logos.gif (7470 bytes)วิชาสหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

rural4.gif (12907 bytes)

1. กระบวนการศึกษา มี 3 กระบวนการที่เน้นในการศึกษา :-

1.1 การศึกษาชุมชน (COMMUNITY LEARNING)

นิสิตจะได้สัมผัสจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชุมชนชนบท เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภาษา วัฒนธรรม การประกอบอาชีพ สุขภาพ การศึกษา รวมทั้งลักษณะทาง

กายภาพ การจัดตั้งของบ้านเรือน โรงเรียน วัด ป่าชุมชน เป็นต้น

วิธีการศึกษาที่นิสิตควรจะต้องเรียนรู้ ตั้งแต่การใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน การสื่อสารสนทนาการสังเกตการณ์ การวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง วิธีการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการแสวงหาข้อมูลที่ให้ได้

รวดเร็วและใกล้เคียงกับความจริง

1.2 การเรียนรู้ด้วยตนเอง (SELF-DIRECTED LEARNING)

เป็นกระบวนการที่ให้นิสิตมีเสรีภาพในการใช้ความรู้ ความสามารถในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยนิสิตต้องรับผิดชอบในการกำหนดการดำเนินงานของตนเอง รับผิดชอบต่อกลุ่ม ประเมินตนเองรวมทั้งการสรุปประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง

สิ่งที่นิสิตจะได้จากกระบวนการนี้ คือ ทำให้นิสิตมีประสบการณ์ในการเรียนรู้แบบสืบสอบ (INQUIRY PROCESS) กล่าวคือ :-

1.2.1 คิดอย่างวิทยาศาสตร์ (SCIENTIFIC THINKING)

เมื่อนิสิตได้พบเห็นปัญหาหรือรับรู้สถานการณ์บางอย่างในชุมชน จะเกิดข้อสังเกตหรือข้อสงสัย ซึ่งจะนำไปสู่การใคร่ครวญ ไตร่ตรอง หาสาเหตุ หาเหตุผลเพื่อมาอธิบายปรากฏการณ์ (อันเป็นที่มาของการตั้งสมมติฐาน) ตลอดจนการแสวงหาข้อมูลมาสนับสนุนหรือลบล้างข้อสงสัย และนำไปสู่การหาวิธีการแก้ปัญหาได้

1.2.2 มีวิจารณญาณและจิตวิพากษ์ (CRITICAL THINKING) การเรียนรู้ด้วยตนเองของนิสิตย่อมทำให้นิสิตมีอิสระในความคิดของตนเอง การตั้งข้อสงสัย การหาเหตุผลตลอดจนการวางแผน การแสวงหาข้อมูลโดยนิสิตเอง จะเป็นการเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของนิสิตที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

1.3 การทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม (GROUP OR TEAM LEARNING)

นิสิตต่างคณะต่างสาขาวิชาจะได้ศึกษาการทำงานร่วมกันโดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่นิสิตถนัด ดังเช่น นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์อาจจะให้ข้อมูลปัญหาการใช้ยาของชุมชน นิสิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์อาจจะเล่าถึงสถานการณ์การเลี้ยงดูสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ของชาวบ้าน ขณะที่นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์อาจจะให้ภาพของการใช้ภาษาถิ่นของชุมชน นิสิตจากคณะรัฐศาสตร์อาจจะให้ความเข้าใจการจัดองค์กรในชุมชน ฯลฯ การแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ช่วยเพิ่มการเรียนรู้ชุมชนให้แก่นิสิตอย่างรอบด้าน

กระบวนการที่จะใช้ในการทำงานเป็นทีม นอกจากการถือเป็นภาระหน้าที่ในการแบ่งปันความรู้นิสิตต้องพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ตั้งแต่การจัดสรรงาน การแบ่งบทบาทหน้าที่เป็นประธานและสมาชิกกลุ่ม การเคารพยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การวางกฎเกณฑ์ การวางแผนงาน การร่วมเก็บข้อมูล การสรุปกิจกรรม การประเมินตนเอง การประเมินกลุ่มเพื่อพัฒนางาน ประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมทีมงาน จะทำให้นิสิตสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ซึ่งต้องพบปะผู้คนหลายวงการ หลายอาชีพ