ความจริงอันประเสริฐ

หัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ที่อริยสัจจ์ 4 ประการ (จตฺตาริ อริยสจฺจานิ) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในปฐมเทศนาแก่สหายเก่าของพระองค์ คือ เบญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนะ (ปัจจุบันเรียกว่าสารนาถ) ใกล้เมืองพารณสี ในพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ดังที่มีหลักฐานในคัมภีร์ดั้งเดิมนั้น พระองค์ได้ทรงแสดงอริยสัจจ์ 4 ประการไว้เพียงย่นย่อ แต่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนารุ่นแรกๆมีหลายแห่งที่ได้อธิบายอริยสัจจ์ 4 ประการนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก พร้อมด้วยรายละเอียดมากมาย และหลายแง่หลายทาง ถ้าศึกษาอริยสัจจ์ 4 โดยอาศัยหลักฐานอ้างอิง และคำอธิบาย (จากคัมภีร์) เหล่านี้ เราก็จะได้เรื่องราวที่ดี และถูกต้องแห่งคำสอนอันเป็นแก่นของพระพุทธองค์ตรงตามคัมภีร์ดั้งเดิม

อริยสัจจ์ 4 ประการ คือ
1. ทุกข์
2. สมุทัย การเกิดขึ้น หรือสาเหตุแห่งทุกข์
3. นิโรธ ความดับทุกข์
4. มรรค ทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์

ทุกข์

แสดงว่าสิ่งที่ปรุงแต่งทั้งปวงเป็นทุกข์ นี้คือ บอกตรงๆว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไรนั่นเอง สิ่งทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ใจ แต่คนทั้งหลายไม่รู้ไม่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นความทุกข์จึงได้มีความอยากในสิ่งเหล่านั้น ถ้ารู้ว่ามันเป็นความทุกข์ ไม่น่าอยาก และไม่น่ายึดถือ ไม่น่าผูกพันตัวเองเข้ากับสิ่งใดแล้ว เขาก็คงจะไม่ไปอยาก ซึ่งตัวทุกข์นั้นเองหมายถึง ขันธ์ 5

สมุทัย (การเกิดขึ้น หรือสาเหตุแห่งทุกข์)

แสดงว่าความอยากด้วยอวิชชา (ความไม่รู้) นั้นเป็นต้นเหตุของความทุกข์ คนทั้งหลายก็ยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจว่าความอยากนี้เแหละ เป็นตัวต้นเหตุของความทุกข์ใจจึงได้พากันอยากนั่นอยากนี้ร้อยแปดพันประการ เพราะไม่รู้ว่าความอยากด้วยอวิชชา (ความไม่รู้) นั้นคืออะไร

นิโรธ (ความดับทุกข์)

แสดงว่านิโรธ หรือนิพพาน คือการดับความอยากเสียได้สิ้นเชิง เป็นความไม่มีทุกข์ คนทั้งหลายยิ่งไม่รู้จักกันใหญ่ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่อาจลุถึงได้ในที่ทั่วๆ ไปคือ พบได้ตรงที่ความอยากมันดับลงไปนั่นเอง นี่คือไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่มีใครปราถนาที่จะดับความอยาก ไม่ปราถนานิพพาน เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือนิพพาน

มรรค (ทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์)

วิธีดับความอยากนั้นๆเสีย ไม่มีผู้ใดเข้าใจว่า การทำอย่างนี้เป็นวิธีดับความอยากไม่มีใครสนใจเรื่อง อริยมรรคอันมีองค์ 8 ประการซึ่งดับความอยากเสียได้ ไม่รู้จักอะไรเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง อะไรควรขวนขวายอย่างยิ่ง จึงไม่สนใจกับเรื่องอริยมรรคของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุดในบรรดาวิชาความรู้ของมนุษย์เราในโลกนี้ นี่แหละ คือการไม่รู้อะไรเป็นอะไรอย่างน่าหวาดเสียว

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า อริยสัจจ์ 4 ประการ นั้นคือ ความรู้ที่บอกให้เห็นชัดว่า อะไรเป็นอะไรอย่างครบถ้วน นั่นเอง เรื่องความอยากนั้นบอกให้รู้ว่า เมื่อไปเล่นกับมันจึงเป็นความทุกข์ใจขึ้นมา เราก็ยังขืนไปเล่นกับความอยากจนเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่แหละเป็นความโง่เขลาที่ไม่รู้อะไรเป็นอะไรตามที่เป็นจริงจึงปฎิบัติผิดทุกอย่าง จะมีถูกบ้างก็เล็กน้อยเกินไป และมักจะถูกตามความหมายของคนที่มีกิเลสตัณหา ซึ่งถือกันว่าถ้าได้อะไรมาตรงตามความต้องการของตนแล้ว ก็จัดว่าเป็นการปฎิบัติถูก อย่างนี้ทางธรรมไม่ถือว่าถูกเลย
ทีนี้ลองเอาหลักทางบาลี ที่เรียกว่าหัวใจพระพุทธศาสนา หรือคาถาของพระอัสสชิมาพิจารณากัน เมื่อพระอัสสชิได้มาพบกับพระสารีบุตรก่อนได้บวช มีอยู่อย่างไรโดยย่อที่สุด พระอัสสขิได้ตอบว่า "สิ่งเหล่าใดเกิดมาเพราะมีเหตุทำให้เกิด พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้น เพราะหมดเหต :ุ พระมหาสมณ เจ้าตรัสอย่างนี้" นี้คือการบอกว่าสิ่งทั้งปวงมีเหตุปรุงแต่งขึ้นมา มันดับไม่ได้จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน นี้เป็นการชี้ให้รู้ว่า อย่าไปเห็นอะไรเป็นตัวตนที่ถาวร เพราะมีแต่สิ่งที่เกิดจากเหตุ และงอกงามต่อไปตามอำนาจของเหตุ และจะดับไปเพราะสิ้นเหตุ เพราะฉะนั้น ปรากฎการณ์ทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุ เป็นความเลื่อนไหลไปไม่มีหยุด เพราะอำนาจของธรรมชาติ ที่มีลักษณะไม่หยุดปรุง สิ่งต่างๆ จึงปรุงแต่งกันไม่หยุด และเปลี่ยนแปลงไม่หยุด

พระพุทธศาสนาบอกให้เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน มีแต่การปรุงแต่งกันไป และมีความทุกข์รวมอยู่ในนั้นด้วย เพราะความไม่มีอิสระ จึงต้องเป็นไปตามอำนาจของเหตุ จะไม่มีความทุกข์ก็ต่อเมื่อหยุด จะหยุดได้ก็เมื่อดับเหต เพื่อไม่ให้มีการปรุง ข้อนี้เป็นการบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่ผู้มีสติ ปัญญาจะบอกได้ นับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาจริงๆ การบอกนี้คือบอกให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นแต่เรื่องของมายา อย่าไปหลงยึด ถือจนชอบ หรือชังมันเข้า เมื่อทำจิตใจให้เป็นอิสระได้จริงๆ แล้วนั่นแหละ คือการออกมาเสียได้จากอำนาจของเหตุ เป็นการดับเหตุเสัยได้ เราก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะความชอบ หรือความชังอีกต่อไป

อีกทางหนึ่งนั้น อยากจะชี้ให้สังเกตดูถึง วัตถุประสงค์แห่งการออกผนวชของพระพุทธเจ้า ว่าท่านออกผนวชโดยความประสงค์อันใด พระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงข้อนี้มีอยู่อย่างชัดเจนว่าพระองค์ออกผนวชเพื่อแสวงหาว่า อะไรเป็นกุศล คำว่า "กุศล" ของพระองค์ในที่นี้ หมายถึง ความฉลาด ความรู้ที่ถูกต้องถึงที่สุด โดยเฉพาะก็คือรู้ว่าอะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความไม่มีทุกข์ อะไรเป็นวิธีให้ถึงความไม่มีทุกข์ อะไรเป็นความไม่มีทุกข์ อะไรเป็นวิธีให้ถึงความไม่มีทุกข์ เพราะถ้ารู้อย่างถูกต้องสิ้นเชิงจริงๆแล้ว ก็คือความฉลาด หรือความรู้ถึงที่สุด ฉะนั้น ความรู้อะไรเป็นอะไรอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์นั่นแหละคือ ตัวพุทธศาสนา

 

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ผู้แต่ง พระธรรมปิฎก สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2546 หน้า 155
คู่มือมนุษย์ ผู้แต่ง พุทธทาสภิกขุ สำนักพิมพ์ ธรรมสภา
แก่นพุทธศาสน์ ผู้แต่ง พุทธทาสภิขุ สำนักพิมพ์ ธรรมสภา
พระพุทธเจ้าสอนอะไร แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดย ร.ศ.ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และคณะ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2547