แก่นของพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้
พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรือ อาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น
การทำพิธีรีตอง เพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง

มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวนั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น" ดังนี้ และว่า "ถ้าน้ำศักดิ์สิทธ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน" หรือ "ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวง บูชาอ้อนวอนเอาๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะว่า ใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น"

โดยเหตุที่ ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆอยู่ จึงถือว่าไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลอให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง
พุทธศาสนาไม่ประสงค์คาดคะเน หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้น เผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นๆ แม้จะมีคนอื่นๆมาบอกให้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงเป็น สิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง
ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหมือนหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้
คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริง หรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจ และมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเเอง สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือ ด้วยลักษณะที่ต่างกัน และด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน หรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย
ความจริงของคนหนึ่งๆนั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่างๆกัน ฉะนั้น ถ้าจะ เอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนา ก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆครบทุกอย่างที่จะให้คนดู
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อน และได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาศที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฏกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลังๆเพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาป รักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่
เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆมา กระจายไปทุกทิศทุกทางจนกระทั่งบัดนี้ เลยมีเนื้องอกก้อนโตๆอย่างมากมาย (พุทธศาสนาเนื้องอก เช่นพิธีรีตองต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกียวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆน้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกัน อย่างเคร่งครัด การบวชนาคก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆตลอดถึงการฉลองอะไรๆเหล่านั้น ว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆอย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป
พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช้พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว
แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนาก็ได้
ถ้ามองด้วนสายตานักศิลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศิลธรรม (Moral) เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญุกตเวที ความสามัคคี ความเป็นเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง และอะไรต่างๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มากหรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก
พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับนอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา) เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) ความไม่ใช้ตัวตน (อนัตตา) หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจธรรม
พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฎิบัติ ซึ่งได้แก่ ศิล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฎิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้จริง นี้เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา
เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคาย หรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก
พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย "ตาใน" คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นได้ประจักษ์ แล้วด้วยจิตใจของท่านเองไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล
หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ (Science) โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษา ค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง

"ถ้าหากว่าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิด หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (The Modern Scientific mind) แล้วศาสนานั้นก็คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง"
"ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาแห่งสากล ซึ่งล่วงพ้นจากความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า หรือสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย โดยมีหลักการที่จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความศรัทธาที่เกิดจากความสะสมประสบการร์ในทุกๆด้าน ทั้งในด้านธรรมชาติ และด้านจิตวิญญาณอย่างมีเหตุผล พุทธศาสนาเป็นคำตอบสำหรับหลักการนี้"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20) (ค.ศ. 1879-1955)

"ผมตกตะลึง และรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่พบว่า งานวิจัยของผมกลับกลายมาวางอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่ดูจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย เมื่อมันถูกนำไปเชื่อมสัมพันธ์กับพุทธรรรมคำสอนในศาสนาพุทธ"

จอฟฟรีย์ ชิว (Geoffrey Chew) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21)

"มนุษย์ได้ฝึกฝนความเฉลียวฉลาดรอบรู้ของตนเพื่อเอาชนะธรรมชาติภายนอกด้วยวิทยาศาสตร์ และประยุกต์วิทยา (Science and Technology) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ควรแสวงหาแสงสว่าง หรือสติปัญญาที่สูงลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีก พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ได้

ฟรานซิส สตอรี่ (Francis Story) (นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ)

สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนใน พระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล และมีคำสอนอีกมากที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยฌฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย
แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้นฯ
แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่างๆออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เรา เข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา มีผลดียิ่งกว่าไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศิลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติอะไร และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุกๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไรได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่อย่างเดียว
อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูชมน่าเลื่อมใส น่าบูชาเป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศิลบริสุทธิ์ มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต มี ความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์ เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น
เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม 3 ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่นๆ
การที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตนั้น มันทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่น่าเบื่อหน่าย หรือหวาดกลัวดังที่เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือถ้าปราศจากตัณหาต่างๆ โดยสิ้นเชิงแล้วคนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดทำอะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่โดยที่แท้จริงแล้ว ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คือผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บุคคลสิ่งของ หรืออะไรก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัว สกปรก เร่าร้อนให้แก่ผู้นั้นได้ อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา

ธรรมะในพระพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ นับได้ว่าเป็นอาหารจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แสวงหากันไปตามวิสัยปุถูชนนั้นก็ถูกแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึก และไม่ต้องการอาหารอย่างนั้น สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่น คืออาหารทางธรรมะ นับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจของผู้รู้ทั้งหลาย มีความสงบระงับในใจชนิดดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั่งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับนั่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งงไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ"

"กลางคืนอัดควัน" นั่น หมายถึงการนอนไม่หลับกระสับกระส่ายมือก่ายหน้าผาก คิดจะแสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่างๆที่ตนปราถนา อันเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ เพราะมันยังมือค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนอดนอนอัดควันอยู่ ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ก็ออกวิ่งไปตามความต้องการของ "ควัน" ที่อัดไว้เมื่อคืน นี่เรียกว่า "กลางวันเป็นไฟ" เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความกระหาย ไปตามอำนาจของกิเลส และตัณหา "กลางคืนอัดควัน" ร้อนรุ่มอยู่แล้วตลอดคืน "กลางวันยังเป็นไฟ" คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันแล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้ ถ้าคนเราต้อง "กลางวันอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" ไปจนตลอดชีวิต ถึงตายแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอดชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเน่าเข้าโลกไปทีเดียว โดยไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควันนั้นเสียเลย บุคคลชนิดนี้จะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไรควันหรือไฟก็จะลดน้อยลงเท่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุม เหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างๆกัน ก็เห็นรูปต่างๆกัน ได้ประโยขน์ต่างๆกัน แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช้ความกลัวที่โง่เขลา ของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏแปลกๆ แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูงด้วยสติปัญญา คือกลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็นๆ กันอยู่
พุทธศาสนาตัวแท้ ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอก เล่าตามพระไตรปิฎก หรือตัวพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งไม่ใช้ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฎิบัติด้วยกายวาจาใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอ หรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ด้วยตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตอง หรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวดา แต่ต้องเนื่องด้วยกาย วาจา ใจ โดยตรง คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน นี่แหละคือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เราจะต้องเข้าถึงให้จงได้ อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย

พุทธศาสนิก แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามศาสนาของผู้รู้ ที่ว่ารู้นั้น หมายถึงรู้อะไร? ก็คือรู้สิ่งทั้งปวงที่เป็นจริงนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง เราจึงต้องปฏิบัติจรเรารู้ได้เอง เมื่อรู้ถึงที่สุด แล้วไม่ต้องกลัว กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกความรู้นั้นทำลายให้สิ้นไป ความไม่รู้ (อวิชชา) ก็จะดับไปทันที ในเมื่อความรู้ได้เกิดขึ้นมาก ฉะนั้นข้อปฏิบัติต่างๆจึงมีไว้เพื่อให้วิชชาเกิด

สรุปความว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เมื่อเรารู้ว่า อะไรเป็นอะไรถูกต้องจริงๆแล้วไม่ต้องมีใครมาสอนเรา หรือมาแนะนำเรา เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆถูกต้องได้ด้วยตนเอง แล้วกิเลสก็จะหมดไปเอก เราเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งขึ้นมาทันที หรือที่ชอบเรียกกันว่า มรรคผลนิพพาน นี้ได้ด้วยตนเอง เพระาการที่เรามีความรู้อะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องถึงที่สุดอย่างแท้จริงเท่านั้น

รัตนตรัย หมายถึง สิ่งลำค่า 3 ประการ หลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศานิกชน 3 อย่าง

  1. พระพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
  2. พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความประพฤติ
  3. พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

 

ที่มา :: คู่มือมนุษย์ ผู้แต่ง พุทธทาสภิกขุ สำนักพิมพ์ ธรรมสภา