ปฏิบัติวิปัสสนาแล้วได้กุศลอย่างไร
อาจารย์บุษกร เมธางกูร
ประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

 Click here to Abhidhamma Moonlanithi Foundation

ถามว่าวิปัสสนาเป็นกุศลอย่างไร ก่อนอื่นนั้นควรเข้าใจว่ากุศลคืออะไร กุศลคือสภาพจิตที่ดี ดีอย่างไร ดีคือขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสอกุศล ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ก็จะบอกว่าท่านไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ความจริงขอให้ทราบว่าทุกคนมีโลภะ เพราะทันทีที่ตื่นก็ไม่รู้ตัวเลยว่าตื่นมาแล้วเป็นโลภะ เพราะทันทีที่ตื่นก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่การเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ลุกขึ้นบริหารร่างกายด้วยความต้องการ ถ้าไม่ต้องการก็คงไม่ทำอย่างนั้น

ฉะนั้นวันหนึ่งๆ จิตเป็นอกุศล คือ เป็นโลภะอยู่เสมอ เช่นเดียวกับมือถ้ามองดูก็เหมือนไม่เปรอะเปื้อนอะไร แต่เมื่อล้างมือฟอกสบู่ก็จะเห็นได้ว่ามือที่มองดูสะอาดนั้นความจริงสกปรก เพราะมีฝุ่นละอองทีละน้อยอย่างบางเบาอยู่เรื่อยๆ ฉันใด วันหนึ่งๆ จิตใจก็เต็มไปด้วยโลภะความต้องการโดยไม่รู้สึกตัวเลย ฉะนั้น จนกว่าความต้องการนั้นมีกำลังปรากฏเป็นความกระสับกระส่าย เป็นความปรารถนาดิ้นรนกระวนกระวายเดือดร้อน ที่อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา ขณะนั้นจึงจะรู้ตัวว่ามีโลภะหรือเป็นโลภะ

แต่ความจริงแล้วทุกชีวิตมีอกุศลเป็นประจำ คือไม่โลภะก็โทสะหรือโมหะ วันนี้มีใครสบายใจตอนตื่นนอนบ้าง ขณะที่ตื่นขึ้นมาแล้วสบายใจก็ยิ้มชอบว่าวันนี้อากาศดี สดชื่น แจ่มใส ขณะที่ชอบนั้นก็เป็นโลภะแล้ว แต่ถ้าเห็นฝุ่นแม้เพียงเล็กน้อยตามเก้าอี้หรือเครื่องแต่งบ้าน ขุ่นใจ แม้เพียงนิดเดียวไหม หรือเกิดมีสิ่งของในบ้านผิดปกติแตกเสียหายรสอาหารเค็มไปนิด หวานไปหน่อย ขณนั้นก็ไม่ชอบเป็นอกุศลคือโทสะเสียแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีโลภะบ้าง โทสะบ้าง ล้วนเป็นอกุศล แต่ในขณะใดที่เป็นกุศลคือ ขณะนั้นไม่มี โลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีกิเลส ยากหรือง่ายกับการที่จะไม่เป็นอกุศล

สำหรับบางคนนั้นบางวันอาจจะไม่มีกุศลเลย แต่สำหรับบางคนก็มีกุศลหลายอย่างตามอุปนิสัยที่ได้สะสมมา เช่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือบุคคลอื่น จิตที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมตตากรุณาช่วยเหลือคนอื่นแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นกุศล บางคนก็มีวาจางาม คิดถึงใจเขาใจเรา เสียงอย่างนั้นไม่เหมาะ คำอย่างนี้จะทำให้คนอื่นเสียใจ ก็วิรัติคือเว้นไม่กล่าวคำอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นกุศล ฉะนั้นกุศลจึงไม่ใช่แต่เฉพาะทาน การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นเท่านั้น และการกระทำทานครั้งหนึ่งๆ นั้นก็ไม่ใช่ว่าเป็นกุศลตลอด เช่น ทำบุญเลี้ยงพระก็ต้องเตรียมไทยธรรม ไปตลาดซื้อสิ่งของต่างๆ ระหว่างนั้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจบ้างไม่น่าพอใจบ้าง ก็เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง หรือขณะที่ถวายวัตถุปัจจัยมีเสียงดังกระทบหูนั้น ก็ไม่รู้ตัวว่าเกิดไม่ชอบเสียงนั้นเสียแล้ว เพียงชั่วขณะสั้นๆนั้น อกุศลก็เกิดแทรกได้

ฉะนั้น วันหนึ่งๆถ้าไม่เจริญสติปัญญาศึกษาพิจารณาจิตใจของตัวเองแล้ว จะไม่รู้เลยว่า ใจตนเองสะอาดหรือสกปรกแค่ไหน มีกุศลมากหรืออกุศลมา และกุศลนั้นก็อย่าคิดถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นภายนอก เช่น การทำบุญให้ทานต่าง ๆ แต่ต้องคิดถึงสภาพของจิตว่าเป็นกุศลมากหรือน้อยอย่างไร เช่น บางคนให้แล้วเสียดายอาจจะเสียดายมาก เสียดายนานทีเดียว ขณะนั้นอกุศลก็เกิดต่อจากกุศล

ฉะนั้นที่ถามว่าวิปัสสนาเป็นกุศลอย่างไร วิปัสสนาเป็นกุศลอีกขั้นหนึ่งที่สูงกว่าขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะซึ่งเป็นการเจริญความสงบของจิต เพราะบุคคลใดก็ตามแม้จะให้ทานอย่างมาก แต่เมื่อโกรธก็ไม่มีความสุข และบางคนแม้ให้ทานมาก แต่ก็สะสมความโกรธไว้มากจึงโกรธง่ายหงุดหงิด ขณะที่หงุดหงิดขุ่นเคืองใจนั้นเป็นทุกข์หรือสุข ทานกุศลจึงไม่ทำให้หมดความโกรธหรือความขุ่นเคืองใจได้ บางคนฟังพรธรรมก็เห็นจริงว่าเกิดมาไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ก็ยังผูกโกรธคนนั้นคนนี้ แล้วพระธรรมจะมีประโยชน์อะไร เมื่อพบกันแล้วควรเกื้อกูลกันดีกว่า พบกันแล้วก็โกรธกัน แล้วก็ตายจากกันไปทั้งๆ ที่ยังโกรธกันอยู่ ขณะที่ระลึกได้อย่างนี้ชั่วครั้งชั่วคราวก็อาจจะไม่โกรธ แต่ก็ยังมีตัวตนเป็นเราเป็นเขา ซึ่งก็ทำให้ไม่สามารถดับอกุศลทั้งหลายลงไปได้

แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อทรงตรัสรู้ธรรม และทรงแสดงหนทางที่ดับกิเลสได้ เป็นสมุจเฉทคือไม่เกิดอีกเลย กิเลสทั้งหลายที่ทุกคนมี เช่น ความตระหนี่ ความหวงแหน ความติดข้อง ความพอใจ ความโลภ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความริษยา ความอาฆาตต่าง ๆ หรือแม้แต่ความหงุดหงิดรำคาญใจเมื่อนึกถึงอกุศลที่ได้กระทำไปแล้ว หรือกุศลที่ยังไม่ได้กระทำต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลยเมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย จนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เมื่อผู้ใดบรรลุคุณธรรมดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลย่อมเป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและบุคคลอื่น ที่กล่าวว่าจะเป็นกุศลอย่างไร ก็เป็นกุศลที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน และก็ไม่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนด้วย

ถาม คำว่าตายกับแตกดับ ต่างกันหรือเหมือนกัน เมื่อรูปกายแตกดับ จิตวิญญาณจะล่องลอยอยู่หรือไป ปฏิสนธิอย่างไร ช่วยอธิบายเมื่อจิตวิญญาณเริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งเกิด และคนเราเมื่อตายไปแล้ว มีอะไรติดตามไปด้วย

สุจินต์ ที่ถามว่าตายกับแตกดับ ต่างกันหรือเหมือนกันนั้นก็แล้วแต่การใช้ภาษา เช่น ต้นไม้ตาย ลักษณะของต้นไม้ตายกับคนตายไม่เหมือนกัน สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นโลก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า โลก หรือโลกียะ เป็นสภาพธรรมที่แตกดับ พระนิพพานเป็นโลกุตตระ เพราะว่าพระนิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ ฉะนั้นเมื่อใช้คำว่า "แตกดับ" ก็หมายถึงสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด สภาพธรรมนั้นจะทรงอยู่ดำรงอยู่ไม่ได้ ธรรมทุกอย่างที่เกิดต้องแตกดับอย่างรวดเร็ว สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ดับไปเป็นสังขารธรรม จิตเกิดขึ้นแล้วดับ เจตสิกเกิดขึ้นแล้วก็ดับ รูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จะใช้คำว่าแตกดับก็ได้

ส่วนคำว่า "ตาย" ที่หมายถึงจุติหรือมรณะนั้นหมายเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต คือคนและสัตว์ (ไม่ใช่ต้นไม้พืชพันธุ์ต่างๆ) ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุกฐาน รูปของคนกับรูปหุ่นขี้ผึ้งถึงแม้ว่าจะดูมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากสักเพียงไร แต่ว่ารูปหุ่นขึ้ผึ้งไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรม จึงไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรม จึงไม่ใช่รูปที่ทรงชีวิต รูปของสัตว์บุคคลมี “ชีวิตรูป” ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานทำให้ทรงสภาพที่มีชีวิต ซึ่งต่างกับหุ่นขึ้นผึ้ง ฉะนั้น คำว่า "ตาย" ซึ่งเป็นจุติหรือมรณะนั้น คือขณะจิต เจตสิก รูปดับ พ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้ ไม่เกิดขึ้นดำรงสภาพเป็นบุคคลนี้อีกเลย

มรณะหรือความตายมี 3 อย่าง คือ ขณิกมรณะ ได้แก่ความตายแต่ละขณะๆ ที่จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สมมุติมรณะ ได้แก่ความตายของสัตว์บุคคลในภพ 1 ชาติ 1 สมุจเฉทมรณะ ได้แก่การปรินิพพานของพระอรหันต์ซึ่งเมื่อจตุจิตเกิดและดับไปแล้ว ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่ออีกเลย

ที่ถามว่าคนเราเมื่อตายไปแล้ว อะไรติดตามไปด้วย ความเป็นบุคคลเก่าในชาติก่อนติดตามใครมาเป็นบุคคลนั้นในชาตินี้อีกบ้าง เมื่อจุติจิตดับ สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลในชาติก่อน ปฏิสนธิจิตชาตินี้ก็เกิดสืบต่อจากจุติจิตชาติก่อนทำให้เป็นบุคคลใหม่ทันที ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก คือผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์กรรมนั้นเป็นชนกกรรม คือเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตและกัมมชรูป (รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย) เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงต่างกันทั้งในรูปร่างและลักษณะ อุปนิสัยใจคอ ความคิดนึก ตามการสะสมของจิต บางคนก็มีโลภะมาก บางคนก็มีโทสะมาก เมื่อปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุตินั้นไม่ได้นำจิตของชาติก่อนตามมาด้วย ไม่ได้นำรูปของชาติก่อนตามมาด้วย เพราะจิต เจตสิก รูปใดดับไปแล้วก็ดับหมดสิ้นไปเลย แต่การดับไปของจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตชาตินี้เกิดขึ้นพร้อมกับรูปซึ่งเกิด เพราะกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ เมื่อจุติจิตในชาตินี้เกิดขึ้นและดับไปแล้ว กรรมหนึ่งก็ทำให้ปฏิสนธิจิตและปฏิสนธิกัมมชรูปเกิดต่อเป็นบุคคลใหม่ในชาติต่อไป สิ้นสภาพความเป็นบุคคลในชาตินี้โดยสิ้นเชิง

Last updated:16/11/01

Go back to the Main Page