logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

รายการศึกษาภาคสนามของกลุ่มที่ 3

เรื่อง"วันวาน...วันนี้...วันพรุ่งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในภาคอีสาน"

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสาธารณูปโภค นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจอันเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ ด้วยมีการลองใช้ทฤษฎีทางเศรษฐกิจในแบบไหลล้น กล่าวคือ เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจที่เมืองใหญ่เมืองเดียวที่มีความพร้อม และแน่นอนว่าย่อมจะต้องเป็นกรุงเทพมหานคร การวางแผนดังกล่าวทำให้เกิดการกระจุกตัวของความเจริญ ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้ การพัฒนาชนบทไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล มีการส่งเสริมทางด้านอุตสาหกรรม และละเลยการส่งเสริมทางด้านการเกษตร ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลกดค่าแรงงานเพื่อเป็นการดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน และผลักภาระไปยังเกษตรกรโดยการกดราคาข้าวเพื่อให้กรรมกรอยู่ได้ ทำให้ชาวนาซึ่งมีฐานะยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจนลงไปอีก ในขณะที่ความเจริญได้สร้างผลประโยชน์ และรายได้จำนวนมหาศาลให้กับคนไทยในเมือง แต่ชาวชนบทซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศกลับต้องมาแบกภาระหนี้สิน อันเนื่องมาจากการไม่กระจายรายได้ ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทมีมากยิ่งขึ้น และนี่เองที่มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวชนบทเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ เป็นครอบครัวแบบขยายที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ ๆ น้อง ๆ ช่วยกันทำมาหากินมีความสัมพันธ์ที่มีความอบอุ่น กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ต้องทำงานแข่งกับเวลา ด้วยเพราะเหตุผลด้านค่าครองชีพ และสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่มีสาเหตุจากการพัฒนาที่เน้นวัตถุอันนำมาซึ่งความเสื่อมทางด้านจิตใจ

สังคมที่พัฒนาอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง นับวันจะเกิดช่องว่างมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว จึงเห็นสมควรช่วยกันระดมกำลังความสามารถใช้ในการแก้ไข โดยอาศัยมุมมองในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเป็นเครื่องมือ นั่นหมายถึงการนำความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ มาสรุปให้เห็นถึงผลสะท้อนของการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสังคม และพิจารณาถึงแนวทางปฎิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต

3.1 วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวไทยอีสาน ในช่วงระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงเวลาหนึ่งช่วงอายุคน

2. เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาเพิ่มเติม วิเคราะห์เปรียบเทียบ และอภิปรายอย่างกว้างขวาง

3.2 ขอบเขตการศึกษา

3.2.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา

ก. วิถีชีวิตพื้นบ้าน

ข. สถาบันครอบครัว

ค. อาชีพ (โดยเฉพาะอาชีพเสริม)

ง. การศึกษา

จ. เทคโนโลยี่

ฉ. ที่อยู่อาศัย

ช. การแพทย์

ซ. การเมืองในระดับชาวบ้าน

3.2.2 ขอบเขตด้านระยะเวลา

ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 14-19 มีนาคม 2541 รวมระยะเวลาประมาณ 4 วัน

3.2.3 ขอบเขตด้านสถานที่

พื้นที่ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการเก็บข้อมูล ได้แก่ หมู่บ้านโนนเขวา หมู่บ้านบึงสวาง หมู่บ้านค้อ และหมู่บ้านชาติ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพื้นที่ที่ใช้ศึกษา และเก็บข้อมูลเป็นพิเศษอยู่ที่หมู่บ้านบึงสวาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านใช้ที่พักอาศัย

3.3 วิธีการศึกษา

1. เข้าศึกษา และร่วมฟังการบรรยายในรายวิชา สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

2. เก็บข้อมูลด้วยการสังเกต และสุ่มบ้านเพื่อเข้าร่วมพูดคุยกับชาวบ้านเป็นการส่วนตัว

3. ศึกษา และค้นคว้าเพิ่มเติมจากข้อเขียน และตำราต่าง ๆ

3.4 ผลการศึกษาภาคสนาม

3.4.1 การสูญหายไปของเรื่องเล่าจากอดีต

ภาคอีสานเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย ชาวไทยอีสานมีภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ และมีวัฒนธรรมเป็นตัวของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยผ่านขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตที่ดำเนินไปประจำวัน การเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวในอดีต การเล่านิทานให้บรรดาลูกหลานรุ่นเยาว์ได้ฟัง เป็นทางหนึ่งในการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่เรียบง่าย และอบอุ่น เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าเป็นเสมือนคำสั่งสอนที่คนรุ่นเก่าต้องการบอกแก่คนรุ่นต่อมา เสมือนการถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ บางเรื่องได้ผูกรวมความเชื่อ และคติธรรมทางพุทธศาสนาเอาไว้ด้วยเรื่องราวที่สนุกสนานให้เกิดการซึมซับความรู้ในด้านต่าง ๆ ไปโดยไม่รู้ตัว แต่ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่เรื่องเล่าจาก "โทรทัศน์" มากกว่าเรื่องเล่าจากพ่อแก่แม่เฒ่า ทำให้เด็ก ๆ รู้จัก "ไชยา มิตรชัย" นักร้องชื่อดัง มากกว่า "บักอึ่ง" เจ้าของควายที่สวยที่สุดในละแวกนี้ แล้วการเดินทางของนิทาน และเรื่องเล่าจะเป็นไปในทิศทางใด ภาพชีวิตจากหมู่บ้านอีสานในวันนี้พอจะสะท้อนคำตอบของคำถามนีได้เป็นอย่างดี

จากการสนทนาซักถามกับชาวบ้านหมู่บ้านเล็ก ๆ 3 หมู่บ้านที่มีเขตติดต่อกัน คือ หมู่บ้านบึงสวาง บ้านโนนเขวา และบ้านหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น พบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่รู้จักนิทานหรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับท้องถิ่นที่อาศัยอยู่เลย และไม่สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวในอดีต ประวัติศาสตร์ที่พอจะจำได้ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่ได้รับในชั้นเรียนจากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ซึ่งมักมุ่งเน้นเกี่ยวกับอารยธรรมของภาคกลาง ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ วัยรุ่นส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ และไปทำงานตามโรงงานต่าง มีจำนวนน้อยที่ได้เรียนต่อ และก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครเรียนต่อเพื่อกลับมาทำงานที่บ้าน อาชีพเกษตรกรรมซึ่งเคยเป็นอาชีพหลักที่ทำกันแทบทุกบ้าน กลับกลายเป็นงานที่ไม่เป็นที่ต้องการ ดังจะเห็นได้จากภาพรถกระบะคันเล็กขับออกไปจากหมู่บ้านพร้อมกับหนุ่มสาวเต็มคันรถ ที่ออกไปทำงานที่โรงงาน หรือรับจ้างในเมืองยามเช้า และกลับบ้านตอนเย็น ส่วนเวลาในยามว่างหมดไปกับการดูหนัง ฟังเพลง หรือขี่มอเตอร์ไซด์ไปเที่ยวในเมือง สลับเปลี่ยนหมุนเวียนเช่นนี้ทุกวัน

สำหรับชาวบ้านวัยกลางคน ซึ่งถือว่าเป็นรอยต่อระหว่างอดีตกับอนาคต ส่วนใหญ่เคยได้ยินเรื่องเล่าเก่าแก่ และนิทานพื้นบ้านมาจากคนรุ่นปู่ย่า อย่างเช่น "พ่อเคน" ชาวบ้านบึงสวาง อายุ 46 ปี ได้เล่าว่า เรื่องเล่า และนิทานเก่า ๆ ที่เคยได้ยินเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น มหาเวสสันดรชาดก และเรื่องสนุก ๆ ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน แต่ไม่สามารถจดจำได้ เนื่องจากได้รับฟังเมื่อครั้งยังเด็ก และขาดการนำมาเล่าต่อ จึงคิดว่าผู้ที่ยังจำได้น่าจะเป็นผู้เฒ่าที่อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป สำหรับเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อที่ยังคงสืบทอดกันต่อมา เป็นเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตา และปอบ นั้น "แม่วันทอง" แม่บ้านวัย 43 ปี ชาวหมู่บ้านบึงสวางเล่าถึงเรื่องความเชื่อเรื่องผีว่า คนแถบนี้มีความเชื่อในเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่น การถูกผีเข้าจะมีอาการเซื่องซึมผิดปกติ พูดจาแปลกไปจนสังเกตได้ เกิดอาการไม่สบายโดยไม่มีสาเหตุ เมื่อไปหาหมอในเมืองก็ไม่เป็นอะไร แต่อาการไม่ดีขึ้น ทางที่จะรักษาคือญาติ ๆ ต้องไปเชิญหมอดูประจำหมู่บ้านมาเพื่อดูว่าผีที่เข้าเป็นผีอะไร เช่น เป็นผีรักษา (ผีที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้าน) หรือเป็นผีญาติ หรือเป็นผีไม่ดี เพื่อหาคนมาเชิญออกตามประเภทของผี ซึ่งถ้าเป็นผีรักษาต้องไปเชิญพ่อเฒ่าจ้ำให้เป็นผู้มาเชิญออก หรือถ้าเป็นผีญาติก็ต้องให้ญาติสนิทมาเป็นคนเรียกออกไป "แม่วันทอง" เล่าอย่างติดตลกว่า ถ้าผีญาติมาเข้าญาติ ๆ ที่รู้ข่าวจะมาเยี่ยมเต็มบ้านเพื่อถามผีถึงคนอื่น ๆ ที่ตายไปแล้ว สอบถามจนพอใจแล้วจึงเชิญออก อย่างคำพูดของชาวอีสานที่ว่า "คนยามดี ผียามให้" หมายถึง ถ้ามาเยี่ยมจะมาพร้อมกับสิ่งดี ๆ มีความสุข แต่เวลาผีมาเยี่ยมถึงแม้ผีจะมีเจตนาดีแต่ก็ทำให้ผู้ที่ถูกเยี่ยมไม่สบายได้

ชาวบ้านในวัยกลางคนบางส่วนยังคงทำงานด้านเกษตรกรรม คือ การทำนา เลี้ยงสัตว์ ส่วนผู้หญิงมักทำงานอยู่กับบ้าน ปลูกหมอน เลี้ยงไหม และทอผ้า แต่เนื่องด้วยผลจากการเกษตรไม่ค่อยดีเท่าที่ควร รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องออกไปหางานทำในเมือง เพื่อนำรายได้กลับมาจุนเจือครอบครัว ทว่าปัญหาที่สำคัญก็คือ การได้รับการศึกษาไม่สูงนัก อาชีพที่ได้ทำจึงเป็นการขายแรงงานมากกว่า สำหรับคนที่มีความสนใจใฝ่รู้อาจเป็นช่างฝีมือได้ ซึ่งจะทำให้ได้รายได้เพิ่มมากขึ้น เวลาที่ใช้ในชีวิตประจำวันหมดไปกับการทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงิน เมื่อกลับถึงบ้านก็พักผ่อนเพื่อเก็บแรงไว้เผชิญงานหนักที่รออยู่ในวันต่อไป

"พ่อเฒ่าเหริน" วัย 91 ปี ผู้ที่มีอายุมากที่สุดในบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งมีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนสุดท้ายที่เก็บความทรงจำในอดีตไว้ เป็นชาวหมู่บ้านบึงสวางโดยกำเนิด และอยู่มาจนจวนครบศตวรรษในไม่ช้า

พ่อเฒ่าได้เล่านิทานเรื่อง "สินชัย" ให้ฟังด้วยภาษาอีสานโบราณ การเล่าที่ผูกเป็นบทร้อยกรองอย่างไพเราะ ประกอบกับน้ำเสียงที่น่าฟังของพ่อเฒ่า ทำให้ผู้ฟังต่างได้รับอรรถรสของนิทานอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องก็ตาม ในเรื่องนี้การกล่าวถึงเมืองเปียงจัน ซึ่งพ่อเฒ่าบอกว่าหมายถึงเมืองโคราชในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มาจากชาดก และเล่าจำต่อ ๆ กันมาเรื่องเล่าที่เล่าเพื่อความสนุกสนานก็มีบ้าง แต่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้เล่า ซึ่งปัจจุบันไม่มีคนคิดแต่งขึ้นมาใหม่ได้ เมื่อถามถึงความเป็นอยู่เมื่อก่อน พ่อเฒ่าเล่าถึงความลำบากในการเดินทางไปนอกหมู่บ้าน การไปเมืองขอนแก่นใช้เวลาเดินทางเป็นวัน ๆ คนที่ไปต้องพกอุปกรณ์ทำอาหารเพื่อทำกินกลางทางไปด้วย การออกจากหมู่บ้านต้องลุยน้ำข้ามไปอีก เพราะเมื่อก่อนหมู่บ้านบึงสวางนี้เป็นที่สูงมีคลองรอบ ๆ หมู่บ้าน กว่าจะออกจากหมู่บ้านได้ก็ตัวเปียกปอนไปหมด ปัจจุบันการเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกมากกว่าแต่ก่อน การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่ความเป็นอยู่รีบร้อนกว่า ลูกหลานของพ่อเฒ่าออกไปทำงานในเมืองกันเกือบหมด เรื่องเล่าที่มีจึงไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง

ส่วนทาง "พ่อเฒ่าอ้วย" หมอธรรมผู้เชี่ยวชาญการดูดวง ดูฤกษ์ และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้เล่าถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านในแถบนั้นว่า หมู่บ้านบึงสวางเดิมชาวบ้านเรียกว่า "บ้านพระแท่น" กับ "บ้านบักพร้าว" ที่เรียกว่า "บ้านพระแท่น" เนื่องจากในบริเวณบ้านบึงสวางมีซากวัดโบราณที่มีพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป มีลักษณะเป็นแท่นศิลาแลงขนาดใหญ่ บริเวณใกล้ ๆ มีกลุ่มของใบเสมาฝังอยู่จำนวนมาก มีการขุดค้นพบกระดูก และข้าวของเครื่องใช้ของคนโบราณในบริเวณนี้ ปัจจุบันพระแท่นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความนับถือเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีพิธีเซ่นผีพระแท่นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

สำหรับชื่อ "บ้านบักพร้าว" มาจาก แต่เดิมที่บริเวณนี้มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนชื่อบึงสวางเป็นชื่อที่ทางราชการใช้เรียกในภายหลัง สันนิษฐานว่ามาจากการที่มีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าหมู่บ้าน หมู่บ้านโนนเขวา เป็นบริเวณที่สูงแตกต่างจากส่วนอื่น ๆ และมีพืชขนาดเล็กลักษณะใบกลมมนเป็นสีเขียว และมีขน เรียกว่า "ต้นเขวา" ขึ้นอยู่ทั่วไปจึงเรียกว่า "หมู่บ้านโนนเขวา" เหมือนกับ "หมู่บ้านหนองบัว" ซึ่งได้ชื่อมาจากบึงใหญ่กลางหมู่บ้านที่มีอยู่เต็มบึง

"แม่เฒ่าผง" หญิงชราวัย 74 ปี เล่าเรื่องบักอึ่ง และบักเอียดให้ฟัง ในเรื่องเล่าถึงบักอึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับบักเอียด วันหนึ่งบักอึ่งไปตีผึ้งคนเดียว อยากให้เพื่อนเห็นผึ้งด้วยจึงใช้ผ้าห่อรังผึ้งกลับมาในหมู่บ้าน บักเอียดถามว่าในห่อผ้าเป็นอะไร บักอึ่งก็ยื่นให้ บักเอียดเอาหน้ามุดเข้าไปดูในห่อผ้าเลยโดนผึ้งต่อย ตกใจปล่อยห่อผ้าทิ้งผึ้งก็กรูกันออกมาบินไปทั่วหมู่บ้าน ทำความเดือดร้อนให้กับคนในหมู่บ้าน จากเรื่องเล่าที่แม่เฒ่าผงเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องที่สนุกสนาน แต่ถ้าคิดย้อนกลับไปคนรุ่นก่อนอาจจะพยายามบอกว่า ผึ้งเป็นสัตว์ที่อันตราย การตีผึ้งก็เป็นเรื่องที่ควรทำด้วยความระมัดระวัง ถ้าทำเล่น ๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็จะนำความเดือดร้อนมาสู่ผู้อื่นไปด้วย

จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ในอดีตชาวบ้านสามารถเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งเงิน ทุกบ้านทำนาเพื่อเก็บไว้กินตลอดปี มีผักริมรั้วและพืชจากป่าเป็นแหล่งอาหาร เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นแหล่งโปรตีน ค่าใช้จ่ายประจำวันแทบจะไม่มี การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่เร่งร้อน แต่ในปัจจุบันการอยู่กับบ้านเฉย ๆ ก็ยังมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น ซึ่งเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่สังคมเมืองพยายามยัดเยียดให้ จากความจำเป็นทางเศรษฐกิจนี้เอง มีส่วนให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวห่างเหินออกไป การถ่ายทอดความรู้ในการดำรงชีวิต ถูกยกภาระไปให้กับการศึกษาในโรงเรียน เรื่องเล่า และนิทานกลายเป็นสิ่งไร้สาระที่เบียดบังเวลาในการทำมาหากิน

ในอนาคต เรื่องราวที่ได้รับฟังจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้คงสูญหายไป เพราะไม่มีผู้มาสืบทอดเรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวาด้วยการเล่าที่ชวนฟัง คงจบลงพร้อมกับการจากไปของคนรุ่นนี้ ส่วนเรื่องเล่าคงต้องย้ายตัวเองเข้าไปพักผ่อนในห้องแถวหนังสือที่เงียบเหงา รอการกลับมาเปิดอ่านของคนรุ่นหลังต่อไป

3.4.2 สถาบันครอบครัวของชาวอีสาน

ในสมัยก่อน ครอบครัวของชาวอีสานเป็นครอบครัวใหญ่ นอกจากพ่อ แม่ และลูก ซึ่งมักมีกันครอบครัวละหลายคน อาจมีปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พี่ ป้า น้า อา อาศัยอยู่รวมกัน ลูกโต ๆ ที่ออกเรือนแล้วก็ยังไม่แยกไปสร้างบ้านของตนในระยะแรก แต่จะรอกระทั่งมีบุตรสักสองถึงสามคนก่อน หรือกระทั่งพี่น้องคนถัดมาแต่งงานพาเขยรองมาอยู่ด้วยอีก สมาชิกของบ้านเหล่านี้ทำอะไรก็ทำด้วยกัน มีเรื่องอะไรก็ปรึกษาหารือกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ตลอดเวลา ทุกคนมีหน้าที่ต่าง ๆ กัน ผู้เฒ่าผู้แก่ทำหน้าที่ดูแลบ้าน ช่วยเลี้ยงดูหลานที่ยังเล็ก และให้อาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนเด็กนั้นหากพอช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ก็จะรับหน้าที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย และติดสอยห้อยตามพ่อแม่ลงมา รวมทั้งช่วยงานกระจุกกระจิกเท่าที่เด็กเล็ก ๆ จะทำได้ เช่น การจักตอก หรือ การเป็นลูกมือในการทอเสื่อ เป็นต้น เมื่อโตขึ้นก็ต้องรับผิดชอบต่องานที่ยากขึ้น มารดาจะเริ่มสอนลูกผู้หญิงในเรื่องงานครัว รวมไปถึงการเลี้ยงไหม และท่อผ้าด้วย ส่วนเด็กชายจะเริ่มหัดูแลสวน บ้างก็ไถนาเป็นตั้งแต่ตัวยังไม่โต งานเหล่านี้เด็ก ๆ ชาวอีสานเรียนรู้จากการเข้าไปใกล้ชิดกับพ่อแม่ และช่วยหยิบจับไปเรื่อย พ่อแม่เอ็นดูเข้าก็สอนให้เป็นการเรียนรู้โดยไม่ต้องใช้กระดานดำ และห้องเรียน สำหรับงานที่เป็นล่ำเป็นสันจะตกเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะลูกสาว ลูกเขย และลูกโต ๆ ที่ยังไม่แต่งงาน เช่นการดำนา การถอนกล้า ส่วนการเกี่ยวข้าวนั้นเด็ก ๆ เองก็อาจเริ่มฝึกฝนได้ไม่ยากนัก (ก่อ สวัสดิ์พานิชย์ , 2534)

ด้วยเหตุที่คนอีสานอยู่กินกันอย่างใกล้ชิดถึงขนาดนี้ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจึงเป็นเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่นั้นสนิทแน่นแฟ้นมาตั้งแต่เด็กยังเป็นทารก มารดาทุกคนเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตน (ก่อ สวัสดิ์พานิชย์ , 2534) ทั้งมารดา บิดา และปู่ย่า ตายาย ที่อยู่ในบ้านเดียวกันจะมาช่วยเลี้ยงประคบประหงมเด็ก โดยเฉพาะพี่ที่เป็นผู้หญิงจะทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงดูน้องแทนมารดา เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่ไปมาหาสู่กันเป็นปกติก็มักมาช่วยเลี้ยงดูด้วย บ้างก็นำลูกเล็ก ๆ ของตนมานั่งคุยเล่น เลี้ยงอยู่ด้วยกันที่ลานบ้านนั่นเอง

ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา หมู่บ้านได้เปลี่ยนตนเองตามกระแสสังคมเมือง กระแสเศรษฐกิจ และกระแสวัฒนธรรมภายนอก ว่ากันว่าสภาพอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยดังเดิม ประชากรหมู่บ้านที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวเริ่มออกเดินทางไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งส่วนมากได้แก่ในเมืองหลวง บ้างก็ทำงานรับจ้างเป็นช่วง ๆ เช่นไปรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตในจังหวัดอื่น และพักค้างแรมอยู่ที่นั่นคราวละนาน ๆ หมู่บ้านที่เคยครึกครื้น มีผู้คนเดินผ่านไปมา ทักทรายปราศรัย และช่วยกันทำมาหากิน ก็เงียบเหงาซึมเซาลง เหลือแต่ปู่ย่าตายายที่ชราภาพเฝ้าเลี้ยงหลานตัวเล็กที่ยังไม่สามารถไปเข้ากลุ่มเด็กโตที่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนได้ บ้างก็หยิบจับงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เคยมือมาทำ รอรับค่าเลี้ยงดูจากบุตรหลานที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เมื่อไม่มีกิจกรรมเพื่อยังชีพให้ต้องทำ ชาวบ้านที่เหลืออยู่ในหมู่บ้านเหล่านี้จึงมักฆ่าเวลาด้วยการดูรายการทางโทรทัศน์ หรือฟังหมอลำจากวิทยุ แต่ละบ้านก็มีปฎิสัมพันธ์กันน้อยลง เพราะแยกย้ายกันหาความบันเทิงอยู่ในบ้านาของตนเอง มีรายรับเป็นตัวเงินของตนเอง อยากได้สิ่งใดก็จัดสรรเอาจากร้านที่เปิดบริการกันอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อสิ่งของ และทรัพยากรธรรมชาติสามารถจัดหามาได้ลำบากขึ้น อุปนิสัยแบ่งปันกันเป็นนิจสินของชาวบ้านอีสานจึงค่อย ๆ เลือนหายไป แต่ละบ้านมีข้าวของเครื่องใช้ และอาหารการกินเพียงพอสำหรับสมาชิกในบ้านเท่านั้น หากขาดเหลือสิ่งที่จำเป็นใด ๆ ที่ต้องขอความช่วยเหลือกันก็มักจะตอบแทนเป็นปัจจัยเงิน

เด็ก ๆ ชาวอีสานปัจจุบันคล่องตัว และเฉลียวฉลาดขึ้น การเรียนรู้ของพวกเขาได้มากจากเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่ใช่การสั่งสมบ่มเพาะจากครอบครัวดังแต่ก่อน เมื่อถึงวัยเรียนเด็กส่วนมากก็มักเดินทางไปเรียนในตัวจังหวัด ซึ่งต้องจากบ้านไปเป็นระยะเวลานาน ๆ เด็กชาวอีสานปัจจุบันไม่รู้วิธีทอเสื่อ ทอผ้าหรือเลี้ยงไหม ไม่รู้จักการลงข่วง การรักกันชอบกันถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ผู้ใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หนุ่มสาวมักหาเวลาส่วนตัวมาอยู่ด้วยกัน ครั้นจะคิดจริงจังถึงขั้นจะแต่งงาน จึงบอกกล่าวให้ผู้ใหญ่ทราบ สถิติอาชญากรรมทางเพศสูงขึ้น เพราะวัยรุ่นวัยเรียนเหล่านี้อยู่ไกลตาผู้ใหญ่ ไกลจากต้นแบบที่ดีงาม ไกลจากการอบรมสั่งสอนบ่มเพาะศีลธรรม และที่สำคัญที่สุด คือ ไกลจากบิดามารดาที่ไปทำงานอยู่ต่างแดน

ชาวอีสานในปัจจุบันเมื่อแต่งงานแล้ว ก็จะแยกไปตั้งตัวในที่ไกลจากบ้านเดิม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านเก่า ทั้งนี้เพราะมิใช่เพียงความแห้งแล้งของฝนฟ้า และพืชพันธุ์ธัญญาหารเท่านั้น ที่ทำให้พวกเขาต้องออกไปจากภูมิลำเนาเดิม หากแต่ความแห้งแล้งของคน ของน้ำใจที่เคยมีให้แก่กันก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง

3.4.3 การเปลี่ยนแปลงของที่อยู่อาศัย และความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

หากจะกล่าวถึงเอกลักษณ์ของภาคอีสาน สิ่งที่สามารถบอกได้อย่างเด่นชัดคงไม่พ้นลักษณะบ้านเรือน ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งยังยึดถือกันอย่างเคร่งครัดในครอบครัวท้องถิ่น แต่ในยุคสมัยนี้ความเจริญต่าง ๆ ได้เข้ามามีอิทธพลมากขึ้นสิ่งต่าง ๆ ที่เคยมีเคยเป็นอยู่แต่เดิม จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไป จากการศึกษาลักษณะที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านบึงสวาง โนนเขวา บ้านค้อ หนองชาด ซึ่งอยู่ในอำเภอบ้านฝางจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านที่มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้ทราบถึงลักษณะโดยรวมของบ้านในละแวกนี้ดังนี้

ส่วนประกอบของเรือนอีสาน

1. เฮือนใหญ่ หรือเรือนใหญ่มีใต้ถุนโล่งประมาณ 3 ช่วงเสา ภายในเรือนจะแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน

- ห้องเปิง เป็นห้องนอนลูกชาย หัวนอนจะมีหิ้งพระ หรือของเคารพบูชา

- ห้องพ่อแม่ อาจมีฝากั้น หรือเปิดโล่งต่อจากห้องเปิง

- ห้องส่วม เป็นห้องลูกสาว มีฝากั้นทุกด้านค่อนข้างมิดชิด

บริเวณใต้ถุนเรือนใหญ่ จะมีประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ เช่นกั้นเป็นคอกวัวควาย เก็บอุปกรณ์ในการทำไร่ ทำนา ตั้งแคร่ไม้ไผ่ไว้นั่งเล่นนอนเล่นพักผ่อนตอนกลางวัน

2. ชานแดด เป็นชานที่ยื่นโล่งออกมา ไม่มีหลังคาคลุมระดับพื้นชานลดลงจากตัวเรือนที่ใช้นั่งเล่นพักผ่อน และทานอาหารตอนเย็น อาจมีหลายแห่งเช่นด้านหน้า และด้านหลังของเรือนใหญ่

3. เฮือนไฟ (ครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสาทะลุถึงกัน ใช้ประกอบอาหาร และเก็บภาชนะเครื่องใช้ในครัว หลังคาครัวกับหลังคาเรือนจะไม่เกยกัน ควันไฟจากครัวจึงพัดเข้าบ้าน

4. ฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ) มักตั้งอยู่ติดกับชานแดด มีลักษณะเป็นเพิงมีร้านวางโอ่งน้ำดินเผาพร้อมฐานรอง และกระบวยไว้ตักน้ำดื่ม ความสูงพอเหมาะสำหรับยืนตักน้ำดื่ม บริเวณบ้านที่อยู่ใต้เรือนแอ่งน้ำจะมีน้ำขังนองอยู่ตลอดเวลาเป็นที่ที่ลูกหมู เป็ด ไก่ มักออกมาหากิน และเป็นที่ขับถ่าย

การแยกประเภทของเรือนพักอาศัยที่ใช้กันมาแต่อดีต ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างตามชนิดตัวเรือนดังนี้.-

1. เฮือนเกย หรือเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูงตัวเรือนประกอบด้วย

1.1 เฮือนใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

- ห้องเปิง เป็นส่วนห้องนอนลูกชาย ฝาทำหิ้งไว้ตั้งของเคารพบูชา ไม่นิยม กั้นฝา

- ห้องพ่อแม่ จะกั้นฝาหรือไม่ก็ได้

- ห้องนอนลูกสาว จะมีฝากั้นใส่ประตูเรียกห้องส่วม

เฮือนใหญ่มักทำจั่วสูงมุมแป้นไม้ (กระเบื้องไม้) หรือดินขอ (กระเบื้องดินเผา) จะมีชานครัว หรือไม่มีก็ได้ ส่วนฝามีทั้งฝาแอ้มแป้น (ฝา ไม้กระดาน) หรือฝาไม้ไผ่สาน ตามแต่ฐานะทางการเงินของเจ้าของ

1.2 เกย (ชานโล่ง มีหลังคาคลุม)

พื้นเกยจะมีระดับต่ำกว่าพื้นเรือนใหญพื้นเป็นไม้กระดาน ใช้เป็นที่นอนของแขก ที่นั่งเล่น ที่รับแขก ที่ทานข้าว

1.3 ชานแดด (ชานโล่งที่ยื่นออกมา มีระดับพื้นชานที่ลดลงจากตัวเรือน)

ระดับพื้นจะลดต่ำกว่าเกยลงมา ใช้ปูสาดนั่งพักผ่อนหรือทานข้าวเย็น ชานแดดอาจมีด้านหน้า หรือหลังเรือนใหญ่เพื่ออาศัยร่มเงา ซึ่งชานแดดจะมีระเบียงหรือไม่มีก็ได้

1.4 เฮือนไฟ (เรือนครัว)

เป็นเรือนโล่งหลังคาทรงจั่วมุงเป็นเกล็ด ฝาบ้านใช้ไม้หรือขัดแตะแบบโปร่ง เพื่อระบายควันและลมออกมาได้สะดวก มีชานอยู่ใกล้เพื่อวางโอ่งน้ำใต้ถุนใช้เก็บฟื้นแห้ง

1.5 ฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)

เป็นเพิง กระบังหน้ามุงด้วยไม้ ยกระดับหม้อน้ำให้สัดส่วนของเจ้าของบ้าน

2. เฮือนแฝด ประกอบด้วย

2.1 เฮือนใหญ่

2.2 เฮือนแฝด รูปร่างและทรงจั่วทำเลียนแบบเรือนใหญ่ โครงสร้างเรือนทั้งขื่อ และคานจะเป็นชิ้นเดียวกับตัวเรือน ระดับพื้นเสมอกัน ฝาทำแบบเรือนใหญ่แต่ลำลองกว่า เปิดด้านที่เชื่อมกับเกย หรือชานแดดที่จะออกไปสู่ที่เรือนไฟ

2.3 เกย (จะมีหรือไม่มีก็ได้)

2.4 ชานมน คือ ชานแดดที่มีชานเชื่อมต่อระหว่างเรือนใหญ่กับเรือนไฟ ส่วนใต้ถุนของชานมักเตี้ย และไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้

2.5 เฮือนไฟ

2.6 ฮ้างแอ่งน้ำ

3. เฮือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูง เฮือนโข่งมีขนาดย่อมกว่าจั่วเฮือนใหญ่ ไม่นิยมมีเกย ประกอบด้วย

3.1 เฮือนใหญ่

3.2 เฮือนโข่ง ทำจั่วแบบเฮือนใหญ่ อาจอยู่ชิดหรือห่างกันมีรางน้ำเป็นตัวเชื่อม โครงสร้างเรือนโข่งจะแยกออกต่างหากทั้งหลังคาและพื้น พื้นจะลดระดับหรือไม่ก็ได้ ผนังจะกั้นเพียงบางส่วน แต่จะมีเสารับต่างหาก สามารถรื้อถอนไปปลูกใหม่ได้

3.3 ชานแดด อาจมีชานเดียวหรือมีชานมนด้วยก็ได้

3.4 เฮือนไฟ

3.5 ฮ้างแอ่งน้ำ

บ้านโดยมากมักสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เสาถากจากแก่นไม้เนื้อแข็งพื้นปูด้วยกระดานไม้เนื้อแข็งแผ่นใหญ่ พื้นที่ปูไม่ต้องตอกตะปูฝาบ้านใช้ไม้ยางเป็นส่วนใหญ่ บางบ้านใช้ไม้ไผ่ที่จักตอกมาสานเป็นแผ่นใหญ่ ๆ หลังคามุงด้วยหญ้าคา หรือสังกะสีไม่มีฝ้าเพดาน การวางตัวบ้านมักนิยมวางด้านขวางไปตามตะวัน ด้านยาวหันหน้าเรือนไปทางทิศเหนือหรือใต้ เป็นการถูกต้องตามทิศทางของแดดลมเรือนใหญ่หันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ห้องเปิงอยู่ทางทิศตะวันออก นอนหันศีรษะไปทางทิศใต้หรือทิศเหนือ ห้องพ่อแม่อยู่กลาง ห้องส่วมของลูกสาวอยู่ทิศตะวันตก บันไดบ้านต้องหันไปทางเดียวกับหัวนอนของเจ้าของบ้าน ส่วนของเกย เรือนแฝดและเรือนโข่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศใต้ หรือเหนือของเรือนใหญ่

ปัจจุบันลักษณะบ้านได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากที่เคยสร้างด้วยไม้ กลายเป็นสร้างด้วยปูนทั้งหลัง หรือปูนครึ่งไม้ครึ่ง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้มีการทำงานหลักคือ การทำนาซึ่งจะใช้เวลา 4 เดือนในการทำ เวลาที่เหลือจึงใช้รับจ้าง และทำงานทั่วไป อีกทั้งเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในปัจจุบันซึ่งสูงกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ปูนเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เพราะมีราคาถูก และหาง่ายกว่า แต่ต้องเสียเงินให้กับค่าแรงในการก่อสร้างอีก บ้านในปัจจุบันที่ปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ ก็อาจเป็นบ้านชั้นเดียวที่ก่อเสารอไว้ เมื่อมีทุนสำหรับสร้างต่ออีกชั้น หรือเป็นบ้าน 2 ชั้นที่ไม่มีใต้ถุนบ้านเพราะปัจจุบันอากาศแล้ง น้ำท่วมไม่ถึงบริเวณ และไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์ เพราะบางบ้านก็ไม่ได้ทำนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม สามารถเปรียบเทีบลักษณะที่อยู่อาศัยในอดีตกับปัจจุบันได้ดังนี้.-

ส่วนประกอบต่าง

บ้านไทยอีสานในอดีต

บ้านไทยอีสานที่สร้างใหม่

ลักษณะบ้าน

 

 

บันไดบ้าน

 

 

 

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

 

 

 

ครัว

 

 

ห้องน้ำ

 

 

 

ยุ้งข้าว

บ้านไม้ชั้นเดียวมีใต้ถุนสูงไว้เพื่อเลี้ยงวัวควาย และใช้ทำหัตถกรรมพื้นบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นทอผ้าตำสาด

บันไดบ้านจะพาดไปทางเดียวกับหัวนอน(หันทางทิศตะวันออก) ถ้าสวนทางกับหัวนอนถือว่าเป็นการไม่เคารพเจ้าของบ้าน

มีเขตของเปิงอยู่ทางทิศตะวันออก บางบ้านทำเป็นห้องพระ เพราะเป็นส่วนศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน ถือว่าไม่ให้คนนอกเดินผ่านไปมา

มีครัวอยู่บนบ้าน ซึ่งจะมีระดับที่ต่ำกว่าพื้นบ้านมีตุ่มวางบริเวณระเบียงข้าง ๆ ครัวไว้อาบน้ำ มีหลังคามุง

เมื่อก่อนไม่มีห้องน้ำใช้ จึงใช้วิธีลงทุ่งกัน

 

 

ยุ้งข้าวตั้งอยู่ริมรั้วบ้านทางทิศตะวันตก เมื่อสร้างยุ้งแล้ว ห้ามสร้างอย่างอื่นทับยุ้ง ถือว่าไม่ดีทำให้เจ้าของบ้านไม่สบาย

เป็นบ้านปูนชั้นเดียว หรือ 2 ชั้นไม้ผสมปูนไม่มีใต้ถุนเพราะบางบ้านก็ไม่เลี้ยงวัวควาย

ไม่ถือเรื่องทิศทางการวางบันใด และเอาเรื่องความสะดวกเป็นหลัก

 

พื้นที่ในบ้านจะแบ่งให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ส่วนของเปิงจึงลดไป

 

ครัวจะอยู่ชั้นเดียวกับบ้านหรืออยู่ใต้ถุนบ้านเพราะไม่ค่อยมีการเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนแล้ว

มีการสร้างห้องน้ำใหม่ เพราะมีอสม. เข้ามาดูแลเรื่องสาธารณสุข มีการสร้างส้วม และมีโอ่งประจำบ้าน

บางบ้านยังมียุ้งข้าวอยู่ แต่บางบ้านที่มีอาชีพรับจ้างแทนการทำนาก็ไม่มียุ้งข้าว

 

 

 

ส่วนประเพณีที่ยังเหมือนเดิม ยังมีคนนับถือ และชื่ออยู่คือ เรื่องของการขึ้นบ้านใหม่ ไม่ว่าบ้านที่สร้างมาแต่เดิมหรือสร้างใหม่ อย่างไรก็จะยังมีพิธีลงเสาบ้างที่เป็นพิธีท้องถิ่น และความเชื่ออื่น ๆ ในขั้นตอนการปลูกสร้างบ้าน

วิธีเลือกเสาเรือน

เสาแรก (เสาเอก) เป็นเสาที่มีความสำคัญในการปลูกเรือน โดยเลือกเอาไม้ที่เกิดในที่ราบเรียบ ลำต้นเกลี้ยงใบดก มีสัตว์อาศัยอยู่มาก ควรนำมาทำเสาแรก เจ้าของบ้านจะอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง

ไม้ต้องห้ามในการสร้างเรือน

ไม้ที่จะเอามาทำเสา หรืออุปกรณ์สร้างบ้านเรือน จำเป็นต้องเลือกที่โบราณไม่ห้ามส่วนไม้ที่ห้ามนำมาสร้างบ้านได้แก่ ไม้ที่ตัดในฤดูฝน ไม้ที่เกิดบนจอมปลวก ไม้จมดินฝังอยู่ในหนองน้ำ ไม้ขอนที่ล้มเอง ไม้ใกล้เจ้าปู่ ไม้ใกล้ผีเสื้อเมืองทรงเมือง ไม้ใกล้หอใกล้นา ไม้จากต้นบุก ไม้ที่เสียดสีกันอยู่ตลอดเวลา

ข้อห้ามเกี่ยวกับการสร้างเรือน

ชาวไทยอีสานในสมัยโบราณมีข้อห้ามเกี่ยวกับการสร้างบ้านเรือนไว้ ดังนี้.-

1. ห้ามปลูกเรือนในที่น้ำบ่อแก้ว (บ่อน้ำที่ขุดให้คนทั่วไปใช้ร่วมกัน) ห้ามถมบ่อน้ำ เพื่อปลูกสร้างบ้าน หากปลูกทับในบริเวณนั้นจะฉิบหายต่อเจ้าเรือน

2. ห้ามปลูกเรือนทับบริเวณที่เคยเป็นยุ้งข้าว

3. ห้ามปลูกเรือนทับจอมปลวก

4. ห้ามปลูกเรือนทับตอไม้ใหญ่

5. ห้ามปลูกเรือนในที่สระน้ำ หนองน้ำ

6. ห้ามนำเรือนสองหลังมาปลูกรวมกันเป็นหลังเดียว

7. ห้ามรื้อหรือลดเรือนลงเป็นกระต๊อบ

8. ห้ามปลูกเรือนล้มลุก (เรือนที่เพิ่งรื้อในวันนั้น แล้วปลูกสร้างใหม่ในวันเดียวกัน

9. ห้ามปลูกเรือนแทงห้อง (ต่อเรือนออกมาจากห้องกลาง ยื่นมาด้านหน้าหรือหลังของเรือน)

การสร้างบ้านแบบโบราณจะปลูกแบบลงแขก โดยขอแรงชาวบ้านมาช่วยประมาณ 10-20 คน โดยเจ้าบ้านเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้พร้อม และจัดเตรียมอาหารไว้ให้ โดยในการลงเสาก็จะจัดสิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อว่าเป็นมงคลในการสร้างบ้าน เช่น ในการลงเสาเอก จะใช้กวัก (อุปกรณ์หนึ่งในการทอผ้า) ผูกเอาไว้เพื่อถือเคล็ดว่ากวักเงินทองเข้าบ้าน ส่วนในการลงเสาไท จะผูกไทรซึ่งข้างในใส่เงิน ใบยอ ใบคูณเอาไว้ หมายถึง ให้มีโชคชัยเข้ามาในบ้าน มีคนให้เกียรติมีเงินเพิ่มพูน

ส่วนบริเวณหลุมที่เตรียมลงเสาจะใส่ ใบบัว ใบคูณ ใบยอ เงิน 9 บาท หอยขม เทียนคู่ ดอกไม้ไว้ทุก ๆ หลุม โดยจะมีคำพูดโบราณที่เป็นสิริมงคลพูดในพิธี และต้องพูดขอย้ายแม่ธรณีจากอยู่ใต้ถุนบ้านไปอยู่ริมรั้วบ้านเพื่อให้ปกปักรักษาบ้าน สิ่งของที่ใช้ผูกเสาเอกเสาโทจะผูกไว้ 3 วันจึงจะเอาออกได้

จากลักษณะต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาพอจะสรุปแนวทางการเปลี่ยนแปลงของสิ่งก่อสร้าง หรือที่อยู่อาศัยในอนาคตได้ดังนี้.-

1. เป็นไปได้ว่าคนในหมู่บ้านแถบนี้ จะอพยพไปหาที่ ๆ เจริญ และสะดวกสบายขึ้น มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ขึ้น ดังนั้นอาจไม่ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน การปลูกสร้างบ้านอาจไม่เกิดขึ้นอีก หรืออาจเกิดขึ้นแต่มีลักษณะแบบเดิม ๆ

2. ชาวบ้านได้รับอิทธิพลความเจริญจากในเมืองมาก อาจสร้างบ้านเป็นทรงหรือแบบต่าง ๆ ตามสมัยนิยมในเมืองหลวงแทนบ้านแบบปัจจุบัน

3. ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยตามแบบปัจจุบัน คือ ใช้ปูนทั้งหลัง หรือปูนครึ่งหลัง และถ้ามีวัสดุก่อสร้างใด ๆ ที่มีราคาถูกกว่าก็จะใช้อย่างนั้น เพราะเศรษฐกิจ และฐานะของครอบครัวมีส่วนในการตัดสินใจเป็นอย่างมาก

3.4.4 การศึกษาไทยในชนบท

ความหมายของการศึกษาที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1. "การศึกษาคือชีวิต ไม่ใช่เป็นการเตรียมเพื่อชีวิต" คือ ผู้เรียนได้ประโยชน์จากการศึกษาในปัจจุบัน สามารถปรับตัว และเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เป็นการเตรียมสำหรับอนาคต เพราะสังคมย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

2. "การศึกษาคือความเจริญงอกงาม" คือ งอกงามใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้ทั้งสี่ด้านมีความสมดุลกัน มนุษย์จึงจะมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และมีคุณค่าต่อสังคม

3. "การศึกษาเป็นรากฐานของความเจริญของบุคคล และประเทศชาติ" คือเมื่อแต่ละคนมีการศึกษาดี รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน สังคมส่วนรวมก็ย่อมเจริญ และพัฒนาไปได้

4. "การศึกษาคือการแก้ปัญหาของมนุษย์ เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ประเสริฐ หรือสิ่งที่ดีที่สุดที่ชีวิตพึงได้มีอิสรภาพสมบูรณ์" หมายความว่า เราสามารถใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา และสามารถเข้าถึงสิ่งทั้งปวงได้

รูปแบบการศึกษา

1. การศึกษานอกระบบโรงเรียนแบบไม่มีแบบแผน (Informal Education) เป็นการศึกษาเพียงพอที่จะทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

2. การศึกษานอกระบบโรงเรียนแบบมีแบบแผน (Non-formal Education) เกิดขึ้นเมื่อมีมนุษย์มีความเจริญมากขึ้น จำเป็นต้องถ่ายทอดอาชีพโดยตรง โดยเหตุที่ทุกคนตระหนักดีว่า การศึกษาในระบบไม่เป็นการเพียงพอ และไม่สะดวก จึงต้องมีการศึกษานอกระบบแบบมีแบบแผนขึ้น เช่น การเรียนช่างพิมพ์ดีด ตัดเสื้อ

3. การศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) เกิดขึ้นเมื่อสังคมสลับซับซ้อนขึ้น สถาบันครอบครัว และสังคมไม่อาจให้การศึกษาแก่เยาวชนเพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โรงเรียนจึงเกิดขึ้นตามความต้องการของสังคม โดยมีหน้าที่ให้การศึกษาแก่เด็กให้พวกเขา สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้

จุดมุ่งหมายของการศึกษา

เปรียบเสมือนหางเสือที่จะนำเรือให้แล่นตรงไปได้อย่างมีทิศนทาง จุดมุ่งหมายของการศึกษามีหลายระดับ ต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมคนให้อยู่ในลักษณะสังคม และวิถีชีวิตที่ต่างกันได้ นอกจากนี้การดำเนินงานด้านการศึกษาจะต้องไม่ลืมจุดมุ่งหมายในระดับต่าง ๆ ด้วย และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการวางจุดมุ่งหมาย หรือแผนการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ

1. สภาพ ลักษณะ และปัญหาของสังคม

2. แนวศาสนา จริยธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่มีอินทธิพลอยู่สังคม

3. วิถีชีวิต รวมทั้งแนวความคิด และค่านิยม หรือปรัชญาของคนในสังคม

4. แนวคิดของนักปรัชญาแท้ และปรัชญาการศึกษา

พื้นฐานการศึกษา

1. พื้นฐานการศึกษาด้านเศรษฐกิจนั้น มีผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษา เพราะถ้ามนุษย์ยังเสนอความต้องการทางวัตถุเบื้องต้นที่จำเป็นของตนไม่เพียงพอ มนุษย์ก็ไม่สามารถปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นได้

2. พื้นฐานการศึกษาทางด้านการเมืองการปกครอง โดยเป็นการสอนเรื่องระบบการเมือง การปกครองเพื่อให้ประชาชนของประเทศเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้

3. พื้นฐานการศึกษาทางด้านศาสนา โดยที่ศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ จะเป็นแนวทางเพื่อใช้สอยให้คนเป็นคนดี จะมากหรือน้อยก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละสังคม

4. พื้นฐานการศึกษาทางด้านปรัชญา เพราะการจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงสภาพลักษณะ และปรัชญาของคนในสังคมด้วย จึงจะจัดการศึกษาได้สอดคล้องบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้

5. พื้นฐานการศึกษาทางด้านจิตวิทยา เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับครู และนักการศึกษาเพื่อจะได้เข้าใจในตัวผู้เรียน นอกจากเรื่องการพัฒนาการของมนุษย์ทั้ง 4 ด้าน และอิทธิพลทางชีวภาพ สังคมภาพ นิเวศภาพ และเข้าใจกระบวนการศึกษา ซึ่งเรื่องจิตวิทยามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ในสังคมเป็นอย่างมาก

6. พื้นฐานการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี่ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ จำเป็นที่การศึกษาต้องมีการจัดหลักสูตรด้านที่ให้มนุษย์ได้เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่อยู่เสมอ มีการค้นคว้าปรับปรุง และนำเอานวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องมืองวิทยาการอันทันสมัยมาใช้มากขึ้น

7. พื้นฐานการศึกษาทางด้านสังคม โดยที่โครงสร้างของสังคม เช่น ชนชั้น วรรณะ เพศ การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มีบทบาทต่อการศึกษา ในอินเดียก็มีระบบชนชั้นวรรณะ ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน คือ มีคนชั้นสูง ชั้นกลางข้างสูง ชั้นกลางข้างต่ำ และชั้นต่ำ โดยคนชั้นสูงนิยมส่งบุตรหลานให้ศึกษาในโรงเรียนราษฐร์ที่มีชื่อเสียง เพื่อเตรียมศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่อไป ส่วนคนชั้นกลาง และชั้นต่ำจะส่งบุตรหลานให้เข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ ซึ่งคุณภาพของโรงเรียนทั้งสองชั้นมีความแตกต่างกัน โดยโรงเรียนที่บุตรหลานของคนชั้นต่ำเข้าศึกษาจะมีคุณภาพด้อยกว่า

เพศ

การศึกษาของแต่ละเพศ มักจะจัดใหั้สอดคล้องกับหน้าที่ที่รับผิดชอบในสังคม สมัยก่อนผู้หญิงมักจะได้รับการศึกษาน้อยกว่าเพศชาย เพราะสังคมสมัยก่อนถือว่าผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว และสังคมยังไม่ซับซ้อนเท่ากับสังคมสมัยนี้ แต่ปัจจุบัน สังคมเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงสามารถเลือกเรียน เลือกประกอบอาชีพอะไรก็ได้ตามที่ตนชอบและถนัด

จากการออกสำรวจภาคสนามในเขตหมู่บ้านทั้งสี่ คือ บ้านบึงสวาง บ้านโนนเขวา บ้านค้อ และบ้านหนองชาด ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เราสามารถเห็นถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้.-

1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับเด็กอายุตั้งแต่ 3-5 ปี เป็นการเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กโดยพื้นที่ตั้งอยู่ที่บ้านโนนเขวา เริ่มเปิดดำเนินการวันที่ 1 มกราคม 2537 โดยผู้ใหญ่บ้านชาลี

2. โรงเรียนระดับประถมศึกษา มีโรงเรียนไตรมิตรวิทยาคารที่อยู่บ้านบ้านโนนเขวา โรงเรียนบ้านค้อ เป็นต้น โดยรับเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป เข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล ป.1, ป.2, ป.3, ป.4, ป.5 และ ป.6 นักเรียนทั้งหมดมีจำนวน 152 คน ครูทั้งหมดมีจำนวน 9 คน ซึ่งครูจะสอนทุกระดับชั้น นอกจากนี้ในเรื่องวิชาการทางโรเงรียนก็ไม้มุ่งเน้นไปพร้อมกับการมีกิจกรรมเสริมหลักสูตร อันได้แก่ กิจกรรมเชิงวัดคุณภาพการศึกษา ห้องสมุดโรงเรียน โครงการนิเทศภายใน โครงการอาหารกลางวัน โครงการอนามัยโรงเรียน โครงการเสริมวินัยโรงเรียน ปรับปรุงอาคารสถานที่ โครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน โครงการชุมชนสัมพันธุ์ โครงการประชุมรวมการศึกษา โครงการพัฒนาบุคคล

จากการสัมภาษณ์บุคลากรทางการศึกษา โดยเริ่มจากครูใหญ่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาคาร และบรรดาครูในโรงเรียนไตรมิตรวิทยาคาร เป็นแนวในการวิเคราะห์สภาพที่เป็นอยู่ รวมความได้ว่า ในด้านวิชาการทางโรงเรียนได้ให้ความสำคัญพอสมควร ควบคู่การส่งเสริมด้านด้านวิชาชีพ ให้มีการทำแปลงปลูกผักในแต่ละชั้น ให้มีการเล่นกีฬา กิจกรรมโต้วาที กิจกรรมด้านศีลธรรม ด้านวัฒนธรรม กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมในงานสำคัญต่าง ๆ และอื่น ๆ โดยในหลาย ๆ ส่วนนี้ ทางพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียน ก็ได้ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของทางโรงเรียนเป็นอย่างดี ความรู้ที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาจะได้รับนั้ จะเป็นการเรียนเพื่อนำไปให้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาชีวิต เป็นการพัฒนาตนเองให้มีความเจริญในด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ มีมนุษย์สัมพันธุ์ที่ดีกับบุคคลอื่น สามารถเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวในหมู่บ้านแถบนี้ไม่ค่อยดีนัก กำลังสนับสนุนเพื่อให้ลุกหลานได้มีการศึกษาที่สูงขึ้น จึงมีขอบข่ายที่สำคัญอยู่เฉพาะครอบครัวที่มีฐานะดีค่อข้างดีซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่ แม้ว่าตัวเองจะมีความมุ่งหวังอันแรงกล้า แต่ติดที่ทุนในการเล่าเรียนที่มีแรงสนับสนุนจากภายนอกที่น้อยมาก ประกับสภาพฐานะทางการเงินของผู้ปกครองผลก็คือ มีเปอร์เซ็ฯต์ของการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เช่น ที่โรงเรียนบ้านเหล่านาดี และโรงเรียนในขอนแก่นทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย หรือสายอาชีด คิดเป็น 60% อีกประมาณ 40% มักจะรอคอยการรับจ้างของพวกโรงงานแหอวน โรงงานทำร้องเท้า เดินทางไปตัดอ้อยที่จังหวัดกาญจนบุรี งานก่อสร้าง และงานรับจ้างอื่น ๆ เป็นต้น

3. โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย โดยในเขตพื้นที่ 4 หมู่บ้านนั้นอยู่ในเขตการศึกษาระดับมัธยมของโรงเรียนบ้านเหล่านาดี และโรงเรียนนครขอนแก่น การเรียนในระดับนี้จะเป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาคุณธรรม ความรู้ ความสามารถ และทักษะต่อจากระดับประถมศึกษา และสามารถประกอบการงานตามความถนัด และวัยของตนได้ ในระดับมัธยมตอนศึกษาตอนปลายจะมุ่งให้เด็กมีพื้นฐานทางความรู้ เพื่อการศึกษาต่อ หรือเพียงพอแก่การประกอบอาชีพทั้งอิสระและรับจ้าง คิดเปอร์เซนต์การเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้ 40% และมัธยมศึกษาตอนปลายได้ประมาณ 47% นอกนั้นอีก 13% ก็เป็นการรับจ้างทั่วไป

4. การศึกษาระดับอุดมศึกษา ในเขตหมู่บ้านทั้ง 4 นั้น มีจำนวนผู้ศ฿กษาต่อหลังระดับมัธยมศึกษาตอนปลายน้อยมาก

5. การจัดการศึกษาตามแนวระบบโรงเรียน เนื่องจากติดในเรื่องงบประมาณสนับสนุนจากภาจนอกดังนั้น การจัดการส่งเสริมพวกวิชาชีพทั่วไปจึงไม่ได้รับการสนับสนุนดังเช่นที่ผ่านมา

3.4.5 อิทธิพลของเทคโนโลยี่ในชนบท

คำว่า "เทคโนโลยี่" ในพจนานุกรมศัพท์ภาษาอังกฤษทั่ว ๆ ไป อธิบายไว้ว่า หมายถึงวิทยาศาสตร์ของอุตสาหกรรมศิลป์ (Science of Industrial Arts) วิทยาศาสตร์ คือ ศาสตร์หรือความรู้ที่สามารถหาหลักฐาน หรือเหตุผลมาอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ส่วนอุตสาหกรรมศิลป์เป็นการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ที่มีศิลป์ ดังนั้น เทคโนโลยี่คือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่มีศิลปะ และกระทำโดยอาศัยหลักแห่งวิทยาศาสตร์ โดยเทคโนโลยี่จะมีลักษณะที่สำคัญบางประการดังนี้

1. เทคโนโลยี่เป็นสิ่งที่มุนษย์สร้างขึ้น และเป็นสิ่งที่เพิ่มความสามารถของมนุษย์

2. เทคโนโลยี่อาจเป็นสิ่งที่เป็นวัตถุ และสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุก็ได้ การสร้างและซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยี่ที่ไม่ใช่วัตถุ แต่ตัวเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สร้างขึ้นมา และนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้านั้นเป็นเทคโนโลยี่ที่เป็นวัตถุ

3. เทคโนโลยี่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มีอานุภาพ หรือเป็นสิ่งที่ใหญ่โตที่สร้างอย่างสลับซับซ้อน สิ่งของเล็ก ๆ และไม่ต้องปรับปรุงสร้างสรรค์ให้วิจิตรพิสดารก็เป็นเทคโนโลยี่ เช่น ก้อนหิน ที่นำไปเอาใช้ในการล่าสัตว์ ท่อนไม้ขนาดพอเหมาะมือที่นำเอาไปชุดเผือกมันก็เป็นเทคโนโลยี่เหมือนกัน

เทคโนโลยี่ในชนบท

จากการไปศึกษาชีวิตผู้คนในชนบททั้ง 4 หมู่บ้าน คือ บ้านโนนเขวา บ้านบึงสวาง บ้านค้อ และบ้านหนองชาด สามารถแบ่งเทคโนโลยี่ โดยอาศัยหลักเกณฑ์การนำเทคโนโลยี่ไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

เกษตรกรรม

(1) รถไถ

อดีต ชาวบ้านในชนบทจะนิยมใช้แรงงานจากสัตว์ เช่น นำโค กระบือ มาไถนา

ปัจจุบัน จะนิยมใช้รถไถทที่ทำจากเครื่องจักร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ควายเหล็ก" มาใช้ในการไถนา จากการศึกษาทั้ง 4 หมู่บ้านจะไม่พบว่ามีการใช้ โค และกระบือ เป็นแรงงานในการไถนาอีกแล้ว โดยบ้านใครที่ไม่มีรถไถก็จะจ้างรถไถของบ้านที่มี ไปไถนาของตนเป็นฤดูกาลไป โดยค่าจ้างแล้วแต่จะตกลงกัน จากการสอบถามมาจะคิดไร่ละประมาณ 300-400 บาท

อนาคต คาดว่าจะใช้รถไถมากขึ้น จนชาวบ้านจะไม่กลับไปใช้แรงงานจากสัตว์อีกต่อไป

(2) เครื่องสูบน้ำ

อดีต ชาวบ้านในชนบทจะนิยมไปตักน้ำจากบ่อธรรมชาติที่ขุดโดยมนุษย์มาใช้ในการทำไร่ทำนา

ปัจจุบัน ได้มีการใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อให้สูบน้ำได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเวลาเดิม หรือบางบ้านที่ใกล้แหล่งน้ำก็มีการขุดวางท่อต่อเข้านาตนเองเลยก็มี แต่เนื่องจากบางปีในแหล่งน้ำจะแห้งมาก ทำหใน้ำที่จะระยายเข้าไร่ หรือนาเลยไม่มี จึงมีการใช้เครื่องสูบน้ำมากกว่าแต่ก็ไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก เนื่องจากชาวบ้านคิดว่าไม่จำเป็น

อนาคต คาดว่าน้ำจะมีปริมาณการใช้มากขึ้น แต่คงจะเพิ่มอย่างช้า ๆ เนื่องจากค่านิยมของชาวบ้าน และราคาของเครื่องสูบน้ำก็แพงทำให้ชาวบ้านคิดว่าไม่คุ้มค่าที่จะซื้อมาใช้

(3) เครื่องสีข้าว

อดีต ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านตามชนบทจะมีโรงสีข้าวประมาณ 1-2 โรงเท่านั้น เครื่องที่ใช้ก็เป็นเครื่องรุ่นเก่า ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ

- เครื่องสีแบบ 1 ลูกหิน จะต้องสีข้าว 2 ครั้ง โดยสีครั้งแรกจะเป็นข้าวสารที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องข้าที่สีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้าวสารที่สมบูรณ์

- เครื่องสีแบบ 2 ลูกหิน สีข้าวเพียงครั้งเดียวก็จะได้ข้าวสารที่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่เจ้าของโรงสีจะเลือกใช้ระบบไหนก็แล้วแต่ทุน และความจำเป็น

ปัจจุบัน โรงสีในหมู่บ้านชนบทก็ยังใช้เครื่องสีเก่าอยู่ ทางอำเภอเคยนำเครื่องสีแบบใหม่มาเสนอขาย แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากทางอำเภอต้องการให้ซื้อเงินสดอย่างเดียว ชาวบ้านซึ่งมีกำลังซื้อไม่พอ จึงนิยมใช้เครื่องสีแบบเก่าไปก่อน หรือเจ้าของโรงสีที่ต้องการเครื่องสีใหม่ มักนิยมซื้อจากภาคเอกชนมากกว่า เนื่องจากสามารถซื้อเงินผ่อนได้ และคณภาพจะดีกว่าทางอำเภอ

อนาคต คาดว่าการใช้เครื่องสีแบบเก่าจะยังใช้ไปอีกนาน เนื่องจากเจ้าของโรงสียังขาดทุนในการใช้เทคโนโลยี่เครื่องสีใหม่

หัตถกรรม

(1) เครื่องทอผ้า

อดีต จะนิยมเครื่องจักรง่าย ๆ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ชั่ง ซองลอง , พัดลม โดยใช้หลักของรอกเดี่ยวตายตัวในการปั่นผ้า ส่วนการทอผ้าก็ใช้เครื่องทอผ้าชนิดเก่า

ปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังนิยมเครื่องผ้าแบบเก่าอยู่

อนาคต คาดว่าน่าจะใช้เครื่องทอผ้าแบบเก่าไปอีกนาน จนกว่าจะมีเครื่องชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเครื่องแบบเก่ามาก ๆ เนื่องจากประชาชนนั้นใช้เครื่องแบบเก่ามานานหลายชั่วคน ส่วนการจักสารอื่น ๆ เช่น สานตะกร้า สานแห ยังใช้เทคโนโลยี่เครื่องจักรกลน้อยมาก หรือไม่มีเลยโดยจะนิยมจักสานด้วยมือมากกว่า

อุตสาหกรรม

จากการไปศึกษาทั้ง 4 หมู่บ้าน ยังไม่มีการนำเทคโนโลยี่เครื่องจักรกลมาใช้เลยจึงทำให้ไม่ทราบทิศทางการใช้เครื่องจักรกล

อาชีพอื่น ๆ

(1) เครื่องใสน้ำแข้ง

อดีต จะนิยมใช้เครื่องใสน้ำแข็งแบบมือ

ปัจจุบัน ได้มีการประยุกต์ใช้เครื่องใสน้ำแข็งแบบใหม่โดยใช้หลักการของ สกรูล้อ และเพลา ทำหใมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อนาคต คาดว่า จะมีความนิยมใช้เครื่องใสน้ำแข็งแบบใหม่มากขึ้น เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องใสมือมาก

(2) เครื่องเชื่อมเหล็ก

อดีต นิยมใช้เครื่องเชื่อมเหล็กแบบธรรมดาคือ ใช้ความร้อนให้เหล็กเชื่อมเข้าด้วยกัน โดยมีก๊าชเฉื่อยมาหุ้มก่อตรงจุดที่เชื่อมกัน

ปัจจุบัน ยังนิยมเหมือนในอดีตอยู่

อนาคต คาดว่าจะนิยมเครื่องเชื่อมเหล็กแบบธรรมดาไปอีกนาน เนื่องจากการพัฒนาเครื่องเชื่อมเหล็กในชนบทยังต่ำมาก เพราะบางอำเภอไม่ค่อยนำเทคโนโลยี่ใหม่ ๆ มาถ่ายทอด

(3) หัวจ่ายน้ำมัน

อดีต นิยมใช้หัวจ่ายน้ำมัที่เข้ากับถังน้ำมันโดยตรง โดยผู้ที่จะเติมน้ำมันยานพาหนะจะต้องหมุนด้วยมือเอาเอง

ปัจจุบัน ยังนิยมเหมือนในอดีตอยู่

อนาคต คาดว่าจะยังใช้หัวจ่ายน้ำมันแบบที่ใช้มาไปอีกนานมาก เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านยังไม่มีเงินทุนมากพอ ที่จะใช้หัวจ่ายน้ำมันแบบใหม่ทันสมัยเหมือนในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองที่เจริญ

เทคโนโลยี่เครื่องจักรกลที่ใช้ในการดำรงชีวิต

เครื่องใช้ภายในบ้าน (เครื่องใช้ไฟฟ้า)

อดีต ชาวบ้านในชนบทจะยังไม่ค่อยมีเครื่องใช้ภายในบ้านมากนัก อาจจะเป็นเพราะไม่เห็นความจำเป็นมาก เช่น จะดูหนังกาลแปลงแทนการดูโทรทัศน์ ฟังทรานซิสเตอร์แทนการฟังวิทยุใช้พัดแทนการใช้ความเย็นจากพัดลม ฯลฯ

ปัจจุบัน ชาวบ้านจะนิยมความสะดวกสบายมากขึ้น จึงมีการนิยมซื้อเครื่องอำนายความสะดกต่าง ๆ เข้ามายังบ้านมากขึ้น โดยในแต่ละบ้านในชนบทจะมีเครื่องใช้ที่นิยมมากที่สุด คือ โทรทัศน์ ตู้เย็น และวิทยุ ซึ่งจากการไปศึกษาพบว่า 80% จะมีครบทั้ง 3 อย่าง

อนาคต ชาวบ้านจะยังคงใช้เครื่องใช้ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เนื่องจากค่านิยมในความสะดวกสบายจากสังคมเมืองเริ่มแพร่เข้ามาในชนบทมากขึ้นเรื่อย ๆ และอีกอย่างชาวบ้านเห็นความจำเป็นของเครื่องใช้ไฟฟ้า

ด้านการขนส่ง

อดีต ชาวบ้านจะนิยมเดินทาง หรือขนส่งสิ่งต่าง ๆ โดยใช้พาหนะสัตว์ เช่น กระบือ โค หรือใครที่ไม่ได้เลี้ยงไว้ก็จะใช้การเดินทางด้วยเท้า

ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมใช้พาหนะที่ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น มอเตอร์ไซด์ รถกะบะ ฯลฯ แต่ก็ยังมีบางรายจะใช้แรงงานจากสัตว์อยู่

อนาคต คาดว่าอัตราการใช้ยานพาหนะจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนชาวบ้านจะไม่หันกลับไปใช้แรงงานจากสัตว์อีกเลย แต่อาจจะใช้ระยะเวลานาน

ด้านการสื่อสาร

อดีต ชาวบ้านจะสื่อสารกันโดยการใช้คำบอกเล่าต่อ ๆ กันไป หรืออาจจะเขียนจดหมาย หรือโทรเลขกัน สำหรับโทรศัพท์จะไม่แพร่หลายมากนัก

อนาคต คาดว่าการใช้โทรศัพท์จะมากขึ้น แต่ก็คงไม่มากเท่าการใช้จดหมาย หรือโทรเลขเนื่องจากชาวบ้านนั้นนิยมใช้จดหมาย และโทรเลขมานานแล้วหลายชั่วคน และโทรศัพท์ยังไม่เข้าถึงในชนบทบางแห่ง

น้ำประปา

อดีต ชาวบ้านจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบัน มีการใช้น้ำประปามาประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น แต่มีปัญหาอยู่เนื่องจากน้ำประปาที่ใช้ต่อเข้าบ่อที่ขุดขึ้นส่วนมากในฤดูแล้งน้ำในบ่อจะแห้ง ทำให้ไม่มีน้ำไหลในหมู่บ้าน ชาวบ้านยังจึงคงนิยมใช้แหล่งน้ำธรรมชาติอยู่คือ น้ำบ่อ และน้ำบาดาล

อนาคต คาดว่าน้ำประปาที่ใช้ มีน้ำไหลตลอดฤดูกาล ชาวบ้านก็จะนิยมใช้เนื่องจากสะดวกสบาย แต่ถ้าน้ำประปายังไหลไม่สม่ำเสมอ ชาวบ้านก็ยังจะนิยมใช้น้ำจากธรรมชาติต่อไป

ด้านการใช้พลังงานหุงต้ม

อดีต ชาวบ้านจะนิยมใช้เตาถ่าน

ปัจจุบัน ในแต่ละบ้านของชนบทจะมีเตาแก๊สเกือบทุกบ้าน แต่ความนิยมใช้เตาถ่านยังมากอยู่ เนื่องจากในปัจจุบันราคาแก๊สแพง และในงานบางอย่างก็ไม่เหมาะที่จะใช้เตาแก๊ส เช่น การย่างปลา ทำข้าวจี่ ย่างเนื้อ เพราะไฟจากเตาแก๊สจะแรงไป

อนาคต คาดว่าอัตราการใช้เตาแก๊สจะนิยม หรือไม่ขึ้นกับราคาของแก๊สว่าจะมีแนวโน้มลด หรือเพิ่ม แต่คาดว่าน่าจะยังนิยมใช้เตาถ่านต่อไป เนื่องจากประหยัด และใช้กันมานาน

ด้านการแพทย์

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในชนบทยังไม่ค่อยมี จะมีมากตามโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือประจำจังหวัด

เทคโนโลยี่เครื่องจักรกลที่ใช้ในการศึกษา

ในอดีต และปัจจุบันเทคโนโลยี่ยังไม่แพร่หลายในการศึกษา เนื่องจากขาดงบประมาณจากทางราชการ ทำให้ไม่ทราบทิศทางที่แน่นอน

สรุป ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี่สู่ชนบท จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม ความเหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถเหมาะสมกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม และสภาพความเป็นอยู่ มิฉะนันจะเกิดปัญหาการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาภายในชนบทช่วงสั้น ๆ ซึ่งจะทราบเพียงปัญหาพื้นฐานเท่านั้นคือ

1. ประชาชนในชนบทเคยชินกับการดำเนินชีวิตแบบเดิมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

2. ประชาชนในชนบทยังขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงต่อประโยชน์ของเทคโนโลยีชนิดนั้น

3. การขาดการศึกษา และความรู้พื้นฐาน เพื่อทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งเห็นเป็นเรื่องยุ่งยาก ไปอยากศึกษา

4. การขาดกำลังทรัพย์ที่จะลงทุน เพื่อซื้อ และจัดหาเทคโนโลยี่บางอย่างที่เป็นประโยชน์

5. พื้นฐานทางมวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือค่านิยม ความเชื่อในชุมชน ทำให้เกิดการ ปฎิเสธส่งใหม่ ๆ ในชุมชน

6. ผู้ถ่ายทอดขาดความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และเทคนิควิธีต่าง ๆ ที่จะจูงใจให้รับการถ่ายทอดยอมรับเทคโนโลยีที่เหมาะสม

7. ผู้ถ่ายทอดไม่เข้าใจถึงการใช้เทคโนโลยีเหมาะสม ไม่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในผลการใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ทำให้นำเอาเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมไปถ่ายทอดให้ชาวบ้าน

เทคโนโลยีเป็นเครื่องช่วยเพิ่มความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของมนุษย์ เทคโนโลยีจะเหมาะสมกับท้องถิ่นใด จำเป็นต้องศึกษาถึงปัญหา และความต้องการของท้องถิ่นนั้น แล้วจึงพยายามจัดหา จัดสร้าง ทดลองใช้เมื่อได้ผลแล้ว จึงนำไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้ นำเอาไปใช้ด้วยเทคนิควิธีในการถ่ายทอดที่เหมาะสมจนทำให้เกิดการยอมรับ จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นนั้น ๆ ได้

3.4.6 อาชีพเสริม

จากการสำรวจพบว่า อาชีพหลักของชาวบ้านคืออาชีพทำนา เป็นอาชีพที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะมาร่วมกันทำเป็นประจำทุกปีเมื่อถึงหน้านา แต่การทำนาไม่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น เมื่อยังไม่ถึงฤดูการทำนา ชาวบ้านแทบทุกคนจึงประกอบอาชีพเสริม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้

ในอดีตชาวบ้านมีอาชีพเสริมที่ทำเมื่อไม่ได้ทำนา อาชีพเสริมเหล่านี้คือ ปลูกพืชผักสวนครัวการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า ทำแห ทำอวน เลี้ยงไก่ ซึ่งอาชีพเสริมเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อหวังเงินเป็นการตอบแทน แต่จะเป็นการเอาผลิตผลที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับผลิตผลของชาวบ้านคนอื่น ๆ ผลิตผลเหล่านี้ หากทำได้มากเกินความต้องการของครอบครัวก็อาจจะนำไปขายเพื่อเป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ

นอกจากอาชีพเสริมที่กล่าวมาข้างต้น บางครอบครัวอาจมีการรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างตัดอ้อย หรือทำนาในไร่ของคนอื่นที่มาจ้าง นอกจากนี้ยังมีการนำวัวควายของตนไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งก็จะได้ค่าตอบแทนมา

ส่วนในปัจจุบันนี้ อาชีพเสริมของชาวบ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ โดยพบว่าในปัจจุบัน อาชีพเสริมของชาวบ้านจะเป็นตัวทำรายได้เพื่อการใช้จ่ายของครอบครัว เนื่องจากปัจจุบันนี้ค่าครองชีพ และรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้น จนการทำอาชีพหลักเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับภาระได้ทั้งหมด

จากการศึกษาพบว่า อาชีพเสริมของชาวบ้านในปัจจุบันนี้จำแนกได้ดังนี้

อาชีพเสริมที่เกี่ยวกับสัตว์

การเลี้ยงไก่ : การเลี้ยงไก่ของชาวบ้านเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเอง ชาวบ้านไม่ได้มีการดูแล หรือเพาะพันธุ์ เมื่อไก่ไข่ชาวบ้านก็จะปล่อยให้ฟัก ไม่นำมารับประทาน ถ้าไก่มีมากเกินบริโภคในครอบครัว ก็จะนำไปขาย แต่โอกาสเช่นนี้มีไม่มาก เพราะพอไก่เริ่มจะเยอะก็จะเกิดโรคทำให้ไก่ตาย

จุดประสงค์ของการเลี้ยงไก่ในอดีตถึงปัจจุบันยังคงเหมือนกันคือ เป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภคในครอบครัว ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือไก่ที่ชาวบ้านขายไปนั้น ได้ราคาดี แต่ก็ไม่มีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย อาจเป็นเพราะเกิดโรคขึ้น

การเลี้ยงวัว : การเลี้ยงวัวมีอยู่น้อยมาก อาจเป็นเพราะเป็นสัตว์ใหญ่ค่าใช้จ่ายมาก การเลี้ยงวัวมีจุดประสงค์เฉพาะคือเพื่อขาย หรือบางบ้านก็เลี้ยงเพื่อทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งการเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นี้ รายได้ดีพอสมควร แต่ต้องออกหาตลาดเอง

การเลี้ยงควาย : จุดประสงค์ของการเลี้ยงควาย ก็เพื่อใช้แรงงานโดยเฉพาะในการไถนา ซึ่งเหมือนกันทั้งในอดีต และปัจจุบัน แต่ปัจจุบันการเลี้ยงควายมีน้อยกว่าแต่ก่อนมาก เพราะมีเครื่องจักรเข้ามาแทน นอกจากจะได้ประโยชน์จากการใช้แรงงานแล้ว ควายยังเป็นหลักประกันที่ดีได้เมื่อชาวนาไม่มีเงิน

การเลี้ยงหมู : ทั้งในอดีตและปัจจุบัน การเลี้ยงหมูก็ยังไม่เป็นที่นิยม คงเป็นเพราะจะต้องเสียค่าอาหาร และถ้าหากจะเลี้ยงเพื่อบริโภคเฉพาะในครอบครัวก็คงไม้คุ้มแน่ บางบ้านจึงมีการเลี้ยงหมูเพื่อขาย แต่ขนาดของการเลี้ยงก็ไม่ขยายใหญ่ อย่างมากก็จะมีหมู่ 1 คู่เท่านั้น

การจับปลา : การจับปลานั้นยังพอมีอยู่บ้าง โดยชาวบ้านจะรวมกันเป็นกลุ่มไปจับปลาร่วมกัน แต่มีข้อจำกัดคือฤดูกาล ซึ่งถ้าเป็นหน้าแล้วก็จะไม่ค่อยมีปลา ปลาที่จับได้ส่วนมากมักเก็บไว้กินเองทำปลาร้า เหลือจึงขาย

อาชีพเสริมที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรม

ผู้หญิงแทนทุกครัวเรือนจะมีความสามารถในการทำงานหัตถกรรม ซึ่งได้ทำกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่น่าสังเกตุว่า ในอดีตงานหัตถกรรมเหล่านี้ทำเพื่อใช้สอยเองในครอบครัว แต่ปัจจุบันจุดประสงค์มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเบ็กน้อย ดังนี้

การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม : การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เป็นงานที่ชาวบ้านทำเวลาว่าง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีความแตกต่างกันเล็กน้อย นั่นคือ ในปัจจุบันการสาวไหมขาย มีการนำหนอนไหมที่ได้หลังจากการสาวไหมขายเป็นอาหาร แต่ส่วนใหญ่เส้นไหมที่ได้มันำไปทอผ้าไว้ใช้เองถ้าเหลือเกินพอจึงขาย

ทอผ้า : การทอผ้าของชาวบ้านในปัจจุบันน้อยลง คงเป็นเพราะมีปัจจัยหรืองานอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น ไปรับจ้างมากขึ้น ทำงานอื่นเสริมมากขึ้นจนไม่มีเวลามานั่งทอผ้าเหมือนแค่ก่อน แต่ก็ยังพอมีการทออยู่บ้าง โดยส่วนมากจะเป็นคนแก่ทีอยู่กับบ้านที่นั่งทอ

ตำเสื่อ : ชาวบ้านมักทำไว้ใช้เอง ปัจจุบันไม่ต่อยได้ทำเพราะซื้อใช้สะดวกกว่า

ทำแห ทำอวน : การทำแห ทำอวน ในปัจจุบันมีการทำส่งโรงงาน โดยโรงงานจะเป็นผู้ส่งและมารับไป ซึ่งการทำแหทำอวนส่งโรงงานี้ได้รายได้ดี และมีตลาดที่แน่นอน จึงนิยมทำกันมากโดยเฉพาะคนที่อยู่กับบ้านเฉย ๆ ทำให้มีเวลาไปทำงานหัตถกรรมอื่น ๆ น้อยลง

ทำกระด้ง : จากการทำการสำรวจพบชาวบ้านเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ที่ทำกระด้ง ซึ่งจะทำส่งโรงงานโดยมีโรงงานมาสั่งเช่นเดียวกับการทำแห ทำอวน แต่การทำกระด้งไม่แพร่หลายเท่า ผู้ที่ทำกระด้งมีทั้งชายและหญิง วัสดุในการทำก็ต้องไปหาเอง วัสดุที่ใช้ก็คือไม้ไผ่ซึ่งหาได้จากในป่าแถบนั้น

อาชีพเสริมที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก

การทำไร่ข้าวโพด : การทำไร่ข้าวโพดนี้จะทำควบคู่กับการทำนา ซึ่งปัจจัยสำคัญก็ขึ้นอยู่กับน้ำเช่นเดียวกับการทำนา แต่การทำไร่ข้าวโพดมีจุดประสงค์ต่างจากการทำนา เพราะการทำนานั้นเน้นเพื่อบริโภคเอง และขาย แต่การทำไร่ข้าวโพดจะเน้นการขายมากกว่า บางทีปีไหนน้ำน้อยก็ไม่ได้ทำ

การทำไร่นาสวนผสม : ยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก และยังทำมาไม่นาน มีเพียงบางบ้านที่ทำผลผลิตก็มักจะบริโภคเอง

การปลูกพืชผักสวนครัว : มีชาวบ้านทำพอสมควร จุดประสงค์เพื่อบริโภคเอง มักทำในบริเวณบ้าน หรือขอบบ่อน้ำ พืชที่ปลูกเช่น ผักเสี้ยน พริก

อาชีพเสริมอื่น ๆ

รับจ้าง : งานรับจ้างแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน เพราะคนรุ่นหนุ่มสาวออกไปทำงานรับจ้างกันมากขึ้น ในอดีต เมื่อหมดหน้านาชาวบ้านก็จะทำงานรับจ้างทั่วไป แต่ปัจจุบันอาชีพนี้เป็นล่ำเป็นสันขึ้น เพราะมีโรงงานมากขึ้น งานโรงงานแทบจะเป็นอาชีพหลักของหนุ่มสาวบางคน งานโรงงานที่นิยมกันมากที่สุดในท้องที่สำรวจคือโรงงานทำรองเท้า เนื่องจากโรงงานมาตั้งในแถบน้ำ (ระหว่างปากทางบ้านแดงน้อยกับปากทางด้านสระแก้ว)

นอกจากนี้ไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัด มีทั้งทำงานโรงาน งานก่อสร้างในกรุงเทพฯ รับจ้างตัดอ้อยที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น งานรับจ้างนี้ได้รายได้แน่นอน และนับว่ารายได้ดีถ้าเทียบกับอาชีพที่ต้องใช้แรงงานมากอย่างการเพาะปลูก ดังนั้น งานรับจ้างนี้จึงได้รับความนิยมมาก และมีแนวโน้มที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

งานอิสระ : งานอิสระที่พบเห็นส่วนมากเป็นงานค้าขาย เช่น การขายโรตี ขายกล้วยแขก ขายน้ำแข็งไส น้ำปั่น เป็นต้น งานอิสระนี้มีหลากหลายมาก และไม่ค่อยซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับความคิดริเริ่ม และสร้างสรรค์ของผู้ที่จะทำ

อาชีพเสริมของชาวบ้านดังที่ได้กล่าวข้างต้นทั้งหมดนั้น ถ้าเทีบกับในแต่ละอาชีพก็จะเห็นว่ามีจุดประสงค์เหมือนกันระหว่างในอดีตกับปัจจุบันบางอย่าง นั่นคือ การทำเพื่ออุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน จะต่างกันก็เพียงบางอาชีพที่มีการสั่งจากโรงงาน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความจำเป็นที่ต้องใช้เงินน้อย ชาวบ้านสามารถจัดหาสิ่งของที่ต้องการได้โดยไม่ต้องใช้เงิน โดยเฉพาะในอดีตที่มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน ส่วนมากชาวบ้านก็จะนำข้าวไปแลก หรือไม่ก็ขายข้าวแล้วนำเงินไปซื้อ แต่ในปัจจุบันการขายข้าวเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ และไม่พอที่จะหาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกที่เข้ามาตามความเจริญทางเทคโนโลยี่ อาชีพรับจ้างจึงมากขึ้น เมื่อรับจ้างได้เงินมาใช้สอย ชาวบ้านเริ่มรู้สึกว่าตนสามารถหาซื้อสิ่งของได้โดยไม่ต้องเสียเวลาทำเอง งานหัตถกรรมจึงเริ่มเลือนหายไป จากการพูดคุยกับชาวบ้านทำให้ทราบว่าคนรุ่นใหม่จะทำงานเหล่านี้ไม่ค่อยเป็น ส่วนเด็ก ๆ ก็ไม่สนใจจะทำ

อาชีพเสริมของชาวบ้านที่ไม่ใช้การรับจ้าง นั้นไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ที่ตำบลบ้านเหล่านี้เคยมีการจัดเป็นกลุ่มแม่บ้านในการทำงานหัตถกรรม แต่ก็ต้องเลิกไปเพราะไม่มีตลาดชาวบ้านต่างคนต่างทำงานของตน ไม่ค่อยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ในการประกอบอาชีพเสริมกัน บางอาชีพที่น่าจะทำรายได้ดีจึงมีผู้ทำเพียงไม่กี่ราย

แนวโน้มของอาชีพรับจ้างจะกลายเป็นอาชีพหลัก จากการสำรวจหมู่บ้านบ้านค้อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เจริญที่สุด พบว่ามีการขายนาแล้วไปทำงานในกรุงเทพฯ มากขึ้น ถ้าหากสิ่งนี้เกิดขึ้นกับหมู่บ้านอื่นก็คงน่ากลัวที่วิถีชีวิตแบบชนบทจะสูญหายไป

3.4.7 การปกครองท้องถิ่น

ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องการปกครองท้องถิ่น เราควรทำความเข้าใจการบริหารประเทศของเราเสียก่อน โดยประเทศไทยได้แบ่งหน่วยงานบริหารออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ เรียกการแบ่งนี้ว่า การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการนำนโยบายของรัฐบาลไปปฎิบัติ คือ กระทรวง ทบวง กรม ตั้งแต่รัฐบาลจนถึงกระทรวง ทบวง กรม รวมเรียกว่า ส่วนกลาง การบริหารของส่วนกลางเป็นการรวมอำนาจ นั่นคือรวมการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลาง ในที่นี้คือ คณะรัฐมนตรี ส่วนภูมิภาค คือ ราชการที่ส่วนกลาง (กระทรวง ทบวง กรม) แบ่งแยกออกไปดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ตามการแบ่งเขตการปกครองประเทศ (จังหวัด อำเภอ) ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ จะไม่เหมือนกัน ส่วนกลางจึงแต่งตั้งข้าราชการไปปฎิบัติงานในส่วนภูมิภาค เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ การบริหารส่วนภูมิภาคเป็น การแบ่งอำนาจ คือ แบ่งอำนาจการตัดสินใจยางส่วนของส่วนกลาง ให้ข้าราชการในระดับจังหวัด และอำเภอตัดสินใจแทน ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนที่เราจะมุ่งประเด็นความสนใจมากที่สุดในการศึกษา โดยส่วนท้องถิ่นมีหลักการดังนี้ คือ ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง ตัดสินใจเลือกผู้แทน และผู้บริหารท้องถิ่นของตน และตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะของท้องถิ่นด้วยตนเอง ดังนั้น หน่วยงานปกครองท้องถิ่นจึงมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งก็จะดำเนินนโยบายทีได้แถลงไว้ขณะรณรงค์หาเสียง ประชาชนจึงเป็นผู้กำหนดนโยบายของการบริหารงานท้องถิ่น (ต่างจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดนโยบาย) การบริหารงานส่วนท้องถิ่น คือ หลักการกระจายอำนาจให้กับประชาชนโดยตรง

ความแตกต่างระหว่างการแบ่งอำนาจ กับการกระจายอำนาจ คือ ในการแบ่งอำนาจผู้แบ่งยังคงไว้ซึ่งความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการตัดสินใจ ส่วนการกระจายอำนาจผู้ที่รับมอบอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการ และการตัดสินใจของตนเอง

การมีส่วนร่วมของประชาชน

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า หลักการสำคัญของการปกครองท้องถิ่น ก็คือหลักแห่งการกระจายอำนาจ ด้วยจุดประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชนได้มีอำนาจ และใช้อำนาจในการปกครองท้องถิ่นด้วยตนเอง ซึ่งหลักการนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องอาศัย หลักการมีส่วนรวมของประชาชน อันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะในระดับส่วนกาล ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเป็นเกราะป้องกันการยึดอำนาจไว้ที่ผู้ใดผู้หนึ่งเพียงผู้เดียว

จากการสอบถามชาวบ้านพบว่า ชาวบ้านไม่คิดว่าปัญหาคอรัปชั่นในระดับประเทศของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นปัญหาสำคัญ หากว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้นจะกลับมาพัฒนาความเจริญให้กับหมู่บ้าน เช่น การสร้างถนน ประปา ไฟฟ้า ฉะนันจึงมีสภาพที่พบเห็นได้เสมอว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ซื้อเสียง ยังคงได้รับคุแนนเสียงเลือกตั้งเข้สภานั่นก็เป็นเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้นได้สร้างความเจริญให้กับหมู่บ้าน ในปัจจุบันชาวบ้านมีความสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น เพราะรู้ดีว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านสนใจการเมืองมากกว่าสาเหตุอื่น

สรุป การปกครองท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นโครงสร้างในระดับพื้นฐาน ที่จะช่วยเกื้อหนุนการเมืองในระดับประเทศต่อไป ปัญหามีเพียงว่า ชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องบทบาทหน้าที่ และความสำคัญของตนจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลในการให้ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องการปกครองท้องถิ่น อาจกล่าวได้โดยสรุปว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเลือกตั้งนั้น นับว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นฐานมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสำคัญมากที่สุด การที่จะทำให้ชาวบ้านใส่ใจในเรื่องการเมืองระดับประเทศนั้น ต้องพยายายามทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นเสียก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในจิตใจของชาวบ้านเสียก่อน ถ้าหากสามารถกระทำได้ดังนี้แล้ว การเมืองในระดับประเทศก็จะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

3.4.8 วิถีทางการพทย์เปลี่ยนไป

จากการออกสำรวจภาคสนาม หมู่บ้านโนนเขวา หมู่บ้านบึงสวาง หมู่บ้านค้อ และหมู่บ้านหนอชาดโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง พบว่าการแพทย์ และการสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ 7 ประเด็นดังนี้.-

1. ไสยศาสตร์ในการรักษา

2. การใช้ยา

3. การคลอดบุตร

4. ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์

5. การใช้บริการสถานพยาบาล

6. โรคระบาดที่เคยมี

7. ปัญหาโรคเอดส์

ทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าว ได้นำมาศึกษา และสามารถสรุปได้ดังนี้

1) ไสยศาสตร์ในการรักษา

อดีต หากเกิดการเจ็บป่วย หรือไม่สบายขึ้น ชาวบ้านนิยมใช้ไสยศาสตร์ในการรักษามากกว่าการเข้ารับการรักษาโดยแผนปัจจุบัน เพราะว่า เมื่อก่อนสถานีอนามัยก็ไม่มี การคมนาคมก็ไม่สะดวกหากเกิดการเจ็บป่วยกระทันหันก็ไม่ทันการ ชาวบ้านจึงนิยมใช้ไสยศาสตร์ในการรักษา ซึ่งก็มีรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล ดังเช่น

1. หมอผี - หมอธรรม ชาวบ้านมีความเชื่อว่าอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับใตรก็ตาม เนื่องมาจากการผิดปกติ ผิดสาง การไม่ปฎิบัติตามฮีตตามคอง ทำให้ผีบ้านผีเมืองที่คอยคุ้มครองอยู่ไม่พอใจ จึงลงโทษผู้ที่กระทำผิดให้เจ็บป่วยไม่สบาย หมอผี หมอธรรม ซึ่งเป็นผู้ทรงศีลที่ชาวบ้านเคารพสามารถปัดเป่ารังควานได้ การรักษาในบางรายก็ได้ผล บางรายก็ไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับความแรงของผี และความแก่กล้าของตัวหมอผีหมอธรรมเอง

2. ผีปอบ - ผีฟ้า ผีปอบ คือ ผู้ทำลาย เมื่อเข้าไปสิงสู่ร่างใครแล้วจะทำให้คนนั้นตายในที่สุด ส่วนผีฟ้า คือ ผู้รักษา ทำหน้าที่ไล่ผีปอบให้ออกไป ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องนี้อย่างมาก ทุกคนยืนยันว่าผีปอบมีจริง ผีปอบเป็นคล้าย ๆ วิญญาณของผีที่เข้าไปสิงสู่ในร่างกายของคนบางคน เชื่อกันว่าเจ้าของร่างกายอาจบังคับให้วิญญาณร้ายตนนี้ไปทำร้ายคนอื่นได้ อำนาจร้ายของผีปอบมีต่าง ๆ นานา ส่วนใหญ่ทำให้คนเจ็บป่วยหรือคลุ้มคลั่ง บางคนเพ้อพกพูดจาไม่ได้ความ บางคนเป็นลมหลับไปแล้วละเมอพูดจาไม่ได้เรื่องได้ราว บางคนก็ตีตัวชกหัวโดยไม่มีเหตุผล หากใครที่มีอาการอย่างนี้จะถูกเรียกว่าปอบเข้า ก็จะมีการไล่ผีด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นใช้ลำข่าไล่ฟาด เอาน้ำมนต์ให้ดื่ม กระทืบเท้าพูดจาตะคอกใส่เพื่อให้ผีกลัว หมอผีมักจะไต่ถามคนไข้ว่ปอบใตรมาเข้าร่างกายคนไข้ ถ้าคนไข้ไม่ตอบหมอผีก็จะขู่ด้วยวิธีต่าง ๆ นานา การทุบตีคงเกิดจากการคาดคั้นเอาความจริงให้ได้ ถ้าทำอย่างไรก็ไม่ออกปอบตัวนี้ก็จัดว่าเป็นปอบที่ "แข็ง" ผลสุดท้ายก็ต้องบอกว่าไม่เป็นไร ให้ผีออกจากร่างคนไข้ก็เป็นพอ ผีปอบจะปรากฎร่างให้คนเห็นในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หน้าของผีปอบจะเหมือนแมว หน้าแหลม ปากแดง ร้องเสียงเหมือนหนู ถ้าโกนศีรษะออกจะเห็นเป็นรอยแดงเป็นทางกลางศีรษะ ผีฟ้าจะร่ายรำไล่ผีปอบออกไป หากไม่ออก คนที่โดนผีปอบเข้าสิงจะถูกเนรเทศออกจากหมู่บ้าน หรือถูกชาวบ้านรวมหัวกันเลิกคบค้าสมาคมด้วย การรำผีฟ้านี้รำเพื่ออ้อนวอนให้ผีลงมาช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย หรือผู้ได้รับภัยพิบัติอย่างหนักส่วนใหญ่มักรำต่อหน้าคนป่วย หรือไปรำที่บ้านของคน ๆ นั้น คำว่ารำในที่นี้หมายถึงฟ้อนรำ ไม่ใช่ลำเหมือนหมอลำซึ่งเป็นการท่องกลอน เพื่อเล่าเรื่องให้คนฟัง (ข้อมูลจาก พ่อต่วย ชินราช อายุ 59 ปี หมู่บ้านบึงสวาง)

3. รดน้ำมนต์ - สะเดาะเคราะห์ - เป่ากระหม่อม ผู้ที่ทำหน้าที่จะเป็นพระที่ชาวบ้านนับถือเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้หายไปได้ปัจจุบัน

ปัจจุบัน เนื่องจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยี่ทางการแพทย์ ประกอบกับการคมนาคมที่สะดวก ทำให้ความเชื่อทางไสยศาสตร์ลดน้อยลงไปมาก เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านทุกคนจะไปหาหมอที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยก่อน หากไม่หายหรือแพทย์บอกว่าหมดหนทางรักษาแล้วจึงจะหันมาพึ่งไสยศาสตร์ การรักษาทางไสยศาสตร์จึงกลายเป็นเพียงทางเลือกรอง หรือบางคนรักษาโดยไสยศาสตร์ควบคู่ไปกับการรักษาแบบแผนปัจจุบัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ซึ่งยังเป็นที่ยอมรับกันอยู่ กรณีเช่น พ่อต่วย ชินราช ไอเป็นเลือกอย่างรุนแรงมาหลายวันจนไม่มีแรง ไปรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอ แพทย์วินิจฉัยว่าไม่เป็นอะไร และไม่ได้ให้ยาอาการไอจึงทรุดลงเรื่อย ๆ จึงไปรักษาที่ศูนย์วัณโรคพร้อมกับไปรักษาโดยการรำผีฟ้าด้วย แพทย์ก็ให้ยามาทานเพื่อรักษาอาการ ในที่สุดก็หาย พบว่ายังคงมีชาวบ้านบางคนที่เป็นผีฟ้า เช่น แม่ดาว พ่อยืน หมู่บ้านพระยืน ในการรำผีฟ้าแต่ละครั้งจะเสียต่าใช้จ่ายประมาณ 400-500 บาท

อนาคต แนวโน้มของการใช้ไสยศาสตร์ในการรักษา ในชนบทแถบนี้จะยังมีอยู่ต่อไปเพียงแต่ไม่ใช่หลัก เป็นเพียงแรงเสริมให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน การรักษาแบบนี้เรียกว่า PLACEBO จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสาร และสร้างภูมิคุ้มกันทำให้โรคต่าง ๆ หายได้เร็วขึ้นจริง

2) การใช้ยา

อดีต ยาหม้อ ยาสมุนไพร เป็นที่นิยมกันมาก หาได้จากสมุนไพรที่ขึ้นตามละแวดบ้าน มีทั้งที่ใช้กิน ทา ฝน ดม ชาวบ้านสืบทอดความรู้มาแต่บรรพบุรุษ แต่ก็จะมีหมอยาประจำหมู่บ้านทำหน้าที่เปรียบเหมือนเภสัชกรคอยเสาะหาสมุนไพรมาทำยา หมอพื้นบ้านเป็นที่เคารพของชาวบ้านมาก ยาที่ปรุงจะซื้อเฉย ๆ ไม่ได้ ต้องไปบูชาเอาเวลาไปบูชาต้องมีดอกไม้ ธูป เทียน ไปให้ด้วย ต่อมารูปแบบของยามีการพัฒนาขึ้น มีการแพร่ระบาดของยาหมอตี๋ ยาแก้ปวดจำพวกยาทัมใจ ยาบวดหายมีการใช้เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งจะได้ผลดีเฉพาะเมื่อใช้แรก ๆ จากนั้นก็เหมือนเดิม ทำให้ต้องใช้ยาบ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย ชาวบ้านนิยมใช้ยาชุด ยาหมอตี๋ในการรักษาสารพัดโรค บางคนเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ การใช้ยาแผนปัจจุบันจากเภสัชกร หรือตามแพทย์สั่งมีน้อยมาก จะใช้เมื่อมีโอกาสไปโรงพยาบาลเท่านั้น

ตัวอย่างยาสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ

1. น้ำแช่รากผักเสี้ยน ใช้ล้างตาและล้างหน้าแก้โรคตาแดง

2. เปลือกส้ม ว่านไฟ บอระเพ็ด โสมแช่ในเขากวางอ่อน ใช้กินแก้ไอในฤดูหนาว

3. ขี้เถ้าของกะลามะพร้าวเผาไฟแช่ในน้ำปูนใส่ ใช้ดื่มแก้โรคบิด

4. น้ำมันก๊าด ใช้รักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิด

5. มะเกลือ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

ปัจจุบัน ยาหม้อ และยาสมุนไพรยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย เพราะชาวบ้านบอกว่าได้ผลในทางการรักษาจริง และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็ยืนยันว่า สมุนไพรหลายชนิดมีสรรพคุณทางยา เช่น ฟ้าทลายโจร สาปเสือ กระวาน ขิง ข่า กระเทียม เป็นต้น แต่ที่น่าห่วงก็คือคนที่มีความรู้ทางสมุนไพรอย่างแท้จริง เป็นคนชราเท่านั้น ไม่มีการถ่ายทอดมายังรุ่นลูกหลาน เพราะว่าไม่มีการปลูกฝังจึงขาดคนสนใจ ส่วนการใช้ยาชุด หรือยาหมอตี๋เหลือน้อยมาก เป็นการใช้เฉพาะหน้าแก้ขัดเท่านั้น เนื่องจากชาวบ้านได้รับความรู้ทั้งจากสื่อ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านว่าการใช้ยาเหล่านี้เป็นอันตราย เพราะอาจได้รับยาเกิน หรือยาที่แรงเกินไปจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ยาแก้ปวด และเครื่องดื่มชูกำลังยังคงมีใช้ในวัยกลางคนที่ติด หรือต้องใช้แรงงานมาก ชาวบ้านทุกคนหันมาใช้ยาแผนปัจจุบันจากแพทย์ และเภสัชกรเป็นหลัก แต่ปัญหาคือ หากใช้ยาไปสักระยะหนึ่งแล้วไม่หาย ชาวบ้านบางคนจะเลิกใช้ยาเอง ทำให้โรคเรื้อรังหรือดื้อยาได้

อนาคต รูปแบบการใช้ยาของชาวชนบท มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ โดยมีแนวโน้มว่า จะใช้ยาแผนปัจจุบันควบคู่ไปกับการใช้ยาสมุนไพร ชาวบ้านมีความรู้ในการใช้ยาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการให้ข้อมูลโดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น อสม. ศสมช. อนามัย หรือสื่อตามโทรทัศน์ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้เด็กได้รับฟลูออไรด์ ส่งเสริมให้ใช้เกลือไอโอดีน เป็นต้น

หมายเหตุ : ครอบครัวของแม่สอน อายุ 70 ปี บ้านหนองชาดไม่เคยรักษาแบบไสยศาสตร์เลย

การคลอดบุตร

อดีต การคลอดบุตรในสมัยก่อนนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะหากผิดพลาดขึ้นมา นั่นหมายถึงชีวิตของแม่และลูก ชาวบ้านจะคลอดบุตรที่บ้านของตนเอง โดยผู้ที่ทำหน้าที่ผดุงครรภ์ คือ หมอตำแย ซึ่งก็ได้เรียนจากประสบการณ์ บางคนได้รับการสั่งสอนจากหมอตำแยที่มีความชำนาญ นับว่าเป็นวิธีการที่เสี่ยง จากการสอบถาม "แม่สุ่ม" อายุ 60 ปี ชาวบ้านบึงสวาง ซึ่งเคยเป็นหมอตำแยทำคลอดมาก่อน และ "แม่สัง ชินราช" อายุ 58 ปี ชาวบ้านบึงสวางเช่นกัน ที่เคยคลอดโดยใช้หมอตำแย ได้ข้อมูลว่า เมื่อก่อนหากเจ็บท้องคลอดกะทันหัน เรียกหมอตำแยไม่ทัน ก็จะคลอดเองเลย แต่ถ้าเรียกหมอตำแยทันก็จะช่วยให้การคลอดสะดวกขึ้น

ใครมีความรู้อะไรก็แนะนำกันไป ใครมียาอะไรดีก็เอายาให้กิน ถ้าไม่กินเจ้ของยาก็โกรธ หมอตำแยนั้นประคับประคองคนไข้อย่างเอาใจใส่ โดยจะสั่งให้ผูกผ้าไว้กับขื่อบ้าน เรียกว่าข่วงให้แม่มาน (หญิงมีครรภ์) จับดึงเวลาเบ่ง จะช่วยให้มีแรงเบ่ง และทำให้ไม่ทรมานอยู่กับที่เวลาปวด เมื่อเด็กออกมาแล้ว จะเป็นหน้าที่ของหมอตำแยในการเช็ดคราบเลือดคราบเมือกออกจากตัวเด็ก ใช้ไม้ไผ่ที่ทายาตัดสายสะดือ หากไม่มีก็ใช้มีอีโต้ตัดแทน รกที่คลอดออกมาจะเอาไปฝังดิน เพื่อซ่อนผีไม่ให้มากิน และต้องฝังให้ลึก เพราะเชื่อว่าหากฝังไม่ลึก ฟันเด็กจะไม่ขึ้น ไม่มีการแย็บแผลไม่มีการให้เลือดใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ปรากฎว่าไม่ค่อยมีใครเป็นอะไร ส่วนใหญ่ปลอดภัยทั้งแม่และลูก ไม่มีการติดเชื้ออักเสบ ชาวบ้านจะใช้น้ำอุ่นล้างเข้าไปในช่องตลอดวันละประมาณ 3-4 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 4-5 วัน เพื่อให้แผลที่ฉีดขาดหาย และประสานกันสนิทเร็วขั้น

แม่ลูกอ่อนทุกคนจะต้องอยู่ไฟเป็นเวลา 15 วัน การอยู่ไฟ คือ การนอนบนเตียงที่ก่อไฟไว้ข้างล่าง ระหว่างที่อยู่ไฟนี้ห้ามกินอาหารอื่นเด็ดขาด นอกจากข้าวกับเกลือ อาหารอื่น เช่น เนื้อ ไข่ ผัก จัดว่าเป็นของแสลง หากกินเข้าไปแล้วจะผิดผีจะคะลำ (แสลง) สาเหตุที่ต้องมีการอยู่ไฟนี้ ชาวบ้านบอกว่าช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ช่วยให้ไม่ปวดเอว ฟื้นตัวเร็ว เด็กทารกจะได้กินนมแม่ เมื่ออายุได้ประมาณ 4-5 เดือน ก็เคี้ยวข้าวหรือป้อนกล้วยเด็กแล้ว ข้อที่ร้ายแรงก็คือ ใคร ๆ ก็เคี้ยวข้าวป้อนเด็กได้ เห็นเด็กหน้าตาน่ารักก็เคี้ยวข้าวใส่ปากให้ ซึ่งสามารถทำให้โรคติดต่อทางปาก และน้ำลายแพร่มายังเด็กได้ เช่น โรคคางทูม โรคไวรัสตับอักเสบ

ปัจจุบัน การคลอดบุตรไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้ว เพราะนิยมไปคลอดที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย คลอดเสร็จพักฟื้น 1-2 วันก็กลับบ้านได้ ไม่มีการทำคลอดโดยหมอตำแย ทุกคนทำคลอดโดยผดุงครรภ์หรือพยาบาล ความเชื่อเรื่องการอยู่ไฟเกือบหมดไป คงเหลือเพียงบางรายที่ยังเคร่งครัดอยู่ แม่ลูกอ่อนได้รับการส่งเสริมให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อสร้างน้ำนม และภูมิคุ้มกันถ่ายทอดให้ลูก ทำให้สุขภาพของแม่ลูกอ่อนแข็งแรงขึ้นเร็วมาก

อนาคต สามารถทำนายได้ว่า ชาวบ้านจะไปคลอดบุตรที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลเท่านั้น ความเชื่อเรื่องการแสลงกินแสลงอยู่ การอยู่ไฟจะค่อย ๆ หายไป เด็กทารกได้กินนมแม่ และได้รับอาหารเสริมตามวัย

4) การได้รับความรู้ทางกาแพทย์พื้นฐาน

อดีต ชาวบ้านไม่ได้รับความรู้ด้านสุขอนามัยดีเท่าที่ควร ชาวบ้านนิยมทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ตามแบบชาวอีสานตามชนบททั่วไป อาหารที่นิยมทานสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ลาบปลา ซกเล็ก ลาบเลือด ก้อยกุ้ง ส้มเนื้อหรือส้มหมู ซึ่งทำให้ป่วยเป็นโรคพยาธิกันเกือบทุกคน โรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญคือ โรคพยาธิใบไม้ในตับ โรคพยาธิตัวตืด (ขี้กะตืก) และโรคพยาธิเส้นด้ายในเด็ก การกินอาหารก็ไม่ครบ 5 หมู่ เด็กทุกคนดูเหมือนจะเน "ซาง" มีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย พุงโร ผอมแห้ง แขนขาลีบ สาเหตุเกิดจากการขาดสารอาหาร อาหารหลักจะเป็นอาหารที่หาได้ง่ายตามหมู่บ้าน เช่น หน่อไม้ ผักหวาน ปลาน้ำจืด หรือไข่ เป็นต้น เด็ก ๆ ไม่ได้ทานนมเป็นอาหารเสริมทำให้ตัวเล็ก มีคนเป็นโรคคอหอยพอกค่อนข้างมาก เพราะไม่ได้รับอาหารทะเล หรือเกลือเสริมไอโอดีน

ส้วมที่ถูกสุขลักษณะจะมีเฉพาะบ้านที่ฐานะดีเท่านั้น หากจะถ่ายอุจจาระจะต้องไปถ่ายที่ทุ่งนา หรือตามรั้วบ้านของตัวเอง ในสมัยก่อนจึงมีการระบาดของโรคท้องร่วงค่อนข้างมาก แต่ก็ได้รับการควบคุมไว้ทัน ไม่มีการรณรงค์เรื่องการแปรงฟัน ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องการกำจัดหนูหรือยุง เป็นที่น่าสังเกตว่าหมู่บ้านนี้แทบจะไม่มียุงเลยทั้ง ๆ ที่รอบหมู่บ้านเป็นหนองน้ำไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือศูนย์สาธารณสุขมูลฐานมวลชน (ศสมช.) คอยให้ความรู้ นอกจากนี้ยังมีบางคนที่มีความเชื่อแปลก ๆ ในการรักษาโรค เช่น ใช้เทียนไขหยดใส่บริเวณตุ่มใสของโรคหิต เอาเชือกรัดนิ้วเท้าให้เลือดไปรวมกันที่ปลายนิ้วแล้วใช้หนามเจาะปลายนิ้วบีบเอาเลือดออก เชื่อว่าถ้าเลือดร้ายออกอาการคันที่ง่ามนิ้วเท้าก็หายไป

ปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับความรู้ทางการแพทย์พื้นฐาน โดยผ่านทาง อสม. และศสมช. ซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเคยมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้ามาให้ความรู้ด้วย ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ชาวบ้านเลิกทานก้อยปลาส้ม ปลาดิบแล้ว เพราะกลัวเป็นพยาธิใบไม้ในตับ การกินอาหารก็ยังไม่ครบ 5 หมู่เหมือนเดิม เนื่องจากความยากจน และเศรษฐกิจไม่ดีประกอบกับความแห้งแล้วที่เป็นมา 2-3 ปีแล้ว บางครอบครัวยังต้องซื้อข้าวกิน ปลาตามห้วยหนองก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน แต่ว่าได้มีโครงการอาหารกลางวัน และโครงการนมเพื่อสุขภาพของนักเรียนโรงเรียนไตรมิตรวิทยาคาร เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับอาหารครบ 5 หมู่ และมีนมดื่ม ทุกวันนี้ ชาวบ้านมีส้วมซึมที่ถูกสุขลักษณะใช้ครบทุกครัวเรือนมากกว่า 2 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่เข้ามาฉีดพ่นยาฆ่ายุงอยู่เป็นระยะ ส่วนในด้านของที่อยู่อาศัยนั้น ยังไม่ค่อยถูกสุขลักษณะนัก ลักษณะบ้านเป็นแบบโบราณ คือ เป็นแบบเปิดให้ลมพัดเข้าออกได้สะดวก เครื่องถ้วยชาม หม้อวางกระจายอยู่ทั่วบ้าน ไม่มีการจัดเก็บเข้าในตู้ ภาชนะหุงต้มไม่สะอาดนัก เพราะไม่ค่อยได้ขัดล้างอย่างเต็มที่ กระเทียม หอม เนื้อแห้งถูกห้อยแขวนตามฝาบ้าน บริเวณใต้ถุนบ้านซึ่งใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ อันเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี บางบ้านแยกคอกหมูออกมาต่างหากแต่ก็ไม่ไกลจากตัวบ้านนักเพราะกลัวขโมย สำหรับน้ำทิ้งจากครัวเรือนจะถูกทิ้งลงมาใต้ถุนบ้านเรียกว่า "น้ำขี้สีก" เป็นน้ำสกปรก หากเป็ดไก่ซึ่งเลี้ยงไว้ไปกินน้ำนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคได้

อนาคต สุขอนามัยพื้นฐานของชาวบ้านมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง พบว่าชาวบ้านมีสุขอนามัยดีขึ้น โรคระบาดไม่มีถ้ามีก็จะระบาดไม่มาก และควบคุมได้ทัน เช่น โรคท้องร่วงแต่ปัญหาความยากจน และปัญหาความแห้งแล้งเป็นปัญหาสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาด้านสุขอนามัย

5) การใช้บริการสถานพยาบาล

อดีต การใช้บริการ ณ สถานพยาบาลของรัฐในอดีตนั้นมีน้อย เนื่องจากไม่มีสถานีอนามัย และการตมนาคมติดต่อกับตัวเมืองไม่สะดวก ชาวบ้านมักไปหาหมอผี หมอธรรม พระ หรือหมอยาที่มีตามหมู่บ้านต่าง ๆ หรือไม่ก็ซื้อยาทางเองซึ่งเป็นยาชุดที่จัดโดยหมอตี๋

ปัจจุบัน ทุกวันนี้ หากเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้น ชาวบ้านทุกคนจะไปโรงพยาบาล หรือไปสถานีอนามัย สถานีอนามัยมีประจำอยู่ทุกตำบล มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ มีผดุงครรภ์ สามารถให้การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานได้ หากมีอาการรุนแรง หรืออาการหนักก็จะได้รับการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอำเภอก่อน ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก หรืออาจจะเข้าโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอบ้านฝางนี้ มีแพทย์ประจำอยู่ 2 คน จัดว่าเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

อนาคต เป็นที่แน่นอนว่า โรงพยาบาลกับชุมชนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ชาวบ้านใช้บริการสถานพยาบาลทุกคน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ขาดแคลนแพทย์ พยาบาล และเวชภัณฑ์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ หากจะไปโรงพยาบาลบางทีจะต้องใช้เวลาทั้งวันในการรอคิว และเจ้าหน้าที่บางคนเกิดความเครียดเมื่อต้องทำงานมาก ๆ จนบางครั้งใช้ผู้ป่วยเป็นที่ระบายอารมณ์

6) โรคระบาดที่เคยมี

อดีต จากการสอบถาม "พ่อทองพูน" อายุ 66 ปี ชาวบ้านหนองชาด ทราบว่าเคยมีการระบาดของโรคฝีดาษ หรือโรคไข้ทรพิษในหมู่บ้านแถบนี้ ในสมัยก่อนโรคนี้หากใครเป็นแล้วต้องตายเกือบทุกราย หากใครไม่ตายก็จะเป็นรอยแผลเป็นเป็นจุด ๆ เป็นหลุมทั้งตัว คนที่เป็นจะถูกกีดกันออกจากสังคมไม่ให้เดินผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน ต้องไปอยู่ตามกระท่อมนอกหมู่บ้าน เมื่อตายแล้วจึงจะไปทำการเผาศพให้โรคพุพองอีกชนิดหนึ่งที่เป็นกันมากก็คือ "โรคคุดทะราด" หรือ "ขี้แม่เฮง" เป็นตุ่มหนองพุพองตามแขนขา ในหมู่บ้านอื่นเคยมีคนเป็นโรคเรื้อน โรคนี้เรียกว่า "ขี้ทูด" คนที่เป็นจะถูกบังคับไล่ออกไปอยู่ที่กระท่อมนอกหมู่บ้าน เด็ก ๆ เป็นโรคหิดกันมาก โรคหิดนี้มีลักษณะเป็นตุ่มใส ๆ ตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า นอกจากนี้โรคท้องร่วงก็เคยระบาดอยู่บ่อย ๆ หากมีใครเป็นแล้วก็จะติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ในสมัยก่อนสาเหตุที่ทำให้โรคท้องร่วงแพร่ระบาดเร็วคือ การถ่ายอุจจาระไม่ถูกสุขลักษณะ โดยไปถ่ายตามทุ่งนา หรือตามริมหนอง เมื่อฝนตก น้ำฝนจะชะเอาเชื้อโรคปนลงไปในหนองน้ำ เมื่อนำน้ำไปใช้ก็ทำให้ติดโรคได้ ในเด็กนักเรียนหญิงก็เคยมีการระบาดของโรคเหา ซึ่งติดกับเพื่อนเวลามาโรงเรียน ชาวบ้านจะเอาหวีเสนียด ซึ่งเป็นหวีที่ถี่มากมาหวีให้ตัวเหาตกลงมา พอถึงหน้าฝนโรคไข้หวัดก็จะระบาด เด็ก ๆ มักติดจากเพื่อนที่โรงเรียน นอกจากนี้ ยังมีโรค "ปานดง" เป็นฝีขนาดใหญ่ มักเป็นที่โคนขา แผ่นหลัง หรือหน้าท้อง บริเวณผิวหนังที่เป็นช้ำเลือดช้ำหนองเป็บริเวณกว้าง แล้วน้ำหนองจะไหลออกมา กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะเน่าเปื่อยไปหมด สันนิษฐานว่าโรคปานดงนี้คือ "โรคแอนแทรกซ์" นั่นเอง

ปัจจุบัน โรคฝีดาษ หรือโรคไข้ทรพิษได้หมดไปแล้ว เนื่องจากมีการรณรงค์ให้มีการปลูกฝี ทุกวันนี้เด็กที่เกิดใหม่ไม่จำเป็นต้องปลูกฝี ส่วนโรคท้องร่วงก็คงยังพบอยู่บ้านในช่วงฤดูร้อน แต่ไม่แพร่ระบาด เพราะชาวบ้านรู้จักวิธีการปฎิบัติ และป้องกันตนเอง สำหรับโรคเหาที่เคยพบมากในเด็กนักเรียนหญิงในปัจจุบันนี้ก็ลดลง เพราะเด็กนักเรียนได้รับยาฆ่าเหาจากครู อีกทั้งยังมีการปลูกฝังให้เด็กรักษาความสะอาดศีรษะของตน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กส่วนใหญ่ยังเป็นโรคไข้หวัด แต่ไม่ติดต่อกันอย่างรุนแรง

อนาคต โรคระบาดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นน้อยลงเพราะชาวบ้านมีสุขอนามัยดีขึ้น เช่น มีส้วม มีการกำจัดยุงโดยเจ้าหน้าที่ คงเหลือแต่เพียงโรคติดต่อบางโรคที่กลายเป็นปัญหาตัวใหม่ ซึ่งนับวันจะมีคนเป็นมากขึ้นไม่เว้นแม้แต่หมู่บ้านชนบทแถบนี้ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น

7) ปัญหาโรคเอดส์

อดีต โรคเอดส์เพิ่งจะเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2527 ในตอนนั้นชาวบ้านยังไม่ทราบว่าโรคเอดส์คืออะไร มีความร้ายแรงแค่ไหน อีกทั้ง ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างทั่วถึง ทำให้ไม่มีการระมัดระวังป้องกันตัว

ปัจจุบัน โรคเอดส์ได้แพร่ระบาดเข้าไปในหมู่บ้านแถบนี้แล้ว โดยเริ่มแรก พวกหนุ่มสาวที่เข้าไปทำงานในตัวเมือง หรือในกรุงเทพฯ แล้วไปติดมาจากผู้ที่มีเชื้อเอดส์ ต่อมาก็นำมาติดกับสามีหรือภรรยาของตน

จากการสอบถาม "แม่สอน" อายุ 70 ปี หมู่บ้านหนองชาด ได้ข้อมูลว่าที่หมู่บ้านหนองชาดนี้มีคนเป็นเอดส์เกือบ 10 ราย และตายแล้วหลายราย โดยมีทั้งเด็กที่ติดมาจากแม่ที่เป็นโรคผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหมู่บ้านอื่น ๆ ก็จะมีคนที่เป็นโรคเอดส์เหมือนกันทุกหมู่บ้าน มีจำนวนมากน้อยต่างกันไป ทางด้าน "แม่ประสพ" หมู่บ้านบึงสวาง บอกว่าที่หมู่บ้านบึงสวางนี้มีคนเป็นโรคเอดส์หนึ่งคน และตายไปแล้ว แต่จำนวนที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อเอดส์ในหมู่บ้านแถบนี้ไม่สามารถระบุได้ เพราะหากโรคยังไม่แสดงอาการ ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าใครมีเชื้อเอดส์

อนาคต โรคเอดส์นับวันแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะมีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวันทั้งในเมือง และในชนบท โรคเอดส์นี้ยังไม่มียาที่รักษาได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีการรณรงค์ทั้งในเรื่องการใช้ถุงยาอนามัย ไม่สำส่อน ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นหากไม่มีการควบคุม และการให้ความรู้อย่างทั่วถึง โรคเอดส์จะกลายเป็นโรคสำคัญที่ทำหใมีคนตายอย่างเช่นโรคที่เคยระบาดในอดีตได้

โดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่า วิถีทางการแพทย์ในชนบทมีแนวโน้มเป็นสากตามแบบตะวันตกมากขึ้น จากเดิมที่รักษากันตามความรู้ที่ได้รับสืบทอดกันมา มีความเชื่อเรื่องผีสาง มีการรักษาโดยหมอผี ผีฟ้า คลอดบุตรโดยหมอตำแย ใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค แต่ทุกวันนี้ได้รับเอาเทคโนโลยี่ และวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ ๆ เข้ามาใช้ และเผยแพร่ ทำให้ชาวบ้านหันมาใช้บริการทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลัก มีการรณรงค์ และส่งเสริมให้เด็กได้รับวัคซีน ทานอาหารครบ 5 หมู่ เด็ก ๆ มีนมและอาหารกลางวันรับประทาน มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะใช้ ชาวบ้านมีสุขภาพดีขึ้น ในขณะที่ความเชื่อเก่า ๆ บางอย่าง ตลอดจนความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ลดความสำคัญลง แต่ว่าก็มีโรคที่เป็นปัญหาใหม่ เช่น โรคเอดส์ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีการค้นคว้าหาวิธีรักษาอยู่ และคาดว่าในอนาคต โรคเอดส์ก็คงเป็นเหมือนโรคระบาดอื่น ๆ ในอดีต เช่น โรคฝีดาษ ที่สามารถค้นหาวิธีรักษาโรคได้

ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และขาดงบประมาณในการจัดวื้อยา และเวชภัณฑ์ ทำให้การบริการล่าช้าไม่สะดวก และไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ดี ทั้งภาครัฐได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในทุกด้าน แนวโน้มของการแพทย์ในชนบทจึงเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ที่ว่า "Health for all by the year 2543" หรือ "สุขภาพดีถ้วนหน้าปี 2543)

3.5 บทสรุป

ปัจจุบันหมู่บ้านไทยอีสานมีความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน วันวานเราอาจได้ยินเสียงดีดซึงเป่าแคน เสียงกระควายดังกรุ๋งกริ๋ง เสียงหนุ่มสาวหยอกล้อเล่นกัน เด็กเล่นโจนน้ำ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ลูกหลายฟัง ธรรมชาติที่เป็นทั้งอู่ข้าวอู่น้ำ และภูมิปัญญาของชาวบ้าน มีเครื่องใช้ไม้สอยที่หาได้จากธรรมชาติ เคร่งครัดในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ปัจจุบัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มเลือนหายไปตามกระแสสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลง