logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

ตัวอย่างรายงานภาคสนามปีการศึกษา 2540 อ.บ้านฝาง ขอนแก่น

รายงานการศึกษาภาคสนามของกลุ่มที่ 1

เรื่อง

"วิถีชีวิตของชาวบ้านโนนเขวา"

แนวทางการดำเนิชีวิตหรือวิถีชีวิตของชาวบ้านนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทั้งอาชีพหลัก อาชีพเสริม และอาชีพอิสระอื่น ๆ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตแต่ละวัน ทั้งในการทอผ้า จับสัตว์ ประกอบอาหาร และเรื่องสาธารณสุขของชาวบ้าน ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพ และการบริการด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อกับชีวิตตั้งแต่เกิด จนถึงประเพณีประจำในแต่ละเดือนของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามที่ชาวบ้านถือปฎิบัติต่อ ๆ กันมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต หรือแนวทางในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดโดยลำดับ ดังนี้

1. การประกอบอาชีพ

1.1 อาชีพหลัก ทำนา

1.2 อาชีพเสริม

1.3 อาชีพอิสระอื่น ๆ

2. ขนบธรรมเนียมประเพณี

2.1 ประเพณีในแต่ละเดือน

2.2 ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต

3. การสาธารณสุข

3.1 การดูแลรักษาสุขภาพของชาวบ้าน

3.2 การบริการด้านสาธารณสุข

4. เครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้านที่ใช้ในการดำรงชีวิต

1.1 วัตถุประสงค์

1.1.1 เพื่อศึกษาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของชาว บ้านโนนเขวา

1.1.2 เพื่อให้มีโลกทัศน์เกี่ยวกับวิถีชีวิตในชนบทที่กว้างขึ้น

1.1.3 เพื่อให้เกิดแนวคิดประยุกต์ในบทเรียนที่ได้เรียนมา

1.1.4 เพื่อเรียนรู้ถึงวิธีการนำความรู้จากแต่ละสาขามาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วม กัน และในการศึกษาพื้นที่

1.1.5 เพื่อสรุปปัญหาในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน และเสนอแนวทางแก้ไข

1.2 ขอบเขตของการศึกษา

ในการศึกษามุ่งเน้นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวา ใน 4 ด้านคือ

1.2.1 ด้านอาชีพ เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการประกอบอาชีพ และปัญหาจากการประกอบ อาชีพของชาวบ้าน

1.2.2 ด้านประเพณี และวัฒนธรรม เพื่อให้เข้าใจแนวคิดที่สืบทอดต่อกันมา

1.2.3 ด้านสุขภาพ และสาธารณสุขของหมู่บ้าน เพื่อให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของชาว บ้าน

1.2.4 ด้านเครื่องใช้ไม้สอย เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการดำรงชีวิตที่แตกต่างจากชีวิตในตัว เมือง

1.3 วิธีการศึกษา

การศึกษาจะแบ่งบุคคลเพื่อศึกษาในแต่ละด้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลในเรื่องที่ต้องการมากที่สุดในระยะเวลาอันจำกัด โดยแต่ละกลุ่มมีแนวทางในการศึกษา ดังนี้

1.3.1 ด้านอาชีพ ศึกษาถึงลักษณะอาชีพ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการ ประกอบอาชีพ

1.3.2 ด้านประเพณี และวัฒนธรรม ศึกษาโดยสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านเกี่ยวกับ แนวคิด และรายละเอียดของประเพณี ตลอดจนสอบถามชาวบ้านถึงแนวคิด และความเชื่อในประเพณี และสิ่งลึกลับต่าง ๆ

1.3.3 ด้านสุขภาพ และสาธารณสุข ศึกษาโดยสอบถามจากผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสถานีอนามัย และโรงพยาบาล เกี่ยวกับการ ดูแลรักษาสุขภาพของชาวบ้าน

1.3.4 ด้านความรู้เกี่ยวกับเครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้าน ศึกษาโดยสอบถามชาวบ้านถึงวิธี การใช้งานเกี่ยวกับเครื่องใช้พื้นบ้านของแต่ละบ้าน

เมื่อรวบรวมข้อมูลได้ตามที่ต้องการแล้ว จึงนำข้อมูลของทุกคนมาสรุป และอภิปราย วิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขต่อไป

1.4 ผลการศึกษาภาคสนาม

1.4.1 ข้อมูลจำเพาะของหมู่บ้านโนเขวา

หมู่บ้านที่ศึกษาคือ หมู่บ้านโนนเขวา หมู่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เป็นที่ราบและทุ่งนา ที่ดินเป็นดินเค็มในพื้นที่ประมาณ 325 ไร่ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านบึงสวาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดบ้านหนองบัว ทิศตะวันตกติดกับบ้านแดงใหญ่ และทิศใต้ติดทุ่งนาซึ่งติดต่อกับเขตอำเภอพระยืน ชาวบ้านโนนเขวาแต่เดิมเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในหมู่บ้านบึงสวาง แล้วย้ายมาที่หมู่บ้านโนเขวาเมื่อประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันชาวบ้านกว่า 50 หลังคาเรือน รวมประชากรทั้งสิ้น 215 คน เป็นชาย 215 คน และเป็นหญิง 106 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ผู้ใหญ่บ้าน คือ "พ่อชาลี สีดาน้อย"

1.4.2 การประกอบอาชีพ

1.4.2.1 อาชีพหลัก

อาชีพทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ เป็นวิถีชีวิตที่มีมาตั้งแต่อดีตที่อดทนต่อความยากลำบาก โดยเฉพาะบนผืนแผ่นดินที่มีความเค็มโดยธรรมชาติ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเข้าช่วย ดังนี้

1) แหล่งเงินเพื่อการลงทุน

ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

ธกส. นับเป็นแหล่งเงินกู้ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของชาวบ้าน เพราะเป็นสถาบันที่ให้สินเชื่อระยะสั้น และระยะปานกลางแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร เป้าหมายหลักของธนาคารก็เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ซึ่งครอบคลุมการกสิกรรม การประมง การเลี้ยงสัตว์ และให้สินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ ทั้งนี้เพราะมิได้มีเป้าหมายหลักเพื่อแสดงกำไร แต่เพียงให้มีกำไรพออยู่รอด และในการกู้ยืมเงินนั้น ชาวบ้านจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 5-6 คน และเซ็นสัญญาค้ำประกันซึ่งกันและกัน

การกู้ยืมเงินในระยะสั้นนั้น ครั้งแรกจะได้เงินกู้ประมาณ 10,000 บาท และมีกำหนดส่งเงิน และดอกเบี้ยคืนภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจำนวนเงินกู้จะเพิ่มขึ้นทุกปี อยู่ในระหว่าง 35,000 - 50,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 11 บาท/ปี หากพ้นกำหนดส่งเงินคืนแก่ ธกส. แล้ว จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 ส่วนการกู้เงินระยะปานกลางนั้นจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะได้เงินกู้ระหว่าง 100,000 - 200,000 บาท และมีกำหนดส่งเงินภายในระยะเวลา 4-5 ปี

สหกรณ์คนแก่

จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้านเพื่อให้เงินกู้ยืมแก่ชาวบ้านครั้งละ 10,000 บาทขึ้นไป โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 และเมื่อครบ 1 ปี แล้วจะต้องคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยมีคณะกรรมการที่เป็นกลุ่มสมาชิกเข้าดูแล และจัดการกิจการดังกล่าว

การกู้ยืมเงินจากนายทุนในหมู่บ้าน

การกู้ยืมเงินจากนายทุนในหมู่บ้าน ชาวบ้านมักจะกู้ยืมเมื่อมีเหตุจำเป็น และสำคัญเร่งด่วน เช่น เมื่อต้องการเงินจำนวนมากไปใช้หนี้ ธกส. ให้ทันตามกำหนดระยะเวลา ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะเป็นเพราะในปีนั้นเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย การกู้ยืมเงินจากชาวบ้านด้วยกันนี้มักจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง

รายได้จากการที่บุตรหลานไปทำงานอื่น ๆ

ในปัจจุบันชาวบ้านรุ่นใหม่ มักเดินทางไปทำงานต่างถิ่น เมื่อถึงฤดูทำนาจึงจะกลับมาทำงานที่บ้านแต่ก็มีหลายครอบครัวที่บุตรหลานไม่กลับมา เพราะทำงานได้เงินเดือนดีกว่าจึงเพียงแค่ส่งเงินกลับมาให้ทางบ้านเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนา

2) แหล่งน้ำเพื่อการทำนา

ปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการทำนาก็คือ "น้ำ" เพราะน้ำจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ในปีนั้นจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากเพียงใด หากไม่มีน้ำหรือน้ำไม่เพียงพอก็ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และอาจตายในที่สุด ซึ่งหากไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ก็ย่อมนำความเดือดร้อนมาให้ชาวบ้าน เพราะจะไม่มีแม้กระทั่งข้าวที่จะเก็บไว้กินเอง และขายเพื่อให้มีรายได้มาประทังชีวิต แหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้านโนนเขวา ได้แก่

น้ำฝน

น้ำฝน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ เพราะการทำนาต้องอาศัยน้ำมาก หากฝนตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านก็จะสามารถทำนาได้ตามปกติ และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตรงตามเป้าหมาย หากปีใดฝนดี ต้นข้าวเจริญงอกงามก็จะทำให้ในปีนั้นชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะนอกจากจะมีข้าวเก็บไว้กินทั้งปี และเก็บไว้สำหรับทำพันธุ์ข้าวในปีต่อไป แล้วยังสามารถขายได้กำไรอีก หากตลาดขณะนั้นราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี

บ่อน้ำเพื่อการเกษตร

บ่อน้ำเพื่อการเกษตร เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันกับน้ำฝน เพราะหากปีใดฝนแล้ง ชาวบ้านที่มีบ่อน้ำก็สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ปล่อยลงในนาข้าว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นกล้ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และควรจะได้รับความเอาใจใส่ดูแลอย่างมาก ภาวะฝนแล้งนี้ ต้นข้าวเจริญเติบโตแต่อาจจะไม่เต็มที่นัก หากบ้านใดไม่มีบ่อน้ำ ต้นข้าวก็ย่อมตายไป และเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ในที่สุด ทั้งนี้ ในหมู่บ้านโนนเขวา และหมู่บ้านใกล้เคียง มีบ่อน้ำเพื่อการเกษตรรวมกันทั้งสิ้น 11 บ่อ

3) แรงงาน

ในอดีตที่ผ่านมา การทำนาจะอาศัยแรงงานในครอบครัว และเมื่อมีการดำนา หรือเกี่ยวข้าว มักจะได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน แต่ในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องเปลี่ยนจากการช่วยเหลือด้วยน้ำใจเป็นการจ้างงาน ซึ่งอยู่ในอัตราวันละ 110 - 150 บาท/คน/วัน พร้อมด้วยการเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งอัตราค่าจ้างแรงงานนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนแรงงานที่มี และจำนวนผู้จ้างแรงงานในขณะนั้น หากผู้ใดอยากให้นาของตนเสร็จเร็วก็จะจ้างในอัตราที่สูงกว่าผู้อื่น ทำให้แรงงานหันไปทำงานกับผู้นั้นก่อน

4) พันธุ์ข้าว

แบ่งเก็บจากผลผลิตข้าวในปีที่ผ่านมา

ในแต่ละปี เมื่อมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านจะแบ่งข้าวเปลือกส่วนหนึ่งเก็บไว้ทำพันธุ์ข้าว เพื่อหว่านกล้าในปีต่อไป ซึ่งจะเก็บไว้ประมาณ 6 - 10 ถัง/ครัวเรือน ที่มีที่นาไม่มากนัก

รับจ้างเกษตรอำเภอ

เมื่อทางราชการต้องการทดลองพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ก็จะนำมาใช้ชาวบ้านทดลองปลูก และเมื่อปีใดชาวบ้านไม่มีพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้เอง เนื่องจากฝนแล้งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย ทางอำเภอก็จะจัดพันธุ์ข้าวให้แต่ละครัวเรือนประมาณ 2.5 กิโลกรัม ครัวเรือนใดที่มีที่นามากแล้วพอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้บ้าง ก็จะไม่ได้รับพันธุ์ข้าว ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนไปรับมาจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ลักษณะของการจัดพันธุ์ข้าวให้ชาวบ้านนี้เป็นการให้ชาวบ้านยืม เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ให้นำไปคืนที่ฉางข้าวประจำหมู่บ้าน เพื่อประโยชน์ในการทำนาปีถัดไป โดยฉางข้าวประจำหมู่บ้านจะมีคณะกรรมการซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านดำเนินกิจกรรมอยู่ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน

5) ปุ๋ยบำรุงข้าว

ปุ๋ยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเร่งผลผลิตข้าวให้เจริญเติบโต และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น และทำให้ข้าวเม็ดสวยขึ้น การหว่านปุ๋ยขึ้นอยู่กับดิน เช่น ดินทราย และดินเหนียว จะใช้ปุ๋ยในลักษณะต่างกัน หากที่นาของครอบครัวใดเป็นนาจืด(นาที่ผ่านการทำนามานานมาก) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ปุ๋ย ปัจจุบันราคาประมาณกระสอบละ 350 บาท และจากการสอบถามปุ๋ยที่ชาวบ้านนิยมใช้ ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย และปุ๋ยตรากระต่าย เพราะเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดี ซึ่งการที่จะหว่านปุ๋ยมาก หรือน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับเงินทุนของแต่ละครอบครัวด้วย

กองทุนปุ๋ยประจำหมู่บ้าน เป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตพื้นที่ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการให้ยืมปุ๋ยไปใช้ก่อน เมื่อถึงฤดูกาลหว่านปุ๋ยแล้ว จากนั้นจึงนำเงินมาคืนแก่กองทุน ซึ่งเป็นเงินที่ขายข้าวได้นั่นเอง เงินที่ชาวบ้านนำมาคืนจะถูกรวบรวมเพื่อนำไปซื้อปุ๋ยมาเพื่อนำไว้ใช้ในปีต่อไป กองทุนปุ๋ยประจำหมู่บ้านนี้ มีชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน และผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน

6) เทคโนโลยี่เกี่ยวกับการทำนา

รถไถนาเดินตาม

ในอดีตการไถนาจะใช้แรงงานจากควายเป็นสำคัญ เพราะยังไม่มีเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ต่อมารถไถนาเดินตามได้ถูกนำมาใช้แทนที่ควายด้วยเหตุผลที่ว่า มีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน ใช้เครื่องยนต์และน้ำมันเป็นองค์ประกอบ และเกิดความรวดเร็วในการทำงาน ปัจจุบันนี้จะเห็นว่า แต่ละครอบครัวล้วนใช้รถไถนาเดินตามทั้งสิ้น หากครอบครัวใดไม่มีรถไถนาเดินตามเป็นของตนเองก็จะไปว่าจ้างครอบครัวอื่นที่มี ซึ่งอัตราค่าจ้างคิดไร่ละประมาณ 130 - 150 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของดินว่าไถยากหรือง่าย หากเป็นการไถ และคราดด้วยก็จะมีอัตราแพงขึ้น ซึ่งแล้วแต่ชาวบ้านจะตกลงกัน สำหรับราคาของรถไถนาเดินตามในปัจจุบัน อยู่ที่ราคาคันละ 48,000 - 50,000 บาท ซึ่งชาวบ้านต้องขายควายทั้งคอกเพื่อให้ได้เงินมาซื้อ บางครอบครัวยังต้องกู้ยืมเงินเพิ่มอีกด้วย ส่วนควายนั้น ชาวบ้านโนนเขวาเลี้ยงควายไว้เพื่อจำหน่าย เพราะได้ราคาดี ควายที่โตเต็มที่มีราคาตัวละประมาณ 7,000 บาท หากเป็นตัวผู้ที่ตัวโต ๆ และมีรูปร่างสวยงามก็จะมีราคาถึง 10,000 บาท

เครื่องนวดข้าว

ในอดีต เมื่อต้องการทำให้เมล็ดข้าวเปลือกออกจากรวง ต้องใช้วิธีการทำรวงข้าวให้เป็นมัด และหาไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร จำนวน 2 อัน ใช้เชือกร้อยปลายทั้งสองผูกเชือกกับไม้ไว้ให้แน่น แล้วนำไปคล้องกับมัดข้าว จากนั้นยกขึ้นตีกระทบกับไม้ เพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวง ซึ่งต้องใช้แรงงานคนหลายคนช่วยกัน

แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านโนนเขวาใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ คือ เครื่องนวดข้าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ที่จัดหามาให้ชาวบ้านโดยไม่คิดมูลค่า ทั้งหมู่บ้านมีเครื่องนวดข้าว 1 เครื่อง และมีผู้รับผิดชอบคือ "นายลาย อุ่นผาง" มีหน้าที่นำเครื่องนวดข้าวไปรับจ้างตามที่นาที่ชาวบ้านมาบอกให้ไป วิธีใช้เครื่องนวดข้าวก็เพียงแต่นำข้าวทั้งรวงใส่ลงไปในเครื่องแล้วเมล็ดข้าวก็จะออกมา ซึ่งคิดค่าจ้างตามปริมาณข้าวเปลือกในอัตราปี๊ปละ 2 บาท เงินค่าจ้างทั้งหมดจะถูกนำมาแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

- แบ่งเป็นค่าน้ำมัน สำหรับเครื่องนวดข้าว

- ค่าซ่อมบำรุงเครื่อง (หากไม่เสียหายมาก ผู้รับผิดชอบจะซ่อมด้วยตนเอง)

- ค่าตอบแทนผู้รับผิดชอบดูแลเครื่อง (จะทำงานนี้เฉพาะในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต)

เครื่องสีข้าว

เครื่องสีข้าว เป็นเทคโนโลยี่ที่มีมานานแล้ว สามารถสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารโดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งต่างกับสมัยก่อนที่ต้องใช้แรงงานคนโดยใช้ครกกระเดื่องตำข้าว ที่กินเวลานานในหมู่บ้านโนนเขวา มีเครื่องสีข้าว 1 เครื่อง ซึ่งเจ้าของซื้อมาด้วยเงินส่วนตัว และรับจ้างสีข้าวโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นปลายข้าว แกลบ และรำ ทั้งนี้ผู้สีข้าวจะไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน

ขั้นตอนการทำนา

การทำนา จะเริ่มขึ้นประมาณเดือนมิถุนายน ของทุกปี และสิ้นสุดประมาณเดือนธันวาคม ซึ่งมีขั้นตอนพอสังเขป ดังนี้

เดือนมิถุนายน : เริ่มไถนาก่อนที่ฝนจะตก เรียกว่า "ไถแห้ง" เพื่อเป็นการฆ่าหญ้า และหลังจากที่ฝนตกลงมาแล้ว ก็จะมีการไถอีกครั้ง แล้วจากนั้นจึงหว่านกล้าในที่นาเพียง 2 - 3 ร่อง หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตแล้วจึงถอนกล้า ซึ่งระหว่างที่รอต้นกล้าเจริญเติบโตจะต้องบำรุงรักษาโดยให้ปุ๋ยและดูแลให้น้ำ เพื่อไม่ให้ต้นกล้าแห้งตาย นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมร่องนาเพื่อรอการปักดำไปพร้อม ๆ กันด้วย

เดือนสิงหาคม : เริ่มปักดำ โดยใช้ต้นกล้า 1 - 2 ต้นปักลงไปในนาแล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดลง ให้ต้นเอนไปทางเดียวกัน หลังจากดำนาเสร็จแล้วก็มีการหว่านปุ๋ย และคอยดูแลน้ำในนาให้พอเหมาะ ระวังโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และอาจหว่านปุ๋ยอีกครั้ง เมื่อข้าวเริ่มอุ้มท้อง แล้วรอให้ข้าวออกรวง

เดือนธันวาคม : เริ่มเกี่ยวข้าว แล้วนำมาตากแดดไว้ประมาณ 3 วัน เพื่อไม่ให้ข้าวอับชื้น จากนั้นนำข้าวทั้งรวงไปใส่เครื่องนวดข้าว ซึ่งจะได้ข้าวเปลือก แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าว ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังเล็ก ๆ ไว้สำหรับเก็บข้าวเปลือกตลอดปี

การทำนาในแต่ละปีจะเสร็จเรียบร้อยตามปกติ หรือล่าช้า ก็ขึ้นอยู่กับว่าในปีนั้น ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ หากฝนตกลงมาล่าช้าก็จะทำให้การเริ่มต้นทำนา และเก็บเกี่ยวล่าช้าตามไปด้วย การทำนาของชาวบ้านโนนเขวานั้น ทำเป็นนาปี คือ ทำนาเพียงครั้งเดียวใน 1 ปี

ปัญหา และอุปสรรคของการทำนา

ก. โรค และปัญหาที่เกิดในนาข้าว

* เพลี้ยจั๊กจั่น เกาะอยู่ตามโคนต้น กัดกินและทำลายลำต้นเสียหาย

* เพลี้ยกระโดด เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ เจาะอยู่ในลำต้นข้าว เริ่มมีเมื่อข้าวตั้งท้องใน เดือนกันยายน พอเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มเข้าเจาะแล้ววางไข่ เป็นการทำลายทาง ลำเลียงอาหารของต้นข้าวทำให้เจริญเติบโตไม่ได้

* หนอนกระทู้คอรวง ระบาดตอนข้าวออกรวง ไชกินข้างในทำให้คอรวงหัก

* หนอนกอ กินรากในดิน และโคนต้น

* โรคไหม้คอรวง ลักษณะของโรคคือ รวงข้าวงอเข้าหาลำต้นโดยที่ข้าวยังไม่แก่ ทำให้เมล็ดข้าวลีบ ไม่โตและไม่อวบ

* หนู่กินข้าวในนา จากการศึกษาพบว่า หนู 1 ตัว สามารถทำลายต้นข้าวในนาได้ วันละประมาณ 5 ต้น/ วัน โดยการกัดกินต้นข้าว

ข. ปัญหาจากภัยธรรมชาติ

* ฝนแล้ง นอกจากจะทำให้ข้าวไม่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ยังทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ข้าวตายแล้ง ซึ่งมีลักษณะข้าวไม่เต็มเม็ด ตอนข้าวแก่ก็จะแห้ง

ค. ปัญหาจากปุ๋ย

* ชาวบ้านคาดว่า ปุ๋ยบางชนิดก็มีส่วนทำให้เกิดโรค

* ปุ๋ยมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น

ง. ปัญหาอื่น ๆ

* ขาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการทำนาเป็นของตนเอง เช่น รถไถนาเดินตาม และเครื่องนวดข้าว ทำให้ต้องไปจ้าง และบางครั้งต้องรอคิวเป็นการเสียเวลา

* ราคาข้าวตกต่ำในบางปี และมีราคาแพงในปีที่มีฝนแล้ว ซึ่งชาวบ้านเก็บเกี่ยวผล ผลิตได้ไม่พอเพียงที่จะบริโภคเอง ต้องซื้อข้าวรับประทาน

ความช่วยเหลือจากทางราชการ

* ธกส. ให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเอกชน

* เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และศัตรูพืช ผู้ใหญ่บ้านจะรายงานไปยังเกษตร อำเภอ และทางอำเภอจะส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำ และแนวทางการแก้ไข

* สำนักงานเกษตรอำเภอมอบพันธุ์ข้าวแก่ชาวบ้าน ในกรณีที่ชาวบ้านขาดแคลน และต้องการทดลองพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ

* สำนักงานเกษตรอำเภอ ยังให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องพ่นยา และยากำจัดศัตรู พืช

* การทำนาในแต่ละปีกว่าจะสำเร็จลงได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มี ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งได้รับความเสียหาย ด้านอื่น ๆ ก็ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนด้วย กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ด ชาวบ้านต้องใช้หยาดเหงื่อ และแรงกายแรงใจอย่างมาก ต้องอดทนกับความ ลำบากอันหลีกเลี่ยงไม่ได้

* วิถีชีวิตด้านการประกอบอาชีพทำนาของชาวบ้านโนนเขวา ในปัจจุบันมีการ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตดันเป็นผลสืบเนื่องจากการมีวิทยาศาสตร์ และเทคโน โลยี่สมัยใหม่เข้ามาถึงหมู่บ้านนั่นเอง

1.4.2.2 อาชีพเสริม

นอกจากชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวาจะทำนาเป็นอาชีพหลักแล้ว ยังประกอบอาชีพเสริมอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพหลัก ทำให้ชาวบ้านจึงต้องคิดหาวิธีที่จะเสริมรายได้ในฤดูแล้ง หรือเมื่อว่างเว้นจากการทำนา ซึ่งจากการสำรวจพบว่าอาชีพเสริมสามารถทำรายได้ให้แก่ชาวได้เป็นอย่างดี โดยแบ่งอาชีพเสริมออกเป็น 2 ชนิด คือ

1) อาชีพเสริมที่ส่งเสริมการเกษตร

เลี้ยงสัตว์

ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเลี้ยงไก่ และเป็ดพันธุ์พื้นเมืองไว้บริเวณใต้ถุนบ้าน ซึ่งมักจะเลี้ยงไว้เป็นอาหารมากกว่าเพื่อขาย ชาวบ้านจะซื้ออาหารจำพวกหัวอาหารสำหรับสัตว์ที่มีอายุน้อย และจะซื้ออาหารจำพวกข้าว และสำหรับสัตว์ที่โตแล้ว โดยจะหาซื้อได้ตามท้องตลาด หรือตามโรงสีประมาณกิโลกรัมละ 10 บาท นอกจากชาวบ้านจะใช้เนื้อของสัตว์ที่กล่าวมาใช้เป็นอาหารแล้ว ยังรับประทานไข่ และนำอุจาระไปทำปุ๋ย และนำไปเป็นอาหารปลาอีกด้วย วิธีการเลี้ยงของชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะกั้นคอกบริเวณใต้ถุนบ้าน เวลาตอนกลางวันก็จะปล่อยให้มันไปหากินเองบ้าง คอยให้อาหารบ้าง ส่วนตอนกลางคืนจึงจะต้อนกลับเข้าคอกตามเดิมอีก และคอยแยกสัตว์ที่เป็นโรคให้ออกจากสัตว์ตัวอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ปัญหาของการเลี้ยงสัตว์จำพวกนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคทั่ว ๆ ไป ซึ่งมักพบได้ในฤดุร้อน วิธีการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ชาวบ้านจะซื้อยามาฉีดเอง เพราะพวกเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมา ชาวบ้านบางกลุ่มจะฟังวิธีการเลี้ยง และวิธีการแก้ไขจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สัตว์ที่นิยมเลี้ยงอีกชนิดคือ สุกร ซึ่งจะนำมาจากฟาร์มเกษตรกรรม โดยส่วนใหญ่จะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร มีเพียงบางครัวเรือนเท่านั้นที่เลี้ยงไว้เพื่อนำพันธุ์ หรือไว้เพื่อขาย โดยจะมีโรงฆ่าสัตว์มารับซื้อ ชาวบ้านจะขายสุกรในราคาตามน้ำหนัก ถ้ามีน้ำหนักมากก็ราคาดี คือ ประมาณ 600 - 1,200 บาท นอกจากนี้ ยังนำอุจจาระหมักเป็นปุ๋ยอีกด้วย ส่วนอาหารถ้าเป็นลูกสุกร จะใช้จำพวกหัวอาหาร เพื่อให้ลูกสุกรเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าเป็นสุกรที่เจริญเต็มที่จะใช้อาหารจำพวกข้าว รำ ผักกระถิน ผักบุ้ง ซึ่งจะหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่ว ๆ ไป

วิธีการเลี้ยงสุกรนั้น ชาวบ้านจะกั้นคอกไว้ให้ และจะให้อาหารวันละ 2 มือ ตอนกลางวันจะฉีดน้ำให้คลายร้อน โดยสังเกตอาการของสุกรเมื่อร้อน คือ หอบ ปัญหาที่สำคัญของการเลี้ยงสุกร คือ โรคท้องร่วงของสุกรระบาด ซึ่งมักพบในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน ทำให้สุกรตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้าน จะป้องกันโดยคอยฉีดวัคซีนให้สุกรเป็นระยะ ๆ และคอยดูแลเอาใจใส่สุกรอย่างสม่ำเสมอ

ทำสวน

ในฤดูฝน ชาวบ้านบางกลุ่มประกอบอาชีพทำสวนหลังว่างเว้นจากการทำนา โดยส่วนใหญ่จะปลูกจำพวกผลไม้ เช่น มะม่วง มะพร้าว มะนาว แตงโม กล้วย มะละกอ ฝรั่ง ฯลฯ ชาวบ้านจะอาศัยน้ำที่อยู่ในบ่อที่คณาจารย์จุฬาฯ สร้างไว้ให้ ถ้าครอบครัวใดไม่มีน้ำก็จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ชาวบ้านจะใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก รายได้จากการประกอบอาชีพทำสวนนี้ไม่ค่อยดีนัก เพราะมักจะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งราคาปุ๋ยเคมีที่แพงด้วย

2) อาชีพเสริมอื่น ๆ

รับจ้าง

อาชีพรับจ้าง จากการสำรวจจะสามารถแบ่งได้อีกเป็น อาชีพรับจ้างในจังหวัด และอาชีพรับจ้างในต่างจังหวัด

* อาชีพรับจ้างในจังหวัด ได้แก่ การรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมเย็บรองเท้า โรงงานเย็บแหอวน ที่ชาวบ้านรับจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรมเพราะได้ค่าแรงสูง คือ ประมาณ 3,000 - 4,000 บาท/เดือน ปัญหาของการรับจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรมมักจะเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมักเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสารเคมีที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้นจะเป็นปัญหาที่มาจากอุบัติเหตุจากการทำงาน

* อาชีพรับจ้างในต่างจังหวัด ได้แก่ รับจ้างทำไร่อ้อย ในจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม และอุทัยธานี โดยมีรถมารับชาวบ้านวัยหนุ่มสาวที่หมู่บ้าน และเมื่อหมดฤดูการทำไร่อ้อย ก็จะมีรถมาส่งเช่นกัน โดยมากจะไปตอนช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม

ทอผ้า

ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะทอไว้ใช้เอง ไม่ใช่เพื่อขาย โดยจะเลี้ยงไหมเองตั้งแต่การนำตัวไหมไปบ่มในจ่อ (อุปกรณ์สำหรับบ่มตัวไหมให้ตัวไหมออกไข่) มีผ้าคลุมไว้ป้องกันแมลงวันเข้าไปไข่ จากนั้นจะนำไข่ที่ตัวไหมฟักนั้นไปใส่ไว้ในกระด้ง ต่อมาไข่จะกลายเป็นตัวบี้ แล้วก็จะเลี้ยงตัวบี้ไปเรื่อย ๆ จนโต ในระหว่างนี้ต้องใช้ผ้าคลุมไว้ตลอดเวลา เมื่อตัวบี้โตพอเป็นรังไหม (สีเหลือง) จะนำรังไหมไปต้ม ซึ่งรังไหมที่นำไปต้มนั้นจะมีทั้งที่ใช้ได้ และไม่ได้ กล่าวคือ รังไหมที่ใช้ได้จะมีตัวบี้อยู่ข้างใน เวลานำไปต้มจะจม แต่รังไหมที่ใช้ไม่ได้จะไม่มีตัวบี้อยู่ข้างในเวลานำไปต้มจะลอย ดังนั้น รังไหมที่ใช้ได้จะเป็นรังไหมที่จมเท่านั้น พอต้มเสร็จแล้วก็จะนำมาสาวไหม เส้นไหมที่ได้จะมีสีเหลือง ถ้าต้องการสีอื่นก็สามารถนำสีย้อมผ้าไปย้อมได้

จักสาน

ในฤดูแล้ง ชาวบ้านที่มีฝีมือในเรื่องจักสานสามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง โดยนำไผ่จากต้นไผ่มาจักตอก (การทำลำไผ่ให้เป็นเส้นเล็ก ๆ พร้อมที่จะสาน) ถ้าชาวบ้านไม่มีต้นไผ่ก็สามารถไปซื้อได้ที่ตลาด ไผ่ 1 ลำมีราคาประมาณ 30 บาท การเลือกไม้ไผ่ที่จะนำมาสานนั้น ต้องเลือกไม้ไผ่ที่แก่ คือ ไผ่ที่มีลักษณะสีเขียว เพราะหากถ้าเอาไม้ไผ่อ่อน ๆ มาสาน มอดอาจจะมากินได้ ส่วนใหญ่จะสานเป็นลายสอง และในการสานจะใช้น้ำพรมให้ทั่ว เพื่อให้ไม้ไผ่อ่อนง่ายต่อการสาน

กลุ่มผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นพวกชาวบ้านในหมู่บ้าน เพราะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระด้ง ตะกร้า จ่อ ไซ หวด ฯลฯ ถ้าบ้านไหนมีฝีมือดีก็จะมีชาวบ้านมาสั่งทำกันมากมาย ราคาเฉลี่ยประมาณใบละ 50 บาท

ค้าขาย

มีร้านค้าอยู่ 2 ร้านในหมู่บ้านโนนเขวา สินค้าส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการอุปโภคบริโกค เช่น ผงซักผ้า สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ขนม เครื่องดื่มต่าง ๆ ฯลฯ โดยจะมีรถมาส่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนสินค้าที่ขายดีจะเป็นพวกไส้ยาสูบ และเครื่องดื่ม

1.4.2.3 อาชีพอิสระอื่น ๆ

ช่างก่อสร้าง

* ผู้ให้สัมภาษณ์ : เจริญ คำสุด

* ความเป็นมาในการมาประกอบอาชีพ : เริ่มจากไปรับจ้างทำงานด้านก่อสร้างในเมือง เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ สะสมประสบการณ์เรื่อยมา จนทำงานรับเหมาก่อสร้างบ้านด้วยตนเองได้ประมาณ 7 ปีแล้ว

* ลักษณะของงาน : รับสร้างบ้าน และซ่อมแซมบ้าน โดยสร้างตามแบบที่เจ้าของบ้านนำมาให้ ซึ่งแบบนี้จะผ่านการรับรองจากวิศวกรเรียบร้อยแล้ว การทำงานจะรับเหมาสร้างบ้านแต่ละหลัง ทำงานกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3 คน ค่าแรงขึ้นกับขนาด และแบบของบ้าน โดยเฉลี่ยประมาณ 30,000 - 50,000 บาท/หลัง รายได้จะแบ่งเท่า ๆ กันทั้ง 3 คน สำหรับค่าวัสดุก่อสร้างเจ้าของบ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบ

* เวลาทำงาน : เริ่มออกงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นประมาณ 07.00 - 17.00 น. ทุกวันจนบ้านเสร็จ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ คือ ตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึงเป็นเดือน

* รูปแบบบ้านส่วนใหญ่ที่นิยมสร้าง ได้แก่ การสร้างห้องน้ำเป็นส้วมซึมไว้ในตัวบ้าน นิยมก่อผนังปูนปิดมากกว่ามีใต้ถุน แยกครัวออกเป็นห้องต่างหาก ไม่นิยมมีชานเรือนนอกตัวบ้าน เพราะไม้แพง และเสียพื้นที่ ส่วนที่เก็บน้ำกินน้ำใช้ยังนิยมใช้โอ่งอยู่

ข. เครื่องใช้ไฟฟ้า

* ผู้ให้สัมภาษณ์ : สมภพ ช่วยหาร

* ความเป็นมาในการมาประกอบอาชีพ : หลังจบการศึกษาในระดับ ปวช. จากเทคโนโลยี่ภาคขอนแก่น ได้ไปฝึกงานเป็นช่างซ่อมประมาณ 1 ปี โดยไม่ได้รับค่าจ้าง จากนั้นทำงานเป็นลูกจ้างประมาณ 4 ปี ได้เงินเดือนประมาณ 3,000 บาท/เดือน สะสมประสบการณ์ จนกระทั่งมาเปิดร้านรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นของตัวเองประมาณกว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5,000 บาท/เดือน

* ลักษณะของงาน : รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องเสียง และโทรทัศน์ของชาวบ้านในหมู่บ้าน ด้วยเพราะเป็นช่างซ่อมคนเดียวในหมู่บ้าน วันหนึ่ง ๆ จึงมีงานซ่อมประมาณ 2 - 3 เครื่อง จากการที่มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ จึงทำให้มีรายได้ประจำค่อนข้างแน่นอนแต่เมื่อถึงฤดูฝน ก็จะมีหยุดไปทำนาบ้างเพราะมีรายได้ที่ดีกว่า

หมายเหตุ - สำหรับช่างซ่อมเครื่องยนต์ในหมู่บ้านโนนเขวาไม่มี ถ้ามีเครื่องยนต์เสียจะไปซ่อมที่บ้านหนองบัว บึงสวาง บ้านแดง หรือในตัวเมืองขอนแก่น

ช่างตัดผม

* ผู้สัมภาษณ์ : สงวนศักดิ์ ละลี

* ความเป็นมาในการมาประกอบอาชีพ : เริ่มจากการฝึกงานกับเพื่อน ประมาณ 2 เดือน กลับมาเปิดร้านเป็นของตัวเองเป็นร้านแรกในหมู่บ้าน ใช้เงินลงทุน ตกแต่งร้าน ซื้ออุปกรณ์ประมาณ 60,000 บาท ทำมาแล้วประมาณ 2 ปี

* ลักษณะของงาน : รับตัดผม ทำผมทั้งชายและหญิง ตั้งแต่ 06.00 - 18.00 น. ทุกวัน นอกจากนี้ยังรับแต่งหน้า และให้เช่าชุดแต่งงานอีกด้วย แล้วมีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3,000 บาท/เดือน แต่เมื่อถึงฤดูฝน ก็จะไปทำนาตามปกติ ปิดร้านไว้ชั่วคราว

หมอลำ

* ผู้ให้สัมภาษณ์ : กฤตเวทิน สิงห์ด้วง หรือนามแฝงว่า มนต์สวรรค์ มนต์กวี อยู่วงหมอลำ "สองหนึ่งสาม" แสดงหมอลำมาประมาณ 10 ปีแล้ว

* ความเป็นมา : หมอลำ เป็นการแสดงเป็นศิลปะพื้นบ้านของภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งใหญ่อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น การประกอบอาชีพนี้จึงต้องมีใจรักเป็นอันดับแรก แล้วมาสมัครเป็นหมอลำกับหัวหน้าวง หัวหน้าจะให้กลอนร้องไปฝึกที่บ้าน เมื่อพอร้องได้จึงมาร่วมฝึกกับลง จนได้ร่วมแสดงกับวงจริง รายได้หรือค่าตัวที่ได้จะได้ตามงานที่แสดงขึ้นกับความสามารถ และประสบการณ์ ประมาณคืนละ 500 บาท ส่วนเวลาว่างระหว่างที่ไม่มีงานอาจทำงานด้านอื่น เช่น แต่งกลอนไว้วงหมอลำอื่น ๆ หรือแต่งประกวดในโอกาสต่าง ๆ เพื่อหา รายได้พิเศษ เป็นต้น

* ลักษณะของงาน : ในวงหมอลำหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วย หัวหน้าวง ผู้แสดง นักดนตรี และหางเครื่อง รวมประมาณ 100-200 คน มักเริ่มมีงานในช่วงเทศกาลออกพรรษา ถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ในราวเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนออกพรรษา จะนัดซ้อมการแสดงกันเพื่อใช้แสดงไปตลอดทุกงานจนปิดวง แต่อาจมีเพิ่มเติมบทใหม่ ๆ ให้ทันสมัยบ้าง จึงจะซ้อมกันใหม่ซึ่งช่วงนี้จะมีผู้สมัครใหม่มาสมัครด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นหางเครื่องมาแทนคนเก่าที่ออกไปงานแสดงในแต่ละงานจะเริ่มแสดงประมาณ 3 ทุ่มจนถึงเช้า เรื่องที่แสดงจะเป็นละครชีวิตเป็นส่วนมาก เพื่อให้เข้ายุคสมัย แตกต่างจากสมัยก่อนที่จะเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ

* การติดต่อวงหมอลำไปแสดงในแต่ละงานขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ โดยเจ้าภาพหรือเจ้าของงานจะมาติดต่อที่สำนักงานที่มีแหล่งใหญ่ในขอนแก่น คือ บริษัท ขอนแก่นธุรกิจ และ บริษัท สยามธุรกิจบันเทิง หรืออาจจะติดต่อกับหัวหน้าวงโดยตรงก็ได้ อัตราค่าจ้างจะคิดเป็นงาน มีหลายอัตราแล้วแต่วง และระยะทางของสถานที่ที่ต้องไปแสดง สำหรับวง "สองหนึ่งสาม" มีอัตราค่าจ้างประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน จำนวนงานเมื่อปีที่ผ่าน ๆ มา เฉลี่ยประมาณ 90 งาน/ ปี แต่ปีนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี มีเพียงประมาณ 30 งานเท่านั้น

1.4.3 ขนบธรรมเนียมประเพณี

1.4.3.1 ประเพณีประจำของหมู่บ้านโนนเขวา

จากการศึกษาเกี่ยวกับประเพณีประจำปีของหมู่บ้านโนนเขวาพบว่า มีบางประเพณีที่ชาวบ้านถือปฎิบัติสืบกันมาที่มีชื่อที่ไม่คุ้นหูเท่าใดนัก ซึ่งจากการสอบถามกลุ่มผู้สูงอายุทำให้ทราบถึงที่มา ลักษณะและขั้นตอนของประเพณีในแต่ละเดือน นอกจากนี้ ยังพบว่า ชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวายังคงนับเดือนตามแบบไทยแต่เดิม คือ เริ่มต้นเดือน 1 ตั้งแต่เดือนธันวาคม การสอบถามโดยส่วนใหญ่จะมุ่งสอบถามกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มเป้าหมายวัยอื่น ๆ เพราะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้เรื่องประเพณีได้เป็นอย่างดี

ก. ประเพณีในช่วงเดือนธันวาคม และเดือนมกราคม

* บุญปีใหม่ คือ การทำบุญตักบาตรในเช้าวันปีใหม่ที่วัดในหมู่บ้านหรือใกล้เคียง และการบิณฑบาตเงิน ตลอดจนการสังสรรค์ของกลุ่มหนุ่มสาวในคืนส่งท้ายปีเก่า

ข. ประเพณีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

* บุญข้าวจี่ คือ การทำบุญโดยนำ "ข้าวจี่" ไปถวายพระ การทำบุญข้าวจี่นั้นเชื่อว่าเริ่มมาจากการที่ "นางพสุนี" ซึ่งเดินทางไปตักน้ำ และนำข้าวเหนียวย่างไฟไปเป็นอาหารเพียงก้อนเดียว ระหว่างทางได้พบพระภิกษุรูปหนึ่ง จึงนำข้าวเหนียวย่างไฟ หรือข้าวจี่นี้ ใส่บาตรให้กับพระภิกษุรูปนั้นด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา ดังนั้น นางจึงได้ขึ้นสวรรค์ เพราะผลบุญที่นางได้ทำนี้เอง และเนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่า การทำบุญเช่นนี้จะทำให้ตนสามารถขึ้นสวรรค์ได้บ้าง จึงสืบต่อการทำบุญข้าวจี่นี้มาจนถึงปัจจุบัน

* บุญแจกข้าว คือ การทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว 2-3 ปี เหมือนการทำบุญฌาปนกิจ โดยก่อนหน้าที่จะจัดงาน เจ้าภาพจัดงานส่งบัตรเชิญไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อให้มาช่วยงานการทำบุญแจกข้าวนี้จะมีพิธี 3 วันด้วยกัน เช้าวันแรกจะนำห่อข้าวต้มที่จัดแบ่งออกเตรียมไว้ส่วนแรกแจกให้กับแขกที่มาช่วยงาน และอีกส่วนหนึ่งนำไปถวายพระที่วัด นอกจากนั้นยังมีการทำบุญให้กับกระดูกผู้ที่ล่วงลับไป โดยนิมนต์พระมาสวดให้กับกระดูก ซึ่งขุดขึ้นมาจากป่าช้า หรือจากวัดในวันที่ 2 เจ้าภาพจะทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน และในตอนกลางคืน อาจมีการจัดมหรสพโดยเจ้าภาพจะเป็นผู้จัดการจ้างหมอลำ หรือนักร้องมาจัดการแสดง และเช้าวันสุดท้าย เจ้าภาพจะเลี้ยงพระที่วัดในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง

ค. ประเพณีในช่วงเดือนมีนาคม

* บุญพระเวส หรือ บุญมหาชาติ เป็นการทำบุญเพื่อบูชาพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า โดยเลี้ยงพระเพลในช่วงเช้า หลังจากนั้นจะนิมนต์พระจากวัดต่างหมู่บ้านมาเทศน์มหาชาติที่วัดในหมู่บ้าน ประมาณ 3 กัณฑ์หรือมากกว่า แต่ในปัจจุบันการนิมนต์พระจะน้อยลง ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการเปิดเทปแทน จากนั้นในช่วงเย็น จะมีการแห่ผ้ามหาชาติ เป็นการแห่จากทุ่งนานอกหมู่บ้านเข้ามาวนรอบหมู่บ้านแล้วจึงแห่เข้าวัด ในขบวนแห่อาจมีการให้คนแต่งตัวอย่างสวยงามเป็นพระเวสสันดร พระนางมัทรี รวมทั้งกัณหา ชาลี ร่วมด้วย เปรียบเสมือนการเชิญรพระเวสสันดรเข้าเมืองตามเนื้อเรื่องในมหาชาติ จุดประสงค์ของการแห่นี้ คือการขอฝน และเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก ๆ หลังจากนั้น ในวันรุ่งขึ้นชาวบ้านจะทำการตักบาตร เป็นการสิ้นสุดพิธี

ง. ประเพณีในช่วงเดือนเมษายน

* ประเพณีวัสงกรานต์ ทุกวันที่ 13 หรือ 14 เมษายนของทุกปี ชาวบ้านจะเชิญพระพุทธรูปในวัดมาจากที่สูงตั้งแต่เช้า แล้วนำไปประดิษฐานกลางลานวัด จากนั้น ชาวบ้านก็จะนำน้ำอบหรือน้ำหอมมาสรงน้ำพระที่วัด และมีการสวดพระพุทธมนต์ในตอนเย็น ในวันที่ 15 เมษายน จะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ โดยที่ลูกหลานจะมาขอขมาผู้มีอาวุโสในหมู่บ้านก่อนที่จะตักน้ำรดมือผู้อาวุโสเหล่านั้น ซึ่งผู้อาวุโสก็จะให้ศีลให้พรกับลูกหลาน นอกจากนี้จะมีการเล่นสาดน้ำเหมือนทั่ว ๆ ไปตลอดระยะเวลา 3 วัน ซึ่งผู้ที่ถูกสาดน้ำจะไม่ถือโทษโกรธเคืองผู้ที่มาสาด

จ. ประเพณีในช่วงเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน

* บุญบั้งไฟ หรือ บุญเบิกบ้าน เป็นการเสี่ยงทายปริมาณน้ำในแต่ละปีว่ามีมาก หรือน้อย ด้วยการยิงบั้งไฟขึ้นฟ้า ปริมาณของน้ำจะขึ้นอยู่กับความสูงของบั้งไฟ ดังนั้น ถ้ายิงบั้งไฟไม่ขึ้น ก็หมายความว่า ในปีนั้นจะแห้งแล้ง ผลผลิตที่ได้ก็จะน้อย นอกจากการเสี่ยงทายแล้วยังมีการแข่งขันยิงบั้งไฟด้วย โดยใช้ความสูงที่สามารถยิงบั้งไฟขึ้นไปได้เป็นเกณฑ์ตัดสินแพ้ชนะ ถ้าบั้งไฟของผู้เข้าแข่งขันคนใดยิ่งไม่ขึ้น ผู้เป็นเจ้าของก็จะถูกจับโยนลงไปในน้ำโคลน นอกจากนั้นยังมีการประกวดความสวยงามของบั้งไฟ ซึ่งมีผู้แข่งขันในประเภทนี้ไม่มากนักในหมู่บ้านโนนเขวานี้ จะไม่ค่อยทำบั้งไฟกันเอง เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีช่างรับทำ บั้งไฟส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ในประเพณีนี้มักซื้อมาจากจังหวัดยโสธร สำหรับวิธีการทำบั้งไฟนั้น เริ่มจากการหากระบอกไม้ไผ่ หรือท่อพลาสติกที่สามารถหดตัวเมื่อยิงบั้งไฟขึ้นฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แล้ววัดความยาวของบั้งไฟ โดยใช้เชือกพันกระบอกไม้ไผ่หรือท่อพลาสติก 2 รอบ จากนั้นนำกำมะถัน และถ่านที่บดจนละเอียดมาผสมกันแล้วอัดลงไปในกระบอกไม้ไผ่หรือท่อนั้นจนแน่น โดยจะอัดเข้าไปประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของความยาวที่ได้ จากนั้นตัดส่วนที่ไม่ได้อัดกำมะถัน และถ่านออก แล้วใช้ดินเหนียวปิดไว้

ฉ. ประเพณีในช่วงเดือนกรกฎาคม

* บุญเข้าพรรษา จัดขึ้นในวันข้างแรม 8, 9 หรือ 10 ค่ำ แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 ถึง 2 ครั้ง คือ มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ก็จะจัดการทำบุญเข้าพรรษา 2 ครั้ง ในตอนเช้าของวันจัดงานบุญ ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรที่วัด และในตอนเย็นชาวบ้านจะไปเวียนเทียนที่วัดในหมู่บ้านจำนวน 3 คืน สำหรับเทียนพรรษานั้น ชาวบ้านจะทำขึ้นเอง โดยนำขี้ผึ้งมาละลายแล้วเทใส่แม่พิมพ์ ซึ่งเป็นท่อขนาดใหญ่พอสมควร และใช้ใยฝ้ายทำเป็นไส้เทียน

ช. ประเพณีในช่วงเดือนสิงหาคม

* บุญข้าวประดับดิน คือ การทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งเป็นการทำบุญเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์ การทำบุญนี้ชาวบ้านจะนำห่อข้าวต้ม ห่อข้าวเหนียวเล็ก ๆ ถั่ว งา ฟักทอง มันแกว ปลา ใส่กระทงใบตอง นำไปวางไว้ตามรั้ววัดในหมู่บ้าน แล้วทำการเรียกชื่อพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วให้มารับประทานอาหารที่นำมาให้

ซ. ประเพณีในช่วงเดือนกันยายน

* บุญข้าวสาก คือ บุญข้าวสารท คือ การทำบุญให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น เดียวกับบุญข้าวประดับดินในเดือนสิงหาคม โดยจัดในวันแรม 15 ค่ำ การเตรียมงานของการทำบุญนี้ ชาวบ้านจะทำกระยาสารท คือ การนำข้าวเปลือกมาคั่วแล้วร่อนเปลือกออกมาคลุกกับน้ำตาลมะพร้าว และถั่วละสงคั่ว แล้วนำไปห่อใบตอง นอกจากนั้นยังนำปลา ข้าวนึ่ง พริก กล้วย อ้อย เกลือ ใส่รวมเข้าไปกับกระยาสารท แล้วใช้ไม้กลัดใบตอง ตอนเช้าวันงาน ชาวบ้านจะไปที่วัดรอพระฉันเพลเสร็จจึงนำห่อใบตองที่เตรียมไว้มาแขวนไว้ตามต้นไม้ จากนั้นประมาณบ่ายโมงจึงเก็บห่อใบตองแล้วนำไปทิ้งไว้ตามทุ่งนา เพื่อให้วิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้วมาเก็บ เป็นการบูชาเพื่อให้ที่นาอุดมสมบูรณ์ด้วย

ฌ. ประเพณีในช่วงเดือนตุลาคม

* บุญออกพรรษา คือ การทำบุญในวันออกพรรษา บางบ้านในคืนก่อนวันออกพรรษาจะมีการจัดงานสังสรรค์ จากนั้นในตอนเช้าชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัดในหมู่บ้าน หรือวัดในหมู่บ้านใกล้เคียง และฟังเทศน์ที่วัดในหมู่บ้านใกล้เคียง เนื่องจากพระในวัดของหมู่บ้านมีเพียงรูปเดียว และท่านจะไม่สามารถเทศน์ให้ชาวบ้านฟังได้ สำหรับการตักบาตรเทโวที่จะจัดในวันออกพรรษานั้น จะจัดกันนาน ๆ ครั้ง

ญ. ประเพณีในช่วงเดือนพฤศจิกายน

* ลอยกระทง เป็นการขอขมาพระแม่คงคา การลอยกระทงจะจัดที่หนองน้ำภายในหมู่บ้าน ซึ่งน้ำในหนองจะเต็มตลิ่งในเดือนพฤศจิกายน โดยวัสดุที่ใช้ทำกระทงนั้น บางบ้านยังคงมีการใช้โฟม บางบ้านใช้แกนงิ้วนำมาขดเป็นวงกลมจนแน่น แล้วปักธูปเทียนตรงกลาง และบางบ้านก็จะใช้หยวกกล้วย ส่วนบ้านที่มีฐานะยากจน ก็จะใช้เพียงกาบกล้วยตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แล้วปักธูปเทียนเท่านั้น

ประเพณีต่าง ๆ ที่จัดกันในแต่ละเดือนนี้ จะมีกลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบเตรียมงาน จัดหาอุปกรณ์ รวมทั้งซักชวนให้ชาวบ้านเข้าร่วมงาน ประเพณีเหล่านี้นับว่าเป็นสิ่งชี้วัดจิตใจของคนในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านยังคงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย ตลอดจนความเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ประเพณีที่ดีงามเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะสูญหายไป เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มที่เข้าร่วมงาน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ในขณะที่กลุ่มหนุ่มสาวนั้น จะเข้าร่วมงานบ้างตามแต่โอกาส ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเพณีเหล่านี้ก็จะสูญหายไปกับกลุ่มคนรุ่นเก่า โดยที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจหรืออาจไม่มีเวลาที่จะสืบสานสิ่งดีงามเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป รวมทั้งสังคมที่เห็นความสำคัญทางวัตถุมากกว่าความสำคัญของจิตใจที่ค่อย ๆ มีอิทธิพลในหมู่บ้านทีละน้อย ๆ ก็มีส่วนทำให้ประเพณีต่าง ๆ ค่อย ๆ สูญหายไป เพราะคนจะเริ่มต้องการผลตอบแทนจากการเข้าช่วยเหลือทำงานต่าง ๆ แทนการช่วยเหลือด้วยน้ำใสใจจริง

1.4.3.2 ประเพณี และความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต

ก. ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด และความเชื่อ

* เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะมาทำการให้ศีลให้พรแก่เด็กโดยการเป่า หัว ผูกแขน และทำพิธีการบายศรีสู่ขวัญ

มีการโกนผมไฟเด็กแรกเกิดที่มีอายุประมาณ 1-2 เดือน (การโกนผมไฟ คือ การ โกนผมเด็กแรกเกิดออกหมดทั้งหัว โดยมีความเชื่อว่าผมชุดแรกของมนุษย์นั้นเป็น สิ่งที่ติดตัวมาจากชาติปางก่อน ซึ่งเป็นของไม่ดี เป็นของร้อน ฉะนั้นเมื่อโกนผมเด็ก ออกแล้วชาวบ้านจึงนำผมนั้นไปไว้ในที่เย็น ๆ เช่น ไปแช่น้ำ เป็นต้น)

ข. ประเพณีการหมั้น

* การหมั้น คือ การที่ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงมาตกลงกัน โดยฝ่ายชายอาจนำสิน สอดมาให้ฝ่ายหญิงในภายหลังก็ได้ สำหรับครอบครัวที่มีฐานะฝ่ายชายอาจนำ แหวน หรือสร้ายคอมาสวมให้ฝ่ายหญิงเพื่อแสดงการหมั้นหมาย

ค. ประเพณีการแต่งงานและความเชื่อ

* ชายและหญิงที่กำลังจะแต่งงาน จะถูกห้ามมิให้ไปไหนมาไหนคนเดียว ถ้าไปไหนก็ จะต้องมีคนไปเป็นเพื่อน เพราะมีความเชื่อว่าไปไหนคนเดียวจะถูกภูติผีปีศาจมาฉุด ไปทำให้ชายหรือหญิงผู้นั้นไม่บริสุทธิ์

* การแต่งงานจะมีขั้นตอนคือ ก่อนวันแต่งงานตอนเย็นจะมีการนิมนต์พระมาเทศน์ วันแต่งงานตอนเช้าจะมีการจัดเลี้ยงแขกที่เชิญมา ส่วนช่วงเย็นจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ คู่บ่าวสาว จากนั้นจะนิมนต์พระหรือพราหมณ์มากล่าวให้พร และข้อเตือนใจต่าง ๆ แล้วทำพิธีแต่งงานให้ ภายหลังจากที่ทำพิธีเสร็จจะให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว ป้อนไข่ต้มให้ กันและกัน โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้รักกันยั่งยืน ไม่ทอดทิ้งกัน และไม่พูดคำ หยาบต่อกัน

ง. ประเพณีเกี่ยวกับการเจ็บป่วย และความเชื่อ

* การรำผีฟ้า (ผู้ที่นับถือผีฟ้า) เมื่อบ้านใดเกิดมีคนเจ็บป่วยจะมีการอัญเชิญผีฟ้ามารำ รอบเตียงคนไข้ เชื่อว่า ผีฟ้า ซึ่งเป็นผีที่คุ้มครองมนุษย์จะสามารถทำให้คนไข้หาย ป่วยได้

* บางครอบครัวเมื่อมีคนถูกสุนัขกัด จะมีการเชิญ "หมอเหยียบ" มาทำการเหยียบคน ที่ถูกสุนัขกัด โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้สุนัขตัวนั้นตาย

จ. ประเพณีการอยู่ไฟ และความเชื่อ

* ประเพณีการอยู่ไฟ คือ การที่ผู้หญิงที่เพิ่งจะคลอดลูกใหม่ ๆ อยู่กินใกล้ ๆ กับกอง ไฟเป็นเวลาประมาณ 12 วัน โดยจะกินแต่น้ำร้อน และกินอาหารเป็นข้าวกับก้อน เกลือ ส่วนเวลานอนนั้นจะนอนโดยหันหน้าท้องไปทางด้านกองไฟ เนื่องจากมี ความเชื่อว่า การอยู่ไฟจะทำให้กระดูกแข็งแรง ผิวหนังเต่งตึง เลือดลมดี และที่ สำคัญคือ ช่วยให้มดลูกกลับเข้าที่ได้อย่างรวดเร็ว

ฉ. ประเพณีการบวช

* ชายที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ถ้าต้องการจะบวชจะต้องบวชนาคก่อน โดยนาคจะ ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดเรียนรู้พระธรรมจนกว่าจะได้เครื่องครองนาคเสียก่อน แล้ว จึงจะบวชเป็นพระได้ โดยจะมีขั้นตอน คือ เมื่อเข้าไปอยู่ในวัดจนได้เครื่องครอง นาคแล้ว นาคก็จะทำการขอขมาผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านก่อน ภายหลังจากนั้น จะมีการ จัดขบวนแห่นาคเข้าไปในวัดเพื่อทำการอุปสมบทเป็นพระต่อไป

ช. ประเพณีเกี่ยวกับการตาย และความเชื่อ

* พิธีศพ เมื่อมีคนเสียชีวิต จะมีการนิมนต์พระมาสวดทำพิธีศพ เมื่อทำพิธีศพเสร็จ แล้ว จะเก็บศพไว้ในบ้านของผู้ตาย รอจนกว่าญาติของผู้ตายมาครบ จึงจะนำศพขึ้น เมรุ ซึ่งเป็นเมรุชั่วคราวในป่าช้า เพื่อทำพิธีการเผาศพ ภายหลังจากที่เผาเสร็จ ญาติ ของผู้ตายก็จะนำกระดูกที่ได้จากการเผาไปฝังไว้ที่ส่วนต่าง ๆ ของวัด เช่น กำแพง วัด เป็นต้น

* บางครอบครัวมีความเชื่อว่า ถ้ามีคนตายในบ้านใดไม่ควรนำฟืน ถ่าน หรือ เชื้อ พลิงต่าง ๆ เข้าบ้านนั้น เพราะจะทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเกิดเจ็บป่วยล้มตายตาม ไปด้วย

* ถ้าบ้านใดที่คนในบ้านตายแล้ว ผู้ป่วยคนนั้นถูกผีเข้า จะต้องแก้โดยการขุดกระดูก ของผู้ตายขึ้นมาทำพิธีสวด

* นอกจากนี้การแต่งงาน การสร้างบ้าน การทำบุญ หรืองานมงคลต่าง ๆ จะต้องมีการ ดูฤกษ์ดูยามว่าควรจะทำ วัน เดือน ปีที่เท่าไร โดยจะดูตามการเคลื่อนที่ของดวงดาว ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น วันที่เป็นคืนเดือนมืด หรือข้างแรม จะถือว่าเป็นวันเวลาที่ไม่ ดี ไม่เหมาะต่อการทำพิธีงานมงคล แต่จะถือวันที่เป็นคืนวันเพ็ญหรือข้างขึ้น เป็น ช่วงเวลาที่ดีที่เหมาะจะจัดงานมงคลต่าง ๆ

ประเพณีที่ดีงามในอดีต

ประเพณีที่ดีงามที่ชาวบ้านของบ้านโนนเขวา ได้ทำมาในอดีต แต่ได้ลบเลือนหายไปในปัจจุบัน ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ก. ประเพณีการทำขวัญข้าว ในวันเพ็ญเดือนสาม โดยก่อนที่ชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวเข้ามาไว้ในยุ้งฉางของตน จะมีการเชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว และนำไบยอ ใบคุณมาเสียบไว้ข้างยุ้งฉาง โดยมีความเชื่อว่าเป็นการเชิญพระแม่โพสพมาบันดาลให้มีข้าวกินอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี

ข. ประเพณีการลงแขก ในอดีตเมื่อบ้านใดต้องการจะเกี่ยวข้าว เพื่อนบ้านก็จะมาช่วยเกี่ยวข้าวโดยไม่คิดค่าตอบแทน เพราะถือว่าเป็นน้ำใจที่มอบให้แก่กัน แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้ถูกละเลยไปเนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เงินสำคัญมากกว่าน้ำใจ ฉะนั้นเมื่อบ้านใดต้องการจะเกี่ยวข้าวก็จะต้องใช้เงินจ้างแรงงานของคนอื่นแทน ทำให้ประเพณีนี้ลบเลือนหายไปในที่สุด

ค. ประเพณีการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนปลูกข้าว ในอดีตก่อนที่จะทำการปลูกข้าว ชาวบ้านจะนำอาหาร ผลไม้ และเครื่องใช้ต่าง ๆ มาถวายแก่เจ้าที่ เพื่อขอให้เจ้าที่ช่วยให้ปลูกข้าวได้งอกงาม มีผลผลิตมากพอกิน และนำไปขาย โดยถ้ายังไม่ทำพิธี่นี้ชาวบ้านจะยังไม่ปลูกข้าว แต่สมัยนี้เนื่องจากมีความเจริญมากขึ้น ชาวบ้านที่อยากจะปลูกข้าวได้เยอะ ๆ จึงไม่ทำพิธีนี้เนื่องจากคิดว่า เป็นการเสียเวลา และทำให้ปลูกข้าวไม่ทันบ้านอื่น ๆ

ง. ประเพณีการเคารพพระแท่นหลังสงกรานต์ ในอดีตหลังจากวันสงกรานต์ชาวบ้านจะเดินทางไปเคารพพระแท่น (ตำบลบ้านเหล่า) สรงพระธาตุ (ตำบลบ้านเหล่า) และเคารพพระยืน (อำเภอพระยืน) เป็นประเพณีประจำปี แต่ในปัจจุบันถูกละเลย เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป

จะเห็นได้ว่า มีประเพณีที่ดีงามในอดีตของชาวบ้านที่ลบเลือนสูญหายไปหลายอย่าง เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีประเพณีที่ดีงามอีหลาย ๆ อย่างที่มีเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเพณีทั่ว ๆ ไปของประเทศไทยในปัจจุบัน จึงอยากขอให้ทุก ๆ คนช่วยกันรักษาประเพณีที่ดีงามที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน จึงอยากขอให้ทุก ๆ คนช่วยกันรักษาประเพณีที่ดีงามที่เหลืออยู่ในปัจจุบันให้คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป

1.4.4 การสาธารณสุข

1.4.4.1 สุขภาพกับการดูแลรักษาสุขภาพของชาวบ้านโนนเขวา

จากการสุ่มตัวอย่างชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวา และสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพ และการดูแลรักษา โดยทั่วไปไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่ร้ายแรงมากนัก ส่วนใหญ่จะมีสุขภาพดี ไม่พบโรคระบาดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เพราะการสาธารณสุขของหมู่บ้านได้พัฒนาขึ้น มีการทำงานโดยประสานกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านทางอนามัยตำบลกับผู้ใหญ่บ้าน และครูในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ เพื่อคอยควบคุมดูแลในเรื่องสุขภาพของชาวบ้านในหมู่บ้านให้มีสุขภาพดีกันทั่วหน้า อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้สำรวจพบว่ายังคงมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งเกี่ยวกับสุขภาพของชาวบ้านโนนเขวานั้น สามารถแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ก. สุขภาพเด็ก

* เด็กแรกเกิดจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งทางสถานีอนามัยตำบลได้คอยดูแลเอาใจใส่เกี่ยวกับการให้วัคซีนเด็กแรกเกิดเป็นอย่างดี โดยทางเจ้าหน้าที่จะมาให้วัคซีนเองที่หมู่บ้าน แต่ถ้าหากมีจำนวนเด็กไม่มากก็จะนัดมาฉีดที่อนามัยตามวัน และเวลาที่กำหนด

* เนื่องจากความยากจน ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวานี้ได้ว่า ยากจนที่สุดในตำบลบ้านเหล่านี้ จึงเกิดมีปัญหาในการให้นมเด็กไม่ถูกต้อง โดยจากการสอบถามของเพื่อนบ้านพบว่า บางบ้านใช้นมผสมโดยผสมนมในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสมคือ ผสมนมโดยใช้น้ำมากเกินอัตราส่วน ทำให้เด็กเกิดอาการท้องร่วง นอกจากนั้น หญิงที่ตั้งครรภ์ และทำงานในโรงงานไม่สามารถให้นมบุตรได้เพียงพอ โดยปกติแล้วบุตรจะต้องได้รับนมแม่เป็นเวลา 4 เดือน แต่เนื่องจากทางโรงงานให้หญิงที่คลอดบุตรลาพักได้เดือนเดียว เด็กอายุเพียงเดือนเศษจึงต้องกินนมผสม ในเรื่องนี้ทางสาธารณสุข จึงได้มีนโยบายเกี่ยวกับสายสัมพันธ์แม่ลูก นอกจากนี้ ทางอนามายก็ยังส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน ซึ่งคาดว่าเพียงพอที่จะช่วยลดปัญหาการให้นมเด็กแรกเกิดบ้างไม่มากก็น้อย

* ปัญหาสำคัญของเด็กในระหว่างช่วง 0-12 ปี คือ การขาดสารอาหารโปรตีนทำให้ร่างกายซูบผอม น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน เนื่องจากความยากจนจึงมีข้อจำกัดในเรื่องอาหารที่จะต้องบริโภค ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านฝางก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก

* มีการรณรงค์ในเรื่องการดูแลรักษาฟัน โดยเจ้าหน้าที่จะคอยดูแล และประสานงานกับครูในโรงเรียน จากการสำรวจภายในโรงเรียนพบว่า เด็กส่วนใหญ่มีสุขภาพฟันที่ดี และทางสาธารณสุขมีโครงการที่จะแจกจ่ายโมเดลฟันไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย

* ปัญหาเล็กน้อยอื่น ๆ อย่างเช่น เด็กเล็ก ๆ มักจะไม่ใส่รองเท้าในการเดิน เป็นเหตุให้เกิดสุขภาพเกี่ยวกับศีรษะ ปัจจุบันพบเด็กที่เป็นปัญหาเพียงเล้กน้อย ถ้าเทียบกับในสมัยก่อนซึ่งเป็นกันมาก เพราะพ่อแม่เด็กให้การดูแลเป็นอย่างดี และจะอายถ้าลูกมีเหา ปัญหาเกี่ยวกับเล็บมือ เล็บเท้า ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็ก ๆ เช่นเดียวกัน คือ เล็บมือดำ มีขี้เล็บ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และอาจทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้

ข. วัยรุ่น

พบว่ามีปัญหายาเสพติด คือ ยาบ้า และกัญชา ในวัยรุ่นชายบางกลุ่ม ซึ่งในหมู่บ้านโนเขวา นี้มีเพียงเล็กน้อย ถ้าเทียบกับบ้านบึงสรวง บางคนคลั่งถึงกับทำร้ายร่างกายพ่อแม่ที่บ้าน ในเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแล และมีตำรวจหมู่บ้าน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาสาสมัครมาช่วยเหลืออยู่ด้วย

ค. โรคที่พบโดยทั่วไปในวัยทำงาน และวัยชรา

* ส่วนมากจะพบโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจำพวกโรคหวัด ทอนซิลอักเสบ และโรคทางเดินอาหารเป็นโรคกระเพาะ โรคท้องร่วงท้องเสียมีอยู่บ้างไม่มาก ซึ่งเกิดจากอาหารเป็นพิษ

* โรคนิ่วในไตเป็นกันมากพอสมควร จากการสอบถามพบ 3 ราย และชาวบ้านก็บอกว่า เป็นกันมาก 2 รายนั้น ได้รับการผ่าตัดมาแล้ว และรักษาหายแล้ว ส่วนอีกรายเป็นมานานถึง 20 ปี ไปหาหมอที่กรุงเทพฯ หมอบอกให้ผ่าตัดก็ไม่ยอมผ่า แต่กลับรักษาโดยต้มรากไม้นำน้ำมาดื่ม ระยะหลังใช้ยาลูกกลอน ตามคำแนะนำของเพื่อนบ้านแต่ก็ยังไม่หาย อาการคือ ปัสสาวะออกมาแล้วเหมือนกับมีทรายปนออกมาด้วย และมีอาการปวดท้อง โรคนี้เป็นในวัยชราอายุประมาณ 60 ปี สาเหตุซึ่งถามจากคนไข้บอกว่า เพราะดื่มน้ำในบ่อบาดาล ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มีโอ่งรองน้ำฝน แต่ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลบ้านฝางบอกว่า เกิดจากการทำงานอย่างหนักแล้วดื่มน้ำน้อย

* โรคปวดเมื่อยเนื่องจากการทำงานหนัก

* โรคความดันเลือด พบ 3 ราย รายหนึ่งไปรักษาที่กรุงเทพฯ โดยกินยาตามหมอสั่ง และรักษาตัวจนหายแล้ว อีก 2 ราย อาการไม่หนักมา 2 รายอยู่ในวัยชรา อีกหนึ่งรายเป็นวัยรุ่นผู้หญิง

* จากข้อมูลจำเพาะของหมู่บ้านที่ได้ทำการบันทึกไว้พบว่า มีคนพิการ 4 คน ซึ่งคนพิการเหล่านี้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ในเรื่องสุขภาพโดยมีบัตรสำหรับคนพิการ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีผู้เป็นเบาหวาน 3 คน โรคหัวใจ 1 คน ความดันโลหิต 1 คน ส่วนวัณโรค และโรคเรื้อนไม่ปรากฎ

* โรคอื่น ๆ ที่พบ จากการสอบถามของเพื่อนบ้าน พบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ 1 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว นอกจากนั้น มีหญิงวัยชราผู้หนึ่ง มีอาการท้องป่องเหมือนคนตั้งครรภ์ คาดว่าจะเป็นโรคตานขโมย แต่คนไข้ส่งสัยว่าจะเป็นเนื้องอก และยังมีผู้ที่ทำงานโรงงาน และเกิดอาการแพ้สารเคมีจากน้ำยาล้างแหอวน มีอาการเป็นผดผื่นตามผิวหนัง แต่มีบัตรประกันสังคมสำหรับผู้ที่ทำงานโรงงาน โดยจะได้รับการรักษาฟรี

ง. การดูแล และรักษาสุขภาพ และแหล่งบริการต่าง ๆ

* มีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมียาต่าง ๆ จำหน่าย แต่ไม่ค่อยมีประชาชนไปใช้บริการ

* มีสถานีอนามัยอยู่บ้านหนองชาด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในการดูแลสุขภาพของชาวบ้านถึง 12 หมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวาก็ได้ไปใช้บริการกันไม่มากนัก เพราะระยะทางไกล แต่ในกรณีที่จะไปใช้บริการ เช่น เกิดอุบัติเหตุ ฝากครรภ์ โรคที่เกี่ยวกับเด็ก เช่น ท้องร่วง เจ็บป่วยหนัก ที่กินยาเองแล้วไม่หาย ซึ่งถ้าหากทางอนามัยรักษาไม่ได้ก็จะส่งไปที่โรงพยาบาลบ้านฝางที่ตำบลบ้านฝาง

* ชาวบ้านส่วนใหญ่ เมื่อเป็นไข้เล็กน้อย ก็จะซื้อยากินเอง มียาหมอนวดรักษาอาการปวดเมื่อย และยาชุด ๆ ละ 6 เม็ด ราคา 8 บาท ในเรื่องยาชุดนี้ นับได้ว่าเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข เพราะเป็นยาที่อันตราย โดยจะเกิดการสะสมภายในร่างกาย และก่อให้เกิดผลกระทบในภายหลัง จากการสอบถามผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า ชาวบ้านนิยมซื้อกิน เพราะกินแล้วหายไวไม่ต้องไปหาหมอหรือสถานีอนามัย และยาชุดนี้ก็ยังมีขายตามร้านค้าในหมู่บ้านอีกด้วย แม้จะมีพระราชบัญญัติห้ามการซื้อขายยาชุดเอาไว้ แต่ก็ไม่มีผลบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง

* ยาสามัญประจำบ้าน ส่วนใหญ่จะไม่มียาสามัญประจำบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยก็เข้าไปให้คำแนะนำว่า ควรจะมีไว้ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ

* ยังคงมีการใช้ยาสมุนไพร เช่น รากไม้ ฟ้าทะลายโจร รักษาโรคอยู่บ้างซึ่งควรจะได้มีการให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านในการใช้สมุนไพร เพราะสมุนไพรบางอย่างถ้าใช้มากก็เป็นอันตราย

* บางครั้งเมื่อเป็นโรคกินยาแล้วไม่หาย ไปหาหมอก็ไม่หาย ก็มีความเชื่อเรื่องการรำผีฟ้า จากการสอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของผู้ป่วย ผู้ป่วยมีอาการเจ็บขา ขาบวมเดินไม่ได้ ไปหาหมอกินยาแล้วก็ไม่หายจึงให้ผีฟ้ามารำที่บ้าน โดยรำรอบเตียงผู้ป่วย สักพักผู้ป่วยก็ลุกขึ้นมารำด้วย แล้วอาการเจ็บขาก็หายไป ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ว่าเป็นเพียงการรักษาทางจิตใจ หรือสามารถรักษาได้จริง

* ในเรื่องการคุมกำเนิดทางสาธารณสุขได้ให้บริการคุมกำเนิดฟรีทุกอย่าง ทั้งยาเม็ด ยาฉีด ใส่ห่วง ยาฝัง ซึ่งไปใช้บริการได้ที่อนามัย และโรงพยาบาลบ้านฝาง แต่ปัจจุบันงบประมาณยาฉีดคุมกำเนิดมีน้อย จึงอาจมีการใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นแทนการฉีดยา

1.4.4.2 การบริการด้านสาธารณสุข

จากการสำรวจจากชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวา ตำบลบ้านเหล่า พบว่า ชาวบ้านได้รับบริการทางสาธารณสุขจากองค์กรของรัฐอย่างทั่วถึง รูปแบบของการให้บริการจะอยู่ในลักษณะต่าง ๆ เช่น บัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ บัตรผู้สูงอายุ บัตรผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ นอกจากนี้ มีการรณรงค์ในโครงการที่เกี่ยวกับสาธารณสุข เช่น โครงการสายสัมพันธ์ แม่-ลูก

การให้บริการในรูปแบบของบัตร ได้แก่

1. บัตรสุขภาพ จ่ายค่าบัตร 500 บาท/ปี เจ้าหน้าที่อนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รณรงค์ให้ชาวบ้านซื้อบัตรใช้ในแต่ละครอบครัว รักษาพยาบาลฟรี 6 ครั้ง/ปี

2. บัตรประกันสังคม ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ไปทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรม ในหมู่บ้านโนนเขวา ชาวบ้านจะเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านโนนเขวาจะเข้าไปทำงานในโรงงาน 2 แห่ง คือ โรงงานขอนแก่น และโรงงานเย็บรองเท้า และภายในโรงงาน จะมีสวัสดิการรักษาโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย

3. บัตรผู้สูงอายุ ชาวบ้านที่อายุเกิน 60 ปี ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล

4. บัตรผู้มีรายได้น้อย ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน และ อสม. จะเป็นผู้คัดเลือกให้ได้รับบัตร ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล นอกจากในรูปแบบของบัตร ผู้พิการ เด็กนักเรียน ป.1 - ป.6 พระ เณร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และครอบครัว อสม. และครอบครัว ชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล

ระบบส่งต่อ

ศสมช. ---> สถานีอานามัย ---> รพ.ชุมชน ---> รพ.ศูนย์ฯ

ระบบสาธารณสุขในหมู่บ้านจะเป็นแบบระบบส่งต่อโดยเริ่มจาก

1. ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ซึ่ง ศสมช. ในหมู่บ้านโนนเขวา ตั้งอยู่บริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้านชาลี มีกองทุนยาจำหน่าย ยาสามัญประจำบ้านจากองค์การเภสัชกรรม ผลกำไรที่ได้จะนำมาพัฒนาศูนย์ต่อไป ถ้าชาวบ้านเจ็บป่วยเล็กน้อยก็จะมาที่ ศสมช.

2. สถานีอนามัยประจำตำบล ตั้งอยู่ที่บ้านหนองชาด รับผิดชอบ 12 หมู่บ้าน มีชาวบ้านใช้บริการประมาณ 20 - 30 คน/วัน มีเจ้าหน้าที่อนามัย 4 คน จากข้อมูลของสถานีอนามัยพบว่า โรคที่ป่วยมากที่สุด คือ โรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะช่วงตอนอากาศเปลี่ยน อันดับ 2 คือ โรคทางเดินอาหาร และอันดับ 3 คือ โรคหัวใจ และโรคนิ่วในไต

งานด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

* ครัวเรือนมีน้ำบริโภคอย่างเพียงพอ (เกณฑ์ 5 ลิตร/วัน/คน) ทั้งตำบลบ้านเหล่า 100% และตำบลบ้านฝาง 100%

งานด้านทันตกรรมสาธารณสุข

* เด็กอายุ 6 เดือน - 5 ปี ได้รับฟลูออไรด์ 100% ทั้งตำบลบ้านเหล่า 100% ทั้งตำบล บ้านฝาง 100%

งานควบคุมโรคติดต่อ

* อัตราการป่วยวัณโรคต่อแสนคน (เกณฑ์ไม่เกิน 76 คน) ทั้งตำบลบ้านเหล่า 171 คน ทั้งอำเภอบ้านฝาง 104 คน

* อัตราการป่วยโรคอุจจาระร่วงต่อแสนคน (ไม่เกิน 1,000 คน) ทั้งตำบลบ้านเหล่า 1,934 คน ทั้งอำเภอบ้านฝาง 1,508 คน

* อัตราการป่วยโรคไข้เลือดออกต่อแสนคน (ไม่เกิน 60 คน ทั้งตำบลบ้านเหล่า 34 คน ทั้งอำเภอบ้านฝาง 92 คน

งานสุขศึกษา และประชาสัมพันธ์

* ให้สุขศึกษาของกลุ่ม 1 ครั้ง/สัปดาห์ ทั้งตำบลบ้านเหล่า 50% ทั้งอำเภอบ้านฝาง 68%

* จัดป้ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 1 ครั้ง/เดือน ทั้งตำบลบ้านเหล่า 100% ทั้งอำเภอ บ้านฝาง 32%

* จัดนิทรรศการในสำนักงาน 4 ครั้ง/ ปี ทั้งตำบลบ้านเหล่า 50% ทั้งอำเภอบ้านฝาง 68%

งานส่งเสริมสุขภาพ และงานรักษา

ก. งานโภชนาการ

* เด็กขาดสารอาหารระดับ 1 (เกณฑ์ไม่เกิน 10%) ทั้งตำบลบ้านเหล่า 4.57% ทั้ง อำเภอบ้านฝาง 16.06%

* เด็กขาดสารอาหารระดับ 2 (เกณฑ์ไม่เกิน 10%) ทั้งตำบลบ้านเหล่า 0% ทั้งอำเภอ บ้านฝาง 0.63%

ข. งานอนามัยแม่และเด็ก

* หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลครบทั้ง 4 ครั้ง (เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 75%) ทั้งตำบลบ้าน เหล่า 16% ทั้งอำเภอบ้านฝาง 61.2%

* มารดา และทารกได้รับการดูแลหลังคลอดครบ 3 ครั้ง (เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 80%) ทั้ง ตำบลบ้านเหล่า 75.9% ทั้งอำเภอบ้านฝาง 70.6%

* น้ำหนักเด็กแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม (เกณฑ์น้อยกว่า 17%)

ค. งานด้านเภสัชกรรมชุมชน

* ร้านขายของชำจำหน่ายยาชุด (เกณฑ์ไม่เกิน 30% ของร้านทั้งหมด) ทั้งตำบลบ้าน เหล่า 23.5% ทั้งอำเภอบ้านฝาง 46%

ในด้านอนามัยแม่และเด็ก สถานีอนามัยรับทำ ANC คือ การตรวจก่อนคลอด หรือการฝากครรภ์ หลังจากนั้นจะไปคลอดที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลศูนย์ มีการจัดบริการฉีดวัคซีนให้กับเด็กฟรี สำหรับเด็กอายุ 0 - 4 ปี มีการติดตามเป็นระยะ ๆ หลังจาก 4 ปีไปแล้วจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ภาวะโภชนาการในบ้านโนนเขวา ผ่านเกณฑ์ 100% (สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2540)

3. โรงพยาบาลชุมชน กล่าวคือ เมื่อมีอาการหนักจนกระทั่งสถานีอนามัยรักษาไม่ได้ หรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน จะมีการส่งคนไข้มายังโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งในที่นี้คือ โรงพยาบาลบ้านฝาง มีคลินิกเด็กดีทุกวันอังคาร และคลินิกนมแม่ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนมแม่ทุกวัน มีแพทย์ประจำอยู่ 2 คน ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่มาใช้บริการจะมีบัตรสุขภาพ บัตรประกันสังคม และผู้มีรายได้น้อย

4. โรงพยาบาลศูนย์ฯ ถ้าผู้ป่วยอาการหนักมาก จะส่งไปโรงพยาบาลศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ภายในตัวเมืองขอนแก่น

นอกจากสถานีอนามัยแล้ว ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กเล็กในบ้านโนนเขวา คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป มีอาหารกลางวัน และมีอาหารเสริม โดยมีนมเกษตรมาส่งที่ศูนย์ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ มีพี่เลี้ยงคอยดูแล 2 คน มีเด็กประมาณ 35 คน เก็บเงินวันละ 2 บาท (60 บาท/คน/เดือน)

โดยภาพรวมจากการสำรวจพบว่า ระบบสาธารณสุขในหมู่บ้านอยู่ในระบบดี คุณภาพชีวิตเกี่ยวกับว่าเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านเข้าไปใช้บริการในองค์กรของรัฐได้อย่างทั่วถึง และมีจำนวนผู้ป่วยเข้ารักษาในระบบส่งต่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

1.4.4.3 เครื่องใช้พื้นบ้านในชีวิตประจำวัน

ในการศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านโนนเขวา เครื่องใช้พื้นบ้านเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงการใช้ชีวิตของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี สามารถแบ่งเครื่องใช้ที่ได้ศึกษาออกเป็น 4 ประเภทหลัก คือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทอผ้า อุปกรณ์เกี่ยวกับการจับสัตว์ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำครัว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำนา-เลี้ยงสัตว์ ในระหว่างการสำรวจพื้นที่ได้รวบรวมเครื่องใช้ทั้งหมดที่มีอยู่ในแต่ละบ้านเท่าที่จะทำได้ สอบถามถึงการใช้งาน และชื่อพื้นบ้านที่ใช้เรียก แต่อุปกรณ์บางชนิด เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำนาซึ่งทำกันในทุกภาคของประเทศ อุปกรณ์ที่ใช้มีลักษณะใกล้เคียงกัน การค้นคว้ารายละเอียดสามารถทำได้ตามแหล่งข้อมูลทั่วไป อย่างไรก็ดี ในการศึกษารวบรวมข้อมูลอาจเกิดความคลาดเคลื่อน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวบ้านผู้ให้ข้อมูลพูดภาษาท้องถิ่น อีกทั้งบางอุปกรณ์ไม่มีการใช้งานกันแล้ว หรือไม่มีตัวอย่างให้เห็น เป็นต้น

1. อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทอผ้า

ชาวบ้านโนนเขวา นิยมทอผ้าใช้กันเองยามว่างจากการทำนา และบางบ้านก็ได้ทอผ้าไหมขายด้วย ดังนั้น เราจึงพบเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้าแทบทุกครัวเรือน การทอผ้านั้นมีทั้งทอฝ้ายสำหรับทำผ้าห่ม และทอไหม การทอฝ้ายชาวบ้านจะซื้อฝ้ายที่ทำเป็นเส้นสำเร็จแล้วมาทอ แต่สำหรับการทอไหมจะมีการเลี้ยงไหมกันเอง โดยมีขั้นตอนดังนี้

* เริ่มแรกชาวบ้านจะเลี้ยงหนอนไหม หรือที่เรียกกันว่า "ตัวบี้" ในกระด้งเลี้ยงไหม ซึ่งวางเรียงกันเป็นชั้น ๆ ในกระด้งจะปูด้วยใบหม่อน เพื่อเป็นอาหารของตัวบี้ เมื่อ ตัวบี้มีอายุครบ 4 นอน (ในการนอนแต่ละครั้งตัวหนอนจะเหมือนกับจำศีล คือไม่ กินอาหาร และสร้างไหมคลุมตัว แต่ละนอนห่างกันประมาณ 10 วัน กินเวลา 3 - 4 วันในแต่ละครั้ง) ชาวบ้านจะแยกรังไหมไว้ในจ่อ ลักษณะเหมือนกระด้งขนาดใหญ่ มีไผ่สานกั้นเป็นช่อง ๆ เพื่อไม่ให้รังไหมพันกัน และหลบแดดไม่ให้รังไหมแห้ง

* เมื่อจะทำเส้นไหม ชาวบ้านจะเอารังไหมไปต้ม และใช้พวงหรีดสาวไหมที่มีขายึด กับหม้อต้มรังไหม เป็นรอกสำหรับนำเส้นไหม และใช้ไม้คืบสาวไหมออกมา (พวงสาวไหมนี้ตรงกลางจะมีรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตรเป็นตัวนำทิศทาง ของเส้นไหม เส้นไหมที่ร้อยผ่านรูจะคล้องผ่านรอกหมุนมือซ้ายผู้สาวไหมถือไม้ คืบคอยสาวไหมออกมาใส่กะละมัง เพื่อนำไหมไปย้อมสีต่อไป)

* เส้นไหมที่ถูกย้อมสีแล้ว ขดเป็นวงใหญ่ ๆ ด้วย "เลน" ซึ่งมีลักษณะเป็นล้อหมุน ก่อนถูกนำไปผึ่งลมให้แห้ง ขดไหมที่ได้จากเลนจะไม่เป็นระเบียบนัก หลังจากนั้น จะจัดระเบียบไหมใหม่ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "กง" ส่วนไหมที่เป็นระเบียบแล้วจะ อยู่บน "กวัก" ลักษณะเหมือนหลอดด้ายขนาดใหญ่ เส้นไหมบนกวัก่จะไม่มีปม หากแต่เป็นเส้นที่ยาวและเป็นเส้นเดียว

* ในการทำผ้า เส้นไหมจะถูกแบ่งเป็น 2 แนวคือ แนวตั้ง และแนวนอน เราจัดเส้น ไหมแนวตั้งซึ่งจะกำหนดสี ลายไว้ตายตัว ด้วยหลักเปีย ไหมแนวตั้งจะแบ่งเป็น 2 ชั้น ล่างและบน ไหมแนวนอนจะเป็นตัวกำหนดลูกเล่นลาย โดยใช้กระสวยไหมแต่ ละสีพุ่งสลับลายไปมา ไหมในกระสวยได้จากการเอาไหมบนกวักไปหมุนเข้าหลอด ด้ายโดยใช้หลา แล้วเอาหลอดด้ายไปใส่ไว้ในกระสวย

2. อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการจับสัตว์

โดยทั่วไปอุปกรณ์ที่ใช้จับสัตว์มีลักษณะคล้ายกันคือ ประกอบด้วยทางที่ให้สัตว์เข้า ซึ่งจะมีไม้ไผ่สานกันไม่ให้สัตว์ออกมาอีกครั้ง และทางสำหรับนำสัตว์ออกมาจากเครื่องมือ สัตว์ที่จับส่วนมากจะเป็นปลาช่วงเวลาที่จับจะเป็นช่วงวิดน้ำในนา หรือจับปลากันในคลอง ส่วนสัตว์ชนิดอื่น ได้แก่ กบ เขียด กะปอม และแย้ เป็นต้น

เมื่อหุงข้าวเหนียวสุกแล้ว ก็จะนำข้าวเหนียวมาแผ่บน "โบม" ที่มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร มีด้ามจับเพื่อไล่น้ำออกก่อนที่จะใส่กระติ๊บกันไม่ให้ข้าวแฉะ เมล็ดข้าวที่ได้มาจากนา สมัยก่อนนิยมกะเทาะเปลือกข้าวโดยใช้ครกกระเดื่อง ซึ่งอาศัยหลักของคานผ่อนแรงในการตำข้าว ข้าวที่ได้จะไม่ใช่ข้าวขาวเหมือนกับสีได้จากโรงงานเหมือนในปัจจุบัน จึงได้คุณค่าอาหารมีมากกว่า แต่ปัจจุบันในหมู่บ้านไม่มีครกกระเดื่องให้เห็นอีกแล้ว ชาวบ้านหันมาใช้เครื่องสีข้าวซึ่งมีอยู่ 1 เครื่องในหมู่บ้าน

3. อุปกรณ์ในการทำครัว

เนื่องจากอาหารหลักของชาวอีสานก็คือ ข้าวเหนียว อุปกรณ์ในการทำครัวที่โดดเด่นกว่าภาคอื่น ๆ จึงเกี่ยวกับการทำข้าวเหนียว เครื่องมือจักสานที่ใช้การนึ่งข้าวเหนียวมี 2 ชนิดคือ "หวด" และ "มวย" หวดมีลักษณะคล้ายถึง ส่วนมวยมีลักษณะคล้ายกระบอกปากเปิด มีแผ่นรองก้นปิดไว้ไม่ให้ข้าวเหนียวร่วงลงมา เมื่อเวลาหุงข้าวเหนียวได้ที่แล้ว ถ้าใช้หวดก็สามารถกลับข้าวได้โดยไม่ต้องใช้มือ คือ เขย่าถุงหวดเพื่อกลับข้าวเหนียวได้เลย ในขณะที่ถ้าใช้มวยต้องใช้ไม้คนข้าวเหนียวแทน ข้อดีของมวยก็คือทนกว่า ในการหุงข้าวหรือทำอาหาร ชาวบ้านจะมีเตาหลายชนิดตามเชื้อเพลิงที่ใช้ มีทั้งเตาอั้งโล่ที่เราเห็นโดยทั่วไปคือ ใช้ถ่าน เตาฮาดใช้ฟืนเป็นดุ้น ๆ เป็นเชื้อเพลิง เตาชนิดนี้ไฟจะแรง ทำอาหารไม่ค่อยอร่อยเพราะควบคุมอุณหภูมิยาก แต่ใช้ต้มรังไหมได้ดี เตาแกลบที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังมีเตาอั้งโล่ประยุกต์คือ สามารถใช้ได้ทั้งถ่าน หรือฟืนเป็นต้น เพราะมีช่องรับฟืนไว้ด้วย

4. อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำนา - เลี้ยงสัตว์

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำนา จะคล้ายกันในทุกภาคของประเทศ คือ มีเคียวสำหรับเก็บเกี่ยวมีคราดสำหรับไถ สำหรับบ้านที่จ้างเครื่องไถนา ของที่ต้องใช้ก็จะลดลงไปเหลือเพียงเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าไถเท่านั้น (อาจมีเงินสำหรับเก็บเกี่ยวด้วย)

เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวมาได้แล้วจะนำมานวด ในสมัยก่อนจะมัดข้าวเป็นฟ่อนแล้วใช้ไม้หนีบสองข้างฟาดลงกับพื้นเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกมา แต่ปัจจุบันจะใช้เครื่องยนต์นวดแทน การตวงเมล็ดข้าวที่นวดแล้วจะใช้กระบุงซึ่งตวงข้าวได้ประมาณ 12 กิโลกรัม (ถ้าตวงขายต้องใช้กระบุงที่เป็นมาตรฐานของทางราชการ มีตราประทับ) มีกระจาดซึ่งสามารถตวงหรือเก็บข้าวได้ 20 กิโลกรัมด้วย ข้าวที่ตวงแล้วอาจนำไปขายหรือเก็บไว้ในยุ้งฉางซึ่งสร้างไว้แทบทุกบ้าน มีลักษณะคล้ายบ้านหลังเล็ก ๆ แต่ไม่มีหน้าต่าง และยกพื้นสูงจากดินเพื่อกันความชื้น

สัตว์ที่นิยมเลี้ยงในหมู่บ้านได้แก่ เป็ด ไก่ มีเลี้ยงสุกรบ้าง บ้านที่เลี้ยงควายก็เหลือน้อย เพราะไม่นิยมใช้ควายไถนากันแล้ว ควายที่เลี้ยงไว้ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้ขาย ชาวบ้านนิยมเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุนบ้าน คอกควายจะตีรั้วโปร่งไว้ ดินนุ่มเพื่อให้ควายนอนสบาย ส่วนเล้าเป็ดหรือไก่จะตีเป็นรั้วโปร่งเช่นกันแต่ตาถี่กว่า มีที่ใส่น้ำเลี้ยงเป็ด-ไก่อยู่ภายใน ที่เลี้ยงน้ำนี้ทำจากยางรถยนต์ผ่าซีกแล้วใส่น้ำ พบเห็นในทุกบ้าน นอกจากนี้ยังมีตะกร้าฟักไข่ รองด้วยฟางนุ่มเพื่อให้แม่ไก่ใช้เป็นสถานที่ฟักไข่ ไข่ที่ได้จากแม่ไก่ส่วนใหญ่จะถูกนำมาฟัก ชาวบ้านไม่นิยมกินไข่จากไก่ของตัวเอง เพราะคุณภาพด้อยกว่าที่ซื้อมา และถ้าฟักไก่เป็นตัวได้ก็จะได้ราคาดีกว่า

บ้านที่เลี้ยงควายจะมีกระดิ่งผูกคอควาย เรียกว่า "กะหล่งคอควาย" มีลักษณะคล้ายถ้วยมีหูร้อยเชือกคล้องคอควายข้างบน มีขนาดเล็กกว่ากะหล่ง มีหูร้อยเชือกที่ด้านข้างถ้วย ส่วนวัว ซึ่งไม่พบเห็นในหมู่บ้านจะใช้กระดิ่งคอวัว ทำจากทองเหลืองคอ เสียงกังงานดังกว่ากะหล่ง

จากการศึกษาเครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้าน สิ่งหนึ่งที่พบเห็นได้เด่นชัดก็คือเครื่องมือจะทำขึ้นด้วยรูปแบบง่าย ๆ ไม่มีลวดลายประดิษฐ์เหมือนภาคกลาง แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของคนในภาคอีสาน สาเหตุก็เนื่องมาจากชาวบ้านยังคงกังวลต่อการดำรงชีวิตมากกว่าที่จะหันมาสร้างงานฝีมือ ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้คนมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ อย่างไรก็ดีหากพิจารณาลงไปให้ลึกแล้ว ความเรียบง่ายนั้นก็เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์เครื่องใช้พื้นบ้านเหล่านี้ไม่ให้ถูกกลืนด้วยเทคโนโลยี่ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำ หรือเพื่อสืบทอดแนวคิดของบรรพบุรุษที่ใช้ในการดำรงชีวิต

1.5 บทสรุป

อาชีพหลักของชาวบ้านโนนเขวาก็คือ การทำนา ถึงแม้มีรายได้ดีแต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งแหล่งเงินทุน แหล่งน้ำซึ่งจำเป็นมากในการทำนา แรงงาน และพันธุ์ข้าว ถ้าเป็นพื้นที่ที่ผ่านการทำนามานานแล้วก็ต้องใส่ปุ๋ย โดยหมู่บ้านจะมีกองทุนปุ๋ยประจำหมู่บ้านออกเงินค่าปุ๋ยให้ก่อน การทำนาในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องทุ่นแรงมากกว่าจะใช้ควายเหมือนในสมัยก่อน เพราะทำงานได้เร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า มีเพียงบางบ้านที่ยังคงเลี้ยงควายเพื่อไว้ขาย อุปสรรค์ต่อการปลูกข้าวมีมากมายทั้งปัญหาจากภัยธรรมชาติ และปัญหาเกี่ยวกับราคา แม้จะมีความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ในหน้าแล้งชาวบ้านต้องหันมาทำอาชีพเสริมที่เกี่ยวกับการกสิกรรม เช่น เลี้ยงเป็ด ไก่ สุกร ทำสวนผลไม้ แต่การประกอบอาชีพเสริมแบบนี้ มีรายได้ไม่ดีนัก เพราะถูกกดราคาจากคนกลาง และมีปัญหาเกี่ยวกับราคาปุ๋ย อาชีพเสริมอื่น ๆ ได้แก่ ทอผ้า จักสาน การค้าขาย และที่นิยมทำกันในหมู่คนหนุ่มสาว ได้แก่ รับจ้างรับทำงานในโรงงานในตัวจังหวัด หรือไปรับจ้างตัดอ้อยในต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีอาชีพเสริมทั้งที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญพิเศษ เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า ช่างดัดผม ตลอดจนอาชีพที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมา เช่น หมอลำ ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีความลำบากในการประกอบอาชีพ แต่ก็ยังมิได้ละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ สังเกตุได้จากการที่ยังคงมีประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่เกิด หมั้น บวช แต่งงาน อยู่ไฟ เจ็บป่วย จนกระทั่งตาย นอกจากนี้ ยังมีประเพณีที่ชาวบ้านทำร่วมกันเพื่อเพิ่มความสามัคคีตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดี มีบางประเพณีที่สูญหายไป เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง เมื่อพิจารณาดูคุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยใช้การดูแลรักษาสุขภาพ และการสาธารณสุขเป็นเกณฑ์ พบว่าชาวบ้านโดยทั่วไปไม่มีปัญหาสุขภาพที่รุนแรง มีการบริการสาธารณสุขจากองค์กรของรัฐอย่างทั่วถึง ใช้ระบบสาธารณสุขแบบส่งต่อคือ หากเจ็บป่วยเล็กน้อย ชาวบ้านอาจจะซื้อยาชุดกินเอง หรือไปที่ ศสมช. ถ้าอาการหนักขึ้นชาวบ้านจะเลือกไปที่สถานีอนามัยโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์ฯ ตามลำดับ

สรุปปัญหา และแนวทางแก้ไข

1. จากการสำรวจพบว่า ระหว่างที่ว่างจากการทำนา ชาวบ้านในละแวก 3 หมู่บ้านจะประกอบอาชีพอิสระที่น่าสนใจ ได้แก่ งานช่างหลาย ๆ สาขา ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ คือ มีเพียง 5 - 6 คนเท่านั้น แนวทางปฎิบัติในอนาคตอาจมีร่วมมือกันเพื่อพัฒนาช่างแต่ละสาขา เพื่อเพิ่มคุณค่าของการทำงาน หรืออาจศึกษาวิชาช่างอื่นที่ยังไม่มีในหมู่บ้าน เช่น ช่างซ่อมเครื่องยนต์ เป็นต้น

2. ปัญหาการว่าจ้างในการทำงาน เช่น การถูกหลอกให้ไปรับจ้างตัดอ้อยที่ต่างจังหวัด แต่ไม่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงาน แนวทางปฎิบัติ คือ ชาวบ้านจะต้องสอบถามข้อมูลที่แท้จริงจากผู้รู้ หรือผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน

3. ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาชุด ซึ่งมีชาวบ้านบางคนที่ยังคงอาศัยยาชุดในการดูแลรักษาสุขภาพ จึงควรส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรค โดยเฉพาะโทษของยาชุด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสะสมตัวยา

4. จากการสำรวจพบว่า เครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้านมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้เครื่องทุนแรงมากกว่า เพราะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ได้รับรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องทุ่นแรงแทนเครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้าน อาจทำให้เกิดการสูญเสียแนวคิดที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้น จึงควรจะมีการอนุรักษ์เครื่องมือเหล่านี้ไว้ โดยอาจสร้างเป็นสถานที่เก็บเฉพาะ หรือพิพิธภัณฑ์

?

?

?

?