ขยายมุมมองการเรียนรู้ศิลปะ
ดร. อำไพ ตีรณสาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นที่น่ายินดีที่ศิลปศึกษาทั้งในประเทศเรา และนานาประเทศ ได้พัฒนาขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเป็นที่ยอมรับถึงความสำคัญ จากสังคมทั่วไป ความรู้สึกดังกล่าวนี้มิได้หมายความว่าเราได้ก้าวมาถึงจุดสุดยอดแล้ว อันที่จริง ควรนับว่า ความสำเร็จที่ผ่านมานั้น เป็นแรงบันดาลใจ ให้เราเดินหน้าต่อไป ในอันที่จะแสวงหาแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนศิลปะ ที่เราจะต้องช่วยกันขบคิด แล้วร่วมกันหาแนวทาง พัฒนาศิลปศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน และเพื่อความชัดเจน ในศาสตร์ของเรา ในที่นี้จะขอหยิบยกแง่มุม ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่เกี่ยวกับการรับรู้ สำหรับศิลปศึกษาแล้ว การรับรู้ที่เป็นหลักพื้นฐาน คือ การรับรู้ทางตา ซึ่งได้แก่ มองเห็น หากเราลองหลับตา แล้วนึกภาพบางสิ่งที่ใกล้ตัว เช่น ภาพบุคคลที่ใกล้ชิด หรือภาพสิ่งแวดล้อมข้างๆทาง จากบ้านถึงที่โรงเรียน หรือที่ทำงาน หลายคนอาจพบว่า ภาพเหล่านี้ที่นึกได้นั้น ไม่แจ่มชัด หรือนึกได้ เพียงรายละเอียดเฉพาะบางจุดเท่านั้น และหากขอให้ถ่ายทอดออกมา เป็นภาพวาด ก็อาจพบว่าเกิดความสับสน หรือไม่สามารถถ่ายทอด รายละเอียดได้ หรืออาจวาดไม่ได้ดังใจนึก สาเหตุประการสำคัญ จะมาจากเราอาจยังไม่ได้ให้ความสนใจ ฝึกฝนการมองเห็นเท่าที่ควร ดังนั้น ในบทความนี้จะกล่าวถึง ความสำคัญ บทบาทของการมองเห็นที่มีในกระบวนการเรียนรู้ อุปสรรคของการมองเห็น และข้อเสนอแนะ ในการส่งเสริมที่จะทำให้การมองเห็น ให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการเรียน และการแสดงออกทางศิลปะ

ความสำคัญของการมองเห็น
การมองเห็นนั้น เป็นคำควบคู่กันระหว่าง การมอง และการเห็น สำหรับการมองหรือการดู สามารถจัดว่าเป็นจุดเริ่มต้น ด้วยการส่งสายตา ไปสู่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การเห็น ดังนั้น การเห็นจึงเป็นจุดหมายปลายทาง ของการรับรู้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง จะเห็น ท้องฟ้า นก ต้นไม้ และบ้าน เป็นต้น

การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางศิลปศึกษานั้น ย่อมมาจากการรับรู้ ที่มีคุณภาพ หากเปรียบการมองเห็น กับกล้องถ่ายรูป ภาพที่มีคุณภาพ หรือน่าสนใจย่อมเกิดจากการที่เรารู้จักใช้ หากเข้าใจปรับเลนส์ จะได้ภาพที่คมชัด หากมีการเปลี่ยนใช้เลนส์แบบต่างๆ เราจะได้ภาพลักษณะต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น การดึงภาพให้ใกล้ ให้เห็นในรายละเอียดเฉพาะจุด หรือ ใช้เลนส์มุมกว้าง จะทำให้เราเห็นภาพรวมที่กว้างขวาง หรือใช้ฟิวเตอร์สีต่างๆกันไป เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการมองเห็น ด้วยตาของเราเอง หากเราเคยชินกับการมองเฉพาะบางมุม บางระยะ จะทำให้เราพลาดโอกาส ที่จะสัมผัสความหลากหลายของการมองเห็น อย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น การมองเห็น คงมิใช่เฉพาะการลืมตา และ เห็นภาพที่ปรากฎ ต่อเบื้องหน้าเราเท่านั้น แต่ควรเป็นการมอง อย่างมีจุดหมาย และมองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นข้อมูลในการเรียนรู้ และทรัพยากรเบื้องต้น ไว้คัดสรร และปรับใช้ในการสร้างงานศิลปะ นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง ต่อการเรียนวิชาอื่นๆด้วย

บทบาทของการมองเห็นในกระบวนการเรียนรู้

เมื่อพิจารณาจากกระบวนการเรียนรู้ จะพบว่าการมองเห็นนั้นมีบทบาทเป็นปัจจัยพื้นฐานในกระบวนการการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางศิลปศึกษา กระบวนการเรียนรู้จะเริ่มต้นจากการรับรู้ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกภายนอก สู่โลกภายในของมนุษย์ โดยผ่านประสาทสัมผัสต่างๆอันได้แก่ ตา หู ลิ้น จมูก และผิวหนัง ต่อเมื่อเราเปิดการสัมผัสเหล่านี้ จึงจะเกิดการรับรู้ในรูปของการเห็น การได้ยิน การรู้รส การได้กลิ่น และการรู้สึกต่อพื้นผิว หากมีเพียงขั้นตอนนี้เพียงอย่างเดียวก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ คือผ่านเข้ามา แล้วก็ผ่านออกไปโดยไม่ได้รับประโยชน์อันใด เช่น ระหว่างเดินมาโรงเรียน มีสิ่งต่างๆผ่านตามากมาย แต่นึกไม่ออก หรือไม่เห็นเลย

การรับรู้ต่างๆ จะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ต้องอาศัยขั้นต่อมา คือ การคิด คือกระบวนการจัดการกับสิ่งที่รับรู้มาจากโลกภายนอก ก่อนที่จะยอมรับ หรือละทิ้งไป การจัดการดังกล่าวอาจเป็นเพื่อหาความหมายหรือหาคำอธิบายต่อสิ่งที่ปรากฎ ขั้นตอนนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้เดิม กับสิ่งที่ปรากฎ หรือ ประสบการณ์ใหม่ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น วิธีการคิดนั้นก็ด้วย การตั้งสมมุติฐาน หรือความเป็นไปได้ต่างๆจากนั้นจึงทำการทดสอบสมมุติฐานหรือความเป็นไปได้ที่คิดไว้ การทดสอบนี้อาจเป็นในลักษณะตรวจสอบเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียนรู้มาก่อนแล้ว หรือด้วยการหาช้อมูลจากภายนอกเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น เห็นรูปบ้านแล้วดูที่หน้าจั่วบ้าน พิจารณาแล้วว่ามีสามด้าน จึงตั้งสมมุติฐานว่าเป็นรูปสามเหลี่ยม จากนั้นจึงย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับการเรียนรู้เดิมเกี่ยวกับสามเหลี่ยม เช่นเคยเห็นไม้บลอก เคยเห็นในหนังสือ ฯลฯ หากพบว่าสอดคล้องกัน ก็จะยอมรับภาพที่ปรากฎนั้นว่าเป็นสามเหลี่ยม หากสิ่งที่ประกฎนั้นไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้เดิม หรือการทดสอบสมมุติฐานนั้นยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ก็จะยกเลิกสมมุติฐานเดิม และหาความเป็นไปได้อื่นๆที่จะอธิบายสิ่งที่ปรากฎต่อไป เช่นเด็กทดลองวาดภาพวงกลม โดยการบังคับมือให้เคลื่อนที่เป็นวงๆ หากผลออกมายังไม่เป็นวงกลม ก็จะทดลองใหม่โดยการเปลี่ยนการเคลื่อนที่ของมืออย่างเดิม แล้วปรับปรุงการบังคับมือใหม่ ถ้าได้ผลเป็นวงกลมจนตนพอใจ ก็อาจลองทำซ้ำจนแน่ใจ ก็จะรับการเรียนรู้ลักษณะการบังคับมืออันนั้น

ผลจากการเรียนรู้จะถูกนำเข้าไปบรรจุในหน่วยความจำในสมอง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคลังประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมการเรียนรู้ทั้งหมด คลังประสบการณ์นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตลอดชีวิต ทั้งในส่วนเพิ่มพูนการเรียนรู้ใหม่ และปรับปรุงการเรียนรู้เดิมให้ชัดเจน และมีคุณภาพยิ่งขึ้น หากพบว่าการเรียนรู้ใหม่นั้นดีกว่าเดิม ก็จะทิ้งของเดิม และรับรองของใหม่เข้ามาแทนที่

จากกระบวนการเรียนรู้ข้างต้นนี้ จะเห็นว่ามีขั้นที่ชัดเจน และมีกระบวนการที่นำไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง เช่นเดียวกับการเรียนรู้ทางศิลปศึกษา ผู้สอนจะต้องจัดประสบการณ์การเรียนการสอนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ที่จะเพิ่มพูนในตัวเด็ก สำหรับการมองเห็นนั้นอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้นของการเรียนรู้จากการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส โดยมีการรับรู้รูปแบบอื่นๆมาเป็นส่วนประกอบเพื่อให้การเรียนรู้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อุปสรรคในการมองเห็น

อุปสรรคทางการมองเห็นโดยทั่วไป เช่นสายตาสั้น หรือการเป็นโรคตานั้น จะสามารถแก้ไขได้โดยไม่ยากนัก ด้วยการใส่แว่นตา หรือให้แพทย์รักษา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะมีสายตาเป็นปรกติก็อาจมีสิ่งต่างๆที่ลดทอนประสิทธิภาพในการมองเห็นได้เช่นกัน อุปสรรคในการมองเห็นหลักๆ มีดังนี้ คือ

สิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิต ความสามารถในการพูด อ่าน และเขียน ขึ้นอยู่กับภาษา และการใช้ภาษาที่เราคุ้นเคยในสังคมที่เราเติบโตมา และขึ้นอยู่กับโอกาส และประเภทหนังสือที่อ่าน เช่นเดียวกับการมองเห็น ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมา และโอกาสที่ได้สัมผัสสื่อทางสายตาที่แตกต่างกันออกไป

การมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่นั้น เราจะพบว่าประกอบขึ้นด้วยข้อมูลทางสายตาจำนวนมหาศาล เช่น ตึก สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนวุ่นวายหากเราจะรับรู้ข้อมูลทั้งหมด เราจึงมุ่งให้ความสนใจแต่สิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่นในการเห็นรถประจำทางนั้น เราจะเห็นเพียงรูปร่างของรถเมล์โดยรวมๆ แต่จะมุ่งความสนใจเฉพาะการมองหมายเลขที่จะบอกเส้นทาง เพื่อจะนำเราไปสู่จุดหมายที่ถูกต้องเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ชีวิตในเมืองใหญ่นั้นเป็นตัวกำหนดให้เราต้องมอง และตัดสินใจในแต่ละเรื่องด้วยความรวดเร็วมากกว่าการมีโอกาสได้พัฒนาการมองเห็นได้หลากหลาย และมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมืองใหญ่มักเป็นศูนย์รวมแห่งข้อมูล และความก้าวหน้า ความได้เปรียบของผู้อยู่เมืองใหญ่ คือมีข้อมูลทางสายตาได้หลากหลาย เพียงแต่ว่าเราจะมีเวลาที่จะมองเห็นอย่างเพียงพอหรือไม่

ในทางตรงกันข้ามกับการดำเนินชีวิตในเมืองใหญ่ ในเมืองเล็ก หรือในสังคมชนบทนี้น จะมีการดำเนินชีวิตในอีกรูปแบบ ซึ่งชีวิตไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเวลาอย่างเคร่งครัด ดังนั้นชีวิตจึงไม่รีบเร่งเท่ากับในเมืองใหญ่ แต่จะพึ่งพาธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ดังนั้น คนในสังคมรูปแบบนี้ ต้องฝึกฝนการมองเห็นรายละเอียดในธรรมชาติ เป็นต้นว่า ในเมืองเกษตรกรรม ชาวไร่ชาวนาจะเห็นรายละเอียดของใบไม้ต้นไม้ ว่ามีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ ขาดน้ำ หรือกำลังเป็นโรค หรือถูกแมลงรบกวน ส่วนชาวประมงจะมีความสามารถแยกแยะประเภทของเมฆ ลม และคลื่น เพื่อประโยชน์ในการออกเรือ เป็นต้น

ความคงที่ในการรับรู้ ความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันนั้นประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆที่เป็นมาตราฐาน ทำให้สกัดกั้นความหลากหลายและจินตนาการในการมองเห็น เช่น รูปร่าง และขนาดของของใช้ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น เก้าอี้ กระดาษ สมุด ดินสอ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายๆสิ่งก็มีความจำเป็นที่ต้องกำหนดให้มาตรฐาน และมีความคงที่ไม่ว่าจะปรากฎ ณ ที่ใด เช่น เครื่องหมายจราจร ทั้งนี้เพื่อความมีระเบียบของการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องชี้แนะเด็กให้เข้าใจ และเปิดมุมมองให้กว้างขวางไปกว่าการเน้นการมองเห็นแต่เฉพาะสิ่งที่มีลักษณะคงที่

ความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เรารู้กับสิ่งที่เราเห็น คนจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะเห็นสิ่งต่างๆ จากข้อมูลคุณลักษณะเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ โดยแทบไม่คำนึงต่อการเห็นจากการสังเกตต่อสิ่งที่ปรากฎต่อสายตาจริงๆ ความเป็นจริงทางกายภาพ (physical reality) อาจไม่เหมือนกับความเป็นจริงที่เห็นทางสายตาจริงๆ (visual reality) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนึกภาพดินสอ เราจะนึกถึงคุณลักษณะทางกายภาพของดินสอก่อนว่า ทำด้วยไม้ มีรูปร่างยาวๆ อาจเป็นแท่งกลมหรือเหลี่ยม มีสีเคลือบภายนอก และจะมียางลบอยู่ตรงปลาย แต่ถ้าเป็นภาพทางสายตา อาจเห็นเพียงวงกลม ถ้าตั้งตรงแล้วมองจากด้านบนสู่ด้านล่าง หรือเห็นแท่งสั้นกว่าแท่งจริงถ้ามองจากมุมมองเฉียงๆ

นอกจากสิ่งที่เรารู้ในเชิงลักษณะทางกายภาพแล้ว ความขัดแย้งต่อกายภาพแล้ว ความขัดแย้งต่อการมองเห็นที่แท้จริงยังอาจเกิดจาก สิ่งที่เรารู้ในเชิงความเชื่อ ทัศนคติ หรือความลำเอียง เช่น ถ้าเรามีความเชื่อว่าความมึดเป็นสิ่งที่ลี้ลับ หรือน่ากลัว อาจทำให้เราปฏิเสธที่จะมองสิ่งที่อยู่ในความมืด ซึ่งจริงๆแล้วอาจมีความงาม มีคุณค่า หรือสิ่งที่หน้าสนใจแฝงอยู่ในนั้นก็ได้ หรือถ้าเราเชื่อว่า ภาพ " nude " เป็นภาพอนาจาร และหลีกเลี่ยงการดูภาพในลักษณะนี้ ก็อาจพลาดโอกาสการรับรู้ความงามทางสรีระของมนุษย์

ความเคยชิน ได้แก่ การเห็นภาพสิ่งหนึ่งๆจากลักษณะ หรือ มุมมองเดียวกันอย่างซ้ำซาก จนทำให้เกิดภาพในใจของสิ่งนั้น เช่น ถ้าให้วาดภาพหน้าคน นักเรียนเกือบทั้งหมดจะวาดด้านหน้าตรงๆ หรือ เมื่อให้วาดทิงทัศน์ ก็จะวาด ภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง มีชายหาด และมีกระท่อม และมีต้นมะพร้าวอยู่ตรงมุมภาพด้านล่าง เหตุที่เกิดความซ้ำซากเช่นนี้ เป็นเพราะความเคยชิน ซึ่งอาจเกิดจากครู หรือผู้ใหญ่ทำตัวอย่างให้ดู หรือพบเห็นอยู่เสมอในหนังสือ สิ่งตีพิมพ์ ตลอดจนการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ

การขาดความรู้เกี่ยวกับการเป็นมา หรือขาดข้อมูลพิ่นฐาน ในบางครั้งสิ่งที่เราดูนั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับความเป็นมา หรือข้อมูลประกอบการดู จึงสามารถเห็นสาระที่ลึกซึ้ง ยกตังอย่างเช่น เมื่อดูภาะเชิงนามธรรม หรือภาพในลัทธิคิวบิคซึ่ม จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นรูปแบบการสร้างงานที่มีการคลี่คลาย หรือประยุกต์ที่ต่างออกไปจากการสร้างภาพแบบเหมือนจริง จึงจะสามารถเห็น หรือรับรู้ตาแนวนั้นๆได้ มิเช่นนั้นแล้ว เราก็จะเห็นแต่เพียงสีสัน และรูปร่างรูปทรงแปลกๆ พิสดาร และไม่อาจมีความซาบซึ้งในงานนั้นได้

การขาดสภาวะที่เอื้อต่อการมองเห็น สภาวะที่กล่างถึงนี้หมายความถึงทั้งสภาวะเชิงกายภาพและสภาวะในเชิงจิตวิทยา ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่อาจส่งเสริม หรือลดทอนคุณภาพของการมองเห็น สภาวะทางกายภาพ หมายถึงความสมบูรณ์ของสิ่งที่ดูมุมมอง ความสว่างของแสง ระยะความห่าง อุณหภูมิ ระยะเวลาและสถานที่ การมองเห็นจะมีคุณภาพไม่ดี ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้ไม่เหมาะสม แสงไม่พอ หรือจ้าเกินไป อากาศร้อนอบอ้าว ระยะเวลาสั้นเกินไป หรือสถานที่แออัดคับแคบ นอกจากนี้แล้วสภาวะทางกายภาพอีประการที่ทำให้คุณภาพการเห็นแตกต่างกันออกไป ได้แก่การดูภาพ หรือหุ่นจำลองกับการได้เห็นของจริง เช่น งานสถาปัตยกรรม หรือโบราณสถาน การได้เห็นเพียงภาพย่อมแตกต่างจากการได้ห็นด้วยการไปยืนดู และเดินในบริเวณสถานที่จริง

สำหรับสภาวะทางจิตวิทยา หมายถึงสภาวะที่ทำให้เกิดความรู้สึกใดหนึ่งในใจ เช่นความคุ้นเคยต่อสถานที่ หรือต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งใหญ่โตมโหฬาร มีโบราณวัตถุ และงานศิลปะเต็มไปหมด มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลความเรียบร้อยอย่างใกล้ชิด ในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าเราไม่คุ้นเคยอาจทำให้รู้สึกหวาดกลัว ซึ่งผลก็คือ การดูงานศิลปะตลอดจนการทำความเข้าใจของเราจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

การส่งเสริมการฝึกการมองเห็น

1. การจัดกิจกรรมที่เน้นการฝึกการมองเห็นภาพตามที่ปรากฎจริง เพื่อหัดให้นักเรียนมุ่งความสนใจมองแต่สิ่งที่ปรากฎต่อสายตาในขณะหนึ่งๆ โดยปราศจากการคำนึงถึงความมีลักษณะคงที่ หรือเกิดจากความเคยชิน โดยครูจะจัดเตรียมวัตถุ หรือภาพ โดยเริ่มจากที่ไม่คุ้นตามาให้นักเรียนดู เช่น ก้อนหิน เศษไม้ หรือกระดาษสีที่ตัดเป็นรูปอิสระต่างๆ จากนั้นอาจให้นักเรียนเปรียบเทียบกับภาพร่างต่างๆ และบอกว่าภาพใดเหมือนกับสิ่งที่ตนเห็นมากที่สุดหรือ ถ้าจะฝึกความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เห็น และการวาดภาพด้วย ก็อาจให้นักเรียนร่างภาพที่ตนเห็นลงบนกระดาษก็ได้ นอกจากการดูสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ครูก็อาจสอแทรกสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันให้นักเรียนสังเกตด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เตรียมให้นักเรียนฝึกการสังเกตนี้ ควรมีรูปร่าง รูปทรง และรายละเอียด ตลอดจนความซับซ้อนที่เหมาะสมกับระดับชั้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนประสบความสำเร็จ ถ้ายากเกินไป นักเรียนอาจหมดกำลังใจ

นอกจากการฝึกการมองรูปร่าง รูปทรงแล้ว อาจประยุกต์กิจกรรมในทำนองเดียวกันนี้เพื่อฝึกการมองคุณลักษณะต่างๆ ในองค์ประกอบศิลป์ได้เช่นกัน เช่นในเรื่องของ สี แสง เงา สัดส่วน และพื้นผิว เป็นต้น

2. การจัดกิจกรรมที่เน้นการมองจากมุมมอง และสภาวะที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่แล้ว นักเรียนจะเคยชินกับการมองจากมุมมองปรกติ คือ ที่ระดับสายตา อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างงานศิลปะที่น่าสนใจ และสร้างสรรค์ เราควรจัดประสบการณ์ให้นักเรียนได้ฝึกมองจากมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการขยายมวลประสบการณ์ และเป็นข้อมูลให้นักเรียนไว้คัดสรรเพื่อการถ่ายทอดจินตนาการ และความรู้สึกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นการมองจุดที่ต่ำกว่าระดับสายตา โดยให้นักเรียนมองจากระดับพื้น แล้วเงยหน้าดูสิ่งรอบๆตัว หรือการยืนบนเก้าอี้ หรือบนโต๊ะ แล้วมองต่ำลงมา การมองในระยะที่ใกล้มาก เช่น การมองวัตถุจากกล้องจุลทรรศน์ การมองไกลๆ เช่น การมองทิงทัศน์ หรือการพานักเรียนขึ้นไปมองทิวทัศน์จากตึกสูงๆ หรือการมองจากมุมมองแปลกๆ เช่น การก้มศีรษะมองหรือตะแคงศีรษะมอง นอกจากนั้นอาจฝึกการมองในสภาวะต่างๆ เช่น ในที่ที่มีแสงน้อย หรือมีสิ่งกีดขวางสายตาเป็นต้น

หลังจากการฝึกมองจากมุมมองต่างๆ ครูอาจนำภาพของศิลปินต่างๆ ที่มองในมุมมองเดียวกับนักเรียนมาให้นักเรียนดู หรือครูอาจนำอภิปรายเกี่ยวกับภาพที่เห็น และความรู้สึกที่ได้จากการมองนั้น นอกจากนั้นยังอาจเป็นการนำเข้าสู่กิจกรรมการสร้างงานศิลปะ เช่นการวาดภาพระบายสี เป็นต้น

3. การมองสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ในชีวิตประจำวันนั้นนักเรียนอาจไม่มีโอกาสมอง หรือสังเกตสิ่งต่างๆ ก็มักถูกครอบงำด้วย ความคงที่ ความเคยชิน และข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ สืบเนื่องจากการส่งเสริมที่กล่าวถึงใน 2 ข้อแรก ครูควรจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกการมองสิ่งต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม โดยการเน้นการมองภาพจากที่ปรากฎจริง และการมองจากมุมมองต่างๆ เช่น การพานักเรียนไปวาดภาพในชุมชนใกล้ๆ โรงเรียน การค่อยๆสังเกตความเปลี่ยนแปลงของภาพที่ปรากฎ เมื่อเปลี่ยนตำแหน่ง หรือมุมที่มอง

สิ่งที่สามารถช่วยกำหนดขอบเขตในการมอง คือการทำจอรับภาพจำลอง โดยการตัดกระดาษเป็นกรอบหน้าต่าง เมื่อมองผ่านจอรับภาพนี้ไปสู่จุดหมายปลายทาง จะได้ขอบเขตของภาพ เราจะได้ภาพที่เน้นเฉพาะจุด เมื่อเลื่อนจอออกให้ห่างจากตา และจะได้ภาพมุมกว้างเมื่อเราเลื่อนจอเข้าใกล้ตา

4. การให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะ และความเป็นมาของสิ่งต่างๆ สรรพสิ่ง หรืองานศิลปะในหลายกรณีนั้น มีความสัมพันธ์ต่อภาพที่ปรากฎอย่างใกล้ชิด บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และสภาวการณ์ เช่น ใบไม้ เริ่มตั้งแต่เป็นใบอ่อน จะมีขนาดเล็กสีอ่อน และมีรายละเอียดไม่มากนัก จากนั้นก็จะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อโตเป็นใบที่สมบูรณ์เต็มที่ และเมื่อเป็นใบแก่ที่ร่วงโรย ในลักษณะนี้ ครูอาจเตรียมตัวอย่างจริงในแต่ละช่วงมาให้นักเรียนสังเกต และเปรียบเทียบตามภาพที่ปรากฎ โดยพิจารณาจากหลักการทางศิลปะต่างๆ เช่น ขนาด พื้นผิว รูปร่าง หรือ สี เป็นต้น

นอกจากสังเกตสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติแล้ว การรับรู้งานศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะต่างๆ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจในหลักการ หรือแนวคิดในการทำงานของศิลปินด้วย ดังตัวอย่างที่กล่าวไว้ในอุปสรรคในการมองเห็นในข้อ 5 ดังนั้นครูควรให้ความรู้ โดยการอธิบายประกอบการยกตัวอย่างลักษณะงานที่มีจำนวนมากพอที่นักเรียนจะสรุปการเห็นลักษณะเฉพาะนั้นๆ อย่างชัดเจน

5. การจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างจินตนาการในการมองเห็น ได้แก่การสร้างงานศิลปะที่เกิดจากการประสมประสานสิ่งที่เห็นต่างๆ เข้าด้วยกันด้วยสภาวะที่ต่างไปจากปรกติ เช่น ขนาด โดยการขยายของที่ปรกติเคยเล็กให้ใหญ่ขึ้น ไปประกอบกับของที่ปรกติเคยใหญ่ แต่ย่อให้เล็กลง หรือสร้างภาพเรื่องเดียวกัน แต่ประกอบขึ้นด้วยรายละเอียดจากมุมมองต่างๆกัน เป็นต้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าการขยายมุมมองในการส่งเสริมการมองเห็น เป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งจริงอยู่ ในสภาพการเรียนการสอนปัจจุบันนั้น มีการสอดแทรกการมองเห็นอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นเพียงการสอดแทรกเท่านั้น ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ในบางกรณี นักเรียนอาจถูกปล่อยให้เรียนรู้การมองเห็นตามยถากรรม ท่ามกลางศิลปศึกษาที่มุ่งเน้นการแสดงออก และการสร้างงานศิลปะที่ปรากฎในงานศิลปะเด็กที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปนั้น คุณค่าของงานจะพัฒนาต่อไปได้ ต่อเมื่อเราร่วมกันสนใจพัฒนาการมองเห็นของเด็กอย่างจริงจัง เพราะกระบวนการรับรู้ด้วยตานั้น มีความสำคัญควบคู่กันไปกับการสร้างงานศิลปะอย่างแยกกันไม่ได้ หากเป้าหมายทางศิลปะของเราคือการพัฒนาศิลปะเด็กโดยภาพรวม

บรรณานุกรม

Chapman, Laura H ., Approaches to Art in Education, Harcourt Brace

Jovanovich, Inc.. New York, 1978.

Dewey , John. Experience & Education , Macmilland Publishing

Co., Inc., Twenty - First Printing, 1979

McFee , June King and Degge, Rogena M., Art, Culture and Enviroment : A Catalyst for Teaching, Wadsworth Publishing Company , Inc., California, 1977