logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

รายงานการศึกษาภาคสนามของกลุ่มที่ 5

เรื่อง

"สุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในท้องถิ่น อำเภอบ้านฝาง"

ในอดีต การรักษาโรคภัยไข้เจ็บบางโรคยังไม่มีการรักษา และการป้องกันที่ถูกวิธี คนสมัยก่อนเจ็บป่วย และเสียชีวิตกันมากด้วยโรคระบาด เพราะไม่มีการป้องกัน และรักไม่ถูกวิธี ทั้งนี้อาจะเป็นเพราะการแพทย์ที่ทันสมัยของทางตะวันตกยังไม่สามารถเข้ามาเผยแพร่ การรักษาจึงเป็นไปตามแบบแผนโบราณตามวิะแบบฉบับของคนไทย

ปัจจุบันคนเราเริ่มที่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพ และอนามัยของตนเอง เพราะวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ยังมีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ แต่ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลหลายแห่ง ยังไม่มีการแพทย์ที่ทันสมัยเข้าไปถึง โดยเฉพาะในเขตหมู่บ้านเล็ก ๆ ปัญหาสำคัญของการแพทย์ที่ไม่สามารถเข้าถึงชนบทได้มีหลายประการ เช่น ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดแคลนบุคลากร แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะให้ความสำคัญในการกระจายความเจริญทางสาธารณสุขสู่ภูมิภาคในระดับหนึ่งก็ตาม

การศึกษาในครั้งนี้ ให้ความสำคัญถึงสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในท้องถิ่น อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยสำรวจออกภาคสนาม เพื่อทราบถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการแนะแนวทางที่จะพัฒนาปรับปรุงทางด้านการสาธารณสุขของชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกลความเจริญเป็นสำคัญ

5.1 วัตถุประสงค์

1. ศึกษาถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในท้องถิ่นที่ทำการสำรวจ

2. สามารถนำความรู้ในสาขาวิชาที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล มาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม

3. ฝึการทำงานร่วมกัน รู้จักแสดงความคิดเห็น ความเป็นผู้นำ

5.2 ขอบเขตของการศึกษา

1. ศึกษาในเขตเฉพาะอำเภอบ้านฝาง โดยที่หมู่บ้านโนนเขวา บ้านบึงสวาง บ้านหนองชาด และบ้านค้อ

2. ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านถึงกิจวัตประจำวัน การดำเนินชีวิต และสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน

3. ศึกษาหน่วยงานของทั้งทางภาครัฐ และเอกชน ที่มีบทบาทเกี่ยมกับสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในชนบท

5.3 วิธีการศึกษา

1. การสัมภาษณ์ : การสัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้ เช่น นายแพทย์ อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลต่าง ๆ และสัมภาษณ์ชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ

2. การเก็บข้อมูลจากหนังสือ และแผ่นพับต่าง ๆ : โดยการศึกษาการให้ความรู้ของหน่วยงานราชการ โดยศึกษาจากป้ายประชาสัมพันธ์ หนังสือ เอกสาร แผ่นพับตามศูนย์สาธารณสุขขั้นมูลฐาน สถานีอนามัย และโรงพยาบาลต่าง ๆ

3. การสังเกต : สังเกตพฤติกรรม และกิจวัตรประจำวัน สภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนสถานที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน

4. หอกระจายเสีย : การประกาศของผู้ใหญ่บ้านในเรื่องต่าง ๆ

5.4 ผลการศึกษาภาคสนาม

5.4.1 สุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในท้องถิ่น อำเภอบ้านฝาง

5.4.1.1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสุขภาพ และอานามัยของชาวบ้าน

จากการเลือกสัมภาษณ์ชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน คือ บ้านค้อ บ้านหนองชาด และบ้านบึงสวาง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการ ดังนี้คือ

1) พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้าน

จากการศึกษาพบว่า พื้นฐานความรู้ส่วนใหญ่จะมีความต่างกันในด้านทางการศึกษา รองลงมาคือในเรื่องของความเชื่อ หรือการปฎิบัติที่สืบทอดกันแต่ดั้งเดิม ซึ่งอาจแบ่งตามอายุออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

ก. วัยรุ่น

ช่วงอายุ 17-19 ปี ส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลาย วัยรุ่นเหล่านี้มีพื้นฐานในความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยพอสมควร ส่วนใหญ่จะได้จากการดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ และจากวิชาการศึกษา จากการสังเกต และพูดคุยพบว่า แม้ว่าจะพอมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่นิยมไปตรวจสุขภาพประจำปี เพราะคิดว่าตัวเองยังแข็งแรง และเป็นเรื่องไกลตัว วัยรุ่นส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับความเครียด เหตุผลประการสำคัญก็คือ วัยรุ่นส่วนใหญ่จะเรียนสายอาชีพ ไม่ต้องแข่งขันเพื่อสอบในการศึกษาระดับอุดมศึกษาเหมือนวัยรุ่นในเมือง

ข. ผู้สูงอายุ

ช่วงอายุ 50-70 ปี พื้นฐานการศึกษาของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะไม่ถึงชั้นประถมปลาย แต่ก็มีพื้นฐานในเรื่องสุขภาพ และอนามัยที่ค่อนข้างดี จากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุในหมู่บ้านหนองชาด ยังขาดความเชื่อเก่า ๆ เกี่ยวกับการปฎิบัติตนเมื่อยามเจ็บป่วย และมีการตรวจสุขภาพประจำปีบ่อยครั้งกว่าหมู่วัยรุ่น

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกำลังใจของลูกหลาน และญาติมิตร รวมถึงปัจจัยในด้านอื่น ๆ อีก เช่น สภาพอากาศ สภาพความเป็นอยู่ การดำรงชีวิต เหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ไม่ทำให้เกิดความเครียด อันมีผลกระทบทางจิตใจ ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ในที่สุด

จะเห็นได้ว่า พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งมีความพร้อมที่จะรับข่าวสาร เพื่อหาทางป้องกัน และดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้นอีกด้วย

2) แหล่งข่าวสารข้อมูล ความรู้ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้าน

จากการศึกษาพบว่า แหล่งข่าวสารความรู้ที่ชาวบ้านสามารถรับได้อย่างถูกต้อง และสะดวก มี 4 ประเภท คือ สถานที่บำบัดรักษา ศูนย์สาธารณสุขขั้นมูลฐาน หรือสถานีอนามัย หอกระจ่ายข่าว และอาสาสมัครสาธารณสุข

สถานที่บำบัดรักษา

โรงพยาบาลประจำอำเภอบ้านฝางเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะให้บริการด้านการรักษาแล้ว ยังให้บริการด้านข่าวสารความรู้ โดยส่วนใหญ่เป็นในรูปของสิ่งพิมพ์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ ประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับการป้องกันโรค และความรู้ทั่วไป เช่น การดูแลรักษาความสะอาดทั้งสิ้งอุปโภคบริโภคในฤดูร้อน เพื่อป้องกันโรคท้องร่วงระบาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจจะได้รับข่าวสารความรู้โดยตรงจากหมอ และพยาบาล จึงนับว่าโรงพยาบาลเป็นแหล่งข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยที่ครอบคลุมที่สุด

ศูนย์สาธารณสุขขั้นมูลฐาน หรือ สถานีอนามัย

เป็นแหล่งข่าวสารความรู้ที่ใกล้หมู่บ้านที่สุด เพราะตั้งอยู่ในหมู่บ้านเกือบทุกหมู่บ้าน สถานีอนามัยจะเผยแพร่ข่าวสารคล้ายกับโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่จะใช้สื่อประเภทสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับหรือโปสเตอร์ แต่ชาวบ้านให้ความสนใจค่อนข้างน้อย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสารน้อยกว่าโรงพยาบาล

หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน

หอกระจายข่าว จะตั้งอยู่ในบริเวณที่ชาวบ้านได้ยินโดยทั่วถึงกัน ข่าวสารที่นำเสนอไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยเท่านั้น แต่ยังมีข่าวประจำวัน และประกาศต่าง ๆ อีกด้วย แต่มีข้อจำกัดคือ ความดังของเสียงอาจจะไม่พอ หรือได้รับข่าวสารไม่ครบถ้วนถ้าไม่ตั้งใจฟัง

อาสาสมัครสาธารณสุข

อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. คือคนในหมู่บ้านที่เสียสละในการจัดกิจกรรม และบริการสาธารณสุข รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ซึ่ง อสม. จะได้รับการฝึกอบรมอย่างดีจากโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัวอีกด้วย

5.4.1.2 สุขลักษณะนิสัยในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน

บันทึกิจวัตรประจำวันของชาวบ้านบางส่วน

ก. เด็กหญิงอายุ 11 ปี

06.00 - 07.00 น. ตื่นนอน แปรงฟัน ล้างหน้า ล้างถ้วยชาม

07.00 - 07.30 น. กินข้าว

07.30 - 08.00 น. ไปโรงเรียน

08.00 - 15.15 น. อยู่ที่โรงเรียน

15.30 - 16.00 น. ไปเล่นน้ำ และเข็นน้ำ

16.15 - 18.30 น. ดูโทรทัศน์

18.30 - 19.00 น. กินข้าวเย็น ทำความสะอาดบ้าน

19.00 - 20.00 น. ทำการบ้าน แปรงฟัน แล้วเข้านอน

ข. นางสาวศศิธร แก้วราช อายุ 21 ปี เรียนวิทยุ - คอมพิวเตอร์ จบ ปวส.

08.00 - 08.30 น. ตื่นนอน แปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ

08.30 - 09.00 น. รับประทานข้าว

09.00 - 09.30 น. ทำความสะอาดบ้าน

09.30 - 10.00 น. ไปเข็นน้ำ

10.00 - 13.30 น. ล้างจาน

11.00 - 12.00 น. รับประทานข้าวกลางวัน

12.00 - 13.00 น. นอน

13.00 - 15.00 น. นั่งเล่น

15.00 - 16.00 น. ไปเข็นน้ำ

16.30 - 17.00 น. อาบน้ำ

18.00 - 18.30 น. รับประทานข้าวเย็น

19.00 น. เข้านอน

ค. นายหนูจันทร์ มาจุฬา ปัจจุบันอายุ 45 ปี อาชีพจักสาน และเลี้ยงวัว

06.00 น. ตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน

06.00 - 07.00 น. หุงข้าว

08.00 น. เอาวัวไปหาอาหารกินที่ทุ่งนา

09.00 - 09.30 น. รับประทานอาหารเช้า

09.30 -12.00 น. ทำงานจักสาน เช่น ที่ใส่ปลา

12.00 - 13.00 น. พักผ่อน

13.00 - 15.00 น. หาอาหาร เช่น จับนก , จับปลา

15.00 - 16.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน

17.00 - 18.00 น. นั่งคุยเล่นกับเพื่อนบ้าน

18.00 - 18.30 น. สวดมนต์

19.00 น. เข้านอน

ง. นายประธาน ขันตี อายุ 59 ปี ตาบอดตั้งแต่อายุ 25 ปี อาชีพเป็นโฆษกตามงานต่าง ๆ

03.00 - 07.00 น. ตื่นตอน สวดมนต์ นั่งสมาธิ

07.00 - 08.00 น. ออกกำลังกาย และทำความสะอาดบ้าน

08.00 - 09.00 น. อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า

09.00 - 10.00 น. นั่งเตรียมงานการประกาศตามงานต่าง ๆ เช่น งานบวช งานวัด

และฟังวิทยุ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม

11.00 - 12.00 น. รับประทานข้าวกลางวัน

12.00 - 13.00 น. ท่องบท และเตรียมตัวให้พร้อมในการเป็นโฆษก

14.00 - 16.00 น. แต่งเพลง แต่งกลอน

16.00 - 17.00 น. ทำความสะอาดบ้าน

17.00 - 18.00 น. ออกกำลังกายแล้วอาบน้ำ

18.00 - 19.00 น. รับประทานข้าวเย็น

19.00 - 21.00 น. นั่งสมาธิ สวดมนต์ แล้วเข้านอน

สรุปแาละวิจารณ์สิ่งที่สังเกตได้จากกิจวัตรประจำวัน

จากที่ศึกษา และสังเกตุพบว่า มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค พฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่

1. การไม่อาบน้ำทำให้เกิดโรคผิวหนัง สาเหตุอาจเนื่องจากสภาพท้องถิ่นมีน้ำน้อย

2. การไม่แปรงฟัน หรือบางครั้งอาจต้องซื้อแปรงสีฟันที่มีราคาถูก มีขนแปรงไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดบาดแผลกับเหงือกได้

3. การรับประทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น แจ่ว ปลาร้า ป่นกุ้ง ส้มตำใส่ปลาร้า ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคพยาธิต่าง ๆ และได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

4. การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีการรับประทานอาหารพร้อมกัน และล้างมือรวมกันในภาชนะใส่น้ำใบเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้มือที่ล้างยังไม่สะอาด และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพยาธิได้

5. ความสะอาดของโรงครัว จากการสำรวจพบว่าโรงครัวของบางบ้านจะไม่มีฝาผนัง และพื้นโรงครัว ทำให้สัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เช่น ไก่ สุนัข แมว หรือนก ที่เข้าไปหาเศษอาหารภายในโรงครัว อาจทำให้ภาชนะต่าง ๆ เกิดความสกปรกได้

6. ลักษณะนิสัยการรับประทานอาหาร ชาวบ้านส่วนใหญ่รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะได้

7. การทำความสะอาดบ้าน ชาวบ้านจะไม่ค่อยเอาใจใส่ในการทำความสะอาดบ้านเท่าที่ควร ทำให้เป็นแหล่งของเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ได้

8. ความสะอาดของเสื้อผ้า ชาวบ้านบางคนอาจใส่เสื้อผ้าซ้ำกันหลายวัน โดยไม่ทำความสะอาด อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคผิวหนัง

9. เด็กและผู้ใหญ่บางคนไม่นิยมสวมรองเท้าในเวลาเดิน อาจทำให้ตัวอ่อนของพยาธิต่างๆ เข้าสู่ร่างกายทางฝ่าเท้าได้

10. คนสูงอายุส่วนใหญ่จะพักอยู่กับบ้าน ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

5.4.3 สาเหตุของการเกิดปัญหาสุขภาพ

มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น ภาวะความแห้งแล้ว การตกงาน ภาระหนี้สิน บางคนมีปัญหาด้านความพิการของร่างกาย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต อาจทำให้เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง ทำให้ส่งผลถึงปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา

ในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาดถูกสุขลักษณะได้ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถปฎิบัติได้ อาจเนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในสุขอนามัยอาทิ

1. การอาบน้ำที่ไม่สะอาด

2. การไม่รักษาความสะอาดมือ และเล็บ ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องสุขา

3. การไม่รักษาความสะอาดของเท้า แม้จะมีรองเท้าก็ตาม เด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่ใส่รองเท้าเดินเข้าห้องน้ำ หรือพื้นดินทั่วไป ทำให้มีโอกาสรับเชื้อโรคได้ง่าย

4. การไม่รักษาความสะอาดของปาก และฟัน ทำให้เกิดโรคในช่องปากได้

5. ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะคนแก่ ทำให้เกิดโรคอ้วน และโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน

6. ขาดการไปตรวจสุขภาพ

7. การมีเครื่องนุ่งห่มที่ไม่สะอาด ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้

8. การนอนไม่กางมุ้ง เพราะเห็นว่าไม่ค่อยมียุง แต่เมื่อมีโรคระบาดทำให้เกิดโรคได้ เช่น โรคไข้เลือดออก

9. พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดโรคต่าง ๆ เช่น การนอนไม่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน อาจทำให้เป็นโรคเอดส์ได้

10. สาเหตุจากพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกิดโรคโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

5.4.4 รูปแบบของการรักษาที่พบในท้องถิ่น

ก) การรักษาแบบแผนปัจจุบัน

ศูนย์สาธารณสุขขั้นมูลฐาน

ศูนย์สาธารณสุขขั้นมูลฐาน เป็นศูนย์สาธารณสุขที่ตั้งอยู่ประจำในแต่ละหมู่บ้าน และจะคอยให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคทั่ว ๆ ไป ยาที่ใช้ในการรักษาจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือเป็นยาสามัญทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล ยาธาตุน้ำแดง ฯลฯ นอกจากนี้ ที่ศูนย์ฯ ยังมีการบริการตรวจสายตาโดยใช้การตรวจรักษาแบบทั่ว ๆ ไป

สถานีอนามัย

สถานีอนามัย เป็นศูนย์สาธารณสุขที่ตั้งอยู่ในแต่ละตำบล สถานีอนามัยประจำหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านแถบใกล้เคียง คือ สถานีอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บ้านหนองชาด ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลหนองเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัย จะมีเจ้าหน้าที่ประจำกระทรวงสาธารณสุข อาสาสมัครซึ่งจะเป็นอาสาสมัครประจำในแต่ละหมู่บ้าน และได้รับการอบรมมาจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยทางโรงพยาบาลจะส่งเจ้าหน้าที่วิทยากรมาฝึกอบรมให้แก่อาสาสมัครในแต่ละหมู่บ้าน ผู้ที่มาสมัครเป็นอาสาสมัครจะได้รับบัตรประกันสุขภาพเป็นผลตอบแทน

โรงพยาบาลประจำอำเภอ

โรงพยาบาลประจำอำเภอ คือ โรงพยาบาลบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดว่าสะอาด และทันสมัย แบ่งการรักษาออกเป็นแผนกผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน

ที่ผ่านมา โรคที่ชาวบ้านมักป่วย และมารักการรักษากันมาก ได้แก่ โรคระบบย่อยอาหาร โรคในช่องปาก โรคระบบหายใจ เป็นต้อน แต่ชาวบ้านมักเข้ารักการรักษา เมื่ออาการของโรคได้ปรากฎแล้ว นอกจากนี้แล้วจะพบว่าชาวบ้านนิยมที่จะรับประทานยาก่อนที่จะไปรับการรักษา เช่น ทิฟฟี่ นูต้า ดีคอลเจน ทัมใจ และยังมีบางหมู่บ้านที่ยังคงใช้ยาชุดอยู่บ้าง

ข) การรักษาแบบแผนโบราณ

แผนไทย

ในอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ยังคงมีการรักษาแบบแผนไทย โดยการใช้สมุนไพร การนวด การทำโยคะอยู่บ้าง ผู้ที่ทำการรักษาคือ "คุณพ่อทองอ่อน สิทธิไกรพงษ์" ตั้งอยู่ที่ศูนย์พื้นฟู และส่งเสริมการแพทย์แผนไทย บ้านเลขที่ 246 บ้างฝาง ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันนี้มีอายุ 83 ปี

ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านในอำเภอบ้านฝางมักไม่นิยมการรักษาแบบแผนไทย ผู้ที่มารับการรักษามักเป็นชาวบ้านจากที่อื่น เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยได้รับการรักษาแบบแผนปัจจุบัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันมาใช้แบบสมุนไพรแทน

หมอแผนไทยไม่ใช้เครื่องมือในการตรวจรักษา นิยมใช้มือในการจับคลำ หรือการจับชีพจร แต่บางโรคเช่น วัณโรคก็ใช้หูฟัง การรักษา การวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ต้องอาศัยประสบการณ์ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคใด ในการรักษานี้ก่อนอื่นจะต้องทราบประวัติของผู้ป่วยก่อน โดยต้องทราบอายุ สมมุติฐานอายุของแต่ละบุคคล โดยแบ่งอายุของบุคคลออกเป็น 3 วัย คือ

1. ปฐมวัย มีอายุระหว่าง 0-15 ปี แบ่งออกเป็น เด็กอ่อน เด็กเล็ก เด็กใหญ่

2. มัชฌิวัย มีอายุระหว่าง 16-32 ปี

3. ปัจฉิมวัย มีอายุระหว่าง 33-68 ปี

การรักษาแบบโยคะ

การรักษาแบบโยคุจะช่วยรักษาโรคปวดเมื่อย และยังสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ การฝึกโยคะใช้ลมหายใจเป็นพื้นฐาน โดยการนับ 1-10 และจับลมหายใจเข้า-ออก ทำให้การฝึกโยคะมีท่าพื้นฐาน 7 ท่า

การรักษาโดยใช้สมุนไพร

ยาแผนโบราณแบ่งออกเป็นสามชนิด คือ เภสัชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ ยามีหลายรูปแบบ เช่น ยาลม ยาอบ ยาตั้ง ยาเม็ด ยาฝุ่น ยาต้ม สูตรการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรมีดังนี้

การรักษาแผลสด : ใช้เสลดพังพอนตัวผู้ตัวเมีย ใบสาบเสือว่าน ยาที่มีรสฝาดขมอื่น ๆ เอามาเคี่ยวจนตัวยาออก แล้วกรองใส่การบูร หรือพิมเสน

ยาโรยแผล : ขี้ธูปหอม 2 ส่วน พิมเสน 1 ส่วน การบูร 1 ส่วน ผงวิเศษเท่ายาทั้งหลาย ถ้าถูกยาจะแสบ ถ้าไม่ถูกยาจะไม่มีอาการ

ยารักษามะเร็งผิวหนัง : เปลือกพิพาน ต้นเยาแดง ใบมันสำปะหลัง ยอดขาวหนาม ตะบองเพชร ต้นเอาไดรม

หมาว้อกัด : เอารากระย่อมฝนใส่น้ำเหล้าขุ่น ๆ ให้กิน เพดานถ่านบ่อเซ่าแล

โรคตัวจิ๊ด : ถ้าเกิดเดี้ยดที่ใด เข้าใจว่ามีตัวชอนใชในตนให้เอาแมลงแกรบเด็ดหัวแล้วทา ตัวถิมิชาติจะออกมากินอาการจะหายไปแล

สูตรยาอายุเกิน 100 : ทั้งท่อนตะโกนา บอระเพ็ด แห้วหมู เม็ดข่อย พริกไทย เสมอภาพ บดเป็นผง ปั้นก้อน ด้วยน้ำผึ้ง กินวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร 1 กรัม กินแล้วครบ 3 เดือน เป็นผลเหลือแต่ความนุ่ม

ยาแก้อหิวาต์ : กระชาย ว่านน้ำ รงทอง เปลือกทองหลางใบมน หนักอย่างละ 60 กรัม ยาดำ 45 กรัม

ยาแก้หนองใน : บานไม่รู้โรยทั้ง 5(1) รากหญ้าคา 1 หัวสับปะรด 1 ไพล 1 ข้าวเย็นคั่ว 2 ยากพันงูแดง 1 สารส้ม 1 ต้มกินแล

คนอ้วนกินแล้วสวย : แห้วหนู โกฐกระดูก ว่านน้ำ ขมิ้นชัน เจตมูลเพลิง ตำแยเครือ ขิงสดบด ผงปันเมล็ดด้วยปาล์ม , มะขาม

ตกขาว : เอาโคกกระสุนหนัก 200 กรัม ตำผสมกับสุรากินหายแล

ยาแก้กินของผิด : ไผ่น้อยยาแก้กินผิดสำแดงทุกอย่าง เลือดออกจมูก ออกคอ ออกทวารทั้ง 3 ถ้าเป็นไข้ ใช้ไผ่น้อยตำทั้งต้นทั้งใบ ละลายน้ำซาวข้าวนา เหล้าเป็นกระสายตามกรณี

มะเร็งในเม็ดเลือด : ทองพันชั่ง ฟ้าทะลายโจร แพงพวยโคก เสมอภาพ บดให้ละเอียด ปั้นเม็ดด้วยน้ำผึ้งเท่าเม็ดพุทรา ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาอาหาร

ยารักษาตาเหลือง : รากทองหลางใบมน หางนกกี เก้านา ปีนมสาว นมวัว คมดาแดง ปีคนไผ่เหลือง ฝนให้กินหายแล

รักษาผีพิษผีกาฬ : ใช้หัวเรือใบ ว่านมหากาฬ ตำให้ละเอียด น้ำซาวข้าวหรือสุราขาวกระสาย

ยาอบเอาพิษออกจากร่างกาย : ผักบุ้งแดง ผักตำลึง หญ้าพันหัวงูแดง

ยาบำรุงธาตุทั้ง 5 : พริกไทยล่อน ขิง ดีปลี เอาสิ่งละ 1 ส่วนทำเป็นผลรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา แก้ลม 12 จำพวก

ยาแก้อาโปธาตุกำเริบ : สมอภิเภก ตรีสาร เอาส่วนเก่ากันทำเป็นผงรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา แก้อาโปธาตุกำเริบ แก้โลหิตเสมหะละลายน้ำมัน

ยาแก้ลมอุทธังคมาวาตา : เทียนทั้ง 5 กับสมอ 12 เหลี่ยม เอาสิ่งละ 1 ส่วนทำเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา แก้ดีเดือด ดีพลุ่ง

ยาแก้ลม 12 จำพวก : คนที่เขม่า ว่านน้ำ ข่า เปลือกกุ่มพก เอาส่วนเท่ากันทำเป็นผง รับประทาน 1 ช้อนชา

คนเป็นว้อ : เอารากกระถิน ฝนส่เหล้าขาวขุ่น ๆ กรอกปากเข้าไปหาย

การรักษาแบบไสยศาสตร์

หมอไสยศาสตร์ เช่น หมอมอ หมอจ้ำ หมอขวัญ หมอสะเดาะ หมอผี หมอมนต์ หมอล่อผีฟ้า ซึ่งในอำเภอบ้านฝางยังคงมีชาวบ้านเลื่อมใสอยู่บ้าง เช่น ในหมู่บ้านหนองชาดมีผู้เลื่อมใสในพระดาบสในการรกัษาโรคเบาหวาน โดยพระดาบสตรวจรักษาโรคโดยการนั่งเข้าฌาน และสั่งยาสมุนไพรในการรักษา แต่ผู้ป่วยรายนั้นก็ยังคงรับประทานยาตามที่แพทย์แผนปัจจุบันสั่งควบคู่ไปกับการรับประทานยาสมุนไพร

การรักษาแบบหมอยา

หมอยา ได้แก่ หมอตำแย หมอยาใหญ่ หมอยาน้อย หมอนวด หมอเฉพาะโรค ในบางหมู่บ้านยังมีอาชีพหมอตำแยอยู่ แต่ชาวบ้านมักไม่นิยมแล้ว ชาวบ้านนิยมไปคลอดที่โรงพยาบาลมากกว่า เนื่องจากสะอาดและปลอดภัย

5.4.5 การป้องกันและการดูแลเอาใจใส่สุขภาพและอนามัยของชาวบ้านในท้องถิ่น อำเภอบ้านฝาง

ก) การป้องกัน และดูแลเอาใจใส่สุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในระดับบน

การป้องกัน และดูแลเอาใจใส่สุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในระดับบน คือ การที่ภาครัฐบาลได้ร่วมประสานงานกับหน่วยงานย่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ ประจำตำบล สถานีอนามัย ศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน มีการส่งเจ้าหน้าที่ อสม. ซึ่งจะประจำท้องถิ่นย่อย ๆ มาให้ความรู้ การป้องกันเกี่ยวกับโรคที่สำคัญ ๆ แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีความรู้ที่จะป้องกันโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น แผ่นพับ ฯลฯ

ทางส่วนกลางจะมีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในท้องถิ่นอำเภอบ้านฝาง เพื่อที่จะได้นำข้อมูล สถิติมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ได้เกิดขึ้น และจะได้ดำเนินการป้องกันต่อไป

ข) การป้องกัน และดูแลเอาใจใส่สุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในระดับล่าง

การห้องกันดูแลเอาใจใส่สุขภาพ และอนามัยของชาวบ้านในระดับล่าง คือ การดูแลเอาใจใส่สุขภาพ และอนามัยตามระดับชาวบ้าน คือ ชาวบ้านมีวิธีในการดูแลเอาใจใส่ที่จะป้องกันโรคไม่ให้เกิดแก่ตัวเอง และครอบครัวของตนเองอย่างไรบ้าน มากน้อยเพียงใด

จากการที่ได้สำรวจที่หมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอบ้านฝาง เช่น บ้านหนองชาด บ้านโนเขวา บ้านค้อ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสุขภาพในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะมีบ้างที่อาจจะไม่ได้กระตือรือร้นที่จะป้องกันดูแล เอาใจใส่สุขภาพของตน และคนในครอบครัว เช่น แก้ไขโรคภัยไข้เจ็บ ตามหลักของทางสาธารณสุขที่ว่า ควรจะมีการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

5.5 บทสรุป

จากการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน ทำให้ทราบว่า ชาวบ้านพอมีพื้นฐานความรู้ในการรักษาสุขภาพ และอนามัยเบื้องต้นอยู่พอสมควร แต่ไม่นำไปปฎิบัติอย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดปัจจัยต่าง ๆ เช่น ทุนทรัพย์ ขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค ขาดการชี้แนะจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน