรือดูหมิ่นน้ำใจเรา มันเป็นอย่างนี้กันทุกตัวสัตว์บุคคล เพราะว่าเราเป็นกิเลสมาแต่อ้อนแต่ออก ทุกอันที่เราคิดว่าเราปฏิบัติธรรม กิเลสก็แทรกเป็นยาดำมาปฏิบัติกับเราด้วย แล้วมันก็ฉลาดกว่าเราทุกที งับเอาเราไปปฏิบัติกิเลสเสียก่อนทุกที แต่เราก็อย่าไปท้อถอย เมื่อไรสติคมเห็นทัน เพราะมีครูบาอาจารย์สอนสั่งเอาไว้ กรุยทางไว้ให้เห็นให้รู้ เมื่อเห็นแล้ว เอาหิริโอตัปปะมาเป็นกำลังว่า นี่เราชั่วนะ ให้สะดุ้งละอาย อย่าไปแก้ต่างให้กิเลส ไม่อย่างนั้นจะบอกว่า ก็เขาชั่วนี่นา เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลให้เขาได้รับโทษ คนอื่น ๆ จะได้ปลอดภัย ไม่ต้องมาเจ็บช้ำน้ำใจอย่างเรา ตกม้าตายหนหนึ่งแล้ว ยังไม่พอ ตกลงไปอีกหนหนึ่งอีก คือ เชื่อที่กิเลสเสี้ยมสอน คราวนี้เอาหิริโอตัปปะมาเป็นรั้ว คุ้มกันเอาไว้ว่า นี่ไงล่ะที่เราแผ่เมตตาไม่ถูกวิธี บัดนี้เราได้รู้แล้ว เราก็จะแก้ไขให้เป็นเมตตาที่นุ่มนวลอย่างของพระพุทธองค์ เราก็ค่อย ๆ เรียนรู้จากข้อบกพร่องของเรา และจะค่อยๆ งามขึ้นโดยลำดับ จากที่เคยเป็นพาลชนก็มาเป็นปุถุชน ต่อมาก็เป็นกัลยาณชน และในที่สุดเป็นอริยชน
นี่แหละคือพัฒนาการของจิตใจของตนเอง เดี๋ยวนี้เรามีอริยทรัพย์เป็นเสบียงแล้ว ไม่ใช่ทรัพย์ปลอมอย่างแต่ก่อน เราทำทรัพย์ของเราให้เป็นสมบัติของอริยบุคคล ถ้าเราขวนขวายเก็บงำไปไม่ละไม่ถอย ใจของเราจะละเอียดนุ่มนวลขึ้นโดยลำดับ แล้วคืนสู่ความเป็นธรรมะ เป็นพุทธะ จาคะ คือเหตุที่ทำให้ใจมีเมตตา เมตตาแล้วก็รู้อภัย ปกติคนเราขี้เหนียวหนี้กันทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ขี้เหนียวแล้วก็ใช่ว่าจะร่ำรวย ขี้เหนียวแล้วใจกลับขึ้นขี้สนิม เพราะเวลาที่เราไม่อภัยให้ใคร อย่านึกว่าเรามีความสุข
ครั้งหนึ่งดิฉันเคยเชื่อว่า คนๆ นี้ทำดิฉันเหลือที่จะอภัยให้ได้ ถ้าอภัยแล้ว ต่อไปเขาก็จะไปทำอย่างนี้ให้คนอื่นเดือดร้อน ก็นึกว่าที่รักษาความเจ็บช้ำน้ำใจเอาไว้ ก็เพื่อเป็นประโยชน์กับโลก วันหนึ่ง เกิดได้คิดขึ้นมาว่า การที่เราไปนั่งจดจำความชั่วของเขาไว้ มันหนักโดยเปล่าประโยชน์ ใจเราสมมติเป็นตะกร้า เอาก้อนหินมาใส่เอาไว้ ประเดี๋ยวหูตะกร้าก็ขาดเปล่าๆ แล้วถ้าเราเกิดตายไป เราก็ต้องไปเจอกับเขาอีก เพราะเรายังไปผูกใจเอาไว้กับเขา มันก็เป็นแรงดูดให้เราไปเจอะไปเจอกับเขาอีก ก็เลยตัดใจว่า เอาละ วันนี้อภัยให้หมด เพราะได้คิดแล้วว่า เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม จะตายเมื่อไหร่ต้องตายได้ นี่ออกจากบ้านเช้านี้ อาจจะไปเจออุบัติเหตุ ก็น้อมใจอภัยอโหสิให้เขา ใจที่เคยหนักกระด้าง หงุดหงิด เปลี่ยนเป็นเบาสบาย และเกิดความชุ่มฉ่ำ เหมือนคนที่หิ้วของหนักจนมือล้า เชือกหูหิ้วบาดมือ เอาผ้ามารองไว้ก็ยังขาดทะลุผ้า จนมือชาเป็นเหน็บ แล้วของก็หลุดมือตกลงไป ทำให้รู้สึกเบาสบาย
ทำไมไม่รู้จักวางลงไปเสียก่อนก็ไม่รู้
นี่ก็เหมือนกัน ใจที่ไปจดจำ ตรงโน้น ตรงนี้ ตรงนั้น เอาไว้ พอวางได้แล้ว กลับเบาบรมสุขอย่างนี้เอง อานิสงส์ของจาคะคืออย่างนี้ อย่าไปวุ่นห่วงว่า จาคะ
เขาทำผ้าป่า บอกบุญโน่นบุญนี่ เอาไปให้เขาตรงโน้นตรงนี้ ช่วยทำบุญเพื่อเขาจะประกาศ เราจึงไปทำ อย่างนั้น ยังไม่ใช่จาคะ จาคะจริง ๆ คือการที่เรามีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อภัย อโหสิ แล้วก็เมตตาต่อกัน เวลาจะคิดจะนึกอะไร ขอให้คิดนึกด้วยความเป็นกุศลต่อกัน
ฝึกใจเอาไว้ว่า เมื่อไรที่จะกระเพื่อม มีความคิดปรุงเป็นสังขารจิตขึ้นมา ให้เป็นกุศลทุกครั้งไปแล้วเราจะปลอดภัย มิเช่นนั้นเราทำอกุศลมโนกรรมกันเป็นว่าเล่น ทำไปด้วยความไม่มีสติที่จะระลึกรู้ ท่านอาจารย์ท่านย้ำแล้วย้ำอีกว่า คนเราที่บ่นๆ ว่า หนี้สินไม่หมดสักทีนั้น ท่านบอก ของเก่านี่มันไม่มาก ไม่มากมายหรอก สำคัญตรงของใหม่ที่ทำไปโดยไม่มีสติทุกวี่วัน ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไปจนวันตายนี่แหละ ท่านว่ามันมหึมากว่ามาก ฟังแล้วก็ดื้อดึงไม่ยอมเชื่อท่าน ปากก็ว่าเชื่อแต่บางทีในใจของก็นึกสงสัย ครั้นท่านมรณภาพไปแล้ว สติของเราคมขึ้น สำนึกตัวว่าเราลูกกำพร้า ถ้าไม่เร่งดูแลตัวเอง ท่านอาจารย์ท่านก็ทอดทิ้งเราไปแล้ว ไม่ขวนขวายช่วยตัวเอง ก็ไม่มีใครมาอุ้มชูดูแลแล้ว
ความคิดเช่นนี้ทำให้คอยระวังขึงสติปกป้องตัวเองให้ดีขึ้น จนเห็นว่าอ้อ
อย่างนี้เองนะ นี่เราคิดชั่วอีกแล้ว ทุกครั้งที่ใจกระเพื่อมคิดฟุ้งซ่านนั้น อกุศลทุกครั้งเลย เพิ่งเห็นจริงเห็นจัง อย่างท่านอาจารย์ว่า ทำไมเราไม่คิดอย่างนี้เสียตั้งแต่ท่านว่าก็ไม่ทราบ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจะได้คอยระมัดระวังตรงไหนที่สติยังไม่คมทันก็ช่างมัน ปล่อยไปก่อน ตรงไหนที่สติคมทันแล้วก็รักษาให้เป็นกุศลทุกครั้งไป การฝึกฝนให้ใจเป็นกุศลไว้เป็นของดี เหมือนอย่างวันก่อน ดิฉันไปเยี่ยมคนไข้คนหนึ่งกับเพื่อน คนไข้คนนี้ประสบอุบัติเหตุ ขี่มอเตอร์ไซด์ไปชนกับรถยนต์เข้า เลยขาหัก ต้องผ่าตัดเข้าเฝือกไว้ อย่างที่ดิฉันเรียนให้ทราบ ใจคนเราจะนึกในแง่อกุศลโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่คนเจ็บเป็นฝ่ายผิด คือขับรถแฉลบไปชนรถยนต์เข้าแต่คู่กรณีมีใจเมตตาเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีฐานะอะไร แล้วเป็นฝ่ายบาดเจ็บ ท่านเลยฝากฝังเพื่อนที่โรงพยาบาล เพราะมีเพื่อนเป็นอาจารย์แพทย์ให้ช่วยดูแล ภรรยาก็คงจะลืมไปว่า จริงๆ แล้วใครเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูก เพราะเมื่อมีคนถามว่าเรื่องนี้ใครผิด เขาก็บอกเรื่องนี้ไม่มีคนผิด มีแต่คนถูกทั้งคู่ เราฟังแล้วก็รู้สึกแปร่งหู คุยไปคุยมาอีกสักหน่อย เขาก็เล่าว่า การที่สามีต้องเข้าเฝือก อย่างไรก็คงพิการแน่ เพราะครอบครัวสามีเป็นโรคกระดูกไม่ปกติ ถ้าเมื่อไหร่กระดูกบาดเจ็บหักแล้ว กระดูกจะไม่ติด คุณย่าหกล้ม ก็ปรากฏว่าเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ อยู่ไปอีก 10 ปีถึงตาย พี่ชายมีอุบัติเหตุแล้วเลยพิการเดินไม่ได้เหมือนกัน ภรรยาเลยสรุปว่า ถึงจะได้หมอชั้นหนึ่งมาดูแลรักษา สามีก็จะต้องพิการเดินไม่ได้ ทั้งๆ ที่สามีเพิ่งผ่าตัด พักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล คุณหมอก็ยังดูแลอยู่อย่างดี ดิฉันเห็นขึ้นในใจว่า คนเรานี่เวลาไม่มีสติ มันคิดทำร้ายตัวเองอย่างนี้เอง
ใจนั้นเป็นพลัง อะไรก็ตามที่เราครุ่นคิดอยู่บ่อยๆ ย่อมสัมฤทธิ์ผล สังเกตดู เวลาที่เราอยากทำอะไร เมื่อเป็นเด็ก เราอยากไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง ใจเราจะคิด...คิด...ติดอยู่กับที่แห่งนั้น แล้วขวนขวายหาทางจนเราได้ไป อย่างตัวเอง ขณะที่เรียนอยู่ ก็นึกหาทางจะไปเรียนต่อที่เมืองนอกให้ได้ เราก็ตั้งอกตั้งใจเรียนเพราะรู้ว่าถ้าผลเรียนดี ก็มีโอกาสจะไปสอบชิงทุนหรือมีช่องทางมากขึ้น ก็ขวนขวายหาลู่ทางไว้วันหนึ่งเราก็เอาตัวเราไปจนถึงเมืองนอกจนได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
ดิฉันจึงติงภรรยาท่านนั้นว่า คุณคะ คุณรู้หรือเปล่าว่าคุณกำลังทำอะไร คุณแช่งสามีคุณอยู่นะ ถ้าสามีคุณพิการเดินไม่ได้จริง ๆ มันไม่ใช่เพราะอุบัติเหตุนะ แต่เพราะพลังใจของคุณไปทำคลื่นก่อกวนเดือดร้อน จนกระดูกจะติดก็ติดไม่ได้ แล้วสามีคุณเลยเป็นง่อยไปจริง ๆ คุณก็หลงผิดโทษว่า เพราะกรรมพันธุ์ เพราะปู่ย่าตาทวดไม่ดี ถึงเป็นเหตุให้สามีคุณเป็นอย่างนี้ แต่ความจริงเพราะใจของคุณต่างหาก
ประสบการณ์นี้ทำให้นึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์ที่ว่า คนเรานั้นไม่ใช่เพราะไร้ทรัพย์ แต่เพราะอับปัญญา ถ้าไม่มีปัญหาเสียอย่างหนึ่ง ใจจะคิดแต่ของอกุศลของเลว เป็นเหตุให้ตัวเองมีสมบัติเท่าไรก็รักษาไม่อยู่ เพราะเวลาอับปัญญานั้นเราไม่มีสติ ใจที่ไม่มีสติท่านเรียกว่าใจรั่ว เรามีกระป๋องรั่วมีถ้วยแก้วรั่ว เอาของอะไรใส่ก็รักษาไว้ไม่ได้ ของย่อมรั่วไหลไปหมด ใจก็เหมือนกัน คุณงามความดีมีเท่าไหร่ ถ้าใจรั่วเสียแล้ว มันหายไปหมด อย่าว่าแต่วัตถุสิ่งของที่เป็นทรัพย์ทางโลกเลย
สมัยพุทธกาลมีลูกชายคนหนึ่ง ลูกสาวคนหนึ่ง จากสองตระกูลที่ร่ำรวยมหาศาล เมื่อแต่งงานกัน พ่อแม่ต่างกองทุนให้ฝ่ายละ 40 โกฏิ ตกลงเจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่งงานกันโดยได้กองทุนมา 80 โกฏิ แต่ด้วยความอับปัญญา พากันสนุกสนานเที่ยวเล่น มีแต่เพื่อนกินมาช่วยใช้ช่วยกิน จนกระทั่งทรัพย์สมบัติ 80 โกฏิ หมดเกลี้ยง ยังไม่ทันแก่ตายต้องมาถือกระเบื้องเที่ยวขอทานเขากิน วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาต สองผัวเมียถือกระเบื้องขอทานผ่านมา ท่านทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ทูลถามถึงสาเหตุ ท่านเลยตรัสเล่าให้ฟัง ถ้าใจเรารั่วเสียแล้ว ทรัพย์สมบัติมีเท่าไรก็รักษาไว้ไม่ได้
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ไม่ใช่สูญแต่โลกียทรัพย์ แม้อริยทรัพย์ก็รักษาไม่ได้ จิตใจของสองคนผัวเมีย ถ้าได้ฝึกปฏิบัติตั้งแต่เด็ก จะเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ความที่ปล่อยกาลเวลาให้กินชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงไม่เหลือ ทั้งโลกียทรัพย์และอริยทรัพย์ ซึ่งตรงกับที่ท่านอาจารย์สิงห์ทองว่า คนเราไม่ได้ไร้ทรัพย์ แต่อับปัญญา ถ้าใครจะบ่นว่า เราไม่มีอะไร อย่าบ่นไปเป็นอันขาด ให้นึกว่าเรามีสติปัญญาคุ้มครองตัวอยู่หรือเปล่า
7.
ปัญญา (Wisdom)
จากจาคะ ก็เป็นอริยทรัพย์ข้อที่ 7 คือ ปัญญา ซึ่งก็ต่อเนื่องดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น การจะฝึกตัวเองให้มีอริยทรัพย์คุ้มครองตัว โปรดอย่าทิ้งสติปัญญาเป็นอันขาด เพราะถ้าไม่มีสติเมื่อไร ใจกลายเป็นใจรั่วเมื่อนั้น เมื่อเป็นใจรั่วแล้ว คุณงามความดีมีเท่าไร ก็เผลอ หายตกหล่นไปหมด หาเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่เต็มยุ้งเต็มฉาง แล้วอีกหน่อยเราก็เหนื่อยเปล่า ใจทดท้อว่าไม่ไหวแล้ว หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เพราะคนอื่นทำแล้วเขามีผล เราก็ทำ แต่เราไม่ซ่อมแซมปิดที่ร้าวรั่ว ทำไปเท่าไร ก็รั่วหายไปหมด เลยไม่ได้ผลอะไรขึ้นมา
ปัญญาที่เราจะทำให้เป็นอริยทรัพย์ขึ้นมา ก็คือปัญญาที่เห็นโลกตามเป็นจริง เริ่มต้นเป็นสัมมาทิฐิก่อน เมื่อมีสัมมาทิฐิแล้ว การครองโลก ครองชีวิต ครองเรือนที่ทำกันอยู่ทุกวัน เราจะตั้งสติพยายามรู้เท่าทันว่า อะไรเป็นผิดบาป เป็นหนี้สิน เราจะชดใช้เปลื้องหนี้ให้หมดไป ให้เป็นอภัยทาน เป็นอโหสิกรรมต่อกัน เราอย่าเผลอก่อหนี้ใหม่ โดยไปมองของคนอื่น แล้วเกิดความไม่ชอบของๆ ตน อยากเปลี่ยนเป็นของคนโน้น ไม่ได้ เราเป็นผู้รับมรดกของการกระทำของเราเอง อะไรที่มาบังเกิดขึ้นกับเรา ล้วนเป็นมรดกอันชอบธรรมของเรา
เราตั้งปัญญาให้เห็นชอบ อะไรที่บังเกิดกับชีวิตของเราย่อมดีที่สุดสำหรับเรา ใจก็สงบ เมื่อใจสงบยอมรับ สติปัญญาก็มารักษาใจให้เห็นลู่ทางที่จะแก้ปัญหาอันนั้นไปได้ ไม่อย่างนั้นใจจะไปเถียงไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนเครื่องยนต์ที่ขาดน้ำมันหล่อลื่น เลยมีแต่แรงเสียดทาน แทนที่จะไปคิดแก้ปัญหา เราก็ไปคิดพิรี้พิไรเป็นอารมณ์ ไม่อยากเอา ไม่อยากทำ ไม่อยากเป็น สิ่งที่ทำเลยผิดพลาด นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้ ยังมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีก ถ้าเราตั้งตัวรับสิ่งกระทบด้วยปัญหาอย่างนี้ คือ ยอมรับด้วยเข้าใจตามเป็นจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเป็นมรดกของเราแล้ว เราก็จะแก้ไขไป ใจที่ยอมรับสภาพความเป็นจริงของตัวเอง จะเกิดกำลังขึ้นมา เมื่อแก้ปัญหาไปจิตใจก็ค่อยพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัญหาคือหินลับสติปัญญา
เมื่อใจอยู่กับความจริงต่อเนื่องกัน ไตรลักษณ์ก็ปรากฏชัดแก่ใจขึ้นมา ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะตั้งอยู่คงทนถาวร ทุกอย่างล้วนเกิดแล้วดับ เกิด...ดับ มีความสุข เดี๋ยวก็แปรไป มีความทุกข์ เดี๋ยวก็แปรไป ใจไม่ยึดมั่นถือมั่น อุปาทานก็คลายไป จริงๆ แล้ว ชีวิตนี้ไม่ใช่ความทุกข์ ถ้าขันธ์ 5 คือรูป กับนาม ซึ่งจำแนกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์บริสุทธิ์ ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ที่ทุกข์นั้น เพราะเราไปยึด เราเอาอุปาทานไปยึดเป็น อุปาทานขันธ์ รูปก็ว่าเป็นของเรา ใจก็ว่าเป็นของเรา เราไปบีบบังคับทุกอย่างจะให้เป็นไปดังใจเรา อะไร ๆ เลยวุ่นวายไปหมด หาที่ลงไม่ได้ ครั้นเกิดปัญหา เห็นทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ เป็นไปตามสามัญลักษณะของสมมติ ใจเราก็เริ่มคลายจากอุปาทานขันธ์
ความทุกข์ที่บีบรีดใจให้รู้สึกหนักจนทนไม่ได้จะฆ่าตัวตาย จะไม่อยู่ ไม่ไหวแล้ว ก็ค่อยรู้สึกเบา สบายขึ้น เอ... ไม่เห็นจะหนักหนาเท่าไหร่เลย เราก็สามารถดำรงชีวิตต่อไปด้วยความมีสติ ด้วยความมีปัญญา ถ้าไปวุ่นวายกับปัญหา ปัญหาก็ยิ่งมาผูกมัดรัดเรามากขึ้น แต่ถ้าเอาสติไปเพ่งดูปัญหา จะไม่มีปัญหาไหนที่ยุ่งยากจนเราแก้ไขไม่ได้ ลองนึกถึงเวลาเราทำหลอดด้ายกลิ้งหล่นจากโต๊ะไป ถ้าเรารีบร้อนขยุ้มเก็บหลอดด้ายและกลุ่มด้ายทีคลี่หลุดจากหลอดขึ้นมาทีเดียว แทนที่จะเก็บหลอดด้ายขึ้นมา แล้วค่อยๆ คลี่ด้ายที่หลุดพันกลับเข้าหลอดด้ายไปเรื่อย ๆ ด้ายที่ขยุ้มขึ้นมาพร้อมกันจะพันกันยุ่ง และผูกติดกันเป็นปม ๆ เมื่อด้ายติดกันเป็นปม เราก็หงุดหงิด เพราะกำลังรีบ เราพยายามดึงให้ปมหลุด แต่ปมกลับแน่นเข้า ๆ จนต้องกระตุกให้ขาดทิ้งไป เวลาที่ปัญหาเกิดขึ้นกับใจเรา ก็ทำนองเดียวกันกับกลุ่มด้ายที่ตกลงไปที่พื้น ถ้าเราตั้งสติปัญญาให้ดี ประเดี๋ยวปัญหาก็มีทางแก้ไขได้
ถ้าใครเคยเลาะถุงแป้ง จะรู้ว่า ถ้าเราจับชายด้ายกระตุกให้ถูกทาง แล้วดึงปรื้ดเดียว ด้ายหลุดตลอดถุงเลย แต่ถ้าเรารีบร้อนกระตุก แล้วกระตุกผิดทาง ปรากฏว่า ด้ายผูกเป็นเงื่อนตาย ยิ่งดึงยิ่งติดกันเป็นปมแน่นเข้า จนกระตุกไม่ออก เอากรรไกรตัดปมจะให้หลุด เลยไปตัดถุงฝ้าเข้าด้วย
เวลาปัญหาเกิดกับตัวเรา มันเป็นทำนองนี้ทั้งนั้น เวลาที่เราบอกว่าเรารีบ ขอให้ระลึกไว้ว่าเราหลอกตัวเอง เรากำลังทำสถานการณ์ให้ทรุดโทรมหนักขึ้น แต่ถ้าเราหยุด อาจจะเสียเวลาไป 1 นาที ตั้งสติ ให้ใจเห็นเที่ยงตรงเสียก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหา เราจะประหยุดเวลาได้มากมายมหาศาล เพราะสิ่งที่ทำลงไป จะไม่ไปก่อหนี้ก่อสินล้นพ้นตัว คิดเวลาชดใช้เป็นกัปกัลป์เลย
ตอนที่เข้าไปฝึกปฏิบัติที่วัดท่านอาจารย์สิงห์ทอง ท่านดุดิฉันว่า ศิษย์มัวแต่นั่งเถลไถลอยู่นี่ ท่านอาจารย์เห็นถูกกิเลสมันกลืนเข้าไป จนหัวแม่ตีนที่เหลืออยู่ ก็กำลังจะหายเข้าไปในปากกิเลสหมดแล้วนะ ดิฉันประท้วง ท่านอาจารย์พูดอะไรเจ้าคะ ดิฉันนั่งประจัญหน้าอยู่กับกิเลส และจ้องมันอยู่ไม่คลาสายตา เหมือนกับว่า ดิฉันนัดกับท่านอาจารย์เย็นนี้เราจะไปพบกันที่ท้องสนามหลวง ตอนนี้ยังไม่ทันเที่ยงวันเลย ดิฉันมาอยู่ที่บางลำภูแล้ว เดินเล่นดูของเสียหน่อย จะเป็นอะไรไป ท่านอาจารย์สำทับ อะไรกัน อยู่บางลำภูที่ไหนกัน โน่น... อาจารย์เห็นอยู่ถึงเมืองตราด ตกอ่าวไทยไปขาหนึ่งแล้วด้วยนะ ดิฉันก็งง ท่านอาจารย์พูดเรื่องอะไรกันนี่ไม่เห็นรู้เรื่องเลย จนท่านอาจารย์มรณภาพแล้วถึงได้เข้าใจ
ใช่ ระยะทางที่ดิฉันคิดว่าจะต้องใช้ในการปฏิบัติ จากบางลำภูไปท้องสนามหลวงจริง แต่ท่านอาจารย์ท่านคิดอย่างผู้ชำนาญ ท่านได้ผ่านมาแล้ว ว่า จากบางลำภูถึงสนามหลวงนั้น ต้องเดินกลับไปกลับมา เพราะลืมนั่นลืมนี่ บางทีเผลอสติเดินวกวนก็มี คือปฏิบัติไปก็มีเจริญแล้วเสื่อม กลับไปกลับมาไม่รู้กี่ครั้ง ท่านก็คลี่ไม้วัดของท่าน วัดรวมเบ็ดเสร็จจากกรุงเทพไปถึงเมืองตราด บอกให้ลูกศิษย์โง่รู้ตัวเอาไว้ ก็ยังไม่เฉลียวใจ ไปเถียงท่านอีก พุทธโธ่! ท่านอาจารย์ เราก็ร่ำเรียนมา มีวิชาความรู้ ทำเลขในใจอกนี่นา ระยะทางแค่นี้มันจะต้องเป็นเท่าไร ท่านอาจารย์มรณภาพแล้ว ดิฉันกราบหมอนแล้วกราบหมอนอีก ท่านอาจารย์เจ้าคะ มันไม่ใช่เตลิดไปแค่เมืองตราด โน่น...ไหลไปถึงมหาสมุทรแอตแลนติกเลย เพราะสติพาให้เห็นแล้วว่า หนทางที่เราเผลอสติวกเวียนกลับไปกลับมานั้นยืดออกไปอีกไม่รู้เท่าไร
มันเป็นอย่างนี้ เวลาที่เราไม่มีปัญญาเป็นอริยทรัพย์ นอกจากโง่เซ่อแล้วยังอวดดี ผู้รู้บอกให้ก็ยังไม่เชื่อ อย่างท่านอาจารย์บอกให้ระวัง อย่าเดินไปเตะกระโถน คนตาบอดเตะจนกระโถนหกกระเด็นไปแล้ว หันมาเถียงท่านอาจารย์ กระโถนกระเถินอะไรที่ไหนกัน ฟังแล้วซึ้งถึงขั้วหัวใจเลย เราไม่เห็น แต่ผู้รู้ท่านเห็น เหมือนอย่างกับครูบาอาจารย์ท่านมองเห็นกายละเอียด เห็นสรรพสิ่งต่าง ๆ ท่านก็เตือนเราให้เชื่อเอาไว้นะ บาปบุญคุณโทษมีจริง ตอนนี้เรามองไม่เห็น ก็หลงประมาทว่าไม่เป็นไร แต่เวลาที่วิบากตามมาทวงหนี้ เราจะไม่เหลือเรี่ยวแรงไว้ช่วยตัวเอง ถึงตอนที่เราสะบักสะบอมพะงาบๆ ลมหายใจจวนจะสุดท้าย ใจสามารถสัมผัสภพภูมิของกายละเอียด เห็นไอ้นี่ เห็นไอ้นั่น เหมือนอย่างเราไปว่าคนไข้ เพ้อ เขาไม่ได้เพ้อ แต่เพราะคตินิมิต กรรมนิมิตของเขา มาให้เขาเห็นจริง ๆ แต่เราไม่เห็นกับเขา เราก็ให้กิเลสหลอกเราต่อไป เออ...เจ้านี่เพ้อจนไม่รู้เรื่องแล้ว อย่าไปสนใจ อย่าไปฟัง แทนที่จะฟังแล้วน้อมมาเตือนใจตัวเองว่า เรามีเวลา รีบเร่งขวนขวาย อย่าปล่อยให้กาลเวลากินชีวิตเราไปโดยเปล่าประโยชน์
นี่แหละ ถ้าเราหมั่นน้อมนึกถึงสิ่งเหล่านี้ เข้ามาเป็นสมบัติของใจเรา แล้วฝึกปรือ ศรัทธา ศีล หิริโอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา ให้งอกงามลึกซึ้ง มีคุณภาพ จนกระทั่งเป็นอริยทรัพย์ขึ้นมา อย่าให้เป็นแค่โลกียทรัพย์ เมื่อร่างกายรูปนี้แปรปรวนเปื่อยเน่าไปแล้ว สิ่งที่เป็นโลกียทรัพย์ ก็เปื่อยยุ่ยเสื่อมสลายหลงลืมหมดไปด้วย เมื่อเกิดใหม่ ก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่ ไต่ขอบกระด้ง วนซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น เพียรทำให้ติดเป็นสมบัติของใจ เหมือนเราเอาสมบัติฝังไว้ในดิน เกิดใหม่ ขยันขันแข็ง ทำสวนไป พรวนดินไป เลยไปขุดพบไหสมบัติเข้า ได้เอามาใช้สอยเลี้ยงตัวเอง ...เออ... เราก็มีของเก่าเป็นมรดกเอาไว้เหมือนกัน
ท่านอธิบายว่า อะไรก็ตามที่ฝึกปรือเอาไว้ให้เป็นอริยทรัพย์แล้ว มันจะฝังติดอยู่ในจิตใจ ใครจะมาขโมยไปก็ไม่ได้ ถึงเราเองจะจำภพชาติเก่าของเราไม่ได้ แต่ใจส่วนที่เป็นจิตไร้สำนึกยังจำได้เหมือนคอมพิวเตอร์ ที่มีข้อมูลใส่เอาไว้ มันไม่สูญหายไป พอมีอะไรไปกระทบเข้า ก็เอามาใช้เป็นเสบียงเลี้ยงตัวได้ เปรียบเหมือนเราเรียน สะสมเครดิต ถึงเวลา เรารวบรวม อ้อ... คะแนนรวมเราพอแล้ว สอบผ่านแล้ว เราจะได้มีความมั่นใจ มีกำลังใจ
ดิฉันหวังว่า ที่เราคุยกันมานี้ คงเป็นกำลังใจให้เราแต่ละคนเห็นว่า เวลานาทีที่เรามีชีวิตอยู่นี้เราจะทำให้เป็นประโยชน์กับตัวเองได้อย่างไรบ้าง ถ้าขวนขวายแสวงหาอริยทรัพย์ไว้เป็นเสบียงกรัง เราจะได้มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใครมีทรัพย์เหล่านี้เป็นสมบัติของใจแล้วปรารถนาสิ่งใดก็จะได้ดังปรารถนา ถ้ายังไม่อยากปฏิบัติจนใจวิมุตติหลุดพ้น ยังไม่ต้องการตกกระแสเป็นอริยบุคคล อยากเป็นเทพก่อนเพราะยังพอใจเพลิดเพลินอยู่กับทิพยสมบัติ ก็ไปเป็นพรหม เป็นเทวดา สุดแต่ทุนรอนที่เรามีอยู่ เราจะไม่ตกต่ำลงไปสู่อบายภูมิ เพราะสิ่งที่เราขวนขวายหาเก็บเป็นเสบียงเอาไว้นั้น รวมเข้ากับสติที่ฝึกรักษาให้กำกับอยู่กับใจต่อเนื่องกันตลอดจะเป็นเหมือนห้ามล้อ ป้องกันเราไม่ให้พลาดพุ่งลงไปสู่อบายภูมิได้
เราจะได้สบายใจ แล้วได้รู้ว่า ชีวิตของเราที่ว่าไม่มีที่พึ่ง จริง ๆ แล้วเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง ให้เกิดความแน่ใจมั่นใจ แล้ววางผังชีวิตของตนให้มั่นคงอยู่บนมรรค จนลุจุดมุ่งหมาย
ณ ชมรมพุทธธรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
วันที่ 8 กรกฎาคม 2530
ที่มา : http://www.meechaithailand.com/ |