การวัดและประเมินผลศิลปศึกษา
                                                                                                             ดร. อำไพ  ตีรณสาร

การวัดและประเมินผลการเรียน
            การวัด  (Measurement)  คือ การระบุผลการเรียนออกมาเป็นหน่วยที่นับได้ หรือเชิงปริมาณโดยทั่วไปมักใช้ในการตัดสิน ผลงานรายครั้งย่อย หรือผลงานตามลักษณะเฉพาะต่างๆ ตามรายการที่ระบุไว้เช่น
ความคิดสร้างสรรค์ 
ความสามารถในการวาดเส้น 
ความตั้งใจในการปฏิบัติงาน 
  7 / 10
  9 / 10
  7 / 10
 รวมคะแนน  23 / 30

            การประเมินผล  (Evaluation)  คือ การนับผลที่วัดได้ในเชิงปริมาณ มาตีค่า และสรุปเป็น ระดับในเชิงคุณภาพ  ระบบที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดขึ้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับระบบที่โรงเรียนใช้อยู่ ตัวอย่างเช่น ระบบตัวอักษร (  A B  C  D  F )  หรือระบบคำ ( มาก ดี ปานกลาง  พอใช้  ยังต้องปรับปรุง)   ซึ่งอาจนำมาใช้ในการประเมินรายครั้ง เช่น จากตัวอย่างข้างบนนี้ ครูอาจกำหนดเกณฑ์ไว้ว่า
 25 ถึง 30   คะแนน 
 20 ถึง 24   คะแนน 
15 ถึง 19    คะแนน 
    ฯลฯ
 หมายถึง
"
"
ดีมาก
ดี
ปานกลาง
ดังนั้น หากนักเรียนได้ 23 คะแนน สามารถสรุปคุณภาพได้ว่า อยู่ในระดับ " ดี "
             นอกจากการใช้ดังกล่าวข้างต้น ยังสามารถใช้ในการสรุปรวมผลการเรียนทั้งหมดในแต่ละาภคการศึกษาโดยการหาค่าเฉลี่ย หรือรวมคะแนนครั้งย่อยทุกครั้ง  ทั้งนี้ผู้สอนจะกำหนดเกณฑ์ในการตีค่าคะแนนทำนองเดียวกับที่กล่าวข้างต้นอย่างไรก็ตาม ผู้สอนอาจมีข้อกำหนดเพิ่มประกอบในการปรับระดับในการประเมิน เช่น การพิจารณาพัฒนาการ สมมุติว่า ด.ช. แดง  ได้คะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 23 แต่เมื่อครูพิจารณาคะแนนย่อยตั้งแต่ครั้งแรก จนถึงครั้งสุดท้าย พบว่าแม้ในครั้งแรกๆ ได้ คะแนนต่ำมาก คือ 13 คะแนน แต่ ในครั้งต่อๆ มา มีความพยายามมากขึ้น และได้คะแนนสูงขึ้นตามลำดับ แสดงว่ามีพัฒนาการ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจากค่าเฉลี่ยยังขาด อีก 2 คะแนนจึงจะได้ " ดีมาก " ครูอาจปรับการประเมินว่า ด.ช. แดง มีผลการเรียนในระดับดีมากได้
            สำหรับแหล่งที่มาของรายการลักษณะย่อยๆ  ที่ครูกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการวัด และประเมินผลนั้น มาจากวัตถุประสงค์ในการสอนในแต่ละครั้ง และจาก จุดประสงค์เฉพาะของศิลปศึกษาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร อย่างไรก็ตาม     การกำหนดเกณฑ์    หรือรายการนั้น     ควรเป็นในรูปการระบุที่สามารถ พิจารณา ในเชิง รูปธรรม(Objectivity)   และควรหลีกเลี่ยงการใช้เกณฑ์ที่อิงอารมณ์ และความรู้สึกภายใน (Subjectivity) ของครู เพราะจะเป็นการยากต่อการควบคุม ความ เที่ยงธรรม

ประเภทของการวัดและประเมินผลการเรียน   จากลักษณะการเรียนรู้ศิลปะของเด็ก    ซึ่งประกอบด้วย
การแสดงออก  (Expression)   และการตอบโต้  (Response)   สามารถแยกการวัดและประเมินผลได้เป็น 2 ประเภท คือ การวัดและประเมินผลผลงาน และการวัดและการประเมินผลการรับรู้ในเชิงสุนทรีย์ โดยอาจเน้นเพียงประเภทเดียว หรือ ใช้ทั้ง 2 ประเภทมาประกอบการวัด และประเมินผลก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ครูตั้งไว้ หรือ ลักษณะการนำมาใช้

         การวัดและประเมินผลจากผลงาน  (Production)  คือ  การพิจารณาจากการแสดงออกในผลงาน(Expression) เป็นหลัก ซึ่งรวมถึงกระบวนการสร้างผลงาน และสิ่งที่ปรากฎอยู่ผลงาน ตัวอย่างลักษณะเฉพาะในกระบวนการสร้างผลงานคือ  ความตั้งใจในการทำงาน ความพยายามในการทดลองในเทคนิคต่างๆ ตัวอย่างสิ่งที่ปรากฎอยู่ในผลงาน เช่น เอกภาพ ความประสมประสานกลมกลืน ความคิดสร้างสรรค์ คุณภาพของเส้นอันเนื่องมาจากความสามารถ ในการบังคับ กล้ามเนื้อมือ การให้แสงเงาที่ถูกต้อง เป็นต้น
          การเรียนรู้ในระบบการเรียนตามปรกติ ควรดูทั้งกระบวนการการสร้างผลงาน ซึ่งได้จากการสังเกตนักเรียนในขณะทำงาน  และ  ประเมินจากตัวผลงาน ประกอบกัน    สำหรับการตัดสินโดยดูเฉพาะสิ่งที่ปรากฎในผลงานเพียงอย่างเดียวนั้น  ไม่เพียงพอในการประเมินผลการเรียน  อย่างไรก็ตาม การวัดและประเมินผลจาก ผลงานเพียงอย่างเดียว ก็เป็นแนวการตัดสินคุณภาพผลงานในกรณีที่ไม่มีโอกาสเห็นการทำงานของนักเรียน  เช่น  ในการประกวดภาพ ซึ่งนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ จะจัดส่งผลงานเข้ามาให้กรรมการตัดสิน โดยมีข้อมูลเพียงแต่ อายุ และระดับชั้น  ในกรณีนี้กรรมการต้องประชุมวางเกณฑ์ในการตัดสิน โดยพิจารณาจากหัวข้อที่ กำหนดขึ้นในการประกวดครั้งนั้น ประกอบกับขั้นพัฒนาการตามระดับอายุ  หากมีแนวหัวข้อที่ชัดเจน ก็สามารถนำมาเป็นเกณฑ์อันหนึ่งได้ เช่น การประกวดวาดภาพ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด  แต่หากการประกวดไม่กำหนดหัวข้อเฉพาะ ให้เด็กแสดงออกโดยเสรี  เกณฑ์การตัดสินจะยึดความสามารถทางศิลปะตามขั้นพัฒนาการ เพียงอย่างเดียว หรือเกณฑ์อื่นๆ ที่กรรรมการเห็นสมควร

         การวัดและประเมินผลตามการรับรู้เชิงสุนทรีย์ ( Aesthetic Perception ) คือการพิจารณาจากการที่นักเรียนมีการตอบโต้ หรือ มีปฏิสัมพันธ์(Response)ต่องานศิลปะโดยเน้นการที่เด็กสามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสายตา และความสามารถถ่ายทอด หรือ แสดงออกในรูปของการกระทำ หรือคำพูดโดยคำนึงถึงความงาม และหลักการทางศิลปะ ตัวอย่างการแสดงออกโดยการกระทำ คือ การคัดสรร จัดกลุ่ม แยกประเภท  เช่น การคัดสรรงานที่ใช้สีและทำให้เกิดความรู้สึกร้อน  การแยกประเภทชิ้นงานที่เป็นงาน 2 มิติ และ งาน 3 มิติ เป็นต้น  ตัวอย่างการแสดงออกด้วยคำพูด คือ การบรรยาย วิเคราะห์ การประเมินคุณค่า และการวิจารณ์ งานศิลปะ ซึ่งอาจเป็นงานของตนเอง งานของเพื่อนนักเรียน หรือ งานตัวอย่างที่ครูเตรียมไว้ ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายของครู

ลักษณะการใช้การวัดและประเมินผลการเรียน       การใช้นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น  2  ลักษณะ คือ
         1. เพื่อการรวบรวม เก็บคะแนน และรายงานผลการเรียนของนักเรียน  ในกรณีนั้น ครูจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการวัด และประเมินผลให้แน่นอน และชัดเจน  ทั้งนี้ เพราะผลจากการประเมินจะออกมาในรูปลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้พิจารณาประกอบกับผลการเรียนในวิชาอื่นๆ และสรุปเป็นผลการเรียนโดยภาพรวม และเพื่อรายงานผลการเรียนต่อผู้ปกครอง
         2. เพื่อเป็นแนวทางให้นักเรียนปรับปรุง  และพัฒนาความสามารถในการเรียนศิลปะ  สำหรับในกรณีหลังนี้ คือการแนะนำนักเรียนอย่างไม่เป็นทางการ และไม่มีผลโดยตรงต่อการให้คะแนน หรือการตัดสินผลการเรียน แต่เป็นเพียงเทคนิควิธีประกอบการสอน หรือ กิจกรรมในเชิงประเมนรูปแบบหนึ่ง ข้อสำคัญคือ การเน้นการประเมินให้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ( Positive Rienforcment ) ตัวอย่าง เช่น
             - การสนทนากับนักเรียนเป็นรายบุคคล
             - การอธิบายพฤติกรรม หรือลักษณะงานที่พึงประสงค์
             - การยกตัวอย่าง และกล่าวชมเชย การทำงาน หรือ ผลงานนักเรียนที่มีลักษณะที่พึงประสงค์
             - การเปิดโอกาสให้นักเรียนวิจารณ์ผลงานซึ่งกันและกัน และการวิจารณ์งานของตัวเอง
             - ครูอภิปรายข้อดี ข้อเสียจากผลงานนักเรียน

การระบุคะแนนลงในผลงาน   ในการตรวจงานของเด็กนั้น หากครูเพียงขีดเครื่องหมายถูก หรือระบุคะแนนเพียงอย่างเดียว เมื่อทำบ่อยครั้งจะกลายเป็นสิ่งที่ ไร้ความหมาย เช่น การขีดเครื่องหมายถูก หรือได้คะแนนเท่ากันทุกครั้ง เช่น ได้ 8 / 10 ทุกครั้ง อาจทำให้นักเรียนขาดแรงจูงใจที่จะตั้งใจทำงาน   นอกจากนั้น อาจสร้างความเข้าใจ หรือ ค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อาจให้ความสำคัญต่อตัวเลขคะแนนที่ตนได้มากเกินไปหรือเกิดการแข่งขัน เปรียบเทียบเพียง ตัวเลขคะแนน ในระหว่างนักเรียน แทนที่จะให้ความสนใจกับคุณภาพในผลงาน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ดังที่กล่าว  และใช้ประโยชน์สูงสุดของการให้คะแนน ลงในผลงานควรกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจน ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว และให้คะแนนตามเกณฑ์นั้น นอกจากนั้นแล้ว ยังควรเขียนคำชมเชยในเรื่องที่นักเรียนทำได้ดี พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนา ปรับปรุง หลักสำคัญคือ การเขียนต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ และระวังการเขียนประเด็นซ้ำซาก ตัวอย่างการเขียนข้อเสนอแนะ คือ  " ให้สีได้สวยงามมาก แต่ควรให้ความสนใจในการเขียนขนาดสิ่งของต่างๆ ให้สัมพันธ์กัน " หรือ " หากเน้นรายละเอียดของภาพด้วย จะทำให้ภาพสวย และน่าสนใจมาก "   ตัวอย่างการเขียนที่ไม่พึงประสงค์  เช่น "ภาพเธอยังสกปรกตามเคย " หรือ " วาดภาพซ้ำซากอยู่เรื่อย แล้วเมื่อไหร่จะได้คะแนนดีล่ะ "
       นอกจากนั้นแล้ว ตำแหน่งที่เขี่ยนคะแนนและข้อเสนอแนะ ยังสามารถปลูกฝังการเห็นคุณค่าผลงานของนักเรียน กล่าวคือ ควรเขียนด้านหลังของภาพ หรือผลงาน หากจำเป็นต้องเขียนลงในภาพ ควรหาบริเวณที่เหมาะสม เช่น บริเวณที่ไม่ใช่จุดเด่นของงาน หรือที่มุมภาพเป็นต้น หากครูเขียนในที่ตามอำเภอใจ หรือขีดเครื่องหมาย ต่างๆ ไปทั่วภาพ นอกจากจะเป็นการไม่ให้เกียรติต่อผู้สร้างงานแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนกำลังใจของนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง



ภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2/3/2000