วันศุกร์ที่
18กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543
![]()
|
ของวรรณกรรม แม้จะผ่านเลยเวลามาแล้ว
ถึง 64 ปี แต่ชื่อของ "มาร์กาเร็ต มิตเชล"
ก็ยังอยู่ในความทรงจำของนักอ่าน
โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง "วิมานลอย"
หรือ GONE WITH THE WIND
ผลงานเพียงเรื่องเดียวของเธอ ซึ่งเหนือ
กาลเวลาตราบจนวินาทีนี้
....................
เมื่อหนังสือเรื่อง Gone With The Wind (วิมานลอย) วางแผงในปี 1936 มีผู้อ่านน้อยคนนัก ที่จะตระหนักว่า สการ์เล็ต และ เร็ตต์ ถูกเขียนขึ้นจากชีวิตของ มาร์กาเร็ต มิตเชล ผู้เขียน และ เรด สามีคนแรกของเธอ ผู้เป็นคนหัวใจเถื่อนที่ชอบสูบบุหรี่และติดเหล้า มาร์กาเร็ตเองเป็นคนโฉบเฉี่ยว เปรี้ยวจี๊ด มีผู้ชายมาหลงรักหลายคนจนได้ฉายาว่า "เป็นคู่หมั้นของชุมชน" แคโรลิน ฮาร์ด รายงานถึงหลักฐานใหม่ที่อยู่รอบตัวชีวิตนักเขียนคนนี้ ตลอดจนความตายอันน่าพิศวงของหญิงผู้เขียนนิยายเพียงเล่มเดียวก็เป็นอมตะทั้งงานและผู้เขียน
ผู้อ่านคิดว่าเธอเป็นเพียงแม่บ้านชาวแอตแลนตาผู้เขียนนิยายเบสต์เซลเลอร์เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในอเมริกาเท่านั้น แต่ มาร์กาเร็ต มิตเชล ผู้เขียน Gone With The Wind อาจเป็นนักเขียนนิยายที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาได้เก็บงำความลับอันมืดดำของเธอไว้ตลอดชีวิต นิยายที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์อันวุ่นวายซับซ้อนระหว่างเร็ตต์ บัตเลอร์ กับ สการ์เล็ต โอฮาร่า นั้นที่จริงแล้ว มาจากพื้นฐานของชีวิตคู่ของเธอ กับ "เรด" อั๊พชอว์ สามีผู้ขี้เหล้าและชอบก่อความรุนแรงในบ้าน เธอมิใช่ภรรยาผู้สงบหรือเงียบหงิม ผู้ตอกพิมพ์ดีดแต่งหนังสือในขณะพักฟื้นจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่มาร์กาเร็ต เป็นสาวสวยชาวใต้ผู้ชอบหว่านเสน่ห์จนมีผู้มาติดพันมากหน้าหลายตา จนเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น "คู่หมั้น" ของชุมชน และเรื่องอื้อฉาวคาวโฉ่ของเธอในแอตแลนตา จอร์เจีย บ้านเกิดของเธอนั่นเองที่ทำให้เธอถูกปฏิเสธอย่างรุนแรงจากแวดวงสังคมนั้น ซึ่งสร้างความปวดร้าวให้เธอไปตลอดชีวิต
ชีวิตคู่ของเธอกับเรดมีแต่หายนะ แม้เธอจะกลัวเขาแต่ก็ไม่เคยถอนใจมาจากเขาได้ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเขาฆ่าตัวตายขณะอายุ 49 ด้วยการกระโดดลงมาจากหน้าต่างชั้นที่ 15 ของโรงแรมราคาถูกแห่งหนึ่งในกัลเวสตั้น ในเท็กซัส มาร์กาเร็ต ก็ถูกรถยนต์ที่คนขับเมามายขับชนตายในแอตแลนตา
มาร์กาเร็ต มิตเชล เกิดในปี 1900 เป็นบุตรสาวของทนายความผู้มั่งคั่งและแม่ผู้เป็นสาวสังคม เธอและพี่ชายเติบโตมาในคฤหาสน์สไตล์โคโลนี อย่างมีรสนิยมที่ถนนพีชทรีในแอตแลนตา ที่นั่นมาร์กาเร็ตเป็นเด็กสาวผมดำตัวเล็กๆ ที่หัวดื้อ เธอทำให้พวกหนุ่มๆ หัวหมุนด้วยบุคลิกยวนเสน่ห์ การพูดจาช้าๆ อย่างชาวใต้ที่มีลูกเล่นแพรวพราวและการมีอารมณ์ขันไม่สิ้นสุด "เธอมีผู้ชายมากหน้าหลายตามาหลงรักอย่างคลั่งไคล้ และจงรักต่อหนุ่มๆ ที่แสนดีงามมากกว่าสาวใดในแอตแลนตา" เจ้าของคอลัมน์ซุบซิบในหนังสือพิมพ์ฉบับท้องถิ่นเขียนถึงเธอ
บรรดามิตรสหายใกล้ชิดมาร์กาเร็ต ก็มีคอร์ทนี่ย์ รอส และเฮนรี่ แองเจิ้ล ผู้ที่เธอพบที่โรงเรียน พวกเขากลายเป็นสามสหายที่ผูกพันกันเหนียวแน่นและรวมหัวกับซุบซิบ เขียนหนังสือและเล่นละคร ว่ายน้ำและออกงานปาร์ตี้ที่บ้านใกล้ๆ กัน ซึ่งเป็นครอบครัวของเพื่อนคนหนึ่ง ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทุกๆ คืนวันศุกร์มาร์กาเร็ตจะขับรถไปขนบรรดาเพื่อนๆ ทหารตามแคมป์ต่างๆ ในท้องถิ่นมาที่ถนนพีชทรี เพื่อมานั่งร้องเพลงและเล่นกีตาร์กันที่ระเบียงบ้าน นับเป็นเวลาที่มีความสุขที่แท้จริง
แต่ความสุขก็มลายอย่างฉับพลัน ทันทีเมื่อแม่ของมาร์กาเร็ตเสียชีวิตในปี 1919 ด้วยโรคหัดสเปน
2
การตายของเมย์เบลล์ มิตเชล ทำให้วัยเด็กของมาร์กาเร็ตสิ้นสุดลง พ่อของเธอจมอยู่กับความเศร้าโศก และเธอไม่สามารถทิ้งบ้านไปไหนได้ เพราะต้องดูแลครอบครัวนับเป็นการตัดสินใจที่ต่อมาเธอเสียใจมาก และนับเป็นยุคที่ขาดความมั่นคงอันยิ่งใหญ่ในโลก เป็นยุคที่เพลงแจซเกิดขึ้นในสังคมใหม่ บางทีในความพยายามที่จะพาตัวเองมาจากวัยเด็กที่มีความสุข มาร์กาเร็ตอ้าแขนรับยุค 20 ด้วยความกระตือรือร้น เปลี่ยนชื่อเล่นตัวเองเป็น "เป๊กกี้" ตัดผมตัวเองและกระโจนสู่โลกของพวกแกงค์ ยังไม่พ้น 19 เธอสูบบุหรี่ ดื่มวิสกี้ มีหัวรุนแรงทางการเมือง และมีความคิดอ่านเรื่องเพศและหลงใหลได้ปลื้มอย่างรุนแรง กับหนุ่มใดก็ตามที่เธอสนใจ ถึงกระนั้นเธอไม่คิดจะมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงาน ส่วนเฮนรี่ แองเจิ้ล ยังเป็นเพื่อนที่ดีของเธอโดยไม่มีอะไรทางเพศด้วยกัน และกลายเป็นเพื่อนที่พูดคัยตลกโปกฮากันเท่านั้น
ปี 1920-1921 เธอเป็นสมาชิกของดีบูทานต์ คลับ ซึ่งเป็นคลับชั้นเลิศตามคำสนับสนุนของพ่อเธอเปลี่ยนมาแต่งกายด้วยชุดสวยๆ อย่างหญิงสาวชั้นสูงและนิยมงานบอลที่มีการเต้นรำและการแสดงออก ฤดูใบไม้ผลิต่อมาเธอได้รับเชิญไปงานกุศลแห่งหนึ่ง ที่คฤหาสน์โอ่อ่าที่สุดในแอตแลนตา ย่านนั้น The Four Horsemen of The Apoealypse เป็นหนังดังที่มีรูดอล์ฟ วาเลนติโน นักแสดงรูปหล่อราวเทพบุตรเป็นพระเอก จนทำให้เพลง The Sheil of Araby จากหนังเรื่องนี้พลอยโด่งดังไปด้วย งานนั้นเธอเลือกชายที่หน้าตาคล้ายรูดอล์ฟ วาเลนติโน ไปเป็นคู่ควง
ทั้งคู่ฝึกเต้นรำนานหนึ่งสัปดาห์แต่กระเต้นอะปาเช่ทีแสนจะวูบวาบหรือหวือหวา ที่รวมเอาทั้งการกรีดเสียงร้องแบบแสบแก้วหู และลงเอยด้วยการจุมพิตกันอย่างอ้อยอิ่ง แต่ก็สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมชั้นสูงในงานบอลแห่งนั้น คืนนั้น มาร์กาเร็ต หรือเป๊กกี้ แต่งหน้าเข้ม สวมถุงเท้ายาวสีดำเซ็กซี่และกระโปรงผ่าข้าง ทุกอย่างล้วนทำให้ผู้คนที่มาในงานตื่นตาตื่นใจ แต่แล้วเรื่องจบลงอย่างหายนะ เมื่อหลายเดือนต่อมาเธอถูกสมาคมจูเนียร์ลีคในแอตแลนตาปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
เฮนรี่ยังคงรักและดูแลเอาใจใส่ต่อเป๊กกี้ด้วยดี และเธอก็ได้เขาเป็นที่พึ่ง แต่เธอไม่สามารถตกลงปลงใจแต่งงานกับเขาได้ ยังมีชายหนุ่มอีกสี่คนที่เที่ยวตามไล้ตามขื่อเธอและเปิดเผยว่า "ฉันรักพวกเขาทุกคน และประทับใจในสิ่งที่พวกเขามอบให้ แต่ไม่คิดจะแต่งกับใครสักคนค่ะ" เธอเผยใจให้เพื่อนหญิงคนหนึ่งทราบ ในยามนั้นเป๊กกี้ไม่แน่ใจว่าเธอจะหลงรักใครหรือไม่ "ยังไงก็ไม่รู้ที่ฉันไม่สามารถรักใครให้ไกลกว่าจุดนั้น และฉันรักพวกเขาแตกต่างกัน" เธอสารภาพกับเพื่อนว่าไม่สามารถสานสัมพันธ์กับชายใดได้ลึกซึ้งกว่านั้น แต่หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนไป ที่งานบอลสวมชุดแฟนซีในเดือนสิงหาคม 1921 เธอพบ เบอร์เรียน คินนาร์ด อั๊พชอว์ นักฟุตบอลผู้สูงหกฟุตสองนิ้ว จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ชายหนุ่มผมแดง ดวงตาสีเขียวชื่อ เรด อัพชอว์ ทำให้เธอรู้สึกเหมือนเท้าลอยขึ้นเหนือพื้น เธออกไปกับเขาโดยปล่อยให้แพทย์หนุ่มรูปหล่อ ผู้เป็นเหมือนบอดี้การ์ดของคืนนั้นไว้ตามลำพัง
แม้ว่าเพื่อนๆ ของเธอไม่ชอบเขา เป๊กกี้เองก็พบว่าเขาเป็นคนเจ้าชู้แต่เธอรู้ว่าเขาเป็นชายที่แกร่งและกร่าง ที่เธอห้ามใจไม่ให้รักเขาไม่ได้ เขาถูกไล่ออกจากสถาบันราชนาวี และมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ที่เป็นอันตรายซึ่งเป๊กกี้พบว่า ตื่นเต้นและท้าทาย เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า "ชายในอุดมคติ คือ ทหารผู้มีความกล้าและบ้าบิ่น ผู้จะเล่นเซ็กซ์กับใคร-หรืออะไรก็ได้" เรดสมความปรารถนาอันโลดโผนของเธอให้เต็ม "เขาคือสัตว์โลกป่าเถื่อนที่มีศีลธรรมต่ำ" ชายผู้รู้จักเรดเปิดเผย "เมื่อใดที่เมาเขาต้องมีเซ็กซ์ วัยหรือเพศของผู้ที่อยู่ใกล้ที่สุดในเวลานั้นเขาไม่เกี่ยวครับ"
ไม่นานนักเป๊กกี้และเรดจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง การทะเลาะเบาะแว้งบานปลายขึ้นตามปฏิกิริยาทางเพศที่เข้มข้นระหว่างทั้งสอง มาถึงปี 1922 บางทีอาจเป็นความพยายามที่จะทำให้เรื่องสงบลง เป๊กกี้ไปทำงานกับหนังสือพิมพ์เบอร์มิงแฮม นิวส์ ในเบอร์มิงแฮม อลาบามา แม้จะรู้ว่าเป๊กกี้มีคู่แล้ว เฮนรี่ยังคงตามตื้อเธอและครั้งนี้เธอปฏิเสธเขาอย่างหนักแน่นและเหมาะสม เธอเขียนไปว่า "ฉันแต่งงานกับคุณไม่ได้ เชื่อฉันเถอะ ฉันรักคุณเพื่อนยาก และรู้สึกว่าคุณคือเพื่อน ตราบใดที่คุณยังต้องการเป็นเพื่อนของฉัน" เป๊กกี้จะใช้ลูกเล่นเดียวกันในการปฏิเสธบรรดาชายผู้มาหลงรักเธอ และเธอไม่ต้องการแต่งงานกับเขา แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังประสงค์จะครองสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนเอาไว้
ในอลาบามาเธอเป็นมิตรกับจอห์น มาร์ช ชายผู้ต่อมาเป็นสามีคนที่สองของเธอ มาร์ชไม่เห็นด้วยในสัมพันธภาพของเธอกับเรด "พวกเขาแตกต่างกันเกินกว่าที่คนสองคนจะอยู่ด้วยกัน" เขาเขียน "ทั้งคู่ปะทะกันบ่อย และเขาก็ทำอะไรรุนแรงที่อาจทำให้เป๊กกี้ประสาทพังได้"
เป๊กกี้หัวแข็งเหมือนเช่นเคย เธอไม่ยอมฟังคำเตือนของมาร์ชและแต่งงานกับเรดเมื่อเขายื่นข้อเสนอ ทันทีที่มีการประกาศหมั้นเฮนรี่ก็แต่งงานกับหญิงสาวในท้องถิ่น ในที่สุดเขาวางมือไปจากเป๊กกี้ แต่เฮนรี่ตายตั้งแต่ยังหนุ่มเนื่องจากเป็นมะเร็งปอด ลูกชายเล่าว่าเป๊กกี้ไปเยี่ยมพ่อของเขาและยืนมองด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย
"คุณมีหน้าตาเหมือนพ่อของคุณ" เขาจำได้ว่าเธอเอ่ยเศร้าๆ เช่นนั้น
เรดและเป๊กกี้แต่งงานกันในเดือนกันยายน 1922 และความสัมพันธ์พินาศตั้งแต่ต้น เขาค้าเหล้าเถื่อนเพื่อโกยเงินก้อนมหึมา และไม่นานเรดก็เหมือนเร็ตต์ใน Gone With The Wind คือ ลอบค้าวิสกี้ แต่เรดไม่เหมือน เร็ตต์ผู้เป็นสุภาพบุรุษไปจนถึงตอนจบ เรดกลายเป็นคนดื่มจัด เขาข่มขืนและทุบตีเป๊กกี้และหลับนอนกับผู้หญิงไปทั่ว ไปๆ มาๆ เป๊กกี้อดรนทนไม่ได้อีกจึงทั้งกลัวทั้งโกรธและขับไล่ไสส่งสามีของเธอออกไปจากบ้าน แต่ไม่มีใครมาบัญชาให้ผู้ชายอย่างเรดทำโน่นทำนี่ได้ ชั่วเวลาเพียงเดือนเดียวเขากลับมาหาเธออีก เขาจับศีรษะโขกกับผนังห้อง ข่มขืนเธอ และทำร้ายเธอจนต้องนอนแซ่วกับเตียงนานนับเดือน การหย่าร้างเป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งคู่แยกทางกันตลอดชีวิตในปี 1924 แม้เป๊กกี้หวาดกลัวอยู่นานปีว่าเขาจะกลับมาคุกคามชีวิตเธออีก
เมื่อไม่มีเฮนรี่ให้เธอฟื้นสัมพันธ์รักอีก เป๊กกี้ก็มีเรื่องโรมานซ์กับจอห์น มาร์ช ผู้ยังเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ ปีต่อมาทั้งคู่แต่งงานกันและสร้างบ้านในจุดที่พวกเขาให้ฉายาว่า "กองขยะ" นั่นคือแฟลตในแอตแลนตาเป๊กกี้เริ่มทำงานที่ แอตแลนตา เจอร์นัล ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีพาวเวอร์ที่สุดของภาคใต้ เธอเป็นนักข่าวที่แกร่งและได้รับการยกย่องในบริษัทเออร์สไคน์ คาลด์เวล และแกรนด์แลนด์ ไรซ์ ในฐานะผู้เขียนข่าวกีฬาดีเด่น แต่ก็ชะงักเพราะขาข้างหนึ่งบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อเธอสามารถเขย่งเดินได้โดยใช้ไม้ยันรักแร้ช่วย มาร์ชซื้อเครื่องพิมพ์ดีดให้เธอและบังคับให้เธอเขียนหนังสือ "พระเจ้า นี่มันเรื่องอะไรกันนะ?" เป๊กกี้สารภาพในเวลาต่อมา
แน่นอนมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเป๊กกี้ มิตเชล ชีวิตของเธอท่ามกลางคฤหาสน์ต่างๆ สไตล์โคโลนี ในแอตแลนตา จอร์เจีย การเติบโตมาในท้องถิ่นทางภาคใต้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สมบูรณ์ของเรื่องราวในยุคสงครามกลางเมือง ที่มีความยุ่งยากแต่ก็พ้นผ่านมาได้ อีกทั้งชีวิตแต่งงานที่พังยับเยินของเธอ เร็ตต์ บัตเลอร์ คือ ภาพแทนเรด และสการ์เล็ต (ชื่อเดิมคือแพนซี่) เป็นสาวสวยชาวใต้ที่มาจากบุคลิกของเป๊กกี้และคุณยายของเธอรวมกัน แอ๊ชลี่ย์ วิลค์ส คือ เฮนรี่ แองเจิ้ล และคฤหาสน์ก็เกือบมาจากบ้านของครอบครัวมิตเชล บนถนนพีชทรี
เป๊กกี้ผู้มีดวงตาสีเขียวและสวมชุดหลวมๆ สีเดียวกับสีของดวงตาเริ่มเขียนหนังสือที่ทำให้เธอมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเป็นมหาเศรษฐีหลายครั้ง ตามปกติเธอเขียนบทความในหนังสือพิมพ์โดยขึ้นต้นด้วยประโยคสุดท้าย เธอเริ่มต้นนิยายโดยเอาตอนจบขึ้นมาก่อน "เธอไม่เคยเข้าใจผู้ชายคนไหนก็ตามที่เธอรัก ดังนั้น เธอจึงสูญเสียพวกเขาไปทั้งคู่..." นั่นยังเพิ่มความปวดร้าวให้ชีวิตของเธอ Gone With The Wind จึงรวมเอาทั้งชีวิตของเป๊กกี้ มิตเชล และโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดรวมกัน หนังสือเปิดเผยเรื่องราวของหญิงผู้มีชื่อเสียงที่ต้องแบกภาระหนักในอันจะแพร่งพรายความจริงเกี่ยวกับความทุกข์ระทมของเธอ และสามีผู้สร้างความเดือดร้อนให้เธอยาวนาน หนังเรื่องนี้ได้รางวัลออสการ์เก้ารางวัล รวมทั้งหนังยอดเยี่ยม ผู้แสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม(วิเวียน ลีห์) ผู้แสดงประกอบชายยอดเยี่ยม (โทมัส มิตเชล) และผู้แสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม (แอ๊ตตี้ แม็คแดเนียล) และมีผู้ชมหนังเรื่องนี้นับล้านๆ คนทั่วโลก
ในแต่ละปีจะต้องใช้เวลานานถึงสองสัปดาห์ เพื่อคำนวณรายได้จากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ทั่วโลก และตลอดเวลาเหลือในชีวิตของพวกเขาที่พวกเขาถูกฝังอยู่ภายใต้น้ำหนักแห่งการขึ้นโรงขึ้นศาลและเพิ่มความยุ่งเหยิงกับสิทธิทางธุรกิจในต่างประเทศ แอนน์ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของมาร์กาเร็ต มิตเชล อ้างว่า "ชื่อเสียงทำลายชีวิตของเธอ"
นอกจาก Lost Laysen ที่เป๊กกี้เขียนไว้ขณะเธอมีอายุแค่ 16 และเพิ่งมีผู้คนพบเมื่อไม่นานมานี้ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในงานฉลองครบรอบ 60 ปี ของหนังสือเรื่อง Gone With The Wind หลังจากหนังสือเล่มนี้เธอไม่เคยเขียนหนังสืออีกเลย เพราะไม่ต้องการเขียนอีก อะไรๆ ถูกบรรจุไว้ใน Gone With The Wind หมดสิ้นแล้ว และกลายเป็นหนังที่ออกฉายทั่วโลกครั้งแล้วครั้งเล่า เรื่องรักๆ ใคร่ๆ และชีวิตคู่เล่าที่เคยคิดว่าเป็นความลับ บัดนี้แม้ว่าจะไม่รู้กันทั่วทุกตัวตน แต่ก็มีคนรู้กันเกือบทั่วโลก Gone With The Wind ยิ่งใหญ่กว่าผู้รังสรรค์มาก มันมีอิทธิพลแผ่กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนระลอกคลื่นในสระที่ขจรขจายไปสัมผัสเพื่อนๆ ของเธอ ส่วนเรดไม่เคยฟื้นจากชะตากรรมของเขา เขายังคงดื่มจัด เปลี่ยนงานทำครั้งแล้วครั้งเล่า แต่งงานแล้วหย่าอีกสองครั้งและลูกชายคนเดียวของเขาพูดถึงพ่อของเขาว่า "ซาดิสต์ และโหดร้ายทารุณ" ในปี 1949 เขาเป็นวัณโรคและเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อกระโดดลงมาจากหน้าต่างที่สูง 70 ฟุต เพื่อฆ่าตัวตาย เมื่อเป๊กกี้ทราบข่าวเธอนอนซึมบนเตียงทั้งวัน เธอยิ่งเพิ่มความรู้สึกหดหู่และเชื่อในเรื่องเคราะห์กรรม "ฉันกำลังจะตายเพราะถูกรถยนต์ชน ฉันแน่ใจในเรื่องนี้จริงๆ" เธอจดบันทึกเอาไว้
ก่อนตายเป๊กกี้ขอร้องให้ทำลายข้อเขียนและภาพถ่ายส่วนตัวและทุกอย่างเกิดขึ้นดังที่เธอคาดไว้ แต่ไม่กี่ปีก่อนเฮนรี จูเนียร์ ลูกชายของเฮนรี่ แองเจิ้ล พบจดหมายและภาพถ่ายหลายกล่องในห้องใต้เพดาน รวมทั้งต้นฉบับในยุคแรกของเป๊กกี้ที่ยังไม่มีใครรู้ นั่นคือ นิยายเรื่อง Lost Laysen ที่เธอเขียนด้วยลายมือเป็นหนังสือเรียงความสองเล่ม
สังหรณ์ล่วงหน้าของเป๊กกี้เป็นจริง เธอถูกรถชนบนถนนพีชทรีในแอตแลนตา ถิ่นที่เธอเติบโตขึ้นมาขณะเธอและจอห์น มาร์ช ข้ามถนนไปยังโรงละครพีชทรี อาร์ตส์ ทีแรกพยานผู้อยู่บนถนนสายนั้นไม่รู้ว่า ใครได้รับบาดเจ็บแต่ทันทีที่ความจริงแพร่งพรายออกไปก็มีผู้คนเช่นเพื่อนฝูงผู้หวังดีและแฟนหนังสือโทรศัพท์ และส่งจดหมายไปที่โรงพยาบาลกันมากมาย เธอตายจากในเวลาห้าวันต่อมา แม้กระนั้นการตายของเธอยังเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกคลางแคลงใจให้ผู้คนกังขาว่าเป็นอุบัติเหตุหรือฆ่าตัวตาย?
เพราะเหนืออื่นใดเธอสูญเสียผู้คนที่เธอรักที่สุด แม้ได้รับความมั่งคั่งและชื่อเสียงเป็นสิ่งตอบแทน ก็ไม่น่าจะชดเชยความขื่นขมและอ้างว้างว้าเหว่ได้ ‘