วิธีการสอนศิลปศึกษา
ดร. อำไพ ตีรณสาร

======================

การสอนศิลปะปฏิบัติ  การสอนประวัติศาสตร์ศิลป์  การสอนศิลปะนิยม

การสอนศิลปะปฏิบัติ
(Studio Art Teaching Approaches)

การสอนแบบเน้นประสบการณ์ (Art Approached Experimentally)

        มีแนวคามคิดที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น จากแนวการสอนที่มีอยู่นั้น มักเน้นการกำหนดผลสำเร็จของการสอนแน่นอนไว้ล่วงหน้า เช่น วาดภาพทิวทัศน์ หรือ ปั้นภาชนะเป็นต้น และการเรียนรู้จะเป็นแบบการในข้อเท็จจริง ข้อความรู้ หรือทฤษฎีต่างๆ การสอนในลักษระดังกล่าวนี้ จะจบในตัว ในแต่ละตอน และไม่ได้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นวิชาการจึงแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ที่ดียิ่งขึ้น จึงเกิดแนวโน้มมาให้ความสนใจการจัดการเรียนการสอนที่เน้นประสบการณ์ โดยการทดลอง การลงมือปฏิบัติจริง และกระบวนการคิดแก้ปัญหา ซึ่งผลจากการสอนแนวนี้ผู้เรียนจะพัฒนาทั้งด้านทักษะ และความเข้าใจ

        ลักษณะการสอนเชิงประสบการณ์นี้ประกอบด้วยขั้นตอนในการเรียนรู้หลายอย่างด้วยกัน กล่าวคือ การสำรวจ การแสวงหาความเป็นไปได้ต่างๆ การสรุปเป็นสมมุติฐาน และการทดสอบสมมุติฐาน เพื่อการยอมรับหรือปฏิเสธสมมุติฐาน ซึ่งวงจรการเรียนรู้นั้จะต่อเนื่องกันไป ไม่มีวันจบสิ้น วิธีดำเนินการเรียนรู้ตามวงจรนี้จะเกิดจากการสังเกต เปรียบเทียบ แยกแยะ และการหาความสัมพันธ์ในแง่มุมใหม่ๆ ของเรื่องราง สื่อ และกระบวนการต่างๆ

        คุณค่าของการสอนแนวนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะ และความเข้าใจแล้ว ยังช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการทำงาน เพราะผลลัพธ์ของการเรียนรู้เปิดกว้างและไม่มีการกำหนดคำตอบ หรือผลลัพธ์ที่ตายตัวไว้ล่วงหน้า ทำให้รู้สึกว่าการเรียนการสอนเป็นการท้าทาย ทำให้เกิดความตื่นตัวอยู่เสมอ ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้นักเรียนกล้าเสี่ยงในการตัดสินใจ การยอมรับข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนการยอมรับความล้มเหลว หรือความผิดพลาด โดยมองว่าเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในขบวนการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองต่อไปมิใช่เป็นบทสรุปว่าตนไร้ความสามารถและทำให้เกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง

        ถึงแม้ว่าการสอนในแนวนี้จะมีประโยชน์ มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น หากจัดการสอนไม่เหมาะสมแล้ว อาจก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ได้หลายประการ

         ประการแรก คือ อาจเป็นการสอนที่มีผลตายตัว ไม่สร้างสรรค์ หากกิจการต่างๆเกิดจากการครูเป็นผู้สั่ง หรือจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า เช่น การกำหนดวัสดุ วิธีการ ขั้นตอนการปฏิบัติที่แน่นอนให้นักเรียนทำตามดังนั้น บทเรียนจะกลายเป็นการปฏิบัติตามหลักสูตรสำเร็จที่ครูเตรียมไว้มห้

        ประการที่สอง การสอนแนวนี้อาจก่อให้เกิดผลร้าย คือ ขาดความต่อเนื่องเช่น การจัดกิจ-กรรม ปั้น พิมพ์ วาดภาพ เป็นตอนๆ สลับกันไป ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความลำบากในการเชื่อม-โยง หรือ หาความสัมพันธ์ในสิ่งที่เรีนรู้จากแต่ละกิจกรรม

        ประการสุดท้าย คือ ความไม่รอบคอบในการคัดกิจกรรมหรือประสบการณ์เพราะประสบการณ์บางอย่าง ไม่เอื้อเฟื้อต่อการเรียนรู้ เช่นกิจการที่มีระดับความยาก หรือความซับซ้อนเกินกว่าวุฒิภาวะ อาจก่อให้นักเรียนเกิดความรู้สึกถดถอย ขาดความมั่นใจ หากกิจกรรมง่ายเกินไป อาจก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายชินชา และขาดความสนใจหรือในกรณีที่ ประสบการณ์มีความคับแคบ ไม่กว้างขวาง หรือไม่เปิดช่องให้ใช้ความคิดที่หลากหลายเท่าที่ควร จะทำให้นักเรียนไม่สร้างสรรค์ ไม่สามารถสรุปการเรียนรู้ หรือขาดความไวต่อการรับรู้จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า การสอนเชิงประสบการณ์นี้ มีทั้งประโยชน์ และโทษดังนั้นครูจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสมคัญที่จะ ทำให้การสอนเป็นไปตามแนวที่พึงประสงค์ ครูต้องวางแผนหาข้อมูล จัดลำดับการเรียนและมีความสามารถ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสิ่งที่ครูต้องเน้นในการจัดการสอนคือการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้นักเรียน แก้ปัญหา การตัดสินใจและการทำงานจนสำเร็จ ทั้งนี้ควรเน้นกระบวนการทำงานของนักเรียน และการส่งเสริมให้นักเรียนกล้าเผชิญหน้ากับความล้มเหลวกล่าวคือให้นักเรียนให้นักเรียนมองความล้มเหลว ในแง่ดี นอกจากนั้นแล้ว ควรกระตุ้นให้นักเรียนสนใที่จะทดลองต่อๆไปอย่างไม่หยุดยั้งซึ่งได้แก่ ไม่หยุดพึงพอใจ ต่อผลงานในขณะใดขณะหนึ่ง แต่ต้องการที่จะสร้างปัญหาใหม่ๆอยู่เสมอและเกิดการ เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

        ตัวอย่างการจัดการสอนในแนวนี้ได้แก่การจัดประสบการณ์ปิด (Closure experience) ได้แก่ ประสบการณ์เฉพาะที่จบในตัวของมันเองซึ่งฉีกรูปแบบและไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติงาน ศิลปะตามปกติ เช่น การสอนเกี่ยวกับการวาดภาพโดยปกติแล้ว จะวาดด้วยดิสอ ปากกา หรือพู่กัน และสี แต่ในประสบการณ์ปิดนั้น ครูจะชี้นำให้นักเรียนหาวัสดุที่แปลกไปจากปกติมาทำการวาด เป็นต้นว่า กิ่งไม้ ก้อนหิน หรือกาบมะพร้าว สิ่งที่นักเรียนจะเรียนรู้ คือ การทำให้เกิดเส้น หรือลวดลายในลักษณะต่างๆ

        สิ่งที่แปลกไปจากปกติ ซึ่งนักเรียนยังไม่เคยสัมผัส จะนำไปสู่ผลที่แปลกใหม่ ไม่มีขีดจำกัด จึงไม่มีขอบเขตหรือเกณฑ์มาตรฐานจากภายนอกมาเป็นตัวตัดสินคุณภาพของงาน นักเรียนจะทำงานด้วยความอิสระ ปราศจากความกังวล และทุ่มเทความสนใจในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

แนวการสอนแบบมีศิลปินเป็นแบบอย่าง (The Artist as Model)

แนวความคิดนี้เกิดจากความพยายามที่จะจัดประสบการณ์การเรียนการสอนให้ใกล้กับการทำงานศิลปะในโลกอาชีพ ในชีวิตจริงให้มากที่สุด กล่าวคือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสและได้เรียนรู้ชีวิต และกระบวนการทำงานในอาชีพทางศิลปะจากศิลปินจริงๆ

การเรียนรู้ของนักเรียนด้วยวิธีการสอนในแนวนี้นั้น นักเรียนจะได้สัมผัสประสบการณ์ตรง แทนที่จะเรียนแบบทุติยภูมิ เช่น จากการบอกกล่าวจากครู หรือการอ่านตำรา การสัมผัสนั้น จะเป็นทั้งทางด้านกระบวนการการทำงาน ความคิด ความรู้สึก ตลอดจนการแสดงออกของศิลปิน

การเรียนรู้นั้น มาจากกิจกรรมหลายๆรูปแบบ ได้แก่ การทำความรู้จักศิลปินจริงๆ การสังเกตการทำงานศิลปะ การสนทนาหาความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การประยุกต์วิธีการของศิลปินมาใช้ในการทำงานของตน การขอคำแนะนำ การวิเคราะห์งานของตน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ

        สิ่งที่นักเรียนจะเรียนรู้จากศิลปินที่สำคัญๆคือ ลักษณะการทำงานศิลปะ และบุคลิกลักษณะของตัวศิลปินตามรายละเอียดดังนี้ คือ

ลักษณะการทำงานศิลปะ
1. ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่เริ่มหาแนวคิด แรงบันดาลใจ การแสดงออก จนถึงขั้นทำสำเร็จ เป็นผลงานในที่สุด
2. ทักษะ และความชำนาญในการใช้สื่อ และอุปกรณ์ต่างๆ
3. การทำงานอย่างมีเป้าหมาย ความพยายามควบคุมสมาธิในการทำงานให้ตรงประเด็นที่ ตรงประเด็นที่ต้องการ และสร้างความก้าวหน้าในการทำงาน
4. ความพยายามพัฒนาความคิดของตนเองจากจุดหนึ่งๆ หรือ จากงานชิ้นหนึ่งๆ โดยจะ พัฒนา และปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในการทำงานขั้นต่อๆไป หรือ ในการทำงานชิ้นต่อไป
5. การรู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ และ ประเมินผลการทำงานของตนในแต่ละขั้นตอน
6. ความเป็นอิสระในด้านความคิด และการแสดงออก

บุคลิกลักษณะของศิลปิน
1. การเป็นคนที่เปิดกว้าง ใคร่รู้ต่อการสัมผัส รับรู้สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ
2. การเป็นคนที่มีประสาทสัมผัสพิเศษ คือ มีความไวต่อการรับรู้
3. การเป็นคนที่มีประสบการณ์เชิงสุนทรีย์
4. การทุ่มเทชีวิตในการสังเกต สัมผัส และ การแสดงออก
5. การเป็นคนชอบแสวงหา ค้นพบ สังเคราะห์ วิเคราะห์ และสร้างสรรค์
6. การเป็นคนที่มีทักษะ ความชำนาญเชิงเทคนิค
7. การเป็นคนที่มีกำลังใจทุ่มเทต่องานหนัก และมีความต่อเนื่อง
8. การเป็นคนที่กล้าเสี่ยงต่อการทำในสิ่งที่แปลกใหม่ และไม่คุ้นเคย โดยไม่กังวลต่อความ
ล้มเหลว อาจเกิดขึ้น
9. การเป็นคนที่รู้จักบังคับ และจัดระเบียบจิตใจของตน

        รูปแบบของการจัดโครงการสอนอาจทำได้ 2 วิธี คือ รูปแบบแรก คือ การมีศิลปินมาประจำการและทำงานอยู่ในโรงเรียน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานพอสมควร อาจจะเป็นตลอดภาคการศึกษา หรือตลอดปีการศึกษา แล้วแต่ความเหมาะสม และความเป็นไปได้

จุดสำคัญอยู่ที่การคัดสรรศิลปินที่สามารถสนองต่อจุดมุ่งหมายของโครงการ ทั้งนี้ควรคำนึงถึง การเป็นที่ยอมรับของสังคมในด้านความสามารถ และผลงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดความประทับใจต่อนักเรียนในเบื้องต้น นอกจากนั้นแล้ว ควรพิจารณาลักษณะ และกระบวนการทำงานที่สมควรเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียน และสิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ บุคลิกภาพส่วนตัวของศิลปิน ควรมีความอบอุ่น เปิดกว้างที่จะให้นักเรียนได้สัมผัส และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างใกล้ชิด

        อีกวิธีหนึ่งคือ การจัดโครงการตามความเหมาะสมกับเวลาระยะสั้น และการมีงบประมาณที่จำกัด คือแทนที่จะเชิญศิลปินมาประจำที่โรงเรียน ก็อาจใช้วิธีเชิญศิลปินมาเป็นครั้งคราว หรือจัดทัศนศึกษาพานักเรียนไปเยี่ยมชมการทำงานของศิลปิน ณ สถานที่ทำงานของศิลปินเอง

        ข้อดีในการใช้วิธีที่สองนี้คือ การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสศิลปินหลายๆคน เพื่อสังเกตการใช้ทักษะ และความชำนาญที่หลากหลายกันออกไป แต่มีข้อจำกัด คือ การขาดความลึกซึ้ง และขาดความต่อเนื่อง กล่าวโดยสรุปว่าเป็นการศึกษาแนวกว้าง ในขณะที่วิธีแรกนั้น เป็นการศึกษาแนวลึก

        บทบาทหน้าที่ของครูในการจัดการสอนในแนวที่มีศิลปินเป็นแบบอย่างนี้ คือ เป็นผู้ที่แสวงหา และคัดสรรศิลปินที่มีลักษณะที่ต้องการ คือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น ต้องการเน้นการแสดงออกที่แปลกใหม่ หรือ ต้องการเน้นการเป็นผู้มีทักษะ ความชำนาญในการใช้สื่อเฉพาะอย่าง นอกจากนั้นแล้ว ครูยังมีหน้าที่ประสานงานกับศิลปินระหว่างการสอน โดยควรไวต่อความรู้สึกของนักเรียน และเปิดการสนทนาให้เกิดขึ้นระหว่างสิลปินกับนักเรียน

แนวการสอนแบบมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered approaches)

        หลักการพื้นฐานสำหรับการสอนแนวนี้ คือ การให้ความสำคัญต่อลักษณะเฉพาะของนักเรียนแต่ละบุคคล กล่าวคือ นักเรียนแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันในแต่ละคน ในหลายด้าน เป็นต้นว่า ด้านวัฒน-ธรรม คว่มเป็นอยู่ ความต้องการทางด้านร่างกาย ความสนใจ ระดับสติปัญญา ทักษะ และความถนัด การแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก และความไวต่อการรับรู้

        แนวการสอนนี้เริ่มได้รับความสนใจในยุค progressive education โดย วิคเตอร์ โลเวนเฟลด์ (Viktor Lowenfeld) ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของพัฒนาการของเด็ก และความเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นในตัวเด็กเอง ดังนั้นหากถูกก้าวก่ายกระบวนการเจริญเติบโต จากภายนอกมากเกินไป อาจทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน และมีผลต่อความเติบโตทางด้านความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์

        จากแนวคิดที่กล่าวนี้ จึงสามารถสรุปได้ว่าควรมองการสอนในแง่ของการถ่วงดุลย์ระหว่าง บทบาทหลักของครู กับการปล่อยให้นักเรียนแสดงออกโดยเสรี (Self-expession)

        การสอนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางนี้ มี 2 แบบ คือ แบบเปิดเสรี (Open classroom) และแบบแนวลึก (Indepth Apporoach) ทั้ง 2 แบบนี้ต่างก็เน้นความสำคัญที่ตัวนักเรียนแต่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน ออกไป ดังรายละเอียดดังนี้

แบบเปิดเสรี เป็การสอนที่เริ่มต้นใช้ในประเทศอังกฤษ โดยให้นักเรียนมีบทบาทในตนเองอย่างเต็มที่กล่าวคือ นักเรียนจะเป็นผู้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนสนใจ และจะเป็นผู้วางแผนและดำเนินการเรียนด้วยตัวเอง ส่วนบทบาทของครูนั้น จะเน้นการเป็นผู้จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน จัดวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม เพื่อให้นักเรียนเป็นผู้เลือก และครูจะป้อนคำถามต่างๆที่ท้าทาย กระตุ้นความคิดและทำให้นักเรียนสามารถ สรุปความสนใจ และความต้องการของตนเองได้อย่างชัดเจน หรือครูอาจปล่อยให้นักเรียนคิด และ ลงมือทำงานตามลำพังโดยอิสระหากนักเรียนต้องการ และครูจะมีส่วนช่วยแนะนำ หรือให้ข้อเสนอแนะ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แบบการศึกษาแนวลึก เป็นการสอนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางอีกแบบหนึ่งโดยการให้ความสำคัญ ต่อศักยภาพทางศิลปะของนักเรียนแต่ละบุคคล ในขณะที่แบบแรก ซึ่งได้แก่แบบเปิดเสรีนั้นเป็นการ ให้อิสระแก่นักเรียนอย่าวงเต็มที่ และบทบาทของครูเสมือนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเหลืออยู่ภายนั้น แบบการศึกษาแนวลึกนี้ ถึงแม้ว่าจุดศูนย์กลางจะอยู่ที่ตัวนักเรียน แต่การเรียนการสอนจะเป็นในรูปที่ครูมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเสนอขั้นตอน และการแนะนำให้นักเรียนสามารถดำเนินการ และวิเคราะห์ ประเมินผลการทำงานในแต่ละขั้นตอน ขั้นตอนที่ครูสามารถช่วยแนะนำได้แก่

1. ให้นักเรียนหัดสังเกตตนเองในการแสดงออกทางศิลปะ ทั้งในระหว่างที่กำลังทำงาน และในผลงานของตนเองในที่สุด
2. ให้นักเรียน บันทึกข้อดี ข้อเสียของการปฏิบัติงาน และการแสดงออกทางศิลปะ
3. ให้นักเรียนรู้จักประยุกต์แนวทางการแก้ปัญหาในการทำงานศิลปะของตนเองในอดีต หรือของผู้อื่น มาใช้ในการแก้ปัญหา
4. ให้นักเรียนหัดแก้ปัญหาในด้านการใช้สื่อศิลปะที่ตนเลือก
5. ให้นักเรียนหัดวิเคราะห์ปัญหา และความสำเร็จของตน
6. เกิดการเรียนรู้ ข้อคิด และทักษะที่เกี่ยวโยงกับการทำงาน และความก้าวหน้าของตน
7. การมีส่วนร่วมอภิปรายปัญหาทางกระบวนการ และผลงานของตน และของผู้อื่น

        โดยสรุปแล้ว บทบาทของครู คือช่วยนำทางให้นักเรียนไปสู่การขยายกรอบความคิดในตัวนักเรียนเองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และช่วยเจาะเข้าไปถึงศักยภาพในการเรียนศิลปะของนักเรียนแต่ละบุคคล

        คุณค่าของการสอนแบบเปิดเสรีนี้ คือ การตอบสนองความต้องการ และความพอใจของผู้เรียนช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนกระตุ้นตนเองในการเรียน รู้จักการสรุปความคิด และวางแผนการทำงาน นั่นคือ การรับผิดชอบตัวเอง ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองและเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนสำรวจ ค้นหา และรู้จักตนเอง ข้อควรคำนึงในการจัดการสอนแบบเปิดเสรีนี้ มีหลายประการ
        ประการแรกคือโดยลักษณะการสอนศิลปะโดยทั่วไปแล้ว มักเป็นการปฏิบัติ (studio learning) ดังนั้นหากเปิดโอกาสให้นักเรียนทำความสนใจของแต่ละบุคคลแล้ว อาจมีความหลากหลายสูง ยากต่อการควบคุมดูแล และสิ่งที่ตามมาคือหย่อนเรื่องระเบียบวินัย ตลอดจนการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริหารไม่พอใจ หรือ ไม่ให้ความสนับสนุนเท่าที่ควร

        ประการที่สอง คือ การเรียนรู้ที่พึงประสงค์อาจถูกมองข้าม หรือถูกทอดทิ้ง ความรู้เกี่ยวกับหลักการทางศิลปะ การสัมผัส และมีประสบการณ์ตรงต่อการทำงานศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งนี้เพราะโดยหลักการแล้วเราให้อิสระแก่นักเรียนในการเลือกทำงานในเรื่องที่ตนสนใจ ซึ่งนักเรียนอาจเลือกซ้ำๆเฉพาะในสิ่งที่ตนชอบ

        ประการสุดท้ายคือ โอกาสที่ครูจะช่วยเสริมสร้างความสามารถทั้งทางด้านการรับรู้ และการปฏิบัตินั้นจะมีจำกัด มิเช่นนั้นแล้ว อาจกลายเป็นว่าครูเข้าไปก้าวก่ายความคิด และการทำงารของนักเรียน

การศึกษาแบบประสมประสาน (Interdisciplinary Studies)

        หลักการสำคัญคือ ความเชื่อที่ว่าการศึกษากว้างขวางเท่าชีวิต ซึ่งส่วนประกอบของชีวิตนั้นรวมปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกันอย่ามากมาย เช่นการกิน การอยู่ และการอยู่ในสังคม ดังนั้น ในส่วนของการศึกษาจึงควรมีการประสมประสานศาสตร์ต่างๆจากแหล่งต่างๆเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ในแต่ละศาตร์นั้น ควรมีความลึกซึ้งเพียงพอด้วย มิฉะนั้น เมื่อนำมารวมกันแล้ว ภาพรวมจะไม่ค่อยชัดเจน และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างผิวเผินเท่านั้น          ในการจัดการเรียนการสอน สู่ห้องเรียนจริงนั้น จะต้องคำนึงถึงการประสมประสานกันระหว่างศาสตร์ต่างๆอย่างแท้จริงแทนที่ จะเป็นเพียงการปะติดปะต่อเรื่องเข้าด้วยกันโดยการนำเสนอในชั้นเรียนทีละเรื่องโดยอาจไม่มี ความสัมพันธ์กันโดยตรง การสอนแบบใช้ผู้สอนเป็นทีมนั้น จะต้องร่วมมือกันหาข้อตกลงถึงแก่นที่ประสมประสานแต่ละศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งจะไม่ใช่เป็นเพียงการผลัดเปลี่ยนกันสอนทีละช่วง ดังนั้นในบางครั้ง มีครูสอนเพียงคนเดียวอาจสามารถประสมประสานกันได้ดีกว่ามีครูสอนหลายๆคนเสียอีก ทั้งนี้โดยอาจเพียงใช้วิธีเชิญวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมาเสรริมความรู้ในบางเรื่องก็พอ

รูปแบบการสอนแบบประสมประสานนี้สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งจะขอเสนอแนะในที่นี้ไว้ 2 วิธีคือการให้ครูกับนักเรียนร่วมมือกัน และการนำหลักสูตรระยะสั้น

        สำหรับวิธีแรกนั้นครูกับนักเรียนจะร่วมมือกัพัฒนาแผนการเรียนการสอนโดยครูจะเริ่มต้น ด้วยการแนะนำ ศาสตร์ต่างๆแล้วจึงประชุมวางแผนกันกับนักเรียนถึงเรื่องต่างๆที่จะจัดอยู่ ในโครงการหลักการสำคัญในการดำเนินการดังกล่าวคือจะต้องมีความยืดหยุ่นสูงในการตัดสินใจ วางแผนและ ครูต้องสามารถนำนักเรียน ไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของทุกๆฝ่าย

        สำหรับวิธีหลัง ซึ่งได้แก่การจัดหลักสูตรระยะสั้นนั้นโดยหลักการแล้วเพื่อเป็นการกระตุ้นความคิดใหม่ๆ และ สนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียนซึ่งต่างจากวิธีแรกในแง่ที่ว่าครูจะเป็นผู้วางแผน การเรียนการสอน ให้นักเรียนเอง ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการถ่ายทำภาพยนต์จะประกอบไปด้วยการรวม ความรู้หลายๆแขนงเข้าด้วยกัน เช่น เทคนิคการถ่ายทำ การจัดการ การแสดง การจัดแสงเสียง การออกแบบเครื่องแต่งกาย

        ผู้สอนจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ มาร่วมกันให้ความรู้แก่นักเรียน เช่น ช่างกล้อง ผู้-กำกับการแสดง นักออกแบบ และนักแสดง เป็นต้น

        ไม่ว่าจะจัดการเรียนการสอนโดยวิธีใดก็ตาม หากจะได้บรรลุผลแล้วจะต้องคำนึงถึงการสื่อสารกับ บุคคลที่เกี่ยวข้อง ประการแรกคือ การสื่อสารกับนักเรียนครูจะต้องชี้แจ้งโครงการให้นักเรียนได้รับรู้ อย่าชัดเจน ปลูกฝังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักเรียน ทั้งในหมู่นักเรียนด้วยกันเอง กับครู และบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องครูต้องเน้นให้นักเรียนมีความเป็นตัวของตัวเองให้คำนึงถึงเอกลักษณ์ของ แต่ละคน และต้องส่งเสริมความรับผิดชอบ และการตัดสินใจอย่างมีหลักการ

        อีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงคือ การสื่อสารในกลุ่มผู้ร่วมงานของครู ควรมีการประชุม วางแผนร่วมกัน จัดสรรเวลา และเตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์ และสถานที่ ตลอดจนการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะในการจัดการเรียนการสอน

1. การจัดหลักสูตรนั้น ควรเน้นการเป็นหลักสูตรแบบที่มีประเด็นความคิดเป็นศูนย์กลาง (Idea-centered)
มากกว่าการเป็นการสอนโดยทั่วไป หรือการวางแผนตามกำหนดการที่จัดไว้ล่วงหน้า อย่างเบ็ดเสร็จ
2. ควรมองว่าหลักสูตรเป็นกลาง เนื่องจากจุดเน้นมุ่งไปที่การใช้ประเด็นความคิดเป็นศูนย์กลาง
ตามที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด โดยเฉพาะในแง่ของการบริหาร
3. ควรจัดเตรียยนมงบประมาณ และค่าใช้จ่ายที่เป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวพันกัหลักสูตรอื่นใด
4. ควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างทีมผู้สอน และนักเรยีนอย่างแท้จริง
5. หากเป็นไปได้แล้ว การประเมินผลควรเป็นแบบ ผ่าน/ไม่ผ่าน มากกว่าการให้ระดับคะแนนเป็น
เกรด ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วม หรือจุดยืนของนักเรียนแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป
6. ควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหาร เพราะต้องมีการทำงานกับบุคลากรจากหลาย
หน่วยงาน และต้องมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นเอกเทศ
7. ควรได้รับความร่วมมือ และการเล็งเห็นคุณค่า และความสำคัญจากบุคคลทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
8. การดำเนินงาน ควรมีความยืดหยุ่นสูง พร้อมที่จะปรับแนวทางตามความสนใจ และตามความเหมาะสม
9. ควรมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย

 
        กล่าวโดยสรุปแล้ว แนวการสอนแบบประสมประสานนี้ สายวิชาทางศิลปะควรเป็นผู้นำความคิดนี้มาใช้ เพราะเหมาะสมกับลักษณะวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศิลปะ ซึ่งโยงใยไปสู่แทบทุกแง่มุมของชีวิต และการเรียนรู้ เกี่ยวข้องกับบุคคลโดยภาพรวม ทั้งด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะ กล่าวคือจะช่วยหล่อหลอมสติปัญญา อารมณ์ และความรู้สึก เป็นหนทางต่อการนำมาซึ่งความรู้
 
 


การสอนประวัติศาสตร์ศิลป์
( Teaching Art History )


 


        การสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ เป็นการสอนเรื่องราว ความเป็นมาทางศิลปะที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งเป็นการให้ความรู้จากภายนอก กล่าวคือ การถ่ายทอดข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นการสอนที่เน้นความรู้ในเชิงพุทธิ-ปัญญา (Cognitive domain) อย่างไรก็ตาม ในการสอนจริงนั้น อาจมีการสอดแทรกเรื่องความรู้สึก และทักษะเข้าไปด้วย เพื่อเสริมความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น

        แนวการสอนประวัติศาสตร์ศิลป์นั้น มีหลายวิธี สมาคมศิลปศึกษาในสหรัฐอเมริกา (Paterakis,1979) ได้เสนอ
1. แนวการสอนตามยุคสมัยทางศิลปะ
2. แนวการสอนตามแง่มุมเฉพาะ
3. แนวการสอนตามความสนใจ
4. แนวการสอนรายบุคคล

แนวการสอนตามยุคสมัยทางศิลปะ (Chronological Survey)

        การสอนในแนวนี้ยึดเอายุคสมัยทางศิลปะเป็นแกนซึงเป็นแนวการสอนที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน โดยการบรรยายทีละยุคสมัย เริ่มต้นจากสมัยที่เก่าแก่ที่สุด แล้วไล่ลงมาตามลำดับ ทั้งนี้กรอบของเนื้อหาสำหรับการสอนในแต่ละยุคนั้น ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดขึ้น เช่น ลำดับของงานศิลปะตามวัน เดือน ปี สภาวะสังคม ศิลปิน รูปแบบการแสดงออกในงาน เป็นต้น

        แนวการสอนแบบนี้ เหมาะสำหรับหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ในเชิงพุทธิปัญญา โดยลักษณะแล้ว จะสะดวกต่อการจัดการสอน เพราะสามารถเตรียมไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งหนังสือตำราทางประวัติศาสตร์ศิลป์ ส่วนใหญ่มักจัดลำดับเนื้อหาตามแนวนี้อยู่แล้วนอกจากนั้นยังสะดวกต่อการเรียน เพราะหากพิจารณาถึง วิธีการเรียนแล้ว จะเป็นวิธีที่ผู้เรียนคุ้นเคย กล่าวคือ มีความคล้ายคลึงกับการเรียนวิชาอื่นๆในหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาอารยธรรมอย่างไรก็ตามการสอนในแนวนี้เหมาะสำหรับ การให้ความรู้ในแนวกว้างมากกว่าในแนวลึก เพราะช่วงเวลาในแต่ละภาคการศึกษานั้นส่วนใหญ่จะไม่ เพียงพอในการเจาะลึกถึงสาระต่างๆ ในแต่ละสมัยโดยละเอียดได้

แนวการสอนตามประเด็น (The Thematic Approach)

        ในขณะที่การสอนในแนวการสอนในแนวแรกยึดยุคสมัยเป็นแกนการสอนตามประเด็นเฉพาะ ให้อิสระกับผู้สอนในการสอนที่เน้นเฉพาะจุดมากขึ้น กล่าวคือ ผู้สอนสามารถคัดสรรแง่มุมหรือประเด็น เฉพาะมาเป็นแกนตามที่เห็นว่าหมาะสม เช่นเน้นหลัการทางศิลปะเน้นสภาพความเป็นอยู่ในสังคม หรือเน้นศิลปะกับศาสนา เป็นต้น เมื่อคัดสรรประเด็นได้แล้ว จึงจัดเนื้อหาตามแกนนั้น เช่นเรื่องศิลปะกับ ศาสนา ผู้สอนจะกล่าวถึงบทบาทและอิทธิผลของศาสนาที่มีต่อรูปแบบของงานศิลปะ ความคิดของศิลปิน โดยจัดเตรียมเนื้อหาตามแนวนี้มาอภิปราย เปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่าสาระต่างๆที่เกี่ยวข้องจะเป็นตัวแปรตามแกนที่กำหนดขึ้นเป็นประเด็นในแต่ละบทเรียน

        คุณค่าของการสอนในแนวนี้คือ จะสามารถเร้าให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและเกิดความคิดในเชิง เปรียบเทียบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และหาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นแกน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการสอนในแนวนี้คือ อาจจะยากต่อการสร้างความต่อเนื่องของบทเรียนดังนั้นอาจนำมาใช้ ในการสอนในวิชาที่ต่อเนื่องจากการสอนวิชาพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความลึกซึ้งในแง่มุมเฉพาะ หรือ ประเด็นที่ต้องการเน้น นอกจากนั้นยังสามารถนำแนวการสอนนี้มาใช้สอดแทรกหรือสลับกับการสอน ตามยุคสมัยเพื่อให้บทเรียนน่าใจ ไม่จำเจ หรือยึดติดกับการสอนตามยุคสมัยมากเกินไป

        กล่าวโดยสรุปแล้ว การสอนตามแนวยุคสมัย เป็นการให้ความรู้ในแนวกว้างในขณะที่แนวสอนโดยเน้น แง่มุมเฉพาะเป็นการสอนแนวลึก หากนำทั้งสองแนวนี้มาผสมผสานกันจะช่วยเสริมสร้าง และพัฒนาความรู้ความเข้าใจไวยกรณ์ทางศิลปะให้ดียิ่งขึ้น คือ เข้าใจความหมายของคำ หรือความคิดรวบยอดต่างๆ จากการคิดในเชิงเปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ตลอดจนการนำความรู้ ความเข้าใจมาประยุกต์ ใช้วิเครสะห์ สังเคราห์เหตุการณ์ หรือแง่มุมต่างๆได้

แนวการสอนตามความสนใจ (Spontaneous Approach)

        แนวการสอนตามความสนใจนี้ คล้ายกับแนวการสอนตามประเด็นคือเน้นการสอนเฉพาะประเด็นสิ่งที่ ต่างกันคือ ในแนวที่กล่าวไปแล้วนั้น ผู้สอนเป็นผู้คัดสรรประเด็น ส่วนในแนวตาความสนใจนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน โดยสอนจะนำอภิปรายให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ถึงเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ จากนั้นจึงหาข้อสรุปของชั้นเรียน และผู้สอนจะสนองตอบต่อข้อสรุปนั้นๆ โดยนำไปเป็นแนวในการจัดบทเรียน

        คุณค่าของการสอนแนวนี้คือ ทำให้ผู้เรียนสนใจติดตามเพราะเป็นเรื่องที่ตนสนใจและมีส่วนร่วมในการ กำหนดเรื่อง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงคือศักยภาพในตัวผู้สอนกล่าวคือผู้สอนควรมีความรู้ ที่กว้างขวางสูงเพียงพอ และมีความพยายามในการจัดบทเรียนที่สามารถสนองความสนใจของนักเรียนได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องหรือแง่มุมที่ต่างไปจากการสอนปกติ ที่ต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและจัดเตรียมการสอนมากนอกจากนั้น การนำการสอนแนวนี้ไปใช้นั้นขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของหลักสูตร จึงเหมาะกับหลักสูตรรายวิชาที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งให้อิสระในการกำหนดบทเรียน แต่อาจไม่เหมาะกับรายวิชาที่มีขอบเขตเนื้อหาตายตัว เช่นในรายวิชาระดับพื้นฐาน

        ข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งคือ พื้นความรู้ของผู้เรียน ในบางกรณีนั้น ถึงแม้ว่าผู้เรียนสนใจอย่างจริงจัง ในบางเรื่อง แต่หากว่าความรู้ไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ยากต่อการเข้าใจ ประการสุดท้ายคือขนาดของชั้นเรียน หากจำนวนผู้เรียนมีมาก เช่น 100 คนขึ้นไป ความสนใจอาจมีความหลากหลายสูง ทำให้ยากต่อการหาข้อสรุป ผลที่ตามมาคือไม่สามารถสนองความสนใจของผู้เรียนส่วนใหญ่ และยากที่จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้

แนวการสอนรายบุคคล (The Independent Approach)

        หลักการสอนรายบุคคลนี้สามรถแก้ข้อจำกัดของแนวการสอนแบบตามความสนใจที่กล่าวข้างต้นนี้ได้ กล่าวคือ ในแนวนั้นต้องหาข้อสรุปของชั้น ซึ่งอาจตรงกับความสนใจของผู้เรียนมากบ้าง น้อยบ้าง หรือในบางกรณี อาจไม่ตรงเลยก็เป็นได้ แนวการสอนรายบุคคลนี้ สนองความสนใจของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง ซึ่งคล้ายกับการสอนวิชาศิลปะปฏิบัติที่ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาเรื่องที่ตนสนใจโดยอิสระ

        ในการดำเนินการสอนนั้น ผู้สอนจะให้ผู้เรียนกำหนดเรื่อง เป้าหมาย ขั้นตอน และวิธีการศึกษาเอง ซึ่งอาจทำขึ้นมาในรูปของโครงการ ผู้สอนจะช่วยปรับโครงการให้กระชับ และมีความไปได้ในการศึกษา แนะนำแหล่ง และวิธีการค้นคว้า ตลอดจนทำความตกลงกับผู้เรียนในการประเมินผล โดยปกติก็คือการประเมินผลจอากโครงการที่ผู้เรียนได้เสนอไว้นั่นเอง

        คุณค่าของแนวการสอนรายบุคคล คือการสนองต่อความสนใจของผู้เรียนแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง เป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบ และการมีวินัยในตนเองการดำเนินงานตามขั้นตอนความพยายามในการ แก้ปัญหา และการประเมินความสำเร็จของตนเอง จากโครงการที่ตนได้วางไว้

        สิ่งที่ต้องคำนึงถึงจะคล้ายคลึงกับที่กล่าวถึงในแนวการสอนตามความสนใจคือ ศักยภาพของผู้สอน ระดับความยืดหยุ่นของหลักสูตร ความพร้อมของผู้เรียน และขนาดของชั้นเรียนโดยเฉพาะในสอง ประเด็นหลังนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการเรียนการสอน กล่าวคือ ในด้านความพร้อมของผู้เรียนนั้น นอกจากจะต้องมีพื้นความรู้เพียงพอสำหรับการศึกษาในบางเรื่องแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงความคุ้นเคยต่อวิธีการศึกษาที่ต้องช่วยตนเอง และทำงานอย่างมีระบบ ส่วนในด้านขนาดของชั้นเรียนนั้น หากใหญ่มากจะทำให้ผู้สอนไม่สามารถดูแลผู้เรียนได้ทั่วถึง เพราะต้องดูแลเป็นรายบุคคล
 
 

การสอนศิลปะนิยม
(Teaching Art Appreciation)


 


        การสอนศิลปะนิยมนั้น โดยธรรมชาติของวิชา มีลักษณะร่วมกับวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คือมีสาระความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ในอดีต จนถึงยุคร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิชามีจุดเน้นที่ต้างกันออกไป กล่าวคือ การสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น จะเน้นการให้ความรู้ในเชิงพุทธิปัญญา (Cognitive domain) ส่วนการสอนศิลปะนิยม จะเน้นด้านจิตพิสัย (Affective domain) ได้แก่การสร้างความตระหนัก ให้รู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของงานศิลปะ และการเกิดความซาบซึ้ง

        แนวทางในการสอนศิลปะนิยม อาจใช้แนวการสอนทำนองเดียวกันกับการสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถใช้แนวการสอนแบบอื่นๆ ได้อีก (Michael, 1983)ได้เสนอแนะแนวการสอน ศิลปะนิยมหลักๆ ไว้ 5 แนว คือ

1. แนวการสอนที่เน้นความชื่นชอบ
2. แนวการสอนที่เน้นสภาวการณ์
3. แนวการสอนที่เน้นโครงสร้างภายในงาน
4. แนวการสอนที่เน้นความนิยม
5. แนวการสอนแบบผสมผสาน

แนวการสอนแบบเน้นความชื่นชม ( Hedonistic Approach )

        การสอนในแนวนี้มีพื้นฐานความเชื่อว่า คุณค่าเชิงสุนทรียะความรู้สึกภายในของบุคคล ทั้งนี้โดยได้รับการกระตุ้น และการเร้าจากภายนอก ในที่นี้หมายถึงตัวงานศิลปะอันเป็นการกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่เกี่ยวข้อง และผูกพันกับแต่ละบุคคล

        การจัดการสอนในแนวนี้จึงเป็นการจัดสถานการณ์ที่เอื้อต่อการที่ผู้เรียนจะมีโอกาสแสวงหา และบังเกิดความรู้สึกใดหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ซาบซึ้ง ระทึกใจ หรือความรู้สึกอื่นๆ จากจุดที่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ ผู้สอนจะนำเสนอแง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะนั้นๆ

        จากแนวทางที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า เป็นการเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกโดยอิสระ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้นผู้สอนจึงต้องไวต่อความรู้สึกต่างๆของผู้เรียน นอกจากนั้นแล้วผู้สอนยังต้องมีความพร้อมที่จะโยงความรู้สึกเหล่านั้น เข้าสู่การนำเสนอข้อมูล และตัวอย่างต่างๆ ซึ่งอาจเป็นในรูปของการยืนยันความรู้สึกของผู้เรียนอย่างไรก็ตาม หากพบว่า ความรู้สึกของผู้เรียนยังไม่ชัดเจน หรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการต่างๆผู้สอนชี้นำให้ผู้เรียนได้สัมผัส กับความรู้สึกที่สอดคล้องกับหลักการแห่งสุนทรียะ

        คุณค่าของการสอนในแนวนี้ จึงได้แก่การสนองตอบต่อความรู้สึกของผู้เรียนโดยตรงซึ่งจะช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในการเรียนรู้

        จากการที่เน้นความรู้สึกของแต่ละบุคคล จึงเหมาะสำหรับการสอนผู้เรียนกลุ่มเล็กหากใช้แนวนี้
สอนผู้เรียนกลุ่มใหญ่ อาจเกิดความลำบากต่อการสัมผัสความรู้สึกของผู้เรียนอย่างทั่วถึงนอกจากนี้ยังอาจ เกิดความลำบากในการควบคุมปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พื้นความรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เวลา และสถานที่ เป็นต้น

        ข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งคือ ผู้สอนต้องค้นหา และพัฒนาเทคนิคการสอนที่สามารถเร้า หรือชี้นำให้ผู้เรียนได้สัมผัสความรู้สึกของตนเองอย่างแท้จริง เพราะหากผู้เรียนทำตามเพื่อน หรือแสร้งทำแล้ว การสอนในแนวนี้จะไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

แนวการสอนแบบเน้นสภาวการณ์ ( Contextualistic Approach )

        แนวการสอนนี้มีส่วนคล้ายกับการสอนในแนวความชื่นชม คือการเน้นที่คววามรู้สึกของผู้เรียน แต่ลักษณะเฉพาะคือการสร้างสภาวะให้ผู้เรียนมีความรู้สึกร่วม โดยมีแนวความเชื่อว่า สภาวการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกชื่นชมงานศิลปะ กล่าวคือ สภาวการณ์ต่างๆจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัว โดยถือว่าผู้เรียนเป็นตัวคงที่ หรือมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน เมื่อผู้เรียนถูกจัดให้อยู่ในสภาวการณ์หนึ่งๆจะทำให้เกิดความรู้สึกเฉพาะใดหนึ่ง

        จากหลักการที่กล่าวมาแล้วนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้สอนจะต้องเรียนรู้คุณสมบัติของการจัดสภาวการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ และผู้สอนจะต้องสามารถคัดสรรสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกตาม เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งได้แก่ความรู้สึกที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ตัวอย่างของสิ่งแวดล้อมที่ผู้สอนจะจัด และควบคุม ได้แก่สถานที่เรียน แสง เสียง อุณหภูมิ สื่อประกอบการสอนต่างๆ และลีลาตลอดจนรูปแบบ การนำเสนอ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถจัดได้อย่างเหมาะสมแล้ว จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกตื่นเต้น ฉงน ตกอยู่ในภวังค์ เคลิบเคลิ้ม หรือ อื่นๆ

        สามารถสรุปได้ว่า การสอนที่เน้นสภาวการณ์นี้ คือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เป็นสภาวการณ์ที่ทำให้ ผู้เรียนได้สัมผัส และบังเกิดความรู้สึกใดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากการสอนในแนวอื่น ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้อง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดสภาวการณ์ต่างๆที่น่าสนใจ

        ข้อควรคำนึงในการสอนแนวนี้ คือ
        ผู้สอนควรมีการวางแผนระยะยาวเป็นอย่างดีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของบทเรียน ซึ่งอาจเป็นการบูรณาการการสอนในแนวนี้ กับการสอนในแนวอื่น ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ ครอบคลุมเนื้อหาในรายวิชา

แนวการสอนแบบเน้นโครงภายใน ( Organistic Approach )

        หลักการพื้นฐานในแนวการสอนแนวนี้ยึดโครงสร้างภายในงานเป็นแกนในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งได้แก่การเน้นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆในงาน การจัดวางและความผสมผสานของส่วนย่อยๆ ซึ่งนำไปสู่ภาพความกลมกลืน เป็นต้น ในขณะที่แนวการสอนสองแนวแรกเน้นความรู้สึกของผู้เรียนโดยตรง แนวการสอนแบบเน้นโครงสร้างภายในนี้จะใช้การพิารณาความสมบูรณ์ของดครงสร้างเป็นหลักในการตัดสิน และสัมผัสงาน ซึ่งจากจุดนี้อาจนำไปสู่การขยายความรู้สึกต่างๆเฉพาะในแต่ละบุคคลได้

        กระบวนการสอนในแนวนี้ตามความคิดเห็นของผู้เขียนนั้นสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการสอนที่มีวิธีการ ตามทฤษฎี Gestalt ทางจิตวิทยา คือการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ของ ส่วนประกอบย่อยๆ ภายในภาพรวมนั้น เป็นกระบวนการที่เน้นการจัดบทเรียนให้ผู้เรียนติดและบังเกิด ความรู้สึกที่มาจากความเกี่ยวเนื่องของสิ่งที่ควรจะเป็น และสิ่งที่ปรากฎอยู่จริงผู้เรียนจะติดตามวิถีทาง ของความสำเร็จของผลงาน
        ผู้สอนจะจัดสื่อประกอบการสอนหลายๆรูปแบบที่เอื้อต่อผู้เรียนในการที่จะตั้งประเด็นพิจารณา
องค์ประกอบย่อยๆ จะต้องสัมพันธ์กัน และนำไปสู่คุณค่าของงานโดยภาพรวม ผู้สอนต้องศึกษาเตรียมข้อมูล ไว้อย่างดี ต้องมีความเข้าใจ และชัดเจนในหลักการทางศิลปะและมีทักษะในการคัดสรรสื่อประกอบ การสอนที่เอื้อต่อการชี้นำให้ผู้เรียนได้สัมผัสโครงสร้าง และส่วนประกอบของงานอย่างชัดเจน

แนวการสอนตามความนิยม ( Normistic Approach )

        หลักการพื้นฐานนั้น สามารถกล่าวได้ว่า มาจากแนวคิดเชิงปรัชญาแบบอุดมคตินิยม (Idealism) ซึ่งได้แก่การเน้นความเป็นสากล หรือสิ่งที่สังคมยอมรับ และถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ดังนั้น เนื้อหา และ รูป-แบบการนำเสนอจะมาจากแบบแผนซึ่งผู้ที่เป็นที่ยอมรับของสังคมได้กำหนดขึ้น ซึ่งมีแบบแผน และขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจน
 
 


บ ร ร ณ า นุ ก ร ม


 


Joyce, Bruce, Weil, Marsha, with Showers, Beverly, Models of Teaching, Fourth Edition,

Allyn and Bacon, Boston, 1992 Michael, John A., Art and Adolescence: Teaching Art at the Secondary Level, Teacher College Press, Columbia University, New York, 1983. Paterakis, Angela G. (Task Force Chairman), Art Education: Senior High School,

(Fourth Printing), The National Art Education Association, Virginia, 1979.

อำไพ ตีรณสาร , " ขยายมุมมองการเรียนรู้ศิลปะ , " วารสารครุศาสตร์ , ปีที่ 22, ฉบับที่ 1, กรกฎาคม-

กันยายน 2536, โรงพิมพ์จุฬาลงกาณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ, หน้า 64 - 76